24 ก.ค. 2568 | 17:58 น.
KEY
POINTS
เสียงดนตรีอาจล่องลอยผ่านหูของเราเพียงไม่กี่วินาที แล้วสลายไปในความเงียบ แต่ดนตรีแจ๊สไม่ได้มาแล้วจากไป มันชวนให้เราหยุดฟัง หยุดคิด และตั้งคำถาม
แจ๊สคืออะไร?
ศิลปะแห่งการด้นสดใช่หรือไม่?
เสียงแห่งเสรีภาพของปัจเจก?
บทสนทนาแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์?
คำถามเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ และไม่ใช่ของเก่าเกินไปที่จะกลับมาถามซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านหนังสือ The Contradictions of Jazz (2008) ของ พอล รินซ์เลอร์ (Paul Rinzler) งานวิเคราะห์ดนตรีแจ๊สที่ไม่ได้ตั้งต้นจากเสียง หากตั้งต้นจากสิ่งที่อยู่ลึกกว่า นั่นคือ คุณค่า ความขัดแย้ง และธรรมชาติของการดำรงอยู่
รินซ์เลอร์ เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง และนักทฤษฎีดนตรีชาวอเมริกันเชี่ยวชาญด้านดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะเรื่องการด้นสด (improvisation) และโครงสร้างทางดนตรี เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแจ๊สศึกษา (Director of Jazz Studies) ที่ California Polytechnic State University (Cal Poly) ในเมือง San Luis Obispo
เขาสำเร็จการศึกษาด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัย Eastman School of Music และ University of Miami ได้รับดุษฎีบัณฑิตด้านทฤษฎีดนตรี/การประพันธ์ดนตรี และการสอนแจ๊ส (Jazz Pedagogy) จาก University of Northern Colorado รินซ์เลอร์ เป็นทั้งนักเปียโนแจ๊สและนักวิชาการ ผลงานของเขาได้รับการยอมรับในแวดวงดนตรี ทั้งในฐานะนักปฏิบัติและนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะในประเด็นที่เชื่อมโยงระหว่างดนตรีแจ๊สกับปรัชญา หนังสือ The Contradictions of Jazz เป็นงานศึกษาในยุคหลังที่โดดเด่น ซึ่งนำเสนอว่า ‘ความขัดแย้ง’ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแก้ไขในแจ๊ส แต่เป็นหัวใจของศิลปะรูปแบบนี้ที่ขับเคลื่อนให้มีชีวิตและความหมาย
รินซ์เลอร์เสนอว่า แจ๊สไม่ได้สวยงามเพราะความเป็นระเบียบ ในทางกลับกัน แจ๊สเจริญงอกงามเพราะเต็มไปด้วย ‘ความขัดแย้ง’ ที่ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างน่าประหลาด
ไม่ใช่แค่การด้นสดของนักดนตรีที่สวนทางกับโครงสร้างที่คาดเดาได้ แต่รวมถึงคุณค่าพื้นฐานที่สุดที่หล่อหลอมแจ๊ส ประกอบด้วย ความเป็นปัจเจกกับความสัมพันธ์ เสรีภาพกับความรับผิดชอบ และ ความคิดสร้างสรรค์กับขนบธรรมเนียม
“สิ่งที่ตรงกันข้ามกันสามารถขัดแย้งกันได้หลายรูปแบบ และแจ๊สน่าทึ่งยิ่งกว่า เพราะในบางกรณี รูปแบบของความขัดแย้งคือ ‘ความตึงเครียดเชิงพลวัต’ (dynamic tension) ซึ่งไม่เพียงแต่ให้ทั้งสองด้านของความขัดแย้งปรากฏอยู่อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่ความขัดแย้งนั้น ยัง ไม่ได้ ถูกคลี่คลายเสียด้วยซ้ำ”
ในโลกที่ผู้คนถูกฝึกให้เลือกข้างตลอดเวลา ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ เราหรือเขา ทว่า แจ๊สเลือกจะเดินคนละทาง
แจ๊สไม่เร่งหาข้อสรุป แต่กลับหยุดอยู่ในช่องว่างระหว่างคำตอบ ไม่ใช่เพราะไม่มีจุดยืน แต่เพราะยอมรับว่าความจริงในโลกนี้อาจมีมากกว่าหนึ่งด้านในเวลาเดียวกัน
พอล รินซ์เลอร์ เสนอว่า แจ๊สไม่อาจเข้าใจได้จากการมองแบบ “mutual exclusion” (การหักล้างกันโดยสิ้นเชิง) ซึ่งคือวิธีคิดที่เชื่อว่า A กับไม่ใช่ A จะอยู่ร่วมกันไม่ได้
“ความขัดแย้งมักถูกเข้าใจในแง่ของการหักล้างกันโดยสิ้นเชิงมากเกินไป ทั้งที่ในความเป็นจริง คู่ตรงข้ามสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ในบางรูปแบบ”
แนวคิดนี้เปลี่ยนทุกอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเรานำมาใช้ในการฟังแจ๊ส เพราะถ้าความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องจบด้วยการลบกันคนละขั้ว ก็อาจสร้างอะไรใหม่ร่วมกันได้ เขาจึงเสนอความเข้าใจต่อ “คู่ตรงข้าม” ที่หลากหลายกว่าเดิม
ไม่ว่าจะเป็น การหักล้างกันโดยสิ้นเชิง (Mutual Exclusion) อย่างขาวกับดำ ใช่กับไม่ใช่ ซึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งต้องหายไป หรือกรณีของ สัดส่วนผกผัน (Inverse Proportion) ยิ่งมีสิ่งหนึ่งมาก อีกสิ่งต้องน้อยลง เช่น ความใหม่ที่เพิ่มขึ้นอาจหมายถึงขนบที่ลดลง, การไล่ระดับ (Gradation) ขั้วตรงข้ามที่ไหลเวียนหากันได้ เช่น สีเทาระหว่างขาวกับดำ หรือจะเป็น การแพร่ขยาย (Propagation) ขั้วตรงข้ามที่รวมตัวกัน เพื่อให้กำเนิดสิ่งใหม่
มุมมองที่แตกต่าง (Perspective) สิ่งเดียวกันอาจปรากฏต่างกัน ขึ้นอยู่กับจุดยืนของผู้ฟัง การวางเคียงข้างกัน (Juxtaposition) สองขั้วอยู่ร่วมในพื้นที่เดียว แต่ไม่จำเป็นต้องปะทะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตึงเครียดเชิงพลวัต (Dynamic Tension) สองขั้วที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง อยู่พร้อมกันอย่างเต็มรูป และปะทะกันอย่างไม่หาทางออก แต่กลับสร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดการแสดงออกที่ทรงพลังที่สุด
รูปแบบสุดท้ายนี้เองที่ รินซ์เลอร์ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนั่นคือธรรมชาติของแจ๊สอย่างแท้จริง เสียงสองเสียงที่ไม่ประนีประนอม แต่ฟังกันอย่างลึกซึ้งในขณะเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น เขาเชื่อมโยงแนวคิดนี้เข้ากับกระบวนการ 'dialectics' (วิภาษวิธี) แนวคิดที่ถือว่า ความขัดแย้งคือองค์ประกอบหนึ่งของการทำความเข้าใจโลก มิใช่อุปสรรคของเหตุผล
“วิธีคิดแบบวิภาษวิธี คือการใช้เหตุผลแบบไม่เน้นการพิสูจน์ตายตัว แต่เป็นกระบวนการที่เราพยายามปรับปรุงความสอดคล้องของความเชื่อของเรา เพื่อให้มันมีเหตุผลและเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น”
แจ๊สไม่ได้บอกว่า “เสียงไหนถูก” หรือ “เล่นอย่างไรดีที่สุด” แต่สอนให้เราฟังความแตกต่าง ให้อยู่กับความตึงเครียดระหว่างความคิดที่ขัดกัน และให้เชื่อว่า เสียงใหม่อาจเกิดขึ้นในรอยแยกนั้น เสียงของแจ๊สไม่เคยราบเรียบ แต่สั่นสะเทือนเพราะเต็มไปด้วยความตึงเครียดที่ยังไม่ยอมจบ
สิ่งหนึ่งที่แจ๊สบอกเราตั้งแต่เสียงโน้ตแรก คือเสรีภาพของแต่ละเสียง แต่ถ้ามีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ดนตรีแจ๊สยังคงความเป็น ‘วงดนตรี’ มันคือการฟังกันอย่างลึกซึ้ง แจ๊สไม่เลือกข้างระหว่างเสียงของคนคนหนึ่งกับเสียงของทั้งวง แต่ให้พื้นที่กับทั้งสอง และเรียกร้องให้พวกเขาอยู่ร่วมกัน
รินซ์เลอร์ เปิดบทว่าด้วยนิยามของ individualism ว่า เป็น “การยึดมั่นในความเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับความสัมพันธ์ทางสังคม” ซึ่งแจ๊สให้คุณค่านี้อย่างสูงที่สุด โดยเฉพาะในบทบาทของนักโซโล ผู้ที่พูดด้วยภาษาของตัวเอง สร้างเสียงของตัวเอง และเป็นอิสระจากโครงสร้างใดๆ ที่คอยจำกัด
ทุกเสียงของ ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) ในทศวรรษ 1950s ไม่ใช่เพียงแค่เสียงทรัมเป็ต แต่คือ “เสียงของ Miles” เสียงที่ผู้ฟังสามารถจดจำได้ภายในไม่กี่วินาที
“นักดนตรีแจ๊สแต่ละคนถูกคาดหวังให้พัฒนาเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การสร้างสรรค์เสียงหรือแนวทางที่ไม่เหมือนใครถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของนักดนตรีแจ๊ส”
นักดนตรีที่ไม่มีเสียงของตัวเอง ไม่มีที่ยืนในแจ๊ส แค่เลียนเสียงของผู้อื่น เท่ากับล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่แจ๊สไม่เคยทิ้งเสียงที่อยู่อีกด้านหนึ่ง
ขณะที่คนคนหนึ่งกำลังโซโล เสียงที่เหลือต้องฟังและตอบสนอง ขณะที่นักดนตรีกำลังประกาศความเป็น 'ฉัน' สมาชิกในวงดนตรีทั้งหมด ต้องถามพร้อมกันว่า “เราควรจะไปทางไหน”
นี่คือ interconnectedness ที่ รินซ์เลอร์ เรียกว่า 'being-in-relation' การดำรงอยู่ผ่านความสัมพันธ์ และการสร้างเสียงที่เชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง
เขาอธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่า ‘groove’ ไม่ใช่แค่การเล่นจังหวะที่ตรงกัน แต่คือการฟังกันในระดับที่แม่นยำสม่ำเสมอภายในเสี้ยววินาที คือการปรับตัวของเบสกับกลองในทุกๆ จังหวะ โดยไม่มีคำพูด คือการวางน้ำหนักที่พอดีกับจิตใจของคนข้างๆ
ชัค อิสราเอลส์ (Chuck Israels) มือเบสของ บิลล์ เอแวนส์ (Bill Evans) เคยพูดถึงการเล่นเบสร่วมกับมือกลองไว้ว่า “ถ้ามันเวิร์ก มันจะทำให้คุณรู้สึกใกล้ชิดกันมาก... ความสัมพันธ์นั้นจะเป็นอะไรที่ลึกซึ้งอย่างแท้จริง” ความสนิทสนมของนักดนตรีในจังหวะนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องมิตรภาพ แต่คือความใกล้ชิดทางจังหวะ ทางเวลา และทางหัวใจ
เมื่อ 'เสียงที่โดดเดี่ยว' ปะทะกับ 'เสียงที่เชื่อมโยงกันได้' เราจึงได้พบกับความงามแบบ dynamic tension ที่ทั้งสองด้านยังอยู่ครบ และพร้อมปะทะกันอย่างเต็มที่
จอห์น โคลเทรน (John Coltrane) กับ ไมล์ส เดวิส คือตัวอย่างชัดเจนที่สุด
การบรรเลงของ โคลเทรน เต็มไปด้วยโน้ต ส่วน ไมล์ส เต็มไปด้วยช่องว่าง
โคลเทรน พุ่งเข้าไปหาความจริงด้วยความเข้มข้น ไมล์ส เลือกจะถอยออกมาฟังอย่างนิ่งสงบ แต่เมื่อพวกเขาอยู่ร่วมกัน นั่นคือบทเรียนเรื่อง “การอยู่ร่วมกับสิ่งที่ไม่เหมือนกัน” ที่ดีที่สุด
แจ๊สจึงไม่ใช่ศิลปะของเสียงที่ถูกต้อง แต่คือศิลปะของเสียงที่ไม่เหมือนกัน แต่โอบรับกันได้
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักโซโล หรือ ผู้ฟัง แจ๊สบอกเราว่า คุณจะเป็น ‘คุณ’ ได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อคุณเรียนรู้ที่จะ ‘ฟัง’ คนอื่น
ในทุกการด้นสด มีเสียงหนึ่งที่กำลังออกเดิน เสียงนั้นไม่รู้มาก่อนว่าจะไปทางไหน แต่กล้าที่จะเริ่ม และกล้าที่จะรับฟังระหว่างทาง
แจ๊สคือสนามของการยืนยันตัวตน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสนามของการเปิดรับ
เสียงหนึ่งเปล่งออกมาอย่างมั่นใจ ขณะที่อีกเสียงหนึ่งกำลังเงี่ยหูฟัง
พอล รินซ์เลอร์ เรียกความขัดแย้งนี้ว่า assertion vs. openness คู่ตรงข้ามที่แสดงทิศทางตรงข้ามกันในทางพฤติกรรม
“การยืนยันตัวตน (assertion) หมายถึง การที่บางสิ่งบางอย่างภายในตัวบุคคลถูกส่งออกไปสู่โลกภายนอก ขณะที่การเปิดรับ (openness) หมายถึง การที่บางสิ่งจากโลกภายนอกถูกรับเข้ามาโดยบุคคลนั้น”
ความกล้าพูด กับความกล้าฟัง ไม่ใช่แค่ท่าทีในชีวิต แต่คือท่วงทำนองของการด้นสดทุกครั้ง
การด้นสด ไม่ใช่เพียงแค่คิดให้ได้ แต่คือการพูดออกมาให้ได้ในเสี้ยววินาที
ความคิด ความรู้สึก เทคนิค เสียง กลายเป็นการกระทำในทันที ไม่มีโอกาสลบ ไม่มีการย้อนกลับ
“การลุกขึ้นเป็นฝ่ายเริ่มต้น เสนอความคิดหรือการกระทำของตนออกมาอย่างมั่นใจ” คือหัวใจของ assertion
แต่ในขณะเดียวกัน นักดนตรีก็ต้องเปิดรับเสียงที่ไม่ใช่ของตนเองอยู่ตลอดเวลา
ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมวงจะเล่นอะไร ไม่รู้ว่าจะคาดหวังอะไรได้ แต่ต้องพร้อมฟัง พร้อมตอบ การเปิดรับคือความตื่นตัวในเชิงปฏิกิริยา “การเปิดใจรับฟัง และยอมรับสิ่งที่ไม่รู้จัก”
จุดที่น่าสนใจที่สุด คือ assertion กับ openness ไม่ได้ผลัดกันมา แต่เกิดขึ้นพร้อมกันแจ๊สจึงเป็นศิลปะที่ต้องใช้ ‘การประมวลผลเข้าและออก’ (input/output processing) พร้อมกันภายในเวลาเดียวกัน
รินซ์เลอร์ อธิบายว่านี่คือ dynamic tension ในเชิงปฏิบัติ “นักดนตรีด้นสดโดยส่งผ่านแนวคิดทางดนตรีออกไป... และในขณะเดียวกัน ก็ต้องรับฟังแนวคิดทางดนตรีที่เพื่อนร่วมวงเสนอออกมา พร้อมทั้งตอบสนองอย่างเหมาะสม”
สมองของนักดนตรีแจ๊ส จึงทำงานสองทางพร้อมกัน ฟังและพูด คิดและเล่น สังเกตและตัดสินใจ ไม่ใช่การเลือกระหว่างฟังหรือพูด แต่คือการทำทั้งสองอย่างในระดับที่สูงที่สุดของการมีสติ
นี่คือจังหวะที่คนทั่วไปเข้าถึงไม่ง่ายนัก
เพราะในชีวิตจริง เราเลือกจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ ในโลกของแจ๊ส การพูดและการฟังคือเรื่องเดียวกัน การด้นสดที่ดีไม่ใช่เรื่องของความคิดเร็วหรือมือไว
แต่คือเรื่องของความกล้าที่จะออกเสียงในขณะที่ฟังคนอื่นอยู่ลึกที่สุด
ในภาพจำของผู้ฟังทั่วไป ดนตรีแจ๊สคือเสียงของเสรีภาพ เป็นอิสระจากโน้ต เป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ เป็นอิสระจากผู้ควบคุม แต่น้อยคนจะมองว่า เสียงนั้นถูกถ่วงน้ำหนักไว้ด้วยสิ่งที่หนักหนาไม่แพ้กัน นั่นคือ ความรับผิดชอบ
แจ๊สไม่ได้ให้เสรีภาพ “โดยไม่มีเงื่อนไข” แต่เป็นเสรีภาพที่ผูกพันกับหน้าที่
พอล รินซ์เลอร์ ระบุว่าความขัดแย้งระหว่าง freedom กับ responsibility เป็นคู่ตรงข้ามที่สำคัญอีกชุดหนึ่ง เพราะ “ความรับผิดชอบหมายถึงการมีข้อกำหนดหรือข้อจำกัดบางอย่างต่อพฤติกรรมของบุคคล ขณะที่เสรีภาพคือภาวะที่ปราศจากข้อจำกัดเหล่านั้น”
แต่นั่นคือตรรกะแบบ “mutual exclusion” ที่ รินซ์เลอร์ ไม่เห็นด้วย เพราะในแจ๊ส เสรีภาพกับข้อจำกัด ไม่ได้หักล้างกัน แต่มันส่งเสริมซึ่งกันและกัน
การที่นักดนตรีแจ๊สสามารถ ‘เล่นอะไรก็ได้’ ไม่ได้แปลว่า เขาเล่น ‘อะไรก็ได้จริงๆ’ เบื้องหลังความกล้าเสี่ยงทุกวินาที คือชั่วโมงการฝึกฝนอย่างมีวินัย เบื้องหลังความเป็นอิสระในการเลือกทุกโน้ต คือการรับผิดชอบต่อบริบททางดนตรี ต่อเพื่อนร่วมวง และต่อผู้ฟัง
รินซ์เลอร์ ไม่ได้พูดเรื่องนี้ในเชิงจริยธรรม หากพูดในเชิงโครงสร้างของการด้นสด
เขาชี้ว่า freedom ในแจ๊สมีสองรูปแบบ ‘negative freedom’ ที่หมายถึงเสรีภาพจากข้อจำกัดภายนอก และ ‘positive freedom’ ที่หมายถึงการแสดงออกถึงตัวตนอย่างเต็มที่
แต่จะเป็น positive freedom ได้จริง ก็ต้องมีวินัยพอที่จะควบคุมมัน
ความรับผิดชอบจึงไม่ใช่กรงขัง แต่คือฐานรองรับ แจ๊สไม่เคยให้อิสระแก่คนที่ไม่ฝึกซ้อม และไม่เคยเปิดพื้นที่ให้ใครที่ไม่ฟังคนอื่น ใครที่ไม่ฟังความเคลื่อนไหวของวง ไม่เคารพโครงสร้างของเพลง ไม่รู้ว่าจะเข้าหรือออกตรงไหน คนคนนั้นไม่ได้เป็นอิสระ
ที่น่าสนใจคือ รินซ์เลอร์ ยังแยกความรับผิดชอบออกเป็นสองมิติต่อตนเองและต่อผู้อื่น
ซึ่งในวงดนตรีแจ๊ส สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน นักดนตรีต้องเลือก ‘สิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง’ โดยไม่ทำลาย ‘สิ่งที่ใช่สำหรับวง’
เขาเรียกภาวะนี้ว่า “นักดนตรีต้องปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักเป็นหน้าที่ต่อผู้อื่น”
อีกด้านหนึ่งของความขัดแย้งชุดนี้ คือความตึงเครียดระหว่าง ‘ศิลปะ’ กับ ‘ตลาด’
แจ๊สหลายยุคต้องเดินอยู่ระหว่างเสียงที่ตนเชื่อ กับเสียงที่คนอื่นอยากฟัง
จะเป็นตัวเองไปสุดทาง หรือจะประนีประนอมเพื่อความอยู่รอด?
นี่คือความรับผิดชอบในอีกระดับ ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวตน เช่น มรดกของดนตรี หรือบทสนทนาในวงกว้าง
แต่ไม่ว่าใครจะเลือกไปทางไหน คำถามนี้จะไม่เคยหายไปจากแจ๊ส
เพราะแจ๊สไม่เคยเป็นอิสระจากความรับผิดชอบ และความรับผิดชอบในแจ๊สก็ไม่เคยปราศจากเสรีภาพ
ไม่มีใครเริ่มด้นสดได้โดยไม่รู้ว่ากรอบอยู่ตรงไหน และไม่มีใครเปลี่ยนกฎของดนตรีแจ๊สได้ หากไม่เคยเข้าใจว่ากฎนั้นคืออะไร
แจ๊ส ไม่เคยแยก ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ออกจาก ‘ขนบ’ แต่เชื้อเชิญทั้งสองให้เข้ามาอยู่ร่วมกันในความตึงเครียดที่ไม่มีทางคลี่คลาย
ในสายตาของ พอล รินซ์เลอร์ ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) กับ ประเพณี (tradition) คือคู่ตรงข้ามที่ก่อให้เกิดเสียงดนตรีที่มีพลังมากที่สุด เพราะนวัตกรรมมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ขนบธรรมเนียมพยายามจะรักษาไว้
ความคิดสร้างสรรค์คือพลังของการแหวกขนบ แต่ขนบเองก็คือร่องรอยของเสียงที่เคยสร้างสรรค์ในอดีต
เมื่อ bebop เกิดขึ้นในยุคทศวรรษ 1940s มันไม่ได้ปฏิเสธทุกอย่างจากยุค swing ผู้บุกเบิก อย่าง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ (Charlie Parker) กับ ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) ยังคงใช้โครงสร้างทางเดินคอร์ดของเพลง ‘I Got Rhyth’ มาแต่งเพลงใหม่มากมาย นั่นคือสิ่งที่ รินซ์เลอร์ เรียกว่า inverse proportion
ยิ่ง bebop พึ่งพาโครงสร้างของ swing น้อยเท่าใด มันก็ยิ่งมีความสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น และในทางกลับกัน หากยึดติดกับ swing มากขึ้น ความใหม่ก็ลดลง แต่ความคิดสร้างสรรค์ในแจ๊ส ไม่ได้แปลว่าต้องแหกกรอบเสมอไป
รินซ์เลอร์ แยกความคิดสร้างสรรค์ออกเป็นสองแบบ แบบแรกคือ stimulus-bound creativity หรือ การสร้างสรรค์ภายใต้กรอบที่มีอยู่ เช่น การด้นสดจากทางเดินคอร์ด (chord progression) ที่กำหนดไว้อีกแบบ คือ stimulus-free creativity หรือ การเล่นโดยไม่ยึดโยงกับโครงสร้างที่ชัดเจน เช่น ใน free jazz ที่ไม่มีคอร์ด ไม่มีโครง ไม่มีจังหวะที่ตายตัว แจ๊สไม่ได้เลือกแบบใดแบบหนึ่งแต่ใช้ทั้งสอง และผลักให้ทั้งสองแบบปะทะกัน
ความสร้างสรรค์ จึงไม่ได้อยู่นอกกรอบเสมอไป บางครั้ง มันเกิดขึ้นในวินาทีที่นักดนตรีตัดสินใจอยู่ในกรอบ แล้วเล่นให้มันเปลี่ยนจากด้านใน
และประเพณีของแจ๊สก็ไม่ได้แข็งแกร่งเพราะมันไม่เคยเปลี่ยน แต่เพราะมันเคยถูกเปลี่ยนซ้ำแล้วซ้ำเล่า รินซ์เลอร์ เรียกสิ่งนี้ว่า “ความขัดแย้งระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับขนบธรรมเนียม” ที่ไม่ได้อยู่ตรงการเลือก แต่ตรงการแบกรับทั้งสองไว้พร้อมกัน
ดนตรีแจ๊สที่มีชีวิต ไม่ใช่ดนตรีที่ทำลายอดีต แต่คือดนตรีที่เดินไปข้างหน้า โดยไม่ลืมว่าเราเคยอยู่ตรงไหน ไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง เสียงใหม่ทุกเสียงที่เราฟังในวันนี้ จึงมีเงาของเสียงเก่าอยู่เสมอ
ดนตรีแจ๊ส ไม่เคยสัญญาว่าจะไร้ที่ติ มันไม่แสวงหาความสมบูรณ์แบบ ตามนิยามของดนตรีคลาสสิก หรือความตรงเป๊ะของวงซิมโฟนีออร์เคสตราที่ถูกซ้อมจนแม่นยำ
แจ๊ส ยอมรับว่าผิดได้ และจากความผิดพลาดนั้น มันฟื้นตัว สร้างสรรค์ และเติบโต
เช่นเดียวกับนักวิชาการหลายคน พอล รินซ์เลอร์ เรียกดนตรีแจ๊สว่า ‘the imperfect art’ ไม่ใช่เพราะมันด้อยกว่า แต่เพราะมันกล้าที่จะเปิดเผยความเปราะบางอย่างแท้จริง
ความผิดพลาดในแจ๊ส ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ไมล์ส เดวิส เคยกล่าวไว้ว่า “อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะมันไม่มีอยู่จริง” นั่นคือทัศนคติของดนตรีที่เข้าใจว่า ความผิดพลาดคือวัตถุดิบของการค้นพบ
แจ๊สจึงเป็นดนตรีของ ‘กระบวนการ’ มากกว่าผลลัพธ์ เผยให้เห็นการตัดสินใจแบบเรียลไทม์ การฟังและตอบสนอง การกล้าทดลอง แม้ไม่แน่ใจว่าจะรอดหรือไม่ คืองานศิลปะที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่สามารถทำซ้ำได้ และนั่นทำให้มันมีชีวิต
มากกว่านั้น แจ๊สสะท้อน ‘ความเป็นมนุษย์’ ได้อย่างแม่นยำ มนุษย์ก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์ ชีวิตคือการทดลอง คือการล้มลุกคลุกคลาน คือความกลัวและความกล้าในขณะเดียวกัน เราทุกคนล้วน ‘ด้นสด’ อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน
เราทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอ เรียนรู้จากข้อผิดพลาด และก้าวต่อไป ชีวิตเรามี rhythm ของตัวเอง และบางครั้งก็ sync กับโลก บางครั้งก็ไม่
แจ๊สคือ “a model of life” ที่เปิดเผยแก่นแท้ของการดำรงอยู่ สอนให้เราเห็นคุณค่าของความขัดแย้ง ไม่ใช่เพื่อยุติ หรือปรองดองเสมอไป แต่เพื่ออยู่กับมันและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จากมัน
ความเป็นปัจเจกภาพที่ไม่แยกขาดจากวงดนตรี เสรีภาพที่มีวินัย การยืนยันตัวตนที่พร้อมเปิดรับ การแหกขนบที่รู้จักกรอบ ทั้งหมดนี้คือเสียงของแจ๊ส และนั่นคือเสียงของมนุษย์เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
- Rinzler, Paul. The Contradictions of Jazz. Scarecrow Press, 2008.