สุบิน เมห์ธา : ตำนานวาทยกรปีศาจนามอุโฆษวัย 87 ปี ผู้เคยขึ้นปกนิตยสาร TIME

สุบิน เมห์ธา : ตำนานวาทยกรปีศาจนามอุโฆษวัย 87 ปี ผู้เคยขึ้นปกนิตยสาร TIME

สุบิน เมห์ธา : ตำนานวาทยกรปีศาจนามอุโฆษวัย 87 ปี ผู้เคยขึ้นปกนิตยสาร TIME จากการถ่ายทอดสุ้มเสียงในอุดมคติแบบ Mehta Sound

เสียงเพลงคือปรากฏการณ์อันเป็นรูปธรรมที่ก่อร่างสร้างขึ้นจากองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งมนุษย์และมิใช่มนุษย์ ในโลกของดนตรีคลาสสิกจึงมิต่างอะไรกับโลกของการก่อสร้าง ที่มีสถาปัตยกรรมเป็นผลสัมฤทธิ์ของตัวแบบ โดยมีสถาปนิกและวิศวกร รวมถึงบุคคลที่จัดการควบคุมให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ไปตามแบบร่างที่วางเอาไว้ ดังนั้นสถาปัตยกรรมจะสำเร็จลุล่วงไปได้ยังต้องประกอบไปด้วยผู้คนมากมายที่เข้าร่วมควบคุมสรรพสิ่งให้เกิดขึ้นตามแบบ 

เฉกเช่นเดียวกับเสียงเพลง หากกล่าวถึงหน้าที่ของวาทยกร บทบาทหน้าที่รับผิดชอบคงมิได้แตกต่างอะไรนัก หากจะอุปไมยได้ว่าเป็นโฟร์แมน ที่มีหน้าที่ทั้งกำกับสถานการณ์ ผู้คน และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเสียงให้เกิดขึ้นใกล้เคียงกับตัวแบบที่นักประพันธ์เพลงได้ร่างแบบเป็นแนวทางไว้ และยังต้องทำหน้าที่ตีความตัวแบบผ่านหน้ากระดาษที่เหล่านักประพันธ์เพลงผู้ล่วงลับได้รังสรรค์ขึ้น แม้ตัวแบบที่เขียนออกมาจะสมบูรณ์พร้อมแก่การก่อร่างสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแห่งเสียงดนตรี โฟร์แมนหรือวาทยกรในโลกดนตรี จึงเป็นบุคคลสำคัญที่คอยกำกับเสียงอยู่หน้างาน และเป็นปราการด่านสุดท้าย เสกให้เสียงดนตรีที่นอนเรียงรายอยู่บนหน้ากระดาษ ปรากฏตัวออกมาเป็นสุนทรียวัตถุให้ผู้คนได้รับฟัง 

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 วาทยกรถูกแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพอย่างชัดเจน แต่เดิมนักดนตรีในวงเคยใช้สัญญาณผ่านการใช้ลมหายใจหรือการพลิกหน้ากระดาษ มาสู่การยืนอยู่บนแท่นที่มีอุปกรณ์คู่ใจคือไม้บาตอง (baton) ด้วยเงื่อนไขของขนาด และความยิ่งใหญ่ของวงออร์เคสตราที่มีจำนวนสมาชิกวงเพิ่มขึ้นมาจากยุคก่อน และการปรับปรุงตกแต่งเสียงของเครื่องดนตรีจำนวนมากต้องพึ่งพาผู้นำเพียงคนเดียวที่ช่วยการกำกับภาพรวมให้สมบูรณ์ วาทยกรจึงมีส่วนสำคัญในการกำกับการซ้อม ให้สัญญาณ และผู้ควบคุมความเป็นไปของวงที่มีสมาชิกกว่าร้อยชีวิตให้ดำเนินบทเพลงเป็นลมหายใจเดียวกัน 

สุบิน เมห์ธา เป็นหนึ่งในตำนานวาทยกรที่ยังคงมีลมหายใจ เขาได้สร้างชื่อเสียงตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และยังคงทำงานวาทยกรที่เขารักในวัย 87 ปี ชายที่เรียกได้ว่าเป็นพลเมืองของโลก (Global Citizen) ก่อนจะมีกระแสพูดถึงในช่วงศตวรรษนี้  เพราะเขาคือวาทยกรที่เดินทางและควบคุมวงดนตรีข้ามเขตแดนรัฐประชาชาติ และมิได้ใช้เงื่อนไขของเชื้อชาติเป็นเครื่องมือทั้งสร้างความเห็นอกเห็นใจหรือเป็นช่องทางพิเศษที่ทำให้เขาเป็นตำนานในโลกดนตรีคลาสสิก
สุบิน เมห์ธา : ตำนานวาทยกรปีศาจนามอุโฆษวัย 87 ปี ผู้เคยขึ้นปกนิตยสาร TIME

ปฐมบทของสุบิน เมห์ธา 

สุบิน เมห์ธา เกิดและเติบโต ณ เมืองบอมเบย์ หรือมุมไบในปัจจุบัน เมืองทางทิศตะวันตกของประเทศอินเดีย ช่วงเวลาที่เขาเกิด กลิ่นอายของกระแสต่อต้านอาณานิคมกำลังคุกรุ่น แม้ว่าครอบครัวของเขาได้สืบเชื้อสายปาร์ซี (Parsi) ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อพยพมาจากดินแดนเปอร์เซียที่ตั้งถิ่นฐานในอินเดียเป็นพันปี แต่ครอบครัวของเขาเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมอุดมการณ์ดังกล่าว จนกระทั่งหลังจากการประกาศอิสรภาพจากความเป็นอาณานิคมอังกฤษ​ ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเวลานั้น ได้ก่อให้เกิดสภาวะสงครามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากนั้น และสร้างบาดแผลและความขัดแย้งที่ยากจะแก้ไข สันติภาพซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เมห์ธาพยายามจะสื่อสาร เพื่อเผยถึงเส้นสมมติของความเป็นรัฐประชาชาติที่พร่าเลือนได้ด้วยเสียงดนตรีของเขา

ในวัยเยาว์ ดนตรีคือสภาวะแวดล้อมอันสำคัญของชีวิตของเมห์ธา บิดาของเขาคือผู้ก่อตั้งวงออร์เคสตรา และวาทยกรผู้ควบคุมวง Bombay Symphony Orchestra ทั้งยังเป็นนักเล่นไวโอลินที่เคยเรียนกับ Ivan Galamian ผู้ซึ่งเป็นครูคนสำคัญของนักไวโอลินในตำนานอย่าง Itzhak Perlman และ Pinchas Zukerman ส่งผลให้ชีวิตของเขาอยู่ในบริบทที่แวดล้อมไปด้วยเสียงดนตรีจากการที่บิดาของเขาเรียกนักดนตรีในกลุ่มต่าง ๆ ของวงมาซักซ้อมและทำความเข้าใจแยกส่วนกันก่อนจะไปประกอบร่างกันเป็นวงใหญ่ 

เมห์ธาเคยเรียนหมอตามความปรารถนาของที่บ้าน แต่เมื่อเรียนได้ 2 ปี ก็ตัดสินใจลาออกไปศึกษาต่อด้านดนตรีที่สถาบันดนตรีแห่งกรุงเวียนนาเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 1954 - 1957 สถานที่ที่ถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงและตักศิลาทางดนตรีคลาสสิกตะวันตก ณ ที่แห่งนี้ เขาได้เข้าศึกษากับ Hans Swarowsky วาทยกรนามอุโฆษที่เคยเป็นลูกศิษย์ของ Richard Strauss, Felix Weingartner และศึกษาทฤษฎีดนตรีกับ Arnold Schoenberg และ Anton Webern และ Herbert von Karajan ยังเคยเชิญให้มากำกับวง Vienna State Opera ทำให้ Swarowsky ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งในฐานะวาทยกร และครูของเหล่าวาทยกรคนสำคัญหลายคนในยุคต่อมา ซึ่งหนึ่งในลูกศิษย์คนสำคัญของเขาคือ สุบิน เมห์ธา ที่ครั้งหนึ่งครูถึงกับเคยกล่าวว่าเขาเป็น วาทยกรปีศาจ (Demoniac Conductor) ที่มีความสามารถรอบด้านครบเครื่อง

แม้เมห์ธาจะมีพื้นฐานที่เกิดและเติบโตมาจากเสียงดนตรีคลาสสิกตะวันตกมาก่อน ทั้งยังสามารถเล่นไวโอลิน และได้รับการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการสอดประสานแนวทำนอง (Counterpoint) ในรูปแบบต่าง ๆ จากพระ Raphael ที่เป็นอาจารย์ดนตรีแห่ง St.Xavier’s College ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมปลาย แต่พอเขาเข้ามาสู่กรุงเวียนนาและเมื่อได้เห็นวง Vienna Philharmonic แสดงสดต่อหน้าโดยมี Karl Böhm เป็นวาทยกร เขาถึงกับตกใจในสุ้มเสียงของความงามที่เกิดขึ้น และพบว่านี่คือของจริงที่แตกต่างจากแผ่นเสียงที่บิดาเขาเคยหอบหิ้วมาเปิดให้ฟังตั้งแต่เด็ก และทำให้ไฟในตัวเขาลุกโชนอยากจะศึกษาไปให้สุดทาง โดยเรียนดับเบิลเบสเพิ่มเติมจนสามารถเข้าร่วมกับวง Vienna Chamber Orchestra และเพื่อทำความเข้าใจกลไกของย่านเสียงต่ำที่เกิดขึ้นในวงออร์เคสตรา เมห์ธาใช้เวลา 3 ปีอย่างคุ้มค่ากับการศึกษาด้านการวาทยกรจนสำเร็จ 
สุบิน เมห์ธา : ตำนานวาทยกรปีศาจนามอุโฆษวัย 87 ปี ผู้เคยขึ้นปกนิตยสาร TIME

รุ่งอรุณแห่งความสำเร็จ

สุบิน เมห์ธา เริ่มเข้าสู่วงการวาทยกรอาชีพด้วยการเข้าร่วมแข่งขัน Liverpool International Conductor’s Competition (1958) จากผู้เข้าประกวดกว่า 100 แน่นอนว่าที่ 1 ต้องเป็นสุบิน เมห์ธา หลังจากที่เขาชนะการประกวดที่ถือเป็นใบเบิกทางสู่วาทยกรอาชีพ รางวัลที่เขาได้รับคือโอกาสเป็นผู้ช่วยวาทยกรประจำวง Royal Liverpool Philharmonic และการเข้าประกวด Tanglewood Music Center ณ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถึงแม้ว่าเขาจะได้รองชนะเลิศอันดับ 1 แต่ลีลาของเขาเข้าตา Charles Munch หนึ่งในวาทยกรประจำวง Boston Symphony และผู้เชี่ยวชาญบทเพลงออร์เคสตราจากสำนักฝรั่งเศสและเป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนเขา 

ต่อมาเขาได้เข้าร่วมกับ Montreal Form ทำให้มีโอกาสควบคุมวง Montreal Symphony Orchestra (OSM) และภายในวันเดียวที่เขาได้ควบคุมวง OSM ก็ได้รับโอกาสจาก Pierre Béique ที่ได้ยื่นข้อเสนอให้เมห์ธามารับหน้าที่ผู้กำกับดนตรี (music director) ประจำวง OSM ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาตั้งแต่ปี 1960 - 1967 ซึ่งในเวลานั้นเขามีอายุเพียง 24 ปี เท่านั้น และยังพาวง OSM ไปแสดงที่โซเวียต (ณ ขณะนั้น) ปารีส และที่เวียนนาเขาได้รับการปรบมือเป็นเวลายาวนานถึง 20 นาที 

ปี 1961 เขาเริ่มเป็นวาทยกรหลักที่ควบสองวง จากการเริ่มที่ตำแหน่งผู้ช่วยวาทยกรวง Los Angeles Philharmonic (LAP) และเป็นตัวจริงในวงตั้งแต่ปี 1962 - 1978 ในช่วง 4 ปีแรกของการควบคุมวง เขาสามารถทำให้วงนี้มีน้ำเสียงใกล้เคียงกับ Vienna Philharmonic ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มลึกและมีพลัง ด้วยกลยุทธ์การประลองหรือให้การบ้านที่สามารถทำให้แต่ละคนแข่งขันเลื่อนตำแหน่งแห่งที่ในวงได้ ซึ่งส่งผลดีกับวงเป็นอย่างยิ่งทำให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และในปี 1967 เขาพาสองวงที่เขาคบซ้อนกันอยู่มาเจอกันเพื่อทำการแสดงเพลง Symphonie Fantastique ของ Berlioz ณ งาน Expo 67 ในปีเดียวกันเขาตัดสินใจลาออกจากวง OSM เพราะภาระของวง LAP นั้นมีมากมายทั้งสมาชิกกว่า 107 คน และการตระเวนแสดงดนตรีกว่า 8 สัปดาห์ทั่วโลก จนในปีถัดมาเขามีงานแสดง 22 ครั้งกับวง LAP จนทำให้ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ในเดือนมกราคมปี 1968 

จนกระทั่งปี 1977 เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับ Israel Philharmonic Orchestra และเป็นผู้กำกับดนตรีให้กับวงนี้ยาวนานจนถึงปี 2019 ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เมห์ธามีใจต่ออิสราเอลเพราะเชื่อมโยงกับชีวิตของเขาที่มีชาติกำเนิดมาจากเชื้อสายปาร์ซีที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ คล้ายคลึงกับชาวยิว ต่อมาในปี 1978 เขาเริ่มเข้ามาเป็นผู้กำกับดนตรีของวง New York Philharmonic (NYPO) จนถึงปี 1991 ซึ่งเห็นได้ว่าเขาใช้เวลากับแต่ละวงยาวนานคล้ายกับการแต่งงาน และหากเปรียบได้กับโฟร์แมนผู้ควบคุมการสร้างงานสถาปัตยกรรมเสียง เขาก็เป็นโฟร์แมนที่ให้เวลายาวนานและหล่อหลอมให้วงมีน้ำเสียงที่มาจากการควบคุมที่มีเอกลักษณ์ของเขา หากนับคร่าว ๆ แล้วเขาเคยทำหน้าที่วาทยกรมากกว่า 3,000 การแสดงดนตรี และเคยทำการแสดงดนตรีครบทุกทวีป และยังมีวงดนตรีต่าง ๆ ที่เมห์ธาได้รับการรับเชิญไปเป็นวาทยกรทำหน้าที่ปรับแต่งและควบคุมเสียงการแสดงดนตรีอีกมากมาย 

เสียงในอุดมคติของสุบิน เมห์ธา (Mehta Sound) ที่พวกเราสามารถรับรู้ได้จากการฟังการแสดงสดและการบันทึกเสียงส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์การรับรู้สภาวะเสียงของดนตรีจากวง Vienna Philharmonic Orchestra ณ หอแสดงดนตรี Musikverein กรุงเวียนนา เป็นสิ่งที่ยังคงตราตรึงและเปรียบเสมือนแม่แบบหนึ่งของเสียงวงออร์เคสตราที่อยู่ในความคิดของเขา อีกทั้งประสบการณ์นำวงทั้งในฐานะวาทยกร และผู้กำกับดนตรีประจำวงมายาวนาน ตั้งแต่การเลือกบทเพลง การศึกษาบทประพันธ์เพลงอย่างละเอียดที่ส่งผลต่อการวางแผนการซ้อม และเฟ้นหานักดนตรีที่เหมาะสมในแต่ละตำแหน่งมาบรรเลง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาบทประพันธ์เพลงอย่างละเอียดก่อนทำการซ้อม และให้ความสำคัญในมิติทางประวัติศาสตร์ดนตรี เพื่อที่จะเข้าใจรูปแบบที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยของดนตรี และนำมาใช้ประเมินสำหรับการตีความในแต่ละบทเพลงได้อย่างแม่นยำถูกต้องตามบริบท ซึ่งเป็นวิธีการหาช่องสอดแทรกความเป็นตัวของตัวเองเข้าไปผ่านการตีความ ดังที่เขามักจะให้สัมภาษณ์อยู่เสมอว่าเขาทำอาชีพวาทยกรด้วยความรู้นำสัญชาตญาณเสมอ 

หากลองอธิบายด้วยภาษาเขียนโดยสังเขป เพื่อให้เห็นภาพแทนของเสียงในอุดมคติในแบบสุบิน เมห์ธา ที่ได้เคยวาทยกรเอาไว้ จากบทเพลงในยุคปลายโรแมนติกที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 1877 - 1878 ในบทเพลง Symphony หมายเลข 4 บนบันไดเสียง F ไมเนอร์ โอปุสที่ 36 ที่มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ชะตากรรม’ (Fatum) บทประพันธ์เพลงของ Tchaikovsky อุทิศให้กับ Nadezhda Von Meck หญิงหม้ายเศรษฐีนีผู้เป็นคนรักของเขาในเวลานั้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสองบทเพลงที่เมห์ธาเลือกนำมาแสดงกับวง Symphony Orchestra of Maggio Musicale Fiorentino จากประเทศอิตาลีในประเทศไทยช่วงเดือนกันยายนนี้ โดยมีโครงสร้าง 4 ท่อนตามขนบธรรมชาติของบทเพลง Symphony ที่ในแต่ละท่อนได้ถูกออกแบบมาได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อนสุดท้ายที่มีการนำท่วงทำนองเพลงพื้นเมืองในแถบรัสเซียมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงผ่านเสียงของเครื่องเป่าลมไม้

การตีความบทประพันธ์เพลงนี้ได้สะท้อนถึงลักษณะสุ้มเสียงของเมห์ธาได้อย่างชัดเจน ดังที่เขาได้เคยบันทึกเสียงไว้ในปี 1968 กับวง LAP กับค่าย Decca (รหัสแผ่นเสียง SXL 6323) หากอธิบายในภาพกว้างจากท่อนสุดท้ายเพื่อให้ได้ลองตามสีสันของเสียงดนตรี (Timbre) จะพบได้ว่าการตีความในทุกย่านเสียงเป็นไปอย่างกลมกล่อม หากเปรียบเทียบกับรสสัมผัสของกาแฟถือได้ว่ามีความหนาแน่น (Full Body) ที่เข้มข้น และเป็นเมล็ดกาแฟที่คั่วเข้มลึก (Dark Roast) หากกล่าวโดยละเอียด เขาขับเน้นให้กลุ่มเครื่องเป่าลมทองเหลืองกลางต่ำมีโดดเด่นกว่าที่คนอื่น ๆ ในห้วงเวลานั้นได้ทำการวาทยกรเอาไว้ 

ยิ่งเมื่อเทียบกับ Leonard Bernstein ที่เคยทำไว้กับวง NYPO เมื่อปี 1958 กับค่าย Columbia (รหัสแผ่นเสียง MS 6035) ซึ่งเป็นวงที่ภายหลังเมห์ธาเข้าไปรับตำแหน่งแทน Bernstein และเมื่อเทียบกับการตีความเครื่องเป่าลมทองเหลืองย่านเสียงสูงอย่างทรัมเป็ต จะพบว่าสำหรับเมห์ธา เขาให้มีน้ำเสียงในระดับที่ดังแต่ไม่ถึงกับแตกในแบบที่ Bernstein ได้เคยตีความเอาไว้ก่อนหน้านั้น และการตีความจังหวะในท่อนที่มีความเนิบช้าดังที่เครื่องเป่าอย่างโอโบ และบาสซูน มีความโดดเด่น เมห์ธาเลือกให้จังหวะมีการดำเนินเนิบช้าแต่ต่อเนื่องแตกต่างจาก Bernstein ที่เกือบจะทำให้ท่อนนี้มีอัตราความเร็วที่ยืดหยุ่น (rubato) โดยขึ้นอยู่กับการกำกับของเขา ในกลุ่มเครื่องสายตั้งแต่ย่านเสียงต่ำ กลาง สูง มีรสสัมผัสที่กลมกล่อมมากกว่าการกำกับวงโดย Bernstein อย่างเห็นได้ชัด 

แน่นอนหากเปรียบเทียบสไตล์การควบคุมวงของ Bernstein อาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายกับกาแฟคั่วกลางค่อนไปทางอ่อนที่มีความหนาแน่นน้อยแต่มีรสชาติหรือกลิ่นของผลไม้โดดเด่น ในขณะที่เมห์ธามีความหนานุ่มสุขุมโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับย่านเสียงต่ำของเขาที่เห็นได้ชัดว่าเป็นประโยชน์ต่อการโอบอุ้มวงให้มีมวลหนาแน่นกว่า ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ที่เขาเคยร่วมบรรเลงดับเบิลเบสในวงใหญ่ ทำให้เขานำมาใช้เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้สีสันของเสียงในวงที่เขาควบคุมแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ 

สิ่งซึ่งสะท้อนความเป็นเสียงในหัวของเมห์ธาได้คือการลองย้อนกลับไปฟังผลงานที่เขาฝากไว้กับในการวาทยกรบทประพันธ์เพลง Symphony หมายเลข 3 ของ Gustuv Mahler บันทึกเสียงในปี 1978 กับวง LAP ซึ่งเป็นช่วงเวลา 3 เดือนสุดท้ายที่เขาทำงานกับวงนี้ก่อนที่เขาจะย้ายไปกำกับดนตรีให้กับวง NYPO โดยเป็นผลงานบันทึกเสียงแบบ 2 แผ่น เนื่องจากเป็นบทเพลงที่มีความยาวกว่า 90 นาที และแม้ว่าวง LAP จะเคยบรรเลงบทเพลงนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1965 โดย Hans Swarowsky เป็นผู้วาทยกรและยังเป็นอาจารย์ของเมห์ธา ทว่าสุ้มเสียงการตีความมีความแตกต่างและยังสร้างปรากฏการณ์ของเสียงแบบเมห์ธาให้โลกได้จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ 

หลายคนอาจจะคิดว่าบทเพลงดังกล่าว มีความสมบูรณ์แบบอยู่ในตัวของมันเองตั้งแต่ผู้ประพันธ์ได้ถ่ายทอดกระแสเสียงลงบนกระดาษสกอร์และแจกแจงความถี่ของเสียงในแต่ละส่วนได้อย่างเหมาะสมดีมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถาปนิกหรือนักประพันธ์เพลงอย่าง Mahler จะออกแบบงานในพิมพ์เขียวออกมาดีเพียงใดก็ตาม หากแต่ไม่มีโฟร์แมนคอยกำกับหน้างาน บทเพลง Symphony หมายเลข 3 ของเขาคงเป็นเพียงพิมพ์เขียวที่ไม่สามารถปรากฏขึ้นให้ใครได้จดจำได้ และเมห์ธาสามารถถ่ายทอดการตีความสิ่งที่อยู่บนกระดาษออกมาเป็นเสียงในแบบเขาเองได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ดังประจักษ์พยานที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นจากผลงานบันทึกเสียงเทคโนโลยีแบบ analog ณ Royce Hall แห่งมหาวิทยาลัย UCLA แต่กลับสร้างความยิ่งใหญ่อลังการจากวิธีการควบคุมวงและปั่นสรรพเสียงต่าง ๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งเสียงที่มีข้อจำกัดในสมัยนั้น 

โดยเสียงของวงออร์เคสตราที่ผ่านหูของเมห์ธาได้เผยให้เห็นว่าการกำกับวงของเขาพิเศษไม่เหมือนใคร และความดื้อและการเป็นตัวของตัวเองของเขายังเคยปรากฏว่า ครั้งหนึ่งหลังการแสดงบทเพลงเดียวกัน ณ วง NYPO เขาได้รับคำแนะนำจาก Leonard Bernstein วาทยกรนามอุโฆษผู้เคยกำกับวงนี้มาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญบทเพลงของ Mahler ได้แสดงความเห็นกับเมห์ธาเป็นวาทยกรหลังจบการแสดงดนตรีนั้นว่า ในช่วงท่อนสุดท้ายเร่งรุดเกินไป ซึ่ง Bernstein แนะนำว่าควรจะเป็นท่อนที่ช้ามาก ๆ แต่หลังจากคำแนะนำนั้นผ่านมาหลายสิบปี การแสดง Symphony หมายเลขเดิมนี้ ณ Disney Hall กับวง LPO เมื่อครั้งล่าสุด ในท่อนดังกล่าวก็สะท้อนได้ว่าเมห์ธาไม่ได้สนใจกับคำแนะนำนั้น ซึ่งสังเกตได้ว่าการตีความของเหล่าโฟร์แมนที่อยู่หน้างานนั้นสามารถสอดแทรกลีลาและความเป็นตัวของตัวเองตามสิทธิอำนาจการกำกับเสียงหน้าวงให้เป็นไปตามการตีความที่แตกต่างกันได้ 
สุบิน เมห์ธา : ตำนานวาทยกรปีศาจนามอุโฆษวัย 87 ปี ผู้เคยขึ้นปกนิตยสาร TIME

อาทิตย์อัสดงยังคงร้อนแรง

วง Symphony Orchestra of Maggio Musicale Fiorentino ที่จะทำการแสดงในครั้งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดย Vittorio Gui เมื่อปี 1928 เป็นวงที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแสดงในโรงอุปรากร Teatro Comunale แห่งเมือง Florence และปัจจุบันได้กลายเป็นเทศกาลดนตรีคลาสสิกยิ่งใหญ่ประจำปีในอิตาลี จนกระทั่งปี 1933 เมื่อเมืองนี้ต้องมีเทศกาลดนตรีประจำเดือนพฤษภาคม ทำให้ต้องมีชื่อหลักและมีวาทยกรหลักประจำวงที่เปลี่ยนผ่านมาหลายยุคหลายสมัย 

โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้ Riccardo Muti เข้ามาทำวง และต่อมา Zubin Mehta ที่อยู่ยาวนานตั้งแต่ปี 1985 - 2017 จนกลายเป็นวาทยกรเกียรติคุณประจำวงนี้ตั้งแต่ปี 2006 ที่ร่วมออกแบบโปรแกรมการจัดแสดงดนตรีและให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ และวงนี้ยังเคยมีวาทยกรรับเชิญชื่อดังมาร่วมงานมากมาย อาทิ Karajan, Leonard Bernstein, Claudio Abbado, Carlos Kleiber, Georg Solti, Seiki Ozawa เป็นต้น อีกทั้งยังเคยแสดงผลงานของเหล่านักประพันธ์เพลงในตำนานเป็นที่แรกของหลายคนอย่าง Richard Strauss, Paul Hindemith, Igor Stravinsky, Krzysztof Penderecki 

โอกาสที่คนไทยจะได้รับชมตำนานวาทยกรนามอุโฆษวัย 87 ปี และไม่ต้องบินไปชมการแสดงถึงต่างประเทศได้มาถึงที่นี่ไม่ได้หาง่าย ๆ ยิ่งครั้งนี้พิเศษแตกต่างจากครั้งล่าสุด ที่ทำการแสดงกลางแจ้ง และเสียงที่เคยได้รับฟังนั้นเป็นเสียงที่ผ่านการปรุงแต่งด้วยระบบขยายเสียงไฟฟ้า แต่คราวนี้เราจะได้รับฟังสุ้มเสียงในอุดมคติแบบ Mehta Sound จากการตีความอันเป็นเอกลักษณ์ของ สุบิน เมห์ธา ที่ได้ร่วมรังสรรค์กับเหล่านักดนตรีจากวง Symphony Orchestra of Maggio Musicale Fiorentino แห่งเมืองฟลอเรนซ์ เมืองศิลปะชั้นนำของโลก ด้วยระบบเสียงธรรมชาติที่ได้ยินออกมาจากเครื่องดนตรีสด ผ่านการออกแบบห้องที่มีความเหมาะสมกับการแสดงดนตรีคลาสสิกอย่างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และได้รับฟังวงที่เขาร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 1985 จนถึงปัจจุบัน 

โดยจะนำบทเพลง Symphony หมายเลข 4 และ 6 ของ ไชคอฟสกี (Tchaikovsky) หนึ่งในคีตกวียุคโรแมนติกคนสำคัญของโลกมาบรรเลงอีกครั้ง และไม่เพียงแต่การรับชมด้วยสายตาผ่านลีลาการกำกับบทเพลง หากแต่เป็นเสียงที่ได้ผ่านการตีความจากวาทยกรระดับตำนานที่ถือเป็นการแสดงเปิดการฉลองครบรอบ 25 ปี มหกรรม Bangkok’s International Festival of Dance & Music ประจำปี 2023 เป็นโอกาสที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะคุณจะได้สัมผัสกับประสบการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตกับสุ้มเสียงของตำนาน สุบิน เมห์ธา ที่อาจเป็นโอกาสของเราที่จะได้ฟังการแสดงสดของวาทยกรระดับตำนานเป็นครั้งสุดท้ายในประเทศไทย พร้อมกับวงออร์เคสตราคู่ใจที่เขาจะทิ้งร่องรอยลายเซ็นสถาปัตยกรรมแห่งเสียงของเขาไว้ให้โลกต้องจดจำไปอีกนานเท่านาน

ดูรายละเอียดการแสดงเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaiticketmajor.com/performance/zubin-mehta-and-symphony-orchestra-of-maggio-musicale-fiorentino-italy-2023.html