11 ก.ย. 2566 | 09:04 น.
ข้าวราดแกงจานใหญ่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำชามโต หรือแม้แต่ในหม้อสุกี้เจ้าดัง
ทุกวันนี้อาหารในจานของผู้คนในเมืองแทบจะมาจากผลผลิตของบริษัทขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เนื้อ นม ไข่ จากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ผัก ผลไม้สีสดจากซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าดัง ไปจนถึงเครื่องปรุงรสหลากรสชาติที่ผลิตมาจากโรงงานแปรรูป
ไม่นับคนบางส่วนที่ฝากท้องไว้กับอาหารแช่แข็งที่อุ่นง่ายดายด้วยเตาไมโครเวฟจากร้านสะดวกซื้อ
แต่สำหรับบ้านนา หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ตำบลเนินมะปราง อําเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ผู้คนที่นี่ต่างเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองด้วยการปลูกผักสวนครัว ไปจนถึงพืชผลที่กินได้ต่าง ๆ ไว้กินกันเองมาอย่างช้านาน
วันนี้เราชวนเดินทางมาลงแปลงผักริมรั้ว เพื่อถอดเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้สามารถปรับตัวโดยไม่ถูกกลืนหายไปพร้อมกับคลื่นของการเปลี่ยนแปลง แล้วหลอมรวมการปลูกผักให้กลายเป็นหนึ่งกับวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน
ถ้าทุกคนพร้อมแล้วก็ออกเดินทางไปกันเลย
ผักสวนครัวรั้วกินได้
“หมู่บ้านของเราปลูกผักกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายแล้ว ครัวเรือนหนึ่งจะปลูกกัน 10 กว่าชนิด ทั้ง ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา และผักสมุนไพรปลอดสารพิษอื่น ๆ เอาไว้กินตลอดทั้งปี”
ผู้ใหญ่ขวัญเรียม รินถา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านนา หมู่ที่ 6 ตําบลเนินมะปราง อําเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เล่าให้เราฟังขณะพาเดินชมธนาคารอาหารของหมู่บ้าน เธอบอกว่าผักเขียว ๆ ที่เห็นนี้ทุกคนสามารถ
เข้ามาใช้บริการได้อย่างเท่าเทียม
ความเขียวสดของเจ้าผักริมรั้วที่งอกงามหนาแน่นนี้ ช่วยเรายืนยันได้ถึงการดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องมานานหลายปีของคนที่นี่
จากการที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ของหมู่บ้านแห่งนี้ ต่างมีพื้นฐานการทำเกษตรกรรมมาก่อน ทำให้ทุกคนมีความคุ้นเคยกับการปลูกผักไว้กินเอง ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยในการลดรายจ่ายเรื่องค่าอาหาร นอกจากนี้ผักที่เหลือ
จากการบริโภคยังสามารถนำไปแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันระหว่างคนในหมู่บ้าน หรือนำไปขายในตลาดประจำอำเภอสร้างรายได้เสริมได้อีกด้วย
“ชาวบ้านข้างเคียงที่ผ่านไปมาก็จะเก็บผักสวนครัวในหมู่บ้านของเราไปกิน เราแบ่งปันในหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้าน เอาไปแลกเปลี่ยนสินค้าอื่น ๆ หรือเอาไปขายในตลาด ช่วยลดรายจ่ายไปอีกทางหนึ่ง”
จากแม่ค้าสู่ผู้นำชุมชน
ย้อนไปก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่ขวัญเรียม ยังเป็นเพียงชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้าน ทำอาชีพเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งพี่ชายของเธอได้ชักชวนให้มารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้รู้จักคำว่านักปกครองท้องที่ ผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน
หลังจากรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมานานหลายปี ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านก็ได้ว่างลง ชาวบ้านหลายคนในพื้นที่เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิงคนนี้ จนในที่สุดเธอก็ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านส่วนใหญ่ให้มาทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน บ้านนา หมู่ที่ 6 ตำบลเนินมะปราง อําเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ดูแลความเป็นอยู่ของผู้คนหลายร้อยหลังคาเรือนในหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นผู้หญิงทำให้หลายคนยังคงสงสัยในความสามารถของเธอ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน เธอจึงมุ่งมั่นทำงานและใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์แทนคำพูด จนสุดท้ายทุกคนได้ให้การยอมรับว่าเธอเหมาะสมกับการเป็นผู้ใหญ่บ้านของที่นี่
“ตอนแรกก็มีปัญหาเหมือนกันที่ว่าผู้นําเป็นผู้หญิง แต่เราทําให้ชาวบ้านเขาเห็นมาตลอด 7 ปี จนเขายอมรับในตัวเรา เพราะเราเป็นคนทําจริงแก้ไขปัญหาจริง ลูกบ้านก็เลยเชื่อถือ”
ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การมีผู้นำหญิงที่เป็นคนทำงานจริง ทำให้มีจุดเด่นในเรื่องความละเอียดอ่อน คอยดูแลเอาใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในหมู่บ้านอย่างทั่วถึง ทำให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาหมู่บ้านของผู้ใหญ่ขวัญเรียมเป็นอย่างดี
หนึ่งในกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน คือการชวนให้ทุกครัวเรือนใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยปลูกผักบริเวณริมรั้วบ้าน จากเดิมที่ปลูกเฉพาะในแปลงผักและสวนหลังบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านได้ตกลงกันเลือกชนิดผักให้มี
ความหลากหลายเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนกันได้ภายในหมู่บ้าน
ไม่น่าเชื่อว่าวิธีคิดของนักปกครองหญิง ที่นำเอาการปลูกผักสวนครัวริมรั้ว ภูมิปัญญาที่หลายคนหลงลืมไปแล้วนี้กลับมาอีกครั้ง จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของผู้คนในหมู่บ้าน
รั้วที่เคยมีไว้กีดกันผู้คน จึงกลายเป็นรั้วเพื่อการแบ่งปัน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความยั่งยืนครั้งใหม่ของหมู่บ้านแห่งนี้
หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน
ถ้าความร่วมมือกันของชาวบ้านบ้านนาเปรียบได้กับน้ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้พืชผักสีเขียวเจริญเติบโตงอกงาม การส่งเสริมและสนับสนุนผ่านนโยบายหรือโครงการของส่วนราชการก็เปรียบดังปุ๋ยชั้นดีที่เร่งให้ความยั่งยืนของหมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นอย่างมั่นคง
โครงการหนึ่งตําบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นอีกโครงการที่มีแนวคิดในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ผ่านการสร้างทีมผู้นำระดับพื้นที่ ทั้งทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน บูรณาการทำงานร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ประชาชนกินดี อยู่ดี มีความสุข อันนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนา และพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
“โครงการหนึ่งตําบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืนได้ น้อมนำพระดำริเรื่องหมู่บ้านยั่งยืนของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาประยุกต์ใช้ทั้งในเรื่องบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และทางนี้มีผลผู้คนรักกัน เป็นการปลูกผักริมรั้วที่อนุญาตให้คนอื่นเก็บเอาไปกิน หรือนำไปแลกเปลี่ยนกัน บ้านหนึ่งปลูกอย่างหนึ่ง พยายามปลูกไม่เหมือนกัน ทําให้ครัวเรือนมีอาหารกินเองอย่างครบถ้วน พอมีโครงการนี้ช่วยให้คนในหมู่บ้านได้พูดคุยกันมากขึ้น มีความรักซึ่งกันและกัน”
ถึงตอนนี้เราคงเห็นภาพของความยั่งยืนที่ก่อร่างขึ้นในหมู่บ้านไปแล้ว
แต่ที่มากกว่านั้นคือความมั่นคงทางด้านอาหารที่เกิดขึ้นจริงนี้เอง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในหมู่บ้านเพราะทุกคนในหมู่บ้านสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีแหล่งอาหารสำหรับบริโภคไม่ขาดแคลนตลอดทั้งปี
“การปลูกผักเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะพี่น้องของพวกเราทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง มีผักกินตลอดปี จากความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีความสุขที่ยั่งยืน”
ความยั่งยืนเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ
ผู้ใหญ่ขวัญเรียมบอกเราว่าความยั่งยืนของหมู่บ้านไม่ได้เกิดจากตัวผู้ใหญ่เพียงแค่คนเดียว แต่มาจากความร่วมมือของชาวบ้านทุกคน ที่สำคัญคือการสนับสนุนของ 7 ภาคีเครือข่าย
โดยที่ผ่านมาทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้ร่วมมือขับเคลื่อนไปพร้อมกันภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ
“เราทําคนเดียวไม่ได้ เราต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่น ๆ ทำงานประสานงานร่วมกันกับทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาชน
รวมไปถึงคณะกรรมการหมู่บ้านของเราที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน”
นอกจากเรื่องของการสร้างแหล่งอาหารภายในหมู่บ้านแล้ว ตัวอย่างที่ดีที่ผู้ใหญ่ขวัญเรียมได้ฝากไว้คือ มีส่วนร่วมกับคณะสงฆ์ในพื้นที่ ตามหลัก ‘บวร’ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้าน รวมไปถึงการเป็นจิตอาสา
ที่ทุกคนในหมู่บ้านร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับหมู่บ้าน ซึ่งแสดงถึงความรักและความสามัคคีของทุกคน ซึ่งเครือข่ายจิตอาสานี่เองที่เป็นหูเป็นตามีส่วนช่วยด้านความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้กับหมู่บ้านอีกด้วย
“รู้สึกภูมิใจเวลาเราได้ทํางานช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ มีความสุขทุกครั้ง ไม่เคยท้อไม่เคยเหนื่อยเลย รู้สึกดีที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดทุกข์บํารุงสุขให้กับพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าเลือกได้ก็จะเป็นผู้ใหญ่บ้านเหมือนเดิม เพราะชาวบ้านเขาเลือกเรามาแล้วเราต้องทําให้ดีที่สุด ทําให้ชาวบ้านมีความสุขที่สุด”
ผู้ใหญ่ขวัญเรียมได้สะท้อนความภาคภูมิใจจากมุมของการเป็นผู้นําท้องที่ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนออกมาจากคำพูดที่มั่นใจของเธอ พร้อมผลงานที่ได้อุทิศชีวิตเพื่อส่งเสริมและนําแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ภายใน
หมู่บ้าน นอกจากนี้เธอยังได้ย้ำอีกว่าความรักและความสามัคคีนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืนของที่นี้
บ้านนา หมู่ที่ 6 ตําบลเนินมะปราง อําเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่งในต้นแบบของการดํารงชีวิตอย่างยั่งยืนที่ได้ผลจริงจากการพึ่งตนเอง ที่สามารถถอดบทเรียนแล้วนำไปปรับใช้เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านแล้วขยายต่อไปในระดับตำบล อำเภอ และประเทศ ให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
“ความยั่งยืนจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในหมู่บ้านของเรา เมื่อมั่นคงแล้วก็จะขยายไปในระดับตําบล อําเภอ จังหวัด และทั่วประเทศ ให้ทุกคนยั่งยืนเติบโตไปด้วยกัน”
แล้วคุณล่ะเริ่มต้นเดินทางสู่เส้นทางของความยั่งยืนกันแล้วหรือยัง