‘เฉินหลง’ กับชีวิต 2 ปีในไทยที่ไม่มีในบันทึก ความผูกพัน และนำมาสู่ ‘พระสมเด็จรุ่นเฉินหลง’

‘เฉินหลง’ กับชีวิต 2 ปีในไทยที่ไม่มีในบันทึก ความผูกพัน และนำมาสู่ ‘พระสมเด็จรุ่นเฉินหลง’

‘เฉินหลง’ ใช้ชีวิต 2 ปีในไทยที่เยาวราช ชีวิตช่วงนี้คือเรื่องราวการต่อสู้ของนักแสดงเอเชียแถวหน้าของโลกที่ไม่มีในบันทึก ความผูกพันต่อประเทศไทยยังนำมาสู่เหตุการณ์ที่ทำให้คนเรียกพระสมเด็จรุ่นหนึ่งว่า ‘สมเด็จรุ่นเฉินหลง’

“ผมเคยมาอาศัยอยู่ที่เมืองไทยแถวเยาวราชตอนเก้าขวบ ได้สองปี ซึ่งเป็นที่ที่ผมผูกพัน มีไม่กี่ที่ที่ให้ผมเป็นครอบครัว หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย”

เฉินหลง กล่าวในวันที่ 22 มกราคม 2017 พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยทางภาคใต้ 1,000 ถุง และมอบเงิน 500,000 เหรียญฮ่องกง หรือประมาณสองล้านห้าแสนบาท เพื่อมอบแก่สภากาชาด ช่วยบรรเทาภัยพิบัติอุทกภัยภาคใต้

ในหนังสือ ‘เฉินหลง Never Grow Up’ ซึ่งเป็นหนังสือชีวประวัติที่เฉินหลงเป็นคนดูแลการผลิตและข้อมูลทั้งหมดด้วยตนเองและให้ ‘จูม่อ’ เรียบเรียง และตีพิมพ์ออกมานั้น ไม่เขียนเรื่องราวในช่วงเวลาวัยเยาว์ในตอนที่เขาอยู่เมืองไทยในสองปีนั้นแต่อย่างใด เพียงแต่เฉินหลง เว้นว่างช่วงเวลานั้นเอาไว้ ถึงช่วงเวลาสองปีที่ห่างหายไปจากโรงเรียนสอนอุปรากรจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาถูกปลดออกจากาการเป็น ‘ซิเสี่ยวฟุ’ หรือ ‘เจ็ดนำโชคน้อย’ นั่นเอง

เฉินหลง เกิดวันที่ 7 เมษายน 1954 ที่วิกตอเรียพีค ในฮ่องกง มีชื่อจริงว่า เฉินกั่งเซิง (陳港生) หรือหมายความว่า ‘เกิดที่ฮ่องกง’ พ่อของเฉินหลงชื่อ เฉินจื้อผิง (陳志平) แม่ชื่อ เฉินลี่ลี่ (陳莉莉) เดิมอยู่เมืองจีน แต่หนีออกมาอยู่ฮ่องกงสมัยสงครามกลางเมือง ตั้งแต่ช่วงต้นยุค 50s พ่อของเขาทำงานเป็น ‘พ่อครัว’ แม่ทำงานเป็น ‘แม่บ้าน’ ให้กับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในฮ่องกง นับว่าเป็นงานรายได้ดีสำหรับผู้อพยพ แต่ยังไม่นับว่าดีมากนัก

จนกระทั่ง เฉินลี่ลี่ ตั้งครรภ์ลูกคนแรกในวัย 38 ปี  เด็กอยู่ในครรภ์ถึง 12 เดือนไม่ได้คลอดออกมาเสียที (ในสมัยก่อนต้องปวดท้องคลอด คนถึงไปหาหมอ)

เกิดมาเพื่อเป็นคนดัง

เฉินลี่ลี่ ตั้งครรภ์จนอายุครรภ์ครง 12 เดือน จนวันหนึ่ง เธอก็ปวดท้องจนทนไม่ไหว เฉินจื้อผิง ผู้เป็นสามีจึงรีบนำภรรยาไปส่งที่โรงพยาบาล หมอที่ทำการคลอดมาตรวจก็พบว่า เด็กตัวใหญ่เกินไป ต้องผ่าคลอด การผ่าคลอดนั้นใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง เมื่อสิ้นสุดการผ่าคลอดก็พบว่า เด็กชายมีน้ำหนักถึง 12 ปอนด์ (เกือบหกกิโลกรัม) จนหนังสือพิมพ์ต้องเอาไปพาดหัวข่าว การคลอดของ ‘ทารกยักษ์’ ที่อยู่ในครรภ์แม่ 12 เดือน สองสามีภรรยาจึงตั้งชื่อเด็กชายว่า ‘อาเพ่า’ หรือ ลูกระเบิด

เนื่องจากเป็นการผ่าคลอดจนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการคลอดเองตามปกติ เป็นเงินหลายร้อยดอลลาร์ฮ่องกง ในตอนนั้น สองสามีภรรยาตระกูลเฉินยังไม่มีเงินมากขนาดนั้น หมอที่ทำคลอดเป็นสุภาพสตรีและไม่มีบุตร เธอจึงเสนอว่า จะขอตัวเด็กน้อยเฉินกั่งเซิง ไปเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรมและจะให้เงินสามีภรรยาตระกูลเฉินอีก ห้าร้อยดอลลาร์ฮ่องกง

ในยุคนั้น ครอบครัวที่ยากจนมักจะยินยอมให้ลูกตนเองเป็นลูกบุญธรรมในครอบครัวที่มั่งมีเพื่อเป็นโอกาสที่ดีกว่าให้ลูก สองสามีภรรยาก็ปรึกษากัน ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า ทั้งคู่อายุเกือบสี่สิบปีแล้ว อาจจะไม่มีลูกได้อีก อีกทั้งเด็กชายอยู่ครรภ์มารดา 12 เดือน น้ำหนักแรกเกิด 12 ปอนด์ เด็กชายคนนี้น่าจะเป็นมงคลต่อครอบครัว สองสามีภรรยาจึงไปหยิบยืมเงินของเพื่อน ๆ มาจ่ายค่าทำคลอดและเลี้ยงดูเด็กน้อย เฉินกั่งเซิง เอาไว้เอง

เฉินกั่งเซิง จึงถูกเลี้ยงดูมาในสถานฑูตฝรั่งเศส เมื่ออายุถึงเกณฑ์ก็เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนหนานหัว

ในวัยเยาว์ เฉินกั่งเซิง เกเรไม่ตั้งใจเรียนจนต้องเรียนซ้ำชั้น พ่อและแม่ของเขาต่างมองว่า การศึกษาปกติอาจจะไม่ใช่แนวทางของเด็กชาย เฉินจื้อผิง ผู้เป็นพ่อ พอที่จะเคยฝึกมวยตระกูลหงมาบ้างก็สอนมวยให้ลูกชายมีพื้นฐานและร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งเฉินกั่งเซิง ก็มีแววจะไปได้ดี ในช่วงเวลานั้นเอง เฉินจื้อผิง ได้งานเป็นหัวหน้าพ่อครัวประจำสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาที่ออสเตรเลีย สามีภรรยาตระกูลเฉินจึงได้นำพาลูกชายไปเรียนที่โรงเรียนสอนอุปรากรจีน(งิ้ว)ปักกิ่ง ของอาจารย์อวี๋จานหยวน (หยูจ่านหยวน) 

ในตอนแรกเด็กชายเฉินกั่งเซิง ก็สนุกที่ได้เห็นเด็ก ๆ ที่โรงเรียนนี้ไม่ต้องเรียนหนังสือเลย วัน ๆ เอาแต่ฝึกกังฟู กระโดดตีลังกาเท่านั้น แต่พอพ่อแม่ของเขาได้เซ็นสัญญาให้เฉินกั่งเซิง เป็นนักเรียนของโรงเรียนสอนอุปรากรจีนแห่งนี้ เด็กชายก็ได้รู้ว่าชีวิตวัยเด็กของเขาได้จบลงแล้ว เพราะเด็ก ๆ ที่นี่ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า ทานอาหารเช้าและฝึกร่างกายจนถึงเที่ยง กินข้าวเที่ยงและฝึกต่อถึงกลางคืน นอนแค่วันละหกชั่วโมง กิจวัตรเป็นเช่นนี้ทุกวัน 

มีครั้งหนึ่งเฉินกั่งเซิง ป่วย แม่บ้านฟางที่ดูแลโรงเรียนก็คอยดูแล แต่อาจารย์อวี๋จานหยวน ก็บอกให้เด็กชายลุกขึ้นมา เตะซ้ายขวาสองร้อยครั้ง และกระโดดเตะอีกสองร้อยครั้ง เด็กน้อยเหงื่อโทรมกาย

“เจ้าหายดีแล้วหรือยัง” อาจารย์อวี๋จานหยวนถาม

“หายดีแล้วครับ” เฉินกั่งเซิง รีบตอบเพราะกลัวว่า อาจารย์จะให้เขาฝึกเตะต่อยท่าอื่นอีก หลังจากนั้น เฉินกั่งเซิงและเด็กนักเรียนทุกคนก็ไม่มีใครกล้าป่วยอีก 

สิ่งเดียวที่ปรารถนาของบรรดาเด็กนักรียนในโรงเรียนแห่งนี้คือ การได้ถูกคัดเลือกให้ไปทำการแสดง เพราะนอกจากได้พักแล้ว ยังได้รับค่าตัวจากการแสดงไปซื้อของกินอีกด้วย ซึ่งตอนนั้นทางโรงเรียนก็ได้คัดเด็กนักเรียนที่มีความสามารถที่สุดเจ็ดคน เป็นดาวเด่นในการแสดงของโรงเรียน พร้อมมอบชื่อในวงการแสดงให้ 

คนแรกที่ได้รับเลือกคือ หยวนหลง (หงจินเป่า) ต่อมาด้วย หยวนไท่ หยวนหัว (เฮียแหลม ในภาพยนตร์คนเล็กหมัดเทวดาของโจวซิงฉือ) หยวนอู่ หยวนขุย หยวนเปียว และ คนสุดท้ายก็คือ ‘หยวนโหลว’ (เฉินกั่งเซิง) โดยใช้ชื่อทางการแสดงว่า ‘ชิเสี่ยวฟุ’ หรือ ‘เจ็ดนำโชคน้อย’

ทั้งเจ็ดล้วนมีงานแสดงตามโรงงิ้วต่าง ๆ รวมถึงเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์หลายเรื่อง นอกจากจะมีชื่อเสียงแล้ว ยังได้สิทธิพิเศษกว่าเด็กคนอื่น ๆ ที่โรงเรียน คือฝึกฝนน้อยลง เพราะต้องไปทำการแสดงนอกโรงเรียน 

นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเฉินกั่งเซิง แต่ไม่นานนัก ตัวเขากับหยวนขุย ก็มีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเองจน อาจารย์อวี๋จานหยวน มาพบเข้า ก็ให้ทั้งคู่ชกต่อยกันต่อจนหมดแรง หลังจากหมดแรงแล้ว อาจารย์ก็เฆี่ยนทั้งสองพร้อมกับปลดทั้งคู่ออกจากการเป็น ‘เจ็ดนำโชคน้อย’ และให้ศิษย์รุ่นพี่มาแสดงแทน

นั่นเป็นช่วงเวลาใกล้กันกับที่แม่ของเฉินกั่งเซิง บินตามไปอยู่กับสามีที่ออสเตรเลีย ทำให้เฉินกั่งเซิง ไร้ที่พึ่งพิงอีก เป็นเวลาที่เฉินหลง เว้นว่างไว้ไม่ได้ลงในหนังสือชีวประวัติของเขา

แต่จากการให้สัมภาษณ์ของเขา น่าจะพออนุมานได้ว่า หลังจากที่ถูกปลดออกจากการเป็น ‘ซิเสี่ยวฟุ’ เด็กน้อยเฉินกั่งเซิง น่าจะติดตามหนึ่งในบรรดาศิษย์ของอาจารย์อวี๋จานหยวน มายังโรงงิ้วปักกิ่งในเยาวราช (ในยุคนั้นในเยาวราชมีโรงงิ้วปักกิ่งอยู่สองที่)

เด็กชายทำงานทั้งเข็นผักขาย และรับจ้างต่าง ๆ เพื่อประทังชีวิต แม้จะยากลำบาก แต่คนไทยมีนิสัยโอบอ้อมอารี คอยหาข้าวหาน้ำให้เขา ทั้งยังมีชายแก่พิการขาเป๋ที่คอยสอนมวยไทยให้กับเขา ทำให้เฉินกั่งเซิง ผูกพันกับเมืองไทยเป็นพิเศษ 

หลังจากนั้น เฉินกั่งเซิง ก็กลับมาที่โรงเรียนอีกครั้ง และได้กลับมาแสดงเป็นหนึ่งในชิเสี่ยวฟุ สำเร็จ ไม่นานนักศิษย์พี่ใหญ่หยวนหลง (หงจินเป่า) เกิดบาดเจ็บในการแสดงจนขาหัก ด้วยความห่วงใย ปู่ของเขาก็ได้ต้มพะโล้ให้เขากินทุกวันเพื่อบำรุง แต่กลายเป็นว่า หยวนหลงอ้วนเอาอ้วนเอา จนเมื่อขาหายบาดเจ็บ เขาก็ไม่สามารถลดน้ำหนักลงมาได้ดังเดิมอีก

อาจารย์อวี๋จานหยวน จึงปลดเขาออกจากการเป็นซิเสี่ยวฟุ หยวนหลง จนออกจากสำนัก และไม่ได้ใช้แซ่หยวนในการแสดงอีก แต่ใช้ชื่อ หงจินเป่า แทน

ก่อนที่หงจินเป่า จะจากไป เขายังบอกกับบรรดาศิษย์น้องของพวกเขาว่า อีกไม่นานจะหมดยุคสมัยของงิ้ว แต่จะเป็นยุคของภาพยนตร์มาแทนที่ หากวันใดเขามีชื่อเสียง ให้บรรดาศิษย์น้องมาหาเขา 

ซึ่งก็เป็นจริงดั่งคำทำนายของหงจินเป่า ไม่นานนักงานแสดงงิ้วก็ลดลง บรรดาศิษย์ในโรงเรียนต่างลาออกรวมถึงเฉินกั่งเซิง ด้วย ที่ครบกำหนดสัญญาสิบปีพอดีที่ทางพ่อแม่เขามอบให้อาจารย์อวี๋จานหยวน คอยดูแล แม้จะเป็นความยากลำบากในวัยเยาว์ของเฉินกั่งเซิง แต่โรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นที่บ่มเพาะนักแสดงแอ็คชั่น และผู้กำกับระดับโลกหลายคน

นอกจาก เฉินหลง หงจินเป่า หยวนเปียว หยวนหัวแล้ว ยังมี หยวนวูปิง (หยวนเหอผิง) ซึ่งเป็นศิษย์พี่ที่สำเร็จการศึกษาไปก่อน ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำเฉินหลงประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง กับภาพยนตร์ ไอ้หนุ่มพันมือ และ ไอ้หนุ่มหมัดเมา ในปี 1978 

เฉินหลงกล่าวในภายหลังว่า “พ่อของเฉินกั่งเซิง คือเฉินจื้อผิง แต่พ่อของเฉินหลง(ชื่อในการแสดง) คือ อาจารย์อวี๋จานหยวน”

เมื่อออกจากโรงเรียน เฉินกั่งเซิง เดินทางไปหาศิษย์พี่ใหญ่หงจินเป่า ซึ่งตอนนั้น เขาเป็นผู้กำกับคิวบู๊ของบริษัท โกลด์เด้น ฮาร์เวตส์ และใช้ชื่อในการแสดงเป็น ‘เฉินหยวนหลง’ โดยเป็นชื่อดั้งเดิมของหงจินเป่า ในโรงเรียน จนกระทั่งเฉินหยวนหลง ไปเซ็นสัญญาแสดงภาพยนตร์กับ หลอเหว่ย ผู้กำกับหนัง Fist of Fury (ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง) ของบรู๊ซ ลี 

หลอเหว่ย จึงขอให้นักเขียนชื่อดังตั้งชื่อการแสดงให้ใหม่ สรุปเป็นชื่อ ‘เฉิงหลง’(เป็นมังกร) ซึ่งต่อมาคนไทยมักจะเรียกชื่อของเขาเพี้ยนไปเป็น ‘เฉินหลง’ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษตั้งแต่แรกเกิดของเฉินหลงนั้น คือ Jacky Chan (ในยุคที่เกาะฮ่องกงยังอยู่ในการดูแลของอังกฤษ ทุกคนที่เกิดในฮ่องกงต้องมีชื่อต้นเป็นภาษาอังกฤษตามด้วยแซ่)

ต่อมา เมื่อเฉินหลง เซ็นสัญญากับทางโกลด์เด้น ฮาร์เวตส์ ทางเรย์มอนด์ โจว อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ และมองว่าชื่อ Jacky ดูธรรมดาเกินไป จึงเปลี่ยนเป็น Jackie ที่เป็นชื่อของผู้หญิงแทน นับแต่นั้น เฉินกั่งเวิง ก็ใช้ชื่อทางการแสดงว่า ‘เฉินหลง’ และ Jackie Chan จนถึงปัจจุบัน

แม้จะอยู่เมืองไทยในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่เฉินหลง มีความผูกพันกับประเทศไทยไม่น้อย ในปี 2018 เฉินหลงถูกประเมินว่า เป็นนักแสดงจีนที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากที่สุด รวมถึงการลงทุนด้านต่าง ๆ 

ด้านความเชื่อความศรัทธา ในระหว่างถ่ายทำ ‘ใหญ่สั่งมาเกิด’ (Armour of God 1986) นับว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการแสดงที่หนักที่สุดในชีวิตของเขา เฉินหลง ตกจากต้นไม้ศีรษะกระแทกพื้นจนเมื่อส่งไปที่โรงพยาบาล หลังจากการตรวจพบเลือดออกในสมองอย่างรุนแรง เกิดการยุบตัวของกะโหลกศีรษะและกกหูด้านซ้าย ที่โรงพยาบาลในยูโกสลาเวียไม่มีหมอผ่าตัดสมองที่มีความสามารถเพียงพอกับการผ่าตัดสมอง

หลายคนมองว่าเฉินหลงคงต้องเสียชีวิตแล้ว แต่บังเอิญที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดสมองระดับโลกชาวสวิส ได้มาบรรยายที่ยูโกสลาเวียพอดี ทำให้การผ่าตัดครั้งนั้นผ่านไปได้ด้วยดี เฉินหลงและบรรดาทีมงานต่างมองว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์จากการที่เฉินหลงห้อยบูชา ‘พระสมเด็จ’ พิมพ์ฐานแซม ปี 2517 ที่ปลุกเสกโดย หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี ที่เฉินหลงห้อยติดตัวไว้ทุกครั้งที่ต้องแสดงฉากเสี่ยงตาย จนทำให้พระสมเด็จรุ่นนี้ถูกเรียกขานว่า ‘สมเด็จรุ่นเฉินหลง’ หรือ ‘สมเด็จรุ่นแจ็กกี้ ชาน’ ไปเลย 

 

เรื่อง: เพจ เก้ากระบี่เดียวดาย
ภาพ: เฉินหลง ขณะแสดงในภาพยนตร์ ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพถ่ายถนนเยาวราชจาก NATION PHOTO