‘ทัปเปอร์แวร์’ ก่อนจะเป็นคำติดปาก เคยขายไม่ออกมาก่อน ตั้งชื่อตาม ‘เอิร์ล ไซลาส ทัปเปอร์’

‘ทัปเปอร์แวร์’ ก่อนจะเป็นคำติดปาก เคยขายไม่ออกมาก่อน ตั้งชื่อตาม ‘เอิร์ล ไซลาส ทัปเปอร์’

‘ทัปเปอร์แวร์’ แบรนด์ที่เกิดจากนักประดิษฐ์ชื่อ ‘เอิร์ล ไซลาส ทัปเปอร์’ เคยขายไม่ออกเพราะคนไม่รู้วิธีใช้ จน ‘บราวนี ไวส์’ แม่ม่ายลูกหนึ่ง ช่วยพัฒนาวิธีขายด้วยการจัดปาร์ตี้ จนชื่อทัปเปอร์แวร์โด่งดังติดปากคนทั้งโลก

  • ‘เอิร์ล ทัปเปอร์’ เป็นนักประดิษฐ์ตั้งแต่เด็ก เพราะเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรที่ต้องทำอุปกรณ์ช่วยออมแรงเวลาทำงาน 
  • ก่อนจะประดิษฐ์ภาชนะถนอมอาหาร โรงงานของเอิร์ลเคยรับจ้างผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์สำหรับหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ และโคมไฟสัญญาณของกองทัพเรือ ที่ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
  • ‘บราวนี ไวส์’ แม่ม่ายลูกหนึ่งที่ไม่มีพื้นฐานด้านการขาย เป็นผู้พัฒนาวิธีขายและเป็นหน้าเป็นตาของทัปเปอร์แวร์ แต่สุดท้ายถูกไล่ออก

‘ทัปเปอร์แวร์’ (Tupperware) แบรนด์ที่ชื่อติดปากคนทั่วโลก อาจจะเหลือเพียงชื่อ เมื่อเงินสดของบริษัทเริ่มร่อยหรอ เพราะก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงในตลาดที่การแข่งขันสูงลิบ และมิอาจตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ

ก่อนหน้านี้ ทัปเปอร์แวร์ ซึ่งเป็นแบรนด์สัญชาติอเมริกันอายุ 77 ปี ได้พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปรับตัวเข้าหาลูกค้ารุ่นใหม่แล้ว แต่ก็ดูเหมือนจะสายเกินไป

ในมุมมองของนักการตลาด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อแบรนด์ที่เคยอยู่ในตำแหน่ง ‘ผู้บุกเบิก’ และ ‘เป็นที่รัก’ ของคนหลายชั่วอายุ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับตลาดในปัจจุบันได้ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า ‘ความคุ้นเคยในอดีต’ (nostalgia) ไม่มีแรงมากพอที่จะปั๊มหัวใจช่วยชีวิตแบรนด์เก่าแก่ที่กำลังหายใจรวยริน 
 

 

‘เอิร์ล ไซลาส ทัปเปอร์’ ผู้ก่อตั้ง ‘ทัปเปอร์แวร์’

ชื่อแบรนด์ทัปเปอร์แวร์ ซึ่งกลายเป็น generic name เวลาพูดถึงภาชนะเก็บอาหารที่ทำมาจากพลาสติก ตั้งตามชื่อของ ‘เอิร์ล ไซลาส ทัปเปอร์’ เด็กชายที่เกิดในครอบครัวเกษตรกรฐานะปานกลาง ซึ่งลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 1907 ในเมืองเบอร์ลิน รัฐนิวแฮมเชียร์ สหรัฐอเมริกา

พ่อของเขาคือ ‘เออร์เนสต์ เลสลี ทัปเปอร์’ ซึ่งรับหน้าที่ดูแลฟาร์มขนาดเล็กของครอบครัว ส่วนแม่ของเขาคือ ‘ลูลู คลาร์ก ทัปเปอร์’ ที่เปิดบ้านให้คนเช่าและรับซักรีดเพื่อหารายได้เสริมให้ครอบครัว 

ด้วยความที่ต้องทำงานหนัก พ่อของเอิร์ลจึงมักประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยออมแรงสำหรับใช้ในฟาร์ม และความเจ้าไอเดียนี้ก็ได้ส่งต่อมาถึงผู้เป็นลูกชายด้วย หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นหน้าเป็นตาของเอิร์ลคือ “โครงสำหรับอำนวยความสะดวกในการทำความสะอาดไก่” ซึ่งมีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย 

นอกจากฉายแววนักประดิษฐ์ตั้งแต่ยังเด็ก ขณะอายุเพียง 10 ขวบ เด็กชายเอิร์ลยังฉายแววนักธุรกิจด้วย 

การทำธุรกิจในวัยเด็กของเขา เริ่มจากการนำไก่และผลิตผลในไร่ของตัวเองไปเดินขายตามบ้าน เพราะเขาเล็งเห็นแล้วว่ามันได้กำไรดีกว่าไปวางขายตามแผงหรือในตลาด เมื่อวิธีนี้ได้ผล เขาจึงขยายกิจการด้วยการไปรับซื้อผักจากเกษตรกรรายอื่นมาขายด้วย 

พอเริ่มซื้อขายคล่อง เขาก็หันไปทำธุรกิจสั่งซื้อของทางไปรษณีย์มาขาย เช่น แปรงสีฟัน หวี และของใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ 

หลังเรียนจบชั้นมัธยม เอิร์ลดูแลฟาร์มของที่บ้านต่อไปอีก 2 - 3 ปี เนื่องจากในเวลานั้นพ่อแม่ของเขาได้หันไปสร้างเรือนกระจกเพาะปลูกต้นเจอราเนียม (Geranium) ขาย ในเมืองเชอร์ลีย์ รัฐแมสซาชูเซตส์ 

ช่วงที่ ‘เอิร์ล ทัปเปอร์’ เป็นชายหนุ่มวัย 20 ที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน เขามุ่งมั่นจะเป็นเศรษฐีและนักประดิษฐ์ที่โด่งดังให้ได้

เมื่อการทำงานในฟาร์มเล็ก ๆ ไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายทั้งสองได้ เขาจึงบ่ายหน้าไปทำงานเป็นเสมียนไปรษณีย์ ต่อด้วยการเป็นพนักงานรถไฟ เพื่อเก็บเงิน

กระทั่งอายุ 30 ปี เขาจึงตัดสินใจใช้ประสบการณ์ด้านการเกษตรที่มี นำตัวเองเข้าสู่ธุรกิจดูแลต้นไม้และจัดสวน 

ตั้งแต่ปี 1928 - 1930 บริษัท Tupper Tree Doctors Company ของเอิร์ล ประสบความสำเร็จพอตัว ด้วยรายได้และเวลาว่างที่เพิ่มขึ้นในฐานะเจ้าของกิจการ เปิดช่องให้เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมในด้านวิทยาศาสตร์และการทดลอง รวมถึงได้ประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อรัดทรงสตรี, กิ๊บติดผมรุ่นพิเศษที่มีชื่อว่า Sure-stay และที่แขวนเนคไทแบบพกพา

ปี 1931 เอิร์ลแต่งงานกับ ‘มารีย์ ไวท์คอมบ์’ ที่สนับสนุนสามีในทุกสิ่งที่เขาทำ และมีส่วนทำให้สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ของสามีประสบความสำเร็จ ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 5 คน 

แต่ผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ทำให้ Tupper Tree Dotors ถูกบีบให้ล้มละลายในปี 1936 โชคดีที่เอิร์ลได้งานในโรงงานพลาสติกแห่งหนึ่งในเมืองลีโอมินสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ 

สำหรับลีโอมินสเตอร์ เป็นเมืองที่เคยมีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมหวี แต่หันมาเอาดีด้านอุตสาหกรรมพลาสติกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดโรงงานพลาสติกขนาดเล็กหลายแห่งที่ดำเนินการโดยบรรดาวิศวกร และนักประดิษฐ์ที่เรียนรู้ด้วยตนเอง 

เอิร์ลได้ไปทำงานให้กับ ‘เบอร์นาร์ด ดอยล์’ ผู้ก่อตั้งโรงงานผลิตพลาสติก Viscoloid ซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักในชื่อ Doyle Works ซึ่งผลิตพลาสติกป้อนให้กับบริษัทเคมีข้ามชาติอย่าง DuPont 

เอิร์ลทำงานอยู่ที่นั่นได้เพียงปีเดียว ในปี 1938 ขณะที่เขาอายุ 31 ปี เขาใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ได้รับจากการออกแบบและผลิตพลาสติก มาตั้งธุรกิจพลาสติกของตัวเองในชื่อ The Earl S. Tupper Company โดยซื้อเครื่องจักร 2 - 3 เครื่องจาก DuPont มาผลิตลูกปัดและภาชนะพลาสติกสำหรับใส่บุหรี่และสบู่ 

ต่อมาจึงเปิดโรงงาน Tupper Plastic แห่งแรกในเมืองฟาร์นัมสวิลล์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อปี 1942 

ธุรกิจของเอิร์ลดำเนินไปได้ด้วยดีในช่วงสงคราม เพราะแม้จะมีความยากลำบากในการหาวัตถุดิบ แต่ Tupper Plastic ก็ได้งานจากรัฐบาลหลายอย่าง เช่น ชิ้นส่วนแม่พิมพ์สำหรับหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ และโคมไฟสัญญาณของกองทัพเรือ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง DuPont ได้แจกจ่ายสารโพลีเอทิลีน ซึ่งเป็นพลาสติกที่บริษัทพัฒนาขึ้นในช่วงสงคราม ให้แก่โรงงานผลิตพลาสติกต่าง ๆ เพื่อให้โรงงานเหล่านั้นคิดค้นวัสดุใหม่ ๆ เอาไว้ใช้ในยามสงบ 

แต่สารโพลีเอทิลีนที่แจกนั้น DuPont ได้เติมส่วนผสมที่ทำให้สารโพลีเอทิลีนแน่นขึ้นและขึ้นรูปได้ยาก เอิร์ลจึงขอให้ DuPont ส่งพลาสติกโพลีเอทิลีนบริสุทธิ์มาให้แทน 

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือน เอิร์ลก็สามารถผลิตชามทัปเปอร์แวร์ได้เป็นครั้งแรก นั่นคือ Wonder Bowl ชามโปร่งแสงลักษณะเหมือนแก้วนม ปราศจากไขมัน สะอาด และทนความร้อน 

พร้อมกันนั้น ทัปเปอร์แวร์ยังได้พัฒนา Tupper seal ซึ่งเป็นฝาปิดที่ยืดหยุ่นและกันอากาศได้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากฝากระป๋องสี 

เหตุที่เอิร์ลนำสารโพลีเอทิลีนมาพัฒนาเป็นภาชนะถนอมอาหารนั้น เพราะเขามองว่าเมื่อสงครามสิ้นสุดลง เขาคงจะหาเงินจากการผลิตชิ้นส่วนป้อนกองทัพไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น การเปลี่ยนไปประดิษฐ์สิ่งของที่ทุกครัวเรือนต้องใช้ น่าจะเข้าท่ากว่า 

เมื่อโจทย์เปลี่ยนมาสู่สิ่งของจำเป็นในครัวเรือน เขาก็มองเห็นปัญหาปากท้องของประชาชนที่ชีวิตความเป็นอยู่ยังไม่สู้ดีนัก เพราะเพิ่งจะผ่านพ้นสงครามมาหมาด ๆ จึงเป็นที่มาของการประดิษฐ์ภาชนะถนอมอาหาร ที่จะได้ช่วยหลายล้านครอบครัวประหยัดเงิน ด้วยการเก็บอาหารเหลือในแต่ละมื้อไว้กินในมื้อต่อไป 

แต่ถึงจะได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี แถมยังได้รับการอวยยศในแง่การออกแบบที่ทันสมัย ทัปเปอร์แวร์กลับไม่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขาย เพราะลูกค้ายังไม่เข้าใจว่ามันใช้งานอย่างไร!

เอิร์ลพยายามแก้เกมด้วยการขายผ่านแคตตาล็อก เพื่อบรรยายสรรพคุณและวิธีใช้ผ่านภาพผลไม้และอาหารใส่ในภาชนะของทัปเปอร์แวร์ที่ทนทานและปิดผนึกได้ แต่ก็มิอาจทลายกำแพงในใจลูกค้าที่มองว่าทัปเปอร์แวร์นั้นไฮเทคเกินไปสำหรับบ้านพวกเขา 

‘บราวนี ไวส์’ สตรีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ‘อาณาจักรทัปเปอร์แวร์’ 

เอิร์ลคิดหัวแทบแตกก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ กระทั่งเขาได้พบกับ ‘บราวนี ไวส์’ หญิงผู้ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมด้านธุรกิจอย่างเป็นทางการ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนทัปเปอร์แวร์ให้กลายเป็น ‘อาณาจักร’ 

บราวนี เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวในเมืองไมอามี รัฐฟลอริด้า เธอเริ่มต้นธุรกิจขายทัปเปอร์แวร์ของตัวเอง และโกยยอดขายได้เป็นล่ำเป็นสันจากการจัดปาร์ตี้ขายของที่บ้าน 

เอิร์ลสะดุดตากับยอดขายที่พุ่งกระฉูดของเธอ ในปี 1951 เขาจึงเชิญเธอมาที่รัฐแมสซาชูเซตส์ เพื่อหารือถึงแผนการขายแบบใหม่ 

อันที่จริงแล้ว การจัดปาร์ตี้ขายของที่บ้านไม่ใช่ไอเดียใหม่ ผู้ที่บุกเบิกวิธีนี้คือผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ‘Stanley Home Product’ แต่บราวนีได้พัฒนาเพิ่มเติมจนกลายเป็นสไตล์ที่ลงตัว

บราวนีเริ่มจากการคัดเลือกผู้หญิงมาเป็นตัวแทนขายทัปเปอร์แวร์ แล้วส่งพวกเธอไปช่วยเหล่าแม่บ้านจัดงานปาร์ตี้ที่บ้าน 

ภายในงาน แม่บ้านจะชวนเพื่อน ๆ ญาติ ๆ มารับประทานอาหารว่างด้วยกัน ระหว่างงานบรรดาตัวแทนขายก็จะสาธิตวิธีการใช้ทัปเปอร์แวร์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งช่วยลดแรงต้านในการขายได้มาก ก่อนจะปิดงานด้วยการขายทัปเปอร์แวร์ให้กับแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งจะแข่งกันซื้อของจนทัปเปอร์แวร์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ส่วนเจ้าภาพจัดงานปาร์ตี้ก็จะได้รางวัลเป็นของขวัญและค่าคอมมิชชั่นเล็กน้อยจากการขาย 

เอิร์ลฟังแล้วตาลุกวาว เขาไม่รอช้า รีบแต่งตั้งเธอเป็นรองประธานฝ่ายการตลาดของ Tupperware Home Parties บราวนีจึงได้กลายเป็นหน้าเป็นตาของทัปเปอร์แวร์ตั้งแต่นั้นมา

การก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในบริษัทของบราวนีได้สร้างความหวังให้ผู้หญิงมากมายที่ถูกโดดเดี่ยวจากสังคม เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา บ้างก็ไม่เคยพูดในที่สาธารณะเลยด้วยซ้ำ พวกเธอเหล่านี้หวังใช้ทัปเปอร์แวร์เป็นบันไดไต่เข้าสู่วงสังคมเพื่อให้ได้รับการยอมรับ 

ปลายทศวรรษ 1950 ปาร์ตี้ทัปเปอร์แวร์กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติของอเมริกา ด้วยบรรยากาศที่คล้ายงานเลี้ยงน้ำชายามบ่าย ที่ผู้หญิงได้แต่งตัวสวย ๆ สวมรองเท้าหุ้มส้น ใส่ถุงมือ มารวมตัวสังสรรค์กัน แตกต่างจากการสาธิตและบอกต่อสินค้าแบบทั่วไป

ภายในงานปาร์ตี้ทัปเปอร์แวร์จะมีผลิตภัณฑ์ทัปเปอร์แวร์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานวางซ้อนกันอย่างประณีต นอกจากนี้ยังมีเกมและการแจกของรางวัลล่อตาล่อใจ เช่น โค้ทขนมิงค์ เฟอร์นิเจอร์ บางครั้งตัวแทนที่ขายทัปเปอร์แวร์ได้ยอดสูงสุดก็ได้รับรางวัลเป็นแหวนเพชรหรือรถยนต์เลยทีเดียว

บราวนียังเสริมความแข็งแกร่งให้เครือข่ายของเธอ ด้วยการจัดทำจดหมายข่าวรายสัปดาห์สำหรับตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้สาว ๆ ตัวแทนจำหน่ายได้อวดความสำเร็จให้คนอื่น ๆ ได้เห็น รวมถึงแชร์มุมมองเชิงบวกให้กันและกัน 

บราวนีมีประโยคที่สร้างความประทับใจให้เครือข่ายว่า “เมื่อคุณสร้างคน พวกเขาจะสร้างธุรกิจ” (You build the people and they’ll build the business)

มาถึงตรงนี้ ทัปเปอร์แวร์จึงไม่ได้เป็นเพียงภาชนะถนอมอาหารหรือรายได้เสริมสำหรับแม่บ้าน ทว่าเป็น ‘ไลฟ์สไตล์’ ที่ทำให้พวกเธอไม่ต้องจมอยู่กับชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายหดหู่ในแต่ละวัน 

แม้จะมีหลายบริษัททำสินค้าเลียนแบบทัปเปอร์แวร์ แต่กลยุทธ์การจัดปาร์ตี้ที่บ้านของทัปเปอร์แวร์ก็มีเอกลักษณ์ยากที่ใครจะเลียนแบบได้ แถมเครื่องหมายการค้าของบริษัทก็ได้กลายเป็นคำติดปากคนทั่วโลกไปแล้ว เมื่อพูดถึงกล่องพลาสติกถนอมอาหาร

ยอดขายทัปเปอร์แวร์พุ่งแตะ 25 ล้านดอลลาร์ในปี 1954 โดยผลิตภัณฑ์อย่าง Wonder Bowl, แม่พิมพ์ไอศกรีม Ice-Tup และถาดเสิร์ฟ Party Susan ได้กลายเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่หลังช่วงสงคราม ขณะที่ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ชายบางคน ได้หันมาเป็นตัวแทนจำหน่าย ไม่เฉพาะในย่านคนผิวขาวเท่านั้น 

ระหว่างที่บราวนีทำหน้าที่อย่างแข็งขันเพื่อเป็นภาพลักษณ์ของทัปเปอร์แวร์ เธอเดินสายออกสื่อที่เกี่ยวกับผู้หญิงและสื่อธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ Business Week ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ขึ้นปก 

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเอิร์ล นักประดิษฐ์อัจฉริยะที่ไม่ชอบปรากฏตัวต่อสาธารณชน เขาหมกมุ่นอยู่กับเครื่องจักรและการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ 

ผู้ที่ใกล้ชิดกับเอิร์ลเล่าว่า เขาเป็นคนเข้มงวดและทนเห็นความผิดพลาดไม่ค่อยได้ ยกตัวอย่างเรื่องการทาสีพื้นโรงงาน ที่เจ้าของโรงงานส่วนใหญ่มักทาด้วยสีดำเพื่อปกปิดความสกปรก แต่เขากลับทาด้วยสีขาวสว่าง เพื่อจะได้จัดการกับสิ่งสกปรกในทุกซอกทุกมุมได้ถนัด

เอิร์ลออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ทุกชิ้นด้วยตนเอง เขาทำงานจนซี้กับช่างเครื่อง และทุกครั้งที่ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา เขาจะขอให้ภรรยา แม่ และป้าของตัวเอง ช่วยทดลองใช้เพื่อหาจุดบกพร่องและแก้ไข 

รอยร้าวระหว่าง ‘เอิร์ล’ กับ ‘บราวนี’ 

เกือบ 8 ปี ที่เอิร์ลปล่อยให้บราวนีดูแล Tupperware Home Parties โดยไม่เข้าไปรบกวนมากนัก เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น บราวนีก็โด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ 

บางคนเปรียบทัปเปอร์แวร์ในยุคนั้นเป็นเหมือนศาสนา ที่มีบราวนีเป็นหัวหน้านักบวช เธอเที่ยวพกก้อนโพลีเอทิลีนสีดำไปขาย ยืนยันว่าเป็นก้อนดั้งเดิมที่เอิร์ลใช้ทดลอง ก่อนจะออกมาเป็นทัปเปอร์แวร์ 

แม้เธอจะเป็นคนสำคัญของทัปเปอร์แวร์ แต่บราวนีก็ทำเรื่องผิดพลาดมากมาย ประกอบกับความที่เธอมั่นใจในตัวเองมาก ยิ่งทำให้เอิร์ลรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า ทั้งที่เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง 

เมื่อเวลาผ่านไป บราวนีกับเอิร์ลก็ทะเลาะกันบ่อยครั้ง ทั้งในเรื่องกลยุทธ์และการจัดการในบริษัท 

เอิร์ลเริ่มหวั่นไหวมากขึ้น เมื่อมีบริษัทขนาดใหญ่มาทาบทามขอซื้อทัปเปอร์แวร์จากเขา บางรายงานระบุว่าเอิร์ลถูกชักจูงให้ขายทัปเปอร์แวร์ โดยอ้างเหตุผลว่าถ้าเขาไม่ขายตั้งแต่ตอนนี้ ลูก ๆ ของเขาจะถูกเก็บภาษีอ่วม หลังจากที่เขาเสียชีวิต 

นักบัญชีของเอิร์ลพยายามจะทัดทานแล้ว เพราะเอิร์ลสามารถแก้ปัญหานี้ได้เพียงแค่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลบริษัท แต่เขาก็ปฏิเสธวิธีนี้ 

เดือนมกราคม 1958 เอิร์ลและคณะกรรมการไล่บราวนีออกจากบริษัทอย่างกะทันหัน โดยไม่ชี้แจงเหตุผลใด และเนื่องจากเธอไม่ได้ทำสัญญาอย่างเป็นทางการกับบริษัท เธอจึงได้รับเงินเพียงก้อนเดียว เป็นเงินเดือนตลอดหนึ่งปีของเธอประมาณ 3 หมื่นดอลลาร์ 

ที่น่าเจ็บปวดอีกอย่างก็คือหลักฐานทุกอย่างที่แสดงว่าเธอมีส่วนร่วมกับทัปเปอร์แวร์ก็ได้ถูกลบออก

หลังจากนั้นบราวนีก็ไปทำงานในบริษัทเครื่องสำอางที่ใช้เทคนิคการจัดปาร์ตี้ที่บ้านแบบเดียวกัน แต่ก็ไม่มีบริษัทไหนประสบความสำเร็จได้เท่าทัปเปอร์แวร์

ปีเดียวกัน เอิร์ลก็ขายบริษัทให้กับ ‘Rexall Drug Company’ ในราคา 16 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับหย่ากับภรรยา หลังจากนั้นเขายังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการภายใต้เจ้าของใหม่ต่อไป ก่อนจะเกษียณในปี 1973

บั้นปลายชีวิตของ ‘เอิร์ล ทัปเปอร์’ 

เขาซื้อเกาะในอเมริกากลางเป็นของขวัญให้ตัวเอง ก่อนจะย้ายไปคอสตาริกา ยอมสละสัญชาติอเมริกันเพื่อเลี่ยงภาษี 

เอิร์ลยังคงประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ต่อไป แต่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ของเขาไม่เคยประสบความสำเร็จอีกเลย ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาพกกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ไว้ในกระเป๋าเสื้อ บนกระดาษเหล่านั้นเต็มไปด้วยไอเดียสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ 

เมื่ออายุได้ 71 ปี เอิร์ลได้เขียนอัตชีวประวัติ ใจความตอนหนึ่งระบุว่า “ผมพร้อมที่จะไปทำงานจริง ๆ แล้ว พวกเราผู้สูงวัยอย่าทำตัวขี้เกียจและงี่เง่าในสายตาลูกหลาน หรือสายตาผู้มาเยือนจากนอกโลก ที่สักวันหนึ่งจะต้องเดินทางมาถึงโลกอย่างแน่นอน และทำให้พวกเรา 75% กลายเป็นพวกสัตว์ไร้ค่าและน่าขยะแขยงสำหรับอนาคต” 

เอิร์ล ทัปเปอร์ เสียชีวิตเมื่อปี 1983 สิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ทัปเปอร์แวร์หลายชิ้นของเขาได้สิ้นสุดลงในช่วงทศวรรษ 1980 แต่ไอเดียการออกแบบของเขายังคงมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอาหาร และชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่เก็บอาหารไว้ในภาชนะพลาสติกแบบมีฝาปิด

แม้เอิร์ลกับบราวนีจะจบกันไม่ค่อยสวย แต่รูปแบบการขายตรงที่พวกเขาช่วยกันพัฒนายังคงดำเนินต่อไป ปาร์ตี้ทัปเปอร์แวร์จัดกันอย่างแพร่หลายทั้งในเขตชานเมืองและเขตที่อยู่อาศัยในเมือง ทัปเปอร์แวร์เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กองกำลังขายตรงทั่วโลกเกือบแตะ 3 ล้านคนในปี 2019

ทัปเปอร์แวร์ยังไม่ล้มเลิกกลยุทธ์การจัดปาร์ตี้ แต่ก็พยายามหาช่องทางใหม่ ๆ มาเสริม ไม่ว่าจะเป็นการขายผ่านออนไลน์ และการมุ่งเจาะห้างกับร้านค้าปลีก ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ทันแล้ว เพราะในเวลานี้ตลาดมีแบรนด์อื่น ๆ มาเป็นตัวเลือก เช่น Rubbermaid, Glad, Pyrex, Oxo และ Ziploc ที่ขายผลิตภัณฑ์หน้าตาคล้าย ๆ กัน แถมยังมีรุ่นที่ใช้แล้วทิ้งขายในราคาย่อมเยา 

ความภักดีต่อแบรนด์ก็แทบไม่ได้ช่วยอะไร เพราะคนรุ่นมิลเลนเนียลกับ Gen Z แยกไม่ออกแล้วว่าแบรนด์ไหนเป็นแบรนด์ไหน แล้วทัปเปอร์แวร์เองก็ยังขาดผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้น

ยอดขายและผลกำไรของทัปเปอร์แวร์ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กระทั่งต้นเดือนเมษายน 2023 หุ้นของทัปเปอร์แวร์ก็ร่วงลงเกือบ 50% หลังจากบริษัทประกาศว่ากำลังหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อประคับประคองให้กิจการดำเนินไปได้ 

แต่ไม่ว่าทัปเปอร์แวร์จะอยู่รอดในทางธุรกิจหรือไม่ กูรูด้านการตลาดหลายคนมั่นใจว่า ชื่อของทัปเปอร์แวร์นั้นจะคงอยู่ต่อไป 

 

ภาพ: tupperwarebrands

อ้างอิง:

tupperwarecollectie.nl

cnn

bbc

nytimes

abc.net.au

smithsonianmag

lemelson.mit.edu

sova.si.edu

pbs