ย้อนรอย 4 ทศวรรษ ‘พรรคทหาร’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย บทเรียนของเรื่องนี้คืออะไร?

ย้อนรอย 4 ทศวรรษ ‘พรรคทหาร’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย บทเรียนของเรื่องนี้คืออะไร?

‘พรรคทหาร’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยรอบ 40 ปีที่ผ่านมา มีบทบาทต่อทิศทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมาก ตั้งแต่ พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคสหภูมิ พรรคชาติสังคม จนถึง พรรคสหประชาไท

  • ปี พ.ศ. 2498 มีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย สิ่งที่ตามมาคือ กำเนิด พรรคเสรีมนังคศิลา มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค
  • ราว 4 ทศวรรษ หลังจากกำเนิดพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคทหาร ยังคงวนเวียนและมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
  • ทหารอย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร จนถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล้วนมีบทบาททางการเมืองไทย 

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ประเทศในเอเชียและแอฟริกา หรือประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกเมื่อได้รับเอกราชและกลายเป็นประเทศเกิดใหม่ ประเทศเหล่านี้มีความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งมีการยึดอำนาจโดยทหาร

การที่ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองนี้ส่งผลให้งานรัฐศาสตร์จำนวนมากให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในแง่ของการศึกษาเฉพาะกรณี เฉพาะประเทศ รวมไปถึงการศึกษาเชิงเปรียบเทียบที่จะทำให้เราเข้าใจถึงสาเหตุ และสภาพแวดล้อมที่ผลักดันให้ทหารเข้ามีบทบาททางการเมือง รวมไปถึงลักษณะและบทบาทที่มีผลต่อการเสถียรภาพและพัฒนาการทางการเมือง [1]

ดังนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของทหารนั้นมีความสำคัญทางการเมืองทั้งในทางที่ส่งเสริมและทำลายระบอบประชาธิปไตย หรือกล่าวให้ถึงที่สุดด้วยด้วยน้ำเสียงทางวิชาการก็คือ ลักษณะโดยทั่วไปของการศึกษาบทบาทของสถาบันทางการเมืองในแง่ที่ประชาธิปไตยในสังคมไทยจะตั้งมั่นได้นั้น อำนาจสูงสุดจะต้องเป็นของฝ่ายพลเรือนในการทำหน้าที่ปกครองประเทศ และสามารถควบคุมสถาบันทหารได้ รวมไปถึงจะต้องให้ทหารมีอำนาจและบทบาทในกรอบที่จำกัด [2]

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบทความนี้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารคงไม่สามารถทำหน้าที่วิเคราะห์ ทำนายแนวโน้มทหารกับเมืองไทยในอนาคตได้ แต่กำลังจะพาผู้อ่านไปย้อนรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในแง่ของบทบาทของทหารที่เข้ามาร่วมเล่นการเมืองผ่านการตั้ง ‘พรรคการเมือง’ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อสืบทอดอำนาจ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงรูปแบบการแฝงเร้นทางการเมืองในอดีตเมื่อทหารต้องการเข้าร่วมเล่นการเมืองผ่านระบบการเลือกตั้ง จึงจำเป็นที่ต้องเล่นตามกติกาประชาธิปไตย

แต่จุดจบสุดท้ายจะเป็นอย่างไรนั้นต้องอ่านต่อไปข้างหน้า

ในความหมายของ พรรคการเมือง (Political Party) คือ การรวมตัวของกลุ่มคนทำกิจกรรม โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเข้ามีบทบาทในทางการเมือง ไม่ว่าจะในแง่การได้เป็นรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบาย การบังคับใช้นโยบายในการบริหารประเทศ และในแง่ของการควบคุมการกำหนดนโยบาย รวมไปถึงการบังคับใช้นโยบายในกรณีที่เป็นฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองก็ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย เพราะในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการก็มีพรรคการเมือง หากแต่พรรคการเมืองมีนั้นมีบทบาทหน้าที่เพื่อครองอำนาจทางการเมือง และสร้างความชอบธรรมทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย [3]

สำหรับประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ว่าทหารได้เริ่มมามีบทบาทตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากว่ากลุ่มทหารเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในสยามนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 หากย้อนกลับไปมองในเชิงประวัติศาสตร์จะพบว่า เคยมีนายทหารร่วมกันวางแผนให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ (เหตุการณ์กบฎ ร.ศ. 130) เพราะทหารเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการศึกษาตามแบบแผนสมัยใหม่ และรับรู้ความเป็นไปของโลก ซึ่งก็เป็นผลอันเนื่องมาจากการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ก่อการอันเป็นทหารนั้นก็หาได้ประสบความเร็จไม่ เนื่องจากแผนการที่วางไว้กลับรั่วไหลจนนำไปสู่การจับกุม

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ในย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งผู้ก่อการทั้งสายพลเรือนและทหารล้วนแล้วกล่าวได้ว่า เป็นกลุ่มคนหนุ่มที่มีแรงผลักด้านอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศให้มีรัฐธรรมนูญ และมีความเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้าสมัยมากกว่าเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวก็ว่าได้ [4] และปฏิเสธไม่ได้ว่า คนกลุ่มหลักที่ทำให้การปฏิวัติสำเร็จนั้นก็คือกลุ่มทหาร

แม้ว่าภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จะนำไปสู่การได้มาซึ่งสถาบันทางการเมืองใหม่อย่างรัฐสภา เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ทว่าสยามในห้วงแรกของการปฏิวัติก็ยังไม่เปิดให้มีพรรคการเมือง จนกระทั่งสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. 2487 จึงเป็นการเปิดทางให้มีรัฐบาลพลเรือนที่มีปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สนับสนุน ในระยะเวลานี้ พื้นที่ทางการเมืองได้เปิดให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ สามารถตั้งพรรคทางการเมืองขึ้นมาเพื่อแข่งขันกัน

อย่างไรก็ดี ในระยะนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองการมีอยู่ของพรรคการเมืองหากแต่ก็ไม่ได้ห้ามให้มี ห้วงเวลาที่ระบอบประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 การรัฐประหารครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการทำลาย ‘ลัทธิรัฐธรรมนูญ’ ที่สถิตย์สถาปนาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 โดยรัฐบาลคณะราษฎรพยายามสถาปนาให้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญของชาติ และอาจจะถึงขั้นเปรียบดังของศักดิ์สิทธิ์ แต่การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นการทำลายความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญลง [5]

ในขณะเดียวกัน การรัฐประหารครั้งนั้นยังเป็นการทำให้อำนาจของคณะราษฎรเสื่อมถอยลง แม้ว่าจอมพล. ป พิบูลสงคราม จะสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนี้ แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจมากเฉกเช่นกับสมัยแรก เนื่องจากต้องเผชิญกลุ่มอำนาจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2490 การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้สภาวะผู้นำสามคน (authoritarian triumvirate rule) ที่ไม่มีผู้นำคนใดโดดเด่น

การถ่วงดุลอำนาจเกิดขึ้นจากการแข่งขันระหว่าง พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ที่คุมกองกำลังตำรวจ และอีกฝ่ายหนึ่งคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่คุมกองทัพบก เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเล่มเกมหันเข้าหาสหรัฐอเมริกาเพื่อขอการสนับสนุน [6] พร้อมทั้งยังเล่นบทนักประชาธิปไตย และมีนโยบายฟื้นฟูประชาธิปไตย เช่น การอนุญาตให้มีการไฮด์ปาร์ค การเปิด ‘เพรสคอนเฟอเรนส์’

และที่สำคัญคือการอนุญาตให้มีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย ในปี พ.ศ. 2498 เพื่อรองรับการเลือกตั้งกึ่งพุทธกาลใน พ.ศ. 2500

‘พรรคเสรีมนังคศิลา’

ในสถานการณ์ดังกล่าว ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา โดยได้ขอจดทะเบียนพรรคการเมืองในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2498 ใช้ชื่อพรรคว่า ‘พรรคเสรีมนังคศิลา’ ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค กรรมการพรรค เช่น จอมพลผิน ชุณหะวัณ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ร.อ. หลวงยุทธศาสตร์โกศล จอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี พล.อ.อ.หลวงเชิดวุฒากาศ เป็นต้น

ชื่อพรรคนั้นได้มาจากการเอาสถานที่ประชุมคือบ้านมนังคศิลา มาเป็นชื่อพรรค ที่สำคัญ พรรคดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นพรรคของรัฐบาลที่มีทุนจึงได้รับฉายาว่า ‘พรรคอุดมสตางค์’ [7]

และหากดูรายชื่อสมาชิกพรรคแล้วจะเห็นได้ว่าล้วนแล้วเป็นนายทหาร ซึ่งก็กล่าวได้ว่าการก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา เป็นพรรคการเมืองแรกที่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของกลุ่มทหารผ่านการเลือกตั้ง ในภาวะที่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองได้นี้ มีพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นถึง 22 พรรค แต่มีพรรคที่สำคัญอยู่เพียงไม่กี่พรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม [8] พรรคเสรีประชาธิปไตย ที่เป็นพรรคที่รวบรวมฝ่ายค้านไว้มากที่สุด [9] แต่ในการแข่งขันนั้น กลับกลายเป็นว่าเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเสรีมนังศิลาเป็นหลัก

ในท้ายที่สุด พรรคเสรีมนังคศิลาเป็นฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง หากแต่ก็มีปัญหาสืบเนื่องเพราะมีกระแสข่าวว่าพรรคเสรีมนังคศิลาชนะการเลือกตั้งในเขตพระนครเนื่องจากมีการทุจริต โดยใช้ ‘ไพ่ไฟ’ คือใช้บัตรเลือกตั้งปลอมในการเลือกผู้สมัครของพรรค และ ‘พลร่ม’ คือการเวียนกันลงคะแนนให้แก่พรรค รวมไปถึงการนับคะแนนที่ล่าช้าถึง 2 วัน 2 คืน

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกโจษขานว่าเป็น ‘การเลือกตั้งสกปรก’ ท้ายที่สุดเหตุการณ์ลุกลามไปจนถึงขั้นที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นัดประชุมเพื่อคัดค้านการเลือกตั้ง มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การลดธงลงครึ่งเสา และขยายไปสู่การเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยไปยังกระทรวงมหาดไทย เรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เลือกตั้งใหม่ภายใน 1 เดือน และสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ [10]

ท่าทีของการต่อต้านนั้นขยายใหญ่โตไปสู่การเดินขบวนจากหน้ากระทรวงมหาดไทยไปสู่ทำเนียบรัฐบาล และกลายเป็นกระแสการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่ขึ้น และเหตุการณ์นี้ได้ทำให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าพบกับนักศึกษาและมีท่าที่ผ่อนปรนต่อการประท้วง ภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้ล้วนตรงกันข้ามกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะนั้น [11]

อย่างไรก็ดี ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งไม่ได้หยุดเพียงเรื่องวิกฤตความชอบธรรมของการเลือกตั้ง แต่ภายในพรรคเสรีมนังคศิลาเองก็แตกแยกกันภายใน โดยเฉพาะระยะที่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ต้องใช้เวลานานถึงเดือนกว่า

‘พรรคสหภูมิ

ในที่สุดความขัดแย้งระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ที่แตกแยกอย่างชัดเจนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 เมื่อ สงวน จันทรสาขา น้องชายต่างมารดาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แจ้งว่าตนและ ส.ส. จำนวนหนึ่งลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลาเพื่อตั้งพรรคใหม่ชื่อว่า ‘พรรคสหภูมิ’ การแยกออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่นี้ส่งผลต่อเสียงในสภาของรัฐบาล [12]

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า เส้นทางของพรรคทหารที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ท้ายที่สุดเมื่อผ่านการเลือกตั้งแม้ว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลได้แต่ก็ต้องเผชิญการแตกแยกภายในพรรคเอง และไม่สามารถควบคุมพรรคได้ จนในท้ายที่สุดแล้ว วิกฤตทางการเมืองในปี พ.ศ. 2500 ได้จบลงเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ตัดสินใจก่อการรัฐประหารในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

‘พรรคชาติสังคม’

เส้นทางของการใช้พรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจของทหารนั้น ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารแต่ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และพรรคทหารที่จะถูกใช้เพื่อสืบทอดอำนาจก็ได้งอกใหม่อีกครั้งในนาม ‘พรรคชาติสังคม’ ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรค และพลโทถนอม กิตติขจร เป็นรองหัวหน้าพรรค โดยพรรคดังกล่าวนี้มีที่มาจากการยุบรวมพรรคเสรีมนังคศิลากับพรรคสหภูมิ

ในท้ายที่สุดพรรคดังกล่าวนี้สนับสนุนให้พลโทถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2501 อย่างไรก็ตาม การเมืองในระบบรัฐสภาสำหรับทหารนั้นก็ดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถควบคุมสภาได้เช่นเคย จนนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501

ซึ่งหลังการรัฐประหารครั้งนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีการตั้งพรรคทหารแต่อย่างใด เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการยกเลิกพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ หมดบทบาทไปโดยปริยาย และหันเข้าสู่ ‘ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย’ ดังที่มีการเน้นย้ำความหมายของระบอบดังกล่าว ว่า

“คณะปฏิวัติ มีความมุ่งหมายที่จะทำประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย มีความมุ่งหมายจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยให้เป็นผลสำเร็จ และเห็นว่าจะบรรลุผลตามความมุ่งหมายนี้ให้ได้ จะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตนั้นเสีย จึงได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยที่นำมาจากต่างประเทศทั้งดุ้นเสีย และเสนอว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับลักษณะพิเศษและสภาวการณ์ของไทย จะสร้างประชาธิปไตยของไทย ประชาธิปไตยแบบไทย” [13]

แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยจะถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมาเป็นทศวรรษ แต่ในท้ายที่สุดท้ายแล้วทหารที่เคยครอบครองอำนาจมานานก็จำเป็นที่จะต้องเปิดการเมืองอีกครั้ง เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2511 และจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 สูตรสำเร็จของการผันหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของทหารคือการตั้งพรรคการเมืองให้มาสนับสนุนตนได้ถูกดึงขึ้นมาใช้อีกครั้ง

‘พรรคสหประชาไท’

ในคราวนี้พรรคของทหารมีชื่อว่า ‘พรรคสหประชาไท’ ที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า และ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาพรรค ผลักดันให้จอมพลถนอน กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่สภาพพรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนให้คนใดคนหนึ่งได้รับตำแหน่งนี้ก็ต้องเผชิญกับการต่อรองอำนาจกันภายในจนไม่มีเสถียรภาพ ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถคุมสภาได้ จนต้องตัดสินใจรัฐประหารตนเองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยในทศวรรษ 2510 ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 อันเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองที่นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ที่จะเห็นวังวนของการผลัดเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองโดยมีทหารเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการเมืองไทย การเกิดขึ้นของเหตุการณ์นี้นำไปสู่การสิ้นสุดของการสืบทอดอำนาจของทหาร และก่อให้เกิดความตื่นตระหนกของกองทัพ เพราะเป็นครั้งแรกที่กองทัพถูกผลักออกจากศูนย์กลางทางอำนาจโดยการบังคับของสังคม และทหารไม่ใช่เพียงตัวแสดงเดียวทางการเมืองอีกต่อไป ปริมณฑลทางการเมืองได้ขยับขยายไปสู่คนกลุ่มอื่น ๆ และอาจจะกล่าวได้ว่า จากแต่เดิมนั้นกองทัพมีบทบาทเป็นผู้คุมพรรคการเมือง แต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 พรรคการเมืองได้กลับกลายมาเป็นคู่แข่งกับกองทัพ [14]

แต่จนแล้วจนรอด พรรคทหารก็ได้ปรากฎขึ้นอีกครั้งเมื่อเกิดการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัน รัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่า ‘บุฟเฟ่ต์คาบิเนต’ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ในปี พ.ศ. 2534 การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการถอยหลังสู่อดีต เมื่อกองทัพเริ่มเกมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตน และต้องการเล่นบทบาทผู้ชี้นำประชาธิปไตย

‘พรรคสามัคคีธรรม’

ต่อมาเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทเฉพาะกาลให้ทหารมีอำนาจเหนือรัฐสภาอีก 4 ปี อีกทั้งมีมาตราอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มอำนาจให้ทหาร ฝ่ายชนชั้นกลางจึงเริ่มลังเลที่จะเห็นด้วย เมื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ในรอบนี้เป็นที่รู้กันว่าพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนทหารมีชื่อว่า ‘พรรคสามัคคีธรรม’ พรรคนี้ได้รวบรวมนักการเมืองจากหลายพรรค และมีบุคคลในพรรคใกล้ชิดกับสมาชิก รสช.  มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค

เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไป พรรคดังกล่าวชนะ แต่หัวหน้าพรรคกลับมีเหตุให้ไม่สามารถรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ส่งผลให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร หัวหน้า รสช.“จำเป็นต้องเสียสัตย์” เพื่อเข้ารับตำแหน่งแทน นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่จากชนชั้นกลางในกรุงเทพในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยมีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำ

การประท้วงครั้งนั้นสื่อได้ให้ฉายาว่า ‘ม็อบมือถือ’ อันแตกต่างต่างจากการประท้วงในยุคก่อนหน้าที่เป็นนักศึกษา แต่ครั้งนี้กลับเป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะดีปานกลางมีมือถือใช้กันเข้าร่วม ขณะเดียวกันม็อบนี้ก็แรงงานอพยพจากชนบท และนักศึกษาเข้าร่วมด้วย

เหตุการณ์ครั้งนั้นสิ้นสุดลงเมื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ภาพลักษณ์ของทหารเสียหายอย่างมาก และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม และถูกลดบทบาท ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการรับตำแหน่งในหน่วยงานเอกชน การถูกลดงบกองทัพ กองทัพถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น [15]

เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไล่เรียงมานั้น หลายต่อหลายครั้งเมื่อการเมืองไทยเข้าสู่วงจรการรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และแน่นอนว่า จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่เสมอ หากทหารต้องการสืบทอดอำนาจ การตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนให้ตนเข้าสู่การเมืองได้โดยผ่านการเลือกตั้ง จะเป็นแหล่งชุบตัวชั้นดีที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจ

ดังที่ผู้เขียนกล่าวตั้งแต่ต้นว่า พรรคการเมืองไม่ได้มีเพียงแค่ในระบอบประชาธิปไตย หากแต่พรรคการเมืองยังถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม และเพื่อครองอำนาจทางการเมืองของคนบางกลุ่ม และการเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ไม่ได้มีความเป็นสถาบันทางการเมือง คนในพรรคไม่ได้มีอุดมการณ์ร่วมกัน หรือเกิดจากการกวาดต้อนเพื่อให้มีเสียงสนับสนุนมากพอที่จะส่งให้คนใดคนหนึ่งได้ตำแหน่ง พรรคการเมืองแบบนี้จึงง่อนแง่นและแตกกันง่าย

กล่าวให้ถึงที่สุดคือ เป็นการอาศัยกลไกในระบอบประชาธิปไตย และก็ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในการพัฒนาประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกได้จากอดีตคือ อย่าลืมว่าระบบรัฐสภาที่เปิดให้หลายฝ่ายแข่งขัน ช่วงชิง และต่อรองผลประโยชน์กันนั้น มีนักการเมืองอาชีพเข้าร่วม คงไม่ง่ายที่จะควบคุมเหมือนกับการสั่งการตามสายบังคับบัญชาอย่างที่คุ้นเคยในกองทัพ

ในท้ายที่สุด เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การการจัดความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งการเมืองไทยในช่วงเวลาที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งนี้ก็เป็นที่ต้องติดตามว่า ทหารที่อยู่ในวังวนการเมืองไทยมา 8 ปี จะเดินไปในทางซ้ำรอยกับอดีตการเมืองไทยหรือไม่

และไม่ว่าจะเดินไปทางไหน บทบาทของกองทัพจะต้องถูกจารึกลงไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างแน่นอนเช่นเคย

 

เรื่อง: ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ นักวิชาการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า

เชิงอรรถ:

[1] สุจิต บุญบงการ, ทหารกับพัฒนาการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ), 2562), หน้า 6-7. 

[2] กมลา สุขพานิช- ขันทปราบ, “ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่าง “ทหาร-พลเรือน” กับข้อคิดและแนวทางในการศึกษา บทบาทของทหารในการพัฒนาทางการเมืองในประเทศไทย” ใน ทหารกับการเมืองไทย: ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ทหาร-พลเรือน’ ประชาธิปไตย และความมั่นคงแห่งชาติ, ( กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533), หน้า 318.

[3] บูฆอรี ยีหมะ, ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554), หน้า 199.

[4] สุจิต บุญบงการ, ทหารกับพัฒนาการเมืองไทย, หน้า 27. 

[5] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, (กรุงเทพฯ: พีเพรส, 2550), หน้า 102. 

[6] ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 145.

[7] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 341-342.

[8] เรื่องเดียวกัน, 343.

[9] เรื่องเดียวกัน, 344.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 365-366.

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 368-369. 

[12] เรื่องเดียวกัน, 380.

[13] สถานีวิทยุกองทัพบกออกอากาศ 17-18 สิงหาคม 2508, “วิวัฒนาการประชาธิปไตยของไทย”, หน้า 65. ใน ประชาธิดปไตยแบบไทยและข้อคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ (พระนคร: สำนักพิมพ์โชคชัย เทเวศร์, 2508). อ้างใน https://shorturl.asia/B4Sty. 

[14] สุรชาติ บำรุงสุข, ทหารกับการเมืองไทยในศตวรรษหน้า: พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง, (กรุงเทพฯ :สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543), หน้า 6. 

[15] คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), หน้า 368-371.