การจัดการ ‘สารพิษ – รังสีอันตราย’ ประเทศไทย ต้องผ่านอีกกี่บทเรียน?

การจัดการ ‘สารพิษ – รังสีอันตราย’ ประเทศไทย ต้องผ่านอีกกี่บทเรียน?

ถอดบทเรียนเหตุการณ์ สารพิษ – รังสีอันตราย ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

KEY

POINTS

  • หลังจากปีที่แล้ว ประเทศไทยมีเหตุการณ์ วัสดุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ (Cesium-137, Cs-137) ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี สูญหาย ปีนี้ยังมีเคสกากแคดเมียมถูกขนย้ายจากจังหวัดตากไปยังจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดชลบุรี 
  • จากเคสกากแคดเมียม, ซีเซียม-137, โคบอลต์-60 และสารปรอท แม้บางเคสจะยังไม่เกิดผลลัพธ์เลวร้าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ทุกเคส’ ล้วนเป็น ‘บทเรียน’ สำคัญ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์สารอันตรายหายหรือรั่วไหล 

สงกรานต์ 2567 หลายจังหวัดในประเทศไทยอาจจะไม่ได้ฉลองหยุดยาวอย่างมีความสุขนัก 

แม้แต่ ‘เชียงใหม่’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความม่วนจอยสุด ๆ ในช่วงสงกรานต์ ปีนี้ก็เจอ PM2.5 คลุมเมือง จนบางวันขึ้นอันดับ 1 เมืองมลพิษโลก แซงหน้าเมืองเดลีของอินเดียไปแล้ว 

กากแคดเมียม จากตากถึงสมุทรสาคร - ชลบุรี

ยังไม่ทันหายกลัว ‘มะเร็งปอด’ ตอนนี้คนไทยยังต้องมานั่งกลัว ‘โรคอิไตอิไต’ และอีกหลายโรคกันอีก เมื่อมีการตรวจพบว่า กากแคดเมียม 13,832 ตันที่จังหวัดตาก ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร (3,040 ตัน), โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี (4,400 ตัน) และบริษัทอีกแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร (1,034 ตัน) 

บวกเลขแล้ว เหลือที่ยังต้องตามต่ออีกประมาณ 5,358 ตัน (ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ ณ วันที่ 9 เม.ย. 67) ซึ่งก็ชวนให้หวั่นใจว่า มันยังอยู่ดี หรือถูกหลอมไปแล้ว หรือถูกส่งไปขายต่อต่างประเทศ

ถามว่าเจ้าสารแคดเมียมน่ากลัวขนาดไหน? 

ต้องอธิบายก่อนว่าสารแคดเมียม ซึ่งเป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ หลายทาง ได้แก่ ทางผิวหนัง (ผ่านการสัมผัส), ระบบทางเดินหายใจ (การหายใจ สูดดมฝุ่นละอองที่ปนเปื้อน) และระบบทางเดินอาหาร (การรับประทานหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน เช่น การกินข้าวที่ปลูกบนดินที่มีการปนเปื้อน การกินสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน การกินเนื้อหรือนมจากวัวที่กินหญ้าที่เกิดจากดินที่มีการปนเปื้อน)

อ่านข้อมูลถึงตรงนี้ ชวนให้นึกย้อนไปถึงภาพข่าวที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบกากแคดเมียมในบิ๊กแบ็ก วางกองทั้งในโกดังและด้านนอก เลยแอบสงสัยว่าตอนฝนตก สารแคดเมียมจะรั่วไหลหรือไม่ แล้วถ้ารั่วไหล มันจะไปไกลถึงไหนน้อ?

เพราะหากสารแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้สำเร็จ เราก็เตรียม ‘งานเข้า’ ได้เลย เนื่องจากเจ้าสารตัวนี้อาจจส่งผลให้เกิด ‘พิษต่อไต’ นานวันก็ขยับขึ้นเป็นไตวายเรื้อรัง รวมถึง ‘พิษต่อกระดูก’ หนักเข้าก็ป่วยเป็น ‘โรคอิไต-อิไต’ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการกระดูกเปราะ แตกหักง่าย 

ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ พิษของสารแคดเมียมยังอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ด้วย เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งยังมีส่วนที่ทำให้อาการของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นอีก

อ่านแล้วอย่าเพิ่งท้อ เพราะความจริงร่างกายของเรานั้นมหัศจรรย์มาก เราสามารถขับสารแคดเมียมออกมาทางปัสสาวะได้… แต่กว่าจะขับได้สัก ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของที่สะสม ต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี 

สำหรับกลุ่มเสี่ยงจะได้รับสารแคดเมียมจากเหตุการณ์นี้ ลำดับแรก ๆ คือ ‘คนงานในโรงงาน’ ซึ่งอยู่กับกากแร่ที่เก็บไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เบื้องต้นตรวจสอบปัสสาวะพนักงานที่สมุทรสาคร พบว่ามีสารแคดเมียมในร่างกายเกินมาตรฐานแล้ว 8 ราย แต่ยังไม่แสดงอาการผิดปกติ 

ส่วนประชาชนและชุมชนรอบโรงงานที่เก็บกากแคดเมียม ต้องลุ้นกันพอสมควร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบดินรอบรั้วโรงงาน พบมีสารแคดเมียมในปริมาณเข้มข้น ขณะที่ผลจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่โรงงาน ลำรางสาธารณะ แหล่งน้ำในชุมชน ต้องรอผลในอีกไม่กี่วัน 

นอกเหนือจากประเด็น ‘สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน’ และประเด็น ‘สิ่งแวดล้อม’ เหตุการณ์นี้ยังเป็น ‘ตัวเปิด’ ให้ต้องมีการมาถกกันถึงความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมครั้งนี้ถือเป็นการละเมิด EIA หรือไม่? เพราะกากแคดเมียมจะต้องฝังกลบตลอดชีวิต ห้ามนำกากแร่ออกมาเด็ดขาดหลังจากที่ฝังกลบไปแล้วตามหลักวิชาการ รวมถึงประเด็นที่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับ ‘ทุนจีนเทา’ หรือไม่ เนื่องจากมีตัวละครหลายตัวเป็นเครือข่ายคนจีน 

เคส ‘ซีเซียม-137’ เมื่อปี 2566

จะว่าไปแล้วเรื่องทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในสังคมไทย ย้อนไปแค่ปีที่แล้ว (2566) เราก็มีเคสของวัสดุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ (Cesium-137, Cs-137) ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี ที่เกิดสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ความประหลาดของเหตุการณ์นี้คือซีเซียม-137 หายไปตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่กว่าจะมีการประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ปาเข้าไปวันที่ 11 มีนาคม แล้วกว่าจะได้ค้นหาจริง ๆ ก็วันที่ 16 มีนาคม 

ภายหลังวิศวกรนิวเคลียร์จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ต้องออกมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีผู้ครอบครองวัตถุที่หายไปแล้วไม่แจ้งโดยพลัน ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2562 มาตรา 100 โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

ซีเซียม-137 ที่หายไปนั้น ถูกบรรจุในวัสดุลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นใน และห่อหุ้มด้วยเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 4 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม 

นายแพทย์สมรส พงศ์ละไม แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารซีเซียม-137 ว่า หากถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับลม จากเหตุการณ์ภัยพิบัติเชอร์โนบิลในยูเครนเมื่อปี 1986 พบว่าซีเซียม-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ

รวมทั้งสามารถสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ ปลา นก ไก่ หมู หมา แมว วัว ฯลฯ อนุภาคบีตาและรังสีแกมมาจะทำลาย DNA, ทำให้เกิด mutation (การเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม หรือ DNA) ถ้าไม่เสียชีวิตก็จะเกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไทรอยด์

ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนคนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไทรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง

ครั้งนั้นโซเชียลตื่นเต้นกับเหตุการณ์นี้จน #ซีเซียม137 ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ และมีการตั้งรางวัลผู้ชี้เบาะแสในตอนแรก 5 หมื่นบาท ก่อนจะเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 1 แสนบาท 

กระทั่งวันที่ 19 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ไปตามเจอซีเซียม-137 ที่โรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในอำเภอกบินทร์บุรี ทางจังหวัดปราจีนบุรีต้องประกาศปิดโรงงานทันที พร้อมกับกันพื้นที่ไม่ให้พนักงานทั้งหมดออกจากโรงงาน ก่อนจะปฏิบัติงานเก็บกู้ตามขั้นตอน 

โชคดีที่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วก็ไม่พบค่ากัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม และเมื่อตรวจการปนเปื้อนรังสีในร่างกายของคนงานโรงงานทั้ง 70 คน ไม่พบปริมาณรังสีเช่นกัน ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว พร้อมกันนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีได้ติดตามอาการผิดปกติและตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพคนงาน รวมทั้งญาติผู้ใกล้ชิดในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี

โคบอลต์-60 เมื่อปี 2543 

อีกเหตุการณ์ที่คนไทยไม่โชคดีเหมือนเคสซีเซียม-137คือ คดี ‘รังสีโคบอลต์-60’ เมื่อปี 2453 ซึ่งครั้งนั้นเกิดการรั่วไหล จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย ขณะที่ชาวบ้านรวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน

เหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นจากพ่อค้าเร่คนหนึ่งไปรับซื้อกล่องโลหะทรงกระบอกขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร แล้วนำไปเก็บที่สนามหญ้าซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 100 เมตร ต่อมาจึงนำโลหะทรงกระบอกดังกล่าวไปขายต่อที่ร้านรับซื้อของเก่าในซอยมหาวงษ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 

ร้านรับซื้อของเก่าสั่งให้คนงาน 2 คน ช่วยกันผ่าแท่งโลหะนี้ออก ปรากฏว่าระหว่างที่ผ่า มีตะกั่วไหลออกมาพร้อมกลิ่นฉุนรุนแรง และเมื่อผ่าออกมาแล้วยังเจอแท่งโลหะขนาดเล็กอีก 2 อัน และแท่งโลหะทรงกระบอกอีก 1 อัน คนงานจึงใช้คีมคีบโลหะทั้ง 3 อันไปเก็บในกองเหล็กภายในโกดังร้าน ส่วนแท่งโลหะทรงกระบอกอันใหญ่ผ่าซีกไม่สำเร็จ ร้านรับซื้อของเก่าเลยคืนให้พ่อค้าเร่ ให้เอาไปแยกชิ้นส่วนต่อที่บ้าน

เมื่อพ่อค้าเร่นำแท่งเหล็กทรงกระบอกกลับไปแยกชิ้นส่วนต่อที่บ้านได้สำเร็จ เขาก็นำไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าอีกครั้ง ไม่นานทั้งพ่อค้าหาบเร่และคนงาน 2 คนของร้านรับซื้อของเก่าก็แสดงอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มือบวมพอง และผมร่วง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งต่อมาแพทย์สรุปความเห็นว่าน่าจะเกิดจากการได้รับรังสีระดับอันตราย จึงได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำเครื่องตรวจวัดรังสีไปตรวจที่ร้านรับซื้อของเก่า 

ในช่วงค่ำวันนั้นเอง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ชื่อเดิมคือสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ) หรือ OAP ตรวจพบว่าบริเวณหน้าร้านรับซื้อของเก่ามีระดับรังสีสูงมาก แสดงว่ามีต้นกำเนิดรังสีตกหล่นอยู่ 

เจ้าหน้าที่ใช้เวลาข้ามคืนจึงตรวจสอบพบต้นกำเนิดรังสี ซึ่งก็คือแท่งโลหะทรงกระบอกนั่นเอง จากการตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นโคบอลต์-60 มีความแรงรังสีประมาณ 425 คูรี

สอบสวนพบว่า โคบอลต์-60 นี้ เคยอยู่ใน ‘เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60’ ซึ่งเดิมเป็นของโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง แต่เมื่อใช้งานเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 จนเสื่อมสภาพ ทางโรงพยาบาลจึงได้ซื้อเครื่องใหม่จาก บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด พร้อมกับขายเครื่องเก่าคืนให้ด้วย ทางบริษัทฯจึงขนย้ายมาเก็บไว้ที่โรงจอดรถรกร้างของบริษัทฯ ภายในซอยอ่อนนุช เขตประเวศ กระทั่งกลุ่มผู้รับซื้อของเก่านำออกมา 

หลังเก็บกู้แล้วเสร็จ ทางกระทรวงสาธารณสุขเร่งติดตามผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ พบผู้ป่วยหนัก 10 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 3 ราย ที่เหลือกลายเป็นคนพิการ ถูกตัดแขนตัดขา ส่วนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงร้านรับซื้อของเก่าตรวจพบเม็ดเลือดขาวต่ำผิดปกติ และมีหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งแท้งลูก 

การจัดการ ‘สารพิษ – รังสีอันตราย’ ประเทศไทย ต้องผ่านอีกกี่บทเรียน?

หลังเหตุการณ์ ‘อุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60’ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางรังสีและทายาทของผู้เสียชีวิตได้ร่วมกันฟ้องคดี OAP ต่อศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ และฟ้องคดี บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลแพ่ง ให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน 

สำหรับคดีพิพาททางปกครอง ศาลปกครอง พิจารณาว่า OAP ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลการเก็บรักษาวัสดุกัมมันตรังสีและการจัดการให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งที่ทางโรงพยาบาลได้ทำหนังสือแจ้งมาแล้วว่าได้ขายเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ให้บุคคลอื่น แต่ OAP ก็มิได้ดำเนินการติดตามใด ๆ อย่างละเอียด และมิได้ไปตรวจสอบตามที่มีการขอรับใบอนุญาตประจำปีแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังเห็นพ้องกับศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้ OAP ชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายทั้งหมดรวมเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป 

ส่วนคดีแพ่งนั้นดำเนินมาจนถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งได้พิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 สรุปว่า ผู้เสียหายไม่ได้กระทำละเมิดต่อบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ มีความผิดฐานมีเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้เก็บรักษาป้องกันมิให้เกิดอันตราย

การที่ผู้เสียหายรับซื้อแท่งโลหะสแตนเลส ซึ่งภายในบรรจุวัสดุกัมมันตรังสีโคบอลต์-60 แม้จะฟังได้ว่าผู้รับซื้อของเก่าขาดความระมัดระวังไปบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการรับซื้อไว้โดยประมาทเลินเล่อ

ประเด็นต่อมาคือ บริษัทฯละเมิดต่อผู้เสียหายทั้ง 12 ราย เนื่องจากไม่ได้จัดเก็บวัตถุกัมมันตรังสีโคบอลต์ตามกฎกระทรวงและคำแนะนำของ OAP และจัดเก็บในลักษณะปล่อยปละละเลย ถือว่าบริษัทฯประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 

ศาลฏีกาพิพากษาให้บริษัทฯต้องชดใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้ง 12 ราย รวมเป็นเงินกว่า 5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ 

ความน่ากังวลของ ‘สารปรอท’ ต้นเหตุ ‘โรคมินามาตะ’

อีกบทเรียนที่อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยตรง แต่ก็เป็นบทเรียนที่ควรค่าแก่การศึกษาคือ ‘โรคมินามาตะ’ 

เมื่อปี 2564 ภาพยนตร์เรื่อง ‘Minamata’ (มินามาตะ) ที่นำแสดงโดยดารายอดฝีมือ ‘จอห์นนี เด็ปป์’ ได้ออกมาเป็นกระบอกเสียงให้โลกรับรู้ถึงอันตรายของสารพิษจากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ ‘สารปรอท’ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของช่างภาพชื่อว่า ‘วิลเลียม ยูจีน สมิธ’ เจ้าของรูปถ่ายผู้ป่วยโรคมินามาตะอันโด่งดัง ซึ่งเป็นรูปของ ‘คามิมูระ โทโมโกะ’ ขณะที่แม่ประคองเธอไว้ในอ่างอาบน้ำ ซึ่งโทโมโกะคือหนึ่งในเด็กที่ได้รับพิษจากสารปรอทเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรก ทำให้เธอตาบอด หูหนวก และมีขาที่ใช้งานไม่ได้มาตั้งแต่กำเนิด

ภาพจาก : magnumphotos.com

ภาพจาก : magnumphotos.com

ภาพถ่ายชุดนั้นกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักโรคมินามาตะ และหันมาสนใจปัญหามลพิษมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้ศาลตัดสินให้บริษัท Chisso Corporation จ่ายเงิน 937 ล้านเยน ชดเชยสำหรับเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ หลังจากที่บริษัทดังกล่าวปล่อยสารเคมีลงสู่ทะเลชิระนุย บริเวณอ่าวมินามาตะ 

ระหว่างการจัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษเรื่องนี้ในประเทศไทย เมื่อปี 2564 ได้มีการร่วมกันถกประเด็นการขับเคลื่อนงานลดมลพิษทางอากาศที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดย ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งมีโอกาสลงพื้นที่สัมผัสชาวมินามาตะตัวจริง เล่าว่า

“มินามาตะเป็นโศกนาฎกรรมของมนุษย์ชาติที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ที่ก่อมลพิษอุตสาหกรรม คนที่เสียชีวิตหรือได้รับผลกระทบจากปัญหานี้กว้างขวางมาก

“เด็กที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถรักษาหายได้ ก็คือต้องพิการตลอดชีวิต ลองนึกภาพ หากเรากินปลาที่มีสารปรอท สมรรถภาพร่างกาย สุขภาพจะเสียไปและบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

“ความน่ากลัวของสารปรอทคือ สามารถสะสมในห่วงโซ่อาหารได้ และเมื่อปลากินจุลินทรีย์หรือแพลงตอนที่มีปรอทอยู่ พวกมันก็จะได้รับสารปรอท แล้วเมื่อปลาตัวใหญ่มากินปลาเล็กเข้าไป ปลาตัวใหญ่ก็จะได้รับสารปรอท และเมื่อคนจับปลาไปบริโภค คนก็จะได้รับสารปรอท อาจเรียกได้ว่า หากสารปรอทหลุดเข้าไปห่วงโซ่อาหารคนแล้วจะแก้ได้ยาก”

สำหรับมินามาตะความเจ็บปวดที่สุดของชาวเมือง ไม่ใช่เพียงการที่พวกเขาได้รับสารพิษ แต่เป็นเพราะยังเกิดการถ่ายโอนสารปรอทในตัวแม่ไปสู่ทารกได้ ส่งผลให้เด็กเกือบทั้งเมืองในเวลานั้นต้องกลายเป็นผู้พิการทั้งทางกายและสติปัญญาไม่น้อย

แต่สิ่งที่เจ็บปวดยิ่งไปกว่านั้นคือการเพิกเฉย ละเลยจากทั้งผู้ผลิตและปล่อยสารพิษเหล่านั้น และภาครัฐ

เพ็ญโฉมยังให้แสดงความเห็นด้วยว่า กรณีมินามาตะ ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้นมากเท่านี้ ถ้าหากว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ตระหนักเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่นิ่งนอนใจแก้ไข และที่สำคัญมาก คือผู้ก่อมลพิษ ซึ่งมีความมักง่าย ไร้ความรับผิดชอบ หากไม่มีการปล่อยน้ำเสียระดับเข้มข้นในแหล่งน้ำหรือทะเล หรือหากพบสาเหตุแล้วก็มีการปรับปรุงแก้ไขทันที ความเสียหายจะไม่กลายเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลก และประเมินค่ามิได้เช่นนี้

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดเหตุการณ์แบบมินามาตะหรือไม่? เพ็ญโฉมยอมรับว่ามีการพูดคุยห่วงใยกันไม่น้อยถึงโรคที่เกี่ยวกับมลพิษ หรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรม หลังมีการศึกษาพบว่า มีสารปรอทระดับสูงปะปนในปลาในพื้นที่ที่มีภาคอุตสาหกรรมหนาแน่นในประเทศไทยหลายแห่ง

“ในพื้นที่ที่เราทำวิจัย ได้แก่ ปราจีนบุรีและระยอง เราพบว่าในปลามีสารปรอทสูง รวมถึงในเส้นผมคน นอกจากนี้เราเคยศึกษาพื้นที่อื่น ๆ ด้วย อาทิ ขอนแก่น ก็พบสารปรอทในปลาด้วย แต่ยังไม่สูงในเกณฑ์อันตรายมาก ซึ่งถ้าเราพบข้อเท็จจริงอย่างนี้แล้วเรารีบป้องกันปัญหา เชื่อว่า มินามาตะจะไม่เกิดขึ้นประเทศไทย

“อย่างเด็กที่เราไปตรวจที่ตำบลท่าตูม ปราจีนบุรี ก็จะเกิดในช่วงที่เราทดลองวิเคราะห์ปลาพอดี ซึ่งพบเส้นผมแม่เขามีสารปรอทสูง ซึ่งแม่บริโภคปลาจากพื้นที่น้ำเสียจากโรงงานทุกวัน ด้วยความต้องการโปรตีนเพื่อบำรุงลูกในครรภ์ เราพบว่าเด็กที่คลอดออกมามีพัฒนาการช้า แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตมาก การจัดการของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสารปรอทปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ขยะอันตรายอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้เรากำลังเจอว่าหลายพื้นที่มีปัญหานี้”

ล่าสุด เมื่อปี 2566 มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียเรื่อง “เชยแล้ว กินปลาแล้วฉลาด สมัยนี้กินปลาแถมปรอท” พบการสะสมปรอทในปลาทะเลและปลาน้ำจืดใน 8 พื้นที่ จังหวัดสมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ระยอง, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, เลย, ขอนแก่น และจันทบุรี มีการปนเปื้อนของปรอทเกิน 24 เท่าจากมาตรฐาน จนอาจนำมาสู่ “มินามาตะโมเดล” ในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภค มีความวิตกเรื่องความปลอดภัยจากการบริโภคสัตว์น้ำจากแหล่งดังกล่าว

ในเวลาอันรวดเร็ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า จากการรวบรวมข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ปรอททั้งหมดในปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเล ตั้งแต่ปี 2563 - 2566 จำนวน 108 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณการปนเปื้อน อยู่ระหว่าง 0.001 - 0.840 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ซึ่งไม่เกินค่าปนเปื้อนสูงสุดทุกตัวอย่าง โดยมีค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐาน 0.0025 มก./กก. และ 0.0010 มก./กก. ตามลำดับ

แสดงให้เห็นว่าปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลของไทย ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ประชาชนสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

จากเคสที่หยิบยกมาพูดถึงทั้งหมด แม้บางเคสจะยังไม่เกิดผลลัพธ์เลวร้าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ทุกเคส’ ล้วนเป็น ‘บทเรียน’ สำคัญ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์สารอันตรายหายหรือรั่วไหล ซึ่งจะกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ประชาชน ที่ทุกวันนี้ก็ ‘อยู่ยาก’ ขึ้นทุกวัน 

คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ประเทศไทยต้องผ่านอีกกี่ ‘บทเรียน’ เหตุการณ์ทำนองนี้จึงไม่เกิดขึ้นอีก

 

เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า

ภาพ : ภาพปกจากกรุงเทพธุรกิจ 

อ้างอิง :

เช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ทั่วไทย เช้านี้ "เชียงใหม่" อ่วม อยู่อันดับ 1 เมืองมลพิษโลก

แกะรอย "แคดเมียม" จากตาก สมุทรสาคร ถึงชลบุรี โดยมี "ทุนจีน" อยู่เบื้องหลัง

อัปเดต! กากแคดเมียม สารอันตราย ต้องหาอีก 5,358 ตัน คนปนเปื้อนสาร เสี่ยงมะเร็ง

'แคดเมียม' เกมการเมือง ปมซ่อนเงื่อน พปชร. 'ร้อยเอก' ขย่ม 'พลเอก'

คพ.ชี้ "แคดเมียม" อันตรายพบค่าความเข้มข้น-ยังไม่ปนเปื้อน สวล.

ทำความรู้จัก "แคดเมียม" สารก่อมะเร็ง พิษต่อกระดูก สาเหตุโรคอิไต – อิไต

กมธ.อุตสาหกรรม จี้นายกฯ กวาดล้าง "ทุนจีนเทา" เอี่ยว “กากแคดเมียม”

กมธ. ชี้ ทุนจีนอยู่เบื้องหลังขนย้ายกากแคดเมียม

ไทม์ไลน์ตามหาซีเซียม-137 และการแถลงข่าวชวนงง สรุปแล้ว เรากำลังเจอกับอะไร?

‘ซีเซียม-137’ บทเรียนสารกัมมันตรังสี ภัยใหญ่ใกล้ตัว เมื่อเรื่องที่ควรรู้กลับถูก ‘ปกปิด’

อุบัติเหตุทางรังสี ‘โคบอลต์-60’ บทเรียนจากความประมาท-ไม่รู้ สู่เหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจปรอทอาหารทะเลไทยปลอดภัยบริโภคได้

"มินามาตะ" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน "โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์"

วิลเลียม ยูจีน สมิธ : ช่างภาพผู้เผยความจริงให้โลกรู้ถึงความทนทุกข์ของผู้ป่วย ‘มินามาตะ’ ในประเทศญี่ปุ่น