ณัฐวุฒิ กรมภักดี: โฮมแสนสุข ‘บ้าน’ ที่มอบโอกาสให้คนไร้บ้านได้พักพิงก่อนออกสู่โลกกว้าง

ณัฐวุฒิ กรมภักดี: โฮมแสนสุข ‘บ้าน’ ที่มอบโอกาสให้คนไร้บ้านได้พักพิงก่อนออกสู่โลกกว้าง

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน ผู้ช่วยประสานรอยร้าวและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเมืองใหญ่อย่างขอนแก่นให้แคบลง โดยการเปิด 'บ้านโฮมแสนสุข' บ้านพักพิงชั่วคราวให้กลุ่มคนเปราะบางได้มีจุดแวะพักก่อนออกไปเผชิญโลก

ปัญหาคนไร้บ้านอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่ เพราะชีวิตในแต่ละวันก็วุ่นวายมากพออยู่แล้ว แต่หากลองสำรวจและเพ่งมองเมืองที่เราอยู่อย่างละเอียด เชื่อว่าคุณจะเห็น ‘ปัญหา’ บางอย่างค่อย ๆ ปรากฏออกมา และหนึ่งในนั้นคือ คนไร้บ้าน

The People เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น เมืองที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค ศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าแทบทุกอย่างมากระจุกกันอยู่ที่นี่ เพื่อพูดคุยกับ ‘นัท - ณัฐวุฒิ กรมภักดี’ ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน (Friends of the Homeless) ถกถามในประเด็นที่หลายเมืองใหญ่มักซ่อนเรื่องราวบางอย่างไว้เบื้องหลัง จนแทบจะถูกสังคมหลงลืมว่าเคยมีปัญหาเหล่านั้นอยู่

และนี่คือเรื่องราวการทำงานกับคนไร้บ้านตลอด 8 ปีของ ณัฐวุฒิ กรมภักดี ชายที่เชื่อว่าการออกแบบสังคมที่ดีได้ ขอแค่ผู้ออกแบบนโยบายมองคนให้เท่ากัน ใส่คนในนโยบายมากขึ้น เพียงเท่านี้ปัญหาช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอาจขยับร่นลดลงมาสักหนึ่งมิลลิเมตรก็ยังดี

ขวบปีแห่งการต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นธรรม

“เราเริ่มต้นเข้ามาในแวดวง เป็นนักเคลื่อนไหวที่เริ่มออกมาทำงานทางสังคม ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประมาณปี 1 ปี 2 เพราะรุ่นพี่ชวนมาทำกิจกรรมไปลงพื้นที่กับชาวบ้านเรื่องปัญหาที่ดินที่ชัยภูมิ แล้วก็เริ่มคลุกคลีกับประเด็นทางสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องที่ดิน เรื่องปัญหาชาวบ้านในอีสาน”

ณัฐวุฒิ เล่าจุดเริ่มต้นที่พาตัวเองขึ้นสังเวียนต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งหากมองย้อนกลับไป อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ชายตรงหน้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดนี้ อาจเป็นเพราะเขาคือนักอ่านตัวยง ยิ่งอ่านเยอะเท่าไหร่ โลกของเขาก็ขยายกว้างขึ้น จนทำให้ณัฐวุฒิวัยยี่สิบต้น ๆ นึกโกรธแค้นต่อความอยุติธรรมที่ปรากฏขึ้นตรงหน้าไม่น้อย

“กลุ่มที่ทำกิจกรรมทางสังคมในมหาวิทยาลัยมันไม่ค่อยเยอะ อย่างขอนแก่นแต่ก่อนก็มีกลุ่มของผมที่ทำอยู่กับน้อง ๆ ดาวดิน เมื่อก่อนเวลาทำอะไรแบบนี้คนมาร่วมไม่เยอะหรอก คนไม่ค่อยมาทำกัน” เขาเล่าพลางทิ้งช่วง ก่อนจะบอกกับเราว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เห็นความร้อนใจของชาวบ้านชัดที่สุด เกิดขึ้นตอนยืนขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่มาติดตั้งแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในที่นาของตน

“นากำลังเขียวอยู่เลย...” ประโยคสั้น ๆ ที่สะเทือนใจคนฟังไม่น้อย เพราะกว่าจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวบ้านในพื้นที่ต้องดิ้นรนกันไม่น้อย อย่างที่เรารู้กันว่าราคาข้าวก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น หากผืนนาตรงนี้ถูกทำลายลง คงไม่ต่างจากการยืนมองชาวบ้านค่อย ๆ ตายอย่างช้า ๆ

“ช่วงนั้นเราอยู่อุดรธานี ทำงานกับชาวบ้านที่นั่น แล้วก็มีโอกาสได้ไปช่วยชาวบ้านดูเรื่องที่ดิน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่าจะมาตั้งแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงบนที่นาของชาวบ้าน แต่เขายังไม่ทันเซ็นต์ยินยอม ทางนู้นเขาก็มากันแล้ว ผมเห็นท่าไม่ดีก็เลยร่วมยืนขวางไม่ให้เขาทำ”

แต่ความกล้าหาญของเขาก็ถูกโยนเข้ากรงขัง ปิดล็อกไม่ให้ออกมาต่อกรกับผู้มีอำนาจราว 10 ชั่วโมง “เป็นครั้งแรกที่เรานั่งอยู่ในคุกแล้วรู้สึกอึดอัดมาก เรารู้สึกเดือดดาล โกรธทุกอย่าง ทำไมตำรวจ 200 กว่านาย ล้อมชาวบ้าน 20 กว่าคน ทำไมเขาทำแบบนั้นกับประชาชน

“เราเลยอยากทำงานช่วยให้คนที่เขาเข้าไม่ถึงความยุติธรรมพวกนี้ ได้สัมผัสถึงสิทธิของตัวเอง ได้สัมผัสถึงเสียงที่พวกเขาสามารถส่งออกไปได้ เพราะคนทุกคนล้วนมีสิทธิ์มีเสียง เราอยากให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม”

 

คนไร้บ้าน - กลุ่มคนเปราะบางที่เกิดจากความชอกช้ำทางใจ

เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม ณัฐวุฒิในฐานะประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ร่วมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมมาตั้งแต่ปี 2558 จึงเริ่มมองเห็นว่าหากไม่เริ่มทำอะไรบางอย่าง บ้านเมืองที่เขาใฝ่ฝันอาจไม่มีวันมาถึง

หลังจากวาดภาพบ้านในฝันขึ้นกลางใจ ณัฐวุฒิไม่รอช้า เขาและทีมงานต่างเร่งลงพื้นที่เพื่อถามความคิดเห็นของอนาคตผู้อยู่อาศัยใน บ้านโฮมแสนสุข บ้านที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ตั้งแต่ที่ดิน โครงสร้างบ้าน ไปจนถึงกฎระเบียบภายใน

“เราพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขามาอยู่แล้วรู้สึกว่าปลอดภัยกว่าการนอนอยู่ข้างนอก ฉะนั้นโมเดลของบ้านโฮมแสนสุขก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่ทำงานเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องคนจนเมือง เรื่องคนไร้บ้าน ที่เราพยายามผลักดันกันมาเป็น 10 - 20 ปีแล้ว

“จนได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งผ่าน ครม. เขาให้เราทดลองสร้างศูนย์พักคนไร้บ้านที่เอกชนบริหารจัดการ แล้วก็สร้างการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน ซึ่งโมเดลนี้มีการทดลองใน 3 จังหวัดของประเทศไทย คือ ปทุมธานี เชียงใหม่ แล้วก็ขอนแก่น

“ถ้าจะพูดโดยง่ายคือ ‘บ้านโฮมแสนสุข’ เป็นเหมือนพื้นที่ตั้งหลักชีวิตให้คนไร้บ้านได้มาตั้งหลัก มาพักค้างคืน มาตกตะกอนความคิดก่อนจะเริ่มวันใหม่”

ซึ่งณัฐวุฒิก็ยอมรับว่าบ้านหลังนี้อาจไม่ตรงตามใจฝันไปเสียทุกอย่าง แต่อย่างน้อยเขาก็ได้เริ่มทำอะไรบางอย่าง และบางอย่างที่ว่าก็เปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้านมาแล้วหลายร้อยราย

“มันอาจจะไม่เพอร์เฟกต์ตามที่เราคิด แต่อย่างน้อยเราได้เริ่มกระบวนการบางอย่าง ซึ่งผมเชื่อในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าบ้านหลังนี้ไม่ใช่ของณัฐวุฒิคนเดียว ไม่ใช่ของพี่คนนี้คนเดียว มันคือกระบวนการ ถ้าเราทำกระบวนการที่มันเริ่มมาจากความคิดของทุกคนได้สำเร็จ ถึงมันจะออกมาแล้วไม่ตรงตามสิ่งที่เราอยากได้ก็ไม่เป็นไร ทุกอย่างสามารถยืดหยุ่นกันได้ตลอด เราให้ความสำคัญกับการที่ทุกคนเริ่มต้นด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดนับตั้งแต่ทำบ้านหลังนี้ขึ้นมา

จะมั่นใจได้ยังไงว่าถ้าเขาตั้งหลักได้แล้ว จะไม่กลับมาเป็นคนไร้บ้านอีกรอบ - เราถาม “ตอบยากมาก ไม่รู้ว่าชั่วชีวิตเรา ปัญหาเรื่องของคนไร้บ้านในโลกเราจะไปแบบไหนได้บ้าง แต่อย่างน้อย พื้นที่บ้านโฮมแสนสุขมันก็เป็นเหมือนอีกจิ๊กซอว์นึง จิ๊กซอว์นึงที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะพยายามที่จะไปต่ออีกจิ๊กซอว์อื่น ๆ ในสังคม คือปัญหาของคนไร้บ้านมันไม่ใช่ปัญหาของตัวคนไร้บ้านเองหรือเป็นปัจเจกเขาเองอย่างเดียว มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย

“เราคิดว่าระบบใหญ่ ต้องคิด ระบบสวัสดิการของสังคม การดูแลผู้คนที่มันจะถ้วนหน้า ทำให้รอยต่อของชีวิตที่มันตกหล่นเนี่ยมันไม่ทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้าน”

จำเคสแรกที่คุณเข้าไปพูดคุยกับเขาได้ไหม - เราถามต่อ “เขาเดินหนีครับ” เขาตอบพลางหัวเราะร่วน ก่อนจะขยายความต่ออีกนิดว่าคนไร้บ้านคือกลุ่มคนที่ได้รับความชอกช้ำทางใจ เมื่อความเชื่อใจถูกทำลายลง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไร้บ้านจะเกิดความกลัว

“เขากลัวเรานะ ไม่ใช่แค่เรากลัวเขา ฉะนั้นวิธีการแรกที่เขาปกป้องตัวเองคือหนีก่อน เพราะไม่รู้ว่าไอ้หมอนี่เป็นใครมาจากไหน เคสแรกเขาก็เลยเดินหนีเราเลย เขาไม่อยากคุย”

“เพราะเราคิดว่าโดยพื้นฐานของคนไร้บ้าน ก็คือเขามีความเจ็บปวดความบอบช้ำจากครอบครัวเดิม จากความรู้สึกเดิม จากความเจ็บปวดจากผู้คนที่เขาเคยเจอมาในชีวิต คือคนไร้บ้านส่วนหนึ่งอย่างในไทยที่ออกมาเป็นคนไร้บ้าน อันดับต้น ๆ คือปัญหาเรื่องปัญหาภายในครอบครัว ปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาอะไรต่างๆ ที่ทำให้เขารู้สึกว่าการรู้สึกผูกพันหรือมีความสัมพันธ์กับใคร มันคือความเจ็บปวด มันก็เลยทำให้การที่เขาจะเปิดรับคนอื่น ๆ เข้ามาเลยค่อนข้างยาก”

ก่อนจะอธิบายต่อว่าปัญหาคนไร้บ้านในขอนแก่นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

1. พรีโฮมเลส (pre-homeless) กลุ่มเสี่ยงที่กำลังจะไร้บ้าน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในห้องเช่าราคาถูก เป็นคนจนในเมือง ไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ต้น รวมกับกลุ่มที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดบริเวณริมทางรถไฟ

2. นิวโฮมเลส (new homeless) กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่หลุดมาอยู่ในที่สาธารณะไม่เกินหนึ่งปี

3. กลุ่มที่นอนข้างถนนจนชิน ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ติดแอลกอฮอล์ ไปจนถึงมีปัญหาสุขภาพจิตทำให้พวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือมากนัก

“กลุ่มนิวโฮมเลสเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเยอะขึ้นในขอนแก่น แล้วจากที่เราสำรวจในเขตเทศบาลจำนวนคนไร้บ้านก็มีอยู่ที่ประมาณ 120-130 คน ณ ปัจจุบัน ถ้าประมาณคร่าว ๆ ก็คือว่ากลุ่มที่แบบอยู่กับที่ไม่ค่อยไปไหนในเมืองขอนแก่นนี่ก็จะประมาณสัก 50-60 ที่เหลือจะเป็นกลุ่มนิวโฮมเลส ที่เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาเข้ามาในเมืองเรื่อย ๆ”

 

ใส่คนในนโยบาย เพื่อสร้างเมืองให้เป็นของคน

“เราคิดว่าทุกคนอยากให้เมืองมันเจริญ ให้ประเทศมันพัฒนา แต่ผมคิดว่าไอเดียในการทำให้เมืองเจริญหรือประเทศพัฒนาไม่ควรมองแค่มิติเรื่องเศรษฐกิจ หรือมิติของทุน นักลงทุน นักธุรกิจ นักผังเมือง เพียงอย่างเดียว

“เวลาเราพูดถึงคำว่า ‘ความเจริญ’ เราควรพูดถึงเมืองที่เป็นธรรมต่อทุกคน และต้องเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสในการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ถ้าเมืองมันเจริญ มันมีตึกรามสูง มันมีอะไรมากมาย มีนักธุรกิจต่างชาติมาลงทุน เยอะแยะเต็มไปหมด แต่คนในประเทศไม่มีที่นอน เราว่าเรื่องใหญ่นะ นี่ไม่ใช่ความเจริญ อันนี้คือการทำลายล้างคนในประเทศตัวเองด้วยซ้ำ

“เราว่านี่คือวิธีคิดเลย วิธีคิดล้วนๆ เราอยากเห็นเมืองแบบไหน เราอยากเห็นเมืองที่คนที่มีตังเข้าถึงได้ทุกอย่าง แต่คนที่ไม่มีทรัพยากรถูกอัปเปหิออกไปจากเมือง เราอยากเห็นเมืองแบบไหน เมืองที่คนที่เป็นพลเมืองของเมืองนั้นไม่มีสิทธิ์อยู่ ไม่มีสิทธิ์ที่จะมีบ้านดี ๆ อยู่ในเมือง แต่คนจากที่อื่นสามารถมาอยู่ได้แบบสุขสบาย

“อย่างหนึ่งที่คอนเฟิร์มความคิดตัวเองได้ชัดเจนขึ้นก็คือว่า คนไร้บ้านก็คือคนไร้บ้านก็คือคนเหมือนกับเรา ซึ่งเขาก็เป็นพลเมืองในโลกใบนี้ อันนี้เป็นการคอนเฟิร์มความคิดเราที่เราเชื่อว่า ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะไหน เขาก็คือคน ฉะนั้นเวลาเราต้องทำงานกับคน หรือเราต้องทำงานกับคนกลุ่มต่างๆ หลักการพื้นฐานคือ ทุกคนต้องถูกเคารพด้วยการเป็นพลเมืองเหมือน ๆ กัน เข้าถึงสิทธิเหมือน ๆ กัน”

แม้จะจบบทสนทนาลงแล้ว แต่คำพูดของณัฐวุฒิยังคงวนเวียนอยู่ในหัวเราไม่หยุด

เราอยากเห็นเมืองแบบไหน?

คำถามเรียบง่ายแต่ยากที่จะเกิดขึ้นจริง เราอยากเห็นเมืองแบบไหน คงต้องฝากความหวังไว้ที่ผู้มีกำลังและอำนาจในการเปลี่ยนแปลงปัญหาโครงสร้างเชิงสังคม รวมไปถึงคนในสังคมทุกคนให้รับรู้และร่วมมือร่วมใจกัน แล้วเมืองที่เราอยากเห็นคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม