read
business
22 ต.ค. 2563 | 13:24 น.
อัญญาพร ธรรมติกานนท์ จาก PR สู่ Communicator ผู้สื่อเรื่องราวดี ๆ ไปยังผู้คน
Play
Loading...
จากคนที่ไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานในสายงานประชาสัมพันธ์ สู่ความบังเอิญได้มาคลุกคลีในวงการสื่อสารนานหลายสิบปี เคยทำงานในบริษัทใหญ่ระดับประเทศมาแล้วหลายบริษัท จนในที่สุดได้มาก่อตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ของตัวเอง ที่ตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นบริษัทประชาสัมพันธ์เบอร์ต้นของประเทศ ที่หลายบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งในสายอสังหาริมทรัพย์และแวดวงการศึกษาให้ความไว้ใจ ในการเป็นคนกลางสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้คนในวงกว้าง
อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้
อัญญาพร ธรรมติกานนท์
กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท Agate Communications (อเกต คอมมิวนิเคชั่น) กลายเป็นเพื่อนคู่คิดของแบรนด์ใหญ่ ๆ แทนที่จะถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ลูกค้าและผู้จ้างงานเท่านั้น
แล้วทำไมเธอถึงไม่ได้มองว่าตอนนี้ตัวเธอเป็น PR แต่เป็น communicator ผู้คอยบอกเล่าสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ออกไปเพื่อช่วยทำให้โลกใบนี้ดียิ่งขึ้นไปอีก ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้
อัญญาพร :
ผึ้ง-อัญญาพร ธรรมติกานนท์ เป็นพีอาร์ ตอนนี้เปิดบริษัทของตัวเองชื่อบริษัท Agate Communications งานหลัก ๆ เป็นงานทางด้านพีอาร์ ด้านการประชาสัมพันธ์ เป็นที่ปรึกษาทางด้านงานประชาสัมพันธ์ด้วย แต่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสื่อ การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลมีเดียที่เริ่มเข้ามามีผลกระทบกับวงโคจรของพีอาร์มากขึ้น ตอนนี้เราเลยปรับตัวเป็น communicator
The People : ความแตกต่างระหว่างพีอาร์กับ communicator
ในมุมมองของคุณคืออะไร
อัญญาพร :
พีอาร์จะโดนจำกัดว่าเราจะทำงานกับสื่อ พอเวลาเราทำงานกับสื่อ scope ของเราก็จะเล็กลงแล้วในสมัยนี้ เพราะถูกจำกัดแค่หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี แมกกาซีน แล้วอาจจะมีออนไลน์ที่เป็นสื่อใหม่ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเราไปทำงานแค่แบบนั้นผึ้งว่ามันอาจจะแคบไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สายการศึกษา ซึ่งเป็นสายงานหนึ่งที่อเกตดูแล ตอนนี้สื่อในสายการศึกษานับได้น้อยมาก ถ้าเราจัดแถลงข่าวสำหรับสื่อสายการศึกษา พอให้เชิญนักข่าวมา ทางทีมมีเดียนี่ร้องไห้เลยนะ เพราะไม่รู้จะเชิญใครมา สื่อน้อยลงไปเยอะมาก ไม่เหมือนสมัยก่อน จะไปเชิญ blogger สายการศึกษา blogger สายการศึกษาคือใครบ้าง ไม่เหมือนสายต่าง ๆ ที่มีเยอะ blogger สายการศึกษาเขาอาจกำลังสร้างตัวตนอยู่
เราก็เลยเทิร์นตัวเอง บอกว่าถ้าอย่างนั้นเราจะทำงานเป็น communicator ผึ้งจัดอีเวนต์เลย ลองปรับวิธีการทำงาน ลองไม่ทำงานกับสื่อบ้าง แต่หันมาทำงานกับ niche target ของเรา ทำงานกับอาจารย์ เราได้เชิญอาจารย์ 100 กว่าคน พยายามทำให้พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียของตัวเอง แล้วขอให้ติด hashtag ชื่องานเราไปด้วย เพื่อช่วยกระจายข่าวออกไปในวงของเขาเอง ทำแบบนี้ ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่ดี ในยุคที่เชิญสื่อมาร่วมงานยาก เวลาทำในลักษณะ networking แบบนี้ กลายเป็นว่าทีมพีอาร์ไปทำสกู๊ปในงาน แล้วส่งข่าวตามหลังไปอีกระลอกหนึ่ง มันคือการปรับตัวไปหมดเลย ผึ้งก็เลยมองว่ามันไม่ใช่แค่การพีอาร์แล้ว มันคือ communicator ทำอะไรก็ได้ให้ลูกค้าเราได้ผลประโยชน์มากที่สุด แล้วให้กลุ่มเป้าหมายได้รับสารที่เราต้องการจะสื่อออกไปให้ได้มากที่สุด
The People : ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
อัญญาพร :
ผึ้งคิดว่าได้ผล ผึ้งว่าลูกค้าเองก็ทำ อย่างล่าสุดคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง เขาเปิดร้านอาหารแต่ไม่เชิญสื่อเลยนะ แค่เชิญเพื่อนในวงให้มากินกันทุกวัน แล้วพอเวลากินฟรีทุกคนก็ถ่ายรูปติด hashtag เช็กอินเพื่อให้กระจายไปอยู่ในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน อย่างเช่น ถ้าเราชอบกินอาหารป่าแบบนี้ เพื่อน ๆ เราก็คงจะชอบด้วย มันก็จะมีกลุ่มที่ชอบด้วยกัน เขาเปลี่ยนวิธีการไปค่อนข้างเยอะ ถามว่าประสบความสำเร็จไหม ผึ้งว่าค่อย ๆ ดูไปดีกว่า แล้วมันก็เปลี่ยนทุกวัน มันไม่ได้เป็นแค่แบบนี้อยู่ไปอีก 3 ปี ผึ้งว่าไม่ อาจจะอยู่แค่เดือน 2 เดือน ก็เปลี่ยนอีกแล้ว ก็ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงกันไปเรื่อย ๆ
The People : ตอนแรกอยากเรียนบัญชี แต่ทำไมถึงเปลี่ยนมาเรียนวารสารศาสตร์
อัญญาพร :
อยากเรียนบัญชีเพราะว่าที่บ้านเป็นคนจีน อาชีพเดียวที่รู้จักคือบัญชี วัน ๆ แม่คิดแต่บัญชี เราก็จะรู้จักแค่ว่ามันคืออาชีพบัญชี อีกอาชีพหนึ่งที่รู้จักก็คือวิศวกร เพราะว่าพี่ชายเป็นวิศวกร แต่ก่อนที่จะเรียนบัญชี เราเป็นเด็กที่คิดเป็นระบบ วางแผนชีวิตตั้งแต่เด็ก ๆ เลย ม.1 ก็คิดว่าถ้าจบ ม.3 จะเรียนสายไหนต่อ ก็ตัดสินใจว่าจะเรียนสายศิลป์คำนวณ เพราะว่าเราเรียนวิทย์ไม่รู้เรื่อง เวลาเรียนวิทย์จะเหมือนเด็กสมัยนี้ที่พูดว่ามะล้องก๊องแก๊ง คือไม่รู้เรื่องเลยกับวิทยาศาสตร์ แต่เลขเก่งมาก เราก็รู้ว่าจุดเด่นของเราคือเรื่องนี้ เลยเลือกเรียนศิลป์คำนวณ
แต่จริง ๆ ชอบออกแบบ เรียนดรออิ้งเพราะเราอยู่สาธิตศิลปากร เราก็เรียนดรออิ้งกับอาจารย์ ผึ้งได้เรียนกับ ครูไข่ มาลีฮวนน่า (คฑาวุธ ทองไทย) เขามาสอนที่สาธิตฯ เราก็เรียนดรออิ้ง พอเรียนไปได้เทอมหนึ่งเราก็รู้สึกว่า ดรออิ้งไม่เก่งเลย ทำไมเพื่อน ๆ มีพรสวรรค์ขนาดนี้ เราต้องใช้พรแสวงหนักมาก ตัดสินใจตอน ม.4 เทอม 1 ว่าถ้าเราต้องทำอย่างนั้น เราสู้พวกเด็กมัณฑนศิลป์ที่เก่ง ๆ มากไม่ได้ แต่สิ่งที่เราจะไปข่มได้คือเลข เลยตัดสินใจเลยค่ะ ทิ้งเด๊ก (Decorative Arts) ทิ้งดรออิ้ง แล้วตั้งใจเรียนเลขให้เก่งไปเลย ก็ติวเรื่องเลข ทำให้ตอนนี้เหลือแค่อย่างนี้แหละที่สนใจ คือจะเป็นบัญชี เพราะว่าวางเป้ามาแล้วว่าฉันจะต้องเข้าธรรมศาสตร์ เป็นที่เดียวที่ใฝ่ฝัน เพราะอยู่ใกล้นครปฐม (หัวเราะ) ใกล้บ้าน สมัยก่อนธรรมศาสตร์อยู่ท่าพระจันทร์ เดินทางไปกลับได้ เราไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ เราไม่อยากไปนอนที่อื่น เราอยากนอนบ้านเรา เลยพยายามจะเลือกที่ธรรมศาสตร์
แต่ก่อนหน้าที่จะเข้าธรรมศาสตร์ เราเป็นลูกคนเล็กแล้วก็เป็นลูกที่ป๊ากับแม่คาดหวังเพราะว่าเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาก็จะบอกว่าลูกคนนี้เรียนเก่ง ก็จะคาดหวังทุกสิ่งอย่างในชีวิตเรา เลยรู้สึกว่าเป็นภาระที่เราจะต้องรับผิดชอบ ตอน ม.5 สมัยก่อนมีสอบเทียบ เราก็สอบเทียบแล้วเอ็นทรานซ์ติดอักษรศาสตร์ ศิลปากร ก็เป็นเด็กอักษรไป 1 ปี พอพี่ชายมาบอกว่าผึ้งดีมาก เพราะถ้าเรียนอักษรฯ ศิลปากรจบ ก็ต่อโทที่ศิลปากร จบมาก็เป็นอาจารย์ที่ศิลปากรเลย โห...พระเจ้า อยู่ตั้งแต่ ม.ต้น ม.ปลาย มาอยู่อีก 4 ปี รวม ๆ แล้ว 10 กว่าปีในศิลปากรเลย จากประโยคเดียวของพี่ชาย เลยเอ็นทรานซ์ใหม่ไปเลือกธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเลือกได้ 4 อันดับ เลือกทุกอย่างที่เป็นธรรมศาสตร์ ตั้งแต่บัญชี, เศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์ เหลืออีกอันดับหนึ่งเลือกอะไรดี วารสารฯ ก็ได้ เพราะคิดว่าไม่ติดหรอก แต่เขาให้เลือกก็เลือก
ผลปรากฏว่าคะแนนเลขคงดีมาก ช่วยดึงคะแนนทุกอย่าง เลยติดวารสารฯ ธรรมศาสตร์ ทำให้พลิกผันว่าไปเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ก็ได้ ตอนนั้นคิดว่าป๊ากับแม่ต้องดีใจแน่ ๆ เลย ไปโชว์ให้ดูว่าคะแนนมันสูงเกือบที่สุดในประเทศเลยนะ เราอุตส่าห์สอบติด แต่ถามว่ารู้จักไหมว่าวารสารฯ คืออะไร ไม่รู้ รู้จักแต่ว่าบัญชีคืออะไร การตลาดคืออะไร แต่ไม่รู้เลยว่าวารสารฯ หรือนิเทศศาสตร์คืออะไร
ไปเรียนปีแรกที่ธรรมศาสตร์ก็เรียน JC200 ทฤษฎีการสื่อสาร ได้ C+ (หัวเราะ) เพราะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ จนขึ้นปี 2 ต้องเลือกเอก มีเอกโฆษณา เอกวิทยุโทรทัศน์ เอกประชาสัมพันธ์ เอกฟิล์ม ด้วยความที่ไม่รู้เรื่องก็ไปเลือกเอกเดียวกับคนที่เขาเลือกกันเยอะ ๆ คือไปเลือกเอกวิทยุโทรทัศน์ เรียนวิทยุโทรทัศน์เรื่อยมาจนก่อนจบปี 4 ขาดไปวิชาหนึ่ง เพราะธรรมศาสตร์เขาให้เราเลือกเรียนแบบเลือกเสรี เราจะเลือกเรียนอะไรก็ได้ ก็ไปเลือกเรียนการวางแผนประชาสัมพันธ์เพื่อให้จบ ก็สนุกดีได้เรียนเรื่อง strategy เรียนไปในที่สุดก็จบ แต่ก็ยังไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นพีอาร์ อยากผลิตสารคดีก็ไปทำสารคดีช่วงหนึ่ง ทำอยู่ 3 เดือนลาออก (หัวเราะ) ทำทีวีมันเหนื่อย ต้องมานั่งตัดต่อเพื่อให้เห็นผลงานเราออกทีวีอยู่ 3 นาที ก็เลยไม่เอา
เรียนจบธรรมศาสตร์ตอนปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี ปี 2540 ตอนนั้นเรียนอย่างเดียว เราไม่ได้สนใจเลยว่าจะทำงานที่ไหนอะไรยังไง เราแค่เรียนและจะไปเรียนโทที่อเมริกาเหมือนพี่ชาย อยู่ ๆ วันหนึ่งตื่นขึ้นมา (หัวเราะ) ค่าเงินบาทจาก 25 บาทเป็น 50 ป๊ามาเคาะห้องบอกไม่ไปแล้วเนอะ แผนที่จะไปเมืองนอกไม่ได้ไปแล้ว ตอนสอบเข้าวารสารฯ ได้ ดีใจมาก แต่ก่อนที่จะเรียนจบเจอรุ่นพี่สื่อมวลชนรุ่นใหญ่ท่านหนึ่ง เขาก็มาคุยให้ฟัง ว่าคณะนี้เป็นคณะที่น่าสงสารที่สุด เพราะเป็นคณะที่ตอนนี้จะโดนเลย์ออฟมากที่สุด และหางานได้น้อยที่สุด พวกเธอเรียนจบมารุ่นนี้พวกเธอน่าสงสารมากไม่น่าจะมีงานทำ ก็มีคนแนะนำให้เป็นแคดดี้ (หัวเราะ)
เขาบอกว่าพวกเราต้องทำอะไรก็ได้ที่เลี้ยงตัวได้ก่อน แต่เราก็ไม่อยากเป็นแคดดี้ไง ก็นั่งงงอยู่กับชีวิต แล้วด้วยความที่ไม่เคยวางแผนอื่นในชีวิตเลย นอกจากว่าอยากจะไปอเมริกา จะทำยังไงดี ในที่สุดพี่เขยซึ่งทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ แล้วตอนนั้นเขาไปอยู่ที่แอฟริกาใต้ พี่สาวก็บอกว่าผึ้งไปเรียนภาษาอังกฤษที่นี่แหละ ใช้ภาษาอังกฤษเหมือนกันเลยตัดสินใจไปค่ะ ตอนนั้น take course อยู่ที่นั่นประมาณ 6 เดือน
สมัยก่อน 20 กว่าปีที่แล้ว ทุกคนพูดว่าแอฟริกาใต้คืออะไร เพื่อนถามว่าแกไปจับสิงโตเหรอ (หัวเราะ) เปล่า แต่ประเทศเขาศิวิไลซ์มาก สวยแล้วอากาศดีมาก แล้วเราก็ไปอยู่ในเมืองที่เป็นเมืองราชการ ไปอยู่กับนักการทูต ได้ใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง สบาย อากาศก็ดี เรียนหนังสือใช้ภาษาอังกฤษหมด แม้ว่าสำเนียงจะแปร่ง ๆ แต่ไม่สนใจทุกอย่างโอเค เพราะว่าเราอยู่ไทยมาตั้ง 20 กว่าปี ยังไงภาษาอังกฤษเราเป็น Tinglish แน่ ๆ ไม่ใช่ English ไม่ใช่ native ก็เรียนอยู่กับเขา ขยันมาก ตอนอยู่ที่แอฟริกาใต้ 6 เดือน เรารู้ว่าเรามีไทม์ไลน์แค่นั้นเดี๋ยวเราก็กลับมาเรียนที่นิด้าต่อปริญญาโท เพราะว่านิด้ามันสามารถสอบทิ้งไว้ก่อนได้ แล้วค่อยไปเรียน
ตอนเรียนที่แอฟริกาใต้ เราขยันจนอาจารย์บอกว่าไม่เคยเจอนักเรียนแบบนี้ เพราะว่าเด็กไทยแกรมมาร์เก่งมากนะ แกรมมาร์ผึ้งดีมากไม่เคยคะแนนตกเลย แต่เราไม่เคยพูด เราเลยพูดไม่ค่อยเป็น แล้วผึ้งอยากจะฝึกสกิลเพิ่มเติม ผึ้งเขียนนิทานก่อนนอนส่งครู ให้ครูไปอ่านให้ลูกฟัง ที่เขียนเพราะเราจะได้ฝึกจินตนาการ ฝึกแกรมมาร์ ฝึกวิธีการเขียน เขียนทุกวัน จนถ้าวันไหนไม่เขียน ครูจะบอกว่าลูกถามแล้วนะว่าวันนี้นิทานหายไปไหน เคือเรารู้ว่าเรามีเวลาน้อย ต้องทำทุกอย่างให้คุ้มกับเงินที่พ่อส่งไปเรียน ก็ไปเรียนอยู่ตรงนั้นแค่ 6 เดือน ก่อนกลับมาเรียนต่อปริญญาโทที่นิด้า
ช่วงนั้นทิ้งทุกสิ่งอย่าง แล้วเรียนโทอย่างเดียวที่คณะเทคโนโลยีการบริหาร สาขาวิธีวิทยาการวิจัย ซึ่ง 20 ปีก่อน วิจัยในเมืองไทยมีคนเรียนน้อยมาก แล้วเป็นศาสตร์ใหม่มาก เราเรียนเพราะว่าสาขานี้ดูแปลกดี น่าจะแตกต่าง เลยลองเรียนดู ไม่อยากจะไปนั่งอ่านเลขอีกเพราะว่าเราสอบเทียบมาเลยไม่รู้จักแคลคูลัส เราไม่รู้อะไร เราต้องสอบพวก MBA ไม่อยากสอบก็เลยเรียนวิจัย พอเรียนวิจัยไปได้ปีหนึ่ง ทางสยามกลการก็ประกาศรับพีอาร์ เลยลองสมัครงานดู ปรากฏว่าได้งานเป็นพีอาร์ที่สยามกลการ ทีนี่ก็เกิดปัญหาละ แล้วเราจะทำงานยังไง เพราะว่ายังติดเรียนอีก 1 เทอม ยังเรียนไม่จบ แต่นายก็ดีมาก เขาบอกไม่เป็นไร ให้เรียนไปทำงานไป ยังไม่ต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำ ให้เป็นพนักงานชั่วคราวไปก่อน วันไหนจะไปเรียนก็ไปเรียน วันไหนต้องไปทำวิจัยต่างจังหวัดก็ไปทำวิจัย แต่วันไหนที่ต้องเข้าออฟฟิศก็เข้าออฟฟิศ แต่ว่าไม่มี benefit นะ ไม่มีโบนัส ชุดพนักงาน (หัวเราะ) สมัยก่อนต้องอยากใส่ จะได้เหมือน ๆ คนอื่น ก็อยู่อย่างนั้นมาประมาณสักปีหนึ่งก็เรียนจบ และได้ทำงานฟูลไทม์ที่สยามกลการ ก็เริ่มเป็นพีอาร์ตั้งแต่วันนั้น
ชีวิตพีอาร์ช่วงนั้นสนุกดี ได้เจออะไรที่ไม่เคยเจอเลยในชีวิต รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการ เป็นสิ่งที่เราชอบ เช่น เราได้เป็นพิธีกร เราได้จัดกิจกรรม เราได้เที่ยว เพราะว่าตอนนั้นดูแล Nissan เราก็มีการทดสอบรถ เปิดตัวฟรอนเทียร์ใหม่ เปิดตัวรถใหม่ทีไร เราก็จะได้ไปเที่ยวด้วย เราก็ดีใจ ชอบ ได้ไปดำน้ำ ได้ไปทำอะไรต่ออะไรต่าง ๆ พานักข่าวไปแล้วมันมีโครงการ Think Earth ที่เป็นโครงการของสยามกลการอยู่แล้ว เป็น CSR รายแรก ๆ ในเมืองไทย ก็เอาทั้งสื่อสายรถยนต์ และเอาทั้งสื่อสาย CSR ไปด้วยกัน ก็เลยสนุกสนาน ติดลมยาวเลยจนทุกวันนี้
The People : จากรถยนต์ทำไมถึงได้มาทำงานสายดนตรี
อัญญาพร :
ตอนแรกเราอยู่สายรถยนต์ แต่สยามกลการใหญ่มาก มีมากกว่า 50 บริษัทในเครือ เราไปอยู่ในสยามใหญ่ได้ทำ Nissan ทำ CSR ของ Nissan ก็คือ Think Earth พออยู่สยามใหญ่ได้พักหนึ่ง ที่สยามดนตรียามาฮ่าขาดคน แล้วเขาไม่รับคนใหม่ เลือกคนจากสยามใหญ่ไปอยู่สยามดนตรียามาฮ่า
ที่นั่นมีคนเดียว จากเดิมที่แม้จะเป็นพีอาร์ แต่ก็ยังไม่เคยเขียนเองคราวนี้ก็ต้องเขียน ที่สยามกลการเราดีลแค่นักข่าวสายรถยนต์กับสาย CSR พอมายามาฮ่าต้องคุยสายสตรี-สังคม สายดนตรี สายการตลาด ทุกสิ่งอย่างที่ต้องดีล มีอีเวนต์ให้ผึ้งเป็นพิธีกรได้ ไปเป็นพิธีกรตามงานอีเวนต์ต่าง ๆ ของสยามกลการที่เขาจัดประกวดเด็ก ประกวดดนตรี 2 ขวบ 3 ขวบ ผึ้งจะเป็นพิธีกรตั้งแต่เช้ายันเย็นฟังดนตรี เพลงที่จำได้มากที่สุดเลยตอนที่เขาเล่นกีตาร์คลาสสิกกันคือ Hotel California เป็นกีตาร์คลาสสิกที่เพราะมาก แต่ว่ามันยาว 5 นาทีต่อเพลง แล้วพอเด็กทุกคนเล่น Hotel California พิธีกรนั่งหลับอยู่ เมื่อไหร่จะจบ แต่อันนั้นยังโอเคกว่าการที่ไปเป็นพิธีกรงานกาชาด (หัวเราะ) ไปเป็นพิธีกรงานกาชาดที่ระยอง พีอาร์ต้องเป็นพิธีกรหลากหลายขนาดนี้เลยเหรอ นักข่าวก็ต้องดีล เดี๋ยวก็ต้องกลับมาคอนเฟิร์มสื่อ แล้วต้องกลับไปส่งข่าว กลับไปเป็นพิธีกร เดี๋ยวก็เปียโน เดี๋ยวก็ยามาฮ่า ปรับโหมดไม่ถูก เหนื่อยมากโดนสวิงไปทุกสิ่งอย่าง
ตอนนั้นด้วยความที่เป็นเด็กก็คิดว่าลาออกเลยดีมั้ย เราทำได้ทุกอย่าง เราเก่ง ตัดสินใจลาออกเลยค่ะ ผู้บริหารก็โทรมาไม่ให้ลาออก แต่เราลาออกไปแล้ว (หัวเราะ) แล้วก็นั่งร้องไห้อยู่ 2 เดือน เพราะไม่มีงานทำ ไม่ให้ที่บ้านรู้ด้วยเพราะกลัวที่บ้านเครียด ถามว่าเป็นจุดเปลี่ยนไหม ผึ้งว่ามันทำให้ผึ้งได้เรียนรู้ว่าอย่าอีโก้สูง จริง ๆ แล้วเราออกเขาก็หาคนใหม่ได้ แต่เรายังไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย พอลาออกแล้วจะไปทำอะไร ไม่มีงานทำ ตอนนั้นอายุแค่ 25-26 แต่มันเครียดนะเพราะว่าไม่กล้าบอกที่บ้าน ร้องไห้เสร็จโทรไปคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนสนิทตั้งแต่สาธิตฯ เขาบอกว่าเราก็ลาออกเหมือนกัน ตอนนี้นั่งเขียนจดหมายสมัครงานไปร้อยฉบับแล้ว (หัวเราะ) เขาเขียน 100 ฉบับเลยเหรอ ขนาดมาจากบริษัทใหญ่มากเลย เรายังไม่สู้เท่าเขาเลย
ตอนนั้นก็สู้มากขึ้น เขียนจดหมายสมัครงานอีกเยอะแยะเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็ได้งานจากการแนะนำของพี่ ๆ นักข่าว recommend ไปทำที่นู่นที่นี่ ก็ได้เรียนรู้มากขึ้นว่าอย่าวู่วามกับชีวิต จริง ๆ ก่อนที่จะเข้าแสนสิริ ผึ้งทำงานมาอีก 2 ที่ เป็นอะไรที่รู้สึกเคารพตัวเองมากเลย ทำงานอยู่ 4 เดือนแล้วลาออกเลย เพราะเรารู้ว่าเราไม่เหมาะ เราเป็นคนเร็ว เราเป็นคนตัดสินใจฉึบฉับ แล้วเราต้องไปอยู่ในสภาพที่ไม่ใช่เรา เราไม่อยากจะให้ตัวเองอยู่ภายใต้ภาวะที่จะทำให้จิตวิญญาณตัวเองมันโดนกดดันเอาไว้ เรามีอะไรที่มากไปกว่านั้น ก็ตัดสินใจว่าไม่เอาดีกว่า ไม่ใช่เรา แต่เราก็ไม่ผิด ตอนนั้นก็คิดเยอะ แต่ถามว่าเราผิดไหมก็ตอบได้เลยว่าไม่ผิด ทางบริษัทก็ไม่ผิดแต่ nature เราเข้ากับเขาไม่ได้ ก็แค่ไม่ต้องอยู่ด้วยกันก็จบไป แต่ทุกวันนี้ผึ้งก็ยังติดต่อกับเขา ส่งงานบางอย่างให้กัน
หลังจากลาออกก็มีเพื่อนแนะนำว่าที่ Plus Property ต้องการคน ซึ่ง Plus Property คือบริษัทในเครือของแสนสิริ พอไปสัมภาษณ์ก็ได้งานที่ Plus เลย ผึ้งก็เลยเริ่มเข้าสู่วงการอสังหาฯ เรานึกว่าเราเก่งด้านพีอาร์แล้ว จริง ๆ ยังไม่เก่งเลย ต้องเริ่มเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ การมีนายที่ดีที่พยายามจะสอน ทำให้เราเป็นเราในวันนี้ด้วยนะ เขาถามเราว่ารู้หรือเปล่าว่า Revenue ต่างกับ Sale target ยังไง แล้ว Backlog ต่างกับ Transfer ยังไง เรารีบบอกว่ารู้ค่ะ นายก็ตอบกลับมาว่าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ (หัวเราะ) จบนิเทศมาจะมารู้อะไรแบบนี้ เขานั่งสอนว่าตัวเลขมันสำคัญยังไง อสังหาฯ ต้องอยู่กับตัวเลขแบบไหน แล้วก็จัดคอร์สเทรนนิ่งให้เราว่าต้องรู้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องงานก่อสร้างว่าตึกที่ทำสโลปขึ้นไปมันไม่ใช่ดีไซน์นะผึ้ง แต่จริง ๆ เป็นเพราะกฎหมาย ดังนั้น Plus จึงเป็นที่ grooming ให้เราเป็นเราได้ในวันนี้ วันนั้น Plus เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ทีมงานที่ Plus ก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งนั้น CEO ตอนนั้นเพิ่งจะอายุ 36 เอง
พอทำงานที่ Plus ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทำทั้งพีอาร์ ทั้ง corporate marketing ดูแลงานทางด้านดีไซน์ ดูแล CSR ได้ทำ database เพราะว่าเราจบวิจัย เราก็ได้เอาความรู้มาทำงานให้หลากหลายเต็มไปหมดเลย สนุกมาก แต่อยู่ ๆ มาวันหนึ่งการบริหารงานปรับเปลี่ยน จึงมีการรวมกันระหว่าง Plus และ แสนสิริ
ทีมแรกที่โดนย้ายไปอยู่แสนสิริก็คือทีมพีอาร์ แจ็คพอตลงเราอีกแล้ว ไปอยู่กับคุณเศรษฐา ทวีสิน (หัวเราะ) ตอนนั้นคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่มาก อีโก้เบ่งบานตั้งแต่ Plus แล้วอีโก้ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามการเติบโตทางอาชีพการงานของเรา เรานึกว่าเราเก่งมากเลย ลูกน้องผึ้งจะรักผึ้งมาก แต่คนรอบข้างเกลียดผึ้งเยอะ เพราะผึ้งปกป้องลูกน้องทุกคน ใครอย่ามาด่าลูกน้องผึ้งนะ ไม่ได้เลย ฉันจะไม่ผิด ฉันจะต้องเอาลูกน้อง ลูกน้องฉันต้องอยู่รอดปลอดภัยแล้วฉันก็จะทำงาน
ตอนนั้นมองอย่างเดียวคือความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้มองความสัมพันธ์กับคนอื่น มองความสัมพันธ์กับลูกน้องของตัวเองเท่านั้น อยู่แสนสิริก็ได้เรียนรู้อะไรค่อนข้างเยอะ เพราะนายเป็นคนที่เก่งด้านการตลาดมาก ๆ ทุกอย่างสามารถเทิร์นออกมาเป็นเนื้อข่าวได้หมด แล้วตอนนั้นเป็น PR manager สมัยก่อนได้คุมงบประมาณ ก็มีคนแวะเวียนมาหาเราตลอดเวลา คุณผึ้งอย่างโน้นอย่างนี้ อีโก้ยิ่งเบ่งบานเฟื่องฟู (หัวเราะ) วันหนึ่งพอออกจากแสนสิริก็ไปอยู่พฤกษา ทำงานพฤกษาได้ 2 ปี ก็ลาออก เพราะว่าอยากมีธุรกิจของตัวเองมานานแล้ว ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนั้นเดี๋ยวเราจะไม่กล้าเริ่ม ตอนนั้นอายุ 36 ก็ลาออกมาจากพฤกษาก็มาตั้ง Agate เลย
ตอนตั้งแรก ๆ ก็สบาย ๆ ยังไงก็ได้ (หัวเราะ) ผลปรากฏเราก็ไปแนะนำตัวกับเซลส์ที่เคยเข้ามาหาเราสมัยก่อน ปรากฏเขาบอกว่ายุ่งอยู่เดี๋ยวค่อยโทรกลับได้ไหม ช่วงนั้นก็เศร้านะ เศร้านานมากเลย เพราะเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 22 ลาออกมาตอนอายุ 36 แล้วมันเติบโตเรื่อย ๆ มันก็จะหลงในโลกมายาที่เรารู้สึกว่าโลกนี้เราเก่ง ทุกคนเคารพเรา ทุกคน recognize เรา วันหนึ่งที่เราออกจากพฤกษา มีคนพูดจากับเราแบบนี้เราก็ร้องไห้อยู่สักพักหนึ่ง แล้วก็เริ่มเรียนรู้ว่าเขาไม่ได้ไหว้ผึ้ง แต่เขาไหว้หมวกทุกใบของผึ้ง ไหว้หมวกแสนสิริ ไหว้หมวกพฤกษา เพราะมันอสังหาฯ เบอร์ 1 เบอร์ 2 ทั้งนั้น วันนั้นหลังจากร้องไห้เสร็จก็บอกตัวเองว่าวันหนึ่งเขาจะต้องรู้จักเราในฐานะที่เราเป็นเรา เขาจะไม่ใช่รู้จักเราว่า ผึ้งแสนสิริ หรือ ผึ้งพฤกษา แต่ต้องรู้จักว่าเป็นผึ้งที่ทำอาชีพพีอาร์ เราก็เริ่มสู้ตั้งต้นใหม่ มันเป็น turning point จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งของผึ้ง สำหรับผึ้งแล้วจุดเด่นของผึ้งข้อหนึ่งคือเราไม่เคยท้อเลย ผึ้งมีเวลาให้ตัวเองร้องไห้นะ เรื่องนี้ร้องกี่วัน (หัวเราะ) 2 วันพอไหม 2 วันไม่พอให้เลยอาทิตย์หนึ่ง ถ้า 1 อาทิตย์แล้วยังไม่พอ โอเค ต่อได้อีกวันหนึ่ง ถ้าอีกวันหนึ่งยังไม่พอนี่ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวจะแย่กันไปใหญ่ ต้องทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองกลับมาให้ได้เร็วที่สุด เพราะว่าชีวิตต้อง go on ไปข้างหน้า
The People : ทำอย่างไรให้คนรู้จักว่านี่คือ ‘ผึ้ง Agate’
อัญญาพร :
ทำงานค่ะ ผึ้ง Agate คือทำงาน สู้งาน แล้วพยายามที่จะทำให้ลูกค้าเรารู้ว่าวิธีคิดของเราคืออะไร เราคือ consult บางทีเรียกไปคุยเรื่องงานพีอาร์ คุยกันไปคุยกันมา ไปทำ CRM เรื่องนี้กับค่ายนี้กันไหม คุยกันไปได้เรื่อย ๆ กับ know how ที่เราก็ไม่รู้ตัวว่าเรามีจากประสบการณ์ทำงาน แล้วในที่สุดผึ้งได้งานจากลูกค้าที่เชื่อมั่นในการทำงาน พอเวลาเรา consult เขาก็เชื่อใจ ไม่มีทางเลยที่เราตั้งบริษัทวันแรก นามสกุลก็ไม่มี มาเป็นพีอาร์แล้วจะได้งานง่าย ๆ กว่าจะได้งานเราต้องอธิบาย นั่งคุยให้ฟังว่าต้องทำแบบนี้ บางอย่างที่คิดไม่ให้ทำ แล้วถ้ายังจะทำ เรา recommend เลยว่ามันจะออกมาเป็นแบบนี้นะ ก็จะบอกเขา ใช้วิธีการแบบนี้ ถามว่าเหนื่อยไหม โคตรเหนื่อยเลย วันแรกที่ทำ Agate ทำคนเดียว เพราะว่าชีวิตในฝันคิดแค่ว่า ก็แค่รับงานเดือนละเจ้า 2 เจ้า งานพีอาร์เราทำอยู่แล้ว ง่าย ไม่ต้องมีทีม งานเล็ก ๆ ฟรีแลนซ์ โอ้โห ในชีวิตจริงตี 5 มาตัด cliping พอ 8 โมงออกไปข้างนอกประชุม คือไม่เหมือนอย่างที่คิดเลยสักเรื่องหนึ่ง เหนื่อยมาก แต่ว่าก็ต้องใช้ความพยายามที่จะคุยกับลูกค้าในการพิสูจน์ให้เห็นว่า เราคือคนทำงาน แล้วเราทำงานได้
The People : ลูกค้ารายแรกของ Agate
อัญญาพร :
ลูกค้ารายแรก ๆ ของ Agate อ๋อ ไม่จ่ายตังค์ค่ะ บิลแรกเลยค่ะ (หัวเราะ) บิลแรกของ Agate ไม่จ่ายตังค์ โอ้โห lesson learn อะไรมีแบบนี้ด้วยเหรอ ทำไมเราทำงานให้แล้วไม่จ่ายตังค์ โทรไปทวงมาก ๆ เขาก็บอกว่าแค่กาแฟจะให้พนักงานกินยังไม่มีเลย จะมาเก็บตังค์ คิดอะไรอยู่ อู้หู ทำไมเราผิด (หัวเราะ) ในที่สุดก็ไม่ได้เก็บตังค์ รายแรกเลยนะคะิเราก็เริ่มเรียนรู้ เริ่ม lesson learn ว่าในโลกธุรกิจมันไม่ได้สวยหรูเสมอไป พอจะฟ้อง ทางนายเก่าที่ Plus ก็บอกว่าฟ้องไปก็เท่านั้นแหละ เพราะว่ามันจะยืดเยื้อ ใช้เวลานาน แล้วเสียค่าทนาย ไม่เป็นไรให้ถือว่าซื้อประสบการณ์ เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหนเลย มหาวิทยาลัยก็ไม่มีสอน ความรู้สึกแบบนี้ต้องเก็บเอาไว้เลยนะ มันไม่มีทางที่จะได้เจอง่าย ๆ รายแรกก็เลยไม่ได้เก็บตังค์ค่ะ
รายต่อมาเป็น developer ที่เขาอยู่รอบนอก ขอบเมือง เป็นงาน้องถิ่นที่เพื่อน ๆ แนะนำมา (หัวเราะ) แต่ที่ประทับใจมากที่สุด น่าจะ Origin (บริษัทอสังหาฯ) ประทับใจเพราะว่าเป็นลูกค้าเป็นรายใหญ่ ที่ให้โอกาสทีมเราทำงานให้ อีกรายที่ประทับใจมากคือ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เป็นลูกค้ารายแรก ๆ ของ Agate เลยที่เราได้ทำงานในลักษณะที่ทำ consult อย่างเต็มที่ ท้าทายไหม ท้าทายแล้วก็ตื่นเต้นมากเพราะเขาเป็นบริษัทมหาชน เราได้งานเขาจากเพื่อนสนิทของผึ้งที่มักจะส่งข่าวมาให้ช่วยคอมเมนต์หน่อย ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่ได้ทำงานให้เขาหรอกนะ แต่ก็คอมเมนต์ข่าวไป ต้องปรับอย่างนี้ ต้องแก้อย่างนี้ เราทำให้เพราะว่าเป็นเพื่อนสนิทกันมาก ๆ คอมเมนต์ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาโทรมาบอกว่า CEO อยากเจอ ก็เข้าไปเจอ พอได้คุยกัน เขาช่วย grooming ผึ้งในเรื่องวิธีคิด เช่น เวลาเราเอางานไปพรีเซนต์ เราก็จะงงๆ เพราะว่าเขาไม่บรีฟว่าต้องการอะไร แต่ถามกลับว่า วันนี้มีอะไรจะมาพรีเซนต์ อ้าวเราก็งงๆ ไม่ใช่บริษัทเรา ทำไมไม่บรีฟ (หัวเราะ) เขาบอกว่าอยากให้ผึ้งหัดคิดแบบ Steve Jobs เพราะว่า Steve Job ไม่เคยมาถามเราว่าเราอยากใช้มือถือแบบไหน แต่เขาคิดมาให้เราใช้เลย ผึ้งอยู่ในวงการสื่อสารต้องไปศึกษาให้ดีที่สุดแล้วมาบอกว่าต้องทำอะไร ก็เป็นบริษัทที่ทำมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ตั้ง Agate จนถึงวันนี้ก็ 8 ปีที่ดูแลกันมา โดยเฉพาะโปรเจกต์ที่ดูแลเป็นอย่างดีเป็นลูกรักเลยคือโปรเจกต์ EDUCA เป็นงานทางด้านการศึกษาของทางปิโก
ทำงานกับปิโก ผู้บริหาร Challenge เรามากในหลายอย่าง และขณะเดียวกัน ก็ให้โอกาสเราในหลายเรื่อง บางครั้งงานที่ทำมันเกิดกว่างานพีอาร์ บางทีก็สนุก บางทีก็อึดอัด เราก็เคยถามเขาใช้งานผึ้งเยอะจัง ตกลงว่าผึ้งคือใคร คือผึ้งทำพีอาร์ HR หรือแผนกไหน คุยกันอย่างนี้เยอะจนผึ้งถามว่าผึ้งเป็นใครกันแน่ในสายตา แล้วก็หายกันไปสักอาทิตย์หนึ่ง กลับมาบอกผึ้งก่อนเริ่มมีตติ้งว่า ที่ผึ้งถามว่าคุณเป็นอะไรในสายตาของปิโก คุณเป็นพาร์ทเนอร์ผมนะ โอ้โห วันนั้นใจฟูมากเลย (หัวเราะ) ใจฟูจากลาซาลกลับมายันราชพฤกษ์เลย ใจฟูแบบว่าโห… เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงขนาดนี้ แล้วมองผึ้งเป็นพาร์ทเนอร์ ผึ้งดีใจมากเลย ผึ้งก็เลยเขียนสโลแกนของบริษัท ‘Not an Agency, We Are Your True Partner’ เพราะเขาบอกว่าคุยกับผึ้งได้ทุกเรื่อง มีเวลาจะมานั่ง consult กัน ไม่ใช่แค่ว่าโปรเจกต์นี้จะคิดกี่บาทแล้วกลับบ้านไป จริง ๆ แล้วบางโปรเจกต์มันทำไม่ได้ ก็พยายามบอกว่าไม่ทำ เพราะทำไม่ได้ บางโปรเจกต์ทำได้แต่เขาไม่ทำ บางโปรเจกต์ผึ้งบอกมา 8 ปียังไม่ยอมทำเลยนะคะ แต่ก็ยังบอกต่อไป (หัวเราะ) ก็เลยเป็นที่มาของ ‘Not an Agency, We are Your True Partner’
The People : อย่างไรที่เรียกว่าพาร์ทเนอร์
อัญญาพร :
งานพีอาร์เป็นงานที่ดูแลภาพลักษณ์ ไม่ใช่งานที่มาโปรเจกต์หนึ่งแล้วจบ ผึ้งคิดว่าบางอย่างโปรเจกต์นี้จะทำให้เกี่ยวเนื่องไปถึง image ด้านนี้ แล้วเกี่ยวเนื่องไปถึงวิธีคิดแบบนี้กับผู้บริหารอะไรต่าง ๆ อย่างเช่น ผึ้งทำงานให้กับ developer ใหญ่เจ้าหนึ่ง ผึ้งก็จะมองว่าผู้บริหารเขายังอายุไม่เยอะแล้วเติบโตเร็ว ผึ้งจะต้องวางเขายังไง คือจะต้องดูแล recommend เขาตั้งแต่เรื่องการแต่งตัว recommend เรื่องพอเวลาจะเปิดตัวใหม่ต้องไปกระซิบว่าผมจะต้องทำยังไง การคุยกับนักข่าว การ facing กับนักข่าวจะต้องทำยังไง คือพาร์ทเนอร์อย่างนี้เลย บางทีทีมข้างในจะโทรมาบอกว่า พี่ผึ้งโทรไปบอกนายให้หน่อยว่าวันนี้จะต้องทำตัวแบบนี้ (หัวเราะ) ก็ทำ ก็จะดูแลกันแบบนั้น ไม่ใช่ดูแลแค่ว่าส่งข่าว 1 ข่าวแล้วจบ
ผึ้งจะดูถึงขนาดว่า ถ้าวันนี้มีคนนี้มาคุยด้วยต้องคุยกับเขานะ ถ้าเขามาขอเบอร์โทรศัพท์ แจกเขาไปเลยค่ะ สมัยนี้หาเบอร์กันได้ง่ายมาก อย่าทำให้เข้าถึงยาก นั่นเป็นสมัยโบราณ ยุคนี้ต้องเข้าถึงง่าย ๆ ก็จะคุยกับเขาแบบนี้ หรือเรื่อง HR เขาอยากได้คนก็จะมาบอกผึ้ง เราก็หาให้ เอาคนสไตล์ไหน เพราะว่าเป็นอสังหาฯ ด้วย เอาคนสไตล์ไหนก็จะช่วยดูแล
หรืออย่างทำให้ S.B. Furniture วันแรกที่เจอกับผู้บริหารของ S.B. คุยกันนานมากเลย ผึ้งก็ประทับใจคุณหนูเล็ก (ธัญญรักข์ ชวาลดิฐ) มาก คุยกันนานมาก เพราะว่าเราอยู่ในสายอสังหาฯ เราก็รู้อสังหาฯ อยากได้อะไรจากพาร์ทเนอร์ เราก็บอกว่าต้องทำแบบนี้ ลองทำแบบนี้ ทำเรื่องนู้นเรื่องนี้ เราไม่ได้คุยแค่พีอาร์แล้ว คุยยาวไปถึงเรื่อง CRM คุยยาวไปถึงการทำมาร์เก็ตติ้ง กับวิธีการเข้าหาทีมมาร์เก็ตติ้งบางทีม ก็ consult กัน แล้วค่อยได้งานพีอาร์
The People : ในวันที่สื่อโดน disruption ทาง Agate ต้องปรับตัวอย่างไร
อัญญาพร :
คือมันไม่กระทบกับสาย business เท่าไหร่ ผึ้งยังทำ
แค่สายอสังหาฯ และสาย business ผึ้งอาจจะยังไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะว่าผึ้งทำงานสายการศึกษาค่อนข้างจะเยอะ อันนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทุกครั้งที่แถลงข่าวให้กับสายการศึกษา ทีมผึ้งร้องไห้กระจองอแง นั่งเครียดกันจนเรารู้สึกว่าเส้นเลือดแตกเส้นหนึ่งมันไม่คุ้มกับการที่เรามานั่งเครียดขนาดนี้ ปล่อยมันไปเถอะ เขาก็บอกเชิญนักข่าวไม่ได้ ไม่มีสื่อมาเลย ทำยังไงดี พอเจออย่างนี้มาก ๆ เข้า จุดเปลี่ยนผึ้งคืออย่างนั้นไม่เชิญสื่อแล้ว ไม่เชิญ ผึ้งเดินไปบอกเลยว่าผึ้งไม่แถลงข่าว
วันนั้นผึ้งก็กลัวเหมือนกันว่าลูกค้า ก็ปิโกนั่นแหละว่าเขาจะโอเคไหม เขาก็โอเค เหตุผลที่ผึ้งไม่แถลงข่าวเป็นเพราะว่าเรื่องแบบนี้เราเชิญนักข่าวยาก สมัยนี้ไม่มางานในประเด็นแบบนี้แล้ว เพราะฉะนั้นทำงานอีเวนต์กัน จากการทำอีเวนต์นั่นแหละ แล้วค่อยให้ทีมพีอาร์ทำคอนเทนต์ซัพพอร์ตไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งผลออกมามันก็โอเค ผึ้งก็เลยเริ่มรู้สึกว่าถ้าวิธีคิดแบบนี้ ผึ้งต้อง drive ให้คนในทีมผึ้งคิดแบบเดียวกัน ถ้าเราเป็นพีอาร์เราก็จะแค่ส่งข่าวหาสื่อหานักข่าว ผึ้งก็บอกเลย เราไม่ใช่พีอาร์แล้ว เราเป็น communicator ทุกคนต้องปรับตัว ขายอีเวนต์ก็ต้องขาย บอกให้ลูกค้าทำอีเวนต์ก็ต้องทำเพราะไม่งั้นมันไม่มีช่องทางการส่ง เราไม่อยากโดนปิดตัว เราจะต้องเป็นพีอาร์เจ้าแรก ๆ ที่ผงาดขึ้นมาว่าฉันรอดในยุคที่มัน disrupt เริ่มจากการทำอีเวนต์ครั้งนั้น ทำ networking ให้การศึกษาในครั้งนั้น แล้วเราก็ได้คำตอบมาว่าพีอาร์มันสะกดเราอยู่แค่นั้น ตอนนี้เราไม่ใช่พีอาร์ เราเป็น communicator ส่งสารออกไปผ่านอะไรก็ได้ ไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
The People : ทุกวันนี้ทำงานรู้สึกว่าสนุกหรือว่าเหนื่อยมากกว่ากัน
อัญญาพร :
ส่วนใหญ่จะเหนื่อย (หัวเราะ) มันคือความท้าทายมากกว่าในทุกครั้งที่ผึ้งทำงาน ไม่ได้รู้สึกว่ามันสนุกมากไปกว่านี้ หรือว่าเหนื่อยมากไปกว่านี้ ทุกงานคือความท้าทายของผึ้งว่ามันจะต้องออกมายังไง พอเป็นความท้าทาย เราก็อยากจะทำ บางอย่างที่ไม่ควรจะทำ แต่ผึ้งยังอยากทำอยู่ เพราะผึ้งอยากจะรู้ว่าความท้าทายครั้งนี้จะผ่านไปได้ด้วยวิธีการแบบไหน ผึ้งไม่ได้เหนื่อยกับมันมาก แล้วผึ้งก็ไม่ได้สนุกขนาดนั้น เพราะมันเครียดในการที่เราจะต้องอยู่กับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ผึ้งไม่ได้คิดว่าผึ้งจะหยุดกับความท้าทาย ผึ้งชอบความท้าทายที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องทีม ทั้งเรื่องลูกค้า ทั้งเรื่องคอนเทนต์ไปยังนักข่าว เออ หรือว่ามันคือความสนุก มันคือสิ่งที่ผึ้งยังอยากทำอยู่
The People : ความท้าทายต่อไป?
อัญญาพร :
ในตอนนี้คิดว่ายังวิ่งอยู่อย่างนี้ เพราะว่าต้องการทำให้บริษัทเติบโต เราได้คนเก่งมาอยู่กับเราเยอะ ทุกคนต้องการความก้าวหน้าในอาชีพ ผึ้งเลยหยุดไม่ได้ เพราะว่าผึ้งอยากจะให้พวกเขามีชีวิตที่ดี ๆ คำตอบของการที่เขาจะมีชีวิตที่ดี ๆ ก็คือการทำให้บริษัทเรามั่นคง เป้าหมายอีก 2 ปีข้างหน้า ผึ้งก็ยังทำงานเยอะอย่างนี้อยู่ เพราะผึ้งต้องการให้ Agate เติบโตไปอีก ผึ้งต้องการให้คนที่มาทำงานกับผึ้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะผึ้งโชคดีมากเลยที่ได้เพื่อนร่วมงาน ได้น้อง ๆ ทีมงานที่เก่ง ตอนนี้มีทีมงานอยู่ 15 คน ผึ้งรู้สึกว่าทุกคนเก่งและยอมที่จะมาอยู่ในบริษัทที่เพิ่งตั้งต้น บางคนอยู่กันมาตั้งแต่ต้นก็มี บางคนเข้ามาร่วมทีมเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่มีอีก 2 เจ้าชวนเขาไปทำงานด้วย ทั้งดีพาร์ตเมนต์สโตร์ระดับประเทศ ปั๊มน้ำมันระดับประเทศ เราก็บอกไปทำกับเขาเลย เขามีอนาคต อย่ามาอยู่กับพี่เลย มันเล็กเกินไป เขาบอกโอเค งั้นเขาบอกเขาอยู่กับพี่นี่แหละ เราก็ได้คนดี ๆ มาทำงาน แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะจำกัดให้ชีวิตเขาอยู่แค่นี้ได้ เราเลยต้องโต
ผึ้งพูดกับลูกน้องเสมอเลย ผึ้งต้องการให้ทุกคนที่อยู่ Agate ใส่เสื้อผ้าระดับแบรนด์ Zara ได้โดยที่ไม่รู้สึกอะไร คืออยากให้ทุกคนเขา feeling ให้ได้แบบนั้น เพราะฉะนั้นผึ้งต้องสร้างตัวเพื่อให้เขาได้เป็นแบบนั้น 2 ปีข้างหน้า ผึ้งยังต้องวิ่งหาลูกค้าสร้างความเชื่อมั่น และผึ้งต้องสร้างทีม ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผึ้งจะไม่ทำอะไร อีก 5 ปีข้างหน้าผึ้งคาดหวังว่าผึ้งจะนั่งเฉย ๆ แล้วก็บอกว่าอันนี้พี่อยากได้แบบนี้ อันนั้นอยากได้แบบนั้น อันนั้นเราต้องทำแบบนี้ เราไปทำกันมานะ ดังนั้นการเติบโตคือการสร้างผึ้งให้แข็งแรง และสร้างทีมที่แข็งแรง
นอกจากนี้ ด้วยความที่ผึ้งอยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตดี ๆ และต้องการให้เขาอยู่กับเรานาน ๆ บริษัทผึ้ง provide คุณภาพชีวิตให้เขาเหมือนกับตอนที่ผึ้งอยู่องค์กรมหาชนเลยนะคะ ผึ้งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน มีสวัสดิการเรื่องการรักษาพยาบาลเทียบเท่ากับองค์กรที่ผึ้งเคยอยู่มา การันตีโบนัสให้ด้วยทุกปี ขึ้นเงินเดือนให้ตามแต่โอกาสจะสมควร อาจไม่ได้ขึ้นทุกปี บางปีผึ้งขึ้นรายไตรมาส หรือบางปีถ้าเกิดว่าผลประกอบการดีผึ้งแชร์เลย เพราะผึ้งคิดว่าตอนที่เราเป็นพนักงานเราอยากได้อะไร แล้วเราก็เห็นว่าตัวเราลาออกเพื่อจัมพ์เงินเดือน ลาออกจากที่นี่จัมพ์ไปอีกเท่าหนึ่ง จัมพ์ไป ๆ แล้วพนักงานของผึ้งเก่ง ๆ ผึ้งจะปล่อยให้เขาจัมพ์ทำไม ไม่ต้องจัมพ์ ฉันตัดสินใจจัมพ์ให้เธอเลย ไม่ต้องไปจัมพ์ที่อื่น (หัวเราะ) ไม่งั้นผึ้งไม่รู้ว่าถ้าผึ้งรับคนใหม่เข้ามาแล้วเขาเป็นยังไง แล้วกว่าที่เราจะทำให้คนคนหนึ่งเข้าใจองค์กร เข้าใจเรา เข้าใจวิธีการทำงานมันยากมาก ถ้าไม่อยากเสียใครในองค์กรไป ก็ดูแลทุกคนเป็นอย่างดี มีไปเที่ยวต่างประเทศกันด้วยทุกปี ล่าสุดสรรพากรก็เรียกคุยว่าทำไมขาดทุนทุกปี (หัวเราะ)
ผึ้งได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อการบริหารแบบริเน็น ซึ่งเราเป็นริเน็นโดยที่ไม่รู้ตัวเลย คือการบริหารงานด้วยใจ เรารู้สึกว่างานบางงานยอมที่จะไม่รับเพราะว่าทีมไม่แฮปปี้ เรารู้สึกว่าต้องรักษาเขามากกว่า บางครั้งก็ถามตัวเองว่าคิดถูกเปล่า แต่ก็ทำ บางงานถ้าเริ่มรู้สึกว่าทีมเริ่ม handle แปลก ๆ เริ่มรู้สึกว่าความรู้สึกมันแปลก ๆ ก็จะเข้าไปชาร์จเลย บางทีใช้ใจบริหารก็จะเหนื่อยอีกสเต็ป มันเป็นความรู้สึกหนึ่ง
ริเน็นในมุมของผึ้งคือองค์กร ผึ้งดูแลพนักงานในองค์กรให้ดี เคยมี crisis ครั้งหนึ่งที่ลูกค้าไม่จ่ายตังค์ด้วยเงิน 7 หลัก เกือบ 8 หลัก บริษัทเราแค่นี้แล้วลูกค้าไม่จ่ายเงินกับเงิน 8 หลัก มัน suffer มากนะ แต่สิ่งที่ทำให้ผึ้งอยู่รอดคือลูกน้องเดินเข้ามาแล้วบอกว่าไม่เอาเงินเดือนก็ได้ไม่เป็นไร พี่ผึ้งไม่ต้องเครียด เราจะช่วยกัน เราจะไม่ไปไหน เราจะค่อย ๆ ทำให้มันมี flow เข้ามา ไม่ต้องเครียดเพราะเราอยู่ได้ เราก็ใช้กันน้อย ๆ หน่อย ไม่ต้องเครียด ถ้าเขาจ่ายมาแล้วเดี๋ยวเราค่อยได้เงินกันทีละครึ่งเดือนก็ได้นะ อะไรประมาณนั้น อันนี้คือริเน็นในแง่ของการบริหาร
แต่ในแง่ของการ spin business ผึ้งว่าตอนนี้ก็จะมีเรื่องของการที่ผึ้งมองว่าเราไม่ใช่แค่พีอาร์ แต่เราเป็น communicator แล้วผึ้งก็จะมองแวดล้อมแล้วว่าผึ้งจะทำอะไรให้ให้มันไปซัพพอร์ต แล้วให้งานออกมาได้แบบมีความสุข แล้วก็เป็นสิ่งที่ใช้ know how จากเรา เช่น ทำ souvenir ไหม เพราะพีอาร์ต้องคุยกับเรื่อง souvenir ตลอดเวลาอาจจะเป็นบริษัทที่รับทำ souvenir หรือทำ souvenir ที่เก๋ ๆ เพราะว่าเราใช้มันเกือบทุกเดือน แล้วเราก็รู้ด้วยว่าคนที่จะให้เขามีขอบเขตยังไงในการให้ คือลูกค้าเขาต้องขอบเขตเรื่อง budget ขอบเขตเรื่องอะไรต่าง ๆ คนที่จะรับเขาอยากจะได้อะไร หรือว่าทำเกี่ยวกับเรื่องการทำอีเวนต์ซัพพอร์ตในสิ่งที่ไม่ใช่แค่พีอาร์แล้ว แต่เป็นเรื่องอื่น ๆ
The People : อะไรคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของ Agate
อัญญาพร :
คือการทำงาน มันคือ norm ของทุกคน คือการทำงานอย่างตั้งใจ ตั้งใจที่จะทำงานออกมาอย่างดีที่สุด แล้วก็ทุ่มเทให้กับการทำงาน Agate มี 2 ทีมใหญ่ ๆ คือทีมที่เป็น strategic กับทีมที่เป็นมีเดีย สองทีมนี้ทำงานอย่างเต็มที่ ทีม strategic ก็คิดอย่างเต็มที่เพื่อให้งานของลูกค้าออกมาอย่างดีที่สุด ทีมมีเดียก็ contact นักข่าว contact blogger อย่างเต็มที่เพื่อที่จะให้พื้นที่ข่าวหรือคอนเทนต์เราต่าง ๆ ออกไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้ได้เยอะที่สุด คือการทำงานอย่างตั้งใจ แล้วลงดีเทลกับงานมาก ๆ
The People : ถ้าย้อนกลับไปได้จะกลับไปเรียนบัญชีไหม
อัญญาพร :
ไม่ค่ะ ไม่เลย ถ้าย้อนกลับไปได้ก็ไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่มีความสุขและเป็นสิ่งที่สนุกอยู่แล้ว เคยจะมีการย้อนไปครั้งหนึ่งนะ เคยจะไปเป็นนักวิจัย เพราะว่าเราจบโทวิจัย แต่ในที่สุดเรารู้สึกว่าเราชอบคุยกับคน เราชอบพรีเซนต์ เราชอบเขียน ในที่สุดผึ้งก็เลยไม่กลับไป วันที่ไปสัมภาษณ์กับเขานะคะ เราก็รู้สึกว่าเราอยู่ตรงนี้แหละ พีอาร์เป็นสิ่งที่เราชอบมากที่สุด
The People : คิดว่าการเป็น communicator มีคุณค่าอย่างไรกับสังคม
อัญญาพร :
การเป็น communicator ที่ดีจะมีคุณค่าต่อสังคมมาก ๆ ผึ้งมองว่ามันมีคุณค่าพอกับอาชีพครูเลยนะ อาชีพนักข่าว อาชีพของเราที่เป็นพีอาร์ที่ส่งข่าวไปให้ blogger หรือนักข่าว เพราะใน lifetime ของครูอาจจะสอนไป 10,000 คน 20,000 คน แต่พวกเรา communicator นักข่าว พีอาร์ ส่งคอนเทนต์ออกไปครั้งหนึ่ง คนอ่านเป็นล้าน เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบของผึ้งคือผึ้งทําคอนเทนต์ดี ๆ ผึ้งทำอะไรที่รับผิดชอบ คอนเทนต์ที่ไม่ดีก็ไม่สบายใจที่จะทำ ไม่ทำ ถ้าเกิดถามว่า communicator มีหน้าที่ทำอะไรให้กับสังคม ผึ้งคิดว่ามันคือการส่งสารที่ดี ๆ ออกไปยังสังคมเพื่อให้สังคมเราดี ซึ่งเป็นจุดที่ผึ้งคิดว่า ณ เวลานี้เด็กรุ่นใหม่รับสารได้ง่ายมาก ทุกคนเป็น communicator ได้หมด ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เรากำลังสื่อสารด้วย
เราต้องเห็นคุณค่าในตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในวิธีคิด คุณค่าในการสื่อสาร คุณค่าในวิชาชีพของเราเพื่อที่เราจะทำงานออกมา เราก็คือสื่อมวลชนคนหนึ่ง เราควรจะต้องทำงานออกมาให้สังคมได้รับทราบในสิ่งที่ communicate ออกมาในเรื่องดี ๆ เข้าใจในคุณค่าของตัวเอง รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเราคือสื่อมวลชนคนหนึ่ง แต่เราทำหน้าที่ยืนคนละด้านกันระหว่าง blogger กับนักข่าว หรือระหว่างพีอาร์ที่เป็นคนส่งข่าว แต่มันคล้าย ๆ กันคือเราต้องการสื่อส่งออกไป ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองกำลังจะส่งออกไปให้ได้มากที่สุด มั่นใจว่าเรากำลังทำเรื่องดี ๆ เพราะสังคมกำลังต้องการเรื่องดี ๆ ที่มาช่วยกันจรรโลงให้โลกนี้ดีขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3745
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
7084
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
1031
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Business
AnyaThamtikanon
AGATEPR
AGATECommTH
AGATEComm
AGATECommunications
NotAnAgencyWeAreYourTruePartner