จาก ‘กระเช้าขึ้นภูกระดึง’ สู่ ‘ความเห็นต่าง’ ของผู้คนในสังคม

จาก ‘กระเช้าขึ้นภูกระดึง’ สู่ ‘ความเห็นต่าง’ ของผู้คนในสังคม

กลายมาเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับ ‘กระเช้าขึ้นภูกระดึง’ ซึ่งมีหลายแง่มุมที่ถูกนำมาถกเถียงกัน ทั้งจากมุมมองการท่องเที่ยว นิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecology)และวาทกรรมธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมในสังคมไทย

  • กระเช้าขึ้นภูกระดึง เป็นประเด็นที่เคยถกเถียงกันมานานว่า ควรสร้างหรือไม่
  • ในการถกเถียงนั้น มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังจากเงียบหายไปนาน สำหรับเรื่องกระเช้าขึ้นภูกระดึง ความคิดเห็นแบ่งเป็นสองฟากฝั่ง ‘เห็นด้วย’ กับ ‘ไม่เห็นด้วย’ ฝ่ายเห็นด้วยอ้างเรื่องความสะดวกสบาย การบริการสำหรับคนเฒ่าชรา ผู้ป่วย รวมทั้งคนพิการ ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็มีประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่จริงเป็นอีกเรื่องที่เห็นได้ชัดว่าคนไทยปัจจุบันไม่ได้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเฉพาะเรื่องการเมือง แต่พร้อมจะเห็นต่างกันในเรื่องนโยบายสำคัญ ๆ 

การถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติสำหรับสังคม ในขณะเดียวกันรัฐควรมีบทบาทในการแสวงหาจุดบาลานซ์กันระหว่างสองฝ่าย ไม่ใช่ซัพพอร์ตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ยกเว้นแต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็เห็นดีเห็นงามไปกับการสร้างโครงการใหญ่นั้นด้วย และเมื่อเป็นดังนั้น ซึ่งกรณีภูกระดึงก็ดูเหมือนจะเข้าข่ายนี้อยู่เสียด้วย เรื่องจึงไม่ใช่แค่ความขัดแย้งหรือเห็นต่างกันแค่ในหมู่ประชาชนที่มีได้เป็นปกติ หากแต่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนอยู่ด้วย นั่นหมายความว่ากรณีภูกระดึงนี้ควรต้องถูกพิจารณาในขอบข่ายประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องจากโครงการรัฐที่พ่วงมากับทุน เหมือนอย่างเช่นกรณีการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า เหมืองแร่ ฯลฯ

ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอส ระบุว่า วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ‘นายอรรถพล เจริญชันษา’ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้เพิ่งอนุมัติให้ทีมจากองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) นำโดย ‘นายเกรียงศักดิ์ พราหมณพันธ์’ หัวหน้าโครงการเข้าไปสำรวจวิจัยเก็บข้อมูลสถานภาพทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความเป็นไปได้ในโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงแล้ว โดยมีระยะเวลาศึกษาวิจัยและสำรวจเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568

นั่นหมายความว่าได้มีการเริ่มดำเนินการสำรวจและวิจัยไปแล้ว และเมื่อเริ่มศึกษาวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เด่นชัดเช่นนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าโครงการกระเช้าภูกระดึงอาจจะมาแน่นอน ถึงแม้ว่าผู้เกี่ยวข้องจะอ้างว่าเป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น แต่เราก็เห็นได้จากทุกโครงการของรัฐบาลที่เมื่อขั้นตอนที่ศึกษาวิจัยโดยมีโจทย์วิจัยเกี่ยวข้องกับโครงการใหญ่ ๆ แล้ว เกือบร้อยทั้งร้อยเป็นต้องผ่านการอนุมัติในอีกไม่ช้านาน เพราะเมื่อมีผลการวิจัยอย่างเป็นวิชาการมาสนับสนุนแล้ว อะไร ๆ มันก็ง่ายขึ้น 

สำหรับโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เคยถูกผลักดันมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี โดยครั้งล่าสุดในปี 2562 ช่วงที่ ‘นายวราวุธ ศิลปอาชา’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้มีการเสนอกระเช้าภูกระดึงอีกครั้ง โดย อพท. อ้างสรุปผลการศึกษาทราบว่าชาวจังหวัดเลยนั้นมากกว่า 90% ให้การสนับสนุนการดำเนินการโครงการนี้ แต่ภูกระดึงนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ ถึงแม้จะอ้างว่าชาวจังหวัดเลยสนับสนุน จึงยังไม่เพียงพอที่จะดำเนินโครงการได้

ย้อนหลังไปกว่านั้นเมื่อ พ.ศ. 2559 ก็เคยมีการผลักดันโครงการในยุค ‘พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนทำให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำรายชื่อกว่า 17,000 คน ที่ลงชื่อคัดค้านผ่านเว็บไซต์ Change.org ไปมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

แต่หากย้อนไปไกลช่วงปี พ.ศ. 2554 - 2556 ในสมัยที่ ‘นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นชาวจังหวัดเลย ยุครัฐบาล ‘น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ก็เคยผลักดันโครงการนี้มาแล้ว ช่วงนั้น ‘นายดำรงค์ พิเดช’ อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ แสดงความเห็นสนับสนุนโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง  

โดยนายดำรงค์ได้ให้เหตุผลเรื่องคนสูงอายุ คนเจ็บป่วย และปัญหาการนำขยะลงมาด้านล่าง รวมทั้งยังถึงขั้นเปิดแนวคิดใช้เฮลิคอปเตอร์ สำหรับรองรับผู้ที่มีกำลังจ่าย แต่โครงการก็มีอันพับไปพร้อมกับการปิดฉากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 การรื้อฟื้นโครงการนี้กลับมาอีกครั้งในยุครัฐบาล ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ จึงเปรียบเหมือนเป็นการรื้อฟื้นโครงการเก่าสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมาปัดฝุ่นใหม่ 

หากมองในเรื่องเครือข่ายทางการเมืองที่รัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน มีร่วมกับคนในคณะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงบุคคลสำคัญที่เพิ่งกลับเข้าประเทศถูกตัดสินจำคุกแต่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาล ณ ขณะนี้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมถึงอยากสานต่อโครงการของรัฐบาลที่แล้วอย่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร   

‘ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ’ (จากกระเช้าภูกระดึงและภาพโดยรวม) 

มาพิจารณาเหตุผลของฝ่ายสนับสนุนให้สร้างดูก่อน ในเมื่อจะเป็นการสร้างโดยมีผลงานวิจัยรองรับ ก็เลยต้องมีคำถามแรกแบบที่งานวิจัยทุกชิ้นต้องมีคือ คำถามที่ว่า “ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ” นักศึกษาปริญญาโท - ปริญญาเอก อาจจะเคยนำเอาประโยคนี้มาล้อเล่นกันทำนองว่า โลกเรานี้มันช่างเต็มไปด้วยผลประโยชน์ ขนาดทำวิทยานิพนธ์ (ซึ่งคือการฟิตซ้อมเพื่อไปทำงานวิจัยค้นคว้าอะไรอย่างอื่นมากขึ้นเมื่อเรียนจบไปแล้ว) ยังต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ’ นั่นก็ยังดีที่มีการบอกกันไว้ตรง ๆ แต่ในโลกจริง หลายเรื่องผลประโยชน์ (ที่คาดว่าจะได้รับ) นี้เป็นสิ่งที่ซุกเอาไว้หลังฉาก ไม่เอามาบอกกันตรง ๆ จะรู้ก็ต่อเมื่อเวลาล่วงเลยไปสักระยะหนึ่งแล้ว หรือถ้าอยากจะรู้ล่วงหน้าก็คงต้องไป ‘เชื่อมจิต’ กันเอาเอง 

มีคนจำนวนไม่น้อยคิดเหมือนกับ ‘นายดำรงค์ พิเดช’ อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นเหตุผลเรื่องการบริการผู้สูงอายุ คนป่วย (รวมทั้งคนพิการ) ตลอดจนปัญหาการนำขยะกลับลงมาทิ้งข้างล่าง แต่หากจะเห็นแก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย รวมทั้งคนพิการจริง ๆ แล้ว ในมุมมองญาติที่เคยดูแลคนเหล่านี้ ไปถามจริง ๆ คำตอบที่ได้อาจจะเป็นอีกอย่าง คือไม่ควรพาไปพบความลำบากตั้งแต่ต้น เพราะเสี่ยงจะเจ็บไข้ได้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ไปถามหมอที่รักษาพยาบาล จริงอยู่การขึ้นไปสูดอากาศหรือเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ความคิดจิตใจ อาจจะส่งผลดีต่อสุขภาพได้บ้าง แต่หมอก็จะห้ามอยู่ดี เพราะโอกาสที่จะทำให้อาการเจ็บป่วยกำเริบหนักมีมากขึ้น หมอก็ไม่แนะนำเป็นธรรมดา

ปัญหาเรื่องกระเช้าภูกระดึงส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากการคิดแทนผู้อื่น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนที่ควรคิดถึงแต่ไม่อยู่ในสมการเยอะอีกเป็นโขยง คนไทยก็แบบนี้ จะคิดถึงคนอื่น พูดถึงคนอื่นก็ต่อเมื่อคนอื่นที่ว่านั้นมีประโยชน์ต่อวัตถุประสงค์ของตนเอง

‘คนอื่น’ ที่ว่านั้นยังได้แก่ คนที่มีวิถีชีวิตหาอยู่หากินกับการที่มีคนมาเดินขึ้นภู อย่างเช่น ลูกหาบ, ร้านค้า, ที่พักข้างล่าง, รถโดยสารนำส่ง ผู้ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในส่วนนี้หนีไม่พ้นลูกหาบ

สำหรับใครที่ไม่เคยไปขึ้นภูกระดึงอาจจะงงว่า ‘ลูกหาบ’ คืออะไร?  

ก็ตอบง่าย ๆ ว่าคือชาวบ้านที่มารับจ้างแบกขนสัมภาระให้นักท่องเที่ยวได้เดินตัวเบาขึ้นไปพิชิตยอดภู ไม่ใช่งานสนุก เพราะขนาดเดินแต่ตัวหรือมีกระเป๋าสะพายหลังเพียงใบเดียว ก็ทำเอาเหนื่อยลิ้นห้อยไปตาม ๆ กัน แต่ลูกหาบคือผู้ที่ต้องแบกสัมภาระเหล่านั้นเป็นกระเป๋านับสิบใบ บางคนที่แข็งแรงหน่อยอาจจะแบกถึง 20 - 30 ใบกันเลยทีเดียว 

ไม่ใช่งานสบาย แต่ทำไมคนถึงเลือกทำ ก็เพราะความยากจนและมีภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้นว่าส่งบุตรหลานเล่าเรียน เป็นรายได้จุนเจือครอบครัวหลังจากหมดฤดูทำนา ซึ่งกลุ่มคนที่สนับสนุนกระเช้าขึ้นภูนี้ มักแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจ แต่หารู้ไม่ หรือไม่ก็ไม่คิดถึงเรื่องนี้เลยว่า สิ่งที่คุณ ๆ ท่าน ๆ กำลังสนับสนุนให้ทำอยู่นั้นแหละจะเป็นตัวการทำลายแหล่งรายได้ของพวกเขาไปอย่างหมดสิ้น และที่จริงลูกหาบก็มีกำเนิดมาจากบรรพชนนักพิชิตภูรุ่นแรกเริ่มมานั่นแหละ 

จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนกระเช้าภูกระดึง โดยอ้างลูกหาบนั้นไม่เคยพูดในสิ่งที่ควรจะพูด อย่างการประกันสุขภาพ การมีสวัสดิการ การเพิ่มค่าจ้าง ตามแบบที่ผู้ใช้แรงงานทั่วไปพึงจะมีหรือได้รับ มันเหมือนคนที่บอกเห็นอกเห็นใจชาวนา แต่ไม่เคยพูดถึงสิ่งที่ชาวนาได้รับจากการเป็นผู้ผลิต ราคาข้าวทำไมตกต่ำ ทั้งที่คนต้องกินข้าว รายได้ทำนาต่อปี ทำไมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องหมดไปกับค่าปุ๋ยค่ายาฆ่าแมลง ไหนจะเรื่องหนี้สินกับ ธกส. อีก 

กรณีลูกหาบภูกระดึงนี้ยังต้องพูดถึงอาชีพหลังจากมีกระเช้าแล้วด้วยอีกต่างหาก จริงอยู่ว่าการให้ชาวบ้านมาแบกสัมภาระให้นั้นเป็นเรื่องที่ดูกดขี่ ไม่อารยะ แต่อย่าลืมว่านั่นคือแหล่งรายได้ของพวกเขา ไม่มีแผนรองรับตรงนี้ บางท่านมองว่าเรื่องอื่นเป็นต้องพับไป ยังไม่ต้องพูดถึงถ้าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใดที่ไปกระทบวิถีชีวิตคนที่อยู่กับตรงนั้นเสียแล้ว โดยหลักการก็ต้องพักเอาไว้ก่อน 

เหตุผลสำคัญจริง ๆ นั้นใครก็รู้ว่าคือการบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งหวังความสะดวกสบาย อยากจะขึ้นไปพิชิตยอดภูแต่ไม่อยากปวดแข้งปวดขา ไม่อยากเผชิญความยากลำบาก นักท่องเที่ยวที่มีความปรารถนาทำนองนี้ส่วนมากก็ชนชั้นกลางชาวกรุงนั่นแหละครับ เมื่อเป็นเหตุผลแบบนี้ คนจำนวนหนึ่งเลยรู้สึกว่าเรื่องอะไร ทำไม ถึงต้องเอาเงินภาษีไปสปอยล์คนเหล่านี้ 

จริงอยู่ว่าต่างประเทศเขาก็มีกันสำหรับกระเช้าไฟฟ้าเนี่ย แต่อย่าลืมว่าการบริหารจัดการของเขาดีกว่าเราเยอะ ใครจะเป็นผู้จัดการดูแลควบคุมและเก็บรายได้ ก็รัฐ (ในนามอุทยานแห่งชาติ) ใครจะเป็นผู้สร้าง ก็กลุ่มทุน (ที่จะมารับเหมาช่วง) ดังนั้นก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ของรัฐและกลุ่มทุนไปด้วย เมื่อเป็นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มโดยแอบอ้างส่วนรวมเสียแล้ว  คำถามก็คือเรายังควรลงทุนเพื่อการณ์นั้นกันอยู่อีกหรือ? 

การท่องเที่ยวแบบกู้ชาติ & การเป็นภูเขา-ยอดเขาที่ถูกสร้าง อัตลักษณ์และความหมาย

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สังคมไทยมักจะพูดถึงการท่องเที่ยวในแง่ที่เป็นความหวังในการกลับฟื้นเศรษฐกิจ ดูเหมือนจะหลงลืมการฟื้นฟูมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละช่วงนั้น จนป่านนี้เราจึงยังคงไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ๆ อย่างเช่นกรณีต้มยำกุ้ง 2540 การถกเถียงทางวิชาการเพื่อหาคำตอบหรืออย่างน้อยคือการพยายามแสวงหาคำอธิบายที่ฟังขึ้น คึกคักกันแต่ในช่วงทศวรรษ 2540 นั้นเอง หลัง 2549 เป็นต้นมาสังคมไทยก็หันไปสู่เรื่องอื่น ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องเข้าใจได้  เพราะรัฐประหารที่กลับมาในประเทศที่มีการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายกันมามากแล้ว และเว้นว่างไปกว่า 15 ปี (2534 - 2549) ที่เกิดขึ้นในปีนั้นเป็นเรื่องใหญ่จนต้องพักเรื่องอื่นกันไปก่อน 

กล่าวกันว่าหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นโมเดลสำคัญของการฟื้นเศรษฐกิจตกต่ำ จนกลายเป็นสูตรตายตัวว่าเมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจเกิดตกวูบหรือขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วละก็ สังคมไทยเป็นต้องหันขวับไปที่การท่องเที่ยว ดังนั้นการท่องเที่ยวในสังคมประเทศนี้จึงถูกทำให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ในแง่ประวัติศาสตร์ เรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกับการกู้ชาติบ้านเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรกระทำในศึกยุทธหัตถีนั่นแลขอรับ 

เมื่อแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูกระดึงถูกลากโยงไปเป็นเรื่องการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวคือการกู้ชาติบ้านเมืองเช่นนี้แล้ว สิ่งใดก็ตามที่มองแบบผิวเผินได้ว่าเป็นไปเพื่อการอำนวยแก่การท่องเที่ยวทำนองนี้แล้ว ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะนำไปสู่ฉันทามติความเห็นพ้อง กระเช้าไฟฟ้าเลยเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกกันขึ้นมาอย่างไม่มีทีท่าว่าจะเลิก เมื่อใดที่พูดถึงการท่องเที่ยว (ในมุมแบบกู้ชาติบ้านเมืองให้พ้นวิกฤต) กระเช้าภูกระดึงก็กลับมาสะกิดใจได้เสมอ 

นอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผลต่อการบูมของกระแสการท่องเที่ยวแล้ว การท่องเที่ยวโดยตัวมันเองก็มีผลไม่น้อยต่อสถานที่ท่องเที่ยว ในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ด้านการท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์นิเวศ หรือในกรณีต่างประเทศก็จะมีมุมแบบ ‘นิเวศวิทยาการเมือง’ (Political Ecology) จะมองว่าการท่องเที่ยวมีผลต่อการนิยามความหมายของธรรมชาติ จนทำให้เส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม เกิดการ ‘เบลอ’ ไป 

ในมุมดังกล่าวนี้จะมีการอภิปรายถกเถียงกันในประเด็น ‘การเป็นแม่น้ำ’ ‘การเป็นภูเขา’ ‘การสร้างชายหาด’ ‘ความเป็นทะเล’ ฯลฯ ซึ่งดูแปลกประหลาด เพราะปกติเรามักจะมองกันว่า แม่น้ำคือแม่น้ำ ภูเขาก็คือภูเขา ทะเลก็เหมือนกัน ดูไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์จะไปสร้างหรือไปทำอะไรได้ แต่นอกเหนือจากสิ่งที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติที่เป็นจริงแล้ว ยังมีธรรมชาติที่ถูกนำเสนอ (Representation) อีกมากมาย หมายความว่าธรรมชาติอาจดำรงอยู่ของมันในแบบที่มันเป็น แต่เมื่อมนุษย์เข้าไปให้ความหมาย เช่น เป็นสัจจะความจริงแท้ เป็นมาตรฐานความงดงาม เป็นความรื่นรมย์ เป็นภาพความทรงจำ ฯลฯ แล้ว ธรรมชาติก็ไม่ใช่ธรรมชาติดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่เป็นธรรมชาติที่ผ่านการคัดสรรในสายตาของมนุษย์ และมนุษย์แต่ละพื้นที่แต่ละสังคมแต่ละยุคสมัยก็มีความแตกต่างกัน  

แม่น้ำโขงสำหรับคนลาว แม่น้ำโขงสำหรับคนอีสาน แม่น้ำโขงสำหรับคนกัมพูชา แม่น้ำโขงสำหรับคนต้นน้ำอย่างจีน มีความหมายและความสำคัญแตกต่างกัน ถึงจะเป็นแม่น้ำสายเดียวกันก็เถอะ ทะเลที่ชายฝั่งภาคตะวันออกกับทะเลที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ก็แตกต่าง ไหนจะทะเลแต่ละพื้นที่จังหวัดอีก 

‘ความเป็นภูเขา’ ก็มีความลื่นไหล คนยุคก่อนสมัยใหม่มีความเชื่อต่อภูเขาในฐานะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของผี เทพ หรือสิ่งอันควรเป็นที่เคารพสักการะ เมืองโบราณทุกแห่งจะมี ‘ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง’ เช่น เขาโปปาในพุกาม เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของนัต (ผีพม่า) ดอยสุเทพเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของพระฤาษีผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เดิมจึงเป็นสถานที่ของผีบรรพชน ‘พูสี’ (ภูศรี - ถ้าเขียนแบบไทย) ของเมืองหลวงพระบาง คนลาวถือว่าเป็นที่สิงสถิตของพระยาแถนหลวง พนมกุเลนของกัมพูชาก็ถือว่าเป็นถิ่นของผีบรรพชนเขมร เขาหลวงของสุโขทัยก็เป็นที่สิงสถิตของ ‘พระขพุงผี’ เมืองศรีเทพก็มีเขาถมอรัตน์ ฯลฯ

ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เดิมเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพชน เมื่อศาสนาพราหมณ์และพุทธเข้ามามีบทบาทแทนที่ก็ปรับเปลี่ยนความหมายของภูเขาเหล่านี้ไปเป็นเขากงไกรลาส หรือเขาพระสุเมรุ ที่สิงสถิตของเทพเจ้า (ในกรณีพราหมณ์) หรือในกรณีพุทธศาสนา ก็มีความนิยมในการประดิษฐานรอบพระพุทธบาทจำลองไว้บนภูเขา พบได้ทั่วไปหลายแห่ง อาทิ เขาสุมนกูฏที่ศรีลังกา เขาดีสลักเมืองอู่ทอง เขาถวายพระเพลิงที่กาญจนบุรี เขางูเมืองราชบุรี เขาบันไดอิฐเมืองเพชรบุรี เขาพลอยแหวนของจันทบุรี เขาวงพระจันทร์ที่ลพบุรี เขาสะแกกรังที่อุทัยธานี เขาหน่อและเขากบที่นครสวรรค์ ฯลฯ 

บางเมืองไม่มีภูเขาที่เป็นธรรมชาติ ก็มีการสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ เป็นที่บรรจุสิ่งสำคัญเช่นพระบรมสารีริกธาตุ เป็นสัญลักษณ์แทนภูเขาธรรมชาติ เช่น เอลโลร่าของอินเดีย ภูเขาทองที่อยุธยา พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระธาตุเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ชะเวดากองที่เมืองร่างกุ้งในเมียนมา พระธาตุหลวงเมืองเวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว นครวัด นครธมที่เมืองเสียมเรียบในกัมพูชา บุโรพุทโธที่อินโดนีเซีย พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เป็นต้น 

อารมณ์ความรู้สึกตลอดจนโลกทัศน์วิธีคิดของคนที่เดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้แตกต่างจากคนที่ขึ้นภูกระดึง ภูกระดึงเป็นที่ที่ไม่มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ ไม่เคยมีวาทกรรมเปรียบเป็นเขากงไกรลาสหรือเขาพระสุเมรุ ไม่มีเจดีย์อยู่บนยอดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีความเชื่อในหมู่คนท้องถิ่นว่าเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพชนเช่นกัน แต่ไม่เป็นที่นิยมเชื่อถือ 

ดูเหมือนคนภายนอกจะไม่ยอมรับรู้ความสำคัญในแง่นี้ของภูกระดึง ซึ่งสะท้อนภาวะที่ปราศจากอำนาจต่อรองของคนดั้งเดิมในพื้นที่ เสียงที่ดังกลบเสียงอื่นในการนิยามความเป็นภูเขาของภูกระดึงเป็นเสียงคนจากภายนอกที่มาในรูปของนักท่องเที่ยว ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนภายนอกกับคนในพื้นที่ เป็นไปในรูปแบบของคนในพื้นที่มารับใช้แบกข้าวของสัมภาระให้แก่คนภายนอกที่มาเที่ยว เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรก 

ภูกระดึงจึงถูกนิยามจากมุมมองของการท่องเที่ยวแบบค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จเมื่อเทียบกับที่อื่น จะมีก็แต่สุ้มเสียงของนักอนุรักษ์ธรรมชาติเท่านั้นที่ดังพอจะต่อรองกับเสียงของมหาชนนักท่องเที่ยวได้บ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะได้อีกนานแค่ไหน เพราะอย่างที่บอกความแข็งแกร่งของฝ่ายไม่อนุรักษ์คือการท่องเที่ยวแบบกู้ชาติบ้านเมือง ยิ่งในประเทศที่ผู้คนยังเชื่อว่า ‘ชาติ’ หมายถึงคนส่วนรวมอยู่ เสียงของนักท่องเที่ยวจะ ‘ดัง’ มากกว่าเสียงของคนกลุ่มอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญอยู่เสมอ การท่องเที่ยวยังมีมิติที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเพื่อความศิวิไลซ์ไปอีก 

ประเด็นเรียกร้องแบบที่เกิดกับภูกระดึง ไม่เกิดกับภูเขาหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ อย่างกรณีเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี เขาถมอรัตน์ จ.เพชรบูรณ์ หรืออย่างเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ที่ปีหนึ่ง ๆ คนไปเป็นล้าน เยอะกว่าที่ไปภูกระดึงกันมาก ภูกระดึงคนไปแต่ละปีตัวเลขที่เป็นทางการอยู่ที่ 60,000 คนต่อปี (เปิดให้ขึ้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมของปีถัดไป) เขาวงพระจันทร์ก็ชันและโหดกว่าภูกระดึงหลายเท่า ต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 3,790 ขั้น บวกกับบันไดเข้าถ้ำกับเขาข้าง ๆ ก็ปาไปกว่า 4,000 ขั้น ถ้าใครขึ้นไปโดยที่ไม่ได้เตรียมร่างกายไว้พร้อมแล้วละก็ กลับลงมาบอกลาขากับน่องได้เลย 

แต่ทั้งที่ยากลำบากกว่าภูกระดึงเยอะ กลับไม่มีประเด็นเรื่องกระเช้าไฟฟ้า ก็เพราะความต่างในนิยามการเป็นภูเขา (ถ้าภาคเหนือเรียกว่า ‘ดอย’ อีสานเรียก ‘ภู’ ภาคกลางเรียก ‘พุ’) ภูเขาที่มีภาพสลักพระพุทธรูปโบราณอย่างเขาถมอรัตน์ จ.เพชรบูรณ์ หรืออย่างเขางู จ.ราชบุรี ภูเขาที่มีการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้บนยอดเขาอย่างเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี หรืออย่างเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ไม่ใช่ภูเขาที่คนขึ้นไปจะขึ้นไปเพื่อ ‘พิชิต’ หากแต่ขึ้นไปด้วยจิตใจอีกแบบหนึ่ง ไปเพื่อเคารพสักการะ หรือแม้ไม่ได้มีความเชื่อแต่ก็ต้องเคารพสถานที่ 

ตรงข้ามกับภูกระดึงอย่างสิ้นเชิงที่มีวาทกรรม ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง’ แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการพิชิตภูเขาทำนองนี้คือแนวคิดแบบ ‘มนุษย์เป็นศูนย์กลาง’ (Human centrism) เป็นการมองมนุษย์ในฐานะผู้ที่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้โดยมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยีสมัยใหม่ สนับสนุนอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เป็นแนวคิดอย่างเดียวกับที่เป็นเบื้องหลังการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำและขวางทางน้ำธรรมชาติ ไม่ได้คิดว่ามนุษย์ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หากแต่คิดว่ามนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติได้แบบเบ็ดเสร็จสัมบูรณ์ มนุษย์ตามกรอบคิดเช่นนี้จึงเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความอุกอาจก้าวร้าวและเชื่อมั่นในตนเองสูงเกินพอดี (ถ้าว่าตามภาษาวัยรุ่นปัจจุบันก็คือพวก ‘ภัยความมั่น’ นั่นแหละครับ)           .  

ทำไมจะต้อง ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง’ ??? 

นอกจากที่กล่าวข้างต้นนี้แล้ว มุมมองต่อภูเขาแบบมนุษย์สามารถเป็นผู้พิชิตธรรมชาติได้นี้ ในอีกมุมมองเพศสถานะ (Gender) สะท้อนการมองธรรมชาติเท่ากับสตรีเพศ ซึ่งธรรมชาติก็มีบางด้านที่สามารถมองเปรียบเทียบบทบาทได้แบบนั้นเสียด้วย เพราะเมื่อธรรมชาติเป็นความงาม เป็นมารดาผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง ธรรมชาติก็เหมือนสตรี น่าค้นหาชวนหลงใหลและสัมผัส มุมมองต่อธรรมชาติในแบบผู้พิชิตจึงสะท้อนมุมมองแบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ความอยากมีสิ่งที่จะพาร่างกายและวิญญาณขึ้นไปพิชิตจุดสูงสุดนั้น ก็เป็นอย่างเดียวกับอารมณ์ความรู้สึกแบบที่อยากจะ ‘ถึงจุดสุดยอด’ โดยไม่ผ่านช่วงเวลายากลำบากของการพยายามเอาชนะใจ ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ตนเองว่าเหมาะสมคู่ควรแค่ไหนอย่างไร    

ตรงข้ามกับสปิริตแบบคนขึ้นเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี หรืออย่างเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี นั่นเป็นสปิริตที่สะท้อนมุมมองและนิยามภูเขาในแบบดั้งเดิม (แน่นอนย่อมผสมปนเปกับแนวคิดสมัยใหม่) มุมมองและนิยามภูเขาเช่นนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดการเคารพธรรมชาติ ยังเป็นแนวคิดที่ไปกันได้กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ท้ายสุดแล้วการขึ้นไปสู่ยอดเขาไม่ใช่แค่เรื่องความสะดวกสบาย หากแต่ความสะดวกสบายดูเหมือนเป็นอะไรที่ต้องยอมตั้งแต่แรกแล้ว 

ผู้ที่จะขึ้นเขาได้ในอดีตต้องมีความบริสุทธิ์สะอาดบางอย่าง เช่น เป็นฤาษี เป็นพระ เป็นผู้บำเพ็ญเพียร เป็นนักแสวงบุญ ฯลฯ ปัญหาคือยุคสมัยใหม่ไม่สามารถสกรีนคนขึ้นภูเขาได้แบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ‘ศาสนาการท่องเที่ยว’ และแนวคิดแบบ ‘มนุษย์เป็นศูนย์กลาง’ หรือเป็น ‘ผู้พิชิต’ ได้เข้ามาแทนที่ โดยมีแบ็กอัปสุดแกร่งคือความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

ในขณะเดียวกัน แนวคิดว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ก็ถึงเวลาต้องปรับปรุงพอสมควรเหมือนกัน อย่างน้อยควรได้มีการถกเถียงกันจริงจังว่า การอนุรักษ์ที่ถูกที่ควรนั้นเป็นแบบไหน การอนุรักษ์หมายถึงการเผยแพร่เอาคนมาเที่ยวเยอะ ๆ หรือการอนุรักษ์ควรจะเป็นการเซฟสภาพดั้งเดิมของธรรมชาติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะการโปรโมตเอาคนมาเที่ยวเยอะ ๆ ที่กระทำมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น ก็เห็นกันแล้วว่าส่งผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปมากเพียงใด 

มันเกินเวลามามากแล้ว สำหรับการที่สังคมควรจะต้องทบทวนกันบ้างว่า การท่องเที่ยวช่วยกอบกู้ประเทศชาติบ้านเมืองนี้ได้จริงหรือเปล่า และการท่องเที่ยวช่วยอนุรักษ์หรือทำลายธรรมชาติกันแน่ ตราบใดที่ไม่เคยเคลียร์เรื่องเหล่านี้ได้ ก็ยังไม่ควรทำอะไรทั้งนั้น เพราะเรื่องใดก็ตาม ลองถ้ายังไม่ใช้กระบวนการทางสติปัญญากับมันมากพอแล้ว มีเทคโนโลยีใด ๆ เข้ามาช่วยไปก็เท่านั้น อุปมาจะเหมือนคนขับรถโดยไม่ยอมรับรู้กฎเกณฑ์พื้นฐานที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของสังคมในการใช้ถนนอย่างกฎจราจร คิดเยอะ ๆ ครับ 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วกรณีกระเช้าภูกระดึงนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้สำรวจดูแนวคิดเบื้องหลังที่กำกับมุมมองของเราต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเป็นหรือที่ชีวิตหนึ่ง ๆ จะต้องได้เป็นผู้พิชิตภูกระดึงสักครั้ง และถึงที่สุดต่อให้ในชีวิตนี้ใครจะไม่เคยขึ้นภูกระดึงเลย มันจะเป็นอะไรที่ทำให้ชีวิตของคนคนนั้นเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนที่เคยขึ้นตรงไหน และถ้าอยากจะพิชิตแล้ว หนทางและวิธีการควรเป็นแบบไหนถึงจะยังความสุขความรื่นรมย์ให้กับเราได้มากกว่า ไม่ใช่จะเอาแต่ความสะดวกสบายเป็นที่ตั้งแล้วทิ้งมิติอื่น ๆ นั่นเป็นวิธีคิดที่อันตราย ไม่ว่ากับเรื่องใด ๆ ก็ตาม 

.

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์

.

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง

.

กำพล จำปาพันธ์. “ภูหินร่องกล้าในสมรภูมิความทรงจำ: จาก ‘ฐานที่มั่น’ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กลายเป็น ‘อุทยานแห่งชาติ’ ของรัฐไทย (พ.ศ. 2527 - 2546)’ วารสารร่มพฤกษ์. ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม 2553 - มกราคม 2554), หน้า 146-195.

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2542.

สำนักข่าวไทยพีบีเอส. “เปิดหนังสือขอศึกษา ‘กระเช้าภูกระดึง’ 2 ปีสิ้นสุดปี 2568” https://www.thaipbs.or.th/news/content/334569 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566).

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (2545). นิเวศประวัติศาสตร์: พรมแดนความรู้. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

อรัญญา ศิริผล. (2564). มานุษยวิทยานิเวศ: พัฒนาการ แนวคิด และข้อถกเถียง. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Buell, L. (1998). “Toxic Discourse” Critical Inquiry. 24 (3): pp.639-665.

Bryant, R. (1992). “Political Ecology: An Emerging Research Agendas in Third World Studies” Political Geography. 11 (1): pp. 12-36.

Escobar, A. (1996). “Constructing Nature: Elements for a Poststructural Political Ecology” in Peet, R., Watts, M. (eds.). (1996). Liberation Ecologies: Environment, Development, Social Movements. London: Routledge.    

Escobar, A. (1998). “Discourse and power in development: Michel Foucault and the relevance of his work to the third world” Alternatives. 10 (3): pp.377-400.  

.

#ThePeople #History #ภูกระดึง #กระเช้าภูกระดึง