17 ส.ค. 2566 | 19:00 น.
ตลอดชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งย่อมเต็มไปเรื่องที่ดีเลิศและเลวร้าย อยากจำและอยากลืม แต่ในหลาย ๆ ครั้งความอยากเหล่านั้นกลับไปเป็นไปตามความเป็นจริง บางอย่างที่อยากจำให้ขึ้นใจก็กลับเหลือเพียงเศษเสี้ยว บางสิ่งที่อยากลบล้างให้หมดไปดันแจ่มชัดไม่ลางเลือน สมองและ ‘ความทรงจำ’ (Memory) ของเรานั้นซับซ้อนละเอียดอ่อนจนยากจะหยั่งถึง
นับเป็นโอกาสอันดีที่ในวันนี้ The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘เอรัน คัทซ์’ (Eran Katz) นักเขียนเจ้าของผลงาน ‘พัฒนาความจำสู่ความเป็นอัจฉริยะ’, ‘5 Gifts for the Mind : ปัญญาทั้ง 5 เพิ่มพลังความคิด’ และ ‘The Memory Master อัจฉริยะนักจำ ตอน ภารกิจพิชิตแชมป์นักจำ’ ที่มุ่งสนับสนุนให้ผู้อ่านได้พัฒนาทักษะความจำของตนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
นอกจากนั้น เอรันก็ยังผู้เชี่ยวชาญด้านความจำที่สร้างความมหัศจรรย์ด้านความจำจนถูกจารึกไว้ในสถิติ Guinness Records ของประเทศอิสราเอลเลยทีเดียว The People จึงอยากจะชวนเขาคุยว่ากว่าจะเป็นคน ๆ หนึ่งที่เสมือนมีสมองเป็นพลังวิเศษ เอรัน คัทซ์ คือใคร? เพราะอะไรถึงกลายเป็นยอดนักจำ? ทั้งยังคุยถึงเรื่องราวและเทคนิคของ ‘ความทรงจำ’ ที่จะทำให้เราเข้าใจมันมากขึ้นกว่าที่เคย
ใครอยากจำ ใครอยากลืม ใครอยากฟื้น ใครอยากถอน บทสนทนาระหว่างเรากับเขาครั้งนี้อาจมีคำตอบ
The People : อยากให้ลองเล่าถึงความสามารถในการจำของคุณหน่อยครับ เห็นว่าถูกบันทึกไว้ใน Guinness Book
Eran Katz : ใช่ครับ สิ่งที่ผมทำถูกบันทึกเอาไว้ใน Guinness Records ของประเทศอิสราเอล ซึ่งผมได้ทำการทำการจำเลข 500 ตัวที่เรียงต่อกันได้ ในตอนที่ผมได้ถูกบันทึกสถิติเนี่ย ผมต้องนับเลขเหล่านั้นจากแรกสุดไปท้ายสุด และเริ่มจากท้ายย้อนกลับมาแรกสุดด้วย แล้วอีกครั้งหนึ่งก็คือผมจำสี 100 สีบนกระดาน ผมก็ต้องไล่เรียงมันให้ถูก
ปลายปีนี้ผมก็มีแผนที่จะทำลายสถิติโลกอยู่นะครับ ด้วยการจำเลขฐานสอง (Binary Numbers) อย่างเช่น 01100110 ซึ่งผมพยายามที่จะจำมันทั้งหมด 1000 ตัวเลขภายใน 5 นาที อาจจะต้องมาคอยดูกันว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมเองก็ฝึกอยู่นะ ของแบบนี้มันต้องฝึก
ผมไม่ได้พิเศษกว่าใครอื่นนะครับ
ที่ผมทำได้ทั้งหมดนี้ล้วนมาจาก ‘การฝึกฝน’ (Training) ผมฝึกสมองผมอยู่ตลอด และผมก็ชวนผู้คนอีกมากมายให้ฝึกสมองของเขาเช่นกัน พวกเขาจะได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่แม้แต่ตัวพวกเขาเองก็ไม่คิดว่าจะทำได้ ใครหลายคนอาจจะคิดว่าเราเกิดมากับสมองแบบนี้ เราก็มีเท่านี้ แต่ผมพยายามพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าไม่ใช่เลยแม้แต่น้อย ทั้งความจำและสมองเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เรามักเข้าใจกัน
The People : คุณกำลังจะบอกว่าเราสามารถทลายขีดจำกัดของศักยภาพสมองที่เรามีอยู่ไปได้หรือครับ?
Eran Katz : โดยพื้นฐานแล้วความสามารถจากสมองของเราไม่มีขีดจำกัดนะครับ และถึงแม้ว่ามันมีจุดนั้นจริง ๆ เราจะไม่มีวันไปถึงหรอกครับ มีคนหลายคนบอกว่าที่เราใช้ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้เป็นเพียง 10% ของความสามารถทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ แต่ผมว่าเราไม่สามารถวัดได้หรอกว่ากี่เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่เรารู้เพียงว่ามีช่องว่างที่กว้างเกินบรรยายกว่าเราจะเอื้อมถึงเพดานขอบเขตเลยล่ะ
ผมว่ามันก็เหมือคุณไปยิมนะ ตอนที่คุณไปออกกำลังกาย คุณก็จะเห็นผลลัพธ์เช่นน้ำหนักที่ลดลงหรือมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น แต่จุดที่ต่างออกไปสำหรับสมองคือ คุณอาจจะไม่เห็นพัฒนาการทางกายภาพผ่านตาไง สมองเราคงไม่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หรอก ถูกไหม? แต่เราจะเห็นมันผ่านชีวิตของเราที่เปลี่ยนไปมากกว่า
บางทีคุณอาจไม่ทันตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงหรอก แต่คุณจะสามารถตัดสินใจอะไรได้ดีขึ้น คุณจะจดจำได้ดีขึ้น และไม่หลงลืมมากเท่าแต่ก่อน และเมื่อวันที่คุณแก่ตัวลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนหนุ่มสาวตอนนี้อาจไม่คำนึงถึงเท่าไหร่นัก คุณก็มีแนวโน้มที่จะไม่เผชิญกับโรคสมองเสื่อม (Dementia) หรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer) ผมว่ามันเป็นสิ่งสำคัญนะครับที่จะพาสมองของคุณไปออกกำลังกายบ้าง
The People : สมองของเราก็เปรียบเสมือนกล้ามเนื้อ เราควรที่จะใช้และฝึกมันให้บ่อยเข้าไว้ ถูกไหมครับ?
Eran Katz : ถูกเผงเลยล่ะ มันก็เหมือนกับทักษะที่ต้องพัฒนา ตอนที่ผมเริ่มจำเลข 500 จำนวนผ่านเทคนิคของผม ผมต้องใช้เวลากว่าสองชั่วโมงเลยนะ แต่พอฝึกไปเรื่อย ๆ ผมก็สามารถทำมันได้ไวขึ้น ตอนนี้ก็ใช้แค่ 15 ถึง 20 นาทีเท่านั้น
The People : ตอนนี้เราสามารถบอกได้เต็มปากนะครับว่าคุณคือยอดนักจำ เสมือนว่าเป็นพลังวิเศษเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าเราจะย้อนกลับไปในอดีต ในวันที่คุณยังเด็ก คุณเป็นเหมือนกับที่คุณเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้หรือไม่?
Eran Katz : ผมไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความทรงจำที่ดีเลิศนะครับ ผมก็เด็กธรรมดาคนหนึ่งนี่แหละ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ช่วยให้ผมมีความทรงจำที่ดีคือความช่างสังเกตของผม
ผมเลยอยากจะบอกว่าปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการจำก็คือ ‘ความใส่ใจ’
หลายคนมักลืมโทรศัพท์มือถือของตัวเองไว้ที่ไหนสักที่ในบ้าน หรือบางทีก็ลืมกระเป๋าตังไว้ตรงโน้น ตรงนี้บ้าง ไม่ใช่เพราะเขามีความทรงจำที่ไม่ดีนะครับ แต่เป็นเพราะพวกเขาเหม่อลอยหรือไม่ได้ใส่ใจมากกว่า เพราะฉะนั้นผมว่านี่คือหนึ่งสิ่งที่เราควรจำนะครับ เราต้องใส่ใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา
ผมจะลองยกตัวอย่างให้ฟังอย่างหนึ่ง ตอนที่ผมเป็นเด็ก พ่อของผมทำงานอยู่ที่สถานที่ลับในอิสราเอล คือพ่อผมเป็นหนึ่งในผู้ประดิษฐ์มิสไซล์ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ เลยนะ แบบที่คุณเห็นในฮอลลีวูดนี่แหละ ซึ่งที่ออฟฟิศของเขาเนี่ย ก่อนจะเข้า ก็ต้องมีการกดรหัสก่อน ในตอนนั้นผมอายุ 5 ขวบ ผมก็ตื่นเต้นมาก ๆ ที่ได้เดินทางไปกับพ่อ และพอถึงตอนที่พ่อต้องกดรหัส ผมก็มองรหัสทั้ง 8 แบบตาไม่กระพริบเลยล่ะ
สองเดือนถัดมา ผมก็กลับไปที่นั่นอีก ทีนี้ผมเลยบอกพ่อว่าขอเป็นคนกดรหัส พ่อผมก็หัวเราะและบอกกับผมว่า ได้สิ เอาเลยลูก และผมก็กดรหัสเดิมรหัสนั้น เลข 8 ตัวที่ผมเคยจ้องเขม็งเมื่อสองเดือนก่อน ทันใดนั้นประตูก็เปิดขึ้น พ่อผมก็จากที่หัวเราะก็กลายเป็นทึ่งในทันใด
ผมพยายามจะบอกว่ามันไม่ใช่เพราะผมจำเก่งหรอกนะครับ แต่มันเป็นเพราะความรู้สึกของผมถึงความตื่นเต้นที่ได้เห็นเลขเหล่านั้นต่างหากที่ทำให้ผมจำไม่ลืม เป็นความรู้สึกถึงการที่ได้รู้ในสิ่งที่ไม่สมควรจะรู้ มันเป็นสภาวะความตื่นเต้นที่ช่วยฮุคให้เราสนใจได้นานกว่าอะไรที่ธรรมดา
The People : คุณกำลังจะบอกว่า ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ เป็นอุปนิสัยสำคัญที่ส่งเสริมการจำของเรา
Eran Katz : ใช่ครับ ผมเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นมาก (Observant) ผมเลยคิดว่าลักษณะนิสัยนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเสมอนะ คุณจะเห็นได้ว่าพอคุณโตขึ้น เรามักมีความคิดที่ว่าเรารู้ทุกอย่าง เราเห็นมามาก เราได้ยินทั้งหมดแล้ว ซึ่งผมคิดว่านั่นคือปัญหานะ เพราะเหตุนั้นแหละ ความทรงจำหลาย ๆ อย่างมันจึงไม่ถูกจารึกในรูปแบบที่น่าตื่นเต้นหรือน่าสนใจเหมือนตอนที่เรายังเด็ก ฉะนั้นผมอยากจะบอกว่าเคล็ดลับสำคัญในการจำเก่งก็หนีไม่พ้นก็คือไฟในความอยากรู้อยากเห็น คุณต้องพยายามใส่ใจสิ่งรอบข้างและมองมันเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่เสมอ
จริง ๆ แล้วนี่เป็นแก่นสำคัญของพุทธศาสนานะครับ คือการอยู่กับปัจจุบันและพยายามไม่กังวลถึงอนาคตมากนัก คนเรามักมีแนวโน้มที่จะพะวงถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึงมากจนเกินไป เช่น หลังผมสัมภาษณ์แล้วจะไปไหนต่อดีนะ? เย็นนี้จะทำอะไรดี? หรือตอนดูหนังก็นึกว่า หลังหนังจบจะทำอะไรต่อนะ? พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง? อย่าไปทำแบบนั้นครับ หยุดและอยู่กับปัจจุบัน
มันไม่ง่ายหรอก ผมทราบดี ผมเองก็เจอกับปัญหาแบบนั้น เช่นการคิดมากจนเกินไป แต่สิ่งที่ผมทำคือพยายามกังวลให้น้อยลงและเพลิดเพลินกับปัจจุบันให้มากที่สุดแทน
The People : ย้อนกลับไปที่เรื่องราวในอดีตของคุณ คุณเล่าในเรื่องความเป็นเด็กขี้สงสัยของคุณไปแล้ว แต่ ณ ตอนไหนกัน ที่คุณได้ค้นพบหรือเริ่มนำเทคนิคการจำเหล่านี้มาประยุกต์ใช้และพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้?
Eran Katz : ในช่วงวัยรุ่นผมหรรษากับชีวิตมากเลยล่ะ โรงเรียนก็ไม่ไป และผมเติบโตขึ้นมาในเมืองไฮฟา (Haifa) ในประเทศอิสราเอล หาดที่นั่นสวยมาก ผมก็เลยโดดเรียนไปแต่ทะเล แต่พอถึงจุดนึงผมรู้สึกว่าผมอยากทำข้อสอบให้ได้ แล้วผมดันไปเจอกับหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคการพัฒนาความทรงจำ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ก็มีมาตั้งแต่สมัยโรมันหรือศาสนายิวตั้งแต่โบราณแล้วนะ ผมจึงเริ่มศึกษาและนำมันมาใช้ ซึ่งมันเปรียบดั่งเวทย์มนต์เลยล่ะ
นับตั้งแต่นั้นมา ผมก็เริ่มนำมันมาใช้กับการเรียน ซึ่งมันช่วยผมประหยัดเวลาในการจดจำอะไรต่าง ๆ ไปอย่างมากเลยล่ะ นับตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มพัฒนา ศึกษา และใช้มันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ แล้วสิ่งหนึ่งที่หรรษาสำหรับผมมากเลยกับการใช้เทคนิคการจำเหล่านี้คือ คุณต้องจับคู่อะไรต่าง ๆ กับเรื่องตลกที่เรานึกออกได้ง่าย ๆ ลองนึกดูสิ สมมุติคุณเอาเรื่องยาก ๆ มาทำให้สนุกหรือตลก คุณจะจำมันได้ทันที มันคือการโยงความทรงจำต่าง ๆ ให้มาเกี่ยวกัน
The People : หมายความว่าถ้าหากอยากจะจำอะไรได้ง่ายและไวขึ้น สิ่งที่เราต้องทำคือการหาตัวแทนที่ง่ายต่อการจำสำหรับสิ่งยาก ๆ เหล่านั้น?
Eran Katz : ความทรงจำบางทีก็เหมือนกับเดส์กท็อป (Desktop) ของคอมพิวเตอร์น่ะครับ คือบางอย่างมันก็อยู่ในนั้นแหละ แต่เราไม่รู้ว่าเก็บมันไว้ที่โฟลเดอร์ไหน แล้วการที่เราสามารถหาภาพแทนหรือสามารถโยงมันเข้ากับสิ่งอื่นได้ มันก็เหมือนกับการจัดระเบียบเอกสารให้ง่ายต่อการหา ผมเรียกมันว่า ‘Filing System’ หรือ ‘ระบบจัดเก็บเอกสาร’ ซึ่งพอเราได้ใช้จินตนาการ เราใช้อารมณ์ขันมาประยุกต์ร่วม เราก็จะสามารถเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น สมองเราทำงานแบบนั้น
ยกตัวอย่างนะ ถ้าผมให้คุณวาดรูปทรงของประเทศเบลเยียมหรือบราซิล คุณคงมีแนวโน้มที่จะจำไม่ได้มากกว่าการที่ผมให้คุณวาดรูปทรงของประเทศอิตาลี ถูกไหม? เพราะว่ารูปทรงของมันเหมือนรองเท้าบู๊ท หรืออย่างเช่นในกรณีของประเทศไทย ที่หลายคนชอบบอกว่ารูปทรงของมันเหมือนช้างไง
หรือเวลาที่คุณต้องเลิกรากับใครสักคน แล้วคุณไม่สามารถฟังเพลงบางเพลงที่เคยชอบและฟังด้วยกันในวันเวลาที่มีความสุขด้วยกันเพราะมันเจ็บปวดเกินจะทนไหวนั่นแหละ มันเป็นการที่สมองเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ
The People : จะจำว่ายากแล้ว แต่บางทีจะลืมนั้นยากกว่า ผมเคยได้ยินบางคนกล่าวว่า “ยิ่งพยายามลืม ยิ่งทำให้จำ” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความทรงจำ ถ้าเราอยากจะลืมอะไรสักอย่างให้ได้ คุณคิดว่าเราควรทำอย่างไร
Eran Katz : การที่เราจำอะไรสักอย่างได้มันก็มาจากความที่เราเชื่อมโยง
ฉะนั้นหากเราต้องการจะลืมอะไรสักอย่าง — เช่น แฟนเก่า
เราก็ต้องถอดปลั๊กตัดความเชื่อมโยงเหล่านั้นทิ้งเสีย ซึ่งการจะทำได้มันก็มีหลายวิธีนะ เช่น การจัดการกับอารมณ์ การให้อภัย หรือแม้แต่การเลิกฟังเพลงนั้นไปเสีย หยุดฟังไปเลย หรือเอาทุกอย่างที่ทำให้หวนนึกถึงเขาออกไปให้พ้นหน้าพ้นตาซะ และเราต้องพยายามเชื่อมเพลง ๆ นั้นกับสิ่งใหม่ที่คุณมีความสุข สิ่งใหม่ที่คุณรัก และเมื่อคุณทำมันไปเรื่อย ๆ ภาพจำของสิ่งนั้นที่ยึดโยงอยู่กับอดีตที่คุณอยากลืมจะค่อย ๆ มลายหายไปเอง
The People : คุณพูดถึงเรื่อง ‘การให้อภัย’ ด้วย สิ่งนี้มันจะช่วยลืมได้อย่างไร?
Eran Katz : การให้อภัยเป็นเรื่องยากนะครับ สมมุติถ้าใครสักคนมาทำไม่ดีกับคุณ มันก็ยากที่เราจะไปให้อภัยเขา แต่การศึกษาชี้ให้เราเห็นว่าการให้อภัยมันคือทางเลือกเดียวหากคุณเกลียดใครสักคน เพราะเขาไม่มาสนใจหรอก หากเก็บมันไว้คนเดียวก็เหมือสสุมยาพิษให้ตัวเอง คุณคนเดียวที่ทรมาน
ลองสมมุตินะครับ ไม่ต้องทำจริงก็ได้ แค่ลองนึกในหัวว่าคุณบอกใครสักคนว่า “ฉันให้อภัย” ในคราแรกที่คุณพูดมัน คุณไม่รู้สึกแบบนั้นหรอก คุณไม่ได้เชื่อในคำ ๆ นั้นด้วย แต่เมื่อวันต่อมาคุณทำอีก วันที่สามคุณทำอีก ทำไปแบบนั้น 20 ครั้ง 30 ครั้ง ถึง 40 ครั้ง สมองของคุณจะยอมรับโดยธรรมชาติว่าคุณให้อภัยเขาคนนั้นแล้ว และเขาคนนั้นไม่มีความหมายต่อคุณอีกต่อไป
ดังนั้นการยกโทษ (Forgive) จึงได้เกี่ยวโยงกับการลืม (Forget)
เพราะเมื่อเรา ‘Forgive’ เราจะ ‘Forget’
ผมว่ามันน่าทึ่งนะที่คำภาษาอังกฤษสองคำนี้มันเกี่ยวโยงกัน ไม่เพียงแค่ในรูปคำ แต่ในด้านของผลลัพธ์ของมันด้วย เพราะบางทีเราจดจำสิ่งนั้นแบบลืมไม่ลงเพราะเรามีอารมณ์ให้มันเยอะเกินไปต่างหาก… โดยเฉพาะกับ ‘ความเกลียดชัง’ (Hate), ‘ความโศกเศร้า’ (Sadness), และ ‘ความผิดหวัง’ (Disappointment) และหากคุณลดสิ่งเหล่านี้ลงไปได้ผ่านการให้อภัย คุณก็จะสามารถลืมได้โดยอัตโนมัติ
ณ วินาทีที่คุณให้อภัยใครสักคน คุณจะรู้สึกแข็งแกร่งขึ้นนะครับ คุณจะรู้สึกว่าฉันเป็นคนให้อภัยก่อน ฉันคือคนที่กล้าหาญ
The People : ผมคิดว่าน่าจะมีคนสงสัยว่า ‘ยอดนักจำ’ อย่างคุณ เคยลืมอะไรบ้างหรือไม่?
Eran Katz : ผมเป็นคนลืมบ่อยนะครับ ครอบครัวผมชอบหัวเราะเยาะผมเวลาผมลืมเอาขยะไปทิ้ง คือผมก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่สามารถจำทุกอย่างได้ตลอดเวลา ผมก็ใช้เมื่อจำเป็นน่ะ เช่นเวลาผมต้องไปบรรยายที่ไหน หรือเวลาที่ต้องพบปะผู้คนมากมายและต้องจำชื่อของเขาให้ได้ แต่ก็ใช่ว่าผมจะจำชื่อของพวกเขาไปได้ตลอดหรอกนะ
คนชอบเดินมาหาผมแล้วถามผมว่า “จำผมได้ไหม?” ซึ่งเขาก็หัวเราะเยาะผมเมื่อผม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความทรงจำ ไม่สามารถจำแม้แต่ชื่อของเขาได้ (แต่ผมจำหน้าเขาได้นะ) บางคนถึงขั้นต่อว่าผมเลยนะ ว่าะเป็นนักจำได้ยังไงในเมื่อคุณยังจำผมไม่ได้เลย?
แต่ผมอยากจะบอกว่า ผมก็คนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้พิเศษเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งก็คือการให้อภัยตัวเอง ว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้
The People : คุณคิดว่า ‘ความทรงจำ’ มีความหมายต่อมนุษย์เราอย่างไร?
Eran Katz : ผมคิดว่าความทรงจำคือองค์ประกอบสำคัญของเราในฐานะมนุษย์เดินดินคนหนึ่งนะ ผมตั้งคำถามนะว่าการดำรงอยู่ของมนุษย์จะยังมีความหมายอยู่ไหมหากเราปราศจากความทรงจำ แต่พอคิดไปคิดมาก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า หากเราไม่มีความทรงจำ เราจะไปต่างอะไรจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ A.I.?
ผมมองว่าความทรงเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้กับเรานะ เรามีความรู้สึกเกิดขึ้นมากมายตลอดชีวิตเลย แล้วเสน่ห์ของมนุษย์คือเราสามารถจดจำมันได้แม้มันจะผ่านไปแล้ว คุณลองนึกดูว่ามันน่าเศร้าแค่ไหนสำหรับคนที่ต้องเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์ เขาจำไม่ได้อะไรเลยแม้แต่ลูกของเขา หรือแม้แต่ A.I. ก็ตามที่ประมวลผลตามหลักเหตุผลโดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึก ปราศจากความบกพร่อง
ความทรงจำเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้กับเรา ทำให้เรามีความคิดเห็น ทำให้เรามีการพูดคุยถกเถียง ทำให้ชีวิตของเรามีความน่าสนใจขึ้น ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักร ดังนั้นผมเลยคิดว่านี่แหละความหมายของความทรงจำ…
มันทำให้เราเป็นมนุษย์
ภาพ : Nanmeebooks