‘เฮอร์แบร์ท ฟอน คารายาน’ อำนาจแห่งเสียงและความสมบูรณ์แบบ

‘เฮอร์แบร์ท ฟอน คารายาน’ อำนาจแห่งเสียงและความสมบูรณ์แบบ

‘เฮอร์แบร์ท ฟอน คารายาน’ นักปั้นจักรวาลดนตรีคลาสสิกแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้สร้างมาตรฐานความสมบูรณ์แบบ แม้ผ่านไป 30 ปี เสียงของเขายังคงก้องกังวานไม่เสื่อมคลาย

KEY

POINTS

  • Karajan Sound: เสียงที่ถูกควบคุมทุกมิติอย่างสมบูรณ์แบบ จนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่สร้างทั้งความชื่นชมและข้อวิจารณ์ว่าขาดความเป็นธรรมชาติ
  • วาทยกรผู้เปลี่ยนตัวเองเป็นแบรนด์: คารายานไม่เพียงควบคุมวงออร์เคสตรา แต่ควบคุมทุกขั้นตอนการบันทึกเสียง ตั้งแต่การวางไมค์ไปจนถึงการออกแบบปกอัลบั้ม จนเปลี่ยนศิลปินให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์
  • มรดกทางเสียงที่ไม่มีวันตาย: แม้เสียชีวิตไปกว่า 30 ปี เสียงของคารายานยังถูกนำมารีมาสเตอร์และจำหน่ายซ้ำในรูปแบบต่างๆ ด้วยยอดขายกว่า 200 ล้านแผ่น จนกลายเป็นศิลปินดนตรีคลาสสิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

แม้เวลาจะล่วงเลยไปกว่า 30 ปีนับแต่เขาเสียชีวิต แต่ชื่อเสียงของ ‘เฮอร์แบร์ท ฟอน คารายาน’ (Herbert von Karajan 1908 - 1989) ยังคงปรากฏอยู่เสมอในแวดวงดนตรีคลาสสิก ทั้งในร้านแผ่นเสียง ห้องสมุดมหาวิทยาลัย และแพลตฟอร์มดิจิทัลแทบทุกแห่งบนโลก 

อาจจะกล่าวได้ว่า ในบรรดาวาทยกรร่วมศตวรรษที่ผ่านมา ไม่มีใครที่มีผลงานบันทึกเสียงจำนวนมากเทียบเท่าเขา ข้อมูลของ Classic FM ระบุว่า คารายาน เป็นศิลปินดนตรีคลาสสิกที่มียอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์การบันทึกเสียง ด้วยยอดขายมากกว่า 200 ล้านแผ่น และมีผลงานบันทึกเสียงมากกว่า 800 รายการ เมื่อเปรียบเทียบกับวาทยกรร่วมยุค เช่น เบอร์นาร์ด ไฮติงค์ (Bernard Haitink) และเซอร์ เนวิลล์ มาร์ริเนอร์ (Sir Neville Marriner) ซึ่งมีผลงานบันทึกเสียงจำนวนมาก ก็ยังมีจำนวนน้อยกว่า

ในหนังสือ ‘The Life and Death of Classical Music’ นักวิจารณ์ฝีปากคม ‘นอร์แมน เลอเบรคท์’ (Norman Lebrecht) เปรียบ คารายาน ไว้ในเชิงก้ำกึ่ง ทั้งยกย่องและเสียดสีในเวลาเดียวกัน คารายาน คือผู้ที่ทำให้ค่ายเพลง ‘Deutsche Grammophon’ ฟื้นตัวจากความซึมเซา และเป็นคนที่เปลี่ยนสถานภาพของวาทยกร จาก ‘ศิลปิน’ ให้กลายเป็น ‘แบรนด์’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

บางคนยกย่องเขา ในฐานะผู้สร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการแผ่นเสียง แต่บางคนก็สั่นหัวทันทีที่ได้ยินเสียงซิมโฟนีของเบโธเฟนในแบบฉบับที่ถูกขัดเกลาอย่างหมดจดเหนือมนุษย์

เพราะ คารายาน ไม่เพียงแค่อำนวยการบรรเลงของวงออร์เคสตรา แต่เขาควบคุมรายละเอียดต่าง ๆ ของการบันทึกเสียง ตั้งแต่ออกแบบการวางไมค์ มิติความแจ่มชัดของเสียง ไปจนถึงขั้นตอนการออกแบบปกอัลบั้ม นอกจากนี้ เขายังเคยไล่โปรดิวเซอร์ที่เผลอไปทักทายสนิทสนมแบบ ‘ล้ำเส้น’ คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า เขาควบคุมทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ‘เสียง’ จนไม่มีพื้นที่เหลือให้แก่โชคชะตาหรือความผิดพลาด

นักวิจารณ์ร่วมยุค อย่าง ‘อเล็กซ์ รอสส์’ (Alex Ross) ชี้ว่า คารายาน คือผู้ที่ “ยกระดับการบันทึกเสียงจากกระบวนการทางเทคนิค ให้กลายเป็นโครงสร้างทางความคิดที่มีจุดมุ่งหมายสูงส่ง” เสียงของเขาถูกจัดวางอย่างมีแบบแผน ราวกับการออกแบบ ‘วิหารทางเสียง’ ที่ไม่มีรอยรั่ว

คารายาน ก้าวออกจาก ‘วาทยกรที่ยิ่งใหญ่’ ไปสู่ฐานะ ‘ผู้ประกอบการทางเสียง’ ที่เปลี่ยนห้องอัดให้กลายเป็นโรงงาน เปลี่ยนซิมโฟนีให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ และเปลี่ยนประสบการณ์การฟัง ให้กลายเป็นสิ่งที่ทำซ้ำได้ด้วยความแม่นยำ

จากเวทีแสดงสดสู่สตูดิโอ

ต้นทศวรรษ 1960s เฮอร์แบร์ท ฟอน คารายาน เริ่มเผชิญแรงเสียดทานจากหลายสถาบันใหญ่ในยุโรป จนในปี 1964 เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของโรงอุปรากรแห่งรัฐเวียนนา อันเป็นผลจากความขัดแย้งในการบริหารและเสียงวิจารณ์ถึงความเป็นเผด็จการทางดนตรี ที่มองว่า คารายาน กำลังขยายอำนาจเกินขอบเขตของศิลปะ

เขาหันมาให้ความสำคัญในการร่วมงานกับวง ‘Berlin Philharmonic’ และค่าย Deutsche Grammophon (DGG) อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเปลี่ยนห้องอัดเสียงให้กลายเป็นพื้นที่ควบคุมอำนาจทางศิลปะ อย่างที่ไม่มีวาทยกรคนใดเคยทำมาก่อน
 

ภายใต้ความร่วมมือกับ DGG คารายาน เริ่มโปรเจกต์บันทึกเสียงซิมโฟนีของเบโธเฟนแบบเต็มชุดเป็นครั้งที่สอง (เบโธเฟนเต็มชุดครั้งแรกของคารายาน ทำกับค่าย EMI ช่วงกลางทศวรรษ 1950s) โดยมีเงื่อนไขว่า เขาจะควบคุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การบรรเลงไปจนถึงการตัดต่อเสียง และยังมีสิทธิ์ตรวจสอบ ‘ปกซีดี’ ก่อนเผยแพร่ สะท้อนถึงบทบาทของเขาในฐานะเจ้าของแบรนด์ ดังที่ เลอเบรคท์ เปรียบเปรยว่าเป็น ‘Karajan, Inc.’ 

ในสายตาของนักเขียนแนวชีวประวัติ อย่าง ‘ริชาร์ด ออสบอร์น’ (Richard Osborne) ผู้เขียน ‘Karajan: A Life in Music’ มองว่า คารายานไม่ใช่แค่ผู้นำวง แต่เป็น ‘สถาปนิกของระบบเสียง’ เขาออกแบบโครงสร้างการควบคุมใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกช่างเสียงไปจนถึงการคุมสปอตไลต์ในห้องอัด เพื่อให้การบันทึกเสียง ไม่ใช่แค่การ “เก็บเสียงการแสดง” แต่กลายเป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ที่มีชีวิตของมันเอง

ขณะเดียวกัน วง Berlin Philharmonic ภายใต้การนำของเขา ก็กลายเป็น ‘เครื่องจักรเสียงชั้นเยี่ยม’ ที่พร้อมตอบสนองคำสั่งด้วยความเคารพต่อแบบแผนที่ถูกออกแบบอย่างละเอียดลออ ในแง่ของธุรกิจ DGG รู้ดีว่าการปล่อยให้ คารายาน ควบคุมทุกอย่าง คือการลงทุนที่ได้ผลในระยะยาว เพราะ ‘ชื่อเสียงของเขา’ สามารถขายได้ทั่วโลก และทำให้คนที่ไม่เคยฟังดนตรีคลาสสิกมาก่อน ปรารถนาจะมีอัลบั้มซิมโฟนีของเบโธเฟนสะสมเป็นของตัวเองบ้าง

ในช่วงทศวรรษ 1960s ถึง 1980s คารายาน จึงกลายเป็นทั้งวาทยกร นักบันทึกเสียง และผู้วางแผนการตลาดในคนเดียวกัน

เขาไม่ได้ละทิ้งเวที เขาเพียงแค่เปลี่ยนเวทีให้มาอยู่ภายใต้ไมโครโฟน ที่ควบคุมได้ทุกลมหายใจ ไม่ปล่อยให้เสียงใดเล็ดรอดไปโดยปราศจากการตรวจสอบ 

อำนาจของการควบคุมสะท้อนออกมาแม้กระทั่งความสัมพันธ์เชิงมนุษย์ ที่บังเอิญไปท้าทายศักดิ์ศรีและบารมีของเขา 

กรณีเลื่องชื่อที่สุด คือครั้งที่โปรดิวเซอร์ ‘อ็อตโต แกร์เดส’ (Otto Gerdes) ทักทายเขาด้วยคำว่า “Herr Kollege” (ท่านเพื่อนร่วมอาชีพ) คารายานนิ่งเพียงครู่เดียว แล้วไล่ แกร์เดส ออกจากห้องอัดในวันนั้นทันที เพราะมองว่าคำทักทายนี้คือการก้าวล้ำศักดิ์ศรี  

นี่คือคำร่ำลือกันปากต่อปากในวงการดนตรีคลาสสิก ไม่มีหลักฐานชัดแจ้งว่า คารายาน ไล่ อ็อตโต ออกจริงหรือไม่ แต่ในบันทึกของ ออสบอร์น กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งในช่วงกลางทศวรรษ 1960s ว่า อ็อตโต แกร์เดส (ซึ่งโดยส่วนตัวใฝ่ฝันจะเป็นวาทยกร) ได้แวะกลับเข้าที่ห้องอัด หลังเสร็จสิ้นจากการอำนวยเพลงที่อื่น แล้วเอ่ยทักทาย คารายาน ด้วยคำว่า “My dear colleague” คำทักทายนั้น ทำให้ แกร์เดส หลุดออกจากตำแหน่งโปรดิวเซอร์ในเวลาต่อมา

บุคคลที่มาแทนที่ คือ ‘ฮันส์ เวเบอร์’ (Hans Weber) ซึ่งกลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ประจำของ คารายาน ไปอีกหลายทศวรรษ

Karajan Sound เสียงที่ไร้รอยขีดข่วน

ไม่มีวาทยกรคนใดในศตวรรษที่ 20 ที่สร้างผลงานที่น่าจดจำได้มากเท่า เฮอร์แบร์ท ฟอน คารายาน และก็ไม่มีเสียงใดที่ถูกวิจารณ์หนักเท่า Karajan Sound เช่นกัน

เสียงแบบคารายาน มีความอิ่มแน่น สะอาดหมดจด จัดวางชั้นเสียงอย่างสมดุล ราวกับกำกับด้วยไม้บรรทัด กลายเป็นเครื่องหมายการค้า และในขณะเดียวกันก็เป็นข้อครหาที่ยืนนานที่สุดในชีวิตการทำงานของเขา

เลอเบรคท์ ไม่ลังเลที่จะเปิดศึกกับเรื่องนี้ เขาเขียนอย่างชัดเจนว่า Karajan Sound คือเสียงที่ขาดความเป็นธรรมชาติ และเป็น ‘เครื่องสำอางทางเสียง’ ที่กลบร่องรอยความเปราะบางของมนุษย์ เพราะ คารายาน ไม่ได้มองดนตรีเป็นสนามของการทดลอง เขามองเป็นพื้นที่ที่ต้องสถาปนาอุดมคติขึ้นมา สิ่งนั้นจักต้องไม่มีรอยขีดข่วน และไม่มีน้ำเสียงของความไม่พร้อมเพรียง

ในกรณีของ ‘Vivaldi’s Concerto alla rustica’ บทเพลงที่ควรจะมีชีวิต มีจังหวะโลดเต้นอย่างสามัญชนอิตาเลียน กลับถูกบรรเลงโดย คารายาน  ให้ฟังเหมือนเครื่องยนต์ราคาแพง 

“Concerto alla rustica ของ วิวาลดี ฟังดูชนบทพอ ๆ กับเสียงเครื่องยนต์เมอร์เซเดส”

เลอเบรคท์ อธิบายด้วยน้ำเสียงประชดประชัน ว่าการตีความของ คารายาน นั้น “ปรุงแต่งเกินไป” แทนที่ดนตรีจะเปล่งความเรียบง่ายแบบบ้าน ๆ ตามชื่อ alla rustica กลับถูกทำให้หรูหรา แข็งแรง และโฉบเฉี่ยว ราวกับแบรนด์รถยนต์ระดับพรีเมียมของเยอรมนี กลายเป็นเสียงที่ทรงพลัง เนี้ยบ เงางาม และขับเคลื่อนได้ดี แต่ไม่มีฝุ่น ไม่มีดิน ไม่มีความสดของไร่หรือฟางแห้งเหลืออยู่เลย

ส่วน ‘Adagio’ ของ ‘อัลบิโนนี’ (Albinoni) บทเพลงเศร้าที่มักสะกิดความเปราะบางในใจผู้ฟัง เมื่อผ่านมือคารายาน กลับฟังเหมือน “มินิมอลลิสม์ที่กินยาคลายเครียด” นี่ไม่ใช่ดนตรีของคนที่เจ็บปวด แต่นี่คือดนตรีของระบบที่จัดการความเจ็บปวดด้วย ‘เสียงที่ปลอดภัย’ สะอาดเกินไป และสงบเกินไป

มรดกที่ไม่มีวันตาย หรือแค่รีไซเคิล?

วันที่ เฮอร์แบร์ท ฟอน คารายาน เสียชีวิตในปี 1989 วงการดนตรีคลาสสิกสูญเสียวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจเสียงของเขาเพิ่งเริ่มต้นใหม่

เพียงไม่กี่เดือนหลังพิธีศพ Deutsche Grammophon ประกาศเปิดตัว ‘Karajan Collection’ ชุดแรก พร้อมโฆษณาว่า “นี่คือมรดกแห่งศตวรรษที่ 20” ตามมาด้วย Karajan Gold, Karajan Adagio, Karajan Forever และในเวลาต่อมา Karajan Express 

คำว่า ‘คารายาน’ ไม่ได้เป็นเพียงชื่อวาทยกรอีกต่อไป แต่กลายเป็น ‘แบรนด์’ ที่นำมารีไซเคิลได้ตลอดกาล

เลอเบรคท์ วิจารณ์ว่า สิ่งที่อุตสาหกรรมทำกับชื่อของ คารายาน หลังจากเขาเสียชีวิต ไม่ต่างอะไรกับการทำให้ “ศิลปินกลายเป็นคลังสินค้า” เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่ แต่ระบบที่เขาวางไว้ยังทำงานต่อเนื่อง โดยมีปุ่ม Remastered และ Reissued เป็นพระเอก

ยอดขายของ คารายาน ยุคหลังมรณกรรม ‘สูงกว่า’ ยุคที่เขายังมีชีวิตอยู่ในบางประเทศ โดย ‘Universal Music’ (เจ้าของแบรนด์ DGG) ใช้ชื่อของคารายานเป็นเครื่องมือเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยฟังซิมโฟนีทั้งชุดมาก่อน โดยจับเสียงของเขามาบรรจุลงในชุดรวมเพลง Adagio หรือ Meditation Classics ซึ่งถูกจัดเรียงใหม่ให้เหมาะกับการฟังในรถ หรือในสปา

ในช่วงต้นของสหัสวรรษใหม่ ขณะที่ค่ายเพลงหลายแห่งเริ่มล่มสลายจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล เสียงของคารายานยังเดินทางต่อราวกับไม่มีอะไรเปลี่ยน บางคนบอกว่า คารายาน คือผู้พิสูจน์ว่า การควบคุมอย่างสมบูรณ์แบบ สามารถคงอยู่เหนือกาลเวลา แต่บางคนก็เปรียบว่า เป็น ghost in the machine วิญญาณที่ถูกเล่นซ้ำ โดยไม่มีใครรู้ว่าเสียงนั้นเคยมีลมหายใจมาก่อน

ในโลกที่ดนตรีคลาสสิก กลายเป็นเพียง ambient ของร้านกาแฟ เสียงของคารายานยังคงเงียบขรึม สง่างาม และไร้ที่ติ

คารายานกับบาดแผลจิตใจหลังสงคราม

‘จอห์น คัลชอว์’ (John Culshaw) ผู้เป็นตำนานในแวดวงโปรดิวเซอร์โอเปร่า และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานชุด ‘Der Ring des Nibelungen’ ของ ‘วากเนอร์’ (Wagner) โดยร่วมกับวาทยกร ‘จอร์จ ซอลติ’ (Georg Solti) เคยระบุใน Putting the Record Straight หนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า 

“คารายานเติมเต็มช่องว่างที่เหลือจากการตายของฮิตเลอร์ ในส่วนหนึ่งของจิตสำนึกแบบเยอรมันที่โหยหาผู้นำ”

เป็นการวิเคราะห์ระดับจิตวิทยามวลชน ที่ชี้ให้เห็นว่า ความเคารพ ความเงียบ ความสยบยอม และการคลั่งไคล้แบบไม่มีคำถาม ที่รายล้อม คารายาน  ตลอดชีวิตการทำงาน อาจไม่ได้เกิดจากความสามารถทางดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความว่างเปล่าที่คนเยอรมันในยุคหลังสงครามไม่สามารถเติมเต็มได้

ในช่วงที่เยอรมนียังแบกความผิดของสงครามโลกไว้บนบ่า คารายาน กลายเป็น ‘ผู้นำที่ไม่มีการเมือง’ การอำนวยเพลงของเขา ค่อย ๆ กลายเป็นพิธีกรรมที่สอดคล้องกับจิตวิญญาณของการฟื้นฟูประเทศ คัลชอว์ ไม่ได้กล่าวหาว่า คารายาน คือผู้สืบทอดแนวคิดแบบเผด็จการ แต่เขาแสดงให้เห็นว่า เราไม่อาจเข้าใจความนิยมที่มีต่อของ คารายาน ได้เลย หากไม่มองผ่านแว่นของ ‘วัฒนธรรมเยอรมันในภาวะโหยหาเสถียรภาพ’

เสียงสุดท้าย ปลายลมหายใจ

เสียงของ เฮอร์แบร์ท ฟอน คารายาน ตลอดหลายทศวรรษ คือเสียงที่ไร้ที่ติ เสียงที่ถูกวางอยู่ในกรอบอย่างมั่นคง ไม่มีคำว่า ‘บังเอิญ’ หรือ ‘ผิดพลาด’ ผ่านไปถึงผู้ฟัง แต่ในปีสุดท้ายของชีวิต กลับมีบางอย่างสั่นคลอน

การแสดงสดบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 7 ของ ‘อันตัน บรูคเนอร์’ (Anton Bruckner) กับวง Berlin Philharmonic ณ Grosser Musikvereinssaal ในกรุงเวียนนา ปี 1989 นั้น ผิดแผกไปจากเสียงของคารายานที่เรารู้จัก ไม่มีความเนี๊ยบเป๊ะ ไม่ดึงดัน ไม่มีพลังแบบเดิม แต่กลับเต็มไปด้วยความเปราะบาง

“ดูเหมือนเขาจะกำลังแสดงให้เห็นว่า ความไม่สมบูรณ์แบบ เป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชีวิต... ความเศร้าและความคร่ำครวญไม่ใช่สิ่งงดงาม”

คารายาน กำลังป่วยหนัก เขาทราบดีว่าเวลาบนโลกใกล้หมดลง และในเสียงสุดท้ายที่เขายอมปล่อยออกมานั้น เขาไม่ได้ขัดเกลามันเหมือนอย่างที่เคย

เลอเบรคท์ เชื่อว่า คารายาน ในวาระสุดท้าย ไม่ได้มองความสมบูรณ์แบบอีกต่อไป ไม่ได้ห่อเสียงไว้ด้วยแสงทอง หรือบีบให้ทุกรายละเอียดอยู่ในร่องเสียงเดียวกัน แต่กลับปล่อยให้มัน ‘เป็นไป’ อย่างช้า ๆ อย่างเจ็บปวดและสัตย์ซื่อ

สำหรับชายผู้ควบคุมเสียงมาตลอดชีวิต นั่นอาจเป็น ‘ความกล้าหาญที่สุด’ ที่เขาเคยทำ

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์

ภาพ: Getty Images 

ที่มา:

      Lebrecht, Norman. The Life and Death of Classical Music: Featuring the 100 Best and 20 Worst Recordings Ever Made. Anchor Books, 2007.
-Osborne, Richard. Herbert von Karajan: A Life in Music. Chatto & Windus, 1998.
     Ross, Alex. The Rest Is Noise: Listening to the Twentieth Century. Farrar, Straus and Giroux, 2007.
     Culshaw, John. Putting the Record Straight. New York: Viking Press, 1982, p. 195.