24 ก.ค. 2568 | 16:20 น.
KEY
POINTS
มีคำเปรียบเปรย ว่าชีวิตบางคนเป็นยิ่งกว่าเทพนิยาย จากความเหลือเชื่อหลายประการที่เป็นองค์ประกอบของเรื่องราว
แต่กับบางคน บางครั้ง เทพนิยายก็มิอาจเทียบได้เลย กับความโลดโผนโจนทะยานของโชคชะตา
บางครั้ง การเลือกทางเดินชีวิตของบางคน ทำให้เกิดเส้นทางใหม่ ที่ได้เปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตอย่างนิจนิรันดร์
‘รองเท้าแก้ว’ ของ ‘ซินเดอเรลล่า’ จึงมีความหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่องราว
สำหรับ ‘คะโต้ ยูกิ’ แล้ว ‘รองเท้าแก้ว’ ของเธอคือ ‘ซอโคะคิว’ ที่หวานซึ้งตรึงใจ เป็น ‘รักแรกพบ’ ของ ‘เจ้าชายในโลกแห่งความเป็นจริง’ เขามีชื่อว่า ‘จอร์จ เดนิสัน มอร์แกน’
เขาใช้เวลาเทียวไล้เทียวขื่อกว่า 3 ปี กว่าที่ ยูกิจะยอมขึ้น ‘รถม้าฟักทอง’ เข้าพิธีวิวาห์
เพราะตอนนั้น ยูกิมีคนรักที่เธอต้องคอยส่งเสียให้เรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต
ขบวนขันหมากขนเงินมาไม่อั้นกว่า 100,000 เยน เทียบกับค่าเงินปัจจุบันจากปี ค.ศ. 1904 กับปี ค.ศ. 2024 ก็ตก 2,000,000,000 เยน
ท่ามกลางสายตาสงสัยของผู้คนในสังคม ที่มองว่า การที่ผู้หญิงญี่ปุ่นแต่งงานกับคนต่างชาติในเวลานั้น เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อยูกิเป็น ‘เกอิชา’
สายตาสงสัยของชาวบ้าน คงคล้ายกับ ‘แม่เลี้ยงใจร้าย’ ในเรื่อง ‘ซินเดอเรลล่า’ ที่คอยขัดขวางรักแท้กับ ‘เจ้าชาย’
ในตอนนั้น จอร์จ ซึ่งอายุมากกว่ายูกิราว 10 ปี ได้ตกหลุมรักเธอทันทีที่แรกเห็น ยูกิเกล้าผมยาวดำขลับ ออกมาพร้อมแป้งขาวนวลบนใบหน้า ในชุดกิโมโน รำฟ้อน ร้องเพลง คลอซอโคะคิวสุดฝีมือ
คืนนั้น และอีกหลายปีต่อมา จอร์จเฝ้าเพียรขอยูกิแต่งงาน แต่ยูกิไม่เคยตอบตกลงสักครั้ง เธอตกอยู่ในภวังค์รักระคนสับสน ระหว่างจอร์จกับชายหนุ่มอีกคน
แต่จอร์จไม่ยอมแพ้ เขาตรากตรำพากเพียรแวะเวียนมาหา และขอเธอแต่งงานอีกหลายครั้ง ตระเตรียมสินสอดทองหมั้นครั้งแรกมากถึง 40,000 เยน หรือตกราว 800 ล้านเยนในปัจจุบัน เพื่อสู่ขอยูกิเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สื่อมวลชนในเกียวโตพากันประโคมข่าว ว่ามีเกอิชาขายตัวเพื่อแลกกับเงินมหาศาล กระแสข่าวกระจายไปทั่วญี่ปุ่น
ยูกิทุกข์ใจจนพยายามปลิดชีวิตตนเอง ร้อนถึงเพื่อน ๆ ต้องนำความไปแจ้งหลวงพ่อแห่งวัดประจำตระกูลคะโต้ เจ้าอาวาสวัดโดจูอิน ทนเห็นสภาพยูกิไม่ได้ จึงสอนให้เธอนั่งสมาธิ
ยูกิใช้เวลาที่วัดนานนับเดือน เพื่อน ๆ สลับกันนำปิ่นโตมาส่งวันแล้ววันเล่า จนยูกิเริ่มคิดถึงความรักอันบริสุทธิ์ที่จอร์จมีให้เธอ ยูกิจึงตัดสินใจแต่งงานกับจอร์จในที่สุด
ปลายฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1881 คะโต้ ยูกิ ถือกำเนิดขึ้นในเกียวโตอันแสนงดงาม เรียบง่าย ในโลกที่ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะ ปะปนอยู่กับเกียรติยศที่มองไม่เห็น
เกียวโตในเวลานั้น ได้หล่อหลอมลมหายใจของผู้คนท่ามกลางความผันผวนที่กำลังคืบคลานเข้ามา
ยูกิเป็นลูกสาวคนเล็กของ ‘เฮย์สึเกะ’ พ่อค้าดาบผู้ต่ำต้อย และเป็นน้องสาวเจ้าของ ‘โอกิยะ’ ร้านน้ำชาชื่อดังแห่งกิออน ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตอันแสนพิเศษของเธอ
เวลานั้น โอกิยะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา ทุกคืน ร้านน้ำช้าเล็ก ๆ แห่งนี้ คราคร่ำไปด้วยชาวเกียวโตผู้มั่งคั่ง และแขกต่างชาติ ณ ที่แห่งนี้ ยูกิได้ก้าวเข้าสู่ชีวิต ‘เกอิชา’ เป็นครั้งแรก เมื่ออายุ 14 ปี
เธอได้เป็น ‘ไมโกะ’ หรือลูกศิษย์ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากพี่สาวที่เคี่ยวกรำทักษะอันเชี่ยวชาญของเกอิชาแห่งเกียวโต
โลกของยูกิเธอถูกจำกัดด้วยจังหวะการร่ายรำ และนิ้วที่พรมบนซอโคะคิว เธอถูกสอนให้ยิ้มแย้มแจ่มใส เดินเหินไปในร้านน้ำชาราวกับเท้าไม่เคยแตะพื้น
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การรู้จักรักษาระยะห่าง ระหว่างโลกที่เธออาศัยอยู่ กับความปรารถนาของเหล่าบุรุษผู้โปรยธนบัตรเพื่อให้ได้อยู่ใกล้เธอ
หลังจากยูกิเติบโตเป็นเกอิชาเต็มตัว เสียงเล่าลือถึงพรสวรรค์ของเธอก็ขจรกระจายไปทั่วเกียวโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝีมือซอโคะติวอันแสนเศร้าสร้อยราวกับจะถ่ายทอดความงามอันเลือนรางจาก ‘โลกของเกอิชา’ สู่ ‘โลกแห่งความเป็นจริง’
เวลานั้น ร้านโอกิยะได้ยกระดับขึ้นเหนือร้านน้ำชาในเกียวโตทั้งมวล เมื่อประกาศรับเฉพาะแขกชาวต่างชาติเท่านั้น
ปี ค.ศ. 1901 สายลมแห่งโชคชะตาได้พัดพาเข้าสู่โอกิยะ
จอร์จ เดนิสัน มอร์แกน ทายาทแสนมั่งคั่งชาวอเมริกัน ผู้เป็นหลานชายหัวแก้วหัวแหวานตำนานนักการเงินระดับโลก ‘เจ.พี. มอร์แกน’ ได้เดินทางมาเกียวโต
พกหัวใจที่แตกสลายจากชีวิตคู่ที่ผุพัง มาแสวงหามุมสงบ ท่ามกลางความลึกลับแห่งโลกตะวันออก
พลันเมื่อย่างกรายเข้าภายในโถงของโอกิยะได้ไม่นาน จอร์จพบว่าตนเองหลงใหลยูกิอย่างหัวปักหัวปำ
เขากลับไปเกียวโตถึง 3 ครั้งในช่วง 4 ปีต่อมา แต่ละครั้งที่ได้เยือน ยิ่งตอกย้ำความตั้งใจแต่งงานกับยูกิที่กำลังหลงทาง เธอติดอยู่ระหว่าง 2 โลก คือชีวิตที่มั่นคงแต่คาดเดาได้กับ ‘ชุนสึเกะ คาวาคามิ’ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตอิมพีเรียล คนรักของเธอ กับเส้นทางที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งจอร์จได้มอบให้
ในที่สุด วันที่ 30 กันยายน ปี ค.ศ. 1903 จอร์จได้เสนอสินสอดให้พี่สาวยูกิเป็นเงิน 100,000 เยน ซึ่งเป็นเงินมหาศาลเกินกว่าจะจินตนาการได้ในสมัยนั้น
หลังจากสับสนอยู่หลายปี ครานี้ เธอตอบรับ และยุติความสัมพันธ์กับชุนสึเกะ งานแต่งงานของพวกเขาที่สถานกงสุลโยโกฮาม่า เป็นการผสมผสานระหว่างตะวันออก กับตะวันตกอย่างแปลกประหลาด
สื่อมวลชนญี่ปุ่นในเวลานั้น ขนานนามให้เธอว่า ‘ซินเดอเรลล่าแห่งเกียวโต’ ทว่า เทพนิยายเรื่องนี้กลับมีขวากหนามที่มองไม่เห็นรอคอยอยู่
คู่รักข้าวใหม่ปลามันเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา แต่พระราชบัญญัติต่อต้านญี่ปุ่นของสหรัฐฯ ทำให้ยูกิไม่สามารถขอสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันได้ ร้ายกว่านั้น ครอบครัวมอร์แกนยังแสดงท่าทีไม่ต้อนรับเธออย่างชัดเจน ทำให้คู่รักข้าวใหม่ปลามันต้องเดินทางกลับญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1905
ยูกิได้เรียนรู้ว่า ทั้งอเมริกา และญี่ปุ่น ต่างไม่มีที่ยืนให้กับผู้หญิงอย่างเธอ
ทันทีที่กลับมา ตำแหน่ง ‘ซินเดอเรลล่า’ ทำให้เธอถูกสื่อญี่ปุ่นรุมขย้ำ พวกเขาตราหน้าว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ถูกล่อลวงด้วยความมั่งคั่ง
หลังจาก 2 ปีอันแสนวุ่นวาย จอร์จและยูกิได้เดินทางไปยุโรป ทั้งคู่กลายเป็นบุคคลสำคัญในสังคมปารีส ความงามอันแปลกตา และอดีตอันลึกลับของยูกิ สร้างความสนเท่ห์ในหมู่ขุนนาง และปัญญาชนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก
ปี ค.ศ. 1915 โศกนาฏกรรมแรกเกิดขึ้น เมื่อจอร์จเสียชีวิตกระทันหันด้วยอาการหัวใจวายในวัย 44 ทำให้ยูกิต้องกลายเป็นม่ายในวัยเพียง 34 ปี
ความโศกเศร้า เกิดขึ้นพร้อมความเกรี้ยวกราด ยูกิเปิดหน้าสู้คดีอย่างดุเดือดกับตระกูลมอร์แกนเพื่อแย่งชิงมรดก จนในที่สุดเธอได้รับเงิน 600,000 ดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างสุขสบาย
ทว่า ต้องแลกมาด้วยสัญชาติอเมริกัน
ยูกิจำต้องจากฝรั่งเศส พร้อมเงาอดีตที่ยังคงหลอกหลอนด้วยความทรงจำที่เธอทิ้งไว้เบื้องหลัง
ปี ค.ศ. 1916 ยูกิพบรักใหม่กับ ‘ซานดูลฟ์ ตันดาร์ต’ นายทหาร และนักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เธอตั้งใจไม่แต่งงานกับเขา เพราะกลัวว่าตระกูลมอร์แกนจะตามมายึดทรัพย์สมบัติ
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยืนยาวหลายปี เธอสนับสนุนการศึกษาของเขาด้วยมรดกของเธอ
แต่แล้ว เมื่อตันดาร์ตเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1931 ยูกิก็ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังอีกครั้ง
เธอย้ายไปอยู่ที่วิลล่าในเมืองนีซ เป็นเซเลบผู้โดดเดี่ยวท่ามกลางความเสื่อมโทรมของเฟรนช์ ริเวียรา
และแล้ว โลกทั้งใบก็ได้เข้าสู่สงครามในปี ค.ศ. 1938 ยูกิเดินทางกลับญี่ปุ่น เธอได้รับการต้อนรับที่ท่าเรือนางาซากิจากสื่อมวลชนที่ไม่เคยลืมซินเดอเรลล่าของพวกเขา
ทว่า ผู้หญิงที่กลับมานี้ หาใช่เด็กสาวคนเดิมที่ออกจากเกียวโต เธอลืมวิธีร้องเพลง และนิ้วของเธอก็ไม่รู้จักสายซอโคะคิวอีกต่อไปแล้ว
สงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาซึ่งความยากลำบากทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ระบบการปกครองของทหาร ทรัพย์สินของเธอถูกยึด ยูกิกลายผู้ไร้รัฐ และยากจนข้นแค้น ชื่อของเธอค่อย ๆ เลือนหายไปในความมืด
หลังสงคราม ยูกิสามารถทวงคืนมรดกของเธอได้ ตามด้วยการย้ายถิ่นฐานที่ทำให้หลายคนประหลาดใจ เธอเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเมื่ออายุ 71 ปี โดยใช้ชื่อในพิธีบัพติศมาว่า ‘เทเรซ่า’
ยูกิใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบสุขกับ ‘นามิเอะ’ บุตรบุญธรรม ในบ้านหลังเล็ก ๆ ใกล้วัดโดจูอินในเกียวโต ซึ่งเธอได้บริจาคทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ให้ไว้
เรื่องราวของ ‘ซินเดอเรลล่าแห่งเกียวโต’ จบลงในปี ค.ศ. 1963 เมื่อเธอเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม ขณะมีอายุ 81 ปี
ปารีสได้มอบกุหลาบขาวพันธุ์ใหม่ให้กับเกียวโต พวกเขาตั้งชื่อกุหลาบนี้ว่า ‘ยูกิซัง’ เพื่อรำลึกถึงสตรีผู้ก้าวข้ามความคาดหวังอันคับแคบของยุคสมัย ในห้วงเวลาอันรุ่งโรจน์แสนสั้น
ด้วยเหตุนี้ ชีวิตของ ‘คะโต้ ยูกิ’ เด็กกำพร้าของ 2 โลก จึงกลายเป็นตำนาน
เรื่องราวชีวิตของยูกิ ถูกนำไปเขียนเป็นนวนิยาย สร้างเป็นละครเพลง ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์
ก่อนเสียชีวิต ยูกิไปไหว้พระ และนั่งสมาธิที่วัดโดจูอินเป็นประจำ กระทั่ง ‘พระฟุโดเมียวโอ’ พระประธานของวัด ได้รับการนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้หญิงทำงานกลางคืน และนักแสดง
หลัง ‘ยูกิ’ เสียชีวิตไปแล้ว เหล่า ‘เกอิชา’ และหญิงสาวจำนวนมาก ได้พากันมากราบไหว้พระที่วัดโดจูอินเป็นประจำ ตราบจนปัจจุบัน...
เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน
ภาพ: www.ndl.go.jp/portrait