‘The Devil’s Deal’ หนังโกงเลือกตั้งเกาหลี แฉความโสมมโลกการเมือง

‘The Devil’s Deal’ หนังโกงเลือกตั้งเกาหลี แฉความโสมมโลกการเมือง

‘The Devil’s Deal’ หรือชื่อไทย ‘ดีลนรกคนกินชาติ’ แฉความสกปรกของแวดวงการเมือง ที่กฎหมายและระบบการตรวจสอบเต็มไปด้วยความหละหลวม จากการเลือกตั้งที่ควรจะแข่งกันด้วยนโยบาย กลายเป็นการต่อสู้ที่แข่งกันว่ามือใครจะสกปรกมากกว่า ในขณะที่ผู้เสียผลประโยชน์คือประชาชน

  • The Devil’s Deal เป็นผลงานการกำกับของ ‘อีวอนแท’ ผู้กำกับผู้ผันตัวมาจากการทำงานเบื้องหลังวงการจอแก้วมาสู่วงการจอเงินในปี 2017 กับผลงาน ‘Man of Will’
  • หนังเลือกที่จะเล่าเรื่องที่มีเซตติ้งอยู่ในปี 1992 ซึ่งพอดิบพอดีเป็นปีเดียวกับการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของเกาหลีใต้ไปตลอดกาล

(บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์)

นับว่าเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะเสียเหลือเกิน ที่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง มีหนังเรื่องหนึ่งที่เข้ามาฉายในบ้านเราในวันที่ 26 เมษายน 2023 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งพอดิบพอดี 

แม้ว่าตัวหนังจะไม่ได้มีกระแสในบ้านเราสักเท่าไร แต่เมื่อครั้งเข้าฉายที่ประเทศต้นกำเนิดอย่างเกาหลีใต้นั้น สามารถเปิดตัวเป็นอันดับ 1 บนตาราง Box Office ของเกาหลีใต้ได้อย่างสวยงาม และหนังที่ผู้เขียนกำลังพูดถึงอยู่ก็คือ ‘The Devil’s Deal’ หรือชื่อภาษาไทย ‘ดีลนรกคนกินชาติ’

The Devil’s Deal เป็นผลงานการกำกับของ ‘อีวอนแท’ ผู้กำกับผู้ผันตัวมาจากการทำงานเบื้องหลังวงการจอแก้วมาสู่วงการจอเงินในปี 2017 กับผลงาน ‘Man of Will’ ที่ได้ ‘โจจินอุง’ นักแสดงหนุ่มโปรไฟล์สูง ประกบคู่กับขวัญใจสาว ๆ อย่าง ‘ซงซึงฮอน’ ซึ่งตัวผู้กำกับก็ได้ชวนให้เขาคนนี้มาร่วมงานกันอีกครั้ง ในผลงานภาพยนตร์การเมืองสุดเข้มข้นเรื่องใหม่นี้

ในขณะที่ผลงานการกำกับเรื่องที่ 2 ของเขา ‘The Gangster, the Cop, the Devil’ ภาพยนต์แอ็กชันเลือดเดือดที่ได้ ‘มาดงซอก’ และ ‘พัคมูยอล’ นำแสดง คอหนังเกาหลีในไทยหลายคนน่าจะเคยผ่านตาเรื่องนี้มาแล้ว เพราะเป็นที่พูดถึงในแวดวงคนรักหนังพอสมควร กวาดคะแนนในเว็บ Rotten Tomatoes ในฝั่งนักวิจารณ์และฝั่งผู้ชมไปมากถึง 97% และ 94% ตามลำดับ แน่นอนว่าผู้กำกับก็ไม่พลาดที่จะดึงเอา ‘พัคมูยอล’ กลับมาร่วมงานอีกครั้ง 

เท่ากับว่า ครึ่งหนึ่งของคู่นักแสดงนำชายในหนัง 2 เรื่องแรกที่เขากำกับ ได้มาแสดงร่วมกันในหนังเรื่องที่ 3 ของเขานี่เอง 

นอกจากนี้ก็ยังเพิ่มดีกรีความเดือดด้วย ‘อีซองมิน’ ที่ชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตาเขากันดีจากซีรีส์ ‘Reborn Rich’ เท่ากับว่านี่คือหนังที่นำเอายอดฝีมือการแสดงรุ่นใหญ่มาประชันบทบาทด้วยกันถึง 3 คนเลยทีเดียว 

สิ่งแรกที่ผู้ชมได้เห็นจากหนัง The Devil’s Deal คือตัวหนังสือที่ออกตัวแต่เนิ่น ๆ ไว้ก่อนเลยว่า หนังเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องแต่งเท่านั้น จะด้วยความบริสุทธิ์ใจหรืออะไรก็ตาม

แต่ก็น่าคิดที่ตัวหนังเลือกที่จะเล่าเรื่องที่มีเซตติ้งอยู่ในปี 1992 ซึ่งพอดิบพอดีเป็นปีเดียวกับการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของเกาหลีใต้ไปตลอดกาล เมื่อ ‘คิมยองซัม’ กลายเป็นพลเรือนคนแรกที่ชนะการเลือกตั้งและได้ดำรง ตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนที่ 7 เป็นการเปลี่ยนผ่านเกาหลีใต้สู่ยุคประชาธิปไตยแบบเต็มใบ หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมากว่า 30 ปี

หนังเล่าเรื่องของ ‘จอนแฮอุง’ (โจจินอุง) นักการเมืองท้องถิ่นผู้ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังในการเล่นการเมือง แต่เป็นขวัญใจประชาชนด้วยความทุ่มเทพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดมาอย่างยาวนาน 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้เขาเห็นโอกาสที่จะยกระดับตัวเองไปนั่งเก้าอี้ ส.ส. ในสภา ทว่าจู่ ๆ ก็กลับถูกพรรคต้นสังกัดซึ่งมี ‘ควอนซุนแท’ (อีซองมิน) เป็นผู้มีอิทธิพลภายในเขี่ยทิ้ง และรับเอาคนอื่นที่ว่านอนสอนง่ายมาแทน เนื่องจากเห็นว่านโยบายที่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักและจุดยืนทางการเมืองของเขานั้น ไม่ตอบโจทย์การหาผลประโยชน์เข้าตัว 

ด้วยเหตุนี้ แฮอุงจึงได้ลงสมัครสู้ในฐานะผู้สมัครอิสระ โดยการทำข้อตกลงกับ ‘คิมพิลโด’ มาเฟียเงินกู้นอกระบบ และเจ้าหนี้ที่เขาเคยกู้เงินมาเล่นการเมือง ให้สนับสนุนเงินทุนเขาอีกครั้ง 

โดยมีไพ่เด็ดในการโน้มน้าวใจคือ เอกสารลับแผนพัฒนาเมืองปูซาน ที่มีผลประโยชน์ทางเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงตรงนี้ แฮอุงที่ทุ่มเทเพื่อท้องถิ่นของตนเองไม่ได้รู้ตัวเลยว่า ตัวเขาได้จับมือทำสัญญากับปีศาจไปแล้ว

สำหรับผู้เขียนแล้ว หนังมีการเล่าเนื้อเรื่องช่วงองก์แรกที่ชวนหาวนอนไปสักเล็กน้อย ด้วยความที่โทนเนื้อเรื่องในช่วงแรกคือการปูเรื่องราวต่าง ๆ กอปรกับทางผู้กำกับเลือกให้นักแสดง ‘เล่นใหญ่’ สีหน้าท่าทางน้ำเสียงดูเกินจริง ซึ่งพบทั่วไปในหนังและซีรีส์เกาหลีหลาย ๆ เรื่อง อันนี้ก็แล้วแต่รสนิยมของผู้ชมเลย แต่สำหรับผู้เขียนแล้วชอบการแสดงแบบดูเป็นธรรมชาติมากกว่า 

เมื่อเสร็จสิ้นการปูเรื่องราว เข้าสู่พาร์ตเนื้อหาหลักในช่วงเลือกตั้ง โทนของเรื่องก็ค่อย ๆ ปรับให้มีความจริงจังมากขึ้น เมื่อหนังเล่าผ่านช่วงการเลือกตั้งไปแล้ว ที่เหลือคือความเดือดปรอทแตกในพาร์ตดราม่าสุดดาร์กและเข้มข้น มีการหักเหลี่ยมเชือดเฉือน งัดกลวิธีโสมมต่าง ๆ มาฟาดฟันกัน เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยการพลิกผัน หักมุม เดือดประหนึ่งราวกับหนังแอ็กชันมาเฟียสักเรื่อง 

ประกอบกับการประชันบทบาทของนักแสดงที่ทุกคน ‘เอาอยู่’ แม้แต่ซีนคุยกันในห้องเงียบ ๆ ยังอบอวลไปด้วยบรรยากาศที่กดดัน และไว้วางใจไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ส่วนนี้ก็ต้องยกเครดิตให้กับทีมโปรดักชั่นด้วย ที่นอกจากจะเก็บบรรยากาศของเกาหลีใต้ต้นยุค 90’s ได้หมดจดแล้ว ยังมีเทคนิคการถ่ายทำ มุมกล้อง ซาวนด์ประกอบที่ช่วยยกระดับให้หนังดูมีความศิลป์ที่เพิ่มอรรถรสให้กับผู้ชมได้ไม่น้อย

อีกจุดที่โดดเด่นของหนังน่าจะเป็นพัฒนาการของตัวละคร จอนแฮอุง ที่ค่อย ๆ ดำดิ่งเข้าสู่ด้านมืด ในช่วงแรก ๆ เขาจะแสดงสีหน้ากังวลในการกระทำความผิดอย่างชัดเจน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป จากความรู้สึกผิดก็เปลี่ยนเป็นความเคยชิน ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่น่ากลัว สามารถทำได้ทุกสิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง 

แน่นอนว่า โจจินอุง ถ่ายทอดตัวละครนี้ออกมาได้สมบูรณ์มากในมุมที่ทำให้เราเห็นว่า เมื่อได้ทำสัญญากับปีศาจไปแล้ว จะไม่สามารถกลับมาเป็นคนเดิมได้อีก

เหมือนจะชมเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้ว The Devil’s Deal ค่อนข้างเป็นหนังที่มีแผลเยอะอยู่เหมือนกัน ในแง่ของการจงใจไม่ลงรายละเอียดในบางประเด็น เพื่อให้หนังมันไปต่อได้ เช่น การโกงผลการเลือกตั้ง ที่พอย้อนคิดไปก็ชักสงสัยว่าวิธีการอุกอาจแบบนั้น ทำไม กกต. จึงจับไม่ได้ หรือจงใจไม่จับ กลายเป็นปริศนาธรรมแบบงง ๆ ถ้ามีเล่าเพิ่มว่าไปดีลผลประโยชน์กับ กกต. สักหน่อย น่าจะช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ได้

โดยรวมแล้วนี่คือหนังที่แสดงให้เห็นถึงความสกปรกของแวดวงการเมืองในสังคม ที่กฎหมายและระบบการตรวจสอบเต็มไปด้วยความหละหลวม จากการเลือกตั้งที่ควรจะแข่งกันด้วยนโยบาย กลายเป็นการต่อสู้ที่แข่งกันว่ามือใครจะสกปรกมากกว่า ในขณะที่ผู้เสียผลประโยชน์คือประชาชน 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แม้หนังจะมีบทที่เข้มข้นและเดินเรื่องด้วยเพซที่รวดเร็วเร้าใจ แต่กลับไปได้ไม่สุดเท่าที่ศักยภาพของมันสามารถทำได้ ในแง่การดูเอาสนุกก็ยังถือว่าดีในระดับหนึ่ง แต่ยังห่างไกลจากผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับอย่าง The Gangster, the Cop, the Devil ที่ผู้เขียนแนะนำมาก ๆ สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่เคยดู

จะว่าไปก็น่าเสียดายที่ไม่รู้ว่าเพราะผู้เขียนคุ้นเคยกับการเมืองไทยหรือเปล่า เลยรู้สึกว่าพอจะคาดเดาปลายทางของหนังได้แต่เนิ่น ๆ ว่ามันจะไปจบตรงไหน อีกทั้งสิ่งที่หนังนำเสนอ แม้จะเกริ่นนำเอาตัวรอดไปก่อนแล้วว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่ประเด็นต่าง ๆ ที่นำเสนอล้วนจับต้องได้ และสะท้อนมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในแวดวงการเมืองทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้มุมมองที่เรามีต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในใจ ไม่เหมือนเดิมอีกเลยก็ได้



อ้างอิง : 

csdi
wikipedia
imdb
rottentomatoes