logo-pwa

เพิ่ม Thepeople

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

หลี่ เค่อเฉียง: อดีตนักเศรษฐศาสตร์กับเส้นทางเกือบ 10 ปีในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรีแห่งชาติจีน’

หลี่ เค่อเฉียง: อดีตนักเศรษฐศาสตร์กับเส้นทางเกือบ 10 ปีในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรีแห่งชาติจีน’

นับถอยหลังอีกไม่กี่เดือนที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง จะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนมีนาคมปีหน้า แต่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมากมาย (ช่วงที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง หายหน้าหายตา) บอกว่านายกฯ หลี่ เค่อเฉียง อาจจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทน

จนเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ปรากฏตัวออกงานทางโทรทัศน์ที่กรุงปักกิ่ง พร้อมกับนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง หลังจากที่เพิ่งกลับมาจากการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ที่อุซเบกิสถาน ล้างข่าวลือที่บอกว่าเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้าน เหตุเพราะเรื่องการทำรัฐประหาร (เหตุผลจริง ๆ เพราะต้องกักตัวหนึ่งสัปดาห์หลังกลับจากต่างประเทศตามกฎบังคับโควิด-19)

ทั้งนี้ นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ประกาศยืนยันว่าจะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปีหน้า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยเท่านั้น ซึ่งเรื่องราวของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เรียกว่ามีผลงานโดดเด่นคนหนึ่งในรัฐบาลจีน

 

จากเด็กเงียบสู่นักเศรษฐศาสตร์

นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1955 (อายุ 67 ปี) ที่เมืองเหอเฝย์ มณฑลอานฮุย ประเทศจีน ซึ่งพ่อของเขาเป็นข้าราชการท้องที่

นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เคยหยุดเรียนไปช่วงหนึ่งในปี 1974 - 1978 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมยุคของเหมา เจ๋อตง แต่พอหลังจากนั้น นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ก็กลายเป็นเด็กเงียบ ๆ หมกมุ่นอยู่กับการเรียน การอ่านหนังสือเป็นหลัก

นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เป็นเด็กที่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ และชอบการวางแผนอยู่แล้ว โดยในปี 1978 เขาได้รับโอกาสในการเข้าเรียนที่วิทยาลัยปักกิ่ง คณะนิติศาสตร์ นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมีแนวคิดตลาดเสรีซึ่งตรงกับเขา

นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เป็นคนที่หลงใหลในการเมืองอย่างชัดเจนตั้งแต่เรียน และมีโอกาสได้เข้าร่วมทางการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาได้ก้าวเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP)

ในปี 1988 - 1989 นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง มีโอกาสขึ้นเป็น ‘ผู้รักษาการผู้ว่าการพรรค CCP’ และขึ้นเป็นผู้ว่าการพรรคในปี 1999 - 2003 ก่อนจะเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเหอหนานในปี 2002 - 2004

ผลงานโดดเด่นที่นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ทำตั้งแต่ที่นั่งเป็นเลขาธิการพรรคฯ ก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจจนได้รับการยกย่องจากหลาย ๆ มณฑล ซึ่งเขาถูกพูดถึงในฐานะที่เป็นนักคิดนักวางแผนด้านเศรษฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง

 

เส้นทางนักการเมือง

อย่างที่เล่าไปว่า นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เข้ามีส่วนร่วมในเส้นทางการเมืองตั้งแต่ที่ยังเป็นนักศึกษา ดังนั้น เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่หลายคนยกย่องว่า เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีการวางแผนด้านเศรษฐกิจที่ดีมากคนหนึ่ง

ทั้งนี้ ตำแหน่งทางการเมืองที่มีคนพูดถึงอย่างมากของ หลี่ เค่อเฉียง ตั้งแต่ปี 1976 ครั้งแรกที่เขาได้เข้าร่วมพรรค CCP ในตำแหน่งเลขาธิการระดับชุมชนของพรรค

และเมื่อสำเร็จการศึกษา เขาได้เข้าร่วมเป็นผู้นำของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน (CCYL) เวลาผ่านมาเรื่อย ๆ กับประสบการณ์ทางการเมืองที่เขาได้รับ ทำให้ในปี 2008 หลี่ เค่อเฉียง ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น ‘รองนายกรัฐมนตรีของจีน’

และขึ้นรับตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ อย่างเป็นทางการในปี 2013 จากการประชุมพรรค CCP ครั้งที่ 18 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2012

ผลงานความร่วมมือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เรียกว่าทั่วโลกรู้จักและชื่นชม อย่างเช่น โครงการ GMS ของ 6 ประเทศ (ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน เพื่อพัฒนาและเติบโตให้แข็งแรงขึ้น หรือในปี 2017 ที่นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง พบกับอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเชิงบวก เพราะโดยส่วนตัว เขาค่อนข้างสนับสนุนการค้าและตลาดเสรี เป็นต้น

ทั้งนี้ ขณะที่นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง กล่าวยืนยันเรื่องการลงจากตำแหน่ง เขายังพูดถึงเศรษฐกิจของจีนในเวลานี้ที่กำลังเปราะบางว่า “การบริหารจัดการเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันเหมือนกับการปีนเขาสูงที่มีอากาศเบาบาง เพราะมีความท้าทายรอบด้านทั้งในประเทศ และปัจจัยในต่างประเทศ

“หากคุณปีนเขาสูง 1,000 เมตร แล้วต้องการปีนขึ้นไปอีก 10% คือ 100 เมตร นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากคุณปีนเขาสูง 3,000 เมตรแล้วต้องการปีนขึ้นไปอีก 5% นั่นเท่ากับ 150 เมตร นั่นหมายถึงปัจจัยต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน เพราะแรงดันอากาศกำลังลดลง และออกซิเจนที่มีอยู่ก็จะเบาบางลงด้วย”

ซึ่งการก้าวลงจากตำแหน่งของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ในเดือนมีนาคม นั่นเท่ากับว่า เศรษฐกิจของจีนที่โดยปกติจะมีเขาเป็นหัวหอกในการวางแผน จะต้องเปลี่ยนมือ เผชิญกับช่วงรอยต่อทางเศรษฐกิจ คงไม่มีใครกล้าคาดการณ์เรื่องในอนาคต แต่ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ จะถึงวันที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะประชุมใหญ่ครั้งที่ 20 วันนั้นเราคงได้คำตอบอะไรบ้างจากสปีชของผู้นำ สี จิ้นผิง

 

 

 

 

ภาพ: getty images

อ้างอิง:

https://www.britannica.com/biography/Li-Keqiang

https://www.chinavitae.com/biography/Li_Keqiang

https://www.aljazeera.com/news/2022/6/1/chinas-sidelined-premier-back-in-the-spotlight

https://www.forbes.com/profile/li-keqiang/?sh=61c4699c1348

https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202112/t20211217_10471066.html