จิมี เฮนดริกซ์: จากเด็กยากไร้สู่ชายผู้จุดไฟเผากีตาร์ เพื่อเป็นราชากีตาร์แห่งโลกดนตรี

จิมี เฮนดริกซ์: จากเด็กยากไร้สู่ชายผู้จุดไฟเผากีตาร์ เพื่อเป็นราชากีตาร์แห่งโลกดนตรี
ท่ามกลางสรรพเสียงที่ประกอบกันเป็นดนตรีในแขนงร็อก เสียง ‘กีตาร์ไฟฟ้า’ มักจะเป็นดาวเด่นที่พาให้บทเพลงสักเพลงหนึ่งติดหูคอเพลงจำนวนมาก เพราะความเพียบพร้อมทั้งการให้จังหวะและเมโลดี้ แถมยังมีลูกเล่นมากมายที่พร้อมส่งให้มือกีตาร์ที่เก่ง ‘ถึงขั้น’ ได้กลายเป็นที่ยอมรับทั้งจากเพื่อนนักดนตรีและผู้ชมด้านล่าง หนึ่งในมือกีตาร์ที่ฝีมือจัดว่าถึงขั้น และถูกผู้คนจดจำในฐานะ ‘มือกีตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกดนตรีร็อก’ ก็คงหนีไม่พ้นชื่อคุ้นหูที่พาให้นึกถึงทรงผมฟู ๆ เสื้อแจ็กเก็ตกำมะหยี่ และเทศกาลดนตรีวูดสต็อกอย่าง ‘จิมี เฮนดริกซ์’ (Jimi Hendrix) เจ้าของบทเพลงฮิตอย่าง ‘All Along the Watchtower’, ‘Purple Haze’, ‘Hey Joe’ และ ‘Little Wing’ แต่ก่อนที่เขาจะกลายเป็นมือกีตาร์เบอร์หนึ่งที่นักดนตรีผู้สนิทชิดเชื้อกับเครื่องดนตรี 6 สาย หลายคนต่างยกให้เป็นไอดอล จิมี เฮนดริกซ์เกิดและโตอย่างยากไร้ เขาดีดไม้กวาดต่างกีตาร์มากว่าครึ่งชีวิต อีกทั้งเส้นทางดนตรีของเขาก็ไม่ได้เรียบง่าย ครั้งหนึ่งเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ชายคนนี้ถึงกับต้องจุดไฟเผากีตาร์ของตน เพื่อก้าวขึ้นสู่จุดที่สูงกว่าบนเส้นทางสายนี้ และคว้าตำแหน่ง ‘คิง’ บนเวทีมาครอบครอง   เด็กชายผู้เกิดในยามสงคราม เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา คือบ้านเกิดของมือกีตาร์ระดับตำนานคนนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1942 ที่เขาลืมตาดูโลก เด็กชายมีชื่อแรกว่า ‘จอห์นนี เอลเลน เฮนดริกซ์’ (Johnny Allen Hendrix) ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามโลกครั้งที่สองที่ยังคุกรุ่นในช่วงเวลานั้น ทำให้ ‘อัล เฮนดริกซ์’ (Al Hendrix) พ่อของเขา ต้องห่างลูกเมียไปไกลในฐานะทหารกลางสนามรบ ตั้งแต่เพิ่งแต่งงานกับ ‘ลูซิลล์’ (Lucille) แม่ของเขาได้เพียง 3 วัน และไม่เคยพบหน้าลูกชายแม้แต่ครั้งเดียวจนกระทั่งเจ้าหนูอายุได้ 3 ขวบ เมื่ออัลกลับมาอยู่บ้านในขวบปีที่ 3 ของเจ้าหนูเฮนดริกซ์ ความสัมพันธ์ของเขากับภรรยาก็ดูจะต่อกันไม่ติดอีกต่อไป และเพราะแบบนั้นเองที่ทำให้อัลตัดสินใจเปลี่ยนชื่อลูกชายของตัวเองเป็น ‘เจมส์ มาร์แชลล์’ (James Marshall) เพราะกลัวว่าชื่อแรกที่เมียตั้งให้ลูกจะเป็นชื่อจากชายชู้สักคนของเธอ   สงครามในบ้านและฐานทัพในตู้เสื้อผ้า ชีวิตคู่ของอัลและลูซิลล์ไม่เคยสงบสุข ‘ลีออน’ (Leon) น้องชายของเฮนดริกซ์เล่าว่าอัลและลูซิลล์มักจะทะเลาะกันเสมอ โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาเมามายจากฤทธิ์สุรา อัลไม่เคยทำร้ายลูซิลล์ แต่เป็นแม่ของพวกเขาเองที่มักจะอารมณ์ร้อน และหลายครั้งก็ทุบตีสามี จนลูกเล็ก ๆ ทั้งคู่ต้องหลบหนีเพื่อที่จะไม่โดนลูกหลง เฮนดริกซ์และลีออนเลือกที่จะซ่อนตัวในตู้เสื้อผ้าอย่างเงียบเชียบที่สุด จนกว่าพายุอารมณ์จะพ้นผ่าน ความรุนแรงในบ้านคือสิ่งที่คุ้นตาสำหรับสองพี่น้องตระกูลเฮนดริกซ์ จวบจนกระทั่งการหย่าร้างของอัลและลูซิลล์ในปี 1951 ที่ทำให้การดูแลพวกเขาตกเป็นหน้าที่ของอัล ส่วนน้องคนสุดท้องอย่าง ‘โจ’ (Joe) ที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นานถูกยกให้คนอื่นอุปการะเลี้ยงดู   อูคูเลเล่จากกองขยะ เพราะร้างไร้ซึ่งเงินทุนสำหรับซื้อกีตาร์ แม้จะฝักใฝ่ในดนตรีมาตั้งแต่ยังเล็ก แต่เฮนดริกซ์ก็ไม่เคยได้ครอบครองกีตาร์จนกระทั่งอายุ 15 ก่อนหน้านั้นสิ่งที่พอจะแทนกีตาร์ได้ในสายตาเขาก็คือไม้กวาด หลังการจับไม้กวาดมาดีดและโซโล่ลูกมั่วอย่างบ้าคลั่งในทุกค่ำคืนอยู่หลายปี ในที่สุด เฮนดริกซ์ก็ค้นพบเครื่องดนตรีชิ้นแรกของเขา จากกองขยะในบ้านหลังหนึ่งที่เขาไปที่นั่นเพื่อช่วยพ่อทำงานในฐานะพนักงานรับจ้างทำความสะอาด เขาค้นเจออูคูเลเล่พัง ๆ และนำมันกลับบ้าน โชคดีที่อูคูเลเล่ตัวนั้นเหลือสายอยู่หนึ่งเส้น เฮนดริกซ์เริ่มเรียนรู้ดนตรีด้วยตัวเองจากสายเส้นเดียวที่เหลือ จนสามารถเล่นเพลงโปรดของเขาอย่าง ‘Hound Dog’ ของเอลวิส เพรสลีย์ ได้ในที่สุด เจมส์ได้จับกีตาร์ของจริงตอนอายุ 15 ปี และเป็นกีตาร์สำหรับคนถนัดขวา โดยที่ตัวเฮนดริกซ์เองถนัดซ้าย เขาจึงเริ่มหัดเล่นกีตาร์ตัวนั้นด้วยการจับมันกลับด้านจนกลายมาเป็นวิธีเล่นดนตรีที่ติดตัวเฮนดริกซ์ไปชั่วชีวิตของเขา หลังจากนั้นไม่นานแม่ของเขาก็เสียชีวิตด้วยพิษร้ายจากแอลกอฮอล์ เฮนดริกซ์ถูกพ่อสั่งห้ามไม่ให้ไปงานศพเธอ เขาจึงถ่ายทอดทุกความเศร้าจากการเสียครอบครัวไปไว้ในการพากเพียรดนตรี และเริ่มต้นชีวิตมือกีตาร์ของตนนับจากนั้นเป็นต้นมา   คู่กัด LittleRichard เริ่มจากการเป็นนักดนตรีรับจ้างที่ถูกไล่ลงจากเวทีเพราะเฮนดริกซ์เล่นกีตาร์ได้ ‘อวดดี’ และ ‘โชว์ลีลา’ มากไป เขาเริ่มใหม่อีกครั้งด้วยการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวง ‘The Velvetones’ ในฐานะมือกีตาร์วัย 16 ปี และเริ่มฉายแววโดดเด่น แต่เส้นทางดนตรีของเฮนดริกซ์ก็สะดุดลงที่วัย 18 ตอนที่เขาถูกจับด้วยข้อหาขโมยรถยนต์ในโชว์รูมไปขับรับลมเล่น จนต้องถูกส่งไปดัดนิสัยด้วยการเป็นทหารในกองทัพ แต่ก็ไม่วายพกกีตาร์ไปบรรเลงบทเพลงยามค่ำจนเพื่อนร่วมกองทนไม่ได้ และสุดท้ายผู้บังคับบัญชาของเขาก็ตัดสินใจเตะก้นเขาออกมาให้พ้นอาชีพทหารสมดั่งใจเจ้าตัว เฮนดริกซ์ออกจากกรมก่อนกำหนดอย่างเริงร่า เขาเดินหน้าต่อในฐานะมือกีตาร์รับจ้าง คราวนี้เขาได้โอกาสในการเล่นให้กับศิลปินชื่อดังหลายต่อหลายคน รวมทั้งการเป็นนักดนตรีแบ็กอัปให้กับ ‘Little Richard’ ศิลปินผิวดำผู้เป็นตำนานร็อกแอนด์โรลอีกคนของโลก เฮนดริกซ์และริชาร์ดไม่ลงรอยกันเป็นอย่างมาก พวกเขามีปากเสียงกันบ่อยครั้ง และบางทีก็ถึงขั้นทะเลาะ โดยสาเหตุหนึ่งก็มาจากความ ‘เล่นใหญ่’ ของเฮนดริกซ์บนเวที ส่วนสาเหตุที่สองที่เป็นสาเหตุสำคัญอันทำให้ริชาร์ดตัดสินใจเตะเขาออกจากวง (อีกครั้ง) เมื่อปี 1965 ก็คือถ้อยคำที่ โรเบิร์ต เพนนีแมน (Robert Penniman) กล่าวไว้ว่า “เขามาสายตลอด แล้วก็เอาแต่จีบสาวไปทั่วเลย”   พิธีกรรมเผากีตาร์ แม้จะโดนไล่ออกเป็นประจำจากวงดนตรีทุกวงที่เขาเคยร่วม เฮนดริกซ์ก็ไม่ได้ย่อท้อต่อเส้นทางสายร็อก ไม่กี่สัปดาห์หลังจากบอกลากับริชาร์ด เขาก็ก่อตั้งวงของตัวเองขึ้น ‘The Jimi Hendrix Experience’ ถือกำเนิดขึ้น และปล่อยอัลบั้ม ‘Are You Experienced?’ ออกมาเมื่อปี 1967 ร็อกแอนด์โรลเป็นของหาง่ายในช่วงปลายยุค 60s ขณะเดียวกันการเป็นมือกีตาร์ที่เก่งกาจเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจทำให้สป็อตไลต์ฉายมาถึงจิมี เฮนดริกซ์แบบเต็ม ๆ ตาต่อหน้าผู้คนล่างเวทีได้ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ชายผู้นี้ตัดสินใจเผากีตาร์ของตนบนเวทีในปีแรกของการโปรโมตอัลบั้ม ท่ามกลางแว่วหวานของดนตรีป็อปและโฟล์กในโรงภาพยนตร์ The Rainbow Theatre, Finsbury Park กรุงลอนดอน ที่มีวงอย่าง Engelbert Humperdinck และ Cat Stevens ร่วมในเซตลิสต์ จิมี เฮนดริกซ์ได้เซอร์ไพรส์ผู้ชมด้วยการแสดงที่ไม่คาดคิด “เราจะขโมยเฮดไลน์สัปดาห์นี้ยังไงดี” “จุดไฟเผากีตาร์สิ” เหล่านี้คือถ้อยสนทนาหลังเวทีของแชนด์เลอร์ (Chandler) ผู้จัดการของเฮนดริกซ์ และคีธ อัลแธม (Keith Altham) นักเขียนประจำสำนัก NME เฮนดริกซ์ได้ยินถ้อยคำนั้น และภายในเวลาไม่นานพวกเขาก็เริ่มหาน้ำมันและเตรียมไฟ เพื่อจะเผากีตาร์ของเขาให้วอดวายต่อหน้าสายตาคนดู ท่ามกลางเพลง ‘Fire’ ที่เสียงเครื่องดนตรีชิ้นอื่นยังรัวกระหน่ำ เฮนดริกซ์ถอดสายสะพายกีตาร์ วางมันลงบนพื้นและเริ่มราดน้ำมันตามจังหวะดนตรี ท่าทีของเขาดูราวกำลังร่ายมนต์ ผู้คนยังคงสับสน แต่สักพักพวกเขาก็ตาค้างและรู้สึกแปลกใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กีตาร์ของเฮนดริกซ์เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และแสงไฟสีส้มอมแดงก็สว่างขึ้นพร้อม ๆ กับที่มันกลายเป็นบันไดให้อาชีพศิลปินของเฮนดริกซ์เติบโตไปอีกขั้น เฮนดริกซ์ขโมยเฮดไลน์ได้สมใจ การแสดงของเขากลายเป็นของใหม่ยิ่งกว่าการฟาดกีตาร์ให้พังยับอย่างที่วง ‘The Who’ ได้ริเริ่มไว้ และแม้ในครั้งแรกผู้คนจะตื่นเต้นจนแทบไม่มีใครยกกล้องขึ้นถ่ายภาพประทับใจเอาไว้ หากครั้งถัดมาที่เฮนดริกซ์แสดงพิธีกรรมเผากีตาร์ในหลายเดือนให้หลัง บนเวที Monterey Pop Festival ทั้งภาพและคลิปของเขาก็ถูกบรรจุลงฟิล์มไว้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และพาให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่วยุโรปและอเมริกา จิมี เฮนดริกซ์ถูกยกย่องในช่วงชีวิตของเขา ก่อนที่จะจากไปด้วยการกินยานอนหลับผสมกับไวน์จนร่างกายโอเวอร์โดส ในปี 1970 ขณะที่เขามีอายุ 27 ปี ว่าเป็นมือกีตาร์ที่สร้างสรรพสำเนียงดนตรีได้แปลกหูทว่าไพเราะที่สุดคนหนึ่ง ท่วงทำนองที่ควบรวมกันระหว่างดนตรีหลายแขนงไม่ว่าจะเป็น ร็อก บลูส์ ฮาร์ดร็อก แจ๊ส หรือแม้กระทั่งไซเคดิลิกในบทเพลงของเขาได้กลายเป็นสมบัติล้ำค่าให้นักดนตรีรุ่นถัดมาคลำทางตามได้ และแม้เขาไม่ใคร่จะอยากถูกใครจดจำว่าเป็น ‘มือกีตาร์ที่จุดไฟเผากีตาร์ตัวเอง’ มากกว่างานเพลงอื่น ๆ ที่เขาได้ประพันธ์ไว้สักเท่าใดนัก แต่ในฐานะผู้ชม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเวที ‘Fire’ ของเฮนดริกซ์นั้นมีเสน่ห์เหลือร้าย และเป็นจุดสำคัญแห่งประวัติศาสตร์โลกดนตรีอยู่ไม่น้อยทีเดียว   ที่มา: https://rockpasta.com/the-truth-about-the-day-jimi-hendrix-set-fire-to-his-guitar/ https://www.nme.com/blogs/nme-blogs/keith-altham-jimi-hendrix-fire-guitar-beatles-rolling-stones-who-2090562 https://www.dailytelegraph.com.au/news/the-night-guitar-legend-jimi-hendrix-set-fire-to-his-career/news-story/06392414df84ee2bbf0f6ac9e9ec3854 https://ultimateclassicrock.com/jimi-hendrix-guitar-fire/ https://www.grunge.com/129836/jimi-hendrixs-tragic-real-life-story/ https://www.ultimate-guitar.com/articles/features/that_time_when_jimi_hendrix_was_fired_by_little_richard-65145