‘บัซ อัลดริน’ ไม่ใช่คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ แต่เป็นคนแรกที่ได้ปัสสาวะบนดวงจันทร์

‘บัซ อัลดริน’ ไม่ใช่คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ แต่เป็นคนแรกที่ได้ปัสสาวะบนดวงจันทร์

‘บัซ อัลดริน’ มนุษย์คนที่สองที่ได้เดินบนดวงจันทร์ ต่อจาก 'นีล อาร์มสตรอง' แต่เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ปัสสาวะบนดวงจันทร์ ระหว่างภารกิจ Apollo 11 ชายผู้นี้มีชีวิตครบทุกรสชาติ จากนักเรียนหัวกะทิสู่นักบินอวกาศระดับตำนาน, เคยต่อยคนที่หาว่าเขาลวงโลก, เป็นที่มาของชื่อ ‘บัซ ไลท์เยียร์’ และเพิ่งแต่งงานครั้งที่ 4 ขณะอายุ 93 ปี

  • ‘บัซ อัลดริน’ คือที่มาของชื่อ ‘บัซ ไลท์เยียร์’ (Buzz Lightyear) ในหนังเรื่อง Toy Story โดยสาเหตุที่พิกซาร์เลือกตั้งชื่อตัวละครตามชื่อของเขา เพราะมันเท่และน่าเกรงขาม

  • การปัสสาวะบนดวงจันทร์ของเขาไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะถุงเก็บปัสสาวะมีปัญหา

  • 'บัซ อัลดริน' อายุ 93 ปี เพิ่งแต่งงานครั้งที่ 4 กับเจ้าสาวที่อายุห่างกัน 30 ปี เมื่อปลายเดือนมกราคม 2022 

เป็นเวลา 54 ปีแล้วที่ ‘นีล อาร์มสตรอง’ (Neil Armstrong) สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็น ‘มนุษย์คนแรกที่เดินบนดวงจันทร์’

ความจริงแล้ว นีลยังสร้างประวัติศาสตร์อีกหลายอย่างในวันนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘มนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์’ และ ‘มนุษย์คนแรกที่พูดบนดวงจันทร์’

จึงไม่น่าแปลกที่ ‘นีล’ จะกลายเป็นคนดังในแวดวงอวกาศ 

แต่จะมีสักกี่คน? ที่รู้จัก ‘มนุษย์คนที่สองที่เดินบนดวงจันทร์’

มนุษย์คนที่ว่าคือ ‘บัซ อัลดริน’ (Buzz Aldrin) ผู้บังคับยานลงจอด (Lunar Module Pilot) ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์บนดวงจันทร์ไว้เหมือนกัน แต่อาจไม่ถูกพูดถึงมากเท่านีล

ประวัติศาสตร์ของบัซคือการเป็น ‘มนุษย์คนแรกที่ปัสสาวะบนดวงจันทร์’ (ใช่แล้ว อ่านไม่ผิดหรอก ไม่ต้องขยี้ตาอ่านซ้ำ)

ในหนังสืออัตชีวประวัติของบัซที่ชื่อว่า ‘No Dream Is Too High’ ยืนยันเรื่องราวชวนขำนี้ด้วยข้อความที่ว่า 

“นีลเดินก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ส่วนผมนั้นเดินก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นการปัสสาวะที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” 

(Neil took one small step for man and one giant leap for mankind; I took one small step for man and one giant leak for mankind!)

อ่านเป็นภาษาไทยอาจจะดูแปลก ๆ เพราะมันเป็นการล้อเลียนคำพูดแรกที่นีลกล่าวขณะเหยียบดวงจันทร์ โดยบัซใช้วิธีเล่นคำ ระหว่างคำว่า ‘leap’ ที่นีลหมายถึง ‘การก้าวกระโดด’ กับคำว่า ‘leak’ หรือ ‘take a leak’ ที่หมายถึง ‘ปัสสาวะ’ หรือ ‘ฉี่’
 

บัซเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขายังจำได้ถึงความรู้สึก ‘เบิกบาน’ พร้อมกับ ‘ขนลุก’ ในเวลาเดียวกัน ระหว่างที่ตัวเองเหยียบลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์เมื่อปี 1969

แต่เมื่อเขาหายตื่นเต้นแล้ว อาการที่ตามมาคือ ‘ปวดปัสสาวะ’

การปัสสาวะบนดวงจันทร์จำเป็นต้องมีถุงเก็บปัสสาวะที่เรียกว่า UCD (Urine Collection Device) ซึ่งจะอยู่บริเวณเอวภายในชุดนักบินอวกาศ 

เมื่อบัซมั่นใจว่าถุงเก็บปัสสาวะยังไม่เต็ม เขาจึงจัดการปลดทุกข์ท่ามกลางสายตาผู้ชมเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งจนถึงวันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่านักบินอวกาศที่เห็นบนหน้าจอกำลังแอบทำธุระส่วนตัวผ่านท่อที่เชื่อมต่อไปยังถุงเก็บปัสสาวะ

เขามักประกาศอย่างมั่นใจว่า ไม่มีใครหน้าไหนเคยปัสสาวะบนดวงจันทร์มาก่อน เขาจึงเป็นคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์นี้

หลังกลับถึงโลกอย่างปลอดภัย บัซยังชอบพูดติดตลกถึงเหตุการณ์นี้ว่า “มันเหงาเหมือนนรก ผมเลยฉี่รดกางเกง”

แต่นี่อาจเป็นความจริงเพียงด้านเดียวของบัซ

‘ทีเซิล มัวร์ ฮาร์โมนี’ ภัณฑารักษ์ประจำแผนกประวัติศาสตร์อวกาศ พิพิธภัณฑ์ยานบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ การปัสสาวะของบัซครั้งนั้น ไม่ได้เป็นไปตามแผน

“โชคไม่ดี ที่เขานำยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างนิ่มนวลมาก ทำให้ส่วนขาของยานไม่ยอมย่อลงตามที่ออกแบบไว้ ผลที่ตามมาคือ แทนที่พวกเขาจะก้าวลงจากยานได้อย่างสะดวกในก้าวเล็ก ๆ กลายเป็นต้องก้าวกระโดดลงไป และเมื่อเกิดการกระแทก ถุงเก็บปัสสาวะของบัซจึงเกิดแตก

“แทนที่ปัสสาวะจะไหลไปในจุดที่สมควรจะไหลลงไป มันกลับไหลลงไปในรองเท้าของเขาแทน”

แม้จะเป็นเรื่องที่บัซเล่าไม่หมด แต่ Guinness World Records ก็มอบใบรับรองให้เขา พร้อมคำประกาศว่า  

“มนุษย์คนแรกที่ปัสสาวะบนอวกาศคือนักบินอวกาศบนยาน Apollo 11 ชื่อ บัซ อัลดริน ซึ่งปลดทุกข์ผ่านอุปกรณ์ภายในชุดอวกาศของเขา ขณะที่ไต่ลงจากบันไดยานลงจอด เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969”

นอกจากประวัติศาสตร์การปัสสาวะบนดวงจันทร์แล้ว ก่อนหน้านั้น 3 ปี บัซก็เคยเป็นมนุษย์คนแรกที่ถ่ายเซลฟี่ในอวกาศด้วย

Guinness World Records ฉบับปี 2017 บันทึกไว้ว่า บัซซึ่งเป็นมนุษย์คนแรกที่ปัสสาวะบนดวงจันทร์ เป็นมนุษย์คนแรกที่ถ่ายภาพเซลฟี่ในอวกาศระหว่างปฏิบัติภารกิจ Gemini 12 

ชื่อเสียงของบัซไม่ได้วนเวียนอยู่แค่การสร้างประวัติศาสตร์บนดวงจันทร์หรืออวกาศเท่านั้น แต่เขายังมีอิทธิพลไปถึงการสร้างตัวละครดังอย่าง ‘บัซ ไลท์เยียร์’ (Buzz Lightyear) ในหนังดังเรื่อง ‘Toy Story’ ของค่ายพิกซาร์อีกด้วย 

ตัวละครนี้เป็นพวกหุนหันพลันแล่น ตอนแรกเขาไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นเพียงของเล่น แต่คิดว่าตัวเองเป็นหน่วยพิทักษ์อวกาศสากล กระทั่งผ่านไปสักพัก บัซ (ไลท์เยียร์) จึงรู้ตัวว่าเขาไม่สามารถเหาะได้ และเลเซอร์ที่แขนก็เป็นเพียงหลอดไฟกะพริบ 

‘จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์’ (John Lasseter) ผู้กำกับหนัง Toy Story ภาคแรก และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของพิกซาร์ เติบโตมาในยุค 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่นาซากำลังมุ่งมั่นกับภารกิจบนอวกาศ เขาได้ยินชื่อนักบินอวกาศในยุคนั้นมากมาย แต่คิดว่าชื่อ ‘บัซ’ ฟังดูน่าเกรงขามและเท่ดี จึงนำมาตั้งเป็นชื่อตัวละคร 

แม้ตัวละคร ‘บัซ ไลท์เยียร์’ จะไม่ได้มีความสามารถเท่าที่ตัวเองคิด แต่ต้นแบบอย่าง ‘บัซ อัลดริน’ นั้น มีความสามารถรอบด้านทั้งด้านอวกาศ การเขียนหนังสือ ตลอดจนการบริหาร

นอกจากนี้ที่มาของชื่อ 'บัซ อัลดริน' ก็มีที่มาที่น่าสนใจ

‘บัซ อัลดริน’ เดิมมีชื่อว่า ‘เอ็ดวิน ยูจีน บัซ อัลดริน จูเนียร์’ เกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 1930 ที่เมืองมอนต์แคลร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ 

ตอนที่พี่สาวของเขายังเด็ก เธอออกเสียงคำว่า ‘Brother’ (พี่ชาย) ไม่ได้ แต่ออกเสียงว่า ‘Buzzer’ แทน ครอบครัวของเขาจึงเรียกเขาสั้น ๆ ว่า ‘บัซ’ 

ในปี 1988 เขาจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อนี้เป็นชื่อจริง 

เป็นความบังเอิญที่แม่ของเขาชื่อว่า ‘แมเรียน มูน’ (Moon ที่แปลว่า ดวงจันทร์) เธอเป็นลูกสาวของบาทหลวงในกองทัพ ส่วนพ่อของเขา ‘เอ็ดวิน ยูจีน อัลดริน’ เป็นนายพันในกองทัพอากาศสหรัฐฯ 

ปี 1947 บัซจบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนในเมืองมอนต์แคลร์ จากนั้นเขาจึงไปเรียนที่วิทยาลัยการทหารสหรัฐเวสต์พอยต์ในนิวยอร์ก 

เขาเป็นนักศึกษาที่เคร่งครัดในกฎระเบียบ แถมยังทำคะแนนอันดับ 1 ตั้งแต่ปีแรก ส่วนปีสุดท้ายทำคะแนนได้เป็นที่ 3 ก่อนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล

ด้วยความฝันที่อยากจะเป็น ‘นักบินรบ’ บัซจึงเข้าประจำการในกองทัพอากาศอย่างเป็นทางการในปี 1951 เขาได้คะแนนเกือบสูงสุดในชั้นเรียนของโรงเรียนการบิน และเริ่มฝึกเครื่องบินรบในปีต่อมา

ในช่วงที่เป็นทหาร บัซเข้าร่วมกองบินขับไล่ที่ 51 เขาขับเครื่อง F-85 Saber Jets เข้าร่วมภารกิจในเกาหลีถึง 66 ครั้ง ในระหว่างสงครามเกาหลี 

บัซสามารถยิงเครื่องบินรบ MiGs ของเกาหลีเหนือตก 2 ลำ ทำให้เขาได้รับ The Distinguished Flying Cross (DFC) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทหารระดับที่ 3 ที่มอบให้กับเจ้าหน้าที่ 

หลังเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ประกาศหยุดยิงในปี 1953 บัซก็เดินทางกลับบ้าน และเข้าเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) จนจบปริญญาเอก สาขาวิชาการบินและอวกาศในปี 1963

การศึกษาพิเศษด้านจุดนัดพบในอวกาศของสถานีอวกาศ 2 ลำ เป็นใบเบิกทางให้เขาได้เข้าสู่โครงการอวกาศ ก่อนจะได้รับคัดเลือกจากนาซาให้ร่วมบุกเบิกการบินอวกาศ โดยรับหน้าที่เป็นผู้สร้างเทคนิคการเชื่อมต่อยานอวกาศในอวกาศ และจุดนัดพบในอวกาศของสถานีอวกาศ 2 ลำ ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคการฝึกใต้น้ำ เพื่อจำลองการบินในสภาวะแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์อีกด้วย

ปี 1966 บัซและนักบินอวกาศชื่อ ‘จิม โลเวลล์’ ได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกเรือ 12 นายในภารกิจ Gemini ระหว่าง 11 - 15 พฤศจิกายน 1966 

ภารกิจนี้ บัซทำให้การเดินในอวกาศเป็นเวลา 5 ชั่วโมงเป็นการเดินในอวกาศที่ยาวนานที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเวลานั้น เขายังใช้ความสามารถในการคำนวณการเชื่อมต่อยานอวกาศทั้งหมดด้วยตัวเอง หลังจากที่เรดาร์บนยานอวกาศขัดข้อง

หลังจบภารกิจ Gemini 12 เขาได้รับมอบหมายให้เป็นลูกเรือสำรองของยานอะพอลโล 8 ร่วมกับ ‘นีล อาร์มสตรอง’ และ ‘แฮร์ริสัน แจ็ค ชมิตต์’

กระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 บัซและ ‘นีล อาร์มสตรอง’ สร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันในภารกิจ Apollo 11 พวกเขาเป็นมนุษย์ 2 คนแรกที่ได้เหยียบย่างลงบนดวงจันทร์ โดยใช้เวลาทั้งหมด 21 ชั่วโมงบนพื้นผิวดวงจันทร์ และกลับมาพร้อมกับหินดวงจันทร์หนัก 46 ปอนด์ 

เมื่อเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย บัซได้รับเหรียญ Presidential Medal of Freedom หรือ เหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดี พร้อมเดินทางทัวร์ต่างประเทศเป็นเวลา 45 วัน 

เดือนมีนาคม 1972 หรือ 21 ปีหลังรับราชการ บัซเกษียณอายุและกลับไปทำงานที่กองทัพอากาศในตำแหน่งผู้บริหาร 

ในปี 1973 เขายอมรับในอัตชีวประวัติเรื่อง Return to Earth ว่า เขาป่วยโรคซึมเศร้าและโรคพิษสุราเรื้อรัง หลังจากร่วมงานกับนาซานานหลายปี

สาเหตุที่ทำให้เขาป่วย ส่วนหนึ่งเป็นการเลือกจบชีวิตตัวเองของแม่ ซึ่งทำให้เขาเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น ต่อมาพ่อของเขาก็หัวใจวายเสียชีวิต ทำให้เขากลายเป็นคนติดแอลกอฮอล์เต็มตัว 

บางวันเขาเอาแต่นอนไม่ยอมทำอะไรและเมาเหล้าหัวราน้ำ จนทำให้ชีวิตคู่กับภรรยาคนแรกต้องจบลง

หลังจากต่อสู้กับการหย่าร้างและรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง บัซหันไปศึกษาด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศ เขาคิดค้นระบบยานอวกาศสำหรับภารกิจสู่ดาวอังคารที่รู้จักกันในชื่อ Aldrin Mars Cycler และได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ 3 ฉบับ สำหรับแผนผังสถานีอวกาศแบบโมดูลาร์, จรวด Starbooster ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และ โมดูลที่สามารถบรรจุลูกเรือได้หลายคน 

เขายังได้ก่อตั้ง ShareSpace Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งพัฒนาการศึกษาด้านอวกาศ การสำรวจ และมอบประสบการณ์การบินในอวกาศในราคาย่อมเยา

นอกจากนี้เขายังเขียนหนังสือหลายเล่ม นอกจากอัตชีวประวัติของเขาที่ชื่อว่า Return to Earth แล้ว นักบินอวกาศผู้นี้ยังออกหนังสือที่วางแผงในปี 2009 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 40 ปีของการเหยียบดวงจันทร์ครั้งประวัติศาสตร์ของเขา ตลอดจนหนังสือเด็กอีกหลายเล่ม เช่น Reaching for the Moon และ Look to the Stars รวมถึงนวนิยายวิทยาศาสตร์ 2 เรื่อง ได้แก่ The Return และ Encounter with Tiber และสารคดีประวัติศาสตร์ Men from Earth

แต่ถึงแม้จะสร้างผลงานด้านอวกาศจนได้รับชื่อเสียงและเกียรติยศมากมาย แต่ฮีโร่นักบินอวกาศจากภารกิจ Apollo 11 ก็เผชิญความเคลือบแคลงใจจากกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่โจมตีว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในแผนลวงโลกของนาซา

ในปี 2002 บัซเผชิญหน้ากับ 'บาร์ต ซิเบรล' นักทฤษฎีสมคบคิดและทีมงานภาพยนตร์ บริเวณนอกโรงแรมเบเวอร์ลีฮิลล์

เป็นที่เข้าใจว่านักบินอวกาศคนดังถูกล่อลวงให้ไปที่นั่น โดยอ้างว่ากำลังสัมภาษณ์รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กของญี่ปุ่น

ภาพจากกล้องวิดีโอแสดงให้เห็นว่า บาร์ตเรียกร้องให้บัซสาบานต่อพระคัมภีร์ไบเบิลว่า เขาได้เดินบนดวงจันทร์จริง ๆ ทั้งยังใช้คำแรง ๆ กับบัซหลายคำ เช่น หัวขโมย โกหก และคนขี้ขลาด

"คุณบอกว่าตัวเองได้เดินบนดวงจันทร์ ทั้งที่ไม่ได้เดินจริง ๆ" บาร์ตพูดพร้อมกับยื่นพระคัมภีร์ใส่บัซ 

บัซ ซึ่งขณะนั้นอายุ 72 ปี ไม่สามารถระงับสติเอาไว้ได้ จึงปล่อยหมัดเข้าใส่หน้าบาร์ต

แต่สุดท้ายตำรวจไม่เอาผิดบัซ เนื่องจากคู่กรณีไม่มีบาดแผลที่มองเห็นได้ชัด และบัซเองก็ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน

ในแง่ชีวิตส่วนตัวของบัซก็ได้รับความสนใจไม่แพ้ผลงาน 

บัซแต่งงานมาแล้ว 3 ครั้ง ภรรยาคนแรกของเขาเป็นนักแสดงสาวชื่อ ‘โจน อาร์เชอร์’ ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1954 อยู่ด้วยกัน 20 ปีก่อนจะหย่าร้าง 

ภรรยาคนที่สองคือ ‘เบเวอร์ลี ไซล์’ ระหว่างปี 1975 - 1978 คนที่สามคือ ‘ลัวส์ ดริกส์ แคนนอน’ ที่แต่งงานกันในวันวาเลนไทน์ปี 1988 ก่อนจะจบชีวิตคู่ในปี 2012 

เขามีลูกทั้งหมด 3 คน ได้แก่ เจมส์, เจนิส และแอนดรูว์ และมีหลานชาย 1 คน คือ โจน แอน และมีเหลน 4 คน

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะมีอายุ 93 ปี บัซใช้โอกาสวันคล้ายวันเกิด แต่งงานกับเจ้าสาวคนใหม่คือ ‘ดร.แอนกา ฟอร์’ อายุ 63 ปี โดยจัดพิธีเล็ก ๆ ในลอสแอนเจลิส 

เขาเผยทางโซเชียลมีเดียว่า “ในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 93 ผมยินดีที่จะประกาศว่า ดร.แอนกา ฟอร์ และผม ได้แต่งงานกันแล้ว เราทั้งคู่ได้เข้าร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ในพิธีส่วนตัวเล็ก ๆ ที่ลอสแอนเจลิส เรารู้สึกตื่นเต้นพอ ๆ กับวัยรุ่นที่หนีตามกัน”

ฟอร์ทำงานในตำแหน่งรองประธานบริหารของ Buzz Aldrin Ventures ซึ่งเป็นบริษัทของบัซ ตั้งแต่ปี 2019 

บัซโพสต์ภาพ 2 ภาพจากพิธี อวดชาวทวิตเตอร์ โดยเป็นภาพที่เขาสวมชุดประดับเหรียญรางวัลและเหรียญกองทัพอากาศ ส่วนเจ้าสาวอยู่ในชุดลูกไม้

ปัจจุบัน บัซซึ่งเป็นมนุษย์คนที่สองที่เดินบนดวงจันทร์ กลายเป็นนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo 11 เพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่อีก 2 คนได้จากโลกนี้ไปแล้ว

แต่เขาคงไม่ได้สนใจเรื่องการจัดอันดับอะไรอีกแล้ว เพราะหลังจากเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย หลายสิบปีต่อมาเขาเคยให้สัมภาษณ์เรื่องที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนแรกที่ได้เดินบนดวงจันทรเอาไว้ว่า

"ในเวลานั้น ในฐานะลูกเรืออาวุโส มันเหมาะสมแล้วที่นีลจะได้เป็นคนแรก แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การที่ผมถูกแนะนำว่าเป็นมนุษย์คนที่สองบนดวงจันทร์ มันก็น่าหงุดหงิดบ้าง"

"มันจำเป็นจริง ๆ เหรอ? ที่ต้องชี้ให้ฝูงชนเห็นว่าใครเป็นคนแรก ในเมื่อเราทุกคนก็ผ่านการฝึกแบบเดียวกัน เราต่างได้ลงไปบนดวงจันทร์เหมือนกันและทำงานเหมือนกัน แต่ตลอดชีวิตที่เหลือของผม ผมดันถูกเรียกว่ามนุษย์คนที่สองที่เดินบนดวงจันทร์" 

 

อ้างอิง

zmescience
indiatvnews
patch
popsci
commonplacefacts
businessinsider
indiatoday
vox
history
theguardian
wegotthiscovered
nationalgeographic