read
social
30 เม.ย. 2563 | 14:23 น.
ครอบครัวสุวรรณพฤกษ์:พลังครอบครัว งดขับแท็กซี่มาขายไก่ทอดในวันที่มีโควิด-19
Play
Loading...
"สวัสดีค่ะ ชมพู บัญชีรหัส 54 ค่ะ ขอฝากร้านข้าวเหนียวไก่ทอดหาดใหญ่ Pre order จัดส่งทุกพุธและเสาร์ ส่งโซน ม.เกษตรบางเขนค่ะ ค่าส่งคิดตามระยะทางค่ะ @ไลน์มาสอบถามได้เลยค่า"
โพสต์นี้เป็นหนึ่งในโพสต์ "ฝากร้าน" ที่ปรากฏในกลุ่ม "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน" ใน Facebook โดยผู้ใช้ชื่อ Chompoo Suwannapruk หรือ ชมพู-ณัฐยาพัชญ์ สุวรรณพฤกษ์
นี่อาจจะเป็นเพียงโพสต์หนึ่งในจำนวนหลายพันโพสต์ "ฝากร้าน" ที่อยู่ในกรุ๊ปนี้ แต่พอดีผู้อ่านของ The People ได้ส่งเรื่องราวครอบครัวของชมพู มาเล่าให้ทีมงานฟัง มีความน่าสนใจบางอย่างที่อยากถ่ายทอดสู่ผู้อ่านอีกที
ที่จริงแล้ว ชมพูไม่ได้อยู่บ้านที่เมืองไทย แต่เธอทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความที่ติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ ทำให้เธอกลับมาเมืองไทยไม่ได้ เธอจึงช่วยดูแล สนับสนุนทางบ้านจากทางแดนไกล ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน ตลอดจนการช่วยเหลือเรื่องช่องทางทำมาค้าขายแทน
พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นการเล่าเรื่องราวของครอบครัวทั่วไปครอบครัวหนึ่งที่ดูแลและสนับสนุนกันมา ในช่วงเวลาของการปรับตัวกับโลกที่จะมีโควิด-19 อยู่กับมนุษย์เราไปอีกพักใหญ่ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านในการข้ามผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน
ทีมงาน The People จึงไปเยี่ยมเยียนครอบครัวสุวรรณพฤกษ์ ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรแถวบางเขน
เดินทางไปในช่วงสายของวันพุธที่ 22 เมษายน 2563 ทันทีที่เจ้าบ้านเปิดประตูออกมา กลิ่นไก่ทอดหอมฉุยลอยมาเตะจมูก เป็นสัญญาณว่ามาถูกบ้านแล้ว
นอกจากชมพูแล้ว ที่บ้านนี้ตอนนี้อยู่กัน 4 คน พี่ชายคนโตของชมพูเป็นพนักงานออฟฟิศ ออกไปทำงานตั้งแต่เช้า เหลือสมาชิกในบ้านที่ช่วยกันทอดไก่ 3 คน นั่นคือ คุณพ่อ ศักดิ์-อุดมศักดิ์ สุวรรณพฤกษ์, คุณแม่ ไก่-จรัลรัตน์ สุวรรณพฤกษ์ และน้องชายคนเล็กของครอบครัว อาร์ท-พัชระเมศฐ์ สุวรรณพฤกษ์ ซึ่งเพิ่งสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้
แม้รายได้ของครอบครัวส่วนหนึ่งจะมาจากชมพูและพี่ชายคนโต แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกคนในบ้านต่างมีหน้าที่การงานเพื่อช่วยเหลือรายจ่ายของครอบครัว คุณพ่อขับแท็กซี่ คุณแม่ทำน้ำเต้าหู้ขาย ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ จนโควิด-19 แพร่ระบาดขึ้น
"มันกระทบ เพราะจริง ๆ ก่อนหน้านี้ที่บ้านทำน้ำเต้าหู้กับเต้าฮวยนมสดเย็น ขายในละแวกบ้าน ตื่นมาทำน้ำเต้าหู้ตอนตี 5 พอ 6 โมงเช้าก็เอาไปขาย เย็น ๆ ก็ขี่จักรยานขายวันละ 20 ถ้วย พอเกิดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจแย่ไปหมด มะพร้าวทำกะทิก็แพง คนสั่งน้อยลง บางคนก็กลับต่างจังหวัด พ่อก็ขับรถแท็กซี่ไม่ได้ เลยกลับมาทำอาชีพเดิม..."
จรัลรัตน์เล่าถึงสถานการณ์ของครอบครัว
อาชีพเดิมที่ว่า ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ครอบครัวนี้เปิดร้านข้างทางขายไก่ทอดสูตรหาดใหญ่ จนมีลูกค้าประจำติดใจมากมาย แต่เวลาต่อมา อุดมศักดิ์ พ่อบ้านของครอบครัว เปลี่ยนมาขับรถแท็กซี่ จึงร้างลาการทอดไก่ไป จนถึงวันนี้แม้จะผ่านไปหลายปี แต่สูตรการทอดไก่ก็ยังไม่หายไปไหน เพราะมันอยู่ที่ตัวของเขา
"ช่วงโควิดเราไม่อยากออกไปเสี่ยง แต่ก็เคยลองออกไปขับแท็กซี่ดู ปรากฏว่าไม่ค่อยมีคน รายได้ก็ไม่คุ้ม วิ่งรถวันหนึ่งก็ 3-4 ร้อยบาทแล้ว เลยงดขับแท็กซี่ กลับมารื้อการทอดไก่ ซึ่งเป็นอาชีพเดิมที่เรามีอยู่นี่แหละ สูตรเดิมที่มีอยู่ อุปกรณ์อย่างกระทะก็ยังเก็บเอาไว้ กะละมังก็ยังมีอยู่ เอาของเดิมมาทำ"
อุดมศักดิ์เล่าขณะทอดไก่กลิ่นหอมฉุย ดูทะมัดทะแมงจนไม่รู้ว่าร้างจากกระทะเหล็กมานาน
ด้านจรัลรัตน์เล่าต่อว่า
"หลังจากคุยกันว่าจะลองทำไก่ทอดกันดูไหม ก็ตัดสินใจทำเลย ลูกชายคนเล็กก็มาช่วย เริ่มขายตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ตอนนี้ขายสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันเสาร์และวันพุธ ช่วงแรกขายคนในหมู่บ้าน เพราะส่วนมากเคยเป็นลูกค้าเก่า จำได้ว่าวันแรกขายได้ประมาณ 75 ชิ้น บางวันก็ 40-50 ชิ้น ไล่มาเรื่อย ๆ ก็ขายได้ประมาณนี้ พอตอนหลังเลยส่งไลน์หาเพื่อนฝูง แล้วเพื่อนก็สั่งมา อาร์ทกำลังจะเข้าปี 1 ก็มีกระทบ เขาบอกว่าเขาไปเรียน ถ้ากลับมาเสาร์อาทิตย์ก็จะช่วยทำ สองคนตายายทำไป (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ช่วยกันสามคน หากทำวันเสาร์ ไปตลาดตอนบ่ายวันศุกร์ ตี 3 ตี 4 แช่ข้าวเหนียว ตอนเช้าก็เริ่มเตรียมอุปกรณ์ วัตถุดิบ 9 โมงเช้าก็เริ่มทอด บางทีลูกค้ารับ 9 โมงครึ่ง ก็จัดของทอดก่อน 9 โมง รอบแรกไปก่อน ทอดรอบสุดท้ายเสร็จตอนเที่ยง
"ความอร่อยของไก่ทอดอยู่ที่สูตร ข้าวเหนียวนุ่ม ไก่ทอดแห้งไม่ชุบแป้ง ไม่อมน้ำมัน หอมเจียวใช้หอมแดง ปอกเอง ซอยเอง น้ำจิ้มทำเองหมด ลูกค้าเก่าชอบ พอกลับมาทำก็ยังติดตามอยู่ ก็ทำคู่กับการขายน้ำเต้าหู้ ยังขายอยู่พอได้ค่าข้าว"
หลังจากชมพูและอาร์ทใช้ช่องทางไลน์แมนเพื่อให้สามารถส่งสินค้าได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ครอบครัวจึงวางแผนว่า จะขยายมาขายไก่ทอดทุกวัน อย่างน้อยก็ใน 1 ปีนี้ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่
เมื่อถามถึงกลุ่ม "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน" จรัลรัตน์เล่าว่า ได้เห็นน้ำใจจากคนในกลุ่มที่หลังจากชมพูไปโพสต์ขายของ เริ่มมีคนจากกลุ่มนี้เข้ามาอุดหนุนไก่ทอด
"ตอนแรกยังไม่มีไลน์แมน จากกลุ่มธรรมศาสตร์ก็มีมาสั่ง บางทีก็ไกล เขาสู้ค่าส่งไม่ไหว อยู่เชียงรากก็มี จะโทรมาสั่ง เราก็เกรงใจ แล้วก็มีอยู่สะพานควาย เป็นเด็กธรรมศาสตร์มาซื้อ เราก็ขายได้เยอะขึ้น ขอบคุณมากเลยค่ะ"
จรัลรัตน์พูดปิดท้ายแทนสมาชิกครอบครัวทุกคนว่า สภาวะที่เกิดขึ้นตอนนี้ สิ่งที่ทำได้คือ มีสติให้มาก ๆ
"ตอนนี้ต้องพยายามกินประหยัด ใช้ประหยัด มีอะไรในบ้านก็ใช้ไป โควิด-19 สอนให้เรารู้จักป้องกันตัวเอง ต้องประหยัด ต้องคอยระวังทุกอย่าง ไม่ว่าจะออกไปไหน ไปทำอะไร"
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘เอ็ด ชีแรน’ เตรียมเปิดคอนเสิร์ตที่ประเทศภูฏานในปี 2025 ครั้งแรก!
09 ธ.ค. 2567
8
‘อุดมคติ บริววิ่ง อะคาเดมี่’ จัดเวิร์กชอป เปิดโลกคราฟต์เบียร์ที่งาน ‘เมรัยไทยแลนด์’
09 ธ.ค. 2567
7
KTC วางหมากสู่ปี 2568 ดิจิทัลเต็มรูปแบบ พร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน
09 ธ.ค. 2567
6
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
โควิด-19
COVID-19
Fight Together