Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น

Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น

ชวนมาเรียนรู้โปรเจกต์ต้นแบบของการทำงานระหว่างดีไซน์เนอร์และผู้ประกอบการท้องถิ่นไปกับ ดร.อรรคพล ล่าม่วง หนึ่งในทีมผู้อยู่เบื้องหลัง Made in Kungsadan

Made in Kungsadan เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ซีรีส์ชุด Made in… ที่ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น โดยมีโจทย์ในการส่งเสริมทำให้ย่านในท้องถิ่นเกิดความคึกคัก ด้วยการปรับภาพลักษณ์ร้านของผู้ประกอบการในพื้นที่

นอกจากความสวยงามที่ปรับลุคให้ย่านแห่งนี้ตื่นตา แต่ยังเข้าไปช่วยจัดการระบบข้อมูลหลังบ้านให้กับผู้ประกอบการคนอื่นๆ ในธุรกิจประเภทแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะในจังหวัดขอนแก่นหรือภูมิภาคอีสาน ได้นำไปต่อยอดและเติบโตได้ด้วยตัวเอง 

ค้นหาเพื่อค้นพบร้านที่ใช่

จากการสัมภาษณ์ ดร. อรรคพล ล่าม่วง หรือ อ.บอน จากสาขาวิชาการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ Art Director ของโปรเจกต์ Made in Kungsadan ภายใต้การดำเนินงานของ หจก. ต้นส้ม สตูดิโอ ได้เล่าถึงกระบวนการและขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน กว่าจะได้ผลงานที่นักออกแบบและผู้ประกอบการพึงพอใจ การทำงานเริ่มจากการลงพื้นที่และเก็บข้อมูลเพื่อคัดกรองร้านค้าที่มีศักยภาพตามเกณฑ์ที่ได้รับ

การดำเนินงานในครั้งนี้นำโดย หจก. ต้นส้ม สตูดิโอ ภายใต้การบริหารของ คุณกิตติศักดิ์ ล่ามสมบัติ หรือ อ.ต้น และอาจารย์พิชญ์ระวี สุรอารีกุล หรือ อ.ส้ม พร้อมด้วยทีมวิจัยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการควบคุมทิศทางงานวิจัย โดยทำงานร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และนักวิจัยเฉพาะด้าน เพื่อวิเคราะห์ตลาดและความสัมพันธ์ของลูกค้ากับแต่ละร้าน กระบวนการนี้ต้องอาศัยการประสานงานที่รอบคอบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการติดตั้ง โดย อ.บอน-อรรคพล ได้เข้ามาช่วยในส่วนของการกำหนดทิศทางการสื่อสารและการสร้างอัตลักษณ์ของโครงการ โปรเจกต์นี้ถือว่ามีความท้าทายสูง ไม่เพียงแค่ข้อจำกัดด้านเวลา แต่ยังต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ ทำให้การทำงานนี้เต็มไปด้วยความสนุกและตื่นเต้นในทุกขั้นตอน

Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น ภาพ ทีมงาน Made in Kungsadan  หจก. ต้นส้ม สตูดิโอ  

“พวกผมตั้งทีมสำรวจขึ้นมาเดินไปตามเส้นทางหลักของกังสดาล เพื่อต้องการหาร้านที่ทำให้เกิด Impact กับคนในพื้นที่ จึงเน้นเลือกร้านเก่าแก่ในย่านนี้” 

สำหรับในโปรเจกต์ Made in Kangsadal ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567 (Isan Creative Festival 2024 หรือ ISANCF2024) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีร้านค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมด้วยกัน 7 ร้าน ประกอบด้วย ร้านไก่ย่างจิราพร ร้านโจ๊กป้าแดง ร้านป้าตุ๊ ร้านรักเนย ร้านจันทรา ร้านเบเบี้ก๊อปปี้ และร้านเพื่อนอ่าน

 

กระบวนการที่ยากและใช้เวลานานที่สุด

สิ่งหนึ่งทำให้เราแปลกใจคือกระบวนเลือกร้านที่ อ.บอน - อรรคพล ได้ตอบกลับมาว่าต้องว่าตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนของทั้งโปรเจกต์นั้น ขั้นตอนนี้ยากและนานที่สุด เป็นเพราะหลายๆ ปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อเลือกร้านที่เหมาะสมที่สุด 

“บางร้านคิดว่าน่าจะสร้างอิมแพคสูงมากแต่เขาไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องตัดใจ สุดท้ายจึงได้มาเป็น 7 ร้านที่ผู้ประกอบการมีความต้องการร่วมโปรเจกต์นี้และให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลด้วย”

“มันเป็นเรื่องของ Service Design จึงต้องตรวจสอบข้อมูลกับผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ดีไซเนอร์ไม่สามารถคิดแทนเองได้ จึงต้องทำการวางแผนให้รอบด้าน”

โดยคอนเซปต์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกมีอยู่ 3 หมวดคือ 

  • กัง-โก๋เก่า (Kungsadan Exclusive)
  • กัง-ก๋ากั่น (Kungsadan Extraordinary) 
  • กัง-โก้เก๋ (Kungsadan Experience)


Service Design 
ออกแบบตามโจทย์และถูกใจผู้ใช้บริการ

หนึ่งในโจทย์หลักจากโปรเจกต์ Made in Kungsadan ที่แจกให้กับเหล่าดีไซเนอร์ที่มาร่วมส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นในย่านแห่งนี้ นอกจากต้องการภาพลักษณ์ภาพนอกอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องลงลึกไปให้ถึงการพัฒนาระบบบริการของประเภทธุรกิจที่แตกต่างกันหรือที่ อ.บอน - อรรคพล เรียกว่า Service Design 

“ทีมสำรวจจะมีการทำข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เข้ามาใช้งานอยากรู้ เพื่อให้ทางร้านต้องจัดเตรียม ก่อนจะไปถึงกระบวนการนำเสนอข้อมูลออกมาให้เห็นเป็นภาพต่อไป”

หัวใจของการออกแบบเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในย่านนี้นั้น ต้องการทำให้ร้านค้าท้องถิ่นที่อยู่คู่กับย่านมากกว่า 20 ปี ซึ่งสามารถส่งมอบบริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องมีความสวยงามดึงดูดสายตา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้ง 7 ร้านที่กล่าวมานั้นคัดเลือกจากธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ร้านถ่ายเอกสาร ร้านเช่าหนังสือ เป็นต้น ในการออกแบบจึงต้องหาจุดสมดุลที่จะช่วยดึงอัตลักษณ์ของร้านนั้นๆ ออกมา 


กระบวนการ Matching ที่ลงตัวเหมาะสม

สำหรับในกระบวนจับคู่ดีไซเนอร์และผู้ประกอบการก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กัน ท่ามกลางรายชื่อดีไซเนอร์ฝีมือดีที่มีอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นคนขอนแก่นเองหรือคนที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อคัดให้เหลือ 7 คนที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการที่ตั้งไว้ก็ต้องพิจารณากันอย่างรอบด้าน 

“ทางทีมงานพยายามจับคู่ผู้ประกอบการแต่ละคนกับสไตล์งานเฉพาะตัวของดีไซเนอร์ โดยสกัดจากข้อมูลที่ทำการสำรวจมาเพื่อตอบโจทย์ในด้าน Service Design นำเสนอประสบการณ์และการรับรู้ที่เข้าใจง่ายขึ้น”

อ.บอน - อรรคพล ย้ำว่า สำหรับโปรเจกต์ซีรีส์ Made in… ตั้งต้นด้วยการออกแบบที่มีธีมในการรักษากลิ่นอายความย้อนยุคคลุมไว้อยู่ โดยเขาใช้การควบคุมโทนสีให้ล้อไปกับแคมเปญเดียวกันนี้ในจังหวัดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน จึงได้มาเป็น 7 คู่พาร์ทเนอร์ที่ลงตัวที่สุด ได้แก่ 

Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น

  1. ป้าตุ๊ X SUPAKAN
  2. เบบี้ ก็อปปี้ x BENCHAWAN
  3. ไก่ย่างจิรพร X PANTHEP
  4. โจ๊กป้าแดง x  KRITTIPAT
  5. ร้านเพื่อนอ่าน x JITPREEDA 
  6. นวดจันทรา x APICHIT
  7. รักเนย x JITTIPAT


ปรับจูนกันเพื่อหาจุดลงตัว

หน้าที่หลักของดีไซเนอร์คือการออกแบบ แต่การออกแบบต้องตอบโจทย์ทั้งภาพลักษณ์และการใช้งานที่แตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ ดังนั้นกระบวนการลงพื้นที่และพูดคุยกับผู้ประกอบการก่อนเริ่มลงมือ จึงเป็นขั้นตอนในการสร้างความเชื่อใจและค้นหารูปแบบการนำเสนอที่ถูกใจผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน 

“จากบรีฟที่ดีไซเนอร์แต่ละคนได้รับต้องนำไปวางแผน เข้าวัดพื้นที่และสื่อสารแนวคิดในการปรับปรุงภาพลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการแต่ละคนด้วย”

ในฐานะผู้ควบคุมทิศทางภาพรวม อ.บอน - อรรคพล เล่าถึงการบริหารงบประมาณที่ต้องจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจัดสรรออกเป็น การวางแผนการเก็บข้อมูล, การจัดจ้างดีไซเนอร์ และการผลิตอาร์ตเวิร์คออกมาสำหรับใช้งานจริง ซึ่งเหล่าดีไซเนอร์ที่มาร่วมในโปรเจกต์ครั้งนี้เป้าหมายหลักของพวกเขาคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน

 

ผลตอบรับที่น่าชื่นใจ

หลังจากที่โปรเจกต์นี้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการประเมินผล ซึ่งการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วยการใช้การออกแบบเข้าไปเติมความสวยงาม, ปรับภาพลักษณ์ และการใช้งานให้กับร้านค้า รวมไปถึงคุณค่าทางจิตใจเช่นกัน 

Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น

ที่มาภาพ เพจ Isan Creative Festival

“ตัวแทนผู้ประกอบการส่วนใหญ่แล้วพวกเขารู้สึกภูมิใจที่มีคนเห็นคุณค่าร้านค้ารายย่อย ทำให้เขาได้งัดเอาสิ่งที่อยากพูดออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ส่วนลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมาก็ตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นร้านประจำของพวกเขามีชีวิตชีวามากขึ้น”

 

สิ่งที่ดีไซเนอร์ได้เรียนรู้ในโปรเจกต์ 
Made in Kungsadan

สำหรับความท้าทายของแคมเปญนี้ในมุมมองของ อ.บอน - อรรคพล ที่เป็น Art Director คือเวลาและการสื่อสารที่ต้องทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันมากที่สุดผ่านการบรีฟ 

ส่วนดีไซเนอร์ที่รับโจทย์ไปดูแลพวกเขาก็ต้องเรียนรู้ในการเลือกใช้ทักษะที่มีให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและลักษณะเฉพาะของแต่ละธุรกิจ 

Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น

ที่มาภาพ เพจ Isan Creative Festival

 

“ผมจะเป็นคนบรีฟรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบการทั้งหมดให้กับดีไซเนอร์ซึ่งไม่เคยรู้จักร้านต่างๆ นี้มาก่อน จึงต้องบรีฟให้ครบถ้วนที่สุด สิ่งสำคัญของดีไซเนอร์ไม่ว่าจะมีทักษะเฉพาะด้านกราฟิกแบบใดก็ต้องปรับให้เข้ากับงานที่เป็น Local ให้ได้”

อีกหน้าที่สำคัญของคนกลางแบบ  อ.บอน - อรรคพล คือการหาจุดร่วมของความพึงพอใจตรงกลางของทั้งสองฝ่ายนั้นให้เจอ 

 

คู่มือเพื่อต่อยอด เติบโต ส่งต่อสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่น

ถึงแม้แคมเปญนี้จะจบลง แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้ง 7 แห่งและดีไซเนอร์ได้รับไปนั้นคือระบบการจัดการข้อมูลที่สามารถเก็บไว้ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ร้านเติบโตต่อไปได้ด้วยตัวเอง 

“ทั้ง 7 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสร้างอัตลักษณ์ให้กับร้านค้าของตัวเอง”

รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะใช้ข้อมูลที่ร้านค้ามีอยู่แล้วพัฒนาต่อไป มากไปกว่านั้นคือแนวทางต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกิจใกล้เคียงกันสามารถนำไปตั้งต้นจัดระบบระเบียบร้านของตัวเองได้เช่นกัน 

 

เสน่ห์ของความกึ่งเก่ากึ่งใหม่

ย่านกังสดาลในสายตาของ อ.บอน - อรรคพล ผู้เป็นศิษย์เก่าและกลับมาสอนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากความผูกพันที่เขามีกับพื้นที่นี้ แต่เสน่ห์ของย่านนี้ก็มีไม่แพ้ย่านไหนๆ ในขอนแก่นเช่นกัน ด้วยความที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้มีความเป็นแหล่งชุมชนที่น่าสนใจและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น

ที่มาภาพ เพจ Khon Kaen Let's Go ขอนแก่นแล่นโลด

“ในกังสดาลจะมีชุมชนของนักศึกษาและคนพื้นที่เดิมที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้ ทำให้มีพลวัตบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร ธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นในย่านนี้จึงตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาและบุคลากร ทำให้ได้เห็นมิติของชุมชนด้านการศึกษาที่ผสมผสานไปกับร้านดั้งเดิมเกิดความหลากหลายทางธุรกิจ”

ถึงแม้ย่านนี้จะไม่ได้มีประวัติศาสตร์เก่าแก่เช่นย่านศรีจันทร์ แต่ความกึ่งเก่ากึ่งใหม่ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ทำให้บริเวณกังสดาลก็เป็นอีกหนึ่งย่านสร้างสรรค์ของขอนแก่นที่พร้อมปรับตัวและเปิดรับคนหนุ่มสาวหน้าใหม่จากทั่วประเทศที่เข้ามาศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยและคืออัตลักษณ์ของกังสดาลในมุมมองของ อ.บอน - อรรคพล 

จังหวัดขอนแก่นได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ แต่ที่สำคัญที่ทำให้ที่แห่งนี้โดดเด่นออกมา คือหน่วยงานท้องถิ่นที่แข็งแกร่งที่คอยขับเคลื่อนสอดประสานกันภายในจังหวัด รวมไปถึงความร่วมมือจากภาคธุรกิจและประชาชนที่ประกอบกัน ทำให้เมืองแห่งนี้เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความหวังและกำลังใจ แม้ในยามที่เศรษฐกิจของประเทศจะยังอยู่ในม่านหมอกที่คลุมเครือ แต่สำหรับคนที่เกิดและเติบโต ต่อยอดเส้นทางอาชีพในจังหวัดแห่งนี้เช่น อ.บอน - อรรคพล เขาก็ยังคงเห็นอนาคตที่สดใสรออยู่

Made in Kungsadan เสน่ห์ของเมืองที่มีพลวัต ปรับตัวและพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนขอนแก่น

ที่มาภาพ เพจ Isan Creative Festival

 

“แม้เราจะไม่ใช่ประเทศฝรั่งเศสที่เป็นพัฒนาแล้วมีความเจริญรุ่งเรือง คนสนใจงานศิลปะอย่างกว้างขวาง สำหรับประเทศเราคนยังต้องหาจุดสมดุลในการเสพย์งานศิลปะและหาเงินไปด้วย ซึ่งผมมองว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งสำหรับคนที่ทำงานด้านศิลปะและงานดีไซน์ก็ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น ไปพร้อมกับการให้คนใช้เงินอย่างถูกต้อง สำหรับผมคือความท้าทาย แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในตอนนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นทั้งในขอนแก่นและจังหวัดอีสานโดยรอบที่ทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น ดูแลอยู่นั้น ด้วยทรัพยากร, วัตถุดิบที่เรามีในเมือง ล้วนช่วยเสริมทัพกันเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้กำลังค่อยๆ เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีหยุดนิ่ง”

บทความนี้เป็น 1 ใน 7 ของโปรเจกต์พิเศษที่ทาง The People และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น ได้จัดทำขึ้นในแคมเปญ Proudly Presented People of Isan เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ที่เติบโตขึ้นตลอดสี่ปีที่ผ่านมา 

ด้วยการบอกต่อให้เห็นเบื้องหลัง ‘คน’ สร้างสรรค์ที่ใส่ความแพรว ‘พราว’ ทำให้อีสานน่าอยู่และภูมิใจได้ที่มาเยือน