กายา ลาล ‘งูเห่า’ ผู้เปลี่ยนหน้าการเมืองอินเดียด้วยการแปรพักตร์ 3 ครั้งในหนึ่งวัน

กายา ลาล ‘งูเห่า’ ผู้เปลี่ยนหน้าการเมืองอินเดียด้วยการแปรพักตร์ 3 ครั้งในหนึ่งวัน

กายา ลาล (Gaya Lal) ย้ายพรรค 3 ครั้งในวันเดียว จนเกิดวลี “อย่ามาราม” สะท้อนปัญหาการเมืองอินเดีย และนำไปสู่การออกกฎหมายต่อต้านการแปรพักตร์ในปี 1985

KEY

POINTS

  • กายา ลาล (Gaya Lal) เปลี่ยนพรรค 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแปรพักตร์ในการเมืองอินเดีย
  • เหตุการณ์นี้นำไปสู่การยุบรัฐบาลรัฐหรยาณะ และการออกกฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคในรัฐธรรมนูญ
  • เรื่องราวของเขาชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบการเมือง และความสำคัญของจริยธรรมในหมู่นักการเมือง

ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย การเลือกตั้งถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนของตนไปทำหน้าที่ในสภา โดยหวังว่าจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มี 'ตัวแทน' อยู่ในเวทีการเมือง

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง นักการเมืองมักไม่ได้รักษาคำมั่นสัญญาตลอดไป หลายคนเมื่อได้รับตำแหน่งแล้วกลับเปลี่ยนไปจนทำให้ประชาชนผู้เลือกต้องตกตะลึง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ทอดทิ้งกัน แต่เมื่ออำนาจและเงินตรามาอยู่ตรงหน้า น้อยคนนักที่จะไม่เลือกคว้าเอาไว้

‘กายา ลาล’ (Gaya Lal) นักการเมืองชาวอินเดีย สมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐหรยาณา คือหนึ่งในนั้น เขากลายเป็น ‘งูเห่า’ จากการย้ายพรรค 3 ครั้งภายในหนึ่งวัน เปลี่ยนขั้วจากพรรค Congress ไปสังกัด United Front แล้วกลับมาอยู่กับ Congress อีกครั้งอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายคนถึงกับงุนงง

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 1967 และนั่นทำให้เขากลายเป็นชายผู้ทรยศ แต่กลับมอบของขวัญล้ำค่าให้กับประชาชน ผ่านการแปรพักตร์ถึง 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง และเปลี่ยนหน้าการเมืองอินเดียไปตลอดกาล

ก่อนจะเป็นงูเห่า ผมเองก็เป็นแค่คนคนหนึ่ง

กายา ลาล เป็นนักการเมืองชาวอินเดียและสมาชิกพรรค Indian National Congress ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐหรยาณะ (Haryana) จากเขตฮาซานปุระ (Hassanpur ปัจจุบันคือ โฮดัน (Hodal)) ในเขต Palwal ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งสำหรับกลุ่มชนชั้นวรรณะต่ำ (Scheduled Castes) ซึ่งในอินเดียจะจัดสรรที่นั่งในสภาให้กับกลุ่มคนที่อยู่ในชนชั้นที่เคยถูกกดขี่มาก่อน โดยเฉพาะชนกลุ่มที่เคยอยู่ในวรรณะต่ำหรือชนกลุ่มที่เรียกว่า ชนชั้นที่ได้รับการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งถูกระบุไว้ในส่วนของวรรณะตามกำหนด หรือ Scheduled Castes (SC) และกลุ่มชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าที่รัฐธรรมนูญอินเดียรับรองว่าเป็นกลุ่มที่ถูกกดขี่ ขาดโอกาส และถูกทิ้งไว้ข้างหลังในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือ Scheduled Tribes (ST)

ในระบบการเมืองของอินเดีย ผู้สมัครจากกลุ่ม SC (ชนชั้นต่ำ) มีสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้งจากเขตที่ถูกจัดสรรไว้เฉพาะสำหรับพวกเขา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเมืองและเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มชนชั้นที่ถูกละเลยหรือถูกกดขี่มานานในสังคมอินเดีย ซึ่งถือเป็นการปกป้องสิทธิและส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม

กายา ลาลเองคือคนที่ถือกำเนิดจากชนชั้นดังกล่าว ซึ่งช่วงเวลาที่ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมืองเกิดขึ้นในปี 1967 เมื่อรัฐหรยาณะมีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติครั้งแรก กายา ลาล ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อิสระ แต่หลังจากได้รับเลือกตั้งไม่นาน เขากลับตัดสินใจเข้าร่วมพรรค Indian National Congress แทนเสียอย่างนั้น

การเปลี่ยนใจไปมาของกายา ลาลทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างรุนแรง เพราะเขาก็เป็นคนจากห่วงโซ่ต่ำที่สุดของสังคม แต่ชีวิตกำลังพลิกผันหลังจากได้รับเลือกเพราะเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ถูกกดทับในสังคมอินเดีย เหตุใดจึงไม่สู้ แต่กลับใจโลเลไปมาจนทำให้ชาวบ้านหมดศรัทธาในประชาธิปไตย นับจากนั้นเขาจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการแปรพักตร์ ไม่ต่างจากงูเห่าตัวหนึ่ง เปลี่ยนจากตัวแทนประชาชนเป็นนักการเมืองที่ไร้หลักการ ยอมทิ้งศักดิ์ศรีเพื่ออำนาจเงินตรา ทั้ง ๆ ที่ควรเป็นตัวแทนต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของวรรณะให้มีความเท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้น

เพราะสำหรับคนที่เกิดอยู่ในชนชั้นนี้แล้ว คำว่าชนชั้นที่ได้รับการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดียนั้นกดทับพวกเขา จนไม่อาจแม้แต่จะได้รับการศึกษา แม้แต่น้ำก็ไม่สามารถใช้จากแหล่งเดียวกับคนจากวรรณะอื่นของสังคม และยังถูกสั่งห้ามเข้าเทวสถาน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นดั่งที่พึ่งทางใจของมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใดก็ตาม

แม้จะเป็นภาพของประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายเพียงใด แต่อินเดียได้ทำการแก้ไขความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ และบรรจุลงในรัฐธรรมนูญว่าพวกเขาคือ วรรณะตามกำหนด และมอบสิทธิพิเศษบางประการ เช่น โควต้าในระบบราชการ โควต้าในสถาบันการศึกษา เขตเลือกตั้งเฉพาะกิจ ที่กันไว้ให้ผู้สมัครจากกลุ่ม SC ลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น

วันแห่งประวัติศาสตร์ 3 พรรคใน 24 ชั่วโมง

สิ่งที่ทำให้กายา ลาล กลายเป็นตำนานคือการตัดสินใจโดยปราศจากความละอายใจของเขาในช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมง เขาเปลี่ยนพรรคการเมืองถึงสามครั้งในหนึ่งวัน โดยเริ่มจาก

1. ออกจากพรรค Indian National Congress ไปเข้าร่วมกับกลุ่ม United Front

2. กลับมาสู่พรรค Congress อีกครั้ง

และ 3. ภายในเพียง 9 ชั่วโมงต่อมา เขาก็กลับไปร่วมกับกลุ่ม United Front เหมือนเดิม

เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในประเทศ และในงานแถลงข่าวที่เมืองจัณฑีครห์ (Chandigarh) ราโอ บิเรนเดอร์ ซิงห์ (Rao Birendra Singh) หัวหน้าคณะรัฐมนตรีคนใหม่จาก United Front ได้แนะนำกายา ลาลต่อสื่อมวลชน พร้อมกล่าวประโยคที่กลายเป็นอมตะว่า “Gaya Ram is now Aya Ram” (กายารามตอนนี้กลายเป็นอายาราม) ซึ่งต่อมากลายเป็นวลี "Aaya Ram, Gaya Ram" (มาแล้วราม ไปแล้วราม) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการเมืองอินเดียจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นชื่อเรียกพฤติกรรมของนักการเมืองที่เปลี่ยนพรรคไปมาด้วยใจโลเล

มรดกทางการเมือง

พฤติกรรมของกายา ลาล ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องขบขันในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบการเมืองของอินเดีย ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองในรัฐหรยาณะ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 19–21 พฤศจิกายน 1967 อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตัดสินใจยุบรัฐบาลรัฐหรยาณาและรัฐเบงกอลตะวันตก พร้อมประกาศใช้กฎอัยการศึก (President’s Rule) ในหรยาณา โดยให้เหตุผลว่า “การเปลี่ยนพรรคของ ส.ส. เพื่อแลกกับสินบน กำลังบ่อนทำลายประชาธิปไตย” ตามคำกล่าวของผู้ว่าราชการรัฐ บี.เอ็น. จักรวาตี (B. N. Chakravarty)

มีรายงานว่าค่าตัวของนักการเมืองในช่วงนั้นมีการพูดถึงในรัฐสภาโดย รัฐมนตรีมหาดไทย วาย.บี. จวาน (Y. B. Chavan) ว่า “อายา ราม ราคา 20,000 รูปี ส่วนกายา ราม ราคา 40,000 รูปี” ตอกย้ำว่าการซื้อขายเสียงและย้ายข้างการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสายตาของรัฐบาลกลาง

ผลกระทบครั้งใหญ่ที่สุดคือ การเปลี่ยนพรรคของกายา ลาล และนักการเมืองคนอื่น ๆ นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของอินเดียในปี 1985 โดยมีการนำร่างพระราชบัญญัตินี้นำเสนอในโลกสภา (Lok Sabha) ในวันที่ 24 มกราคม 1985 ผ่านการอภิปรายและอนุมัติในโลกสภาและราชยสภา (Rajya Sabha) ในวันที่ 30 มกราคม 1985 และ 31 มกราคม 1985 ตามลำดับ และได้รับความยินยอมจากประธานาธิบดีอินเดียในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1985 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 52 (52nd Amendment Act) ด้วยการเพิ่มภาคผนวกที่สิบ (10th Schedule) ที่รู้จักกันในชื่อ กฎหมายต่อต้านการแปรพักตร์ (Anti-Defection Law) ซึ่งกำหนดบทลงโทษสำหรับสมาชิกสภาที่เปลี่ยนพรรคโดยไม่มีเหตุผลอันควร และยับยั้งความชั่วร้ายของการย้ายพรรคทางการเมือง ที่มีแรงจูงใจจากผลประโยชน์ของตำแหน่งหรือสิ่งจูงใจอื่นที่คล้ายคลึงกัน

ถึงจะต้นตระกูลจะร้ายแต่ประชาชนก็พร้อมรัก

แม้ว่าชื่อของกายา ลาล จะเป็นที่จดจำในแง่ลบของการเมืองอินเดีย แต่ครอบครัวของเขายังคงมีบทบาทสำคัญในการเมืองของรัฐหรยาณะ บุตรชายของเขา ‘อุทัย พัน’ (Udai Bhan) เคยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐหรยาณา แม้ชื่อเสียงของผู้เป็นพ่อจะตามหลอกหลอนเขา จนอยากทำให้ทุกคนลืมเรื่องเก่า ๆ เหล่านั้นทิ้งไป แต่เขาก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่า พ่อของตนเคยกระทำเช่นนั้น

“ผมอยากให้คนเลิกจดจำว่าพ่อเป็นงูเห่า พ่อไม่ได้เป็นคนอัปยศเแบบนั้น”

เรื่องราวของกายา ลาล เป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองและจริยธรรมในระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนพรรคที่มีแรงจูงใจจากผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง สามารถทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยและความไว้วางใจของประชาชนได้

แม้ว่าจะมีกฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคแล้ว แต่การเปลี่ยนพรรคในอินเดียก็ยังคงเกิดขึ้น เพียงแต่นักการเมืองได้หาช่องทางอื่นในการหลบเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปทางการเมืองต้องมีมากกว่าการออกกฎหมาย แต่ต้องปลูกฝังจริยธรรมและความรับผิดชอบในหมู่นักการเมืองด้วย

ตำนานของกายา ลาล จึงยังคงเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบในการเมือง ซึ่งเป็นคุณค่าที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : Express Archives

 

อ้างอิง