26 ต.ค. 2566 | 21:13 น.
- ‘ธี่หยด’ เป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่ ณเดชน์ คูกิมิยะ แสดงนำ
- อีกทั้งยังสร้างจากเรื่องที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่งในกาญจนบุรี พ.ศ. 2515 เคยเป็นกระทู้ยอดนิยมในพันทิป เคยถูกเขียนเป็นนวนิยาย และเป็นเรื่องเล่าในเดอะ โกสต์ เรดิโอ ที่มีผู้ชมมากกว่า 9 ล้านครั้ง
- ในเวอร์ชันภาพยนตร์ ‘ธี่หยด’ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นหนังที่พาเราไปทบทวนความสัมพันธ์ของครอบครัว และพี่ชายที่ลุกขึ้นมาปกป้องทุกคน
/บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ธี่หยด รวมถึงมีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน/
ตอนนี้กระแสภาพยนตร์ไทยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง อาจเป็นเพราะวิธีการเล่าเรื่องที่ตรงจริตคนดู และการกล้าออกนอกกรอบจากเส้นเรื่องเดิม ๆ
เช่นเดียวกับ ‘ธี่หยด’ ที่เคยโด่งดังจากการเป็นเรื่องเล่าจากกระทู้พันทิป จนถูกนำมาเป็นนวนิยาย และกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากคุณกฤตานนท์ หลานของครอบครัวนั้นมาเล่าผ่านรายการเดอะ โกสต์ เรดิโอ ในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
ธี่หยด เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่งในกาญจนบุรี พ.ศ. 2515 ที่อยู่ดี ๆ ลูกสาวคนที่สองของบ้านที่เหมือนจะโดนผีเข้า และตายไปอย่างปริศนา
หากจะพูดสั้น ๆ ธี่หยด คือ หนังผีตามสูตรหนังไทยที่เราพอจะคาดเดาตอนจบได้ (ยิ่งคนที่เคยได้ฟังเรื่องนี้มาก่อนก็ยิ่งไม่ตกใจ) แต่อีกมุมหนึ่งมันคือภาพยนตร์ที่ชวนทบทวนความหมายครอบครัว ขณะเดียวกันก็ลดทอนรายละเอียดบางส่วนจากเรื่องเล่าออกไปด้วย
‘ธี่หยด’ เสียงจากวิญญาณถึงครอบครัวกลางไร่
แม้จะถูกดัดแปลง และเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าคำว่า ‘ธี่หยด’ หมายถึงอะไร
บ้างก็บอกว่าเป็นคำเพี้ยนจากคำว่า ‘เตี๊ยหยด’ ภาษามอญโบราณ มีลักษณะคล้ายคำว่า ‘โอม’
บ้างก็บอกว่าไม่ใช่คำมอญ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าคำนี้มีต้นกำเนิดจากชาติใด และหมายถึงอะไร
ถ้าดูในภาพยนตร์ สำหรับผู้ชมที่นั่งอยู่แถวเกือบหน้าสุด เราอาจจะฟังไม่ค่อยชัดว่า จริง ๆ แล้ว เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นคำว่า ‘ธี่หยด’ จริงไหม
แต่สิ่งที่เราได้ยิน คือ เสียงโหยหวนของหญิงสาวที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างของ ‘แย้ม’
ถึงจะไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร แต่เมื่อใครก็ตามที่ได้ยินเสียงนี้ พวกเขาจะหลับ จะมีคนจิตใจแข็งแกร่งเท่านั้นที่จะยังคงสติไว้ได้เพื่อปกป้องสมาชิกในครอบครัว
แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่า ทำไมวิญญาณตนนี้ถึงเลือกครอบครัวนี้ แล้วทำไมถึงเลือกแย้มเป็นที่พักพิง
อาจเป็นเพราะแย้มเคยผ่านความเป็นความตายสมัยเด็กมาก่อน และอีกเหตุผลหนึ่งก็อาจเป็นเพราะวิญญาณนี้ก็ต้องการความมั่นคงทางใจไม่ต่างจากคนเหมือนกัน
“ทำไมมันถึงเลือกแย้มล่ะลุง” ยักษ์ พี่ใหญ่ของบ้าน ถามหมอผีที่เชิญมาปราบวิญญาณ
“ไม่ว่าคนหรือผี ถ้าบ้านไม่ดีก็ต้องหาที่อยู่ใหม่” ลุงหมอผีตอบ
เสียงธี่หยดอาจเป็นเพียงเสียงจากวิญญาณถึงครอบครัวกลางไร่ว่า เขายังอยู่ และจะพักอยู่ที่นี่ตลอดไป
ขณะเดียวกัน ธี่หยดก็เป็นสัญญาณเตือนของครอบครัวที่บอกว่า ลูกสาวคนกลางของบ้านจะเปลี่ยนไป ไม่เหมือนคนเดิมที่พวกเขารู้จัก
ครอบครัวคนจีน พี่ชายคนโต และพี่น้องที่รักกัน
แย้มเรียกหยาดว่า ‘เจ้’ เสื้อผ้าของพ่อแม่ ยอด และยศก็เป็นเสื้อคอจีน สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้ว่า ครอบครัวนี้คือลูกหลานชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในไทย
และเพราะเป็นชาวจีน พ่อจึงเป็นคนเคร่งระเบียบวินัย ลูก ๆ ห้ามกลับดึก และต้องเชื่อฟังคำพูดของพ่ออยู่เสมอ ส่วนแม่ก็รักลูกมาก พร้อมทำทุกอย่างเพื่อลูกทุกคน ขณะเดียวกันเราก็เห็นบทบาทของพี่คนโต ที่แม้จะดูรักอิสระ แต่เพื่อครอบครัวแล้ว ก็สู้ไม่ถอยเหมือนกัน
โดยเฉพาะตัวละครหลักอย่าง ‘ยักษ์’ ที่รับบทโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ ที่ทำให้เราเชื่อได้จริงว่า ยักษ์คือพี่ชายคนโต อาจจะดูโผงผางไปบ้าง แต่เขาก็เป็นพี่ที่รักน้อง ๆ ไม่ต่างจากคนอื่นในครอบครัวเลย
ยักษ์เป็นคนปากไม่ตรงกับใจ และไม่ค่อยบอกรัก แต่แสดงผ่านการกระทำ ทั้งซื้อของฝากน้อง ๆ พยายามเป็นลูกชายและพี่ชายที่คอยปกป้องครอบครัว
นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังพาเราไปสำรวจความรักของพี่น้องที่รักและดูแลกันเป็นอย่างดี และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
จะเห็นได้จากฉากที่วิญญาณร้ายในร่างแย้มพยายามจะสู้กับครอบครัวนี้ ยักษ์ก็คอยจัดแจง บอกให้หยาดกับยี่อยู่ในบ้าน ล็อกกลอนประตู อย่าออกไปไหน ให้ยศและยอดไปช่วยกันตามหาน้อง
ขณะเดียวกัน มากกว่าธี่หยดจะเป็นหนังผีต้อนรับฮัลโลวีน อีกมุมหนึ่งสำหรับผู้เขียน หนังเรื่องนี้เป็นหนังครอบครัวที่ชวนตั้งคำถามว่า ถ้าวันหนึ่งคนในครอบครัวเราไม่เหมือนเดิม เราจะทำอย่างไร
เพราะเอาเข้าจริง ทั้งเรื่องเราจะเห็นความสับสนในใจของ ‘ยักษ์’ ที่ต้องเลือกระหว่างความปลอดภัยของน้องกับการกำจัดวิญญาณร้าย
ทุกครั้งที่ยักษ์เหนี่ยวไกปืน ในใจเขาจะระลึกเสมอว่า นี่คือน้อง ครอบครัวที่เขารักมากที่สุด
แล้วถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกทำแบบไหน?
ธี่หยดเวอร์ชันหนัง vs ธี่หยดเวอร์ชันเรื่องเล่ายอดนิยม
“ธี่หยดเวอร์ชันนี้เรายึดตามนวนิยายเรื่องธี่หยดที่อธิบายสถานที่และเรื่องราวไว้” ณฤทธิ์ ยุวบูรณ์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้บอกในงานแถลงข่าวธี่หยดกาล่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566
เหตุผลที่ทีมงานเลือกนวนิยาย เพราะจำเป็นต้องหาสถานที่ถ่ายทำ บ้านกลางไร่ที่เหมาะสมกับภาพในจินตนาการของแฟนคลับที่เคยฟังเรื่องเล่ามาก่อนแล้ว
ซึ่งภาพรวมของภาพยนตร์ ถือว่าทีมงานทำได้ดี ไม่ได้ใช้จังหวะ jump scared มากเกินไป แต่พอมีจังหวะผีโผล่ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชมเป็นครั้งคราว และมีจังหวะให้เราตัวเกร็ง ลุ้นระทึกไปกับตัวละครในบางฉาก
ขณะเดียวกัน หนังก็ลดทอนรายละเอียดบางส่วน และเพิ่มความแฟนตาซีเข้าไปให้เนื้อเรื่องน่าสนใจและสนุกมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่ยักษ์จะต้องขับรถพาแย้มไปส่งโรงพยาบาล ในเรื่องเล่า คุณกฤตานนท์เล่าผ่านรายการ เดอะ โกสต์ เรดิโอ (The Ghost Radio) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ว่า
“ทั้ง ๆ ที่เป็นทางที่ขับกันทุกวัน แต่เหมือนเราขับรถวนกลับมาที่เดิม… แม่เห็นผู้หญิงยืนข้างทาง คิดว่าเป็นคนที่เพิ่งเลิกงาน..”
จริง ๆ ในหนังก็ยังถ่ายทอดผ่านมุมมองของหยาดได้ดี เรายังคงเห็นผู้หญิงที่ยืนริมทางเหมือนเดิม แต่มากกว่านั้น คือ เราเห็นการต่อสู้ของยักษ์กับวิญญาณร้ายและภาพหลอน
ภาพหลอนที่ค่อย ๆ ทำให้ยักษ์ดูเป็นหัวเรือในการสู้ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับบทคนขับรถตามเรื่องเล่า หรือเป็นคนถือปืนลงอาคมเพื่อทำให้วิญญาณเหล่านั้นหายไป และออกจากร่างของ ‘แย้ม’
ส่วนถ้าดูในเรื่องบทภาพยนตร์ ก็มีบางช่วงที่เรารู้สึกเหมือนเรานั่งดูละคร อาจเป็นเพราะมีบทพูดที่สอนใจตรง ๆ
ในการสู้กับผีครั้งสุดท้าย หมอผีได้พูดกับครอบครัวกลางไร่นี้ว่า “คนที่จะสู้กับผีได้ มีแต่เอ็งเท่านั้น” หมอผีพูดพร้อมกับมองหน้ายักษ์
อีกทั้งคำพูดของหมอผีก็ยังถูกนำมาใช้ตัดสลับเพื่อให้เห็นความสับสนและความรักของพี่ชายคนโตที่มีต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว ซึ่งทำให้เราอินกับเรื่องในมุมมองที่แตกต่างออกไป
มองภายนอก ‘ธี่หยด’ อาจเป็นหนังผีไทย แต่ถ้ามองลึกลงไป สำหรับเรา ธี่หยด เป็นหนังครอบครัวที่ชวนตั้งคำถามและกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว
ประเด็นของ ธี่หยด อาจไม่ใช่แค่เสียงจากวิญญาณถึงคนเป็น หรือพูดเรื่องความเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องครอบครัวที่คอยช่วยเหลือ จับมือ และโอบกอดกันในเวลาที่เราต้องการพักพิง
ไม่ใช่แค่ผี แต่คนก็ต้องการเหมือนกัน
ใครสักคน หรือบ้านสักหลังที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจ
ภาพ : โปสเตอร์หนังธี่หยด
อ้างอิง :