ปีเตอร์ เฟกเตอร์ การตายที่น่าสลดใจข้างกำแพงเบอร์ลิน

ปีเตอร์ เฟกเตอร์ การตายที่น่าสลดใจข้างกำแพงเบอร์ลิน
การพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันตกที่อยู่ข้างโลกเสรีกับตะวันออกที่อยู่ฝั่งคอมมิวนิสต์ แต่ลำพังการขีดเส้นแบ่งบนแผนที่อย่างเดียวไม่อาจกั้นผู้คนจากสองฝั่งไม่ให้ไปมาหากันได้ รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกจึงต้องสร้าง "กำแพงเบอร์ลิน" ขึ้น และมันก็กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการแบ่งประเทศเยอรมนี ยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก รวมถึงการยุติลงของสงครามเย็น  เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเผด็จการของเยอรมนีตะวันออกจำเป็นต้องสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นก็เนื่องจากในช่วงปี 1949 ถึง 1961 ประชากรกว่า 2 ล้านคนจากฝั่งตะวันออกพากันหนีความยากจนและภัยการเมืองไปอยู่ฝั่งตะวันตก ซึ่งคนเหล่านี้ก็รวมถึงแรงงานมีทักษะสูง กลุ่มวิชาชีพเฉพาะด้าน และปัญญาชน หากปล่อยไว้ย่อมเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีตะวันออกได้  ในเดือนสิงหาคม 1961 จึงได้มีการสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้น เดิมทีพวกเขาใช้เพียงรั้วลวดหนามกั้น แต่มันก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จึงต้องเปลี่ยนมาใช้กำแพงคอนกรีต มีลักษณะเป็นกำแพง 2 ชั้น ช่องว่างระหว่างกำแพงถูกเรียกว่า "ช่องแคบแห่งความตาย" เป็นพื้นที่ที่ถูกถมด้วยกรวดและดินทรายเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวรยามมองเห็นรอยเท้าของผู้พยายามหลบหนีได้ชัดเจน และช่วยให้นักแม่นปืนเล็งเป้าได้ง่ายขึ้น (Spiegel Online) ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวเยอรมันตะวันออกอีกมากที่ไม่ยอมให้กำแพงเบอร์ลินกักขังเสรีภาพของตนเอาไว้ วันที่ 17 สิงหาคมปีต่อมา ปีเตอร์ เฟกเตอร์ (Peter Fechter) ช่างก่อสร้างวัย 18 ปี กับเพื่อน เฮลมุต คุลเบก (Helmut Kulbeik) ไปซ่อนตัวอยู่ในโกดังไม้แห่งหนึ่งใกล้กับกำแพง รอคอยจังหวะที่เจ้าหน้าที่เผลอก็พากันกระโดดจากหน้าต่างชั้นสองลงไปยังช่องแคบแห่งความตาย พุ่งตัวไปอีกฝั่งหนึ่งของกำแพง แต่เพียงไม่กี่วินาทีจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็เริ่มกราดยิง คุลเบกโชคดีสามารถหลบวิถีกระสุนไปได้และข้ามกำแพงไปยังฝั่งตะวันตกได้สำเร็จ แต่เฟกเตอร์ไม่ได้โชคดีเช่นนั้น เขาถูกยิงเข้าที่บริเวณกระดูกเชิงกรานขณะพยายามกระโดดข้ามกำแพง  "ช่วยด้วย! ช่วยด้วย!" เฟกเตอร์ร้องลั่นด้วยความเจ็บปวดขณะทรุดลงไปกองกับพื้นข้างกำแพงคอนกรีต เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสายตาของผู้คนทั้งสองฝั่ง ทั้งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักข่าว แต่ผู้คนในฝั่งตะวันตกก็ไม่มีใครกล้าจะยื่นมือเข้าไปช่วยเนื่องจากเกรงเป็นการรุกล้ำดินแดน และกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายเสียเอง  เจ้าหน้าที่ตำรวจเยอรมนีตะวันตกทำได้แค่ปีนบันไดโยนผ้าทำแผลไปให้ เช่นเดียวกับกองกำลังสหรัฐฯ ที่อยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่อยากแทรกแซงเพราะกลัวจะถูกขยายผลเป็นความขัดแย้งทางทหาร   เสียงของเฟกเตอร์อ่อนแรงและเบาลงตามลำดับ เช่นเดียวกับชีพจรชีวิต เขาถูกทิ้งให้ทนรอความตายอยู่ราวหนึ่งชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของเยอรมนีตะวันออกจะออกไปหอบร่างของเขาส่งโรงพยาบาล ภายหลังชาวบ้านฝั่งตะวันตกนับร้อยจึงรวมตัวกันประท้วง ตะโกนด่าเจ้าหน้าที่เยอรมนีตะวันออกว่า "ไอ้ฆาตกร" (FEE) ภายหลังเหตุการณ์ ทางฝั่งตะวันออกออกมาชี้แจงเหตุผลที่พวกเขาปล่อยให้เหยื่อกระสุนรอความตายอย่างช้า ๆ ว่าพวกเขาเกรงว่า เจ้าหน้าที่ป้องกันชายแดนของฝั่งตะวันตกที่มีอาวุธครบมือจะใช้กำลังแทรกแซงหากพวกเขาลงมือช่วยเหลือเฟกเตอร์ จึงมิได้เข้าไปช่วยเหลือโดยทันที หลังวางแผนเสร็จสรรพจึงค่อยลงมือเก็บร่างของเฟกเตอร์ มีการใช้ระเบิดควันเพื่อบังตาการทำงานของพวกเขาจากศัตรูร่วมสายเลือด รวมถึงทหารอเมริกันที่ส่งเฮลิคอปเตอร์มาร่วมสังเกตการณ์ (Spiegel Online) จากข้อมูลของ Berlin Wall Memorial เฟกเตอร์เกิดเมื่อปี 1944 ระหว่างสงคราม มีพี่สาวสองคน พ่อเป็นช่างเครื่อง แม่ขายของ พออายุได้ 14 ปีก็ออกจากโรงเรียนมาฝึกงานเป็นช่างก่อสร้างซึ่งถือเป็นแรงงานที่เป็นที่ต้องการมากในช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม โดยพี่สาวคนโตออกเรือนแต่งงานไปใช้ชีวิตในฝั่งตะวันตกซึ่งเขาและครอบครัวก็ยังไปเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราวก่อนที่จะมีการสร้างกำแพงเบอร์ลิน  เฟกเตอร์มาเจอกับคุลเบกเมื่อได้ฝึกงานกับนายจ้างรายเดียวกัน และทั้งคู่ก็ต้องการที่จะหนีไปฝั่งตะวันตกเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้มีแผนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งได้มาเจอโกดังช่างไม้ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม และบนชั้นสองนั้นก็มีหน้าต่างที่ยื่นออกไปจนเกือบถึงกำแพง จึงเป็นที่มาของแผนการหลบหนีเพื่ออิสรภาพของทั้งคู่ เหตุการณ์คราวนั้นทำให้เยอรมนีตะวันออกเสียหน้าอย่างรุนแรง และถูกประณามว่าไร้ซึ่งมนุษยธรรมจนต้องมีการวางแนวทางในการแก้สถานการณ์หากเกิดกรณีเช่นนี้ซ้ำอีกว่าจะต้องรีบเคลื่อนย้ายร่างของผู้หลบหนีที่ได้รับบาดเจ็บโดยทันที เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความวุ่นวายของฝ่ายตรงข้าม  ขณะเดียวนอกจากจะมีการประกาศจากทางตะวันออกว่า เจ้าหน้าที่ชันสูตรยืนยันว่าอาการบาดเจ็บของเฟกเตอร์ไม่มีทางเยียวยาได้เนื่องจากโดนจุดสำคัญและอวัยวะภายในเสียหายรุนแรง ฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของตะวันออกยังโจมตีว่าท่าทีของเจ้าหน้าที่และช่างภาพนักข่าวในฝั่งตะวันตกนั่นแหละที่ทำให้การเคลื่อนย้ายร่างผู้เคราะห์ร้ายต้องล่าช้า ทั้งยังกล่าวว่า "ชีวิตเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบผู้กล้าหาญ มีค่าสำคัญยิ่งกว่าชีวิตของผู้ละเมิดกฎหมาย" หลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ครอบครัวของเฟกเตอร์ซึ่งถูกกลั่นแกล้งโดยรัฐบาลฝั่งตะวันออกเรื่อยมา จึงได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่เยอรมนีตะวันออกที่ลั่นไกยิงเฟกเตอร์จนถึงแก่ความตาย เจ้าหน้าที่สองรายถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตายให้ลงโทษจำคุกรายหนึ่ง 20 เดือน อีกรายหนึ่ง 21 เดือน แต่โทษจำให้รอลงอาญาไว้  ความตายของเฟกเตอร์รวมถึงชาวเยอรมันตะวันออกอีกจำนวนมากที่พยายามแสวงหาอิสรภาพในช่วงสงครามเย็นยังได้รับการรำลึกถึงอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน สำหรับเฟกเตอร์เองหลังจากที่เขาเสียชีวิต ชาวบ้านในฝั่งตะวันตกก็ได้ทำกางเขนไม้อย่างง่าย ๆ ให้ตรงข้างกำแพงใกล้จุดที่เขาเสียชีวิตและมีการวางพวงหรีดไว้อาลัยให้กับการตายของเขา และเมื่อมีการทำลายกำแพงเบอร์ลินแล้วจึงได้มีการทำอนุสรณ์เป็นเสาสลักชื่อของเขาขึ้นไว้แทน และจุดที่เขาเสียชีวิตในฝั่งเยอรมนีตะวันออกก็ใช้หินบะซอลต์วางเป็นสัญลักษณ์เอาไว้