Plastic Free July แคมเปญชวนลดใช้พลาสติก เริ่มโดยหญิงคนเดียว สู่ผู้ร่วมทะลุร้อยล้านคน

Plastic Free July แคมเปญชวนลดใช้พลาสติก เริ่มโดยหญิงคนเดียว สู่ผู้ร่วมทะลุร้อยล้านคน

Plastic Free July แคมเปญระดับโลกเดือนกรกฎาคม ชวนลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เริ่มต้นโดยผู้หญิงคนเดียว ก่อนมีผู้เข้าร่วมกว่าร้อยล้านคน ลดขยะถึง 2.6 ล้านตันภายในปีเดียว สะท้อนพลังของปัจเจกที่เปลี่ยนโลกได้ด้วยจุดเริ่มต้นเป็นไอเดียจากเรื่องเล็ก ๆ แล้วลงมือทำ

  • รีเบคก้า พรินซ์-รุยซ์ (Rebecca Prince-Ruiz) สตรีผู้เริ่มต้นแคมเปญลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพียงแค่ฉุกใจคิดขึ้น นำไอเดียเล็ก ๆ มาลงมือทำจริงจัง
  • แคมเปญที่รีเบคก้า เริ่มต้น ขยายมาสู่แคมเปญ Plastic free July ที่มีผู้เข้าร่วมกว่าร้อยล้านคนทั่วโลก และไม่ใช่แค่รณรงค์ทำกันในเดือนกรกฎาคมอีกต่อไป

ในแต่ละปี ทั่วโลกผลิตขยะพลาสติกกว่า 350 ล้านตัน มีเพียง 29 ล้านตัน หรือราว 8% เท่านั้น ที่ถูกนำมารีไซเคิลกลับสู่กระบวนการผลิตใหม่ ในขณะที่ 79 ล้านตันของขยะพลาสติกที่ไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมถูกปล่อยให้รั่วไหลสู่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเจือปนในดิน ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ ถูกสัตว์กิน หรือกลับมาสู่ทางจานอาหารของมนุษย์ มันจะยังคงความเป็นพลาสติกไปยาวนานถึง 20-500 ปี

นับตั้งแต่พลาสติกถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1862 วัสดุชนิดนี้ปฏิวัติชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างพลิกฝ่ามือ แต่ความสะดวกสบายที่ได้รับก็นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยากจะแก้ไข และกว่ามนุษย์จะตระหนักได้ก็อีกหลายทศวรรษต่อมา แคมเปญรณรงค์เพื่อการจัดการพลาสติกอย่างถูกวิธีจึงเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึง Plastic free July แคมเปญเล็ก ๆ จากแดนจิงโจ้ที่ชวนคนมาลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ในเดือนกรกฎาคม แต่ไป ๆ มา ๆ กลับดังไกลไปทั่วโลก และไม่จบแค่เดือนกรกฎาคม

ภารกิจที่เริ่มต้นจากถังขยะ

วันหนึ่งในเดือนมิถุนายน ของปี 2011 หลังเสร็จจากอาหารมื้อเย็น รีเบคก้า นำขยะจากบ้านไปทิ้งถังขยะเหมือนเช่นทุกวัน แต่มีอะไรบางอย่างในกองขยะวันนี้ที่สะกิดใจเธอ

รีเบคก้า พรินซ์-รุยซ์ (Rebecca Prince-Ruiz) ทำงานด้านทรัพยากรหมุนเวียนในเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเร็ว ๆ นี้เธอเพิ่งไปดูงานที่โรงงานรีไซเคิลขยะ จังหวะที่เธอกำลังจะเทขยะนั้นเอง ภาพกองขยะมหาศาลที่เคยเห็นก็ผุดขึ้นมาในความคิด เธอนึกไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากเธอทิ้งขยะลงถังซึ่งต้องใช้ทั้งพลังงานและค่าใช้จ่าย แล้วสุดท้ายก็ตระหนักว่า การทิ้งขยะให้ถูกที่นั้นแม้เป็นเรื่องดี แต่เธอก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยโลกเลย

รีเบคก้า รู้สึกมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง วันต่อมา เธอไปชักชวนครอบครัวและเพื่อนร่วมงานมาลดละเลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปด้วยกัน

“เดือนหน้าฉันจะงดใช้พลาสติก ใครจะร่วมด้วยบ้าง”

แล้ว Plastic free July แคมเปญรณรงค์เล็ก ๆ จากความร่วมมือของคนธรรมดากลุ่มเล็ก ๆ ก็เริ่มต้นขึ้นแบบง่าย ๆ ในเดือนกรกฎาคม 2011

สู่แรงกระเพื่อมในสังคม

ภารกิจเล็ก ๆ นี้ พอเริ่มลงมือจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการไม่ใช้พลาสติกเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะในยุคที่ยังไม่ค่อยมีใครตระหนักถึงปัญหาจากขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่รีเบคก้า และคนรอบตัวต่างก็พยายามส่งเสริมกัน และแบ่งปันไอเดียที่จะไม่ใช้พลาสติก ทั้งพกถุงไปเองเมื่อไปซื้อของ นำภาชนะพลาสติกที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ซ้ำ เลือกซื้อของจากร้านค้าชุมชน ไปจนถึงฝึกทำอาหารทานเองจากของสดเพื่อลดบรรจุภัณฑ์

สิ่งที่ตามมา นอกจากจำนวนการบริโภคพลาสติกและขยะพลาสติกที่ลดลง ผู้คนยังได้เชื่อมโยงกับชุมชนจากการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือฟาร์มท้องถิ่น ค้นพบทักษะใหม่ ๆ จากการเรียนรู้เพื่อผลิตอาหารทานเอง พร้อมกับสุขภาพที่ดีขึ้นจากการรับประทานของสดที่ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี

จากความตั้งใจเปลี่ยนพฤติกรรมของคนกลุ่มเล็ก ๆ ภารกิจก็เริ่มขยายไปสู่กลุ่มที่ใหญ่ขึ้น รีเบคก้า จัดบรรยายและเวิร์กช็อปในโรงเรียน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และสมาคมชุมชนอื่น ๆ แล้วผู้ที่เข้าร่วมแคมเปญก็นำภารกิจลดพลาสติกไปใช้ในชีวิตประจำวัน ที่บ้าน ที่ทำงาน ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนใกล้ตัวราวลูกคลื่น

ในปี 2012 ยุคตื่นทองของการใช้โซเชียลมีเดีย รีเบคก้า เริ่มสื่อสารเรื่อง Plastic free July บนสื่อสังคมออนไลน์ ผลิตสื่อออนไลน์เช่นโปสเตอร์ หรือวิดีโอ และทั้งหมดถูกเปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี ผู้คนนำเทคนิคหรือไอเดียใหม่ ๆ มาแบ่งปัน แล้วความตระหนักรู้ก็กระจายไปทั่วโลก รีเบคก้า ไม่เพียงเผยแพร่แรงบันดาลใจในสิ่งที่เธอทำ แต่โลกออนไลน์ทำให้เธอรับรู้ถึงความตั้งใจเดียวกันจากหลายมุมโลกเช่นกัน

หากลองเข้าชมเว็บไซต์ plasticfreejuly.org จะเห็นเทคนิควิธีลดใช้พลาสติกสารพัดอย่าง ถึงแม้ว่าคุณจะมีรูปแบบชีวิตอย่างไร จะเจอแนวทางในการช่วยโลกลดขยะพลาสติกที่เหมาะกับคุณได้เสมอ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ Plastic free July เป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก

 

ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่

เพียงแค่คนไม่กี่คนมาลดการใช้พลาสติกคงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย แต่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ย่อมเกิดจากการกระทำที่เล็ก ๆ และน้ำหยดเล็ก ๆ จากพนักงานที่ทำภารกิจงดพลาสติกแบบส่วนตัว กับคำติจากลูกค้าถึงปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งบนเครื่องบิน ทำให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Air New Zealand ออกมาประกาศร่วมลดพลาสติกกับแคมเปญ Plastic free July ในปี 2019 และนำขวดน้ำพลาสติกออกจากบริการของสายการบิน

ปี 2022 ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐและเอกชนจากนานาชาติก็ได้รับแรงบันดาลใจจากคนตัวเล็ก ๆ ในองค์กร สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่กว่า อาทิ ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลของ Nasa, ห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์จากสหราชอาณาจักร, Barilla แบรนด์พาสต้าชื่อดังจากอิตาลี ที่ประกาศลดใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงความร่วมมือในระดับท้องถิ่น เช่น ที่สหราชอาณาจักร เทศบาลท้องถิ่นในเมือง Bournemouth, Christchurch และ Poole สามารถลดขยะขวดน้ำพลาสติกได้ 20,000 ใบในเดือนกรกฎาคม จากการติดตั้งตู้เติมน้ำ หรือเมือง Toronto ประเทศแคนาดา ที่ประกาศร่วมเคลื่อนไหวไปกับแคมเปญ Plastic free July เช่นกัน

ทั้งความใส่ใจในระดับปัจเจกชนและระดับมหาชน ทำให้ในปี 2022 มีผู้ร่วม Plastic free July กว่า 140 ล้านคน จาก 195 ประเทศ และลดขยะพลาสติกไปได้ถึง 2.6 ล้านตัน หากนับตั้งแต่ที่รีเบคก้า ริเริ่มโครงการนี้ในปี 2011 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ร่วมอุดมการณ์กับเธอแล้วถึง 294 ล้านคน สามารถลดขยะโดยเฉลี่ยได้คนละ 18 กิโลกรัมต่อปี และ 88% ของผู้ร่วมแคมเปญ ยังคงลดการใช้พลาสติกต่อไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแม้ผ่านพ้นเดือนกรกฎาคมมาแล้ว

ปัจจุบัน รีเบคก้า ยังคงเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เดินหน้าประชาสัมพันธ์ถึงหนทางสู่ชีวิตที่ปราศจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 12 ปีที่ผ่านมาบนเส้นทางนี้ เมล็ดพันธุ์ที่เธอหว่านเอาไว้ได้งอกงาม และออกเดินทางเผยแพร่แนวคิดเพื่อปกป้องโลกใบนี้ในแบบของตัวเองอย่างไม่สิ้นสุด


เรื่อง: นิธิตา เขมรังสฤษฏ์
ภาพ: Plastic Pollution Coalition กับแฟ้มภาพประกอบเนื้อหาจาก Getty Images