‘ฟรานซิส เบคอน’ ศิลปินผู้วาดภาพอันวิปริตบิดเบี้ยวเพื่อต่อสู้กับ ‘อคติทางเพศ’

‘ฟรานซิส เบคอน’ ศิลปินผู้วาดภาพอันวิปริตบิดเบี้ยวเพื่อต่อสู้กับ ‘อคติทางเพศ’

‘ฟรานซิส เบคอน’ จิตรกรชาวอังกฤษ ผู้สร้างความตื่นตระหนกจากความวิปริตบิดเบี้ยวที่แสดงออกในภาพ แต่อีกด้านหนึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ไอคอนแห่งวงการศิลปะในลอนดอน’

  • ‘ศาสนา’ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เบคอนชิงชังอย่างใหญ่หลวง เขาจงใจผลิตภาพวาดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันอันล่อแหลมออกมามากมาย เพื่อท้าทายกฎหมายต่อต้านการเป็นคนรักเพศเดียวกันในสหราชอาณาจักร 
  • เบคอนเคยกล่าวอย่างน่าเศร้าว่า “ผมวาดภาพของตัวเองหลายภาพ, เพราะอันที่จริงแล้ว ผู้คนรอบ ๆ ตัวของผมจากไปเหมือนใบไม้ร่วง และผมไม่มีใครอื่นเหลือให้วาดรูปแล้ว นอกจากตัวเอง” 

เนื่องในโอกาสของเดือน ‘มิถุนายน’ เดือนอันเป็นตัวแทนแห่งความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่หลายคนรู้จักในนาม ‘Pride Month’ ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ใช้ผลงานศิลปะอันอื้อฉาวของเขาต่อสู้กับอคติ หรือแม้แต่กฎหมายที่กีดกันความหลากหลายทางเพศในสังคมอย่างทรงพลัง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ‘ฟรานซิส เบคอน’ (Francis Bacon)

จิตรกรชาวอังกฤษผู้นี้ มีผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพวาดอันบิดเบี้ยวขององคาพยพร่างกายมนุษย์ ที่เหมือนกับถูกปลิ้นเอาอวัยวะภายในออกมาข้างนอก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจอันไร้ความมั่นคงและความสกปรกโสมมที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ 

Figure with Meat (1954), ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของฟรานซิส เบคอน

นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้แหวกขนบธรรมเนียมของการวาดภาพแนวประเพณีนิยมโดยสิ้นเชิง โดยนำรูปแบบของภาพเขียน 3 ช่อง (Triptych) ที่มักวาดกันบนผนังแท่นบูชาของโบสถ์คริสต์ ที่เป็นเรื่องราวทางศาสนาหรือนักบุญ มาใช้ในการวาดภาพที่แสดงถึงความชั่วร้ายเลวทรามของมนุษย์ออกมา แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าผลงานของเขาส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะอังกฤษและของโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างมหาศาล

ฟรานซิส เบคอน ปี 1952 ภาพถ่ายโดย John Deakin

ฟรานซิส เบคอน เกิดวันที่ 28 ตุลาคม ปี 1909 ณ กรุงดับลิน ไอร์แลนด์ ในครอบครัวชาวอังกฤษ แต่เขาหนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 16 ปี และย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีสระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาอาศัยอยู่ที่กรุงลอนดอนในที่สุด เขาวาดภาพชุดแรก ๆ ในปี 1930 ต่อมาในปี 1934 เขาก็มีงานแสดงครั้งแรก แต่ผลตอบรับค่อนข้างย่ำแย่จนเขาถึงกับทำลายงานส่วนใหญ่ไปเกือบหมด

การป่วยด้วยโรคหอบหืดเรื้อรังทำให้เขาได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร ในขณะเดียวกันกับที่เรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเริ่มแพร่กระจายมาถึงอังกฤษ เบคอนสร้างผลงานชุด ‘Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion’ (1944) โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด ‘Guernica’ ของ ‘ปิกัสโซ’ และผลงานของ ‘ซัลบาดอร์ ดาลี’ ซึ่งถูกแสดงในหอศิลป์ที่ลอนดอน 

Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion (1944)

ผลงานของเขาสร้างความตื่นตระหนกแก่สาธารณชนและนักวิจารณ์ จากความวิปริตบิดเบี้ยวที่แสดงออกในภาพ แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกยกย่องให้เป็นงานของศิลปินอัจฉริยะ และก่อเกิดเป็นรูปแบบใหม่ของงานศิลปะอังกฤษอันเกรี้ยวกราด ผลักให้เบคอนกลายเป็น ‘ไอคอนแห่งวงการศิลปะในลอนดอน’

เบคอนได้แรงบันดาลใจจากศิลปินยุคก่อนหน้า อาทิ ‘แร็มบรันต์’ (Rembrandt), ‘ฟรานซิสโก โกย่า’ (Francisco Goya), ‘นีกอลา ปูแซ็ง’ (Nicolas Poussin), ‘ดิเอโก เบลาสเกซ’ (Diego Velázquez) รวมถึงคนทำหนังอย่าง ‘เซอร์เก ไอเซนสไตน์’ (Sergei Eisenstein) และช่างภาพอย่าง ‘เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์’ (Eadweard Muybridge) 

อย่างเช่น ผลงานภาพวาด ‘Head VI’ (1949) ที่เขาทำขึ้นเพื่อเป็นการคารวะปนเสียดสีศิลปินชั้นครูในอดีตอย่างเบลาสเกซ อันเป็นจุดเริ่มต้นของภาพ ‘Study after Velázquez’s Portrait of Pope Innocent X’ (1953) หรือในชื่อเล่นว่า ‘The Screaming Pope’ (สันตะปาปาผู้กรีดร้อง) อันลือลั่นอื้อฉาวของเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตอยู่ภายใต้ความเคร่งครัดเข้มงวดของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในไอร์แลนด์ รวมถึงความทรงจำที่เขาถูกจับขังและกรีดร้องในตู้เสื้อผ้า 

Study after Velázquez’s Portrait of Pope Innocent X (1953)

ภาพวาดชุดสันตะปาปาภาพนี้เชื่อมโยงกับความโกรธแค้นของเขาที่มีต่อวาติกันซึ่งว่ากันว่าสมรู้ร่วมคิดกับพรรคนาซี เบคอนหยิบเอาความอาฆาตมาดร้ายนี้มาขยายให้ใหญ่ขึ้น และแสดงความโกรธเกรี้ยวของเขาที่มีต่อศาสนามาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย แทนที่จะเป็นบัลลังก์ สันตะปาปาในภาพของเบคอนกลับนั่งอยู่บนเก้าอี้ไฟฟ้า ส่วนบนของศีรษะหายไป ปากเปิดกว้างอย่างน่าสยดสยองราวกับกำลังกรีดร้อง หรือกำลังดูดกลืนชีวิตออกจากโลกใบนี้ก็ไม่ปาน

‘ศาสนา’ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เบคอนชิงชังอย่างใหญ่หลวง ในฐานะที่เขาเป็นเกย์ที่อาศัยอยู่ในโลกอันเคร่งศาสนา ที่ก่นด่าประณามเพศสภาพของเขา รวมถึงถูกสังคมชิงชังรังเกียจเพราะตัวตนและรสนิยมทางเพศ ทำให้เขาจงใจผลิตภาพวาดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันอันล่อแหลมออกมามากมาย เพื่อท้าทายกฎหมายต่อต้านการเป็นคนรักเพศเดียวกันในสหราชอาณาจักร 

ดังเช่นหนึ่งผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาอย่าง ‘Two Figures’ (1953) ภาพวาดชายสองคนเปลือยร่างกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันอยู่บนเตียงนอน ซึ่งแสดงออกถึงเนื้อหาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน จนสร้างความช็อกอย่างมากให้สาธารณชนในครั้งแรกที่ถูกเผยแพร่ออกมา และผลงานในลักษณะนี้ของเบคอนก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ว่านี้ในเวลาต่อมา

Two Figures (1953)

แต่น่าเศร้าที่ชีวิตส่วนตัวเขากลับพัวพันกับความรุนแรงในความสัมพันธ์กับอดีตนักบินขับไล่ขี้ยาอย่าง ‘ปีเตอร์ เลซี’ (Peter Lacy) ทำให้ถึงแม้เขาจะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เขาก็เผชิญหน้ากับอาการติดสุราเรื้อรัง และชีวิตที่บิดเบี้ยว ไม่ต่างกับงานศิลปะที่เขามักจะเลียนแบบจากชีวิตของตัวเอง 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ‘จอร์จ ไดเยอร์’ (George Dyer) ชู้รักและนายแบบคนโปรดของเขาได้ฆ่าตัวตายที่ปารีสในปี 1971 เพียง 2 วันก่อนที่เบคอนจะเปิดงานแสดงในปารีส เบคอนไม่เคยให้อภัยตัวเองในความรู้สึกผิดต่อการตายของไดเยอร์ เขาวาดภาพสีดำหม่นหมองในชุด ‘Triptych May-June’ (1973) เพื่อเป็นพยานของความทุกข์โศกและครวญคร่ำถึงการตายของอดีตชู้รักผู้นี้อย่างชัดเจน

Triptych May-June (1973) หรือภาพวาด ‘Self-Portrait’ (1975) ที่วาดภาพตัวเองออกมาอย่างบิดเบี้ยว จากความสะเทือนใจในการตายอย่างกะทันหันของไดเยอร์ 

Self-Portrait (1975)

เขากล่าวว่า “ผมวาดภาพของตัวเองหลายภาพ, เพราะอันที่จริงแล้ว ผู้คนรอบ ๆ ตัวของผมจากไปเหมือนใบไม้ร่วง และผมไม่มีใครอื่นเหลือให้วาดรูปแล้ว นอกจากตัวเอง” 

ฟรานซิส เบคอน เสียชีวิตในปี 1992 จากอาการหัวใจล้มเหลวในวัย 82 ปี ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เขาได้รับการสรรเสริญพอ ๆ กับสาปส่ง อย่าง ‘มาร์กาเรต แทตเชอร์’ อดีตนายกหญิงเหล็กของอังกฤษที่นิยามเขาว่าเป็น “ชายผู้วาดภาพอันน่าสะพรึงกลัว” 

ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต มูลค่าผลงานของเขากลับสูงขึ้น ๆ โดยในปี 2013 ภาพวาด ‘Three Studies of Lucian Freud’ (1969)  ได้รับการบันทึกว่าเป็น ‘ผลงานศิลปะที่ถูกประมูลไปในราคาแพงที่สุดที่เคยมีมา’ ด้วยราคา 142 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงชื่อเสียงในฐานะศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ผู้เปลือยปลิ้นความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์ได้อย่างถึงแก่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

Three Studies of Lucian Freud (1969)

 

อ้างอิง: 

หนังสือ Francis Bacon, 1909 - 1992: deep beneath the surfaces of things /Luigi Ficacci, สำนักพิมพ์ Taschen, หนังสือ Icons of Art: The 20th Century /edited by Jurgen Tesch and Eckhard Hollmann สำนักพิมพ์ Prestel 

ภาพประกอบ

1. Figure with Meat (1954), ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของฟรานซิส เบคอน ภาพจาก https://www.francis-bacon.com/news/catalogue-raisonne-focus-figure-meat-1954 

2. ฟรานซิส เบคอน ปี 1952 ภาพถ่ายโดย John Deakin ภาพจาก https://arthive.com/publications/3366~A_portrait_sketch_10_action_stories_about_Francis_Bacon 

3. Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion (1944) ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/bacon-three-studies-for-figures-at-the-base-of-a-crucifixion-n06171 

4. Study after Velázquez’s Portrait of Pope Innocent X (1953) ภาพจาก https://www.francis-bacon.com/artworks/paintings/study-after-velazquezs-portrait-pope-innocent-x 

5. Two Figures (1953) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Two_Figures_%281953%29 

6. Triptych May-June (1973) ภาพจาก https://www.theparisreview.org/blog/2016/06/13/dying-on-the-toilet/ 

7. Self-Portrait (1975) ภาพจาก https://www.sothebys.com/en/articles/ive-had-nobody-else-to-paint-but-myself-the-solitude-of-bacons-1975-self-portrait 

8. Three Studies of Lucian Freud (1969) ภาพจาก https://www.francis-bacon.com/life/family-friends-sitters/lucian-freud/three-studies-of-freud