สรศิริ จันดีบุตร ยุติสงครามลักลอบค้าไม้เถื่อนด้วยการสร้างอาชีพ

สรศิริ จันดีบุตร ยุติสงครามลักลอบค้าไม้เถื่อนด้วยการสร้างอาชีพ
“ไม้พะยูงมีราคาแพงกว่าค้ายาเสพติด แถมโทษทางกฎหมายเบากว่าอีกด้วย ตอนนี้ไม้พะยูงส่งนอกคิวละ 3 ล้านบาท พื้นที่บ้านเราท่อนเท่าแขน เขาเอาไปขายหมด ชั่งเป็นกิโล เดี๋ยวนี้กิโลละร้อยกว่าบาท ท่อนหนึ่งได้หลายกิโล ถ้ามาเป็นซุงก็หลักหมื่น ท่อนใหญ่ก็หลายหมื่น มันเลยคุ้มที่จะเสี่ยงมากกว่าค้ายาบ้าด้วยซ้ำ” เสียงหนักแน่นของ สิบเอกสรศิริ จันดีบุตร ดังก้องทั่วผืนป่าเขียวขจีที่ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ ขณะพาเดินชมป่าที่เขามีส่วนช่วยดูแลบริเวณอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เขตรอยต่อชายแดนไทยกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชายหนุ่มคนนี้ได้บรรจุเข้าเป็นปลัดอำเภอ ก่อนหน้าจะมาเป็นปลัดอำเภอภูสิงห์ ชีวิตของสรศิริ ไม่แตกต่างจากภาพในอุดมคติของคนในท้องถิ่นนี้ ที่ส่วนใหญ่พ่อแม่ต้องการต้องการให้ลูกได้เข้ารับราชการเพื่อมีอนาคตที่ดีกว่า ทำให้เด็กบ้าน ๆ คนหนึ่งในอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสามารถเข้าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดได้เป็นผลสำเร็จ สรศิริ จันดีบุตร ยุติสงครามลักลอบค้าไม้เถื่อนด้วยการสร้างอาชีพ หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก เขาเลือกทำความฝันของพ่อแม่ให้เป็นจริง ด้วยการสมัครรับราชการทหาร เป็นนักเรียนนายสิบทหารบก เข้ารับการฝึกอยู่สองปี ก็ถูกส่งมาประจำการที่จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนได้สัมผัสกับสงครามของจริงครั้งแรกในปี 2554 ช่วงกรณีพิพาทพรมแดนไทย-กัมพูชา หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ ปราสาทพระวิหาร “ผมเป็นทหารมาก่อน รบอยู่ในแถบนี่แหละครับ ด้วยความที่เป็นเด็กบ้านนอก พ่อแม่เขาก็เลยอยากให้รับข้าราชการ ความเชื่อทางคนอีสานส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้แหละครับ ผมเริ่มรับราชการทหารที่ร้อยเอ็ด แล้วก็มาช่วยในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ ภูสิงห์” ปลัดหนุ่มได้เล่าถึงเหตุการณ์การปะทะกันในช่วงบ่ายของ วันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ ปี 2554 ที่เขาคงยังจำเสียงปืนเล็กที่รัวดังขึ้นจากแทบทุกทิศทาง เสียงหวีดแหวกอากาศของลูกกระสุนปืน ค. ที่หน่วยรบในแนวหน้าทุกคนต่างไม่อยากได้ยินมัน เพราะเสียงระเบิดแตกดังสนั่นหวั่นไหวนั้นเต็มไปด้วยคมสะเก็ดนับร้อยชิ้นกระจายรอบทิศทางไกลหลายสิบเมตร ที่ทำให้กลิ่นดินปืนที่ลอยฟุ้งเจือกลิ่นเลือดคละคลุ้งปะปนในอากาศ ซึ่งเขาบอกว่าบรรยากาศในวันนั้นเหมือนที่เคยดูจากหนังสงครามหลายเรื่อง ต่างเพียงทุกอย่างตรงหน้ามันจริงไปหมด รวมไปถึงชีวิตและความตาย แต่แนวรบที่กันทรลักษ์ในวันนั้น เทียบไม่ได้เลยกับสงครามไม้เถื่อนที่ปลัดสรศิริเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เพราะพวกลักลอบตัดไม้เถื่อนไม่ได้รบตามรูปแบบ ไม่มีการใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ไม่มี BM21 จุดขบวนบั้งไฟเหล็กเปิดงานตัดริบบิ้นก่อนบุก มีเพียงกระสุนปริศนาจากปืนนานาชนิด ที่ลอยมาไปมาในอากาศยามที่หน่วยลาดตระเวนไปเจอกลุ่มติดอาวุธ หลายครั้งเป็นการประจันหน้าโดยที่สองฝ่ายห่างกันแค่ไม่ถึงสิบเมตร ต่างจากแนวปะทะที่เขาพระวิหารที่ตรึงกำลังห่างกันหลายร้อยเมตร ทำให้ความเสี่ยงของการเข้าป่าแต่ละครั้งของปลัดหนุ่มอาจจะหนักหนายิ่งกว่าตอนที่เขาเป็นทหารติดยศสิบตรีเสียอีก บริเวณอำเภอภูสิงห์และใกล้เคียงอย่าง กันทรลักษ์ ขุนหาญ เป็นจุดที่มีการลักลอบตัดไม้พะยูงอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นฝั่งที่ติดกับชายแดนของประเทศกัมพูชา สะดวกกับการขนย้ายไม้ออกไป ส่วนใหญ่ผู้ลักลอบตัดไม้ใช้รถตู้ดัดแปลง รถยนต์เอนกประสงค์ หรือแม้กระทั่งรถเก๋งทั่วไปเป็นพาหนะ สาเหตุที่ไม้พะยูงจากที่นี่เป็นที่ต้องการของตลาดมืด และมีราคาสูงมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม เป็นป่าเบญจพรรณ มีความร้อนชื้นพอเหมาะ ไม้พะยูงที่นี่มีคุณภาพดีเยี่ยม เนื้อไม้แน่นลายไม้สวยงาม สรศิริ จันดีบุตร ยุติสงครามลักลอบค้าไม้เถื่อนด้วยการสร้างอาชีพ “อำเภอผมมันอยู่แนวชายแดน มีพวกพี่น้องฝั่งกัมพูชาเข้ามาลักลอบตัดไม้ แล้วขนออกไป บางส่วนก็เป็นพี่น้องประชาชนเราเองนี่แหละที่ขึ้นไปตัด แล้วก็ขนลงมาพื้นที่ราบ แล้วก็มีนายทุนจากที่อื่นเข้ามารับซื้อ มาขนไปเพื่อจะไปขาย เอาไปลงทางแม่น้ำโขงทางอุบล นครพนม มุกดาหาร แล้วข้ามส่งไปทางลาว ทางเวียดนาม แล้วก็ไปออกจีน บางส่วนออกลาว ออกกัมพูชาด้วย” ไม้พะยูงก็เหมือนสินค้าหลายอย่าง ที่ตลาดส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่ประเทศจีน เนื่องจากไม้พะยูงเป็นหนึ่งในไม้ที่มีคุณภาพดี และคนจีนมีความเชื่อในเรื่องไม้มงคล ไม้ชนิดนี้เลยมีราคาสูงมาก ส่งผลให้มีผู้พยายามลักลอบตัดไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อแหล่งข่าวที่คอยเป็นหูเป็นตาแจ้งความเคลื่อนไหวของการกระทำผิดเข้ามา เป็นหน้าที่ของปลัดสรศิริที่ต้องออกไปลาดตระเวณ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ บางครั้งต้องเดินเท้าเข้าป่านานหลายวัน บ่อยครั้งที่คว้าน้ำเหลว แต่ครั้งไหนที่เจอกับขบวนการลักลอบ นั่นอาจหมายถึงการเอาชีวิตเข้าแลก อาศัยที่เขาเคยเป็นทหารเก่า อีกทั้งบริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เคยปฏิบัติงาน ทำให้มีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ช่วยให้ประสานงานกันอย่างราบรื่น แต่สำหรับปลัดปราบปรามที่ต้องถือปืนเดินเข้าป่าแล้ว การยิงปะทะกับผู้ลักลอบตัดไม้ระยะประชิดในป่ารกทึบ อาจไม่น่ากลัวเท่ากับการลอบกัดในเมืองที่เขาใช้อาศัยอยู่ทุกวัน “ไม้พะยูงมันมีราคามาก เมื่อมีคนถูกจับมันเลยมีทั้งคนชอบแล้วก็คนไม่ชอบ คนที่ไม่ชอบก็คือพวกเสียประโยชน์ สมมติผมไปจับไม้แล้วมีคนที่เสียประโยชน์เงินหายไปหลายแสน ถ้าไม้พะยูงเต็มรถตู้หลายล้าน เขาก็ต้องไม่ชอบเรา ที่ทำได้คือระวังตัวเองไปไหนอย่างน้อยต้องติดอาวุธปืน มีลูกน้องไปด้วย ไปทำงานก็ต้องเปลี่ยนรถหน่อย แต่เอาจริงคิดว่าเขาจำป้ายทะบียนรถผมได้หมดทุกคันแหละ” ปลัดหนุ่มวัย 36 หัวเราะอย่างอารมณ์ดีขณะเล่าเรื่องที่มีสายแจ้งว่า เขาถูกกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์หมายหัวเพื่อเอาชีวิต ซึ่งถ้าย้อนกลับไปวันแรกที่เข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ เขายังคงจำความรู้สึกดีใจของแม่ที่เห็นความสำเร็จของเขาได้เป็นอย่างดี “พ่อผมเสียตั้งแต่เด็กแล้วครับ เหลือแต่แม่ แม่เขาดีใจมากครับ น้ำตาไหลเลยแหละ เขารู้แต่ว่าเป็นปลัดอำเภอเฉย ๆ ไม่ได้รู้ว่าต้องถือปืนเข้าป่าแบบนี้ นาน ๆ ก็โทรศัพท์มาถามความเป็นอยู่ ไม่ค่อยได้รู้เรื่องงานที่ผมทำหรอก” ตามความเข้าใจของคนทั่วไป งานปลัดอำเภอมีหน้าที่มากกว่าแค่ถ่ายบัตรประชาชน จดทะเบียนสมรส ทำทะเบียนบ้าน แต่สำหรับปลัดอำเภอที่อยู่ประจำอำเภอชายแดนงานในมือมีมากกว่าแค่งานเอกสาร แต่ต้องเป็นผู้ประสานงานชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ครอบคลุมถึงงานปราบปราม ซึ่งต้องอาศัยทักษะความคล่องตัว ในการปฏิบัติงาน ทำให้งานในหน้าที่ของปลัดปราบปราม เป็นอีกหนึ่งงานที่ต้องเสี่ยงอันตรายไม่ต่างจากการเป็นทหาร ตำรวจ ที่ดูแลความมั่นคงให้กับประชาชนในพื้นที่เลย สรศิริ จันดีบุตร ยุติสงครามลักลอบค้าไม้เถื่อนด้วยการสร้างอาชีพ “ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้เคยผ่านประสบการณ์เป็นทหารนี่ เขาคงไม่คิดหรอกว่า มาเป็นปลัดชายแดนแล้วต้องมาเจออะไรแบบนี้ แต่ผมมันอยู่กับพวกนี้มาก่อน เคยทำงานร่วมกับปลัดอำเภอตอนที่เป็นทหาร เลยรู้ว่าต้องมาเจอแบบนี้ แล้วก็คิดว่าเราน่าจะทำได้” ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบของปลัดสรศิริ มีทั้งการช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และพิทักษ์ผืนป่าอันเป็นทรัพยากรของคนไทยทั้งประเทศ โดยปลัดอำเภอดีเด่น ที่ได้แหวนทองคำ เมื่อปี 2559 คนนี้อยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง ด้วยการส่งเสริมสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ปัญหาเรื่องการลักลอบบุกรุกป่าไม้ เกิดจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีงานที่มั่นคง เป็นเหตุให้จำเป็นต้องลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพื่อแลกกับเศษเงินค่าจ้างอันน้อยนิดจากนายทุนหน้าเลือด “มันยากที่จะไปเปลี่ยนชาวบ้านที่เข้าไปตัดไม้ บางคนแทบไม่มีอะไรจะกิน แถบนี้มันไม่มีพื้นที่ลุ่มให้ทำนา คนไม่มีที่ดินทำนาจะให้ทำอะไร เต็มที่รับจ้างกรีดยาง ถ้าหมดยาง ก็หนีไม่พ้นไปตัดไม้มาขายประทังชีวิต ส่วนใหญ่ที่จับได้เป็นชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ เราต้องพยายามเปลี่ยนทัศนคติใหม่ หางบประมาณมาช่วยปรับปรุงสร้างอาชีพให้พวกเขา ต้องเริ่มจากเข้าใจปัญหาว่ามาจากการไม่มีกิน แต่ที่ต้องจัดการอย่างเด็ดขาดคือพวกนายทุนที่เอาเปรียบคนอื่น ปัญหาลักลอบตัดไม้ส่วนใหญ่เริ่มจากพวกนี้แหละ”