08 พ.ค. 2568 | 15:00 น.
KEY
POINTS
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ที่อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร เด็กชายลูกครึ่งชื่อจำรัสได้ลืมตามาดูโลก บิดาของจำรัสเป็นชาวเยอรมันชื่อนายเกอร์เซน ผู้มาลงหลักปักฐานทำงานอยู่เมืองไทยเป็นเภสัชกรประจำห้าง บี. กริม แอนด์ โก ส่วนมารดาเป็นชาวมอญชื่อนางฉาย ตั้งแต่เด็กจำรัสใช้นามสกุลตามฝั่งมารดาว่า ‘แกวกก้อง’ เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็น ‘เกียรติก้อง’ ภายหลังในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม
ช่วงที่จำรัสยังเล็กเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พอดี พอสงครามยุติ บิดาซึ่งเป็นชาวเยอรมันฝ่ายที่แพ้สงครามจึงต้องหลีกลี้หนีภัยกลับประเทศและไปเสียชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนในขณะที่จำรัสมีอายุเพียงแค่ 4 ขวบ มารดาจึงต้องรับภาระเลี้ยงดูจำรัสกับพี่ชายอีกคนให้เติบใหญ่ขึ้นมาโดยลำพัง
สมัยเล็ก ๆ เด็กชายจำรัสชอบวาดภาพ ขีดเขียนละเลงฝาบ้านจนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด พอจำรัสเติบโตเป็นวัยรุ่น น้าชายชื่อนายลำไยเห็นหลานน่าจะชอบศิลปะเลยแนะให้ไปเรียนโรงเรียนเพาะช่าง ระหว่างเป็นนักเรียนจำรัสได้ไปเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ที่รายงานเกี่ยวกับศิลปินนักวาดภาพชาวอิตาเลียนที่ถูกเชื้อเชิญมาเมืองไทยเพื่อให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 7 จากพระองค์จริง เห็นดังนั้นจำรัสจึงตั้งปณิธานไว้ว่าชาตินี้จะต้องวาดภาพให้เก่งที่สุด เพื่อจะได้มีโอกาสได้รับความไว้วางใจให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์จากพระองค์จริงให้ได้ ไม่ใช่เอาแต่วาดในหลวงจากภาพถ่ายอย่างที่ใคร ๆ ที่ไหนเขาก็ทำกัน
หลังจำรัสจบจากเพาะช่างในปี พ.ศ. 2477 ท่านได้เข้าทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย จำรัสนับว่าเนื้อหอมมากในหมู่สาว ๆ เพราะใจดีและมีหน้าตาหล่อเหลาระดับพระเอกหนัง จะไม่ให้หล่อได้ยังไง ก็ท่านเป็นลูกครึ่งเยอรมัน-มอญ จำรัสเลยไม่ต้องไปดั้นด้นหาคู่ครองที่ไหนไกลได้ภรรยาเป็นลูกศิษย์ใกล้ตัวนามว่า ‘โกสุม เกตุเลขา’
และแล้วสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นอีกในราวปี พ.ศ.2482 เพื่อความปลอดภัย โรงเรียนมากมายจึงประกาศหยุดการเรียนการสอนโดยไม่มีกำหนด จำรัสซึ่งรับหน้าที่เป็นอาจารย์เลยมีเวลาว่างไปฝึกวาดภาพกับเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ สถานที่แห่งนี้จำรัสได้พบกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ซึ่งชื่นชอบผลงานของจำรัสมากจนถึงกับกล่าวชมไว้ในบทความที่ท่านเขียนเผยแพร่อยู่เนือง ๆ ทั้งยังยกห้องทำงานส่วนตัวให้จำรัสใช้วาดภาพอีก ศาสตราจารย์ศิลป์แนะนำติชมจนจำรัสมีฝีมือในการวาดภาพแก่กล้าไปเข้าตาพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ผู้ซึ่งทรงบริหารงานอยู่ในกรมศิลปากร พระองค์ชายใหญ่ทรงเห็นแววจึงมีรับสั่งขอให้จำรัสโอนย้ายมารับราชการที่กรมศิลปากร จะได้มีโอกาสทำงานด้านศิลปะ
เมื่อมาประจำอยู่ที่กรมศิลปากร จำรัสได้รับมอบหมายให้วาดภาพประดับสถานที่สำคัญ กระทรวง ทบวง กรม รวมถึงสถานทูตไทยในต่างประเทศ อีกทั้งในเวลานอกราชการจำรัสยังรับวาดภาพเหมือนด้วยสีน้ำมัน และสีชอล์ก พอมีลูกค้าสนใจจำรัสก็มักจะมาขอคำปรึกษาให้ศาสตราจารย์ศิลป์เป็นผู้ตั้งราคาให้อยู่เสมอ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผลงานของจำรัสที่เก็บรักษาไว้ในบ้านพักส่วนตัวได้วอดวายเสียหายไปเกือบหมดกับกองเพลิงจากเหตุไฟไหม้ เหตุการณ์นั้นทำเอาจำรัสและครอบครัวแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้านายและเพื่อน ๆ
ในปี พ.ศ. 2492 ได้มีการจัดการประกวดผลงานศิลปะในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก โต้โผใหญ่ของงานนี้คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มีพระคุณกับจำรัส จำรัสจึงไม่พลาดร่วมส่งผลงานเข้าประกวดด้วย และในครั้งนั้นจำรัส ก็ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากภาพวาดหญิงเปลือย ต่อมาในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 พ.ศ. 2493 จำรัสก็ส่งภาพเข้าประกวดอีก และได้รางวัลเหรียญทอง ครั้งนี้เป็นภาพที่มีชื่อว่า ‘ชายฉกรรจ์’ ชายในภาพคือ ‘แสวง สงฆ์มั่งมี’ สุดยอดประติมากรผู้ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับจำรัส
ภาพนี้จำรัสไม่ได้ตั้งใจจะวาดขึ้นมาด้วยซ้ำ แต่อยู่มาวันหนึ่งขณะกำลังจะเริ่มวาดภาพอื่นก็เห็นแสวงเดินเข้ามาในห้องเพื่อพูดคุยกับ ‘สิทธิเดช แสงหิรัญ’ จำรัสเห็นสีหน้าท่าทางของแสวงแล้วพลันเกิดแรงบันดาลใจ คว้าพู่กันปาดสีฉุบฉับลงบนผืนผ้าใบอย่างรวดเร็ว ทิ้งทีแปรงกว้าง ๆ หนา ๆ ไว้ให้ดูสนุกสนานเกิดเป็นภาพชายฉกรรจ์สูบไปป์ที่ได้อารมณ์ลงตัวขึ้นมาภายในเวลาแค่อึดใจ
หลังจากนั้นจำรัสได้รับรางวัลอีกครั้งจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติใน ปี พ.ศ. 2496 โดยได้รับเหรียญเงินจากภาพหญิงไทย และในปีถัด ๆ มาจำรัสก็ยังส่งผลงานศิลปะเข้าแสดงอยู่เสมอ แม้ครั้งหลัง ๆ จะไม่ได้ร่วมประกวดด้วยก็ตาม
ปณิธานสูงสุดในชีวิตจิตรกรที่จำรัสได้ตั้งไว้ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนโรงเรียนเพาะช่างเริ่มจะมีทีท่าว่าจะเป็นจริง เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระประสงค์ให้จำรัสวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรขณะทรงผนวช โดยขยายจากภาพถ่ายให้มีขนาดเท่าพระองค์จริง จำรัสตั้งใจวาดอย่างสุดความสามารถอยู่พักใหญ่ เมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์ สมเด็จย่าทรงพอพระทัยเป็นอย่างมากจนถึงกับรับสั่งให้จำรัสช่วยมาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์โดยยินดีจะมาประทับให้เป็นแบบ จำรัสซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณตั้งใจวาดภาพจนสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี
และแล้ววันเวลาที่รอคอยมาเป็นเวลาเกือบทั้งชีวิตก็มาถึงเมื่อ ‘ธนิต อยู่โพธิ์’ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้พาจำรัสเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นการส่วนพระองค์ ในครั้งนั้นในหลวงทรงประทับเป็นแบบให้จำรัสวาดภาพ ทำให้ในที่สุดปณิธานของจำรัสก็ได้กลายเป็นความจริง
เป็นที่น่าเสียดายที่จำรัสมีสุขภาพย่ำแย่ ป่วยด้วยโรคเบาหวานและโรคตับ จึงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยอายุเพียง 49 ปีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ปิดตำนานศิลปินมือวางอันดับหนึ่งเรื่องภาพเหมือนของเมืองไทย
เรื่อง: ตัวแน่น
ภาพ: https://theartauctioncenter.com