06 ธ.ค. 2566 | 16:41 น.
- หนึ่งอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตในโลกดนตรีของน้าหมูคือการที่พ่อของเขาทำงานเป็นพนักงานเติมน้ำมันในแคมป์ทหารจีไอ
ในเวลานั้น- หลังจากน้าหมูเดินสายแสดงคอนเสิร์ตกับวงคาราวาน เขาได้สัมผัสผู้คนมากมาย ได้พบโลกที่กว้างมากขึ้น จึงตระหนักถึงความจริงอันน่าขมขื่นของสังคม และเริ่มมองว่า ‘การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว’
- น้าหมูตั้งใจแน่วแน่ว่าจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนทุกคนที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำและความไม่ยุติธรรมจากการบริหารของรัฐบาลและนักการเมือง เขาตัดสินใจอุทิศตนเป็น ‘นักดนตรีเพื่อชีวิต’ ตั้งแต่นั้นมา
‘พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ’ หรือที่แฟนเพลงเรียกอย่างคุ้นเคยว่า ‘น้าหมู’ เคยเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีเพื่อชีวิตระดับตำนาน ทั้ง ‘คาราวาน’ และ ‘คาราบาว’ ซึ่งสองวงที่กล่าวมา ถือเป็นวงผู้บุกเบิกดนตรีเพื่อชีวิตของประเทศไทย
ไม่เพียงแต่เป็นนักร้อง นักดนตรี และกวีแนวเพื่อชีวิต น้าหมูยังรับหน้าที่เป็น ‘โฆษก’ คอยพูดคุยและสร้างสีสันบนเวที ด้วยเพราะเป็นคนเฮฮา พูดเก่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นเดียวกับวิธีการแต่งเพลงที่โดดเด่นจากการนำดนตรีพื้นบ้านอย่าง ‘เพลงโคราช’ มาผสมผสานกับแนวเพลงตะวันตกได้อย่างลงตัว บวกกับเนื้อหาเพลงที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ ทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมไปกับบทเพลง
ซึ่งถ้าหากได้รับรู้เรื่องราวของศิลปินเพื่อชีวิตระดับตำนานผู้นี้ เราจะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาจึงเข้าอกเข้าใจคนรากหญ้า และไม่ชื่นชอบความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม
ชีวิตวัยเด็กของน้าหมู พงษ์เทพ
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (ชื่อเล่น หมู) เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2496 ที่จังหวัดนครราชสีมา เขาเติบโตในหมู่ ‘บ้านหัวเลิง’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการบันเทิง ชาวบ้านแทบทุกคนชอบร้องรำทำเพลง หมู่บ้านแห่งนี้จึงมีอีกชื่อว่า ‘หมู่บ้านบันเทิง’
คนสำคัญของหมู่บ้านบันเทิงคือ ‘กำนันลอย’ ที่พยายามสืบทอดวัฒนธรรมด้วยการสอนให้เด็ก ๆ เล่นดนตรีพื้นบ้าน เอาไว้บรรเลงในวันประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ซึ่งน้าหมูเองก็เป็นหนึ่งในเด็กที่ได้เรียนตีกลองโทนจากกำนันลอย ทำให้เขาได้ซึมซับดนตรีพื้นบ้านมาตั้งแต่ยังเด็ก
เมื่อน้าหมูอายุได้ 14 ปี เขาก็ได้รู้จักกับรุ่นพี่ที่เป็นหัวโจกในหมู่บ้านชื่อ ‘เสือจวบ’ ซึ่งได้สอนการร้องเพลงให้กับน้าหมู โดยเฉพาะเพลง ‘เสือสำนึกบาป’ ซึ่งเป็นเพลงที่เสือจวบชื่นชอบเป็นพิเศษ
อิทธิพลดนตรีตะวันตกจากแคมป์จีไอ
อีกหนึ่งอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตในโลกดนตรีของน้าหมูคือการที่พ่อของเขาทำงานเป็นพนักงานเติมน้ำมันในแคมป์ทหารจีไอ เพราะในเวลานั้นทหารอเมริกันได้เข้ามาตั้งค่ายอยู่ในประเทศไทยเพื่อเตรียมทำสงครามในเวียดนาม
การมาของทหารอเมริกันในครั้งนั้น ได้ส่งอิทธิพลหลายอย่างให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะ ‘ดนตรี’
ในเวลานั้น แคมป์จีไอมักจะมีศิลปินแวะเวียนมามอบความบันเทิงอยู่เสมอ ทั้งศิลปินจากอเมริกาและศิลปินไทย นั่นจึงเป็นโอกาสให้น้าหมู ซึ่งเข้าไปที่แคมป์อยู่บ่อยครั้ง ได้พบกับ ‘แหลม มอริสัน’ หรือ ‘กีตาร์คิง เมืองไทย’ ที่มีลีลาการเล่นเฉพาะตัว และมากี่ครั้งก็เป็นที่ถูกอกถูกใจทหารทุกครั้ง
เมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่ม น้าหมูก็ซึมซับดนตรีตะวันตกจากร้านแผ่นเสียง ทำให้ได้รู้จักศิลปินระดับตำนานอย่าง ‘เจมส์ บราวน์’ (James Brown), ‘ซานตาน่า’ (Santana) และได้ฟังดนตรีหลากหลายแนวมากขึ้น
ต่อมาน้าหมูได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา (เทคโนโคราช) แผนกศิลปกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ‘อาจารย์ทวี รัชนีกร’ (ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์) ลูกศิษย์ของ ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี’
ระหว่างเรียนที่เทคโนโคราช น้าหมูได้ฝึกงานปั้นกับ ‘ลุงอิ่ม’ ซึ่งเป็นเพื่อนของอาจารย์ทวี พร้อม ๆ กับฝึกเขียนบทกวีไปด้วย เขามักจะแอบไปฝึกเขียนบทกวีตามลำพังแถวแม่น้ำมูล โดยจะเขียนบทกวีลงบนหาดทราย เมื่อน้ำขึ้นมาถึงหาดทราย บทกวีของเขาก็จะเลือนหายไปกับสายน้ำ เพราะเขายังไม่มั่นใจในฝีมือของตัวเอง
ไม่เพียงเท่านั้น น้าหมูยังเริ่มหาขลุ่ยมาลองเป่า และพยายามฝึกฝนเรื่อย ๆ เพราะเริ่มค้นพบเลือดศิลปินในตัว
เมื่อน้าหมูพบกับน้าหงา
หลังเรียนจบ น้าหมูยังกลับไปฝึกปั้นกับลุงอิ่มต่อ และเป็นช่วงเวลานี้เองที่น้าหมูได้พบกับ ‘น้าหงา คาราวาน’
ตอนนั้นน้าหงากำลังหาคนมาทำหน้าที่เป่าขลุ่ยพอดี เพราะเพลงบางเพลงของคาราวานต้องมีเสียงขลุ่ยประกอบด้วย บังเอิญที่น้าหงาได้สอบถามเพื่อนร่วมรุ่นศิลปกรรมของน้าหมู น้าหมูจึงได้รับการแนะนำให้รู้จักกับน้าหงา
ตอนที่พบกันครั้งแรก น้าหงาให้น้าหมูลองเป่าขลุ่ยเพลง ‘นกสีเหลือง’ ซึ่งเป็นเพลงของวงคาราวาน เมื่อได้ฟังจนพอใจ วงคาราวานก็ให้น้าหมูทำหน้าที่เป่าขลุ่ยในเพลงนกสีเหลืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ถึงกระนั้น น้าหมูก็ยังไม่ถูกนับว่าเป็นสมาชิกของวงคาราวาน
กระทั่งวงคาราวานออกผลงาน ‘แผ่นคาราวานห้าหัว’ ซึ่งหน้าปกออกแบบเป็นรูปเท้าและนิ้วเท้าเป็นรูปหน้าคน แต่สมาชิกของคาราวานในเวลานั้นมีแค่ 4 คน ขาดตรงนิ้วก้อย จึงได้มีการทาบทามให้น้าหมูมาอัดเสียง เพื่อให้สมาชิกครบ 5 คน อย่างไรก็ตาม น้าหมูก็ยังไม่ถูกนับเป็นสมาชิกของคาราวานอย่างเป็นทางการ
คาราวานออกผลงานเพลงเรื่อยมา และปรับเปลี่ยนเป็นวงดนตรีอาชีพอย่างจริงจัง กลายเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรก ๆ ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2518
ในยุคนั้น วงดนตรีเพื่อชีวิตมักจะเล่นตามม็อบหรือกลุ่มชุมนุมประท้วง ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นและวุ่นวาย
น้าหมูผู้อุทิศตนเป็นศิลปินเพื่อชีวิต ต่อสู้กับความอยุติธรรม
คาราวานเดินสายแสดงดนตรีตามโรงหนังต่างจังหวัด และตามการชุมนุมประท้วง พวกเขาได้สัมผัสผู้คนมากมายหลากหลาย ได้พบโลกที่กว้างมากขึ้น ส่งผลให้น้าหมูได้ตระหนักถึงความจริงอันน่าขมขื่นของสังคม และเริ่มมองว่า ‘การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว’
น้าหมูตั้งใจแน่วแน่ว่าจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนทุกคนที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำและความไม่ยุติธรรมจากการบริหารของรัฐบาลและนักการเมือง เขาตัดสินใจอุทิศตนเป็น ‘นักดนตรีเพื่อชีวิต’ ตั้งแต่นั้นมา
ในช่วงปี พ.ศ. 2516 - 2519 เป็นช่วงเวลาที่วงดนตรีเพื่อชีวิตได้ก่อกำเนิดขึ้นมากมาย จากดนตรีที่ร้องกันเฉพาะกลุ่ม ค่อย ๆ เผยแพร่สู่วงกว้าง และกลายเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา
บทเพลงเพื่อชีวิต ถูกนำออกเผยแพร่นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ไทยว่าเป็น ‘วันมหาวิปโยค’ โดยทำหน้าที่ปลุกเร้าให้ประชาชนชาวไทยหันมาสนใจเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น ด้วยเนื้อหาที่เป็นการระบายความคับแค้นในชีวิตออกมาผ่านบทเพลง
เพลง ‘โคราชขับไสไอ้กัน’
หลังจากที่น้าหมูได้ร่วมเดินทางไปแสดงดนตรีในหลากหลายพื้นที่ ได้พบเจออะไรหลายอย่าง ได้รับรู้ข้อมูลที่มากขึ้น เขาจึงได้รู้ว่าพวกทหารที่มาตั้งค่ายในช่วงที่เขายังเป็นเด็ก เป็นเพราะช่วงเวลานั้นรัฐบาลไทยฝักใฝ่ฝ่ายอเมริกา และให้โอกาสมาตั้งค่ายเพื่อเตรียมตัวทำสงครามที่เวียดนาม ทำให้มีชาวเวียดนามอพยพหนีเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือคนรู้จักของน้าหมู ซึ่งได้บอกเล่าผลกระทบจากสงครามว่ามันโหดร้ายเพียงใด และได้พรากอะไรไปจากชีวิตผู้คนบ้าง
นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้น้าหมูตัดสินใจแต่งเพลง ‘โคราชขับไสไอ้กัน’ ขึ้นมา เพื่อบ่งบอกถึงความโหดร้ายอำมหิตของสงคราม โดยมีการใช้ภาษาโคราชที่ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม มาแต่งเป็นเพลงที่ทรงพลัง แสดงถึงความอัดอั้นและความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น
บทเพลงนี้ไม่เป็นที่ถูกใจสำหรับคนบางกลุ่ม เกิดการใส่ร้ายป้ายสี จนทำให้คาราวานถูกจับตามองในช่วงเวลาที่ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย และเหตุการณ์บานปลายถึงขั้นนองเลือด
เหตุรุนแรงที่ถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มนักศึกษา ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 มีคนแนะนำให้น้าหงาพกปืนติดตัวไว้ใช้สำหรับป้องกันตัว น้าหงาจึงได้ติดต่อให้คนไปรับน้าหมูที่โคราช และให้เดินทางไปรวมกลุ่มที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในวันที่ 6 ตุลาคม น้าหมูเดินทางไปถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอนค่ำจึงมีรถปริศนามารับสมาชิกวงคาราวานขึ้นรถ เพื่อเดินทางหลบหนีเข้าไปในป่า ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้นน้าหมูก็ต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตภายในป่า รวมถึงฝึกฝนการใช้อาวุธ เพื่อป้องกันตัวในยามจำเป็น
ระหว่างที่ใช้ชีวิตในป่านานเกือบ 5 ปี น้าหมูได้เริ่มเรียนดนตรีจริงจัง และได้ลองฝึกเขียนเพลง บทกวี บันทึก ฯลฯ
กำเนิดฉายา ‘กวีศรีชาวไร่’
ระหว่างที่อยู่ในป่า น้าหมูได้พบเจอกับ ‘นายผี’ (อัศนี พลจันทร) ซึ่งน้าหมูเคยได้อ่านผลงานของนายผีมาก่อนหน้านี้ นายผีได้แนะนำหนังสือต่าง ๆ ให้กับน้าหมู และคอยให้คำแนะนำเรื่องการเขียนให้กับน้าหมู
กระทั่งวันหนึ่ง น้าหมูได้ลองเขียนนิทานคำกลอน ซึ่งเมื่อหลังนายผีอ่านจบ เขาจึงนำผลงานไปตีพิมพ์ และนำมาแจกจ่ายในค่าย โดยภายในบทนำของนิทานคำกลอนนี้ นายผีได้กล่าวว่า “ในวันนี้เราขอแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง ที่ท่านจะรู้จักต่อไปนี้ในนาม กวีศรีชาวไร่” นับเป็นจุดกำเนิดฉายาที่ได้มาจากงานเขียนของน้าหมู
น้าหมูตัดสินใจออกจากป่า เนื่องด้วยปัญหาภายในกลุ่มคอมมิวนิสต์ เมื่อน้าหมูได้เดินทางกลับมาที่บ้าน เขาเดินหน้าหางานทำต่อเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ
ถึงจุดหนึ่ง น้าหมูตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปหาเพื่อน ๆ ที่เป็นนักดนตรี นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้าหมูได้มีส่วนร่วมในการเดินทางสายดนตรีกับ ‘คาราบาว’
เมื่อน้าหมูพบ ‘แอ๊ด คาราบาว’
น้าหมูชื่นชอบผลงานของ ‘คาราบาว’ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ด้วยมีเนื้อหาตีแผ่ชีวิตของคนรากหญ้าในสังคมที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิต เมื่อน้าหมูได้พบกับ ‘แอ๊ด คาราบาว’ ปรากฏว่าต่างคนต่างชื่นชอบในกันและกัน น้าแอ๊ดจึงชักชวนน้าหมูมาทำเพลงและแสดงด้วยกัน
แต่ก็เหมือนเดิม น้าหมูไม่ได้ถูกนับเป็นสมาชิกของคาราบาว
ในระหว่างที่น้าหมูเล่นคอนเสิร์ตกับคาราบาว น้าหมูอยากออกอัลบั้มเพลงของตัวเอง จึงหารือกับน้าแอ๊ด เกิดเป็นอัลบั้มชุดแรกของตัวเอง อัลบั้มแรกของน้าหมูมีชื่อว่า ‘ห้วยแถลง’ มีเพลงอย่าง โคราช 83, คนชอบเมา, นกเขาไฟ ฯลฯ
เรียกได้ว่า น้าหมูได้แจ้งเกิดในฐานะศิลปินเดี่ยว สมใจ
อิทธิพลจากวัฒนธรรมอีสาน สู่บทเพลงของน้าหมู
น้าหมูหลงใหลในกลิ่นอายของเพลงพื้นบ้านตั้งแต่วัยเยาว์ สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในบทเพลงที่ลื่นไหลและไพเราะของเขา ผ่านการเลือกใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย ความหมายตรงไปตรงมา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น เสียงสัมผัสพยัญชนะ การซ้ำคำ และการใช้ภาษาโคราช
การซ้ำคำในบทเพลงของน้าหมู นอกจากจะเพิ่มความไพเราะให้กับเพลง ยังช่วยย้ำความหมายให้ชัดเจนและหนักแน่นยิ่งขึ้น
บทเพลงของน้าหมู มักเชิดชูและสะท้อนชีวิตของคนรากหญ้า โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าชีวิตที่ลุ่มลึกกว้างขวาง เช่น กรรมกร ชาวนา ชาวไร่ ข้าราชการชั้นผู้น้อย เห็นได้ชัดในเพลง ‘ตังเก’ ที่ได้กล่าวถึงหนุ่มอีสานที่ชีวิตพลิกผัน เปลี่ยนจากการจับคันไถไปจับปลากับเรือตังเก สะท้อนให้เห็นถึงความมุมานะ และความบากบั่นของหนุ่มอีสาน
ด้วยความที่น้าหมูได้สัมผัสกับผู้คนมากมายหลายกลุ่มชน ทั้งในชนบทและในเมือง บทเพลงจึงมีความหลากหลาย ตระหนักถึงปัญหาในสังคม เร้าอารมณ์ และกระตุ้นความคิดของผู้ฟังให้เข้าใจในปัญหาของคนที่ยากลำบาก เมื่อมาผนวกรวมกับคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ บทเพลงของน้าหมูจึงทำหน้าที่สะท้อนสังคมและชีวิตได้อย่างซื่อตรงและงดงาม หวังต่อสู้กับความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำ สมดังฉายา ‘กวีศรีชาวไร่’
เรื่อง : กรัณย์กร วุฒิชัยวงศ์ (The People Junior)
ภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
อ้างอิง :
สมหญิง เมืองแมน. (2537) คุณค่าทางวรรณศิลป์ในบทเพลงของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ. ใน วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (สายวรรณคดี) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
https://www.youtube.com/watch?v=9l-unUAK5bM
https://www.youtube.com/watch?v=UORVPdszEPI
https://www.youtube.com/watch?v=7Jmqeg4XSyI
https://www.youtube.com/watch?v=jkA8tAK-Ii8
https://cac.kku.ac.th/.../%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0.../