01 ก.ค. 2568 | 16:30 น.
“สังคมของเราไม่ใช่ zero-sum game ไม่ควรเป็นอย่างนั้น แต่เราควรมีเกมที่ชนะไปพร้อมกันได้”
‘เบนซ์-สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์’ Chief Executive Officer & Founder บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด ในวัย 43 ปี บอกถึงทฤษฎีที่เขายึดเป็นหลักเกณฑ์ในการใช้ชีวิต อันที่จริงไม่ใช่แค่ชีวิตเขาเท่านั้น เพราะนี่ คืออุดมการณ์หลักที่เขาใช้ในการบริหารบริษัท จนนำมาสู่แนวคิดอยากจะเห็นคนไทยทุกคนมีอิสรภาพทางพลังงานอย่างแท้จริง
เพราะนับตั้งแต่วินาทีแรกที่ บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด เปิดตัวขึ้น ชายคนนี้ยังคงเชื่อเสมอว่าสังคมเราควรมีเกมที่ชนะไปด้วยกัน ไม่ควรมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยืนหยัดโดยลำพัง ไม่เช่นนั้นรากฐานของการก่อตัวเป็นรัฐชาติคงพังทลาย
และนี่คือเรื่องราวของ เบนซ์ Solar D ที่จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า การกระจายทรัพยากรและอำนาจการผลิตพลังงานอย่างทั่วถึงนั้นสำคัญเพียงใด
คุณบอกว่าชื่นชอบด้านรถยนต์ เคยคิดไหมว่าโตขึ้นจะต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้
ผมว่าตอนเด็กมันเป็นภาพที่เราเห็นนะ แล้วมันอาจจะไม่ใช่ภาพความจริงเท่าไหร่ ยุคนั้นคนไทยมาสร้างรถสปอร์ตอะไรก็มี ตอนนี้ก็ยังมีนะ เราก็ โอ้! เก่งจัง รถสวยมากเลย แล้วก็ในยุคนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ก็เติบโต ยุค 30-40 ขึ้นมา ด้วยความที่เราเป็นผู้ชายด้วยมั้ง ก็เลยชอบ พอชอบปุ๊บก็เลยชอบวาดอะไรไปด้วย มันก็เลยอยู่ในโหมดของการชอบขีด ๆ เขียน ๆ แล้วพอมาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มันก็เลยเถิดว่าพอจบมาหางานก็ลองไปทำทางนี้ดู
อย่างแต่ก่อนถ้าผมไปร้านหนังสือ โซนนึงที่จะไป ก็คือเป็นแมกกาซีนต่างประเทศ ถ้าจำไม่ผิดคือ Auto & Design เป็นแมกกาซีนรายเดือนของอิตาลี แต่มันแพงมาก ราคาเป็นพันเลย เราก็จะไปนั่งดูนะ โห! ดีมาก ดีไซน์ดีเลย แล้วเราชอบก็หัดวาดตาม อันนี้เป็นความทรงจำแล้วกัน เพราะงั้นก็มีส่วนนะทำให้เรารู้สึกเบลนด์เรื่องของความชอบด้านวิศวกรรมของรถยนต์ ชอบเรื่องงานออกแบบ ผมว่าอันนี้เป็นพาร์ตหนึ่งที่ทำให้เราไปทำธุรกิจ เพราะมีพาร์ตนี้มาติดตัวมา
มีแบบอย่างหรือมองว่าใครเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตไหม
ผมไม่มีนะ
ไม่มีเลย?
ผมว่าเรื่องแรงบันดาลใจของผมมันไม่ได้มาจากใครคนเดียวชัดเจนนัก มันเบลนด์กันไปหมด ช่วงมหาวิทยาลัยก็เหมือนคนทั่วไป เรามีนักร้อง มีนักออกแบบ หรือคนดังบางคนที่เราติดตาม แต่ก็ไม่ได้ถึงกับจดจำอะไรได้ขนาดนั้น แต่คนที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ จริง ๆ คือช่วงหลังเรียนจบแล้วมากกว่า
เพราะผมเรียนจบวิศวกรรม สนใจเรื่องรถยนต์ ก็เลยเริ่มเสพข่าวที่เกี่ยวข้องกับวงการนี้มากขึ้น จนวันหนึ่งไปเจอข่าวเล็ก ๆ จากอเมริกาที่สตาร์ตอัปหน้าใหม่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพิ่งเปิดตัวรถสปอร์ตไฟฟ้ารุ่นแรก จำได้ว่ามันวิ่งได้ไม่นานมาก แต่ก็น่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน ลองนึกถึงภาพรถที่ใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เราก็นึกถึงรถกอล์ฟ แต่คันนี้เป็นรถสปอร์ตจริง ๆ ซึ่งก็เป็นที่มาผมเริ่มติดตามอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เพราะว่าเป็นช่วงที่ Tesla เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน แล้วก็ปล่อยรถรุ่นแรก
ถ้าย้อนกลับไปดูตอนนั้นจริง ๆ โลกของรถยนต์ก็อยู่ตรงทางแยกพอดี คือเริ่มจะขยับจากรถใช้น้ำมัน ไปเป็นไฮบริด และมีบางคนพูดถึงไฮโดรเจนเป็นทางถัดไป แต่อีลอน มัสก์บอกชัดเจนเลยว่า ไฮโดรเจนไปไม่รอด แล้วเขาก็ทุ่มสุดตัวกับรถยนต์ไฟฟ้า
การที่มีคนกล้าตัดสินใจแบบนี้มันน่าสนใจมาก พราะมันคือการเลือกเทคโนโลยี ที่คนอื่นยังลังเลอยู่ แล้วถ้าเขาเลือกผิด ทุกอย่างจะพังหมดเลย เพราะ supply chain มันคนละระบบกับรถแบบเดิมเลย แต่เขาก็กล้าเลือก และดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้เลือกผิดด้วย
ผมก็เลยติดตามอีลอน มัสก์เรื่อยมาตั้งแต่ตอนนั้น และเริ่มอินกับวิธีคิดของเขา ซึ่งก็พอดีกับจังหวะที่ผมเพิ่งเรียนจบ กำลังคิดอยู่ว่าจะเริ่มต้นทำอะไร โปรเจกต์อะไรดี ด้วยความที่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน ความคิดก็ยังแคบ ๆ ตามประสาเด็กจบใหม่ ก็เลยมองสิ่งที่ตัวเองพอรู้จักไว้ก่อน เช่น ในรถยนต์หนึ่งคันมีชิ้นส่วนอะไรบ้าง แล้วแต่ละชิ้นยังพัฒนาอะไรต่อได้บ้าง
จริง ๆ การเรียนวิศวะทำให้เราเข้าใจว่ารถยนต์หนึ่งคันก็คือระบบที่เอาพลังงานเข้ามา แล้วเปลี่ยนให้เกิดการเคลื่อนที่ วิศวะที่ผมเรียนก็คือการออกแบบระบบที่เปลี่ยนพลังงานจากจุดหนึ่งให้กลายเป็นอีกจุดอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเรื่องพลังงานมันเป็นเรื่องที่ผมเจออยู่แล้ว ผมสนใจอยู่แล้ว เพียงแต่ผมคิดว่าอาจจะแบ่งเป็น 2 พาร์ตละกัน พาร์ตนึงก็เป็นเรื่องของความสนใจใน Tesla สนใจเทคโนโลยีของเขา เพราะเขาก็ไปลงทุนในบริษัทโซลาร์ด้วย อีกด้านหนึ่ง ก็คือเป็นความสนใจทางด้านการเมือง ซึ่งพอมาบรรจบกันมันก็เลยคิดว่าจำเป็นต้องทำ Solar D
ซึ่งการเมืองในไทย ผมว่าตอนที่ผมจบอยู่ในช่วงปี 2546 ส่วนช่วงปี 2548 ตอนนั้นเราเริ่มทำงานแล้ว และเป็นปีที่มีปัญหาทางการเมืองคือปี 2549 รัฐประหาร แล้วก็อยู่ในความวุ่นวายอยู่พักใหญ่ ช่วงนั้นก็มีส่วนร่วมในความคิดต่าง ๆ กิจกรรมบางอย่างบ้าง แต่ทำไปด้วยความสงสัย อยู่ด้วยความสงสัยว่าอันนี้คืออะไร มีการพูดถึงเรื่องพลังงานคู่ขนานกันเสมอ แล้วภาพมักจะล้อกัน อย่างเช่น ทำไมไฟฟ้าต้องรวมศูนย์ ทำไมต้องรอสายส่งจากส่วนกลาง ทำไมคนบางกลุ่มถึงไม่มีทางเลือกอื่น ผมก็เริ่มเห็นว่าทั้งสองเรื่องนี้มันสะท้อนกันอยู่ตลอด
โดยส่วนตัวแล้ว กลุ่มหนังสือที่ผมอ่านมากที่สุดก็จะเป็นกลุ่มพวกเศรษฐศาสตร์ ชอบอ่านเรื่องพฤติกรรม ก็เลยเข้าใจว่ามันมีความต่างกันจริง ๆ แหละ แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่ารากที่มาเป็นยังไง เราอยู่ในปี ค.ศ. 2000 กว่า แต่สังคมมันมีมาตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1500-1700 ซึ่งวิวัฒน์มาเร็วมาก ผมก็เลยคิดว่า ผมอยากเข้าใจเรื่องความเป็นมาว่าสิ่งที่เราเจออยู่คืออะไร เคยเกิดมาก่อนไหม หรือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมา
ผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีแพทเทิร์นอะไรบางอย่างอยู่ เลยเป็นที่มาว่าไปหาความรู้ และได้ไปเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่จุฬาฯ ซึ่งก็เปิดคอร์สดู โอ้โห เห็นชื่ออาจารย์แต่ละท่าน ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, แล ดิลกวิทยรัตน์ ก็เลยไปเรียนเป็นปริญญาโท ซึ่งไม่ได้มีพิเศษว่าอยากเรียนโทอะไร แต่ว่าอยากไปนั่งคุยกับอาจารย์ ปรากฏว่าพอไปเรียนจริง ๆ สนุกมาก ถ้าเรียนวิศวะก็คือนั่งกลาง ๆ หลัง ๆ แล้วก็หลับบ้างไม่หลับบ้าง อันนี้คือนั่งแถวหน้าสุดแล้วก็ถามทั้งคาบเลย มันเหมือนกับการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเรื่องในอดีตว่าทำไมประเทศนั้น กลายไปเป็นอีกแบบหนึ่งได้ยังไง ประเทศที่เป็นอาณานิคมกับไม่อาณานิคมต่างกันยังไง เราควรเป็นยังไง รากที่มาของเราล่ะเป็นยังไง
ตอนที่เราใกล้จะจบ เราก็ฟอร์มแนวคิด แน่นอนล่ะก็คงหนีไม่พ้นเรื่องพลังงาน ก็เริ่มเขียนธีสิส เริ่มจากหัวข้อธีสิสก่อนว่าเราอยากทำเรื่องอะไร ผมเห็นความเชื่อมโยงของระบบพลังงานที่ไม่เพียงแต่เป็นไฟฟ้าน้ำมันที่เรารู้จัก แต่พูดถึงอาหารด้วย ตอนนั้นมีการถกกันเรื่องนิวเคลียร์ว่าจะขึ้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ขึ้น ผมก็เลยตั้งหัวข้อว่า ‘จากนาข้าวสู่นิวเคลียร์’ ถ้ามีเวลาจะกลับไปทำ เพราะสุดท้ายแล้วพอไปทำจริง ผมรู้สึกว่าการทำไป เวลานึกภาพว่าตอนจบเป็นยังไง ผมว่าต้องยากลำบากแน่ ทำอยู่ประมาณ 10-20% แล้วรู้สึกว่าจบไปผมก็คงไม่พลาดที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งแน่ ๆ แล้วในธุรกิจเดิมตอนนั้นที่ทำอยู่ คือธุรกิจเกี่ยวกับแพคเกจจิ้งพลาสติก หลายท่านยังไม่ทราบว่าการผลิตพลาสติก ต้องเอาน้ำมันก๊าซธรรมชาติมาผลิต ดังนั้นคนที่ขายวัตถุดิบเหล่านี้ ก็อาจจะเป็นกลุ่มคนที่เราวิพากษ์วิจารณ์
ผมรู้สึกว่ามันมีได้ แต่ก็มีเสียนะ ทำดีหรือไม่ทำดี สุดท้ายคิดว่าถึงทำไปก็คงไปขึ้นเชลฟ์ ส่วนคนที่สนใจอยากนำมาขายก็อาจจะมาหาเจอ แต่คนที่อยากรู้จริง ๆ อาจจะไม่เจอหรอก ผมก็เลยตัดสินใจว่างั้นเราอย่าไปทำเลย เราออกมาตั้งบริษัทที่แก้ปัญหานี้กันดีกว่า ก็เลยเป็นที่มาของ ‘Solar D’ แล้วก็ตั้งชื่ออย่างตั้งใจมาก ๆ ว่าเราเห็นว่าตรงนี้มีปัญหา Centralize มาก แล้วเราเห็นเครื่องมือหนึ่งที่จะมา Decentralize คือมาทุบไอ้ตรงนี้มันได้ ก็คือ ‘โซลาร์’ ซึ่งก็เป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว
ก่อนที่คุณจะมาทำ Solar D หลังเรียนจบใหม่ ๆ คุณเองก็เคยทำงานในโรงงานมาก่อน ช่วงเวลานั้นได้เรียนรู้อะไรบ้าง
จริง ๆ มีหลากหลายแง่มุมมาก ตอนเรียนมหา’ลัย ภาพมันสวยหรูมากเลย เรียนอยู่ข้างมาบุญครองอะไรฟู่ฟ่า เข้าแล็บก็ดูดี เราก็คิดว่าโรงงานผลิตรถยนต์ก็น่าจะเป็นเหมือนโชว์รูม สวย ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วตรงกันข้าม เพราะว่าการได้มาของรถยนต์จริง ๆ supply chain มันใหญ่มาก ๆ เริ่มต้นก็ต้องเริ่มต้นที่ชิ้นส่วน ที่ไปประกอบอาจจะที่โรงงานอื่นมาก่อน แล้วการประกอบชิ้นส่วนก็เป็นงานที่หนัก เพราะชิ้นงานที่ชิ้นใหญ่ ๆ ยาก ๆ เหล็ก น้ำมัน ฝุ่น ความร้อน ที่ทำงานเขาเรียกว่า cycle time คือทำงานซ้ำเดิมทุก ๆ 2 นาที พอเจอภาพนี้ครั้งแรกปุ๊บ ก็ตะลึงนิดนึงว่าผิดจากที่คิดไว้มาก
คุณฉุกคิดอะไรขึ้นมา
ภาพใหญ่คือตอนนั้นจริง ๆ ที่บ้านผมก็ไม่ได้ลำบาก แต่พอไปเจอแบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่า ถ้าเราจบมาจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ เราต้องมีคนกลุ่มนึงใหญ่ ๆ ต้องมาทำงานที่มันยาก สภาพการทำงาน ความเหนื่อย ต้องทำงานตั้งแต่ 8.00 น. ถึง 17.00 น. เลยเหรอ บางทียาวไปถึง 20.00 น.
แต่เรากลับสบายมาก เพราะเราเป็นวิศวกร นั่งอยู่ในห้องแอร์เย็น ๆ นาน ๆ ทีเดินลงมาดูงาน แล้วก็กลับขึ้นไปนั่งหน้าจอต่อ ภาพนี้มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกผิดเบา ๆ ขึ้นมาในใจ ว่าทำไมเราคนหนึ่งสบาย แต่อีกสิบคนถึงต้องลำบากขนาดนั้น ผมเลยเริ่มตั้งคำถามในใจว่านี่มันควรเป็นแบบนี้จริงเหรอ เวลาผมคุยกับรุ่นพี่ ผมก็ถามว่า ทำไมกว่าที่จะได้รถยนต์หนึ่งคันต้องมีคนลำบากเยอะขนาดนี้ รุ่นพี่ก็บอกว่า “ก็แน่อยู่แล้ว โลกเรามันเป็นแบบนี้ ถ้าเขาไม่ลำบาก ก็ไม่มีคุณที่นั่งห้องแอร์” คำตอบนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเข้าใจว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบปัญหานั้นจริง ๆ และความรู้สึกผิดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะไม่ใช่แค่ความรู้สึก แต่คือความจริง
ความรู้สึกผิดที่ว่า ทำให้หมดศรัทธากับสิ่งที่ทำเลยหรือเปล่า
ไม่ถึงขนาดนั้นนะ ผมว่าเป็นความสงสัยมากกว่า มันทำให้เกิดคำถามในใจว่า แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง แน่นอนว่าเราก็มีหลายด้านในชีวิตนะ เราอยากทำธุรกิจให้สำเร็จ อยากออกแบบอะไรสวย ๆ แต่ลึก ๆ แล้วเราก็อยากให้คนรอบตัวได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าเราเองรู้สึกสบาย เราก็หวังให้คนอื่นอย่างน้อยที่สุดไม่ต้องลำบากเกินไป แน่นอนว่าในโลกนี้มีคนที่สบายกว่าเราเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ลำบากก็มีเยอะเช่นกัน แต่ในความคิดของผมลึก ๆ เชื่อว่ามนุษย์เราไม่ควรต้องลำบากมากขนาดนั้น
ผมเลยเริ่มสงสัยว่า โลกมันควรจะเป็นแบบนี้จริงเหรอ มันเป็นกฎธรรมชาติหรือเปล่า หรือแค่วิถีของสังคมหนึ่ง ๆ หรือเป็นแค่ยุคหนึ่งเท่านั้น ในยุคต่อไปอาจจะไม่ต้องเป็นแบบนี้ก็ได้ มันเป็นเพราะฟิสิกส์หรือเป็นเพราะระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นกันแน่ ผมไม่รู้หรอก แต่ผมรู้สึกว่าเส้นทางชีวิตของผมต่อจากนี้ คงเป็นการเดินทางเพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ต่อไป
ตอนนี้เจอหรือยัง
ผมว่าผมเจออยู่จุดหนึ่งนะ แต่ก็บอกแน่ชัดไม่ได้ เพราะว่าตลอดเวลา คือความสงสัย เราอาจจะเคยเจอว่าเวลาเราคลี่ความสงสัยเรื่องนึง ความสงสัยจะเพิ่มไปอีก 5 เรื่องแทน มันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ล่าสุดเทคโนโลยีหลายอย่างกำลังเดินไป เริ่มมีทาง 2 แพร่ง อาจจะ 3 แพร่ง ทางแยกที่บอกว่าโลกเราเดินไปน่าจะแย่ลงก็ได้ หรืออาจจะดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันผมคิดว่ามันมีหลักฐานว่าน่าจะดีขึ้นมาก ๆ แล้วก็ลิงก์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งที่เราทำอยู่ด้วยก็คือ เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์
เราอาจจะมองเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องของไฟฟ้าแล้วก็จบ สามารถใช้ไฟได้ในราคาประหยัด แต่ความจริงแล้วเรื่องนั้นมันพาร์ตเล็กมาก พาร์ตใหญ่กว่านั้นคือ มันเป็นแหล่งที่มาต้นทางของ wealth (ความมั่งคั่ง) กับ productivity (ผลิตภาพ) แล้วเราในฐานะมนุษย์จะหาทางใช้มันได้ดีที่สุดได้ยังไง เพราะปัจจุบันเราใช้ประโยชน์น้อยมาก ๆ ถ้าเทียบจากปริมาณที่ลงมา ผมมั่นใจเราไม่มีทางได้ใช้งานมันได้ถึง 0.01% ไม่มีทางถึงเลย
แล้วถ้าเราไม่ได้ตีความแค่เป็นเรื่องไฟฟ้า ประหยัดค่าไฟ สามารถตีความไปไกลถึงว่า แสงอาทิตย์ทำให้เราได้อาหารด้วย ข้าวที่เราทานก็แสงอาทิตย์ จะว่าไปแล้วเนื้อที่เราทานก็เป็นเส้นทางแสงอาทิตย์ แม้กระทั่งสิ่งที่เราใช้อยู่ พลาสติกก็มาจากฟอสซิลน้ำมันที่อยู่ในยุคไดโนเสาร์ ซึ่งก็มาจากไดโนเสาร์ไปกินพืชซึ่งสังเคราะห์แสงอาทิตย์มา คือสุดท้ายแล้ว ชีวิตเราทั้งหมดวนเวียนอยู่กับพลังของแสงอาทิตย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถใช้มันให้ดีขึ้นได้ ผมว่ามันเป็นโอกาสใหญ่ของมนุษยชาติ
คุณบอกว่าเราอยู่ในยุคที่มีทาง 3 แพร่งของเทคโนโลยี ซึ่งก็จะมีทางหนึ่งที่คนในสังคมอาจจะละทิ้งแรงงานบางส่วนไป สิ่งนี้ทำให้แรงงานอยู่ยากขึ้นไหม
ผมคิดว่า นี่เป็นประเด็นที่ใหญ่มาก และทุกครั้งที่ได้ยิน ผมรู้สึกขนลุกเล็ก ๆ เพราะทั้ง ‘ใช่’ และ ‘ไม่ใช่’ ไปพร้อมกัน
ลองเริ่มจากพื้นฐานก่อน มนุษย์เกิดมาก็ต้องบริโภค ถ้าในมุมเศรษฐศาสตร์ ยิ่งเราบริโภคได้มาก แปลว่าเราก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลิตภาพ (productivity) ก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ตัวชี้วัดสำคัญคือ GDP ต่อหัว ซึ่งบอกว่าคนในประเทศหนึ่งบริโภคเฉลี่ยได้มากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ประเทศอย่างอเมริกา หรือสิงคโปร์ มี GDP ต่อหัวมากกว่าเราถึง 6-7 เท่า อันนี้คือเรื่องที่หนึ่ง
แต่เรื่องที่สอง คือโชคไม่ดีว่ามีเรื่องการกระจายตัวด้วย ถ้าหารเท่าก็น่าจะดีถูกไหม มีประเด็นที่ทำให้อาจจะหารไม่เท่า อาจจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ก็เลยจะทำให้มีบางคนที่อาจจะได้มากกว่า มีบางคนที่อาจจะได้น้อยกว่า ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมจำนวนมากต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้
กลับมาที่ทางสามแพร่งที่ผมเปรียบเทียบไปก่อนหน้า เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีทำให้ผลิตภาพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ลองนึกย้อนไป 20 ปีก่อน เราอาจไม่คิดเลยว่าจะมีสินค้าถูก ๆ ให้เลือกมากมายขนาดนี้ ทุกอย่างผลิตง่ายขึ้น เราจึงควรบริโภคได้มากขึ้นใช่ไหม แต่ความจริงที่เกิดขึ้นกลับขัดแย้ง เพราะแม้จะผลิตได้มากขึ้น แต่คนจำนวนมากกลับบริโภคได้น้อยลง
เราพูดกันว่าถ้าเรามีทรัพยากรอย่างไม่จำกัด ซึ่งก็คือ abundance (ความอุดมสมบรูณ์) แต่ถ้าเรากระจายแย่มาก ๆ ก็อาจจะไม่ดีเท่าไหร่ ถ้านึกถึงทฤษฎีการเมืองเก่า ๆ เช่นบอกว่าคอมมิวนิสต์ คือจนเท่ากันหมด ทุนนิยมถึงจะไม่เท่าแต่อย่างน้อยก็มีคนรวยนะ ผมว่าเรื่องนี้ถ้าคุณมีทรัพยากรเยอะมาก ๆ เราต้องหาทางกระจายให้ได้ดีมาก ๆ ด้วย หรือถึงจะไม่ดีมาก ก็ควรจะดีกว่าสังคมที่ผลิตได้น้อย ๆ
ตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัด เช่น GDP โตช้า กำลังซื้อหายไป แปลว่าคนไม่มีเงินใช้ หรือไม่ก็เลือกที่จะไม่ใช้เงิน ทั้งที่ทรัพยากรและเครื่องมือในการผลิตมีอยู่เต็มไปหมด แต่มันกลับอยู่นิ่ง ๆ ไม่ถูกนำมาใช้จริง
ผมเลยคิดว่าเรื่องนี้ทางสามแพร่ง คือความหมายนี้ เดิมที การกระจายทรัพยากรเป็นเรื่องที่คนทั่ว ๆ ไป ‘ขอ’ จากระบบ แต่ปัจจุบันเริ่มกลายเป็น ‘การเรียกร้อง’ ทางการเมือง ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นแนวคิดฝ่ายซ้าย ขณะที่ฝ่ายขวาจะเชื่อว่าตลาดจะจัดการทุกอย่างเอง ใครแข็งแกร่งก็อยู่ได้ ใครไม่รอดก็ปล่อยไป แต่ปัญหาคือ ถ้า ‘คนที่ไม่รอด’ มีจำนวนมากจนพังไปทั้งระบบ คนที่คิดว่าจะรอดเองก็อาจรอดไม่ได้ เพราะไม่มีใครเหลือให้ซื้อหรือมาเป็นคู่ค้าด้วย
เรากำลังอยู่ในสังคมที่คนแต่ละกลุ่มพูดกันคนละภาษา ไม่ได้นั่งแชร์กันจริง ๆ ว่าจะหาทางออกอย่างไรดี ทั้งที่ความจริงคือ “ถ้าผมแพ้ คุณก็แพ้” ด้วยกันทั้งคู่ จึงเริ่มมีแนวคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น Negative Income Tax (นโยบายให้เงินช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด) หรือว่า แรงหน่อยก็ตระกูล UBI (Universal Basic Income - สวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า) ที่เสนอให้รัฐแจกเงินพื้นฐานให้ประชาชนทุกคน
ฟังดูเหมือนเป็นงานยาก แต่จริง ๆ แล้วการทำแบบนี้อาจทำให้ระบบกลับมาหมุนได้ คนเริ่มมีเงิน ก็กลับมาซื้อของ เศรษฐกิจก็ขยายตัว ทุนก็สะสมได้ รัฐก็เก็บภาษีได้มากขึ้น ถ้าบริหารดี ก็เป็นวัฏจักรที่ไม่ติดขัด ต่างจากทุกวันนี้ที่มีกำลังการผลิตเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครมีกำลังซื้อ ทำให้ทุกอย่างนิ่งสนิท ทั้งที่ทรัพยากรและศักยภาพยังอยู่ครบ
แต่บริษัทของคุณก็มีการเอาโรบอทเข้ามาใช้มากขึ้น แล้วการทำงานในส่วนที่สามารถใช้แรงงานคนได้จะน้อยลงไหม
แรงงานยังมีอยู่ แต่ก็น้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในบางประเภทของงาน เช่น งานติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ต้องเผชิญกับแดดจัด อากาศร้อน และความเสี่ยงจากการทำงานที่สูง เช่น อุบัติเหตุหรือการลื่นตกจากหลังคา นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพ ที่อาจลดลงเมื่อมีคนทำงานเยอะ เพราะยิ่งเหยียบหลังคามาก หลังคาก็อาจพังเร็วขึ้น
ในทางกลับกัน ถ้าใช้หุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ด้วยล้อ จะช่วยลดความเสียหายบนหลังคาได้มาก เพราะมีจุดสัมผัสน้อยกว่าและควบคุมได้แม่นยำกว่า พูดง่าย ๆ คือได้งานที่เรียบร้อยกว่า ปลอดภัยกว่า
แต่ถ้ามองจากมุมของคนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับภาคธุรกิจ การติดโซลาร์ทำให้เราใช้ไฟฟ้าได้อย่างสบายใจ เปิดแอร์ก็ไม่ต้องคิดมาก เพราะรู้สึกว่าเหมือนได้ไฟฟรี แต่เบื้องหลังความสบายนี้คือการทำงานหนักของแรงงานที่ต้องขึ้นไปตากแดดหลายวัน บางคนต้องทำทั้งวันติดกัน โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนจัด
การทำงานกลางแจ้งแบบนี้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งมะเร็งผิวหนัง โรคลมแดด และอุบัติเหตุที่อาจร้ายแรงมาก อย่างถ้าเป็นลมอยู่บนหลังคา มันอันตรายขนาดไหน ลองนึกดู ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงานจึงเป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก ถึงแม้ตอนนี้จะเริ่มมีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วย แต่ผลกระทบต่อแรงงานก็ยังคงอยู่ ผมเลยมีคำถามง่าย ๆ ว่า ทำไมแรงงานต้องลำบากขนาดนี้
ผมเลยคิดว่าถ้าลดจำนวนแรงงานมนุษย์ลงหน่อย ก็น่าจะดีในแง่ของคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย แต่มันก็ย้อนแย้งกับอีกด้านที่ว่า ถ้าใช้หุ่นยนต์แทน คนก็จะไม่มีรายได้ใช่ไหม นี่แหละคือข้อขัดแย้งที่ยังหาคำตอบชัด ๆ ไม่ได้ เพราะแม้เราจะได้งานที่ดีขึ้น แต่ก็ทำให้โอกาสในการทำงานของคนลดลงไปด้วย
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าในระดับเล็ก ๆ มันมีปัญหาอยู่จริง แต่ในระดับใหญ่ เราจำเป็นต้องเร่งให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้น โดยที่ไม่ใช่แค่ชดเชยให้คนที่ตกงาน แต่ต้องช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้ดีขึ้นไปอีก อาจจะถึงขั้นที่คนรุ่นหลัง มองย้อนกลับมาในอีก 30 หรือ 50 ปี แล้วถามว่า เมื่อก่อนต้องทำงานหนักขนาดนั้นเลยเหรอ
ช่วงก่อตั้งบริษัท คุณพกความมั่นใจเต็มที่เลยไหมว่ารอบนี้จะต้องรอด บริษัทจะต้องไปต่อได้ถึงขั้นไหน
ผมว่าจริง ๆ เวลาเราเริ่มธุรกิจในช่วงอายุแบบเด็ก ๆ มันเริ่มด้วยความไม่รู้ ตอนผมเริ่มธุรกิจแรกก็อายุประมาณ 23 ปี ธุรกิจที่สอง คือ Solar D ประมาณ 30 กว่า ๆ ก็ยังเป็นวัยไม่ค่อยกลัวอะไร ดังนั้นไม่มีความมั่นใจ หรือไม่มั่นใจหรอก คิดว่าก็ไม่น่ามีอะไรมั้ง ลองดูละกัน ก็ไม่ได้มองว่ามันยากหรืออะไร แต่ว่าพอเวลาผ่านมาก็มีนะ มีแกว่ง ๆ เหมือนกัน เพราะว่าเข้ามาจริง ๆ แล้วก็มีการแข่งขัน มีความยากของตัวมันเอง ในแง่นี้ผมว่าค่อนข้าง neutral กลาง ๆ บางช่วงก็รู้สึกมั่นใจ บางช่วงก็ธรรมดาของมนุษย์เจออะไรเยอะ ๆ เข้าไปก็เป๋ ๆ หน่อย อีกพักนึงเจออะไร คนเห็นด้วยคนซื้อก็กลับมามั่นใจใหม่ มันธรรมดามาก
มีคนเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำไหม หรือว่ามีคนห้ามว่าอย่าเลยมันยากเกินไปกับการเริ่มธุรกิจนี้ในประเทศไทย
ความเซอร์ไพรส์ คือคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจไม่เห็นด้วยเลยนะ (หัวเราะ) มักจะบอกว่า โห บ้าหรือเปล่า โซลาร์แผงหนึ่งเท่าไหร่ ยังไงคุณไม่มีทางสู้ได้หรอก แต่คนที่สนับสนุนกลับเป็นใครรู้ไหม คุณแม่ผมเอง (ยิ้ม) ผมบอกว่าผมจะทำโซลาร์นะ เขาบอก อ้าวเหรอ ทำโซลาร์เหรอ ดีนะ เดี๋ยวเอาไปขายให้ อีกวันนึงไปบอกว่าไปขายมาให้แล้วนะ ขายเพื่อน ๆ กัน ผมก็ถามแม่ว่าไปขายว่ายังไงบ้าง แม่บอกว่าลูกชายขายเซลลูล่าร์ (หัวเราะ) อันนั้นมือถือนะครับ แต่เขาก็เป็นลูกค้ารายแรกจริง ๆ ไปติดที่บ้าน ก็ซื้อจริง ๆ จ่ายเงินจริง ๆ ซึ่งทำให้เข้าใจว่าบางทีเรารู้เยอะไป เราก็อาจจะกลัว ตอนไม่เข้าใจกำลังพยายามเข้าใจ อาจจะเป็นช่วงเวลากำลังดีในการเริ่มอะไรสักอย่าง
ความไม่เข้าใจที่คุณเจอคืออะไร
ตอนแรกเราก็คิดง่าย ๆ ว่าการติดโซลาร์มันแค่ซื้อแผง 2-3 แผงกับอินเวอร์เตอร์ แล้วไปติดตั้งให้ลูกค้าหน้างาน ไม่น่าจะยุ่งยากอะไร ใช้เวลาไม่นานก็จบ แต่มันไม่เป็นแบบนั้น
พองานเริ่มเยอะขึ้น ยอดขายมากขึ้น โครงการใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เราก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่งานติดตั้งอีกแล้ว แต่มันกลายเป็นงานก่อสร้างแบบเต็มตัวเลย ซึ่งสำหรับผม มันไม่ใช่งานที่ดึงดูดเท่าไหร่ เพราะงานก่อสร้างมันมีรายละเอียดเยอะ ใช้เวลานาน และยิ่งเป็นโครงการใหญ่ จุดที่ต้องบริหารมันเยอะมากจริง ๆ
ที่บ้านผมเองก็เคยทำรับเหมาก่อสร้างเล็ก ๆ มาก่อน คุณพ่อทำอยู่ เราก็พอคุ้นเคย แต่ผมมาทางสาย manufacturing คือโลกของผมแบ่งงานออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ แบบแรก คือ งานโปรเจกต์ คือเริ่มแล้วก็จบไป กับอีกแบบคือ งาน operation ซึ่งเป็นงานที่ทำซ้ำไปซ้ำมา เช่น การผลิตชิ้นส่วน ทำทุกวัน ซ้ำกันทุกนาทีเหมือนในสายการผลิตรถยนต์
ทีนี้ งานก่อสร้างมันเป็นงานแบบแรก คือไม่ค่อยซ้ำกันในแต่ละวัน ซึ่งพอไม่ซ้ำกัน มันยากที่จะเก่งหรือเชี่ยวชาญได้เท่าคนที่ทำงานซ้ำ ๆ ในทุกวัน สมมุติเราทำโปรเจกต์นี้ 3 เดือน แล้วห่างไปอีก 6 เดือนกลับมาทำใหม่ ความชำนาญมันไม่เหมือนเดิม ต่างจากงานผลิตที่คุณทำทุกวัน ทำซ้ำได้แบบแม่นยำ ผมก็เลยพยายามเอาแนวคิดของงานผลิตมาใช้กับงานก่อสร้าง
ในแง่เทคนิค เราพยายามเปลี่ยนงานก่อสร้างให้เป็นงานผลิต เหมือนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เคยทำมา เช่น แทนที่จะให้คนขึ้นไปติดตั้งแผงทีละแผงบนหลังคา เราก็ประกอบบางส่วนไว้ที่โรงงานก่อน ทำเป็นไลน์ผลิตไหลไปเรื่อย ๆ ให้คนขึ้นหลังคาน้อยลง ลดความเสี่ยง และควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้นด้วย
ถ้านึกเรื่องแผงโซลาร์ไม่ออก คือเราทำโซลาร์ เราทำโรบอท ก็เอาแผงโซลาร์ประกอบที่โรงงานก่อน แล้วก็ให้คนเดินบนหลังคาน้อยลง การประกอบที่โรงงานก็ไหลไปเป็นไลน์ผลิต แต่ไม่เหมือนการเดินไปทีละแผง วันหนึ่งทำฐาน วันนึงทำโครง วันนึงทำแผง เหมือนกันกับงานก่อสร้าง พูดง่าย ๆ ก็คือ เราลดเนื้อหางานที่เป็นก่อสร้าง แล้วเพิ่มงานที่เป็นส่วนที่เราถนัดมากกว่าเข้ามา
วิธีนี้เรียกว่า Prefab?
Prefab เป็น Prefabrication ของระบบแผงโซลาร์ สมมุติว่าแต่ก่อนเราต้องใช้เวลาติดตั้งโซลาร์หนึ่งงานถึง 60 วัน แต่พอเราเปลี่ยนระบบให้เป็น Prefabrication เราสามารถลดเวลาเหลือแค่ 10-11 วันเท่านั้น เพราะเราทำชิ้นส่วนที่โรงงานไว้หมดแล้ว แยกเป็นชิ้นส่วนใหญ่ ๆ แล้วขนไปติดหน้างานแบบรวดเร็ว
คุณจัดการกับความไม่รู้ยังไง
ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ผมแยกเป็น 3 เรื่องเลย
เรื่องแรก กรอบวิธีคิด
เรื่องต่อมา วิธีการ Implement
เรื่องสุดท้าย คือ ความเชื่อและวัฒนธรรม
เรื่องกรอบวิธีคิด ผมว่าอันนี้เรื่องใหญ่ แล้วก็ต้องยอมรับว่าผมได้เรื่องนี้จาก อีลอน มัสก์ เยอะ ผมพูดชื่อนี้บ่อยมาก (หัวเราะ) เอาเป็นว่าผมรู้จักเขามา 10 กว่าปี แล้วก็ผมมั่นใจว่าผมดูทุกคลิปในช่วงที่เขายังไม่ดัง แล้วก็ตอนที่ SE-ED ทำหนังสือ ผมก็เป็นบรรณาธิการร่วมเลย เขาหาคนที่รู้เรื่องไม่ได้ตอนนั้น ก็เลยจะกล่าวถึงชื่อนี้บ่อย เดี๋ยวคิดว่าผมเป็นแบบศาสดา เอาเป็นว่าผมเรียนรู้จากเขาเยอะแล้วกัน
อีลอน มัสก์ เคยอธิบายไว้ว่าทำไมเขาถึงสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา เพราะเขาไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบที่คนทั่วไปใช้กัน เขาบอกว่า คนส่วนใหญ่มักให้เหตุผลด้วยวิธีเปรียบเทียบ (analogy) เช่น เวลาจะบอกว่าเครื่องดื่มชนิดนั้นคืออะไร เราก็เริ่มจากสิ่งที่เรารู้จักอยู่แล้ว เช่น สิ่งนั้นน่าจะเป็นกาแฟ เพราะสีน้ำตาล หรือน้ำแก้วนั้นน่าจะไม่ใช่กาแฟ เพราะไม่ใช่สีน้ำตาล แบบนี้เป็นการคิดจากสิ่งที่มีอยู่ แล้วค่อยต่อยอดออกไป
ในแง่ของแบตเตอรี่ ทุกคนบอกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมนำไปไม่ได้หรอกมันแพง ถ้าเราอยู่ยุคนั้นแบตเตอรี่มันเล็กมาก รู้จักซาวด์เบาท์ (Soundabout) ไหม แพงมากนะลิเทียม คุณจะเอามาใส่รถยนต์คุณต้องใช้เป็นพัน ๆ ลูกมันเป็นไปไม่ได้ เขาบอกว่า พอทุกคนสรุปแบบนี้ ทุกคนหมายถึงว่าในอุตสาหกรรมรถยนต์นะ ก็เลยไม่มีใครทำต่อ เพราะลิเทียมแพง จบ
แต่เขาไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบ First Principles ก็เป็นหลักปรัชญาหนึ่งในอดีต เพราะว่า First Principles ตรงข้ามคือไม่ได้เริ่มจากอะไรที่มีอยู่แล้วนะ เขาบอกว่า “I think it’s important to reason from first principles rather than by analogy. [With first principles] you boil things down to the most fundamental truths…and then reason up from there.” ก็คือว่าย่อยมันจนถึงความจริงที่พื้นฐานที่สุดก่อน ย่อยลงไป เวลาเราเห็นอะไรเราก็ค่อยสร้างขึ้นมาใหม่จากสิ่งย่อย ๆ นั้น
เขาย่อยผ่านการคิดแบบ First Principles พอย่อยข้อมูลดูจริง ๆ เขาพบว่าสิ่งนั้น คือ ลิเทียม ทั้งที่มีสัดส่วนแค่ 2-3% ของราคาทั้งก้อน ไม่ได้แพงอย่างที่คิด ที่มันแพงเพราะกระบวนการต่างหาก คือแร่ถูกขุดในประเทศหนึ่ง ส่งไปถลุงอีกประเทศหนึ่ง ขนส่งไปอีกประเทศเพื่อขึ้นเป็นโมดูล แล้วประกอบเข้ากับรถยนต์อีกประเทศหนึ่ง กระบวนการทั้งระบบนี้ วนรอบโลก ถึง 2 ครั้งกว่าแบตเตอรี่จะเสร็จ จึงไม่แปลกที่ต้นทุนจะแพง
เพราะแบบนั้น เขาเลยสร้างโรงงานที่ขาเข้าเป็นแร่ ขาออกเป็นรถยนต์ สองรอบโลกอยู่ในโรงงานเดียว ลดการขนส่ง ลดต้นทุนแบบมหาศาล นี่คือผลลัพธ์ของการใช้ First Principles Thinking ในการแก้ปัญหา และถ้าฟัง speech ของเขาทุกครั้ง จะเจอคำว่า First Principles อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบตเตอรี่ จรวด หรืออะไรก็ตาม
แน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้หรือทำสิ่งใหม่ ๆ การคิดแบบเปรียบเทียบก็ยังจำเป็น เพราะถ้าเราไม่รู้ว่า นี่คืออะไร เราก็ต้องเทียบกับสิ่งที่เรารู้มาก่อน เช่น AI เองก็ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในการจำแนกข้อมูล แต่พอถึงจุดที่เราจะพัฒนาอะไรใหม่ ๆ หรือทำให้มันดีขึ้นกว่าที่เคยมีมา วิธีคิดแบบ analogy เริ่มจะตัน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ First Principles แทน
ผมเองก็ใช้แนวคิดนี้กับทีม Product Development บ่อยมาก เวลาจะเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ผมจะบอกเสมอว่า “คุณอย่าเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่าเอาแค่สิ่งที่คนอื่นเล่ามาต่อ ๆ กันมา แล้วก็ทำตาม” เพราะนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่เราไม่มีทางสร้างของใหม่ได้เลย นี่คือเรื่องแรก
ซึ่งสำหรับผมความล้มเหลวเป็นเพื่อนกัน มันเยอะจนผมไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไรเลย มันเยอะมากจริง ๆ ผมว่าก็นี่แหละมนุษย์เป็นอย่างนี้แหละ เรื่องความล้มเหลวเรื่องปกติอยู่แล้ว ใครไม่เคยล้มเหลวน่ากลัวมากเหมือนกันนะ แล้วผมคิดว่ากลับเป็นเรื่องดีเลย เราต้องโอบกอดความล้มเหลวมาก ๆ แต่ทำให้มัน lean รีบล้มรีบลุกทำใหม่ แต่ถ้าให้ผมเล่าความล้มเหลวตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อนในการทำธุรกิจ โอ้โห มันเยอะ ทำธุรกิจตอนอายุ 23 ผมจบตอนอายุ 21 ทำงาน 2 ปีก่อน พออายุ 23 ทำธุรกิจได้ 6 เดือนโดนโกงหมดเลย พอมองกลับไปก็ถูกแล้ว วันนั้นมันเจ็บปวดแหละ แต่ความเจ็บปวดมันก็สร้างเรา ก็เรียกว่าเป็นเพื่อนกัน เราอยู่กับมันให้เป็นจะดีมาก ๆ
เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องวางแผนการล้มดี ๆ ถ้าคุณจะล้ม ซึ่งผมว่าอันนี้สำคัญ ช่วงเริ่มทำธุรกิจผมอ่านหนังสือสำหรับสตาร์ตอัป คือ The Lean Startup บอกว่าวิธีคิดแบบเดิมที่ว่าคุณจะทำผลิตภัณฑ์นึงออกมาออกมาขายในตลาด คุณใช้เวลาทำปีนึง แล้วกว่าจะทำปีนึงออกมา คิดวันแรก ออกมาวันที่ 300 กว่าวันนั้นถึงจะทำเสร็จก็ตามเอาไปขายตลาดคือตลาดจะเปลี่ยนไปแล้ว แล้วระหว่างทางคุณไม่ได้ feedback อะไรจากลูกค้าเลย พอออกมาก็มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้น Lean Startup จึงบอกว่ายุคใหม่มันต้องทำให้เหมือน Facebook คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ทราบไหมว่าตั้งแต่เขาเริ่มโค้ดจนปล่อย facebook.com ใช้เวลาเท่าไหร่
น่าจะหลักเดือนได้ไหม
เดือนใช่ไหม ใช้เวลาสองอาทิตย์ (ยิ้ม)
นี่คือต้นฉบับ Lean Startup สองอาทิตย์ปุ๊บปล่อยขึ้นเว็บแล้วก็ใช้บางฟังก์ชันได้แล้ว แล้วก็ให้คนเข้ามาใช้ เข้ามาใช้ปั๊บ feedback มันมาเอง เช่น มีปัญหาอะไร ใช้งานตรงไหนไม่ได้ เราก็เอากลับมาแก้ไขในคืนนั้นเลย แล้วก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จุดสำคัญ คือคุณต้องกล้าที่จะล้ม และต้องล้มเร็วในแบบที่ไม่พังพินาศ คือพลาดได้ แต่ต้องเป็นความพลาดที่จำเป็น เรียนรู้ได้ แล้วลุกกลับขึ้นมาใหม่ได้ ไม่ใช่พลาดครั้งเดียวแล้วพังทั้งระบบ เพราะแบบนั้นจะไปไม่รอด
เรื่องสุดท้าย คือเรื่องความเชื่อและวัฒนธรรม เรามีวิธีคิดว่าเราต้องเชื่อว่าเราเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องของความเท่าเทียม (equality) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับการทำสิ่งใหม่ ๆ มาก ในสังคมไทยเราอาจไม่ได้รู้สึกถึงความเท่าเทียมแบบที่ยุโรปหรืออเมริกามี เราอาจชินกับลำดับชั้น แต่เวลาคุณอยากทำอะไรใหม่ ๆ แล้วคุณไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร ความเท่าเทียมจะช่วยให้คุณกล้าถาม กล้าทัก กล้าแสดงความเห็น เช่น ลูกน้องสามารถทักหัวหน้าได้ ไม่ว่าจะมีเพศสภาพใด หรือชาติพันธุ์ หรือศาสนาอะไร ทุกคนต้องพูดได้เท่ากันหมด เหมือนกับโซลาร์เซลล์นี่เป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่ถึง 20 ปี ยังไม่มีสูตรสำเร็จว่าอะไรดีที่สุด ถ้าเรามี hierarchy (ลำดับชั้น) มากเกินไป คนก็จะไม่กล้าพูด สุดท้ายเราจะช้ากว่าคู่แข่ง เชื่ออย่างเดียวทำโดยไม่ต้องคิดอันตรายมากกับธุรกิจ เพราะงั้นเราต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนช่วยกันหาทางที่ผิดน้อยที่สุดแล้วเดินไปด้วยกัน
คุณเองก็เป็นเหมือนชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ค่อนข้างเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ อะไรทำให้คิดว่าอยากจะทำให้เรื่องพลังงานกระจายเข้าถึงคนทุกกลุ่ม
ผมเองไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนที่สบายขนาดนั้นนะ ตั้งแต่เด็กจนโต ผมโตมาในครอบครัวที่ต้องค้าขาย ต้องดิ้นรน พอเข้ากรุงเทพฯ ก็ยิ่งต้องพยายามมากขึ้น ผมเลยไม่รู้สึกว่าเป็นคนใน 1% จริง ๆ เวลาขายของก็แยกก่อนเลยว่านี่คือธุรกิจ ถ้าจะรวยจริงก็ต้องขายให้ทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มบนของพีระมิด แต่สิ่งที่คุณถามมันลึกกว่านั้น คือทำไมต้องสนใจคนกลุ่มแมสด้วย ผมว่ามันมาจากความรู้สึกผิดเล็ก ๆ นะ สมมุติเรานั่งในรถติดไฟแดง แล้วเห็นเด็กยืนขายน้ำส้มกลางแดด อากาศร้อน ๆ มันไม่ใช่แค่จะให้เงินหรือไม่ให้ แต่คือคำถามว่า “ทำไมยังมีภาพแบบนี้อยู่” เด็กคนนั้นต้องร้อนมากแน่ ๆ แล้วเราก็รู้สึกผิดนิด ๆ ที่เห็นสิ่งนี้แล้วนั่งอยู่ในรถเย็น ๆ
แล้วโลกควรเป็นแบบไหน
ผมคิดว่าเรื่องนี้ อาจมีวิธีคิดสองแบบคือ
หนึ่ง - โลกเป็นแบบนี้แหละ ก็ปล่อยไปเถอะ
สอง - โลกไม่น่าเป็นอย่างนี้หรอก แต่เผอิญเราทำอะไรบางอย่างไม่ดี มันก็เลยเป็นอย่างนี้
ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สอง มันมีโอกาสทำให้มันดีกว่าได้ ถ้าเราพูดให้สามารถจับต้องได้มากกว่านี้ เช่น คุณมีชีวิตดีมากนะ ดีสุด ๆ เลยแต่อยู่ในสังคมที่มันไม่ดี เห็นโจรวิ่งราวเยอะไปหมด แล้วคุณจะมึความสุขได้ไง
เพราะฉะนั้นแล้ว กรุงเทพฯ ก็สะท้อนสิ่งนี้ได้ดี เป็นเมืองที่ถ้าคุณมีเงิน คุณจะรู้สึกเหมือนอยู่บนสวรรค์ แต่ถ้าไม่มีเงิน มันก็แทบจะเป็นนรก แล้วสองฝั่งนี้เดินถึงกันด้วยซ้ำ ตึกสูงหรูหรากับสลัมอยู่ติดกัน แต่เราหลอกตัวเองไม่ได้ เพราะตึกพวกนั้นต้องพึ่งแรงงานจากฝั่งสลัม ถ้าสังคมแยกกันสุดขั้ว เราจะรู้สึกเหมือนอยู่ใน zero-sum game คือมีคนชนะก็ต้องมีคนแพ้ ผมไม่เชื่อแบบนั้น ผมเชื่อว่าสังคมควรเป็น win-win ได้ เราอยู่ในสังคมที่ดี คนรอบตัวเราก็ควรดีด้วย นี่คือที่มาของตัว ‘D’ ในชื่อ ‘Solar D’
แนวคิดเรื่องอิสรภาพทางพลังงาน คืออะไร
อิสรภาพทางพลังงาน คือการที่คุณไม่ต้องพึ่งไฟจากสายส่งเท่านั้น วันนี้ถ้าเราไม่มีสายส่ง ยกตัวอย่างง่าย ๆ คุณอยู่ปลายนา สมัยก่อนคุณอาจใช้เครื่องปั่นไฟใส่น้ำมันก็ได้ แต่คุณต้องเติมน้ำมันตลอด มันไม่สะดวกเลย แต่โซลาร์ทำให้คุณผลิตไฟฟ้าเองได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งโครงสร้างใหญ่ ๆ มันง่ายแค่นั้นเลย นี่คือพื้นฐานของคำว่า อิสรภาพทางพลังงาน
ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมองความสำเร็จจากอะไร ยอดขาย หรือว่าการที่เห็นคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผมว่าต้องมาคู่กัน มนุษย์เราก็มีความเห็นแก่ตัวอยู่นะ ถ้าจะไม่เท่ากันเลย แต่เราดีหน่อยก็น่าจะดี แต่ถ้าเราดีแล้ว สมมุติคนใกล้คนไกล เช่น คนใกล้อาจจะคนในครอบครัว คนในเมืองเดียวกัน เราก็คงรู้สึกว่าให้คนใกล้ตัวเรา ดีกว่าคนไกลตัวไปหน่อยก็น่าจะดี ผมว่าเป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดามากที่เราอยากให้ใกล้ ๆ ตัวเราดี เพราะเราเองก็อยากอยู่ในสังคมที่มันโอเค คำว่าสังคมที่มันโอเค คือทุกคนก็ดีโดยไม่ต้องต่างกันมาก ซึ่งเวลาคุณอยู่อะไรที่มันคนละโลกกันแบบนี้ มันน่ากลัว คุณจะรู้สึกผิด คุณรู้สึกว่ามันไม่น่าอยู่ คุณอาจจะอยู่ในบ้านสบายมาก แต่พอคุณขับรถออกมา กลับเจอแต่เรื่องอะไรไม่รู้ แล้วจะอยู่ได้ยังไง
แล้วก็สิ่งที่ผมอยากตื่นขึ้นมาเจอ คือเอาเป็นในบริษัทก่อน ผมอยากตื่นเช้ามาแล้วเจอคนที่มี passion รู้สึกทำได้อีก อยากทำ สนุกกับมันนะ คิดเป้าหมายนี้อยู่แล้วไปกันต่อ ล้มก็ตบบ่ากับเราแล้วไปกันต่อ ผมคิดว่าอันนี้ก็มันเป็นอะไรดี เป็นจิตวิญญาณของคนที่ไม่ต้องทำธุรกิจหรอก เป็นคนที่สู้เพื่อจะพิชิตอะไรบางอย่างก็มีได้ ถ้าเราตื่นมาแล้วเจอเพื่อนพวกเดียวกันแบบนี้ก็สนุกนะ ซึ่งผมคิดว่าถึงจุดนึงเราก็เป็นอย่างนั้นอยู่เหมือนกัน
แต่ถ้าในเชิงสังคม อันนี้กว้าง แต่ผมจะสรุปง่าย ๆ คือสมมุติว่าผมมีลูก แล้วในยุคที่ลูกผมโตมา เขาไม่ต้องกังวล ไม่ว่าเขาจะใช้ชีวิตห่วยแตกแค่ไหน ไม่มีงานทำ เรียนไม่จบ แต่ชีวิตเขายังดี เพราะว่า safety net มันดีมาก ๆ วิธีคิดมันถูกปรับใหม่ เพราะวันนี้เราให้คุณค่าชีวิตโยงด้วย work ethic เราโยงเรื่องคนจะมีค่า ไม่มีค่าผูกอยู่กับเรื่องงาน เรากำลังต้องหาคุณค่าใหม่ ผมก็คิดว่าลูกผมคง 10-20 ปีข้างหน้า โอกาสหางานทำคงยาก ดังนั้นถ้าสังคมเขาไม่ต้องเครียด ยกตัวอย่าง เยอรมัน รัฐจ่ายให้ถึงอายุ 25 ปีนะ เพื่อบอกจบแล้วไม่ต้องรีบ คุณจะได้มีเวลาหางานที่ถูกกับคุณ แต่ถ้าคุณรีบมาก ต้องรีบกินต้องรีบใช้ อาจจะได้งานที่ไม่ดี ฉะนั้นผมว่าอันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง นั่นแหละจุดที่ว่ามันดีมาก ๆ แล้วก็คือจุดที่ safety net มันดีมาก ๆ จนเราไม่ต้องกังวลว่าเพื่อนเราจะลำบากไหม ครอบครัวเราจะลำบากไหม เพราะสุดท้าย สมมุติว่าพรุ่งนี้เราไม่อยู่ ทุกคนก็ใช้ชีวิตได้ดีอยู่ดี เพราะฉะนั้น นี่คือภาพรวมสังคมในอุดมคติน่าจะเป็นจุดที่ดี
ความสนุกของการทำงานทุกวันนี้ คืออะไร
ทุกวันนี้สิ่งที่ผมสนุก คือเรามีเป้าหมายใหม่ ๆ เป้าหมายแรก ๆ อาจจะเป็นเรื่องการทำโรบอท แต่พอเวลาผ่านไป เป้าหมายก็เปลี่ยน เช่น ในวงการโซลาร์ที่การแข่งขันสูงมาก ความท้าทายใหม่ คือการกระจายรายได้ออกไปให้กว้างขึ้น ไม่ให้รวมศูนย์ไว้แค่กลุ่มเดียว แล้วถ้าเราไปให้ไกลกว่านั้นได้อีก อาจไปถึงระดับ abundance คือมีทรัพยากรมากพอสำหรับทุกคน ผมว่าเป้าแบบนี้มันทั้งใกล้ กลาง ไกล และมันสนุกมากจริง ๆ