ตัวตนจริงของ 8 นักดนตรีบนเรือไททานิก บรรเพลงถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ก่อนจมไปพร้อมเรือ

ตัวตนจริงของ 8 นักดนตรีบนเรือไททานิก บรรเพลงถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ก่อนจมไปพร้อมเรือ

ขณะที่เรือไททานิก กำลังจะจม บรรยากาศโกลาหลขั้นสุด กลับมีเสียงดนตรีคลอจาก 8 นักดนตรีที่ทำหน้าที่ของตัวเอง บรรเลงเพลงจนถึงวาระสุดท้ายก่อนเรืออับปาง กระทั่งมีปริศนาสงสัยว่า เพลงสุดท้ายที่ดังบนเรือคือเพลงใดกันแน่

  • ท่ามกลางบรรยากาศโกลาหลขณะที่เรือไททานิก กำลังจะอับปาง กลับมีเสียงดนตรีคลอไปด้วย ดนตรีนี้มาจากนักดนตรี 8 รายบนเรือที่เลือกทำหน้าที่ของตัวเองจนถึงวาระสุดท้าย
  • นอกเหนือจากตัวตนของนักดนตรีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้คนสงสัยกันคือ บทเพลงสุดท้ายที่ดังขึ้นบนเรือคือเพลงใดกันแน่

โศกนาฏกรรมที่เกิดกับเรือไททานิก (RMS Titanic) เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1912 คร่าชีวิตผู้คนบนเรือมากกว่าพันราย ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์คาดว่ามีอยู่หลักร้อยเท่านั้น

เรืออันยิ่งใหญ่ซึ่งเคยถูกขนานนามว่า ‘เรือที่ไม่มีวันจม’ ชนกับภูเขาน้ำแข็ง ช่วงเวลาขณะที่เรือกำลังจะอับปาง ผู้โดยสารต่างหาวิธีเอาตัวรอด ในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงก่อนเรือจะจมไปตลอดกาลเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือตำนานเล่าขานเกี่ยวกับเหล่าลูกเรือและเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายซึ่งยังทำหน้าที่ของตัวเองเท่าที่จะทำได้จนถึงวินาทีสุดท้าย

รายชื่อสามารถไล่เรียงมาตั้งแต่เอ็ดเวิร์ด สมิธ (Edward John Smith) กัปตันเรือซึ่งธำรงธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวเรือโดยรักษาการบนเรือตามหน้าที่ของตัวเอง ไม่สละเรือตราบจนถึงวาระสุดท้ายที่ไททานิกจมลง จนถึงวิศวกรที่พยายามให้เครื่องยนต์และแสงไฟบนเรือทำงานนานที่สุด หรือแม้แต่คนดูแลไปรษณีย์บนเรือ หากอ้างอิงตามรายงานแล้ว ห้องเก็บจดหมายถูกน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงระยะแรก บางรายงานบันทึกไว้ว่า ผู้ดูแลจดหมายพยายามนำซองพัสดุไปที่ดาดฟ้าเรือ ด้วยความหวังว่าให้มีจดหมายเหลือรอดไปได้มากที่สุด

ในบรรดาผู้กล้าหาญบนเรือ ตำนานที่กล่าวขานกันและเป็นที่ยกย่องร่วมกับลูกเรือคือวีรกรรมของ 8 นักดนตรีในวงบนเรือไททานิก

ดนตรีในชั่วโมงสุดท้ายบนเรือ

เป็นที่ทราบกันว่า ไททานิกเต็มไปด้วยความบันเทิงและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ไททานิกยังมีวงดนตรี 8 ชิ้นคอยบรรเลงสร้างความบันเทิงให้ หัวหน้าวงในครั้งนั้นเป็นชาวอังกฤษวัย 33 ปีชื่อวอลเลซ ฮาร์ทลีย์ (Wallace Hartley)

นักดนตรีอีก 7 รายที่เหลือมีรายนามคือ จอร์เกส ครินส์ (Georges Krins) นักไวโอลินจากเบลเยียม, โรเจอร์ บริคูซ์ (Roger Bricoux) นักเชลโลจากฝรั่งเศส, วิลเลียม เบรลลีย์ (William Brailey) นักเปียโนจากอังกฤษ, เพอร์ซีย์ เทย์เลอร์ (Percy Taylor) นักเปียโนจากอังกฤษ (บ้างบอกว่าเป็นนักเชลโล), จอห์น เวสลีย์ วูดวาร์ด (John Wesley Woodward) นักเชลโลจากอังกฤษ, จอห์น คลาร์ก (John Clarke) มือเล่นดับเบิลเบสจากอังกฤษ และจ็อก ฮูม (Jock Hume) นักไวโอลินจากสกอตแลนด์

มีเรื่องเล่าต่อกันมาจากปากคำของผู้รอดชีวิตซึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า วอลเลซ และสมาชิกในวงมารวมกันที่ดาดฟ้าเรือ และบรรเลงเพลงต่อเนื่องไป เชื่อกันว่าเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมงจนถึงวาระสุดท้ายเมื่อน้ำท่วมมาถึงเท้าของพวกเขา เหตุผลส่วนหนึ่งที่มักปรากฏในบันทึกหรือในรายงานของสื่อคือหวังว่าเสียงดนตรีจะช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกของผู้โดยสาร

ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงสุดท้ายของเรือไททานิกส่วนใหญ่มาจากปากคำของผู้รอดชีวิตซึ่งแต่ละคนให้ข้อมูลไว้แตกต่างหลากหลายกันไป สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับวงดนตรีนี้ นักวิชาการก็สันนิษฐานกันไปตามข้อมูล เช่น จอห์น แม็กซ์โทน-เกรแฮม (John Maxtone-Graham) นักประวัติศาสตร์ที่เขียนหนังสือ Titanic Tragedy: A New Look at the Lost Liner เชื่อว่า วงดนตรีน่าจะเริ่มต้นเล่นจากด้านในตัวเรือก่อน และย้ายไปเล่นด้านนอก ซึ่งไม่มีเปียโน ไม่มีแสงไฟมากนัก ไม่มีเก้าอี้ และไม่มีแท่นวางโน้ต ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ

หากยังจำเนื้อหาในภาพยนตร์ ไททานิก (Titanic, 1997) มีฉากที่ฉายให้เห็นนักดนตรีบรรเลงเพลงบนดาดฟ้าเรือด้วย ถ้าลองเทียบข้อมูลเรื่องเล่าและลองนึกภาพตาม เป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายบนเรือขณะที่มีเสียงดนตรีบรรเลงควบคู่กันไปด้วย เนื้อหาในภาพยนตร์ ไททานิก ส่วนที่จำลองสถานการณ์โดยมีเสียงดนตรีขับกล่อมไปด้วยก็อาจใกล้เคียงสถานการณ์ในอดีตอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

 

เพลงสุดท้ายบนเรือ

ผู้ศึกษาข้อมูลส่วนใหญ่เชื่อกันว่า บทเพลงสุดท้ายที่วงบรรเลงบนเรือไททานิกคือ Nearer My God To Thee อันเป็นเพลงสวดสรรเสริญในทางศาสนา อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่มองออกไปอีกทิศทางหนึ่ง

ปากคำของแฮรอลด์ ไบรด์ (Harold Bride) อีกหนึ่งผู้รอดชีวิตจากเรือ เขากล่าวกับนิวยอร์ก ไทมส์ (New York Times) สื่อเก่าแก่ในสหรัฐอเมริกาโดยยกย่องวงดนตรีที่บรรเลงจนถึงช่วงท้ายว่าเป็นฮีโร่ และกล่าวว่า “พวกเขาเล่น Autumn”

ในหนังสือ A Night to Remember เขียนโดย วอลเตอร์ ลอร์ด (Walter Lord) ซึ่งมักใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับไททานิก ลอร์ด เขียนขึ้นโดยเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างดี สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต 63 ราย เดิมทีแล้ว ลอร์ด เชื่อว่า เพลงนั้นคือเพลงสวดชื่อ Autumn แต่ในภายหลัง เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นเพลงวอลต์ซ (Waltz) ชื่อ Autumn

สอดคล้องกับความเห็นของจอห์น เกรฟ (John Graves) ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ทางทะเลแห่งชาติในกรีนวิช (Greenwich) มองว่า แฮรอลด์ ไบรด์ ผู้รอดชีวิตได้เอ่ยถึงเพลงวอลต์ซ (Waltz) ชื่อ Autumn แต่สื่อสิ่งพิมพ์ในเวลานั้นเข้าใจเอาเองและขยายความว่าเป็นเพลงสวดชื่อ Autumn

ไม่ว่าบทเพลงสุดท้ายจะเป็นเพลงใด วาระสุดท้ายของนักดนตรีผู้ทำหน้าที่ของตัวเองจนถึงลมหายใจสุดท้าย มีคำถามมากมายเกิดขึ้นว่า พวกเขาตัดสินใจอย่างไร ทำไมถึงเลือกทำเช่นนั้น แน่นอนว่า ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง ผู้คนต่างใช้ข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ มาประกอบกันให้มากที่สุดเพื่อจำลองและวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมุมองของคนวิเคราะห์ก็แตกต่างกันออกไปอีก

สำหรับจอห์น แม็กซ์โทน-เกรแฮม นักเขียนหนังสือชื่อดัง เขาสนใจมองไปที่ตัววอลเลซ ฮาร์ทลีย์ ผู้นำของวงในนาทีสุดท้ายบนเรือ จอห์น แม็กซ์โทน เกรแฮม เปรียบเปรยวอลเลซ เป็นเสมือน “ผู้ปลอบประโลมเหล่าฝูงแกะ” ฝูงแกะที่ว่า คือนักดนตรีบนเรือ

“เขา (วอลเลซ ฮาร์ทลีย์) ดูแลความต้องการทางจิตวิญญาณในช่วงปลายชีวิตด้วยการมอบบทบาทที่พวกเขาทำได้เพื่อใช้เวลาช่วงสุดท้ายนั้น ความเชื่อของผมคือ (บทบาท)มันช่วยให้คนเล่นดนตรีได้ผ่อนคลายเช่นเดียวกับคนที่ได้ยินเสียงเพลง” จอห์น แม็กซ์โทน-เกรแฮม กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ NPR

ประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือจากเพลงสุดท้ายที่วงดนตรีเล่นบนเรือ ยังมีข้อสงสัยอย่างหนึ่งว่า ในระยะเวลาราว 2 ชั่วโมงหลังเรือชนภูเขาน้ำแข็ง บทเพลงที่วงบรรเลงช่วงท้ายของชีวิตพวกเขาเป็นเพลงชนิดไหน (หากพิจารณาจากข้อมูลว่าที่วงเล่นดนตรีในเวลานั้นมาจากความตั้งใจเพื่อบรรเทาสภาพความตื่นตระหนกของผู้โดยสาร และเพื่อช่วยผ่อนคลายอารมณ์)

ปีเตอร์ ยัง (Peter Young) นักประพันธ์ที่เขียนเพลงในวาระครบรอบ 100 ปีของโศกนาฏกรรมไททานิกเมื่อปี 2012 ให้ความเห็นว่า เพลงที่วงเล่นน่าจะเป็นดนตรีออกแนวให้ความเบิกบาน (jolly)

 

ภูมิหลังของสมาชิกวงดนตรี

สำหรับผู้นำของวงหรือผู้ควบคุมวง (band master) มีนามว่า วอลเลซ ฮาร์ทลีย์ (Wallace Hartley) นักดนตรีอาชีพซึ่งทำงานร่วมกับเอเยนซีที่จัดหานักดนตรีให้เรือในเครือบริษัทไวท์สตาร์ไลน์ (White Star Line) สายการเดินเรือผู้เป็นเจ้าของเรือไททานิก

ก่อนหน้าขึ้นมาบรรเลงบทเพลงบนไททานิก วอลเลซ มีประสบการณ์เล่นดนตรีบนเรือใหญ่อีกหลายครั้ง รวมถึงเรือลูซิเทเนีย (RMS Lusitania) ซึ่งจมลงในภายหลังเหตุการณ์ของไททานิก

ในปี 1912 ฮาร์ทลีย์ รับงานเป็นแบนด์มาสเตอร์ (band master) บนเรือไททานิก โดยหวังว่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนมีฐานะบนเรือไททานิกซึ่งอาจนำมาสู่โอกาสด้านการงานในอนาคต

และอีกส่วนคือเขาน่าจะต้องการเงินทุนมาเก็บไว้เพราะเพิ่งหมั้นหมายไป แม้ว่าค่าจ้างของวงดนตรีในงานกับไททานิกไม่ได้เป็นเงินมากมายนัก (มีรายงานว่า เอเยนซีที่จ้างงานลดเรตราคาจากปกติ เหลือ 4 ปอนด์ต่อเดือน) แถมยังต้องทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม

วอลเลซ เป็นบุตรชายของผู้กำกับวงดนตรีในอังกฤษ เขาลาออกจากงานธนาคารหันมาทำอาชีพสายดนตรี กำกับและเล่นไวโอลิน มีประสบการณ์ช่ำชองในการทำงานบนเรือก่อนมาทำงานบนไททานิก โดยรวมแล้ว วอลเลซ เป็นคนรักดนตรี กระตือรือร้นเกี่ยวกับดนตรีเสมอ ทุกครั้งที่มานิวยอร์ก เขาไม่ได้ไปเที่ยวดื่มกินเหมือนคนอื่น แต่มักเดินทางไปหาวัตถุดิบทางดนตรีเช่นหาซื้อบันทึกโน้ตต่าง ๆ เพราะอยากจะหาดนตรีที่สดใหม่มาเล่นให้ผู้โดยสารบนเรือฟัง

ภายหลังจากเรืออับปาง ร่างของวอลเลซ ถูกพบในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา มีข้อมูลว่า ร่างของวอลเลซ ยังสวมชูชีพอยู่ บนตัวเขายังมีกล่องเครื่องดนตรีที่บรรจุไวโอลินตัวโปรดถูกมัดเอาไว้กับร่าง และถูกนำกลับมาฝังในเมืองคอน ในแลงคาไชร์ (Colne, Lancashire) บ้านเกิดที่อังกฤษ เวลานั้น วอลเลซ เป็นสมาชิกวงเพียงคนเดียวที่ถูกนำร่างกลับมาในแผ่นดินเกิดได้

ปี 1915 รูปปั้นครึ่งตัวและอนุสาวรีย์ของเขาถูกตั้งขึ้นในบ้านเกิดเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญ ส่วนไวโอลิน ของวอลเลซ ถูกส่งมอบให้คู่หมั้นของเขา เมื่อเธอเสียชีวิตในปี 1939 ก็บริจาคไปให้องค์กรการกุศล หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบไวโอลินอีก กระทั่งมีคนพบมันถูกวางทิ้งไว้ในห้องใต้หลังคาในปี 2006 เมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นไวโอลินของวอลเลซ จริง มีคนประมูลไปในมูลค่า 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักดนตรีส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นด้วยกันมาก่อน มีนักดนตรี 3 คนที่ไม่เคยเดินทางทางทะเล สมาชิกในวงอายุระหว่าง 20-33 ปี มีเพียงเพอร์ซีย์ เทย์เลอร์ ที่อายุมากที่สุดแตะวัย 40 ปี ในบรรดานักดนตรีในวง เพอร์ซีย์ เทย์เลอร์ เป็นสมาชิกที่มีคนรู้จักน้อยที่สุด และเป็นนักดนตรีคนเดียวในวงที่แต่งงานแล้ว แม้ว่าจะมีชื่อของเขาเมื่อวงได้รับการสดุดีตามที่ต่าง ๆ แต่ไม่ค่อยได้รับการชื่นชมแบบแยกเดี่ยวในระดับปัจเจกมากนัก

สตีฟ เทอร์เนอร์ (Steve Turner) นักเขียนผู้เขียนหนังสือ The Band that Played On: The Extraordinary Story of the 8 Musicians Who Went Down with the Titanic แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้อาจเป็นเพราะเทย์เลอร์ มาจากกลอนดอน ไม่ใช่เมืองเล็ก ๆ ที่ผู้คนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันซึ่งอาจทำให้การจากไปของเทย์เลอร์ กระทบความรู้สึกของคนทั่วไปมากกว่า หรืออาจเป็นเพราะว่าเขาไม่ได้ทำอาชีพนักดนตรีมายาวนาน แต่เพิ่งมาทำงานด้านนี้ในช่วงปลายของชีวิตจนชื่อเสียงอาจไม่แพร่หลายเท่าคนอื่น

ขณะอายุได้ 19 ปี เทย์เลอร์ ทำงานเป็นเสมียน และแต่งงานขณะอายุ 34 ปี ในเอกสารการแต่งงานเขาเขียนอาชีพของตัวเองว่าเป็นนักบัญชี ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถด้านดนตรีของเทย์เลอร์ น่าจะเป็นหลักฐานว่าเขาเป็นสมาชิกวงประสานเสียงของโบสถ์แห่งหนึ่ง

เทอร์เนอร์ อธิบายว่าข้อมูลเกี่ยวกับเทย์เลอร์ ค่อนข้างหายาก มีข้อมูลว่า ภายในครอบครัวของเทย์เลอร์ เล่ากันปากต่อปากว่าชีวิตสมรสของเพอร์ซีย์ เทย์เลอร์ ไม่ราบรื่นเท่าไหร่จนเป็นเหตุให้เขารับงานบนเรือไททานิก หวังว่าจะไปหางานในนิวยอร์ก ปลายทางของเรือไททานิกในทริปนั้น

เดลีย์ เทเลกราฟ (Daily Telegraph) สื่อดังที่เป็นฝ่ายระดมเงินมาช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เรือไททานิก เคยรายงานข้อมูลภายหลังเวลาผ่านมาแล้วว่า “มีเรื่องที่สาธารณชนอาจเซอร์ไพรส์ได้ หากรับรู้ว่ามีแม่หม้ายเพียงคนเดียวของสมาชิกวงดนตรี ได้รับผลประโยชน์เกินกว่าที่เธอจะคาดคิด”

สำหรับคนที่ตรงกันข้ามกับเทย์เลอร์ คือจ็อค ฮูม นักไวโอลินที่มีชื่อเสียง และมีประสบการณ์เล่นดนตรีบนเรือหลายครั้งก่อนได้งานบนเรือไททานิกจากฝีมือด้านดนตรี ขณะที่ทำงานบนไททานิก เขามีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น คู่หมั้นของเขาก็ตั้งครรภ์อยู่ด้วย

นักดนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในวงคือโรเจอร์ บริคูซ์ เป็นนักเชลโลจากฝรั่งเศส เกิดในครอบครัวนักดนตรี เขาเองเข้ารับการศึกษาด้านดนตรีในฝรั่งเศสและอิตาลี ขณะทำงานบนไททานิก เขามีอายุได้ 20 ปี หลังจากอุบัติเหตุมา 2 สัปดาห์ Illustrated London News สื่ออังกฤษในเวลานั้นตีพิมพ์โปสเตอร์แบบเต็มหน้าบรรจุภาพถ่ายรูปวงรีของสมาชิก 7 ราย ที่ขาดไปคือบริคูซ์ ซึ่งครอบครัวของเขาในเวลานั้นยังไม่สามารถนำส่งภาพถ่ายของเขามาให้ได้ทันเวลา

จากจดหมายที่บริคูซ์ เขียนไปถึงครอบครัวทำให้พอทราบได้ว่า เขาเป็นหนุ่มน้อยที่อ่อนไหว แต่ก็ไม่กลัวที่จะเอ่ยถึงความรู้สึกของตัวเอง และมักเป็นห่วงเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพของคนในครอบครัว บิดาของบริคูซ์ น่าจะรับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนทำอาชีพอิสระ ซึ่งลูกชายก็แสดงให้เห็นว่าสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้

บริคูซ์ แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองจากการเล่นดนตรีโดยไม่ต้องเปิดสอน แต่ในอีกด้าน วิถีชีวิตก็ค่อนข้างลำบาก ต้องเล่นจนถึงดึกดื่นและยังใช้เวลาเข้าสังคม ค่าจ้างก็ไม่ได้สูงมาก ดังนั้น ค่าใช้จ่ายด้านกินอยู่ต้องเลือกแบบค่อนข้างราคาถูก แม้จะลำบากหน่อย แต่บริคูซ์ ฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะสร้างตัวได้ พร้อมสำหรับแต่งงาน มีครอบครัว

อีกหนึ่งนักดนตรีจากยุโรปคือจอร์เกส ครินส์ ที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นชาวเยอรมัน ครินส์ เกิดในฝรั่งเศส แต่ครอบครัวของเขาเป็นชาวเบลเยียม แม้เขาเล่นไวโอลินจนได้รางวัล แต่ในช่วงวัยเด็ก เขาอยากทำงานในกองทัพเพราะหลงใหลในสงครามนโปเลียน เป็นพ่อของเขาที่กล่อมว่าสงครามนั้นอันตราย จนครินส์ ตัดสินใจเดินสายดนตรี

ครินส์ เล่นในโรงแรมในลอนดอนอยู่ 2 ปี และได้เป็นผู้นำวงทริโอที่เล่นอยู่ใกล้กับคาเฟ่แห่งหนึ่งก่อนเอเยนซีดึงมาทำงานเล่นดนตรีบนเรือไททานิก ขณะที่เสียชีวิตเขาอายุ 23 ปี น่าเศร้าที่ร่างของเขาสูญหายไปในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น

มีนักดนตรีในวงที่เคยทำงานในกองทัพคือวิลเลียม เบรลลีย์ นักเปียโนชาวอังกฤษ วัย 24 ปี เล่นดนตรีในกองทัพอยู่หลายปี ก่อนออกจากกองทัพในปี 1907 วิลเลียม พบกับบริคูซ์ ขณะเล่นดนตรีบนเรือคาร์พาเทีย (RMS Carpathia) ในปี 1912 ซึ่งทำให้ทั้งคู่ได้รับว่าจ้างจากเอเยนซีไปเล่นบนเรือไททานิก

ส่วนจอห์น คลาร์ก และจอห์น เวสลีย์ วูดวาร์ด เป็นนักดนตรีจากอังกฤษทั้งคู่

นักดนตรีทั้ง 8 รายมีชื่อถูกจารึกในสื่อ และในปัจจุบันมีอนุสรณ์ของนักดนตรีวงนี้ตั้งอยู่ที่เซาแธมป์ตัน ต้นทางของเรือไททานิก ทั้งนี้ อนุสรณ์เดิมถูกทำลายในการทิ้งระเบิดเมื่อปี 1940 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีทำอนุสรณ์ขึ้นใหม่ในปี 1990 ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิม

บนอนุสรณ์มีจารึกชื่อนักดนตรี และโน้ตช่วงต้นของเพลง Nearer, My God, to Thee มีภาพของสตรีโอบกอดเรือและมีฉากหลังเป็นภูเขาน้ำแข็ง

 

เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช

ภาพ: โปสเตอร์รำลึกนักดนตรีบนเรือไททานิก จาก Universal History Archive/Universal Images Group via Getty Images

อ้างอิง:

"Did the Titanic’s Violinists keep playing while the ship sank?". Simple History, by Daniel Turner (B.A. (Hons) in History, University College London). YouTube. Published 20 JUL 2021. Access 3 JUN 2022.

Ratcliffe, Hannah. “Could music have calmed passengers as the Titanic sank?”. BBC. Website. Publised 19 APR 2012. Access 3 JUN 2022.

“Remembering The Titanic's Intrepid Bandleader”. NPR. Website. Published 13 APR 2012. Access 3 JUN 2022.

THE SPHERE. 4 MAY 1912. p. 104.

Turner, Steve. The Band that Played On: The Extraordinary Story of the 8 Musicians Who Went Down with the Titanic. Thomas Nelson, 2011.