คู่รักศิลปิน มารินา-อูไลย์ เดินจากปลายกำแพงเมืองจีนคนละฝั่งมาพบกัน-อำลา ถึงค่อยเลิกกัน

คู่รักศิลปิน มารินา-อูไลย์ เดินจากปลายกำแพงเมืองจีนคนละฝั่งมาพบกัน-อำลา ถึงค่อยเลิกกัน

‘มารินา อบราโมวิช’ และ ‘อูไลย์’ คู่รักตัวพ่อตัวแม่แห่งวงการศิลปะแสดงสดของโลกที่ฝากงานสั่นสะเทือนวงการ โดยเฉพาะเมื่อครั้งเลิกรากัน ทั้งคู่จัดเป็นผลงานที่แต่ละฝ่ายเดินจากปลายกำแพงเมืองจีนคนละฝั่ง มาพบกันตรงกลางเพื่อร่ำลา ก่อนแยกทางกัน

  • มารินา อบราโมวิช และอูไลย์ ถือเป็นตำนานแห่งคู่รักนักทำงานศิลปะแสดงสด สร้างผลงานอันลือลั่นไว้มากมาย
  • ผลงานอันลือลั่นมีตั้งแต่นั่งประจันหน้ากันแล้วผลัดกันตบหน้าแต่ละฝ่ายไปเรื่อย ๆ หรือการแสดงสดที่เล่นกับความหมิ่นเหม่ของชีวิต และงานศิลปะแสดงสดเมื่อครั้งเลิกรากัน ทั้งคู่เดินจากปลายกำแพงเมืองจีนคนละฝั่ง มาพบกันตรงกลางเพื่อกล่าวคำอำลาก่อนแยกทางกัน

เนื่องในวาระวันแห่งความรัก เราถือโอกาสหยิบเอาเรื่องราวอันเลื่องชื่อลือชาของคู่รักระดับตำนานในโลกศิลปะมาเล่าให้อ่านกัน คู่รักคู่หูศิลปินคู่นี้ถือได้ว่า เป็นศิลปินตัวพ่อตัวแม่แห่งวงการศิลปะแสดงสดของโลกเลยก็ว่าได้ ศิลปินคู่หูคู่นี้มีชื่อว่า มารินา อบราโมวิช และ อูไลย์

เริ่มต้นด้วยฝ่ายหญิงอย่าง มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović) ศิลปินแสดงสดชาวเซอร์เบียน ฉายา ‘แม่ใหญ่แห่งศิลปะแสดงสด’ (The Grandmother of Performance Art) (แต่ตอนนี้เธออยากให้เราเรียกเธอว่า ‘นักรบหญิงแห่งศิลปะแสดงสด’ มากกว่า) เกิดวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 ที่เมืองเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย (ประเทศเซอร์เบียในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ของจอมพล ยอซีป บรอซ (Josip Broz) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ติโต (Tito) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากแค้นลำเค็ญ ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ

ชีวิตของมารินา อบราโมวิช

อบราโมวิช เป็นศิลปินผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ ๆ ให้กับศิลปะแสดงสด ด้วยการดึงผู้ชมให้เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดกับความเจ็บปวด, เหนื่อยยาก, เลือด, บาดแผล, ความตาย และการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายอย่างใกล้ชิดที่สุด

ด้วยความที่แนวคิดในการทำงานของเธอเต็มไปด้วยความท้าทายและแหวกขนบ จึงถูกปฏิเสธจากสังคมรอบข้างเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, สังคม หรือแม้แต่สถาบันศิลปะ

เธอมักจะนำเสนอตัวตนและร่างกายของเธอผ่านบาดแผลและการทรมาน ผลงานของเธอมักจะเกี่ยวข้องกับการท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง, ความเจ็บปวด, ความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต, ประเด็นทางเพศ และด้วยความที่เธอเกิดและเติบโตในประเทศเผด็จการ ผลงานของเธอก็มักจะตั้งคำถามกับระบอบเผด็จการด้วย

ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะแสดงสด Rhythm 0 (1974) ที่เธอเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ จำนวน 72 ชิ้น อย่าง ดอกกุหลาบ, กรรไกร, ปากกา, ปืนพกบรรจุกระสุน และเชื้อเชิญผู้ชมให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำอะไรกับเธอก็ได้ตามใจเป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยที่เธอไม่ต่อต้านหรือป้องกันตัวเลยแม้แต่น้อย ตอนแรกผู้ชมเริ่มต้นด้วยอะไรเบา ๆ อย่างการจูบ หรือเอาขนนกแหย่เธอ

ต่อมาก็เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ บางคนเอาปากกาเขียนบนตัวเธอ บางคนใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าเธอ บางคนกรีดร่างเธอด้วยมีดแล้วดูดเลียเลือดของเธอ บางคนลวนลามเธอ หนักที่สุดคือบางคนเอาปืนจ่อหัวเธอ

ผลงานชุดนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเอง มนุษย์เราก็สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างง่ายดายแล้ว เธอยังต้องการให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของเธอ มากกว่าจะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์อยู่เฉย ๆ เท่านั้น

หรือผลงานศิลปะแสดงสด Balkan Baroque (1997) ที่เธอใช้แปรงขัดถูทำความสะอาดกระดูกวัวโชกเลือดจำนวน 2,500 ท่อน ในเวลาหกวัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเลวร้ายของสงครามที่เกิดขึ้นทุก ๆ แห่งหนบนโลกใบนี้

ผลงานชิ้นนี้ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 47 ในปี 1997 และได้รับรางวัลสูงสุดของงานอย่างสิงโตทองคำ เธอยังเป็นหนึ่งในศิลปินจำนวนไม่กี่คนในรุ่นของเธอที่ยังคงทำงานศิลปะแสดงสดอย่างต่อเนื่องยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน

 

แนวทางของอูไลย์ (Ulay)

ตามด้วยฝ่ายชายอย่าง อูไลย์ (Ulay) หรือในชื่อจริงว่า แฟรงก์ อูเว่ ไลซีเปียน (Frank Uwe Laysiepen) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์/ศิลปะจัดวาง และศิลปินภาพถ่ายชาวเยอรมัน เกิดวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943 ในเยอรมนี ด้วยความเบื่อหน่ายชีวิตในเยอรมัน เขาจึงย้ายไปปักหลักที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 1970

ที่นั่น เขาเริ่มทดลองการทำงานศิลปะด้วยการใช้กล้องโพราลอยด์ จนได้ออกมาเป็นผลงานชุด Renais sense (1974) ที่เป็นเหมือนการสะท้อนตัวตนของเขาและเป็นอัตชีวประวัติแบบปะติดปะต่อ ด้วยการใช้ภาพถ่ายที่เล่นกับเส้นแบ่งทางเพศอย่างโจ่งแจ้งจนเป็นที่อื้อฉาวอย่างมากในช่วงเวลานั้น

ในปี 1976 อูไลย์ เริ่มต้นทำงานศิลปะที่ล่อแหลมต่อการละเมิดกฎหมาย ในช่วงที่เขากลับไปอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ด้วยการขับรถไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (Neue Nationalgalerie) ในเบอร์ลิน และเดินเข้าไปแอบฉกภาพวาด Der arme Poet (The poor poet) (1839) ผลงานชิ้นสำคัญของจิตรกรชาวเยอรมัน คาร์ล ชปิตซ์วีกค์ (Carl Spitzweg) ซึ่งเคยเป็นผลงานชิ้นโปรดในดวงใจของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการของนาซีเยอรมัน แล้วเดินออกมาจากพิพิธภัณฑ์

หอบภาพวาดเอาไว้ในอ้อมแขน วิ่งฝ่าหิมะไปขึ้นรถ และขับตรงดิ่งไปยังเมืองครอยซ์แบร์ก ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนผู้อพยพลี้ภัยในเบอร์ลิน อูไลย์ นำภาพไปแขวนไว้บนห้องนั่งเล่นในบ้านของครอบครัวชาวตุรกีอพยพครอบครัวหนึ่งที่นั่น หลังจากนั้นเขาก็ออกไปใช้โทรศัพท์สาธารณะโทรแจ้งตำรวจว่า เขาขโมยภาพวาดไปจากพิพิธภัณฑ์ และบอกให้ผู้อำนวยการหอศิลป์มารับภาพกลับไป

เขากล่าวว่า ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพราะเขาต้องการกระตุ้นให้สังคมมองเห็นสภาวะความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพที่ถูกรัฐเลือกปฏิบัติในเยอรมัน และตั้งคำถามต่อความสูงส่งเลิศลอยของสถาบันศิลปะและพิพิธภัณฑ์จนไม่มีพื้นที่ให้กับผู้คนที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบของสังคมอย่างเช่นผู้อพยพเหล่านี้นั่นเอง

 

ผลงานของคู่รักนักทำงานศิลปะแสดงสด

มารีนา อบราโมวิช กับ อูไลย์ พบกันเป็นครั้งแรกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ในช่วงปลายปี 1976 (ในช่วงนั้นเขาตัดชื่อสกุลของตัวเองออก และเปลี่ยนมาใช้ชื่อสั้น ๆ ว่า ‘อูไลย์’) ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน ในปีถัดมาเธอย้ายออกจากบ้านเป็นครั้งแรกเพื่อไปอาศัยอยู่กินกับเขา

หลังจากนั้น ทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันในฐานะศิลปินคู่และคู่รัก พวกเขาเดินทางไปทั่วยุโรปด้วยรถแวน อาศัยอยู่กับชนพื้นเมืองชาวอะบอริจิน ในออสเตรเลีย, ในวัดของชาวทิเบต, ท่องไปทั่วทะเลทรายซาฮารา, ทะเลทรายธาร์ และทะเลทรายโกบี ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแสดงสดอันสุดแสนจะท้าทายที่สำรวจเส้นแบ่งระหว่างร่างกายและจิตใจ, ธรรมชาติและวัฒนธรรม, ทัศนคติเชิงรุกและรับ, ความเป็นชายและความเป็นหญิง

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Imponderabilia (1977) ที่ทั้งคู่ยืนเปลือยประจันหน้าเข้าหากันตรงประตูทางเข้าแคบ ๆ ของหอศิลป์ และบังคับให้ผู้ชมต้องเดินแทรกระหว่างร่างเปลือยทั้งสองเพื่อเข้าไปข้างใน ผู้ชมเหล่านั้นต้องเลือกว่าจะหันหน้าไปหาใคร หรือสัมผัสกับร่างเปลือยของใครเวลาแทรกตัวผ่านเข้าไป และท้ายที่สุดแล้ว ประสบการณ์ที่ว่านี้จะทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร

หรือผลงาน Breathing In/Breathing Out (1977) ที่พวกเขาประกบปากและผลัดกันสูดและปล่อยลมหายใจเข้าออกสู่ปากของกันและกันจนเกือบหายใจไม่ทัน

หรือผลงาน Relation in Time (1977) ที่พวกเขานั่งหันหลังชนกันแล้วเอาผมมัดติดกันเป็นเวลา 16 ชั่วโมง

หรือผลงาน Light/Dark (1977) ที่พวกเขาผลัดกันตบหน้ากันและกันฉาดใหญ่ไปเรื่อย ๆ

หรือผลงาน Rest Energy (1980) ที่เล่นกับความหมิ่นเหม่ระหว่างชีวิตและความตาย ด้วยการที่เขาและเธอยืนประจันหน้ากัน มือของเธอรั้งคันธนู ในขณะที่มือของเขาเหนี่ยวลูกธนูบนสาย โดยที่ปลายลูกธนูห่างจากหัวใจของเธอเพียงไม่กี่นิ้ว ทั้งคู่ติดไมโครโฟนเล็ก ๆ ไว้ที่หน้าอกเพื่อจับเสียงเต้นของหัวใจว่ามันตอบสนองต่อสถานการณ์อันหวาดเสียวเปี่ยมอันตรายเช่นนี้อย่างไร

ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในการแสดงสดที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและความเชื่อใจของทั้งคู่ เพราะถ้าหากเขาเผลอปล่อยลูกธนูเมื่อไหร่ มันก็จะพุ่งเข้าไปเสียบหัวใจของเธอทันที

อูไลย์และอบราโมวิช ทำงานร่วมกันอย่างยาวนานเป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ในฐานะศิลปินคู่และคู่รักในปี 1988 จากความขัดแย้งทางความคิดและทัศนคติ

แต่ไหน ๆ ทั้งคู่ก็เป็นศิลปินแสดงสดตัวพ่อตัวแม่กันแล้ว ถ้าเลิกรากันแบบปกติก็คงจะธรรมดาเกินไป ทั้งคู่เลยจัดพิธีเลิกรากันในสไตล์ศิลปะแสดงสด ด้วยผลงาน The Lovers: the Great Wall Walk (1988) ที่เขาและเธอต่างเริ่มต้นเดินจากปลายกำแพงเมืองจีนคนละฝั่ง โดยอบราโมวิชเริ่มต้นจากปลายกำแพงฝั่งที่มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตก ที่ติดกับทะเลทะเลปั๋วไห่ที่เชื่อมต่อกับทะเลเหลือง

ส่วนอูไลย์เริ่มต้นจากปลายกำแพงฝั่งตะวันตก ที่ติดกับทะเลทรายโกบี ทั้งคู่ต่างเดินบนระยะทางคนละ 2,500 กิโลเมตร ในระยะเวลาสามเดือน เพื่อมาพบกันตรงกลางกำแพง และกล่าวคำอำลา แล้วแยกจากกันไปใช้ชีวิตและทำงานทางใครทางมันโดยไม่ติดต่อกันอีก

เรียกว่าเลิกกันได้อลังการงานสร้างมาก ๆ...อบราโมวิช เล่าให้ฟังในภายหลังว่า หลังจากทำงานนี้เสร็จ เพื่อนถามเธอว่า ทำไมไม่โทรศัพท์ไปบอกเลิก ง่ายกว่ากันเยอะเลย (แหม่ ถ้าบอกเลิกกันง่าย ๆ ก็ไม่กลายเป็นตำนานสิจ๊ะแม่คุณ!) 

และอันที่จริงแล้ว ทั้งคู่ตั้งใจทำงานศิลปะแสดงสดชิ้นนี้ร่วมกันตั้งแต่ครั้งยังคบหาเป็นคนรักกันอยู่ แต่กว่าจะขออนุญาตทางการจีนเพื่อขึ้นไปทำงานศิลปะแสดงสดบนกำแพงเมืองจีนชิ้นนี้ได้สำเร็จ ก็กินเวลายืดเยื้อยาวนานปาเข้าไปแปดปี จนกระทั่งทั้งคู่เลิกรากันเสียก่อน พวกเขาเลยถือโอกาสทำงานชิ้นนี้เป็นการบอกลาเสียเลย

ในอีก 22 ปีหลังเลิกรา อูไลย์ และ อบราโมวิช กลับมาเผชิญหน้ากันอีกครั้ง ในผลงานศิลปะแสดงสด The Artist is Present (2010) ของอบราโมวิช ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ที่อบราโมวิช นั่งเก้าอี้เป็นเวลาแปดชั่วโมงต่อวัน และเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามานั่งตรงข้าม และจ้องตาเธอนิ่ง ๆ โดยไม่พูดจา

อูไลย์ ดอดเข้ามาปรากฏตัวเป็นหนึ่งในผู้ชมนับพันที่ต่อคิวรอ และเดินมานั่งจ้องตากับเธออย่างเงียบ ๆ จนทำให้เธอตื้นตันจนต้องหลั่งน้ำตาและยื่นมือข้ามโต๊ะมาสัมผัสมือของเขา เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก

แต่ต่อมา ความซาบซึ้งที่ว่าก็หายไปเป็นปลิดทั้ง เมื่อหลังจากนั้นในปี 2015 อูไลย์ ฟ้องร้องอบราโมวิช ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์และค่าตอบแทนของผลงานศิลปะที่ทั้งคู่เซ็นสัญญาไว้ร่วมกัน

จนในปี 2016 ศาลเนเธอร์แลนด์สั่งให้เธอต้องจ่ายค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงินรวมกันมากกว่า 500,000 ยูโร และต้องเปลี่ยนชื่อเครดิตของผลงานที่ทั้งคู่ทำร่วมกันในช่วงปี 1976 - 1980 เป็น อูไลย์/อบราโมวิช และ ในชื่อ อบราโมวิช/อูไลย์ สำหรับงานในช่วงปี 1981 - 1988 อีกด้วย แต่หลังจากนั้นทั้งคู่ต่างก็ยุติความขัดแย้งและให้อภัยซึ่งกันและกัน

จนกระทั่งในวันที่ 2 มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา อูไลย์ ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งมาหลายปี ก็เสียชีวิตลงที่เมืองลูบลิยานา ด้วยวัย 76 ปี โดย มารีนา อบราโมวิช อดีตคู่รักและคู่หูผู้ร่วมทำงานศิลปะเขียนคำไว้อาลัยถึงเขาว่า

“ช่างเป็นความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงที่ได้รู้ว่าเพื่อนและอดีตคู่ชีวิตของฉันอย่างอูไลย์ ได้เสียชีวิตลงในวันนี้ เขาเป็นศิลปินและมนุษย์ที่พิเศษอย่างยิ่ง และเราจะคิดถึงเขาอย่างลึกซึ้ง แต่ในวันนี้ฉันก็ยังอุ่นใจที่ได้รู้ว่าผลงานศิลปะและมรดกของเขาจะคงอยู่ไปตลอดกาล”

นับเป็นการปิดฉากเรื่องราวของคู่รักนักทำงานศิลปะแสดงสดระดับตำนานคู่นี้ในที่สุด

เพิ่มเติม: มารินา อบราโมวิช จัดแสดงผลงานของเธอในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันนี้ - 23 กุมภาพันธ์ 2566 ใครสนใจก็ไปชมกันได้ตามอัธยาศัย

 

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนพงศ์

ภาพ: แฟ้มภาพ (ซ้าย) อูไลย์ และ มารินา อบราโมวิช ไฟล์จาก Getty Images

อ้างอิง:

Robert Klanten. Art & Agenda: Political Art and Activism, 2011.

theartstory.org

Wikipedia.org

docsandfilmfestivals.wordpress.com

kickasstrips.com

wikipedia.org/wiki/Ulay

Artsy

CAFA

openculture.com

theartnewspaper.com