ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น

ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น

ราชบุรี Zero Dropout โมเดลต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิต ประตูแห่งโอกาสที่เปิดกว้างให้เด็กทุกคนไม่หล่นหายไปจากระบบการศึกษา

เหตุการณ์เมื่อ 4 ปีก่อนสร้างความบอบช้ำให้กับเด็กไทยไม่น้อย การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาทำลายระบบการศึกษาจนย่อยยับ โรงเรียนที่เคยเป็นสถานที่ให้เด็ก ๆ ได้มาจำลองการใช้ชีวิตกลับกลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม พวกเขาถูกโรคระบาดตั้งด่านห้ามเข้าห้องเรียนโดยเด็ดขาด

หลายโรงเรียนปรับรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาชุบชีวิตระบบการศึกษา แต่กลับทิ้งเด็กนับแสนรายไว้ข้างหลัง ในปี 2564 เด็กและเยาวชนราว 238,707 คน หลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะไม่สามารถเข้าถึงรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันได้ วิกฤตของเด็กไทยยังไม่หมดเท่านั้นในปี 2565 พบว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบอีกราว 100,000 คน

นี่คือข้อมูลที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บอกกับเรา กสศ. คือผู้ผลักดันโครงการ Zero Dropout: เด็กทุกคนต้องได้เรียน ร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และสมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรีให้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง โดยหวังว่าอุดมการณ์อันหนักแน่นของทุกภาคส่วน จะช่วยดึงเด็กทุกคนกลับเข้าสู่ระบบ เปลี่ยนตัวเลขหลักแสนเหลือศูนย์ได้ในไม่ช้า

ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น

เปลี่ยนอุบัติเหตุทางการศึกษา เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

จุดเริ่มต้นของโครงการ Zero Dropout เปิดตัวครั้งแรกในปี 2565 หลังจากแสนสิริมองเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในจังหวัดราชบุรี พวกเขาจึงร่วมมือกับสมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานที่จัดการศึกษาทุกประเภท และทุกภาคส่วนในจังหวัดราชบุรี โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นตัวเชื่อมประสานให้มีพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ สามารถตอบโจทย์ชีวิตของเด็กทุกคนได้อย่างแท้จริง

เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา แสนสิริได้สนับสนุนเงินบริจาคช่วยเหลือเด็กในโครงการจำนวน 100 ล้านบาท ในการดำเนินงาน 3 ปี ระยะเวลาที่พวกเขาหวังว่าเด็กที่เคยหล่นหาย จะกลับเข้าสู่อ้อมกอดของระบบการศึกษาได้อีกครั้ง พร้อมทั้งเดินหน้าต้นแบบ 1 โรงเรียน 3 ระบบ และศูนย์การเรียนรู้สร้างโอกาส ลดอัตราการหลุดออกจากระบบอย่างได้ผล 

ซึ่งโมเดล 1 โรงเรียน 3 ระบบ จะเข้ามาช่วยโอบอุ้มเด็กนักเรียนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ผ่านรูปแบบการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ รวมไปถึงตามความสนใจที่แตกต่างกันของแต่ละคนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะหลบซ่อนอยู่มุมใด หรือไม่สามารถก้าวเข้าสู่ชั้นเรียนได้เหมือนอย่างเด็กคนอื่น โมเดลการศึกษานี้จะมอบโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงการเรียนได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่ต่างจากเด็กกลุ่มอื่น เมื่อเก็บหน่วยกิตได้ครบตามหลักสูตร ก็จะได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาไม่ต่างจากการเรียนตามหลักสูตรทั่วไป

“เรากำลังระเบิดกรอบการศึกษา และเปลี่ยนคำนิยามของคำว่าระบบการศึกษาให้มาเป็นพื้นที่ที่แตกต่างหลากหลาย และตอบโจทย์ศักยภาพของแต่ละคน” ศ.ดร.สมพงษ์บอกถึงความฝันที่จะเห็นการศึกษาไทยก้าวข้ามกรอบแบบเดิม ๆ 

“และในอนาคตระบบการศึกษาการเรียนรู้มันจะเคลื่อนไปสู่ในเรื่องของคนที่จะเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนตามสิ่งที่ตัวเองถนัดและสนใจ รัฐเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ทำให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างความหลากหลายในระบบการศึกษาไทย”

แม้ว่า 1 โรงเรียน 3 ระบบ จะเป็นโมเดลที่ครอบคลุมแทบทุกด้าน แต่เพื่อยุติความเสี่ยงในการหลุดออกนอกระบบ กสศ. จึงได้ริเริ่ม ศูนย์การเรียนรู้ สร้างโอกาส พื้นที่การเรียนรู้ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบการศึกษาเป็นรายคน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศสภาพ หรือแม้แต่เชื้อชาติ ให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา และสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ทักษะ วิชา หรือแม้แต่เลือกวัน-เวลาได้ตามแต่ใจต้องการ 

และที่สำคัญ ผู้เรียนสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้อย่างอิสระ ไม่ต้องกังวลว่าการเรียนจะกระทบเวลางาน จนตัดสินใจก้าวออกจากระบบการศึกษาเพื่อไปทำงานเต็มเวลา เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะช่วยไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คือ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกกลุ่มมองเห็นเส้นทางในการใช้ชีวิต ที่ไม่ถูกตีกรอบหรือขีดเส้นตายว่าการจะประสบความสำเร็จ จะจำกัดอยู่เพียงแค่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น

ศูนย์การเรียนรู้ สร้างโอกาส จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่การเรียนรู้ที่ช่วยเข้ามาแก้ปัญหา เปิดโอกาส และกรุยทางให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ไม่ต้องกังวลว่าความชอบหรือความถนัดของตนเอง จะลดทอนคุณค่าในชีวิต เพราะพื้นที่แห่งนี้จะทำให้ทุกคนค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ และนำออกมาใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเต็มภาคภูมิ

“ไม่ว่าเด็ก ๆ จะมีข้อจำกัดใดก็ตาม จากนี้ไม่จำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษา เพราะระบบการศึกษาปรับตัวเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เปิดประตูรั้ว ทลายกำแพงโรงเรียน เกิดพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ ให้สามารถทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการหรือปัญหาของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง” ว่าที่ร้อยตรี สมชาย งามสุขสวัสดิ์ ศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี ให้คำมั่นสัญญาว่าเด็กทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ต้องกังวลถึงข้อจำกัดในครอบครัวอีกต่อไป

กว่าโครงการ Zero Dropout จะเดินทางมาเข้าสู่ปีที่ 2 ได้อย่างภาคภูมิ สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ของแสนสิริ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่เข้ามาช่วยระดมเงินบริจาค เพื่อให้เด็กทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างที่พวกเขาวาดฝัน “เราหวังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในการช่วยลงมือและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเดียวกัน คือ ให้เด็กทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม ปัจจุบัน เราได้เห็นความคืบหน้าและความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้

“อย่างเช่นการสร้างโมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อเป็นตัวเลือกทางการศึกษาแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบ ตลอดจนการเปิดพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิต และการมอบทุนสนับสนุนเยาวชนการศึกษาทางเลือกให้กับน้องเยาวชนจำนวน 235 คน จาก 5 อำเภอในพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่”

ก่อนจะย้ำว่า Zero Dropout ของราชบุรี อาจกลายเป็นโมเดลต้นแบบการศึกษาของประเทศไทยได้ในอนาคต เพราะเขาเชื่อว่าทุกการกระทำที่ลงแรงกายและใจไป จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ทางการศึกษาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น

หากถามว่าทำไมต้องเป็น ‘ราชบุรี’ ศ.ดร.สมพงษ์ กรรมการบริหาร กสศ. ให้คำตอบอย่างเรียบง่ายถึงต้นตอของปัญหาที่ บริษัท แสนสิริ มองเห็น หลัง กสศ. ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของชาวบ้านราว 3 ปีก่อน และพบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในราชบุรี จึงเห็นพ้องต้องกันว่าแสนสิริจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ จึงเป็นที่มาของการตั้งโมเดลการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วน

ทำยังไงให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา – คือโจทย์หลักที่ กสศ. ได้รับจากแสนสิริ ก่อนจะพ่วงท้ายหมายเหตุเล็ก ๆ อีกสองข้อว่า ภายในจังหวัดนั้นจะต้องไม่มีบริษัทแสนสิริดำเนินโครงการหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย และสองจะต้องไม่มี สส. พรรคเพื่อไทยอยู่ในพื้นที่นั้น เพื่อป้องกันการเกิดข้อกังขาต่อไปในอนาคต

ราชบุรี จึงติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่ กสศ. เล็งเห็น และแสนสิริก็ได้เข้ามาสานต่ออุดมการณ์ให้เป็นจริง

“อีกเหตุผลที่เราเลือกราชบุรี เพราะเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ภายในตัวจังหวัดเองก็มีทั้งเด็กยากจน เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กพลัดถิ่น เพราะฉะนั้น ความหลากหลายที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้จึงนำไปสู่การแก้ปัญหาการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบไปมากกว่านี้

“เรามีสถิติเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 9,000 กว่าคนในราชบุรี หากให้เจาะลึกลงไปอีก เราได้มีงานวิจัยที่ศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พบว่ามีเด็กอีกประมาณ 358 คนที่ไม่ใช่แค่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาแต่ยังเสี่ยงที่จะหลุดจากสถาบันครอบครัว”

ซึ่งเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากทั้งสองระบบพร้อมกัน มีสาเหตุหลัก ๆ 3 ประการด้วยกัน

หนึ่ง ปัญหาความยากจน ครอบครัวส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาดังกล่าวมีรายได้ประมาณ 1,250 บาทต่อเดือน มีหนี้สินตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และยิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไป ครอบครัวเหล่านี้จะมีรายได้ลดลงตามลำดับอย่างน้อยก็ร้อยละ 5 ต่อเดือน

สอง ปัญหาภายในครอบครัว ร้อยละ 40 เป็นครอบครัวแหว่งกลาง หมายถึง ครอบครัวที่เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่ได้อาศัยกับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด และร้อยละ 18 เป็นครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

สาม เด็กไร้สัญชาติ ส่วนใหญ่อพยพมาจากเมียนมา หนีสงครามความขัดแย้งมาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย แม้ว่าจะได้รับการศึกษาในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน

เหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้เด็กหลายครัวเรือนตกอยู่ในสถานการณ์ ‘เสี่ยง’ อย่างเลี่ยงไม่ได้

“ปัญหาอีกอย่างของการศึกษาไทยคือ เด็กเข้าสู่ลู่การแข่งขันไม่ได้ เพราะระบบการศึกษาไทยเป็นระบบแพ้คัดออก เด็กที่ประสบปัญหาก็จะอยู่ในกลุ่มท้าย ๆ เป็นเด็กหลังห้อง สุดท้ายพวกเขาก็ต้องลาออก ไม่ใช่แค่นั้นเรื่องของหลักสูตรเองก็เป็นปัญหาเช่นกัน

“หลักสูตรของระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิตเขา เด็กหลายคนต้องช่วยงานพ่อแม่ เขาต้องลงมือปฏิบัติ ไปทำงานจริง แต่การศึกษาส่วนใหญ่ของเรา ต้องอยู่ในห้องเรียนตลอดเวลา

“เพราะฉะนั้นชีวิตของเด็กกลุ่มนี้เขาไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุจากการศึกษา แต่เป็นเพราะระบบการศึกษา ครอบครัว โรงเรียน ล้วนเป็นเหตุและปัจจัยหลักทำให้เขาต้องเจอเหตุการณ์ดังกล่าว”

ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น

การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต

Zero Dropout อาจเป็นโมเดลเปลี่ยนการศึกษา ที่เข้ามาพลิกแนวคิดออกแบบหลักสูตรการสอนของผู้ใหญ่ให้ขยับเข้าใกล้ ‘ตัวตน’ ของเด็กแต่ละคนมากขึ้น แม้จะมีกรอบการดำเนินงานเพียงระยะสั้น ๆ ระหว่างปี 2566 – 2570 แต่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ชาวบ้านในพื้นที่ และผลักดันศักยภาพของเด็กให้ฉายแสงออกมาได้มากที่สุด

“การศึกษาต้องตอบโจทย์ชีวิต ความต้องการ และความปรารถนาของเขา เพราะเขาคือเจ้าของสิทธิการศึกษาของตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาออกแบบแล้วบังคับให้เรียนในสิ่งที่พวกเขาไม่สนใจ“ความเหลื่อมล้ำเรื่องการศึกษาในประเทศไทย มันเข้าขั้นวิกฤต และระบบการศึกษาของเราจะให้ความสนใจแค่เฉพาะคนกลุ่มบน แต่คนกลุ่มล่าง 20 ล้านคน เด็กและเยาวชนอีก 8 – 9 แสนคนกลับไม่มีใครดูแล

“นี่คือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานตรงนี้ เมื่อเราทลายกำแพงเข้าไป เราให้ระบบการศึกษาดี ๆ ที่เกิดจากทุกฝ่ายเข้าไปช่วยจัด เชื่อไหมว่าชีวิตที่เคยก้าวพลาด มันมั่นคงขึ้น เขาอยากกลับไปเรียนหนังสือ

“ฉะนั้นถ้าเราจัดการศึกษาดี ๆ ไม่ใช่เป็นกระพี้ของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน แต่เปลี่ยนเป็นการจัดการเรียนรู้ให้มันลื่นไหลไปกับจังหวะชีวิตและความต้องการของแต่ละคนได้ เป็นแก่นสาระของการศึกษา แล้วตอบโจทย์ชีวิต ตอบโจทย์ศักยภาพ และความฝันของเขา ผมเชื่อว่าการศึกษามันสร้างชีวิตคนได้จริง ๆ และมันก็เป็นประตูแห่งโอกาสให้เด็กและเยาวชน กลับเข้ามาอยู่ในสังคมได้แท้จริง”

ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม

“โอกาสและความเสมอภาคเป็นนามธรรมมากเลยนะ” ดร.สมพงษ์บอก ก่อนจะเสริมว่า Zero Dropout จะช่วยให้ภาพเหล่านั้นชัดเจนขึ้น “แต่ที่ กสศ. เราพูดเรื่องโอกาสและความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรรม เราสร้างนวัตกรรมและสิ่งที่เคยเป็นแค่แนวคิดนำมาปรับให้ใช้แก้ปัญหาได้จริง”

“ถ้าโมเดลที่ราชบุรีสำเร็จ เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นตัวอย่างดี ๆ ให้กับภาคเอกชนอีกหลายแห่ง เพราะว่าเรื่องโอกาสและความเสมอภาค ถ้าเราใช้กลไกของรัฐขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง ผมว่ายาก ในระบบราชการเรายังอยู่กันแบบหลวม ๆ ต่างคนต่างอยู่ แต่เมื่อมีตัวอื่นเข้ามาช่วยกระตุ้น อย่างเช่นแสนสิริ หรือว่า กสศ. เองก็ดี สิ่งนี้จะทำให้ระบบราชการที่ต่างคนต่างอยู่เขามีข้อมูลและเห็นปัญหาตรงกัน”
ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น ปัจจุบัน โมเดล Zero Dropout สามารถลดจำนวนเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา และเด็กที่หลุดออกไปเต็มตัวให้กลับเข้ามาเรียนได้อีกครั้ง มีไม่ต่ำกว่า 9,311 คน จากทั้งหมด 10 อำเภอ ซึ่ง พอส เยาวชนอายุ 15 ปีเองก็ได้รับโอกาสกลับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาอีกครั้ง หลังจากออกจากโรงเรียนกลางคัน เนื่องจากปัญหาทางบ้าน และตัวเขาเองรู้สึกว่าการเรียนไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต จึงเลือกไปเผชิญโลกกว้างตามลำพัง

“ผมว่าผมคิดถูกแล้วครับที่กลับเข้ามาเรียน เพราะผมไม่ต้องเรียนตามตาราง ไม่ต้องเข้าเรียนทุกวัน เรียนเฉพาะวิชาที่สนใจ อย่างของผมติดแค่วิชาคณิตศาสตร์ ส่วนวิชาอื่นผ่านหมดแล้ว

“ผมจะเข้าเรียนทุกวันพุธ เริ่มเรียนสิบโมง พอบ่ายสามก็กลับไปทำงานต่อ แต่ตอนนี้ผมจะเรียนให้จบ ม.3 แล้วเอาวุฒิไปสมัครเรียนต่อช่างไฟฟ้า”

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้ณัฐกรออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ม.3 เทอมสอง เขาบอกว่า พ่อกับแม่มักจะบ่นถึงพฤติกรรมของลูกชายคนเดียวอย่างเขาอยู่เสมอ ทำให้รู้สึกอึดอัดและไม่อยากจะกลับไปอยู่ในครอบครัวที่ไม่เคยเข้าใจเขาเลยสักครั้ง เลยเก็บกระเป๋าออกจากบ้านไปใช้ชีวิตอยู่กับนายจ้าง และไม่เคยคิดจะกลับบ้านอีกเลยนับตั้งแต่วันนั้น
ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น “ยากมากครับการต้องออกมาทำงาน” พอสตอบ เมื่อถามต่อว่าทั้ง ๆ ที่ยากขนาดนี้แล้วทำไมถึงไม่อยากกลับบ้าน เขาเงียบไปชั่วขณะ ก่อนจะตอบสั้น ๆ ว่า เขาแค่ไม่อยากกลับ ทุกวันนี้ทำงานมีรายได้วันละ 300 – 400 บาทก็เพียงพอแล้ว

“ถ้าผมเรียนจบ ผมจะทำตามความฝันตัวเอง ผมจะเอาวุฒิ ม.3 ไปสมัครเรียนต่อช่างไฟฟ้า”

แม้จะเป็นหนึ่งเสียงเล็ก ๆ ของเยาวชนที่กลับเข้าสู่การศึกษาอีกครั้ง แต่กลับเป็นเสียงที่ดังก้องราวกับกำลังบอกว่า สิ่งที่ กสศ. และเครือข่าย เข้ามาช่วยกันผลักดันนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการที่ผ่านมาแล้วผ่านไป หากแต่ยังได้เปิดเส้นทางการศึกษาให้ขยายกว้างขึ้น เพราะเด็กทุกคนมีพรสวรรค์และความถนัดแตกต่างกัน รอเพียงแค่วันที่พรเหล่านั้นจะเบ่งบานออกมา

“ถ้าคนมีโอกาสทางการศึกษา เขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ผมยังเชื่อเสมอว่าการปฏิรูปการศึกษายังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”
ราชบุรี Zero Dropout: ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้ามาโอบกอดเด็กทุกคนไม่ให้ร่วงหล่น