‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก

‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก

“มันอาจจะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของศิลปินด้วยซ้ำ ที่เขาจะมีคอนเสิร์ตใหญ่สักครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เขารู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่เขาต้องจดจำ มันคือ moment หนึ่งในชีวิตเขา”

ในปี 2022 โลกทั้งโลกคลี่คลายจากภาวะโควิด-19 หลังจากที่ต้องใช้ชีวิตในแบบ new normal มาร่วม 2 ปี กิจกรรมสาธารณะที่เคยถูกงดเว้น ถูกจำกัด มาถึงวันนี้กลับมาจัดได้ตามปกติ ทั้งคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี ละครเวที ไปจนถึงโชว์ต่าง ๆ

ในมุมหนึ่ง นี่คือบรรยากาศการเฉลิมฉลองของผู้คน โดยเฉพาะงานคอนเสิร์ตที่หายไปพักใหญ่ พอเห็นโชว์ของศิลปินที่คิดถึง ก็ชวนเพื่อนฝูงไปดูกัน

แต่ในอีกมุม มันคือความท้าทายของผู้จัดคอนเสิร์ต เพราะหลังจาก ‘อั้น’ กันมานาน ช่วงครึ่งปีหลังมีงานคอนเสิร์ตผุดขึ้นมากมายระดับหลักร้อยงาน ผู้จัดคอนเสิร์ตจึงต้องคิดหากลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลายเพื่อช่วยดึงดูดให้คอนเสิร์ตของตนน่าสนใจยิ่งขึ้น

GMM SHOW ของ ‘แกรมมี่’ คืออีกหนึ่งโปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ตที่เชื่อรสมือได้ว่า ในหลายปีที่ผ่านมา โชว์ของเจ้านี้เชื่อถือได้ในความสนุกไปจนถึงความละเมียดในการโชว์ที่สามารถดึงตัวตนของศิลปินออกให้คนดูรัก จนกลายเป็นคอนเสิร์ตที่ประสบความสำเร็จ 

โชว์ของแกรมมี่ที่เพิ่งผ่านไปในปีนี้ ก็ได้แก่คอนเสิร์ต ‘ตัน Fight ตัน Variety Concert’ นำโดย โอ๊ต ปราโมทย์ และ ป๊อบ ปองกูล เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านไปด้วยดี ทั้งยังมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของ ‘ก้อง สหรัถ’ ‘KONG SAHARAT IN MY LIFE CONCERT’ ในเดือนกันยายน และเทศกาลดนตรี ‘นั่งเล่น MUSIC FESTIVAL 6’ ปลายปีนี้ที่หลายคนรอคอย

หนึ่งในมันสมองหลักในการคิดคอนเสิร์ตของ GMM SHOW ก็คือ ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์ ผู้อำนวยการฝ่าย - ควบคุมการผลิต showbiz ของ GMM SHOW

ป๊อปทำงานในสาย showbiz มามากกว่า 20 ปี ผ่านการมีส่วนร่วมในการจัดงานคอนเสิร์ตมาร่วม 100 คอนเสิร์ต

และนี่คือเคล็ดลับที่เขาจะมาเล่าให้ฟังว่าเบื้องหลังแนวคิดการทำงานแบบไหน ถึงทำให้รสชาติคอนเสิร์ตของแกรมมี่ ‘ทัชใจ’ คนดูเสมอมา ‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก

The People : หลังจากที่โควิด-19 คลี่คลาย ช่วงปลายปี 2565 มีคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีผุดขึ้นมาเป็นร้อยงาน ทาง GMM Show เตรียมรับมืออย่างไร

ศักดิ์สกุล : สถานการณ์ตลาด showbiz คึกคักมาก ทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศเข้ามาเปิดคอนเสิร์ต ทั้ง solo และ festival ครึ่งปีหลังนี้ (2565) น่าจะทำให้ภาพรวมตลาด showbiz โตมาก ๆ เป็นเรื่องดีที่ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกคอนเสิร์ตหรือสนับสนุนศิลปินที่เขาชอบมากที่สุด หรือจะเป็น festival ที่เน้นบรรยากาศ ผู้บริโภคก็จะเลือกได้ว่า ชอบภูเขาหรือทะเล หรือชอบไปต่างจังหวัด ก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบ เป็นเรื่องดีที่ซัพพลายเออร์ได้กลับมาทำงานอย่างเต็มรูปแบบหลังจากที่หยุดพักยาว ๆ ไปในช่วงโควิด-19 เป็นเรื่องดีที่ศิลปินได้มีเวทีแสดงความสามารถและได้พบปะแฟนเพลงตามงานต่าง ๆ มากขึ้น ในช่วงคอนเสิร์ตและ festival เยอะในช่วงปลายปีนี้ ทางแกรมมี่ไม่ได้ต้องแก้เกมอะไรมาก เราทำตามแพลนปกติ แต่บางคอนเสิร์ตอาจจะมีปรับหรือเพิ่มความน่าสนใจให้มากขึ้น เพื่อให้งานของเรามีความแตกต่างและดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อบัตรเรานั่นเอง

ทีม reseach ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลต่าง ๆ มาช่วยเราวางแผนเรื่องการโปรโมตให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทีม marcom ก็มีการปรับแผนการโปรโมตตามสถานการณ์ และให้รายละเอียดความพิเศษของคอนเสิร์ตมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจมาซื้อบัตรให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ ทีม creative ก็มีการประชุมกันเพื่ออัปเดตสถานการณ์และคู่แข่งที่จัดงานในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน เพื่อสร้างความแตกต่างและความน่าสนใจโดยรวม ทุกทีมได้มีการประชุมอัปเดตกันตลอด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนด

The People : ที่มาที่ไปก่อนที่จะมาเป็น event organizer

ศักดิ์สกุล : เรียนจบที่…สมัยก่อนมันจะเป็นวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึงที่ราชบุรีนะครับ ที่วิทยาลัยครู สมัยก่อนก็จะเป็นคณะวิทยาการจัดการ แล้วก็มีเอกนิเทศศาสตร์ขึ้นมา ก็เรียนนิเทศฯ มา เสร็จปุ๊บในช่วงที่เรียนคือนิเทศฯ มันก็จะมีสื่อมวลชนหลายแขนงใช่ไหมครับ มีประชาสัมพันธ์ มีนักหนังสือพิมพ์ มีทีวี พอเรียนไป เราก็อยากรู้ว่า เฮ้ย! จริง ๆ แล้วอาชีพหนังสือพิมพ์ อาชีพวิทยุ อาชีพทีวีมันทำอย่างไร ก็เลยเริ่มตั้งแต่ปี 1 ก็ฝึกงาน ปี 1 ก็ไปฝึกงานที่เทศบาลที่ราชบุรี ก็อยู่ในตำแหน่งประชาสัมพันธ์ ปี 2 ก็ฝึกอยู่ที่ Smile TV สมัยก่อนที่เป็น Cable TV นะครับ แล้วปี 3 ก็ฝึกที่ทีวีพูล พอปี 4 ปี 4 ก็รู้สึกว่า จริง ๆ แล้วประชาสัมพันธ์ ทีวี หนังสือ เรารู้แล้วอะไรอย่างนี้ก็เลย...ตอนนั้น Bakery Music ดังมาก ยุคแรก ๆ เลย เราก็เลยทำเรื่องขอมาฝึกที่ Bakery Music ก่อน ที่ Bakery Music ก็รับมาเป็นเด็กฝึกงาน ฝึกในตำแหน่งประชาสัมพันธ์ ฝึกประมาณ 4 เดือนก็จบ แล้ว Bakery Music เขาก็เลยรับเป็นพนักงานต่อ ตอนนั้นตำแหน่งที่ได้รับก็คือเป็น AR ก็คือเป็นคนดูแลศิลปิน ก็ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว

เสร็จปุ๊บเราก็รู้สึกว่า คือเราก็อยากทำอะไรที่มันมากกว่าดูแลศิลปิน ก็เลยย้ายไปทำแผนกประชาสัมพันธ์ที่ Bakery Music ก็เลยทำ PR อยู่ที่ Bakery มาประมาณหลายปีพอสมควร จนประมาณ 5 ปี พี่ที่ Atime ก็ชวนไปทำที่ Atime พอไปอยู่ Atime ตอนแรกก็เป็น activity ในคลื่นก่อน สมัยก่อนทุกวิทยุมันจะมี activity เล็ก ๆ ของเขา ก็ไปทำอยู่ประมาณหนึ่งปี แล้วก็พี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) ก็เลยบอกว่า จริง ๆ แล้วธุรกิจ showbiz สามารถทำเงินได้ เพราะว่าก่อนหน้านั้นอย่างทำ Atime ก็จะมีกรีนคอนเสิร์ต ที่เป็นคอนเสิร์ตขายบัตรอยู่ตัวเดียวใช่ไหมครับ เขาก็เลยรู้สึกว่า งั้นก็ดึงป๊อปออกมาจากเป็น activity คลื่น มาเปิด BU ใหม่ไปเลย แล้วก็ทำเป็น showbiz จริงจังไปเลย ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ showbiz ของตัวเองมาตั้งแต่ตอนนั้น ตอนนั้นที่ทำถ้าจำไม่ผิดคอนเสิร์ตแรกที่ทำก็จะเป็นไมโคร Reunion เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ประมาณปี 2546

Showbiz เป็นธุรกิจได้ มันไม่ใช่แค่ activity คลื่น คือปกติ activity คลื่นมันจะฟรีสำหรับคนที่ฟังวิทยุ แต่ถ้าเป็น showbiz จริง ๆ คนดูต้องเสียเงินในการมาดูพอทำไมโครแล้วประสบความสำเร็จ ก็เลยทำคอนเสิร์ตมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่คิ้ม Snow Kim ตอนนั้นมีโก๊ะตี๋ มีคอนเสิร์ตพี่เจ ติ๊นา มอส นั่นนี่คือมากมายก่ายกอง ป๊อปก็เลยอยู่ที่ Atime มาประมาณ 10 ปีครับ ก็ทำคอนเสิร์ตมาเรื่อยตั้งแต่ Day 1 ที่เข้า Atime 

‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก The People : จาก Atime แล้วไปที่ไหนต่อ

ศักดิ์สกุล : พอครบ Atime 10 ปี ก็ไปนิวยอร์ก ไปแบบไม่รู้อะไรเลย ไปคนเดียว ก็คิดว่าเออไม่น่าจะเหมาะกับเราอะไรอย่างนี้ครับ ด้วยภาษา ก็เลยกลับมาอยู่ที่ ก็รู้จักกับคุณกรณ์ (กรณ์ ณรงค์เดช) คุณกรณ์ก็เลยชวนไปอยู่ KPN ทำเป็นประกวดร้องเพลงตอนนั้นของ KPN ครับ ก็อยู่กับ KPN ประมาณ 1 ปีนะครับ แล้วก็หลังจากนั้นก็พี่ตี่ (กริช ทอมมัส) กับพี่เล็ก - บุษบา (บุษบา ดาวเรือง) ก็ชวนกลับมาอยู่ที่แกรมมี่ ก็เลยกลับมาอยู่ที่แกรมมี่ ตอนแรกที่กลับมาแกรมมี่ก็คือทำรายการทีวีเป็นรายการประกวด G-Junior ช่วยเขาทำรายการเสร็จปุ๊บ พี่ตี่เขาก็เลยให้เปิดค่ายวัยรุ่น 1 ค่ายขึ้นมา ชื่อ G.iD ตอนนั้นนะครับ ก็มีศิลปินอยู่ประมาณ 2 เบอร์ พอแกรมมี่มีการเปลี่ยนโครงสร้างไปมา ๆ ก็เลยคิดว่า ค่ายเพลงเราอาจจะไม่เหมาะ เพราะว่าเราไม่ได้มาสายทำ Idol มาโดยตรง แล้วก็ที่แกรมมี่เอง เขาก็มีแผนกที่เป็น showbiz ส่วนกลางอยู่เหมือนกัน เขาก็เลยงั้นให้ป๊อปกลับมาทำ showbiz ดีกว่า

The People : ทำงาน showbiz กับแกรมมี่รอบนี้ต่างจากรอบแรกอย่างไร

ศักดิ์สกุล : จริง ๆ รอบแรก ส่วนมากจะเป็นพี่ฉอดนำ คือพี่ฉอดตอนเวลาทำคอนเสิร์ตพี่ฉอดจะเป็นคนคิด script เป็นคนคิดโชว์ ส่วนป๊อปจะมาขยายสิ่งที่พี่ฉอดคิดออกมาให้มันเป็นคอนเสิร์ตจริง ๆ มากกว่า เพราะฉะนั้นก็คือไม่สามารถจะเคลมได้ว่าอะไรที่เป็น landmark แต่ว่าถ้าเป็นคอนเสิร์ตที่ทำแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! แบบประทับใจมาก ๆ ก็น่าจะเป็น The Return of Green Concert ใหม่ เจริญปุระ ตอนนั้นจัดที่ Impact Arena ก็รู้สึกว่ามันเป็นสเกลใหญ่ แล้วก็ใช้เงินเยอะที่สุดในยุคนั้นที่เราทำกัน แล้วก็มี Joe & J The Brothers มี Snow Kim มีโก๊ะตี๋  มีใหม่ - ติ๊นา เจ - ติ๊นา - ใหม่ - โดม อะไรอย่างนี้ครับ ส่วนมากจะเป็นสเกลจัดที่ Impact Arena ถ้ารู้สึกว่าเออเป็นงานที่ตัวเองประทับใจอะไรอย่างนี้ อันนั้นคือในยุค Atime นะครับ

ยุคต่อมา อันนี้จะเป็นในส่วนของเรารับผิดชอบ 100% แล้วนะครับ เราคิดตั้งแต่ concept คิดตั้งแต่ script โชว์จนถึง brief ทุกส่วนไม่ว่าจะเป็น Music Director, Choreographer, Costume เสื้อผ้า คืออันนี้คือเราแทบจะคิด 100% ถือว่าถ้าเป็นคอนเสิร์ตที่ประทับใจ ป๊อปว่ามันจะมีประมาณ 2 - 3 งาน งานหนึ่งน่าจะเป็น นันทิดา’17 ที่กลับมาอีกรอบ คืองานนั้น เรารู้สึกว่าเป็นคอนเสิร์ตที่มินิมอลมาก แล้วก็ตัวพี่ตู่เองก็มีความ…เขาก็ชอบมินิมอลอยู่แล้วใช่ไหมครับ งานนั้นจัดที่ GMM Live นะครับ แล้วป๊อปก็ห่อ GMM Live ด้วยผ้าขาวทั้ง hall

ห่อด้วยผ้า ผ้าสีขาว จับจีบสวยงาม คือเรารู้สึกว่า concept ของพี่ตู่ คือพี่ตู่เขามีเพลงหนึ่งชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ส่วนตัว เราก็เลยคิด concept คุยกับพี่ตู่ว่าพี่ตู่จริง ๆ งานนี้ป๊อปรู้สึกว่าเวลาคนเข้ามาใน hall คอนเสิร์ต ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าเป็นคอนเสิร์ต แต่มันคือพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของพี่ตู่ เพราะฉะนั้นเวลาเราไปพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นแบบฉากขาวไปก่อน แล้วก็จะมีรูปมีอะไรติดประมาณนี้ ก็เลยบอกพี่ตู่ เลยกลายเป็น concept เพราะฉะนั้นเราก็เลยห่อทั้ง hall เป็นผ้าสีขาวหมด เวลาคนเดินเข้าไป เขาจะรู้สึกแบบ เฮ้ย! มันคือสิ่งที่แปลกตาสำหรับเขา บนเวทีเราก็มีผ้าขาว เป็นฉากขาวเหมือนกัน แล้วก็เราใช้โปรเจกเตอร์ยิง scene นั้นเป็น scene ประทับใจมาก คือพี่หนึ่ง - จักรวาลเล่นเปียโนอยู่ พี่ตู่ยืนร้องเพลงอยู่แค่นั้น แล้วก็ background คือดอกไม้ดอกเดียว ซึ่งอันนั้นคือแบบรู้สึกมินิมอลมาก แล้วเรารู้สึกว่ามันดูเป็นฝรั่งมาก คือชอบมากอะไรอย่างนี้ครับ 

‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก แล้วก็โชว์ที่ถ้าเอาอลังการจริง ๆ ก็น่าจะเป็นเป๊ก - ผลิตโชค The Final Odyssey ที่ Impact Arena เหมือนกัน อันนี้ก็ใช้งบประมาณไปเกือบ 40 ล้านบาท แต่ก็อลังการแบบจริงจังมาก แล้วทุกคนก็ชื่นชม เราก็ เออ…เรารู้สึกดีใจ 

ตอนที่ทำคอนเสิร์ตเป๊กครับ คือเราคิดเป็นคอนเสิร์ตซีรีส์ของเป๊ก 3 ปีซ้อน คือเราวางแพลนไปเลยว่าเราอยากมีแบบเหมือนไตรภาคของคอนเสิร์ตเป๊กอะไรอย่างนี้ครับ มันก็เลยวางเป็นซีรีส์มา ตั้งแต่พอเป๊กเขาเป็นหน้ากากจิงโจ้ในรายการ The Mask Singer (ปี 2560) ออกมาเขาก็มีกระแสใช่ไหมครับ เราก็เลยจัดคอนเสิร์ตครั้งแรกชื่อว่า First Date ก็คือเหมือนกับว่า คนอาจจะเจอเป๊กตาม event หรือในอะไรอย่างนี้ แต่ว่าไม่เคยเดตกันจริง ๆ งั้นคราวนี้เราก็จัดเดตกันจริง ๆ อันนี้ก็เป็นครั้งแรก พอปีที่ 2 เราก็รู้สึก เฮ้ย! พอเดตกันแล้วเริ่มมีความผูกพันกันแล้วมันคือ LOVE IN SPACE ก็คือเหมือนกับว่าความรักมันอยู่ในอากาศ ในพื้นที่ ในทุกที่ มันคือความรักที่แฟนคลับกับเป๊กเขามีให้กัน มันก็เลยกลายเป็น concept เป็น LOVE IN SPACE แล้วก็พอสุดท้าย ครั้งสุดท้ายที่ Impact Arena คือเรารู้สึกว่า เวลาคนรักกันแล้ว มันก็น่าจะหยุดแล้ว ไม่ต้องแบบ ไม่ไปควานหาใครแล้ว มันคือแบบ มันเจอคนที่ใช่แล้ว มันก็คือ Final Odyssey ก็คือเหมือนการผจญภัยครั้งสุดท้ายที่มันได้เจอคนที่ใช่แล้ว 

เลยเป็นซีรีส์ของเป๊ก 3 ปีซ้อนอย่างนี้ ก็รู้สึกว่า ในมุม production เอง เราก็รู้สึกว่าเราประทับใจ ป๊อปรู้สึกว่าประทับใจคนดูมาก คือมีอยู่ครั้งหนึ่งปีที่ 2 ที่ Impact Arena คือเราก็ไถ Twitter มีน้องแบบโพสต์ว่าพี่เป๊กรอหนูแป๊บหนึ่งนะ หนูกำลังนั่งรถไฟไปจากต่างจังหวัดอะไรอย่างนี้ แล้วก็คือถ่ายรูปชานชาลาแบบสถานีรถไฟ คือแบบ นี่นั่ง ๆ อยู่แล้วคือน้ำตาไหลเลย เราก็บอกเป๊กว่า เออเป๊กนี่คือแบบ you ต้องทำให้ดีที่สุดนะ เพราะว่านี่คือคนที่เขามาดู นี่คือแบบเขาตั้งใจมากอะไรอย่างนี้  มันก็เลยรู้สึกว่านอกจากความประทับใจในแง่ของที่เราจัดงานแล้ว เรารู้สึกว่ากับคนดูเขาเต็มที่กับศิลปินจริง ๆ เขาตั้งใจมาดูจริง ๆ 

อีกงานจะเป็นตอนที่ทำคอนเสิร์ตนิว - จิ๋ว ก็คือตอนนั้นนิว - จิ๋วก็ทำคอนเสิร์ต 3 ปีเหมือนกัน แต่ว่าสเกลจะไม่ได้ทำเป็นคอนเสิร์ตซีรีส์ แต่ว่าตอนนั้นทำเพราะว่านิว - จิ๋วเขาก็มีกระแส มีอะไรอย่างนี้ครับ เรารู้สึกว่า นิว - จิ๋ว story คือเขาออกมาจาก The Star แล้วเขาเงียบไป จน ณ วันหนึ่ง เขากลับมาดังอีกทีหนึ่ง กับเพลงคนเจ้าน้ำตา คือเราเลยรู้สึกว่าเวลาเราฟังเรื่องของเขา เออ… เรารู้สึกอิน แล้วเวลาเราทำคอนเสิร์ตน่ะ มันเป็น story ของเขาจริง ๆ แล้วคนดูก็ touch คือเปิด scene มาด้วยแบบมี commentator มานั่ง 3 คนบนเวที เหมือนจำลอง The Star แล้วก็เล่าเรื่องชีวิตของเขามาตั้งแต่วันที่เขาประกวดหรือ flashback กลับไปตั้งแต่เขายังเป็นเด็กอยู่ จน ณ วันนี้เขาต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง มันเป็นแบบ based on the true story concert จริง ๆ ก็เลยรู้สึก เออมันไม่ได้เหมือนคอนเสิร์ตบางคอนเสิร์ตที่เราปั้นแต่งมันขึ้นมา แต่นี่มันคือชีวิตของเขา แล้วเราทำแบบมาร้อยเป็นเพลง มาร้อยเป็นเรื่องอะไรอย่างนี้ อันนี้ก็รู้สึกว่าประทับใจครับ

‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก The People : เบื้องหลังวิธีคิดในการทำคอนเสิร์ต เริ่มต้นจากอะไร

ศักดิ์สกุล : ก่อนจะทำคอนเสิร์ต ป๊อปรู้สึกว่าเราต้องคุยกับศิลปิน เราต้องรู้จักเขาก่อน ต้องรู้จักศิลปินให้ได้เยอะที่สุด เราต้องนั่งคุยกับเขา คือเราเป็นคนกลางระหว่างศิลปินกับคนดู เราจะทำให้คน 2 กลุ่ม connect กันได้อย่างไร อันนี้คือหน้าที่ของเรา เวลาเราทำคอนเสิร์ต เราก็ต้องแคร์คน 2 กลุ่มนี้เสมอ ศิลปินเองเราก็ต้องนั่งคุยกับเขาว่าความต้องการของเขาคืออะไร เขาอยากทำอะไร เขาคิดว่าตัวเขาอยากเป็นอย่างไร  คือเราต้องนั่งคุยกับเขา ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไป research กับคนดูเหมือนกันว่า คนดูอยากดูอะไรกับศิลปินคนนี้ แล้วก็ค่อยตีออกมาเป็น concept ในการเล่าเรื่องว่าเราอยากจะเล่าคอนเสิร์ตนี้ภายใน 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง เราอยากจะเล่าอะไรให้กับคนดู ดูแล้วประทับใจ

อย่างตอนที่ทำ Getsunova เราก็นั่งคุยกับเขา เนมก็บอกว่า เออ…ผมชอบดูหนัง ผมอยากให้คอนเสิร์ตนี้เป็นเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง เราก็โอเค ก็เลยไปนั่งคิดต่อว่า เอ๊ะ! เราจะทำอย่างไรดี ก็ปรากฏว่าไอ้คำว่า Getsunova มันแปลว่าดวงจันทร์ เราก็เลยรู้สึก อ๋อ โอเค งั้นเราเอาอย่างนี้ดีกว่า ก็คือแบบการที่ Getsunova คือดวงจันทร์ คนดูคือโลก มันมีชั้นบรรยากาศ 4 ชั้นที่จะ connecting กัน เราก็เลยใช้ชื่อคอนเสิร์ตว่า Atmosphere เราก็เลยเล่าถึงชั้นบรรยากาศของพื้นผิว ของชั้นบรรยากาศที่ 1, 2, 3, 4

มันก็เลยกลายเป็นหนัง เราก็เลย โอเค งั้นเราเริ่มจาก Chapter ที่ 1 ก็คือเครื่องสตาร์ทจนแบบว่าลอยแล้วก็บินมา บินมาจนมา landing ที่โลก มันก็กลายเป็น 4 Chapter ก็เลยเหมือนหนังอะไรแบบนี้ คือพอมันได้ concept ขึ้นมาปุ๊บ เราก็มาแตกโจทย์ต่อ ก็คิดต่อว่า เอ๊ะ! จะทำอย่างไรดีให้มันรู้สึกว่าได้สิ่งที่ศิลปินต้องการ เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันคือ มันอาจจะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของศิลปินด้วยซ้ำ ที่เขาจะมีคอนเสิร์ตใหญ่สักครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เขารู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่เขาต้องจดจำ มันคือ moment หนึ่งในชีวิตเขา ส่วนคนดูก็เหมือนกัน เราก็ต้องแบบ... เขาอาจจะได้เห็นศิลปินคนนี้ได้ขึ้นเวทีใหญ่ครั้งแรกและครั้งเดียวเลย เราต้องทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย! คนดูเขารักศิลปินมากขึ้นอะไรอย่างนี้ เราคือคนกลางที่เป็น connecting กันระหว่างศิลปินกับคนดูให้มาเจอกัน

The People : อะไรคือ key success ของโชว์แต่ละโชว์ของเรา

ศักดิ์สกุล : จริง ๆ ป๊อปว่าศิลปินเลย คือเป็นที่คน โดยส่วนตัวคิดว่าความอลังการเป็นเรื่องที่แบบเฉยมาก ๆ คือวันนี้เราทำคอนเสิร์ตยิ่งใหญ่มาก อาจจะใช้เงินประมาณ 40 ล้าน พรุ่งนี้ก็อาจจะมีคนใช้เงิน 50 ล้าน มะรืนอาจจะมีคนใช้เงิน 60 ล้าน คือสร้างความยิ่งใหญ่ตลอดเวลาอะไรอย่างนี้ แต่ once ว่าศิลปินคนหนึ่งไม่ต้องมีอะไรเลย แต่เขาสามารถทำให้คนดูประทับใจได้ ป๊อปเชื่อเสมอว่าความประทับใจมันไม่มีการลืมเลือนแน่นอน เพราะฉะนั้น key to success ของคอนเสิร์ตอันดับแรกเลยอยู่ที่ตัวศิลปินเลยว่าเขาจะทำได้เต็มที่ หรือเขาจะสามารถดึง moment กับคนดูได้มากกว่าน้อยขนาดไหน

‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก The People : คนทำงานแบบนี้ เรามีความรู้สึกว่าต้องมี mindset ความเป็น perfectionist ไหม

ศักดิ์สกุล : ไม่เลย คือยิ่ง perfect เท่าไร ยิ่งเครียดและกดดัน ทุกงานทุกอย่างมันมีความผิดพลาดอยู่แล้ว แม้กระทั่งแบบไฟเสีย ไมค์ไม่ดังอะไรอย่างนี้ คือมันไม่มีความ perfect ในงานอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราทำให้มันดีที่สุดแค่นั้นเอง คือป๊อปเคยทำ Potato Live ที่ Thunder Dome ครั้งหนึ่ง คือมันเป็น scene ที่แบบเปิดตัววงด้วยฉายโปรเจกเตอร์ทับไปกับปั๊บ มันจะเป็นเหมือน…เป็นผ้าขาวใช่ไหมครับ เป็นเหมือนผ้าที่มันแบบโปร่งแสง แล้วเราก็ฉายโปรเจกเตอร์ไป มันก็จะเป็นเหมือนควันออกมา คือตอนนั้นโชว์ของ Potato concept มันก็คือ energy เราก็รู้สึกว่า เออ…แบบเวลาปั๊บออกมามันควรจะต้องเหมือนมีความแบบกระพืออะไรออกมาสักอย่าง คือ scene นั้นเป็น scene เปิดตัววง Potato ซึ่งเราซ้อมกันมาประมาณ 10 รอบ แล้วแก้กราฟิกเยอะมาก แต่ ณ วันที่แบบ 5-4-3-2-1 ปุ๊บ ปั๊บออกมาแล้วโปรเจกเตอร์ไม่ติด ก็คือไม่ติดเลยทั้งเพลง แล้วก้อนนั้นมันต้องใช้ scene โปรเจกเตอร์ประมาณ 3 เพลง ไม่ติดสักเพลงเลย คือ โห ใจแบบแป้วไปแล้ว เราซ้อมกันมาเยอะมาก เราแก้กันมาเยอะมาก เหมือนป๊อป blank ไปประมาณเป็นครึ่งชั่วโมงเลย คือรู้สึกแบบ failed มาก แต่สุดท้ายเราก็ต้อง เฮ้ย! ลุก The show must go on เราก็ต้องแบบ run เพลงกันต่อไป

หลังจากงานนั้น คือก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ เพียงแต่ว่า เอ๊ะ! เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ตัวศิลปินเองก็เหมือนกัน คืออย่างตอนทำคอนเสิร์ตนิว - จิ๋ว - อ๊อฟ คืออยู่ดี ๆ ไมค์อ๊อฟไม่ดังอย่างนี้ แต่อ๊อฟมันก็คือเก่ง มันก็บอกว่าขอเบรกบนเวทีเลยอย่างนี้ คือร้อง ๆ อยู่แล้วไมค์ไม่ได้ ถ้าเป็นคนอื่นก็คือจะ run ไปเรื่อย ๆ จนจบใช่ไหม เออ…อ๊อฟก็ยกมือขึ้นเลย พี่หยุด ทุกคนก็งง คนดูก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เรารู้อยู่แล้วว่าไมค์มันไม่ดัง อ๊อฟก็เบรกเลยขอเปลี่ยน ซึ่งก็กลายเป็น scene ตลกขึ้นมา คือคนดูหัวเราะ เพราะว่านึกว่ามันเป็นมุก แต่จริง ๆ แล้วมันคืออุบัติเหตุ ซึ่งเรารู้สึกว่านี่แหละ คือถ้ามันเกิดความที่มันไม่ perfect ขึ้นมาจริง ๆ เราก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหากันไป เพราะฉะนั้นคือห้ามยึดติดกับความเป็น perfectionist ทุกอย่าง ต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ แต่ว่าสุดท้ายคือเราต้องทำให้ดีที่สุด

vibe รวมต้องดี มวลรวมต้องดี คนดูต้องรู้สึกว่าเวลา คือป๊อปจะคิดเสมอว่าเวลาเราทำโชว์ เราอยากให้คนดูกลับบ้านไป ให้เขารู้สึกประทับใจให้ได้ มันคือจุดสำคัญของคนทำโชว์มากกว่าอะไรเลย

‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก The People : กว่าเราจะตกผลึกความคิดเรื่องนี้ก็ผ่านไปหลายโชว์แล้วใช่ไหม

ศักดิ์สกุล : จริง คือมีเครียดเหมือนกันนะ คืออย่างเวลาเราทำคอนเสิร์ต มันคือคนที่รับผิดชอบคือเรา คนดูชอบไม่ชอบคือเรา เราเป็นคนทำให้คนดูชอบหรือไม่ชอบ ศิลปินเขาก็รับผิดชอบหน้าที่คือบนเวที แต่ว่าคนที่ต้องรับผิดชอบ 100% น่ะคือเรา เพราะฉะนั้นมันจะเป็นความกดดันมาก บางงานพอ run through แล้ว มีการแก้กันแบบ ป๊อปประชุมนานที่สุดคือเสร็จกันประมาณตี 4 ของวันศุกร์ เพื่อจะแก้ให้วันเสาร์ให้ perfect ที่สุดดีที่สุด แม้กระทั่งการรื้อ script ใหม่อย่างนี้ก็มี คือเรารู้สึกว่า เออ…มันเป็นความรับผิดชอบของเรา ถ้าเราสังเกตคือเขาไม่ค่อยด่าศิลปินอยู่แล้ว เพราะว่าเขามาดูศิลปินที่เขารักอยู่แล้วถูกไหมครับ แต่ว่าถ้ามันคนดู ดูแล้วจบก็คือจบไปอะไรอย่างนี้ อันนี้คือความ falied ของเรา แต่ถ้าคนดู ดูแล้วรู้สึก โอ้โห! แบบคนนี้ดีจังเลย ร้องเพลงเพราะจังเลย เลือกเพลงมาดีจังเลย นั่นนี่นู่น อันนี้คือจะเป็นความภูมิใจของเรามากกว่า

The People : 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีส่วนร่วมในการทำคอนเสิร์ตกี่คอนเสิร์ตแล้ว

ศักดิ์สกุล : ป๊อปว่าน่าจะมีเกือบ ๆ ร้อย ทั้งสเกลใหญ่ แล้วก็สเกลเล็กครับ น่าจะเกือบร้อยแล้ว

The People : ในใจตอนนี้  ถ้าอยากจัดคอนเสิร์ตให้ใครสักคน อยากจัดให้ใครมากที่สุด

ศักดิ์สกุล : ใครดี อยากจัดใครเหรอ จริง ๆ ป๊อปอยากจัดพี่ใหม่ -เจริญปุระนะ คือพี่ใหม่คือประทับใจมาก คือป๊อปรู้สึกว่าเขามี discipline มาก เขาเป็นคนมีวินัย เป็นคน entertainer ที่หาตัวจับยากมาก เรารู้สึกว่า ถ้าจะทำให้พี่ใหม่น่าจะสนุกแล้วก็ได้มีมุมมองอะไรแบบใหม่ ๆ น่าจะเป็นพี่ใหม่ แล้วเขาก็ไม่ได้มีคอนเสิร์ตใหญ่นานมากด้วยนะ ก็เลยคิดว่าน่าจะอยากชวนพี่ใหม่ทำคอนเสิร์ตอะไรอย่างนี้

‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก The People : เบื้องหลังวิธีคิดทางการตลาดในการทำ showbiz ของแกรมมี่

ศักดิ์สกุล : คือป๊อปว่ายุคนี้มันเป็นยุคที่มันมี segmentations มากขึ้นใช่ไหมครับ เวลาเราทำคอนเสิร์ต เราต้องรู้ว่าเราจะสื่อสารกับใคร เราจะคุยกับใคร เขาคนกลุ่มนั้นอยู่ที่ไหน อย่างไร ซึ่งโชคดีมากที่ทางแกรมมี่เอง GMM Show เองก็วางระบบไว้ดีในแง่ของเรามีแผนก research เรามีทำ CRM การเก็บ database ของทุกคอนเสิร์ตของทุกงานที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็น festival อะไรแบบนี้นะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองมันเลยเป็นประโยชน์ในการทำการตลาดในการสื่อสาร เพราะว่ายุคนี้คู่แข่งมันเยอะ คู่แข่งหมายความว่าคอนเสิร์ตมันชนกันเยอะ เราก็ทำของเราในบ้านกันเอง ไหนจะต่างประเทศก็มากมาย แต่คราวนี้พอเรามี data พวกนั้นอยู่แล้ว ก็เป็นข้อมูลที่ดีในการที่เรารู้ว่า เฮ้ย! เราจะยิง Facebook ไปที่คนกลุ่มนี้ ที่เป็น target เราได้อย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะ converse เป็นบัตรได้ ทำอย่างไรเขาถึงจะมี engage ทำอย่างไรเขาถึงจะ interest แล้วก็สนใจ 

เพราะว่าจริง ๆ level ของคนที่เข้ามา อย่างแรกเลยคือโอเคเขาเห็นแล้ว ก็คือ aware ก่อน พอ aware เสร็จปุ๊บ ก็เริ่ม interest สนใจเสร็จปุ๊บก็เริ่มมี engage แล้ว engage ก็คือการแท็กเพื่อนนั่นนี่นู่นก็ว่ากันไป เสร็จปุ๊บ พอ engage คราวนี้มันก็อยู่ที่ว่าความรู้สึกเขาคือซื้อไม่ซื้ออยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพลิกอย่างไรให้เขาแบบ ความที่แบบซื้อไม่ซื้อ ๆ ซื้อเถอะอย่างนี้ มันก็เลยทำให้พอเรามี BU ที่เป็นเรื่อง data  มันก็เลยช่วย กับในแง่ของ media ที่เราใช้เอง ก็มีทาง marcom เองก็มีทั้ง PR ที่โปรโมตผ่านสื่อแมสปกติก็มี แล้วก็มีทั้ง direct ไปถึงแฟนคลับของศิลปินก็มี มี social media ที่ค่อนข้างแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น Facebook ไม่ว่าจะเป็น Twitter หรือ IG คือตอนนี้เหมือนกับความชอบของคนมันหลากหลายมากขึ้น มันค่อนข้างกระจาย เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นว่าคนไหนเป็น target แล้วเรายิงตรงไปที่เขา อันนี้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันก็เลยสูงครับ

The People : จัดมา 100 คอนเสิร์ตแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่เราก็ปล่อยออกไปเยอะ เราหา input เพิ่มอย่างไรบ้าง

ศักดิ์สกุล : สมัยก่อนไปดูงานบ่อย ตอนอยู่กับพี่ฉอดก็ไปดูคอนเสิร์ตบ่อย ๆ แต่หลัง ๆ  ใช้วิธีดูหนัง แล้วก็เข้าเพจต่าง ๆ มากกว่า คือเหมือนกับว่า พอเราทำมาเยอะ มันจะเริ่มมีความซ้ำ ๆ แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่อยากได้ inspired จากคอนเสิร์ตของคนอื่น เราอยากเป็น unique ของเรามากกว่า เพราะฉะนั้นคือการที่เราดูหนัง เราได้ inspired มาจากหนัง หรือแบบ art di(rector) มาจาก key visual ของหนัง มันรู้สึก art ดีอะไรอย่างนี้ 

The People : คอนเสิร์ตที่เราคาดหวังว่าทำแล้วคนดูเยอะปรากฏว่าบัตรไม่วิ่ง เราแก้สถานการณ์อย่างไร

ศักดิ์สกุล : เรื่องบัตรไม่วิ่งป๊อปว่าเป็นเรื่องปกติ มันเป็นเรื่องปกติ ปกติที่ไม่ปกติ เราก็ไม่คิดว่าบัตรมันจะไม่เดิน แต่จริง ๆ The show must go on ขาดทุนก็ทำ คือเพราะว่าบางทีเราทำเพื่อความรู้สึกศิลปินก็มี อย่างที่บอกว่ามันคือครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของเขาก็มี หรือคนดูที่ถึงแม้ว่าจะน้อยแต่เขาก็ตั้งใจมาแล้วที่เขาอยากดู เราก็ต้องทำ เพราะคือเราพอเป็นบริษัท ก็ไม่มีใครอยากทำงานขาดทุน แต่ถ้ามันจำเป็นต้องขาดทุน แต่ว่ามันยังรักษาคนดูไว้ได้อย่างนี้คือเราก็ต้องทำ ที่ทำ ๆ มาก็มีหลายงานเหมือนกันที่ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องรายได้ แต่เรารู้สึกว่าเราไปได้ใจคนดูมากกว่า เราก็ยังทำเต็มที่ ไม่ได้หมายความว่า เราจะลดทอนลง เราไม่ได้ลด production ลงอย่างนี้ ก็ไม่ เราก็จัดเต็มเหมือนเดิม แต่แค่ขาดทุนน้อยหน่อยละกัน แต่ว่า feeling ของคนก็ยังอยากให้รู้สึกประทับใจ

คือตอนนี้ เราเดาใจคนซื้อบัตรยาก อย่างเช่นสมมติว่าก็อยากดูนะแต่เกาหลีมาพอดี ขอไปซื้อเกาหลีก่อนละกันอย่างนี้ เดี๋ยวกับวงพี่ เดี๋ยวเราไปเจอกันในผับก็ได้ เราไม่ต้องเสีย 3,000 ก็ได้ เกาหลีแบบปีหนึ่งจะมาสักครั้งอะไรอย่างนี้ ก็มี คือสมมติเวลาเราคุยกับศิลปินแล้ว เขาเต็มที่ให้เรามาก คือทุกคนจะต้องงดรับงานกับเราประมาณ 2 เดือน คือ 1 เดือนมันเป็นเรื่องของการประชุมนั่นนี่นู่น โปรโมตนั่นนี่อะไรก็ว่ากันไป 1 เดือนสุดท้ายก่อนคอนเสิร์ต ทุกคนต้องเทคิวเรื่องการซ้อมทั้งหมดไม่ว่าจะซ้อมร้อง ซ้อมเต้น ซ้อมอะไรอย่างนี้ อย่างวง Getsunova คือป๊อปแบบอยากจะกราบเขาเลยนะ เป็นวงที่หยุดงานให้ป๊อป 3 เดือน ซ้อม 2 เดือน แล้วซ้อมตั้งแต่เพลงแรกยันเพลงสุดท้ายทุกวัน คือ run อย่างนี้ทุกวัน ๆๆๆๆ ป๊อปแบบ เฮ้ย! ไม่ต้องทำขนาดนั้นหรอก บอก อ๋อ! ไม่ได้พี่ เพราะว่าเขาอยากรู้ว่า mood ของคนดูมันรู้สึกอย่างไร เขาอยากซึมซับ feeling อย่างนี้ เพื่อจะแบบเต็มที่ เฮ้ย! คือแบบซ้อมวันละ 30 เพลงทุกวัน อย่างนี้คือตัวศิลปินเขาเต็มที่แหละ เพียงแต่ว่าคนดูบางที อย่างที่บอกว่ามันมีคอนเสิร์ตอื่น ๆ ศิลปินอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งแบบเหตุการณ์บางเหตุการณ์ out of control ของเรามากมาย ที่มาทำให้บัตรไม่เดินก็มีอะไรอย่างนี้ แต่ว่าคือสุดท้ายมันก็ต้องทำ คือต้องทำอะไรอย่างนี้

‘ป๊อป - ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์' เคล็ดลับการปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘แกรมมี่’ ที่ทำให้คนดูรัก The People : 2 - 3 ปีที่เจอโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง

ศักดิ์สกุล : หนักมาก คือโชคดีที่แกรมมี่ดูแล ดูแลหมายความว่า ดูแลพนักงาน แต่ว่าคือทางเราเองโดยส่วนตัวแล้วก็รู้สึกว่า เออแบบไม่มีงานเลยมาปีกว่าอะไรอย่างนี้ครับ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็คือ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอะไรเลยนะ หมายถึงว่าเราก็มีการเตรียมงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อรอว่าถ้ามันได้รับการปลดล็อกเมื่อไหร่ปุ๊บเราก็พร้อมที่จะโปรโมตที่จะทำกันอยู่ตลอดเวลา

The People : อะไรที่ทำให้เราทำงานตรงนี้ 20 - 30 ปี อะไรที่ทำให้เราคิดว่าเรายังอยากทำงานสายนี้อยู่ ตื่นขึ้นมายังรู้สึกว่านี่คือความหมายที่เราจะต้องไปทำต่อ

ศักดิ์สกุล : อย่างแรกเลยไม่โกหกเลยนะ มันคืออาชีพ มันคือสิ่งที่เราต้องทำเพราะมันคืออาชีพเรา คือ ณ วันนี้ก็คือถ้าคนที่รู้จักจะรู้ว่าทำคอนเสิร์ตมาทั้งชีวิต เพราะฉะนั้นป๊อปเลยรู้สึกว่ามันคืออาชีพ มันคือสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ มันคืออาชีพที่เรามีรายได้ อันนี้อันที่ 1 ที่ไม่โกหกเลย เพราะมันคืออาชีพเรา อันที่ 2 คือข้อดีของคอนเสิร์ตกับ festival มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นศิลปินคนหนึ่งเราก็คิดแบบหนึ่ง ความคิดมันจะไม่หยุดนิ่ง มันจะไม่มีความว่า เฮ้ย! มันซ้ำไปซ้ำมา มันจะคือป๊อปรู้สึกว่ามันไม่ค่อยน่าเบื่อ แต่ว่าก่อนที่มันจะเป็นรูปเป็นร่างนั้นคือมีความกดดันมีความแบบ โหย! ถ้าคิดไม่ออกนี่จะอย่างไร ทีมโปรโมตก็จะต้องโปรโมตแล้ว แต่ยังคิดชื่อไม่ออก หรือยังคิด concept ไม่ออกอะไรอย่างนี้ มันก็มีความท้อ ๆ บ้าง แต่ก็จะรู้สึกว่ามันก็เป็นแรงผลัก มันก็ต้องทำให้ได้ แล้วก็ตัวอย่างที่บอกว่าความคาดหวังของทั้งศิลปินกับเราแล้วก็คนดูกับเรา มันก็เป็นแรงผลักดันทำให้เรารู้สึกว่า เออ…เราก็ทำให้ดีที่สุด ก็ต้องทำให้ดี เพื่อให้ธุรกิจ showbiz หรือธุรกิจคอนเสิร์ตในประเทศไทยมันไปไกล ๆ มันไม่ใช่แบบทำให้คนไทยดูกันเอง คือบางทีมันต้องคิดให้มันใหญ่กว่านั้นอะไรแบบนี