PERSONA : Sulli ไอดอลอ่อนแอได้ ร้องไห้เป็น ผ่านบทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ ‘ชเวจินรี’

PERSONA : Sulli ไอดอลอ่อนแอได้ ร้องไห้เป็น ผ่านบทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ ‘ชเวจินรี’

PERSONA : Sulli บทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ ‘ซอลลี่’ ในปี 2019 ก่อนที่เธอจะจากไปในปีเดียวกัน สารคดีจำนวน 2 ตอน ที่สะท้อนตัวตน ความเจ็บปวดของ ‘ชเวจินรี’ (ชื่อจริงของซอลลี่) ปัญหาของระบบไอดอลและค่านิยมสังคมเกาหลีใต้

  • ‘ซอลลี่’ คือ นักแสดงและศิลปินที่ตัดสินใจจากโลกนี้ไปด้วยตัวเองในปี 2019
  • PERSONA : Sulli เป็นสารคดีที่เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลหนังปูซานครั้งที่ 28 
  • สารคดีมีความยาว 2 ตอนที่สะท้อนตัวตน ความเจ็บปวดของซอลลี่ ปัญหาของระบบไอดอลและค่านิยมของสังคมเกาหลีใต้

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมศิลปิน ดารา หรือนักแสดงเกาหลีถึงเลือกที่จะฆ่าตัวตาย ทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อย

หากเคย เราคิดว่า PERSONA : Sulli อาจทำให้คุณพบคำตอบของความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ผ่านปูมหลังครอบครัว ระบบไอดอล และมาตรฐานความสวยที่ต้องแบกรับของ ‘ชเวจินรี’ และ ‘ซอลลี่’ f(x) และนักแสดงมากความสามารถก่อนที่เธอจะจากโลกนี้ไปในปี 2019 

และนี่คือบทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของเธอที่บอกเราว่า ดาราคือมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้มีแค่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่พวกเขาอ่อนแอได้ ร้องไห้เป็น

ระบบไอดอล ทุกอย่างต้องพรีเมียมและสมบูรณ์แบบ

“เธอต้องเป็นสินค้าพรีเมียม คุณภาพชั้นเลิศที่สุดให้กับสาธารณชน นั่นแหละที่เธอต้องเป็น” คือคำพูดที่ซอลลี่ได้รับจากคนรอบข้างมาตลอดชีวิตการเป็น ‘ไอดอล’ ของเธอ

แต่ย้อนกลับไป ชเวจินรีเข้ามาเป็นเด็กฝึกของค่ายเอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนต์ (SM Entertainment) ในปี 2005 แล้ววันนั้นเธออายุเพียง 11 ปี

เธออยู่หอตั้งแต่ ป.5 และรู้สึกอยากกลับบ้าน แต่บ้านของเธออยู่ไกลถึงปูซาน ทำให้การกลับบ้านดูเป็นเรื่องยาก แล้วไม่ใช่แค่ซอลลี่ แต่ไอดอลหลาย ๆ คนก็ต้องทำแบบนั้น

สำหรับบางคนอาจจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของกรุงโซล กลางวันเรียน แล้วกลับมาซ้อมตอนเย็น และบอกไม่ได้ว่า พวกเขาคือเด็กที่กำลังจะเดบิวต์เป็นศิลปิน

และอีกหลาย ๆ คนก็เลือกที่จะพักการเรียน แล้วใช้ชีวิตในฐานะเด็กฝึกอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น แจมิน สมาชิกวง NCT DREAM รุ่นน้องค่ายเดียวกับซอลลี่ที่ลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “คนอื่นได้เล่นกับเพื่อนหลังเลิกเรียน แต่ผมต้องไปห้องซ้อม ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องจริงที่เพื่อนมัธยมต้นและมัธยมปลายจะเป็นเพื่อนตลอดไป มันเลยน่าเสียดายที่ผมไม่มีเพื่อน ผมมีเพื่อนเป็นสมาชิกในวง”

หลังจากนั้นเหล่าไอดอลก็จะถูกตัดแต่งให้ตรงกับสิ่งที่บริษัทต้องการ และตอบโจทย์เหล่าแฟนคลับ จากชเวจินรีก็กลายเป็น ‘ซอลลี่’ ของวง f(x) ที่เดบิวต์ในปี 2009 แม้ว่าก่อนหน้านั้นหลายคนอาจรู้จักเด็กสาวคนนี้มาก่อนจากภาพยนตร์เรื่อง Punch Lady ปี 2007 และ BA : BO ในปี 2008

หลายคนอาจคิดว่าการเดบิวต์คือจุดจบ แต่มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น…

เมื่อยืนอยู่ต่อหน้าสาธารณชน ทุกอย่างจะถูกจับจ้อง พวกเขาห้ามมีประวัติด่างพร้อย ห้ามทำผิด เพราะเมื่อใดที่มีข่าวลือว่าศิลปินทำความผิด ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ แล้วถ้าพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง อนาคตของพวกเขาในฐานะศิลปินก็จำเป็นต้องจบลงอย่างไร้ข้อกังขา

ยกตัวอย่างเช่น ปี 2019 ‘ซึงรี’ อดีตสมาชิกวง BIGBANG ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นคดีข่าวฉาว ‘Burning Sun’ เขาถูกตั้งข้อหาเรื่องยาเสพติดและการค้าประเวณีจนต้องออกจากวงการในเวลาต่อมา และในปี 2021 ‘ฮอชาน’ จากวง VICTON ก็ประกาศลาออกจากวง หลังมีข่าวว่าเขาเมาแล้วขับ

ก็เหมือนที่ซอลลี่บอกไว้ในสารคดี “ฉันต้องปรับแต่งตัวเองให้ถูกจริตคนพวกนั้น ต้องกลัวว่ามูลค่าสินค้าตัวเองจะตก”

ไม่ใช่แค่ซอลลี่ แต่ดูเหมือนไอดอลหลาย ๆ คนก็กำลังเผชิญกับสิ่งนี้อยู่เหมือนกัน

 

เบื้องหลังชีวิตไอดอล คือ ความรู้สึกไร้การควบคุม

อย่างที่บอกด้วยความที่ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ไร้จุดด่างพร้อย ศิลปินเองก็ขยับตัวยากเหมือนกัน

หลาย ๆ อย่าง พวกเขาไม่มีปากเสียง ไม่ได้ตัดสินใจเอง แต่เป็นสิ่งที่บริษัทมอบให้เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีที่สุด นั่นจึงทำให้พวกเขาเลือกที่จะเก็บความต้องการของตัวเองไว้ในใจมากกว่าพูดมันออกมา

เช่นเดียวกับซอลลี่ในสารคดีเรื่องนี้ เธอคิดอยู่นาน กว่าจะพูดคำตอบลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในใจของเธอออกมาได้

“ฉันเป็นคนที่มีปากมีเสียงให้ตัวเองไม่ได้ หนำซ้ำไม่รู้วิธีด้วย และไม่รู้ด้วยว่าพูดอะไรอย่างใจคิดได้ไหม เวลาฉันพูดว่าเหนื่อยเพราะเหนื่อย ระหว่างที่พูด ๆ ไป ก็ใช่ว่าระบบจะมีการเปลี่ยนแปลง”

ความจริงเบื้องหลังคำพูดของซอลลี่คงต้องบอกว่าเธอไม่ได้พูดเกินจริงเลย เพราะการจากไปของศิลปินเกาหลีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ‘จองฮยอน’ สมาชิกจากวง Shinee ที่จากไปด้วยการรมควันตัวเองในห้องพัก ‘คูฮารา’ สมาชิกวง KARA ที่จากไปด้วยการฆ่าตัวตาย หรือ ‘มุนบิน’ จาก Astro ที่คาดว่าจากไปด้วยสาเหตุเดียวกัน คงเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งได้ว่า ชีวิตเบื้องหน้ากับเบื้องหลังของเหล่าศิลปินนั้นคงแตกต่างและไม่ได้สวยงามอย่างที่ใครคิด

สำหรับคนทั่วไป การควบคุมชีวิตตัวเองอาจดูเป็นเรื่องง่าย หรืออาจจะมีอุปสรรคบ้าง พวกเราก็ยังเชื่อว่าตัวเราจะผ่านไปได้

แต่สำหรับไอดอลเกาหลี ชีวิตของพวกเขาดูเหมือนจะไร้การควบคุม

“รอบตัวฉัน ไม่มีใครคอยพูดแบบนั้นว่า เธอตัดสินใจเองเลยสิ เธอคิดยังไงเหรอ ช่วงนี้เธอเป็นยังไงบ้าง เหมือนกำลังด่าเอสเอ็มเลย (หัวเราะ) เหนื่อยแทบตายแล้วยังไงเหรอ”  นี่คือสิ่งที่ซอลลี่เจอ

วิธีที่จะทำให้เธอแข็งแกร่งได้ คือการมองหาสิ่งที่ควบคุมได้ นั่นคือ การกล่าวโทษตัวเองและมอบความจำเป็นให้ตัวเองอยู่เสมอๆ 

“เหมือนฉันแค่โทษตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ฉันทำคือโทษตัวเอง สิ่งเดียวที่ฉันควบคุมได้ คือตอนที่ฉัน…มีแค่ตอนที่ฉันมอบความเจ็บปวดให้ตัวเอง หนึ่งเดียวคือการตำหนิตัวเองและด้อยค่าตัวเอง… มันยาก แต่ทำให้ฉันไปต่อได้มั้ง”

 

การก้าวข้าม การรักษาตัวตน และสัญญาณความช่วยเหลือ

เพราะชีวิตที่เหมือนจะถูกควบคุมด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ เคยพูดแล้วแต่ทุกอย่างเหมือนเดิม เธอก็เลยยอมแพ้ ไม่ปฏิเสธ แต่น้อมรับทุกเส้นทางที่มีคนเลือกให้

แต่ถามว่าเธอเคยคิดจะยืนหยัดเพื่อสิ่งที่เธอต้องการสักครั้งไหม คำตอบ คือ ‘เคย’

“ผมมองว่าการมอบความเจ็บปวดให้ตัวเอง มันมีขีดจำกัดอยู่ แต่ความผิดไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่สภาพแวดล้อมดีไม่ดี ระบบเองนั่นแหละที่เป็นปัญหา…อาจจะเป็นความผิดของคนอื่นก็ได้ ไม่เคยคิดอย่างนั้นเลยเหรอ” ผู้สัมภาษณ์ถามไปแบบนั้น

ในสารคดีซอลลี่เงียบไป ผู้สัมภาษณ์เลยถามขึ้นอีกครั้ง “คุณไม่สามารถคิดแบบนั้นได้เลยเหรอ”

“ไม่ค่ะ ร้องไห้ได้ไหมคะเนี่ย” ซอลลี่ตอบพร้อมกับกลั้นน้ำตาไว้

เธอตอบต่อว่า “ฉันเคยมีช่วงที่เริ่มมีความคิดนั้นเข้ามาในหัว ตอนนั้นทุกอย่างพังครืนหมดเลยค่ะ”

ถ้าดูสารคดี จะเห็นได้เลยว่า แต่ละคำพูด แต่ละประโยคที่ซอลลี่พูดออกมา เธอใช้เวลาคิดนานมาก อาจเป็นเพราะเธอใช้ช่วงเวลานั้นทบทวนและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกจริง ๆ ของตัวเอง

และถึงจะดูเศร้า แต่ในที่สุด ซอลลี่ก็เปิดเผยตัวตนของเธอเอง เธอเลือกที่จะโนบรา และทำทุกอย่างที่เธออยากทำ แต่เธอกลับโดนวิจารณ์อย่างหนักจนเลือกพักงานไป 1 ปี และลาออกจากวง f(x)

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังเห็นสัญญาณขอความช่วยเหลือในหลาย ๆ คำพูด เช่น การนำวิดีโอของซอลลี่ที่ชวนทุกคนนึกถึงวันพัง ๆ ของตัวเอง หรือคำพูดที่บอกว่า “ถ้าฉันหายไปจะดีไหมนะ”

ถ้าดูผิวเผิน คำวิพากษ์วิจารณ์อาจดูเป็นเรื่องปกติสำหรับชีวิตไอดอล บางคนรับมือได้ก็เดินหน้าต่อ ส่วนคนที่รับมือไม่ไหวก็เลือกที่จะมองข้าม และร้ายแรงที่สุดคือการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

สารคดี PERSONA : Sulli สำหรับเรามันไม่ได้เป็นเพียงสารคดีชีวิตของศิลปินคนหนึ่งที่จากไป แต่เป็นการสะท้อนชีวิตเบื้องหลังอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพสังคมเกาหลีใต้ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันในระบบที่ ‘ใครอ่อนแอก็แพ้ไป’

ทั้งที่ความจริง ดาราหรือไอดอล คือมนุษย์คนหนึ่งที่หัวเราะ ร้องไห้ เสียใจ รวมถึงอ่อนแอได้ 

พวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าพรีเมียม ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แต่มีโอกาสได้เฉิดฉายในแบบที่เขาเป็น

แต่ใครจะรู้ว่า ภายใต้รอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะของศิลปินที่เรารัก พวกเขากำลังนึกหรือคิดอะไรอยู่…

จริงไหม?

แด่ชเวจินรีและศิลปินทุกคน

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : สารคดี PERSONA : Sulli

 

อ้างอิง : 

allkpop

soompi

malaymail