ลอว์เรนซ์ หว่อง : จากเด็กสามัญชนผู้รักเสียงกีตาร์ ศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับ ‘พิธา’ พูดได้ 3 ภาษา สู่นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์

ลอว์เรนซ์ หว่อง : จากเด็กสามัญชนผู้รักเสียงกีตาร์ ศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับ ‘พิธา’ พูดได้ 3 ภาษา สู่นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์

ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์ที่มารับตำแหน่งต่อจากลีเซียนลุง มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ พูดได้ 3 ภาษา ผู้โอบรับทุกความหลากหลาย เข้าถึงคนทุกรูปแบบ

KEY

POINTS

  • ลอว์เรนซ์ หว่องไม่ได้มาจากชนชั้นนำที่หลงรักเสียงดนตรี เป็นกีตาร์ฝีมือดี และเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 
  • เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงโปร์ในรอบ 20 ปี และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสิงคโปร์อีกด้วย
  • ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ลอว์เรนซ์ หว่อง จัดเป็นนักการเมืองหัวอนุรักษนิยมที่มีใจเปิดกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ดี และเป็นผู้ที่เหมาะสมจะมาทำหน้าที่นี้

สิงคโปร์ ประเทศที่มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ 2 เท่า แต่เป็นชาติพัฒนาแล้วที่มีความมั่งคั่งระดับแถวหน้าของโลก แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในรอบ 20 ปี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ค.ศ. 2024) โดยผู้นำรุ่นใหม่ วัย 51 ปี ที่ก้าวขึ้นมาพร้อมความเปลี่ยนแปลงมากมายคนนี้มีชื่อว่า ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ (Lawrence Wong)

ลอว์เรนซ์ หว่อง นับเป็นนายกฯ คนที่ 4 ของแดนเศรษฐีอาเซียนอย่างสิงคโปร์ เขาเข้ามารับหน้าที่ต่อจาก ‘ลีกวนยู’ ‘โก๊ะจ๊กตง’ และ ‘ลีเซียนลุง’ ตามลำดับ ทว่า ประวัติและที่มาของผู้นำรัฐนาวาคนนี้ถือว่าแตกต่างจากทุกคนก่อนหน้า ทั้งในเรื่องครอบครัว การศึกษา และนิสัยส่วนตัว

หว่องเป็นนายกฯ คนแรกที่ไม่ได้มาจากชนชั้นนำ เขาเติบโตมาเหมือนชาวสิงคโปร์ทั่วไปที่อาศัยในแฟลตการเคหะฯ ไม่ได้จบจากโรงเรียนชื่อดังระดับชาติ แต่เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน ก่อนได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และเป็นศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับนักการเมืองไทยหลายคน รวมถึง ‘พิธา’ อดีตแคนดิเดตนายกฯ ของไทย

นอกจากนี้ หว่องยังมีภาพลักษณ์เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ เป็นนายกฯ คนแรกที่เกิดหลังสิงคโปร์ประกาศเอกราชในปี 1965 เติบโตมาจากข้าราชการที่มีภาพลักษณ์ติดดิน ชื่นชอบเสียงดนตรีและเป็นมือกีตาร์ฝีมือดี ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย และเลี้ยงสุนัข พูดได้หลายภาษา เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทายหลากหลายถาโถมเข้ามาในอนาคต

ลอว์เรนซ์ หว่อง : จากเด็กสามัญชนผู้รักเสียงกีตาร์ ศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับ ‘พิธา’ พูดได้ 3 ภาษา สู่นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์

นายกฯ ‘ส้มหล่น’ ที่แจ้งเกิดในวิกฤตโควิด-19

ก่อนเล่ารายละเอียดส่วนตัวของลอว์เรนซ์ หว่อง ขอเกริ่นถึงระบบการเมืองสิงคโปร์คร่าว ๆ เนื่องจากผู้นำสิงคโปร์ แม้จะมาจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล แต่ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่ามาจากประชาธิปไตยเต็มใบ

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะรัฐบาลสิงคโปร์มีการควบคุมความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านเข้มงวด และปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาตลอดนับตั้งแต่ประกาศเอกราช นั่นคือ พรรคกิจประชาชน หรือ People’s Action Party (PAP) ซึ่งเน้นเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก จนหลายคนขนานนามให้เป็นชาติกึ่งอำนาจนิยมที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

นายกฯ ทุกคนที่ขึ้นสู่อำนาจล้วนมาจากการวางตัวของผู้นำพรรค PAP เริ่มจาก ‘ลีกวนยู’ (Lee Kuan Yew) บิดาผู้ก่อตั้งประเทศและนายกฯ คนแรก ซึ่งส่งต่ออำนาจให้ ‘โก๊ะจ๊กตง’ (Goh Chok Tong) ระหว่างรอ ‘ลีเซียนลุง’ (Lee Hsien Loong) ลูกชายของเขาสั่งสมประสบการณ์และบารมี ก่อนขึ้นสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ คนที่ 3 ของสิงคโปร์

ส่วนการก้าวขึ้นมาของลอว์เรนซ์ หว่อง จะเรียกว่าเป็น ‘นายกฯ ส้มหล่น’ ก็คงไม่ผิด แต่ไม่ใช่ ‘ส้มหล่น’ เพราะการข้ามขั้วอำนาจหรือหักหลังใคร เพราะรัฐบาลยังคงเป็นพรรค PAP ทว่า เขาไม่ใช่ทายาทในดวงใจคนแรกของลีเซียนลุง

ลอว์เรนซ์ หว่อง : จากเด็กสามัญชนผู้รักเสียงกีตาร์ ศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับ ‘พิธา’ พูดได้ 3 ภาษา สู่นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์

ก่อนหน้าหว่องจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าทีม ‘4G’ (4th Generation) หรือทีมผู้นำรุ่นที่ 4 ของพรรค ลีเซียนลุงวางตัวรองนายกฯ ‘เฮง สวี คีต’ (Heng Swee Keat) ไว้เป็นทายาทแล้ว แต่จู่ ๆ หลังโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก รองนายกฯ เฮงได้ประกาศถอนตัวแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพและอายุ ซึ่งขณะนั้นเข้าสู่วัยเกษียณ 60 ปีพอดี

รองนายกฯ เฮงขอถอนตัวจากรัฐบาลในเดือนเมษายน 2021 ก่อนที่ลีเซียนลุง จะเลือกลอว์เรนซ์ หว่อง ขึ้นเป็นทายาทคนใหม่ หลังเขาโชว์ฝีมือทำงานใหญ่งานแรกด้วยการนั่งเก้าอี้ประธานร่วมในคณะเฉพาะกิจเพื่อรับมือโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2020 

หว่องออกสื่อนั่งโต๊ะแถลงข่าวรายสัปดาห์ถึงความคืบหน้ามาตรการรับมือวิกฤตโรคระบาด ซึ่งเขาทำผลงานได้ดีจนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากทั้งสาธารณชนและคนในพรรครัฐบาล

 

นักเรียนทุนศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับคนดังไทยหลายคน

ลอว์เรนซ์ หว่อง เกิดวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1972 บิดาของเขาเป็นชาวจีนไหหลำที่อพยพมาจากเกาะไหหนาน และทำงานเป็นผู้บริหารฝ่ายขาย ส่วนมารดาเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนประถมใกล้บ้าน เขาเติบโตมาในแฟลตการเคหะของรัฐบาลในย่าน ‘มารีน พาเหรด’ (Marine Parade) ทางภาคตะวันออกของสิงคโปร์

ชีวิตในวัยเด็กของหว่องแตกต่างจากนักการเมืองสิงคโปร์หลายคน เนื่องจากเขาไม่ได้เข้าโรงเรียนชื่อดังของประเทศ หรือจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษอย่าง ‘ออกซฟอร์ด’ หรือ ‘เคมบริดจ์’ แต่หว่องเลือกเรียนชั้นประถมฯ และมัธยมฯ ในโรงเรียนท้องถิ่นใกล้บ้าน ซึ่งแม่ของเขาเป็นครูสอนอยู่ที่นั่น โดยเขาให้เหตุผลว่า มันทำให้ได้เรียนร่วมกับเพื่อนข้างบ้านที่เขาสนิท

หลังจบมัธยมฯ หว่องได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาตรีและโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา เขาจบตรีที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สถาบันเดียวกับนักการเมืองและคนดังชาวไทยหลายคน อาทิ ‘กัญจนา ศิลปอาชา’ ‘ณหทัย ทิวไผ่งาม’ และ ‘ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล’ ส่วนปริญญาโทได้จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

นอกจากนี้ หว่องยังเป็นศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ อดีตแคนดิเดตนายกฯ คนรุ่นใหม่และหัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังได้รับปริญญาโทใบที่สองในสาขาบริหารรัฐกิจจาก ‘ฮาร์วาร์ด เคนเนดี้ สคูล’ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ลอว์เรนซ์ หว่อง : จากเด็กสามัญชนผู้รักเสียงกีตาร์ ศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับ ‘พิธา’ พูดได้ 3 ภาษา สู่นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์

พูดได้สามภาษา - ชอบเล่นกีตาร์ยามว่าง

อีกไลฟ์สไตล์ของหว่อง ซึ่งคล้ายนักการเมืองคนรุ่นใหม่ชื่อดังของไทย คือ การเป็นนักกีตาร์มือฉมัง พ่อของเขาซื้อกีตาร์ตัวแรกให้ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ทำให้หว่องได้ฝึกเล่นมาตั้งแต่เด็ก 

ระหว่างเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกา เขานำกีตาร์ติดตัวไปด้วย และเคยใช้เล่นดนตรี ‘เปิดหมวก’ เพื่อหาค่าขนมระหว่างอยู่ที่นั่น แถมยังใช้เป็นกิจกรรมสันทนาการเพื่อลดความเครียดระหว่างเรียนหนังสือได้อีกด้วย

ความชำนาญในการดีดกีตาร์ของหว่องเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว เนื่องจากเขาชอบโพสต์โชว์ความสามารถนี้บนโลกโซเชียลฯ โดยคลิปที่หว่องเล่นเพลง Love Story ของ 'เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ระหว่างศิลปินเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์ กลายเป็นข่าวดังและถูกพูดถึงกว้างขวางไม่แพ้ข่าวศิลปินสาวชาวอเมริกันเจ้าของบทเพลงดังกล่าวเลยทีเดียว

อีกความสามารถของหว่อง ซึ่งทำให้เขาเหมาะกับตำแหน่งผู้นำรุ่นใหม่ คือ การพูดได้ 3 ภาษา ทั้งอังกฤษ จีนกลาง และมาเลย์ โดยความสามารถนี้ช่วยให้เขาสื่อสารกับชาวสิงคโปร์ได้ทั่วถึงมากขึ้น เนื่องจากดินแดนแห่งนี้เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของอาเซียน

 

เส้นทางสู่อำนาจและใจรักงานบริการสังคม

หลังเรียนจบเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา หว่องกลับมาทำงานเป็นข้าราชการในบ้านเกิด โดยเริ่มจากตำแหน่งนักวิเคราะห์ประจำกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมในปี 1997 ก่อนย้ายไปหลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข โดยตลอด 14 ปีที่รับราชการ หว่องยอมรับว่ามีหลายครั้งที่คิดลาออกไปทำงานเอกชน ซึ่งได้รับผลตอบแทนสูงกว่า แต่สุดท้ายก็ไม่ไปไหนเพราะหวังว่าจะได้ทำงานที่หลากหลายและมีหมายกับชีวิตมากขึ้นในอนาคต

ความหวังดังกล่าวกลายเป็นจริงเมื่อต่อมา หว่องได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งเขายอมรับว่าเป็นหน้าที่ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงสังคม และเป็นงานบริการประชาชนที่เขาใฝ่ฝันมาตลอด

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อหว่องถูกดึงตัวไปเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายกฯ ลีเซียนลุง ก่อนที่ผู้นำสิงคโปร์จะชักชวนให้ลาออกจากราชการมาลงสมัคร สส. กับพรรค PAP ในปี 2011

หลังชนะเลือกตั้ง หว่องถูกแต่งตั้งให้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีและดูแลกระทรวงต่าง ๆ หลากหลาย ไม่ว่ากลาโหม ศึกษาธิการ หรือวัฒนธรรม แถมยังได้นั่งเป็นบอร์ดบริหารแบงก์ชาติของสิงคโปร์ จนกระทั่ง ‘เฮง สวี คีต’ ขอถอนตัวจากตำแหน่งทายาททางการเมือง หว่องจึงถูกแต่งตั้งเป็นเจ้ากระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญที่สุดในรัฐบาล ก่อนจะควบเก้าอี้รองนายกฯ เพื่อยืนยันสถานะทายาททางการเมืองคนใหม่อย่างเป็นทางการ

ลอว์เรนซ์ หว่อง : จากเด็กสามัญชนผู้รักเสียงกีตาร์ ศิษย์เก่าสถาบันเดียวกับ ‘พิธา’ พูดได้ 3 ภาษา สู่นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์

ชีวิตส่วนตัวและความท้าทายในอนาคต

ลอว์เรนซ์ หว่อง นับเป็นผู้นำคนแรกหลังหมดยุคอำนาจของคนแซ่ลี ซึ่งควบคุมรัฐบาลสิงคโปร์มาตั้งแต่ ‘ลีกวนยู’ รุ่นพ่อ สู่ ‘ลีเซียนลุง’ รุ่นลูก เนื่องจากนายกฯ ลีเซียนลุง ยอมรับว่า ลูก ๆ ทั้ง 4 คนของเขาไม่มีใครสนใจอยากเข้าสู่สนามการเมือง

ด้านชีวิตส่วนตัวของผู้นำคนใหม่ หว่องเคยผ่านการแต่งงานและหย่าร้างมาแล้วครั้งหนึ่งในวัย 20 กว่าปี ก่อนจะพบรักครั้งใหม่กับ ‘ลู เจ๋อ ลุย’ (Loo Tze Lui) อดีตผู้บริหารธนาคาร เจ้าของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ครอบครัว และรองประธานสมาคมยุวชนคริสเตียน (YMCA) ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นภรรยาคนปัจจุบัน แต่ทั้งคู่ไม่มีทายาทสืบสกุลร่วมกัน

ระหว่างพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ หว่องกล่าวในสุนทรพจน์ตอกย้ำความสำคัญของการแสวงหาความร่วมมือจากคนรุ่นใหม่ พร้อมยืนยันความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล และความต่อเนื่องเชิงนโยบาย แต่ก็ชี้ว่า เขาจะนำพาประเทศนี้ให้ก้าวหน้าต่อไปในสไตล์ของตัวเอง

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ลอว์เรนซ์ หว่อง จัดเป็นนักการเมืองหัวอนุรักษนิยมที่มีใจเปิดกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ดี และเป็นผู้ที่เหมาะสมจะมาทำหน้าที่นี้ เพื่อเชื่อมผู้คนในสังคมจากความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน

ด้วยพื้นเพที่มาจากสามัญชนทั่วไปและมีความเข้าใจลึกซึ้งเชิงเศรษฐกิจ เขายังเหมาะกับการเป็นผู้นำที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพพุ่งสูง และการเมืองโลกเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

นั่นคือความท้าทายหลัก ๆ ของแดน ‘เมอร์ไลอ้อน’ ในโลกยุคใหม่ที่ต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อรักษาสถานะศูนย์กลางทางการเงินและการธนาคารระดับแถวหน้าของโลกให้คงอยู่ต่อไป และเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงเลือกคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสาธารณะ และทักษะครบครันทั้งบู๊ - บุ๋น อย่าง ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ เป็นนายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์

 

เรื่อง : ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ : เฟซบุ๊ก Lawrence Wong

 

อ้างอิง :

Who is Lawrence Wong, Singapore's new prime minister? / Reuters

Singapore to get guitar-playing new PM in first transfer of power for 20 years / theguardian

What we know about Singapore's fourth Prime Minister Lawrence Wong / channelnewsasia