‘เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ คนการเมืองที่ชีวิตผกผันแห่งบ้านใหญ่ม้าทองคำ สมุทรปราการ

‘เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ คนการเมืองที่ชีวิตผกผันแห่งบ้านใหญ่ม้าทองคำ สมุทรปราการ

‘เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ อีกหนึ่งคนการเมืองที่มักพบชะตาชีวิตผกผันจากหลายเหตุการณ์ ท่ามกลางยุคกลุ่มการเมือง ‘บ้านใหญ่ม้าทองคำ’ แห่งสมุทรปราการ

  • ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 หลังหมดสติจากภาวะฮีทสโตรกและถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเมื่อ 30 มีนาคม
  • เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์ เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองในฐานะพี่ใหญ่แห่งตระกูลม้าทองคำ สมุทรปราการ ผ่านมรสุมคลื่นลมการเมืองมากมาย

ชีวิตคนการเมืองที่ผกผันแปรเปลี่ยนไปตามวิถีอำนาจ มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในสังคมไทย ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ก็คือคนการเมืองประเภทนั้น

20 ตุลาคม พ.ศ. 2565 อนุทิน ชาญวีรกูล โพสต์ภาพครอบครัวในเฟซบุ๊กส่วนตัว Anutin Charnvirakul ซึ่งในภาพบนโต๊ะอาหาร ฝั่งหนึ่ง ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม กับลูกสาว ‘เพลง’ ชนม์ทิดา อัศวเหม อีกฝั่งหนึ่ง อนุทิน กับลูกชาย ‘เป๊ก’ เศรณี ชาญวีรกูล

นัยว่าบนโต๊ะอาหารวันนั้น อนุทินและชนม์สวัสดิ์ คุยกันเรื่องแผนการแต่งงานของลูกทั้งสอง น้องเพลง-น้องเป๊ก ไม่มีเรื่องการเมืองเรื่องย้ายพรรคแต่อย่างใด

ถัดมาอีก 10 วัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สมุทรปราการ กับพวกทุจริตการจัดสรรเงินอุดหนุนแก่วัดใน จ.สมุทรปราการ โดยมิชอบ ช่วงปี 2554-2556 จำนวนกว่า 20 โครงการ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท

วันนี้ (ต้นเดือนพฤศจิกายน 2565) ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่มีสถานะเป็นผู้นำกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า องค์กรการเมืองท้องถิ่นหรือที่รู้จักกันในนาม ‘บ้านใหญ่ปากน้ำ’ หรือ ‘บ้านใหญ่ม้าทองคำ’

พ.ศ.นี้ คนแถวปากน้ำพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือยุคทองของ ‘สะใภ้อัศวเหม’ โดย ประภาพร อัศวเหม ภรรยาพูลผล อัศวเหม เป็นนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ และนันทิดา แก้วบัวสาย คู่ชีวิตของชนม์สวัสดิ์ เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ

พิม อัศวเหม ลูกสาวประภาพร เป็นสมาชิกสภา อบจ.สมุทรปราการ เขต อ.พระสมุทรเจดีย์  และชนม์ทิดา อัศวเหม ลูกสาวชนม์สวัสดิ์-นันทิดา เป็นเลขานุการนายก อบจ.สมุทรปราการ

ส่วนการเมืองระดับชาติ อัครวัฒน์ อัศวเหม ส.ส.สมุทรปราการ และต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลานชายของวัฒนา อัศวเหม รับหน้าที่ประสานงานกลุ่ม ส.ส.สมุทรปราการ 6 คน สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม

ทายาทม้าทองคำ

ต้นตระกูลบ้านใหญ่ม้าทองคำคือ วัฒนา อัศวเหม หรือชื่อเดิม กิมเอี่ยม แซ่เบ๊ ที่เปลี่ยนนามสกุลเป็น ‘อัศวเหม’ แปลว่า ม้า

วัฒนาจึงใช้ม้าเป็นตัวนำโชคของตระกูล และต้องเป็นม้าทองคำเท่านั้น

ความฝันดั้งเดิมของวัฒนา อยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเป็นนักการเมืองตามวิถีชาวจีนโพ้นทะเล แต่ความล้มเหลวทางธุรกิจน้ำมันทำให้เขาตัดสินใจเล่นการเมือง

ครูการเมืองของวัฒนาคือ สังข์ พัธโนทัย คนสนิทของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้นำจีน ด้วยเหตุนี้ มั่น พัธโนทัย ลูกชายของสังข์ จึงเป็นมือทำงานการเมืองคนสำคัญของตระกูลอัศวเหม

ฤดูการเลือกตั้ง 2518 วัฒนา ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมุทรปราการ สังกัดพรรคสังคมชาตินิยม ของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก

จากนั้น วัฒนา กลายเป็น ส.ส.ผูกขาดของ จ.สมุทรปราการ โดยเป็นถึง 10 สมัย และเป็นรัฐมนตรี 6 กระทรวงในหลายรัฐบาล ก่อนที่จะลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน เพราะคดีทุจริตที่ดินคลองด่าน

‘เอ๋’ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นลูกชายคนที่ 3 ของวัฒนา โดยพี่ชาย 2 คนคือ พิบูลย์ ดูแลธุรกิจน้ำมันของครอบครัว และพูนผล ที่เล่นการเมืองเคียงข้างประมุขบ้านม้าทองคำ (พูนผล เสียชีวิตเมื่อปี 2558)

ขณะที่บิดาและพี่ชายคนรองเป็น ส.ส.สมุทรปราการ ชนม์สวัสดิ์ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ เมื่อปี 2542

ปีเดียวกันนั้น มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ และเกิดเหตุทุจริตการเลือกตั้งที่เรียกกันว่า ‘คดีโคตรโกงเลือกตั้งปากน้ำ’ ซึ่งคดีนี้ต่อสู้กันมาสิบกว่าปี ในที่สุดศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์ เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558

อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 กันยายน 2559 ชนม์สวัสดิ์ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้ลดวันต้องโทษ 1 ใน 4 ของโทษที่เหลือ จึงได้รับการปล่อยตัวคืนสู่อิสรภาพ

ช่วงชีวิตจากปี 2542 จนถึงวันที่ต้องเข้าสู่เรือนจำปี 2558 มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในชีวิตชนม์สวัสดิ์ ทั้งเรื่องส่วนตัวและการเมือง

อย่างที่รู้กัน เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์ ขึ้นชื่อเรื่องผู้ชายเจ้าเสน่ห์ ขณะดำรงสถานะสามีของ ตู่ - นันทิดา แก้วบัวสาย และมีทายาท 1 คนคือ เพลง - ชนม์ทิดา อัศวเหม เอ๋ ตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับสตรีท่านอื่นอีก

จนเมื่อทายาทบ้านม้าทองคำเลิกรากับตู่ นันทิดา แล้วใช้ชีวิตโลดแล่นบนถนนคนโสดอยู่พักหนึ่ง เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ได้แต่งงานกับ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์ เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ ทั้งคู่ก็แยกทางกันเดิน

บนเส้นทางการเมืองยุคหลังเจ้าพ่อปากน้ำ นับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ได้ตั้งกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า รวบรวมเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นให้เข้ามาอยู่ใต้ร่มธงบ้านใหญ่ม้าทองคำอีกครั้ง

เหมือนมี ‘บุรีรัมย์โมเดล’ เป็นต้นแบบ ชนม์สวัสดิ์ เร่งพัฒนาเมืองปากน้ำอย่างการสร้างอุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ หรือหอชมเมืองสมุทรปราการให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ และใช้กีฬานำการเมือง สนับสนุนสโมสรฟุตบอลสมุทรปราการซิตี้ และ Vattana Motorsport (e-Sport)

ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ในวันที่ชนม์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สมุทรปราการ ได้ถูกสั่งให้พักงานโดย คสช. กรณีความไม่โปร่งใสในการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ก่อนจะเข้าเรือนจำ เพราะวิบากกรรมแต่ปี 2542

หลังได้รับอิสรภาพ ชนม์สวัสดิ์ ก็ได้คืนดีกับนันทิดา เมื่อเพลง - ชนม์ทิดา ได้โพสต์ภาพผ่านอินสตาแกรม @plengasavahame เป็นภาพที่เจ้าตัวร่วมถ่ายภาพกับพ่อและแม่ พร้อมข้อความว่า love you to the moon & back

ความปราชัยอันยาวนาน

สมุทรปราการในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเมืองระดับชาติ เมื่อบ้านใหญ่อัศวเหม ปราชัยในสนามเลือกตั้ง ส.ส. มาตั้งแต่ปี 2544 จนปี 2554             

แม้ว่า วัฒนา อัศวเหม จะพยายามรักษาพื้นที่ โดยส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงสนามทุกครั้งในสีเสื้อที่แตกต่างกัน ทั้งพรรคราษฎร, พรรคมหาชน, พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคมาตุภูมิ แต่ก็สู้พรรคของทักษิณไม่ได้

ครั้งหนึ่ง วัฒนา เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า ทักษิณได้ส่ง ภูมิธรรม เวชยชัย มาเจรจาให้กลุ่มปากน้ำไปร่วมกับพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2548 บ้านใหญ่ม้าทองคำปฏิเสธ จึงพบกับความปราชัยอย่างยับเยินในปีนั้น

ภารกิจทางการเมืองครั้งสุดท้าย ก่อนตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศของ วัฒนา คือการนำนักการเมืองบ้านใหญ่ปากน้ำเข้าร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน โดยชนม์สวัสดิ์ ได้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 ชนม์สวัสดิ์นำทีมปากน้ำลงสมัคร ส.ส.สมุทรปราการด้วยตัวเอง แต่ก็พ่ายพลังประชาชนทุกเขต ชนม์สวัสดิ์ สมัคร ส.ส.หนแรกก็สอบตก

ปี 2551 วัฒนา หลบหนีออกจากประเทศไทยก่อนที่ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตที่ดินคลองด่าน และกลางปี 2555 วัฒนา ได้ปรากฏตัวในงานผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต อุโบสถวัดเหมอัศวาราม ที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ตัดกลับมาที่เมืองไทย ชนม์สวัสดิ์ รับบทแม่ทัพการเมืองของบ้านใหญ่อัศวเหมเต็มตัว โดยขับเคลื่อนกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ อย่างเช่นการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ เมื่อ 22 พ.ค. 2554 เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เอาชนะกำนันอำนวย รัศมิทัต บ้านใหญ่พระประแดงไปได้แค่หลักพันแต้ม

ชัยชนะของเอ๋ ชนม์สวัสดิ์ สร้างความคึกคักให้กับบ้านใหญ่ม้าทองคำ เหมือนอัศวเหมได้คืนชีพอีกครั้ง แต่เมื่อเลือกตั้ง 4 ก.ค.2554 ทีมบ้านใหญ่ปากน้ำ สวมสีเสื้อพรรคมาตุภูมิ ลงสมัคร ส.ส.สมุทรปราการ ปรากฏว่า สอบตกยกทีม รวมถึงอัครวัฒน์ อัศวเหม (หลานชายวัฒนา) และพูลผล อัศวเหม (ลูกชายวัฒนา)

ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม

ม้าทองคำรุ่น 3

บ้านใหญ่ม้าทองคำ ยึดครองสนามการเมืองปากน้ำมายาวนานกว่า 30 ปี กระทั่งเกิดพรรคไทยรักไทย โดยการนำของทักษิณ ชินวัตร ทำให้พื้นที่การเมืองของตระกูลอัศวเหม ถูกบีบให้เหลือแค่เทศบาลนครสมุทรปราการ

เกือบ 20 ปีที่ทำเนียบ ส.ส.สมุทรปราการ ไม่มีชื่อคนในตระกูลอัศวเหม กระทั่งการเลือกตั้ง 22 มี.ค.2562 ผู้สมัคร ส.ส.กลุ่มบ้านใหญ่ปากน้ำ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมุทรปราการ 5 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

ชนม์สวัสดิ์ รู้ดีว่า ชัยชนะของบ้านใหญ่ครั้งนี้มาพร้อมกับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในสมุทรปราการ เมื่อมี ส.ส.สมุทรปราการ สังกัดพรรคอนาคตใหม่ 1 คน และการทำงานการเมืองของบ้านใหญ่ปากน้ำต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอด

วันที่ 1 ต.ค. 2563 สองสะใภ้อัศวเหม นันทิดา แก้วบัวสาย และประภาพร อัศวเหม ไปร่วมงานประเพณีรับบัว ที่ลานวัฒนธรรม อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ก็เหมือนงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ

เหตุที่ เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์ เลือกนันทิดา ลงสมัครนายก อบจ. ก็เพราะต้องเจอคู่แข่งคนรุ่นใหม่จากคณะก้าวหน้า เพราะภาพจำในฐานะนักร้องดังยังอยู่ในใจชาวบ้านร้านตลาด ประกอบกับเครือข่ายกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าที่กว้างและลึก ส่งผลให้ตู่ - นันทิดา ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ

ปีถัดมา ประภาพร อัศวเหม ลงสมัครนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการแบบไร้คู่แข่ง และการที่สะใภ้ใหญ่สะใภ้เล็ก ได้เป็นผู้บริหารท้องถิ่นระดับเทศบาล และ อบจ. ย่อมหมายถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากอัศวเหมรุ่น 1 รุ่น 2 สู่รุ่น 3

ในฐานะพี่ใหญ่ของตระกูลม้าทองคำ ชนม์สวัสดิ์ ยังต้องเผชิญวิบากกรรมคดีค้างเก่า และคงฝากความหวังไว้กับ ‘อัศวเหม รุ่น 3’ อย่าง ต่อศักดิ์ อัศวเหม และพิม อัศวเหม จะนำพาพลพรรคบ้านใหญ่ปากน้ำ ฝ่าคลื่นลมการเมืองต่อไป

การสูญเสียพี่ใหญ่แห่งตระกูลม้าทองคำเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน นอกจากจะเป็นเรื่องโศกเศร้าสำหรับคนปากน้ำและบ้านใหญ่ม้าทองคำ อีกด้านหนึ่ง ความหวังที่จะฝ่าฟันคลื่นลมทางการเมือง น้ำหนักที่จะถ่ายโอนมา คงต้องอยู่ในมือของรุ่น 3 และคนรุ่นต่อไปมากขึ้นกว่าที่เคย

 

หมายเหตุ: กองบรรณาธิการอัปเดตเนื้อหาและเรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อ 31 มีนาคม 2566 บทความเดิมเผยแพร่เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565

เรื่อง: ชน บทจร

ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO