‘จูเลียตต์ เกรโก’ หญิงสาวในโลกอุดมคติของ ‘ไมล์ส เดวิส’

‘จูเลียตต์ เกรโก’ หญิงสาวในโลกอุดมคติของ ‘ไมล์ส เดวิส’

เมื่อแจ๊สพบอัตถิภาวะ ในมหานครที่ไม่มีอคติ ‘จูเลียตต์ เกรโก’ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ ‘ไมล์ส เดวิส’ ไม่มีวันลืมตลอดชีวิต

KEY

POINTS

  • ไมล์ส เดวิสพบกับจูเลียตต์ เกรโกในปารีส ปี 1949 เมืองที่เปิดกว้างกว่าอเมริกาที่เต็มไปด้วยการเหยียด
  • ความรักของทั้งคู่ แม้ไม่มีภาษาเดียวกัน แต่สื่อสารผ่านความเข้าใจและเสรีภาพ
  • เกรโกคือภาพแทนของผู้หญิงในโลกใหม่ เสรี, ต่อต้านอำนาจ, และงามในแบบของตนเอง

ในเดือนพฤษภาคม ปี 1949 ‘ไมล์ส เดวิส’ (Miles Davis 1926-1991) วัย 23 ปี เดินทางไปยังกรุงปารีส เพื่อร่วมแสดงในงาน ‘Paris Jazz Festival’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของคณะ ‘American All-Stars’ ที่ประกอบด้วยนักดนตรีจากฝั่งสวิงและบีบ็อพ เป็นการเดินทางในช่วงเวลาที่ชีวิตของเขากำลังเคลื่อนตัวอย่างคุกรุ่น ทั้งทางดนตรีและจิตใจ

เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งเสร็จสิ้นจากการบันทึกเสียงชุด ‘Birth of the Cool’ ที่นิวยอร์ก ผลงานบุกเบิกชิ้นนี้ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของดนตรีแจ๊สร่วมสมัย ในนาม Cool Jazz แม้จะเริ่มมีชื่อเสียงที่จับต้องได้ แต่ปฏิกิริยาของผู้คนในวงการแจ๊ส ยังตั้งคำถามถึงทิศทางการสร้างสรรค์ของเขา นั่นจึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่มั่นคงนักสำหรับ ไมล์ส เดวิส เขากำลังจมลึกในความซึมเศร้า และเริ่มใช้เฮโรอีนเพื่อหลีกหนีความว่างเปล่าที่ตามหลอกหลอนหลังเวที

ปารีส ในสายตาของนักทรัมเป็ตหนุ่ม คือโลกอีกใบหนึ่งที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับอเมริกา ที่นั่น ไม่มีตำรวจคอยคุกคาม ไม่มีสายตาเหยียดหยามในร้านอาหาร ไม่มีคำว่า “ห้ามนั่งตรงนี้” เพราะคุณเป็นคนผิวสี และที่นั่น เขาได้พบกับ ‘จูเลียตต์ เกรโก’ (Juliette Gréco 1927-2020) หญิงสาวในชุดดำผมยาวตรง ผู้เป็นทั้งนักร้อง นักแสดง และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมฝ่ายซ้ายฝรั่งเศส ที่คลุกคลีอยู่ในย่าน แซ็ง-แฌร์แม็ง-เดส์-เพรส์ (Saint-Germain-des-Prés) 

จูเลียตต์ ไม่รู้จักดนตรีแจ๊สดีนัก ไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่มีแรงดึงดูดบางอย่างที่ทำให้ชายหนุ่มจากอีสต์เซนต์หลุยส์หยุดทุกสิ่งไว้ชั่วขณะ

“เธอทำให้ผมเข้าใจ ว่าความรัก…ไม่ได้มีแค่ในเสียงเพลง” ไมล์ส เดวิส เคยบอกไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา

ในช่วงเวลาเพียง 10 วันในปารีส ความสัมพันธ์ระหว่าง ไมล์ส และจูเลียตต์ ได้หล่อหลอมบางสิ่งที่เขาไม่เคยเข้าใจจากดนตรี ความรักที่ไม่มีอคติ ไม่มีการตัดสิน และไม่ห่อหุ้มด้วยชื่อเสียง
 

จากจุดสูงสุดของ Birth of the Cool สู่จุดเริ่มต้นของสิ่งที่เขาเรียกภายหลังว่า ‘blue period’ ช่วงเวลาแห่งความหม่นเทาที่กินเวลานานหลายปี การพบกับหญิงสาวผู้หนึ่งในเมืองแห่งเสรีภาพกลายเป็นเสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เขาไม่มีวันลืม

การเดินทางครั้งแรก กับจุดเริ่มต้นของเสรีภาพ

ไมล์ส เดวิส ได้รับการเชิญจากแฟนเพลงแจ๊ส อย่าง ‘อี๊ก ปานาสซีเย’ (Hugues Panassié)  และ ‘ชาร์ลส์ เดอโลเนย์’ (Charles Delaunay) ให้ไปร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีแจ๊สที่กรุงปารีส ซึ่งจัดขึ้นที่ ‘ซาลล์ เปลเยล’ (Salle Pleyel) หอแสดงดนตรีคลาสสิกที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยรายชื่อนักดนตรีในคณะ American All-Stars ครั้งนั้น ประกอบด้วย Kenny Clarke, Toots Thielemans, Sidney Bechet และนักดนตรีระดับพระกาฬอีกหลายคน 

สำหรับ ไมล์ส การเดินทางครั้งนี้เป็นมากกว่าทัวร์ดนตรี เขาเพิ่งอายุ 23 ปี เริ่มสร้างชื่อในหมู่แวดวงแจ๊สจากการร่วมวงกับ ‘ชาร์ลี พาร์คเกอร์’ (Charlie Parker) และมีงานบันทึกเสียงชุด Birth of the Cool กับวง nonet (9 ชิ้น) ที่เขาร่วมสร้างสรรค์แนวทางใหม่ในการเรียบเรียงเสียงประสาน ทุกอย่างน่าจะไปได้สวย แต่เขากลับพบว่า ตัวเองกำลังอยู่บนทางแพร่งของชีวิต

“ไม่มีความสุขเลย... ผมเริ่มใช้เฮโรอีน ทุกอย่างดูหม่นไปหมด” 

ในอเมริกา เขาเป็นทั้งดาวรุ่ง และเป้าหมายของการเหยียดผิวไปพร้อม ๆ กัน วันหนึ่งอาจได้รับเสียงปรบมือจากแฟนเพลงที่ไนท์คลับ Birdland แต่วันรุ่งขึ้น ไมล์ส อาจต้องขึ้นศาลหรือถูกตำรวจรังควานโดยไม่มีเหตุผล 

จากลูกชายของทันตแพทย์ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ไมล์ส เริ่มพบว่าตนเองเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง เขาไม่มีสิทธิ์ใช้บริการเหมือนคนขาวทั่วไป แม้ นิวยอร์ก ซิตี จะไม่มี ‘ป้ายห้าม’ เหมือนหัวเมืองทางใต้ แต่สถานประกอบการหรูในย่านแมนฮัตตัน อย่าง Waldorf Astoria หรือ Plaza Hotel ไม่ได้เปิดรับแขกผิวสีโดยตรง โดยใช้ข้ออ้างเชิงวัฒนธรรม หรือ ‘membership only’ ซึ่ง ไมล์ส กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งใน ‘Miles: The Autobiography’ ว่าเขาต้องให้ผู้จัดการผิวขาวจองห้องแทน เพื่อให้เข้าใช้บริการได้

การเดินทางไปปารีส จึงเหมือนการเปิดประตูไปสู่ชีวิตอีกแบบที่เขาไม่เคยสัมผัส เป็นครั้งแรกที่เขาเดินเข้าโรงแรมโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปฏิเสธเพราะสีผิว เป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกว่า “ไม่มีใครมองเขาเป็น ‘คนดำ’ แต่ทุกคนมองเขาเป็น ไมล์ส เดวิส’”

เมืองหลวงของฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เต็มไปด้วยชีวิต ศิลปะ คำถาม และการถกเถียงเรื่องอัตลักษณ์และเสรีภาพ การได้พบกับ จูเลียตต์ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญในเชิงวรรณกรรม แต่คือผลลัพธ์ของเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ตัดกันอย่างแม่นยำ

จูเลียตต์ เพิ่งเข้าสู่วงการเพลง และมีงานแสดงละครในคาเฟ่เล็กๆ เธอเคยเข้าร่วมขบวนการต่อต้านนาซีสมัยเป็นวัยรุ่น เป็นมิตรกับ ‘ฌอง-ปอล ซาร์ตร์’ (Jean-Paul Sartre) และ ‘ซิโมน เดอ โบวัวร์’ (Simone de Beauvoir) และมีบทบาทสำคัญในกลุ่มปัญญาชนฝ่ายซ้าย ที่ใช้วรรณกรรมและงานศิลปะเป็นอาวุธต่อสู้กับระบบกดขี่

ในช่วงเวลา 10 วันที่ ไมล์ส พำนักในปารีส เขาและ จูเลียตต์ ใช้เวลาอยู่ด้วยกันแทบทุกคืน แม้ทั้งสองจะไม่สามารถพูดภาษาเดียวกันได้ แต่ก็สื่อสารกันผ่านท่าทาง สายตา และความเงียบในห้องนั่งเล่นของเธอ

“เราคุยกันไม่รู้เรื่อง…แต่ไม่จำเป็นต้องพูด ก็เข้าใจกัน”

ไมล์ส เล่าว่า เขาไม่ต้อง “แกล้งเท่” หรือ “ระวังคำพูด” เวลาอยู่กับเธอ เขารู้สึกเป็นอิสระอย่างแท้จริง และในเวลานั้น เขายังไม่รู้เลยว่า เมื่อกลับอเมริกา เขาจะไม่ได้รู้สึกแบบนี้อีกเป็นเวลาหลายปี ทั้งนี้ ‘จอห์น ซเว็ด’ (John Szwed) เสริมไว้ในชีวประวัติของ ไมล์ ว่า การไปปารีสในครั้งนั้น “ทำให้ ไมล์ส รู้ว่ามีโลกที่ไม่ตั้งคำถามกับตัวตนของเขาอยู่จริง” และ จูเลียตต์ เป็นเสมือนประตูที่เปิดสู่โลกใบนั้น

จูเลียตต์ หญิงสาวจากโลกอีกใบ

จูเลียตต์ เกรโก ไม่ได้เป็นเพียงหญิงสาวที่สวยและมีเสน่ห์ แต่เธอคือภาพแทนของยุคสมัย ยุคที่ผู้หญิงสามารถยืนอยู่กลางวงนักคิดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากใคร และสามารถรักใครสักคน โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบของภาษา เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรม

เธอมีอายุเพียง 22 ปี แต่ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ลึกเกินวัย เธอเคยถูกคุมขังระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเพราะมีส่วนร่วมกับขบวนการต้านนาซี มารดาและพี่สาวของเธอถูกส่งไปยังค่ายกักกัน ที่ Ravensbrück ขณะที่ตัวเธอเองถูกจองจำที่ Fresnes Prison ก่อนจะได้รับอิสรภาพหลังสงคราม 

หลังพ้นจากความมืดของสงคราม จูเลียตต์ ใช้ชีวิตอยู่ในย่าน แซ็ง-แฌร์แม็ง-เดส์-เพรส์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมฝ่ายซ้ายและแนวคิดแบบ existentialist (อัตถิภาวะนิยม) เธอเป็นทั้งนักแสดง นักอ่านบทกวี และนักร้องในคาเฟ่เล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ เบียร์ราคาถูก และมีคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิต

ซาร์ตร์ เคยกล่าวถึง จูเลียตต์ ว่า มี “ล้านคำอยู่ในดวงตาของเธอ” และเคยแต่งเพลงให้เธอร้องในโชว์คาบาเร่ต์แรกอีกด้วย 

การที่หญิงสาวคนหนึ่งเติบโตจากนักโทษ สู่แรงบันดาลใจ (muse) ของนักคิดระดับโลก โดยไม่เคยยอมสยบต่ออำนาจใด ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ ไมล์ส เดวิส ซึ่งเคยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเดียวในการยืนยันตัวตน อดตกตะลึงไม่ได้

“เธอสวย… แต่ไม่ใช่แค่สวย เธอไม่เหมือนใคร เธอไม่ได้พยายามทำให้ใครประทับใจ”

จูเลียตต์ ไม่ได้รู้จักแจ๊สดีเป็นพิเศษ และไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ แต่เธอกลับสามารถทำให้ ไมล์ส รู้สึกสบายใจ จนไม่ต้อง “แกล้งเป็นตัวเอง” อีกต่อไป เขาไม่จำเป็นต้องโชว์ เขาไม่จำเป็นต้องป้องกันตนเองจากโลกที่ไม่เข้าใจเขา เพราะเธอเข้าใจเขา แม้จะไม่พูดภาษาเดียวกัน

จอห์น ซเว็ด วิเคราะห์ไว้ว่า ในบรรดาหญิงสาวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของไมล์ส ไม่มีใคร ‘สงบ’ ได้เท่า จูเลียตต์ เธอไม่ได้พยายามปรับตัวให้เป็น ‘แฟนแจ๊ส’ หรือ ‘เมียศิลปิน’ แต่ด้วยความเงียบ สายตา และจังหวะของตนเอง ทำให้ ไมล์ เห็นเธอเป็น ‘ผู้อยู่ร่วมโลกเดียวกัน’ อย่างเท่าเทียม ไม่มีคำว่าผู้ชายผิวดำ หรือผู้หญิงฝรั่งเศส  มีเพียงแค่คนสองคนที่พยายามเข้าใจชีวิตผ่านศิลปะ

จากคำบอกเล่าของ ไมล์ส นักคิดอย่าง ซาร์ตร์ เคยเสนอให้เขาแต่งงานกับ จูเลียตต์ แต่เขาปฏิเสธ ไม่ใช่เพราะไม่รักเธอ แต่เพราะรู้ว่าเมื่อกลับอเมริกา เขาจะไม่สามารถปกป้องเธอจากสังคมที่เต็มไปด้วยอคติทางเชื้อชาติได้

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ปารีส จึงไม่ใช่เพียงความรักแบบ ‘ฤดูร้อนชั่วคราว’ แต่คือการแลกเปลี่ยนวิถีชีวิตและการมองโลก เธอกลายมาเป็น ‘โลกอีกใบ’ ที่เขาไม่เคยลืม

ในมุมมองของ ไมล์ส ความรักครั้งนี้เป็นมากกว่าความหลงใหลทางกายภาพ ไม่ใช่เรื่องเล็กในชีวิตของชายหนุ่ม ผู้ซึ่งตลอดหลายปีต่อจากนั้น ได้ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเดียวในการแสดงออก และหลีกเลี่ยงการเปิดเผยอารมณ์ของตนต่อภายนอก

จอห์น ซเว็ด อธิบายว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ แตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่ ไมล์ส เคยคบหา ไม่มีใครดึงด้าน ‘soft’ ในตัวเขาออกมาได้เท่าเธอ เขาไม่ต้องแสดงความเกรี้ยวกราด ไม่ต้องควบคุม ไม่ต้องสร้างพลังเหนือใคร แต่กลับรู้สึกปลอดภัยพอที่จะ “อยู่เฉย ๆ” โดยไม่ต้องทำอะไร

สิบวันในปารีส กับชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม

ไมล์ส เดวิส พำนักอยู่ที่ปารีสประมาณสิบวันในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1949 เวลาสั้น ๆ ที่ในสายตาของคนนอกอาจเป็นเพียงแค่ช่วงพักจากตารางทัวร์ แต่ในความรู้สึกของเขา มันคือ ‘ชีวิตอีกรูปแบบ’ ที่ไม่มีใครเคยบอกว่าเป็นไปได้

“ที่ปารีส… ผมทำอะไรก็ได้ อยู่กับใครก็ได้ ไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำ ว่าผมมีสีผิวแบบไหน”

ผู้นำทางไปสู่โลกแบบนั้นคือ จูเลียตต์ เกรโก เขาได้ใช้เวลาเดินเล่นริมแม่น้ำแซน กินอาหารฝรั่งเศสในร้านเล็ก ๆ และอยู่กับผู้คนที่สนใจศิลปะและความคิด ได้พบกับ ซาร์ตร์ และสนทนาโดยมีล่ามช่วยแปล ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็น จูเลียตต์ ร้องเพลงที่แต่งโดยนักปรัชญาผู้นั้น ซึ่งนับเป็นการผสมผสานระหว่างบทกวี ความรัก และการเมือง ที่เขาไม่เคยพบมาก่อน 

“เขาทำกับผมเหมือนผมเป็นคน พอกลับมาอเมริกา…ทุกอย่างมันพังหมด”

เมื่อถึงวันเดินทางกลับ ไมล์ส ไม่อยากกลับ แต่เขาต้องไป ทั้งจากความรับผิดชอบในครอบครัว และเพราะเขารู้ว่าตัวเองยังไม่ได้หยุดเสพเฮโรอีน แม้ตอนอยู่ปารีสจะควบคุมตนเองได้ดี แต่เขารู้ว่า ถ้าอยู่นานกว่านั้น อาจมีใครสังเกตเห็นร่องรอยของมัน 

ไมล์ส ยอมรับว่า เขาเศร้าหมองทันทีที่เครื่องบินลงจอดที่อเมริกา

“ผมซึมลึก… ไม่คิดเลยว่าความรู้สึกมันจะถาโถมแบบนั้น”

การกลับเข้าสู่บริบทเดิมในอเมริกา ซึ่งเต็มไปด้วยการแบ่งแยก ความรู้สึกไร้ค่า และสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเสพยา ทำให้ประสบการณ์ในปารีส ดูเป็นเหมือน ‘ฝัน’ ที่ไม่สามารถมีอยู่จริงในชีวิตประจำวันของชายผิวดำในสหรัฐอเมริกา 

จากความเบิกบานในเมืองแห่งเสรีภาพ สู่ความหม่นในอเมริกาหลังสงคราม จากการถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม สู่การถูกปฏิเสธสิทธิมนุษยชน จากการได้สัมผัสความรักที่บริสุทธิ์ สู่ความเหงาและการใช้ยา

นั่นเอง คือจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์ดนตรี เรียกว่า blue period ช่วงเวลาหลายปีหลังจากนั้นที่เขาดำดิ่งทั้งทางจิตใจและร่างกาย สร้างผลงานที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์อัดอั้นและความรู้สึกที่ไม่อาจอธิบายด้วยคำพูด

จูเลียตต์ เกรโก ไม่ได้เป็นแค่คนรักในความทรงจำของเขา เธอคือกระจกที่สะท้อนภาพของโลกที่ไมล์สอาจมี ถ้าเขาไม่เกิดมาเป็นผิวสี ในประเทศนั้น และในเวลานั้น

พบกันอีกครั้ง... ในโลกที่เปลี่ยนไป

หลายปีผ่านไปหลังจากการพบกันในปารีส จูเลียตต์ เกรโก เดินทางไปนิวยอร์ก พร้อมกับชื่อเสียงที่ขจรขจาย ซึ่งมาจากผลงานทั้งการร้องเพลงและการแสดงภาพยนตร์ เธอเคยพูดในภายหลังว่า “ไมล์ส เดวิส ไม่ใช่แค่คนรัก แต่คือผู้ชายที่ทำให้ฉันเข้าใจว่า เสรีภาพมีอยู่จริง”

ครั้งนั้น เธอเดินทางไปที่ไนท์คลับ Birdland ซึ่ง ไมล์ส และสมาชิกวงของเขากำลังเล่นอยู่ เธอเชิญเขาและเพื่อนร่วมวงไปรับประทานอาหารค่ำที่ห้องสวีทใน Waldorf Astoria  โรงแรมหรูใจกลางแมนฮัตตัน (ที่เคยห้ามคนผิวสีเข้าพักในอดีต) แม้ในเวลานั้น ข้อจำกัดเหล่านี้จะเริ่มคลายตัว แต่ภาพจำของ ไมล์ส กลับไม่ได้เปลี่ยนตามไปด้วย

ในช่วงค่ำ พวกเขารับประทานอาหาร พูดคุย และเหมือนจะกลับมาใกล้ชิดกันได้อีกครั้ง แต่เวลาเช้าตรู่ในวันรุ่งขึ้น ไมล์ส โทรหา จูเลียตต์  ด้วยน้ำเสียงจริงจัง พร้อมประโยคที่เขาไม่เคยลืม

“อย่าให้ใครเห็นว่าคุณอยู่กับผม ผมไม่อยากให้ใครเรียกคุณว่าอีตัวของนิโกร”

ไม่ใช่เพราะเขารังเกียจเธอ แต่เพราะเขา ‘กลัว’ กลัวว่าสังคมอเมริกันจะทำร้ายเธอ เพราะอยู่ใกล้เขา เกินกว่า ‘ระยะที่ปลอดภัย’ ในยุคที่ความสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติยังเป็นข้อห้ามทางสังคม

จูเลียตต์ ถึงกับร้องไห้ด้วยความโกรธและไม่เข้าใจ ไมล์ส ในเวลานั้น ได้กลับไปสู่นิสัยเย็นชา เขาไม่ได้อธิบาย ไม่ได้ขอโทษ และไม่เคยติดต่อเธออีกเลย

“ผมไม่รู้จะบอกเธอยังไง… อเมริกาไม่เปิดที่ให้เธอรักคนแบบผม”

ในมุมของ จูเลียตต์ เธอแทบไม่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในหนังสือ ‘Jujube’ นอกจากเพียงหน้าเดียวที่บอกว่า ทั้งสองพบกันในนิวยอร์ก และต่างคนต่างเดินจากกัน โดยไม่ได้เอ่ยคำอำลา

ทั้งสองคนต่างเจ็บปวดกับการพบกันครั้งนั้น เป็นการยืนยันว่า ‘ปารีส’ ที่พวกเขาเคยมีร่วมกัน คือพื้นที่พิเศษในจักรวาล ซึ่งไม่มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง

ในช่วงเวลาหลังจากนั้น แม้ ไมล์ส จะมีคู่รักอีกหลายคน อาทิ Cicely Tyson, Frances Taylor, Betty Davis แต่ไม่มีใครที่เขาพูดถึงด้วยความรู้สึก ‘เสียดาย’ และ ‘ยอมแพ้’ เท่ากับ จูเลียตต์ เกรโก 

เธอเคยกล่าวในภายหลังว่า “เขาคิดว่าเขาต้องปกป้องฉัน แต่ฉันไม่เคยต้องการให้ใครปกป้อง ทั้งหมดที่ฉันอยากทำ… คือรักเขา”

และสำหรับ ไมล์ส เดวิส การบอกให้เธอ ‘อย่า’ เดินเคียงข้างเขา ในห้องสวีทที่นิวยอร์ก คือบทเรียนหนึ่งในชีวิต ที่เขาไม่เคยให้อภัยตัวเองได้เลย

หญิงสาวในความทรงจำ 

หลังจากการพบกันอีกครั้งที่นิวยอร์กในต้นทศวรรษ 1950s ทั้งคู่ต่างแยกย้ายไปตามเส้นทางของตนเอง ไมล์ส จมลึกลงสู่การเสพเฮโรอีนและภาวะซึมเศร้า ขณะที่ จูเลียตต์ พุ่งขึ้นสู่การเป็นนักร้องหญิงระดับแนวหน้าของฝรั่งเศส

ในอัตชีวประวัติของไมล์ เดวิส ชื่อของ จูเลียตต์ ปรากฏตัวเพียงสองสามหน้า แต่ทุกคำที่กล่าวถึงเธอ เต็มไปด้วยน้ำหนักทางอารมณ์ ไมล์ส เรียกเธอว่า “ผู้หญิงคนแรกที่สอนให้ผมรู้จักความรักนอกเหนือจากดนตรี” และยังบรรยายความรู้สึกผิดลึก ๆ หลังจากผลักไสเธอในนิวยอร์ก 

ไมล์ส พูดถึงช่วงหลังจากกลับจากปารีสว่า เขาเคยดูภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่องหนึ่งที่ จูเลียตต์ แสดง และเห็นภาพของตัวเขา เป็นภาพจริง ๆ ของเขาที่เธอใส่ไว้บนโต๊ะเครื่องแป้งของตัวละครที่เธอรับบท แม้จะไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าเป็นเรื่องใด แต่เขาเชื่อว่า “นั่นคือข้อความจากเธอ” 

จูเลียตต์เอง ก็ไม่เคยพูดถึง ไมล์ส มากนัก ในหนังสือ Jujube เธอกล่าวถึงเขาเพียงหน้าเดียวเท่านั้น แม้ผู้สัมภาษณ์หลายคนจะพยายามถามถึงความสัมพันธ์อันโด่งดังของเธอกับนักดนตรีแจ๊สผู้ยิ่งใหญ่คนนี้

“เราไม่มีภาษาเดียวกัน… แต่บางที ภาษานั่นแหละคือปัญหา” เธอเคยให้สัมภาษณ์ใน Le Monde 

บางครั้ง ความสัมพันธ์ที่ลึกที่สุดอาจเป็นความสัมพันธ์ที่อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ และเพราะเหตุนี้ บางที ไมล์ส และ จูเลียตต์ จึงไม่สามารถเขียนถึงกันมากไปกว่านั้น

จอห์น ซเว็ด วิเคราะห์ว่า “ความสัมพันธ์ครั้งนี้ คือความทรงจำที่ไม่มีรูปทรงชัดเจน แต่วางอยู่ในแก่นความคิดของ ไมล์ส ตลอดชีวิต” เพราะ ไมล์ส ยังคงถามถึงเธอกับเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่พบเจอ และยังฟังเพลงของเธอ แม้จะไม่เข้าใจคำร้องก็ตาม

ช่วงปลายทศวรรษ 1970s และต้น 1980s ทั้งสองกลับมาพบกันอีกครั้งในปารีส แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ได้พูดคุยกันลึกซึ้งเพียงใด มีเพียงรายงานจากเพื่อนสนิทของ จูเลียตต์ ว่าเธอเคยพูดว่า “วันหนึ่ง เขาจะเล่นเพลงให้ฉันฟังคนเดียว... และทอดไก่ให้ฉันกิน”

ท่อนโซโล่ที่ไม่มีวันจางหาย

ความสัมพันธ์ระหว่าง ไมล์ส เดวิส กับ จูเลียตต์ เกรโก ไม่เคยถูกบรรจุลงในเพลง ไม่มีชื่อของเธอในชื่อแทร็ก ไม่มีบทกวีใดที่อุทิศให้เธออย่างตรงไปตรงมา ไม่มีแม้แต่คำอธิบายเต็มบรรทัดในงานเขียนของพวกเขา

แต่หากฟังให้ลึกลงไปในช่องว่างระหว่างโน้ต ในเสียงแหลมสูงของทรัมเป็ตที่พุ่งขึ้นแล้วจางหาย ในช่วงเงียบของเพลง Blue in Green หรือโซโล่ที่เหมือนกำลังคุยกับใครบางคนที่ไม่มีตัวตนบนเวที เราอาจพบชื่อของเธออยู่ในนั้น

ช่วงเวลาสิบวันในปารีส ปี 1949 ไม่ใช่แค่ ‘ความรักชั่วคราว’ แต่คือโลกที่น่าจะเป็น โลกที่ชายผิวดำผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และรับรู้ได้ถึงคุณค่าของเสรีภาพ ผ่านมุมมองของหญิงสาวคนหนึ่ง

เธอไม่ได้เป็นนักร้องแจ๊ส เธอไม่ได้แต่งงานกับเขา เธอไม่ได้เขียนเพลงให้เขา หรือเขียนถึงเขาในหนังสือเกินกว่าหน้าเดียว

แต่เธอทำให้เขารู้ว่า เขาเป็นมากกว่า ‘นักดนตรีผิวสี’ เขาเป็น ‘มนุษย์’ ที่มีค่าพอที่จะได้รับความรัก

ในโลกที่เสียงดนตรีคือ ‘ภาษาหลัก’ ของนักทรัมเป็ตผู้ปฏิวัติวงการแจ๊ส จูเลียตต์ คือภาษาที่เขาไม่เคยพูดได้ แต่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่มีวันลืม

บางความสัมพันธ์ไม่เคยกลับมาบรรจบ แต่ไม่เคยจางหายไปจากชีวิต เหมือนท่อนโซโล่ของบทเพลงที่บรรเลงเพียงครั้งเดียว แต่ยังดังก้องในความเงียบไปตลอดกาล

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์ 
ภาพ: Getty Images 


ที่มา:
     Davis, Miles, and Quincy Troupe. Miles: The Autobiography. Simon & Schuster, 1989.
     Szwed, John. So What: The Life of Miles Davis. Random House, 2012.
Gréco, Juliette. Jujube. Flammarion, 1982.
     “Juliette Gréco and Miles Davis, the Impossible Love Story.” France-Amérique, 24 Sept. 2020, www.france-amerique.com/en/juliette-greco-and-miles-davis-the-impossible-love-story/