‘ชุดนักเรียน’ ของไทย เราได้แต่ใดมา? เส้นทางเครื่องแบบและปฏิบัติการทางอำนาจกว่าร้อยปี

‘ชุดนักเรียน’ ของไทย เราได้แต่ใดมา? เส้นทางเครื่องแบบและปฏิบัติการทางอำนาจกว่าร้อยปี

ตามรอยการก่อร่างของ ‘ชุดนักเรียน’ ในไทย ดูความเป็นมาของเครื่องแบบ พัฒนาการในรูปแบบต่าง ๆ และภาพสะท้อนของปฏิบัติการทางอำนาจในห้วงร้อยกว่าปีของไทย

  • กระแสชุดนักเรียนในหมู่นักท่องเที่ยวจีน อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่แตกต่างจากจุดกำเนิดแต่เดิม
  • นัยความหมายของชุดนักเรียนในไทยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังการปฏิวัติ มาถึงยุคดิจิทัล

ทุกวันนี้ ชุดนักเรียนมีความหมายที่แตกต่างไปจากจุดกำเนิดของมันอย่างหนังคนละม้วน เร็ว ๆ นี้มีข่าวเซเล็บชาวจีนซื้อชุดนักเรียนหญิงไปปักชื่อและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย

ชุดนักเรียนไทยได้กลายเป็นวัฒนธรรมส่งออกสำคัญที่ใช้ ‘ความเป็นไทย’ ประเภทหนึ่งสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจต่างไปจากชุดนักเรียนอันเป็นเครื่องมือในการควบคุมระเบียบวินัย และเสริมสร้างเกียรติยศในโรงเรียนที่คล้ายคลึงกับเครื่องแบบทหาร แต่การให้ความหมายของชุดนักเรียนก็ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องในรอบร้อยกว่าปี

 

ชุดนักเรียนและเรือนร่างแห่งความศิวิไลซ์ ช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การศึกษาแผนใหม่ในโลกตะวันตกอาจจะเริ่มจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ในเมืองไทยกลับเริ่มเมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่กรุงเทพฯ พยายามจะสร้างรัฐสมัยใหม่ รากฐานสำคัญของระบอบใหม่นั้นจำเป็นต้องใช้บุคลากรจำนวนมากเพื่อทำให้ระบบเดินหน้าได้

ดังนั้น การศึกษาสมัยใหม่จึงเข้ามาเพื่อผลิตข้าราชการเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ ก่อนหน้านั้นการศึกษาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ การศึกษาของชนชั้นสูงที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ราชสำนัก และการศึกษาของไพร่ที่สัมพันธ์กับวัด ทั้งคู่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบหรือชุดนักเรียนอะไร

แต่พอมีการจัดตั้งโรงเรียนแบบใหม่ขึ้นมา อันเป็นโรงเรียนที่มีต้นแบบมาจากตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษอันเป็นปลายทางที่รัฐบาลส่งนักเรียนไปเรียนวิชาชีพครูเพื่อกลับมายกระดับการศึกษาในประเทศ ระบบโรงเรียนที่เรารู้จักกันนี้ก็ถือว่าเป็นมรดกจากการพยายามเดินตามตะวันตกนั่นเอง

ในอีกด้าน เรือนร่างของชาวสยามนั้นเคยเป็นที่จับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์จากชาวตะวันตกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การถูกมองว่าสยามแต่งกายแทบจะเปลือยเปล่าเป็นที่รู้จักผ่านบันทึกและลายเส้นภาพวาดมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งในช่วงรัชกาลที่ 4 จึงได้มีระเบียบการให้สวมเสื้อเข้าเฝ้า เช่นเดียวกับการยกเลิกการหมอบคลานเข้าเฝ้าในช่วงรัชกาลที่ 5 ก็เพื่อแสดงให้เห็นความศิวิไลซ์ของชาวสยามต่อชาวตะวันตก เรือนร่างของชาวสยามจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงความศิวิไลซ์ของประเทศ

เนื้อตัวของคนจึงกลายเป็น ‘หน้าตา’ ของผู้มีอำนาจในยุคนั้น การสั่งการให้เปลี่ยนโดยการสวมเครื่องแต่งกายจึงเป็นหนึ่งในความพยายามล้างภาพบ้านป่าเมืองเถื่อนแบบที่ชาวตะวันตกคิดไปด้วย

ขณะนั้นมีโรงเรียนอยู่หลายประเภท ตั้งแต่โรงเรียนหลวงที่มีเจ้านายและชนชั้นสูง (แต่ไปให้ถึงที่สุดแล้ว ชนชั้นสูงระดับพระเจ้าลูกยาเธอขึ้นไปจะได้รับโอกาสให้ไปเรียนต่างประเทศ ไม่ได้เรียนในประเทศ) โรงเรียนเอกชนสายคริสต์ที่เป็นที่เล่าเรียนของลูกหลานคหบดีที่มีจุดเด่นอยู่ที่การสอนภาษาต่างประเทศ หรือโรงเรียนจีนที่ผูกกับชาตินิยมพลัดถิ่นของคนจีนอพยพ ยังมีโรงเรียนที่ชนชั้นกลางส่งลูกหลานเข้าไปเรียนที่มีทั้งโรงเรียนวัดในกรุงเทพฯ และโรงเรียนอื่น ๆ อีก

ในระดับสุดท้ายก็คือ โรงเรียนวัด และโรงเรียนต่างจังหวัดที่ลูกหลานสามัญชนจะมีโอกาสเข้าถึง แต่พึงเข้าใจว่าการศึกษาช่วงแรกนั้น ๆ ยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก

เป็นไปได้สูงว่ายุคดังกล่าว รัฐไม่ได้เอาจริงเอาจังกับเครื่องแบบหรือมาตรฐานการควบคุมมากนัก ชุดนักเรียนจึงมีลักษณะแตกต่างกันไป ที่มีบันทึกรายละเอียดอย่างชัดเจนเห็นได้จากโรงเรียนวชิราวุธที่เน้นการแต่งกายอย่างพิถีพิถัน แต่กับโรงเรียนอื่นก็มิได้เคร่งครัด บ้างก็เป็นชุดราชปะแตน หรือกรณีโรงเรียนดาราวิทยาลัยที่เชียงใหม่ เป็นชุดที่ให้นักเรียนนุ่งซิ่น อันเป็นเครื่องแต่งกายพื้นถิ่นอยู่แล้ว แต่ที่กล่าวมานี้มักจะไม่ใช่รูปแบบชุดนักเรียนแบบที่เราคุ้นเคยกัน

นักท่องเที่ยวชาวจีนในร้านชุดนักเรียนของไทย เมื่อปี 2566 ภาพจาก NATION PHOTO

การศึกษามวลชนกับการควบคุมเครื่องแบบ

แม้จะมีพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 แต่การศึกษาระดับมวลชนก็มิได้แพร่หลาย เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและความมุ่งมั่นของรัฐ ผิดกับหลังปฏิวัติ 2475 ที่ประเด็นการศึกษาอยู่ใน ‘หลัก 6 ประการ’ การขยายโรงเรียนและการเพิ่มจำนวนนักเรียนอย่างมากเป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณได้เป็นอย่างดี ภายใต้การขยายระบบการศึกษา การเข้ามาควบคุมและจัดการเรื่องการแต่งกายก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกตด้วย และมีความเป็นไปได้ว่าวิธีคิดเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากระบบการศึกษาของญี่ปุ่น สอดคล้องกับความนิยมความรู้และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นของรัฐบาลคณะราษฎรในยุคนั้น [1]

การออกกฎหมายห้ามแต่งกายเลียนแบบนักเรียน การกำหนดรูปแบบชุดนักเรียนจากส่วนกลาง แบ่งเพศชายหญิง ล้วนเกิดขึ้นหลังปฏิวัตินั่นคือ ระเบียบกระทรวงธรรมการว่าด้วยเครื่องแต่งกายนักเรียนชาย (2478) [2], พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482 [3] และระเบียบกระทรวงธรรมการ ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482 [4] ขณะนั้นแบ่งประเภทโรงเรียนเป็นโรงเรียนรัฐบาลชาย, โรงเรียนรัฐบาลหญิง, โรงเรียนประชาบาล และโรงเรียนราษฎร์

เครื่องแบบโรงเรียนรัฐบาลชายมีรูปแบบคล้ายคลึงกับชุดทหาร ด้วยชุดทั้งหมดเป็นสีกากีแกมเขียว (ซึ่งต่างไปจากปัจจุบันที่เป็นเสื้อขาว) ทั้งยังเป็นเสื้อแขนยาว สวมหมวกแก๊ปทรงหม้อตาล กำหนดให้สวมเข็มขัด รองเท้าและถุงเท้า ต่างไปจากเครื่องแบบอื่นที่ไม่ระบุเรื่องหมวก รองเท้า ถุงเท้าและเข็มขัด

ส่วนนักเรียนหญิงจะต้องสวมเสื้อสีขาวและ ‘ผ้าถุง’ ให้มีการสวมถุงเท้าและรองเท้า อันจะต่างไปจากโรงเรียนประชาบาลและโรงเรียนราษฎร์ที่ไม่ได้ระบุให้สวมถุงเท้าและรองเท้าเป็นเครื่องแบบ เครื่องแบบโรงเรียนชายและหญิงได้เป็นภาพตัวแทนของนักเรียนโตที่มีความพร้อมและเป็นภาพตัวแทนของพลเมืองในยุคใหม่

ระเบียบฉบับในปี 2492 [5] (ดังตารางที่ 2 ด้านล่าง) ใช้แทนฉบับเดิม มีสาระสำคัญ คือ การยกเลิกแบ่งแยกการแต่งกายตามประเภทโรงเรียน เครื่องแบบนักเรียนชายทุกระดับจะมีมาตรฐานเดียวกัน ชุดนักเรียนชายระดับมัธยมก็เปลี่ยนจากสีกากีแขนยาวแบบเครื่องแบบทหารมาเป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว ขณะที่นักเรียนหญิงยังแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ ประถม, มัธยม อาชีวะศึกษาชั้นต้นและชั้นกลาง และเตรียมอุดม อาชีวะศึกษาชั้นสูง และการเรือนชั้นสูง 

ปัญหาสังคมในทศวรรษ 2500 ที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนนั้น รัฐวิตกว่าพวกเขาจะลอกเลียนวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะวัฒนธรรมป็อบคัลเจอร์จากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุอาชญากรรมที่เลียนแบบจากภาพยนตร์ การฟังเพลง และสถานบันเทิงอิทธิพลอเมริกันทั้งหลายที่ขยายตัวในเมืองใหญ่ที่เป็นภาพตัวแทนความเสื่อมเสียทางศีลธรรมนำไปสู่การควบคุมระเบียบวินัยที่เข้มงวดมากขึ้น ชุดนักเรียนก็เป็นหนึ่งในกลไกนั้น  

จากตารางที่ 3 จะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2500-2518 มีระเบียบที่เกี่ยวกับชุดนักเรียนออกมาถึง 8 ฉบับ แสดงถึงความหมกมุ่นที่จะจัดการควบคุมเด็กและเยาวชนที่ผ่านเครื่องแบบและเรือนร่าง มีการกำหนดตัวอักษรชื่อย่อโรงเรียนที่ปักบนชุดนักเรียนเพื่อสามารถแยกแยะสังกัดของนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ได้ ระเบียบได้มอบอำนาจโรงเรียนผ่านข้อความว่า หากนักเรียนฝ่าฝืนระเบียบให้ “อยู่ในดุลยพินิจของโรงเรียนที่จะดำเนินการตามสมควร เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติถูกต้อง”

คำว่าดุลยพินิจ เป็นการคล้ายออกเช็กเปล่าให้อำนาจผู้บริหารโรงเรียนและครูตีความ ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญต่อมาที่จะทำให้โรงเรียนมีลักษณะเป็นองค์กรอิสระที่อยู่เหนือระเบียบหรือกระทั่งกฎหมาย

ในอีกด้าน เครื่องแบบยังเกี่ยวข้องกับหน้าตาและเกียรติยศชื่อเสียงของโรงเรียนด้วย เห็นได้จากการอบรมนักเรียนในปี 2502 ที่กล่าวในหลักความประพฤตินักเรียนว่า “นักเรียนต้องสวมเครื่องแบบ และย่อมรักษาชื่อเสียงของโรงเรียนและของเครื่องแบบอยู่เสมอ” [6]

ดังนั้น ชุดนักเรียนจึงไม่ใช่แค่ผืนผ้าอาภรณ์ที่คลุมร่างกายนักเรียน แต่กลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางอำนาจของโรงเรียน ผู้บริหารและครูที่ได้รับไฟเขียวจากรัฐไปด้วย

และนั่นก็คือ จุดเริ่มต้นและพัฒนาการของชุดนักเรียนและอำนาจที่รัฐปฏิบัติการผ่านเรือนร่างของเด็กและเยาวชนไทย เพื่อสร้างระเบียบวินัยที่กลายมาเป็นข้ออ้างงของรัฐ โรงเรียน ผู้บริหารและครูเสมอมา

ซึ่งลักษณะเช่นนี้ตรงกันข้ามกับการสวมใส่ชุดนักเรียนในฐานะแฟชั่น ก่อนหน้าชาวจีนจะถ่ายลงสื่อโซเชียลมีเดีย ชุดนักเรียนที่อยู่นอกสถานศึกษาก็มีลักษณะกึ่งแฟชั่น และมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ยั่วเย้าทางเพศ ไม่ว่าจะปรากฏในสถานบันเทิงยามค่ำคืน หรือการเพิ่มมูลค่าในฐานะสินค้าทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือการให้ความหมายของชุดนักเรียนของรัฐไทย

‘ชุดนักเรียน’ ของไทย เราได้แต่ใดมา? เส้นทางเครื่องแบบและปฏิบัติการทางอำนาจกว่าร้อยปี ‘ชุดนักเรียน’ ของไทย เราได้แต่ใดมา? เส้นทางเครื่องแบบและปฏิบัติการทางอำนาจกว่าร้อยปี ‘ชุดนักเรียน’ ของไทย เราได้แต่ใดมา? เส้นทางเครื่องแบบและปฏิบัติการทางอำนาจกว่าร้อยปี เรื่อง: ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภาพ: ภาพประกอบเนื้อหาจาก NATION PHOTO

เชิงอรรถ:

[1] ณัฐพล ใจจริง, ตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร (กรุงเทพฯ : มติชน, 2563)

[2] ถูกอ้างถึงใน “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2492”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 66 ตอนที่ 65, 29 พฤศจิกายน 2492, หน้า 745-860 เนื่องจากมีการประกาศยกเลิกระเบียบเครื่องตัวนักเรียนสตรีสำหรับโรงเรียนรัฐบาลเมื่อ 26 กันยายน 2474 และระเบียบกระทรวงธรรมการว่าด้วยเครื่องแต่งกายนักเรียนชาย 10 กันยายน 2478  

[3] “พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 56, 10 กรกฎาคม 2482, หน้า 642-644

[4] “ระเบียบกระทรวงธรรมการ ออกความตามในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 56, 10 กรกฎาคม 2482, หน้า 1044-1055

[5] “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2492”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 66 ตอนที่ 65, 29 พฤศจิกายน 2492, หน้า 745-860 ระเบียบนี้ยังประกาศยกเลิกระเบียบเครื่องตัวนักเรียนสตรีสำหรับโรงเรียนรัฐบาลเมื่อ 26 กันยายน 2474 และระเบียบกระทรวงธรรมการว่าด้วยเครื่องแต่งกายนักเรียนชาย 10 กันยายน 2478 อีกด้วย

[6] “หนังสือกระทรวงศึกษาธิการที่ 21310/2506 เรื่อง หัวข้ออบรมนักเรียน ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2502”, สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 99-100

[7] “ระเบียบกระทรวงธรรมการ ออกความตามในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 56, 10 กรกฎาคม 2482, หน้า 1044-1055