Alice in Borderland: สังคมที่สิ้นหวังและล่มสลาย กับโพรงกระต่ายแห่ง ‘ยูโทเปีย’

Alice in Borderland: สังคมที่สิ้นหวังและล่มสลาย กับโพรงกระต่ายแห่ง ‘ยูโทเปีย’
***เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์ “ฉันน่ะ...จะสร้างดินแดนในฝันขึ้นที่นี่ เพื่อให้เจ้าพวกนั้นที่พ่ายแพ้กับความสิ้นหวัง ถ้าไร้ซึ่งความหวัง ก็สร้างมันขึ้นมาซะเลย ที่นี่คือดินแดนแห่งความหวัง” - คนขายหมวก หนูน้อยอลิซ ตกไปในโพรงกระต่าย แล้วไปพบกับดินแดนมหัศจรรย์ จากนิยาย Alice’s Adventures in Wonderland (1865) ของ ลูอิส แคร์โรลล์ คือแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้ Haro Aso กำเนิดมังงะที่น่าสนใจอย่าง Alice in Borderland แล้วถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์คนแสดงจริงขึ้นมาในที่สุด ซีรีส์ Alice in Borderland (2020) จึงมีองค์ประกอบรายล้อมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายคลาสสิกดังกล่าวค่อนข้างมาก อย่างเช่น ไพ่, ตัวละครหลักบางตัว หรือโพรงกระต่ายที่หนูน้อยอลิซตกลงไป แปรเปลี่ยนไปเป็นโพรงยักษ์ของสถานีรถไฟใต้ดินแถวชิบูยะ และโลกมหัศจรรย์ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นดินแดนที่เรียกว่า Borderland นอกเหนือไปจากเนื้อหาที่สนุก ว่าด้วยโลกที่เซตขึ้นใน Borderland ที่ทำให้ญี่ปุ่น (โตเกียว) ไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้คนเกือบทั้งเมืองสูญหาย และคนที่หลงค้างอยู่ในมิตินี้ จะต้องมาเล่น ‘เกม’ แข่งขันกันโดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน ความน่าสนใจในระหว่างบรรทัดของซีรีส์นี้ คือการตั้งคำถามต่อ ‘ผู้แพ้’ ในระบบสังคม หรือกล่าวถึงที่สุด ในระบบทุนนิยม ที่มารวมกันอยู่ในเรื่อง ในฉากเปิดเรื่อง อะริสุ โชตะ คารูเบะ เพื่อนรักสามคนได้นัดเจอกันเพราะอะริสุทะเลาะกับที่บ้านเพราะไม่ยอมหางานทำเสียที ในขณะที่คารูเบะเพิ่งลาออกจากงานเพราะทะเลาะกับหัวหน้า ส่วนโชตะนั้นโดดงานประจำมาเจอกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนทั้งสามคนเป็นเหมือนภาพตัวแทนของผู้ที่ต้องดิ้นรนในระบบ ‘ทุนนิยม’ ในภาพที่แตกต่างกันไป อะริสุ คือภาพตัวแทนของคนกลุ่มที่คนญี่ปุ่นมักเรียกว่า NEET หรือ ‘Not in Education, Employment, or Training’ คือคนที่อยู่เฉย ๆ กับครอบครัวโดยที่ไม่ทำงานหรือไม่เรียนต่อ, โชตะ เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ ซาลารีมัง (Salaryman) ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประชากรวัยทำงานของญี่ปุ่น และคารูเบะ แม้ว่าทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ พอจะอนุมานได้ว่าอาจจะเป็นคนทำงานประจำ แต่ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ชวนให้นึกถึงกลุ่มคนทำงานอีกกลุ่มที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า Freeter หรือคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ เป็นฟรีแลนซ์หรือรับทำงานพาร์ตไทม์ ทั้งสามคนคือคนที่เจ็บปวดจากสังคมรอบข้างในลักษณะที่แตกต่างกัน อะริสุทะเลาะกับที่บ้านเพราะถูกบีบให้หางาน โชตะแม้จะมีงานทำเป็นหลักแหล่ง แต่ดูชีวิตจะวุ่นวายเพราะเขาต้องให้เงินแม่ที่คลั่งไคล้กับลัทธิปริศนา หรือคารูเบะที่เพิ่งลาออกเพราะมีเรื่องกับเจ้านาย นี่คือความเจ็บปวดในชีวิตที่นำพาคนทั้งสามคนมาเจอกันโดยมีจุดนัดพบที่แกนกลางของโตเกียว นั่นคือ...ย่านชิบูยะ ก่อนที่โลกจะเข้าสู่ Borderland ทั้งสามคนวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ไปที่สถานีรถไฟใต้ดิน สถานที่แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนโพรงกระต่ายที่พาทั้งสามคนไปยังอีกโลกหนึ่ง นั่นคือ Borderland ที่พาพวกเขาไปเล่นเกมเสี่ยงตายต่าง ๆ นานา การมีชีวิตรอดของพวกเขามาจากการเอาชนะในเกมแล้วได้ต่อวีซ่าให้มีอายุต่อในเกมไปวัน ๆ และหากฝ่าฝืนกฎในเกมหรือแพ้ในเกมที่เกมมาสเตอร์ออกแบบไว้ ต้องแลกมาด้วยชีวิต โดยแต่ละเกมจะมีไพ่ให้เป็นรางวัล โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อสะสมได้ครบ 52 ใบ จะกลับคืนสู่โลกเดิมได้ Alice in Borderland: สังคมที่สิ้นหวังและล่มสลาย กับโพรงกระต่ายแห่ง ‘ยูโทเปีย’ การที่ผู้คนในโตเกียวหายไปทั้งเมือง โดยมีจุดเริ่มต้นหัวใจของเมือง ย่านที่คนพลุกพล่านที่สุดอย่างชิบูยะ อีกนัยหนึ่งมันคือการทำลายสัญลักษณ์ของความเป็นทุนนิยมไปเสียสิ้น ทั้ง ผู้คน กำลังการผลิต จอโฆษณา LED ที่นำเสนอสินค้าเพื่อตอบสนองสังคมบริโภคนิยมหายวับไปกับตา เหลือแต่ผู้คนบางส่วนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพื่อเล่นเกมเอาตัวรอด ในมุมหนึ่ง มันคือโลกดิสโทเปียที่แสนสิ้นหวังสำหรับคนทั่วไป แต่ในมุมหนึ่ง สำหรับคนที่ถูกละทิ้งไว้ข้างหลังจากสังคมปกติ ดินแดน Borderland อาจจะเป็นที่ให้ความหวังใหม่แก่พวกเขาก็เป็นได้ “ฉันน่ะ...จะสร้างดินแดนในฝันขึ้นที่นี่ เพื่อให้เจ้าพวกนั้นที่พ่ายแพ้กับความสิ้นหวัง ถ้าไร้ซึ่งความหวัง ก็สร้างมันขึ้นมาซะเลย ที่นี่คือดินแดนแห่งความหวัง” นี่คือเจตนารมณ์ของ ‘คนขายหมวก’ ชายผู้ที่โลกเดิมเป็นผู้จัดการบาร์โฮสต์ เขาละทิ้งความสิ้นหวังจากความสูญเสียเพื่อนร่วมงานจากการฆ่าตัวตาย (ชายขายหมวก น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากตัวละคร The Mad Hatter ตัวละครสำคัญจาก Alice’s Adventures in Wonderland) เมื่อเขาก้าวเข้าสู่ Borderland เขาจึงทิ้งโลกใบเดิมแล้วสร้างสังคมในอุดมคติขึ้นมาในชื่อที่เรียกว่า ‘บีช’ (Beach) เพื่อสร้างสังคมยูโทเปียขึ้นมารองรับกลุ่มผู้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดินแดนแห่งบีชเปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนที่ถูกละทิ้งจากโลกเดิม จึงไม่น่าแปลกใจ หากตัวละครในบีชหลายต่อหลายคน สมัยอยู่โลกเดิมคือคนที่ต่อสู้กับปัญหาบนโลกกระแสหลัก พวกเขาตั้งคำถามกับโลกใบนั้น ไล่มาตั้งแต่ สาวข้ามเพศที่ไม่ยอมรับภาระการเป็นเจ้าสำนักการต่อสู้จากพ่อ, ชายหนุ่มผู้เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านแบบ ‘ฮิคิโคโมริ’ ผู้อยากลิ้มรสว่าชีวิตและความตายที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไปจนถึงวัยรุ่นเลือดร้อนที่โลกเดิมคือเด็กที่ถูกบูลลีจากแก๊งอันธพาล สภาพของบีชในตอนแรกที่เปิดตัว จึงกลายเป็นสวรรค์ย่อม ๆ ที่ผู้คนลืมทุกข์โศกแล้วมาร่วมปาร์ตี้กันอย่างสนุกสนาน แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยการวางโครงข่ายอำนาจเพื่อให้สังคม (ที่ดูเหมือนว่า) เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความสุข เป็นสังคมในฝันของทุกคน “บีชมันมีความหวังตรงไหน ในโลกแบบนี้ มันมีความหวังอยู่ด้วยหรือไง?” อะงุนิ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบีช หัวหน้ากองกำลังป้องกันตัวเอง และเพื่อนสนิทของชายขายหมวก ตั้งคำถามนี้ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่คำถามที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะสังคม (ที่คิดว่า) เป็นสังคมยูโทเปีย เมื่อต้องพบกับเงื่อนไขสังคมที่เปลี่ยนไป หากสังคมนั้นไม่ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขเหล่านี้ ยูโทเปียดังกล่าวอาจจะล่มสลายดังเช่นบีชที่พังทลายในตอนจบซีซันแรกของ Alice in Borderland ก็เป็นได้ อีกทั้ง สังคมในอุดมคติ ต้องถามกลับว่าเป็นสังคมในอุดมคติสำหรับใคร? ในขณะที่หลายคนคิดจะอยู่บนโลก Borderland ต่อไป ถึงกับทำลายอัตลักษณ์ในอดีตของตนทุกอย่าง เช่น การสักรอบตัวเพื่อเปิดตัวเองต่อโลกใหม่ แต่ก็มีหลายคนคิดว่า อยากจะกลับไปโลกเดิมอีกครั้ง ถึงแม้การกลับไปโลกเดิม พวกเขาจะกลับไปเป็น ‘ผู้แพ้’ ในโลกเดิมก็ตาม แต่มันก็ยังเป็นโลกที่คุ้นเคยและเป็นโลกที่พวกเขาโหยหาอยากกลับไป เรียกได้ว่า เป็น ‘ผู้ชนะ’ ในโลก Borderland แต่ต้องกลับไปเป็น ‘ผู้แพ้’ ในโลกใบเดิม พวกเขาก็ยินยอม แล้วตกลง โลกยูโทเปียที่ผู้คนใฝ่หาจริง ๆ มันควรจะอยู่ที่ไหน? ... เกมที่ผู้เล่นในโลก Borderland แข่งขันกัน จะแบ่งประเภทเกมตามหน้าไพ่ ดังนี้ ไพ่โพธิ์ดำ เป็นแนวเกมใช้กำลัง, ไพ่ข้าวหลามตัด เป็นแนวเกมใช้สมอง เชาวน์ปัญญา, ไพ่ดอกจิก เป็นแนวเกมใช้ทีมเวิร์ก และแนวทางเกมที่ผู้เล่นพยายามหลีกเลี่ยงที่สุด คือเกมจากโพธิ์แดง ซึ่งเป็นแนวเกมที่เล่นกับความรู้สึกและล้อเล่นกับหัวใจของคน ที่สร้างความเจ็บปวดให้กับตัวละครทุกตัวในซีรีส์นี้ บางทีปริศนาของการมองหาโลกยูโทเปีย คำตอบอาจจะอยู่ในเกมที่ใช้หน้าไพ่โพธิ์แดง ที่มีรูป ‘หัวใจ’ อยู่ตรงกลางไพ่ก็เป็นได้