‘สง่า มะยุระ’ พู่กันอมตะ Start-Up รุ่นแรกของไทย

‘สง่า มะยุระ’ พู่กันอมตะ Start-Up รุ่นแรกของไทย

‘พู่กัน’ ในตำนานยี่ห้อ ‘สง่า มะยุระ’ Start-Up รุ่นแรกของประเทศไทย ที่กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ที่โลกยังรู้จักกับนิยามคำ ๆ นี้ไม่แพร่หลาย พู่กันรายแรกที่เป็นสัญชาติไทย และทำการตลาดแข่งกับพู่กันนำเข้าจากต่างประเทศ

  • ‘พู่กัน’ ในตำนานยี่ห้อ ‘สง่า มะยุระ’  ซึ่งเป็นพู่กันสัญชาติไทยแบรนด์แรก
  • สง่า มะยุระ เคยเป็นจิตรกรช่างเขียน ก่อนที่เริ่มผันตัวเองเป็นนักธุรกิจในยุคแรก ๆ ที่ไทยยังไม่มีคำว่า Start-Up

ในยุคที่ Start-Up เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป-กำเนิดใหม่-เบ่งบาน-ล้มลุกคลุกคลาน กว่าจะแจ้งเกิดได้ หลายเจ้าต้องไปเกิดใหม่-แล้วกลับมาปัง

ทำให้หลายคนอาจหลงลืมไปว่า บ้านเราเคยมี Start-Up เจ้าหนึ่ง ซึ่งอยู่ยั้งยืนยง ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2480 ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

เรากำลังพูดถึง ‘พู่กัน’ ยี่ห้อ ‘สง่า มะยุระ’ ซึ่งจะเรียก Start-Up ก็ได้ จะเรียก SME ก็ได้ หรือจะเรียก Unicorn ก็ได้ถ้าเทียบค่าเงินของยุค 2480 กับยุคปัจจุบัน

นอกจากสถานะ ‘คนไทยคนแรก’ ที่ริเริ่มสรรค์สร้างพู่กันราคาย่อมเยาขึ้นใช้ในประเทศ ในยุคที่ศิลปินต้องซื้อพู่กันนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง

ชายคนหนึ่งนามว่า ‘สง่า มะยุระ’ ได้สร้างธุรกิจเล็ก ๆ เพื่อเผยแพร่ ‘พู่กันราคาถูก’ สำหรับเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา กระจายไปทั่วประเทศ ทั้งในเมืองหลวง และพื้นที่ห่างไกล

แม้จะมีหลายเสียง ที่บ่นถึงองค์ประกอบวัสดุพู่กันของ ‘สง่า มะยุระ’ ในยุคหนึ่ง ทว่า เด็กไทยไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง และพ่อแม่ก็ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง

ราคาที่ย่อมเยา เหมาะสำหรับนักเรียนนิสิตนักศึกษา ตอบสนองความต้องการของเด็ก ๆ เบี้ยน้อยหอยน้อย ทำให้ ‘พู่กันสง่า มะยุระ’ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

และได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ที่ยุคหนึ่งทุกร้านขายเครื่องเขียน ต้องมีตู้ไม้โชว์พู่กันยี่ห้อ ‘สง่า มะยุระ’ และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะในหมู่เด็กศิลปะ

แม้ในยุคนั้น คำว่า Start-Up ยังไม่เกิดขึ้นในโลก แต่หากมองย้อนกลับไป เราสามารถเรียกธุรกิจพู่กันของ ‘สง่า มะยุระ’ ว่า Start-Up ได้อย่างเต็มปากเต็มคำในวันนี้

 

วัยเด็กที่เคี่ยวกรำตนเองกับบรมครู

เชื่อว่าคนรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา หลายคนต้องรู้จัก ‘ภู่กันของสง่า มะยุระ’ ที่เขาใช้ ‘ภ.สำเภา’ สะกด และสลักไว้บนด้ามพู่กันทุกชิ้นที่นำออกวางจำหน่าย

จากด้ามไม้ในยุคแรก มาสู่ด้ามพลาสติกในยุคถัดมา จนกระทั่งปัจจุบันที่สืบทอดต่อมาเป็นพู่กันสง่า มะยุระ ในทุกวันนี้

‘สง่า มะยุระ’ เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2452 ที่ตำบลวังยางใหญ่ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หลังเรียนจบจากวัดสัปรสเทศ ก็ไปเรียนวิชาวาดเขียนกับครูอู๋ ที่วัดมะนาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ภายหลังปลัดหรุ่น เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง พา สง่า ไปฝากไว้กับครูม้วน วัดสุวรรณาราม คลองบางกอกน้อย ต่อมาได้พบกับ ‘ครูสอิ้ง’ ฝึกเขียนรูปอยู่ไม่นาน ครูก็พาไปเป็นลูกมือช่วยเขียนลายรดน้ำที่วัดพระเชตุพน

จะเห็นได้ว่า สง่า มิได้ร่ำเรียนเขียนอ่านในหลักสูตรศิลปกรรมจากสถาบันการศึกษาในระบบ เพราะใจรักในงานวาดรูปล้วน ๆ ทำให้ สง่า มุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝนเคี่ยวกรำฝีไม้ลายมือจนอยู่ตัว

จนกระทั่งได้มีโอกาสพบกับ ‘หลวงเจนจิตรยง’ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ชักนำ และเปิดเส้นทางในวิชาชีพช่างศิลป์ให้กับเขา

หลวงเจนจิตรลงได้ชวน สง่า มาช่วยเขียนลายบนโถกะยาคู โดยนำฟักทองมากลึงให้มีรูปร่างเหมือนโถ และต้องเขียนลายให้เสร็จในวันเดียว มิฉะนั้นฟักทองจะเหี่ยว

สองครู-ศิษย์ ก็คือ หลวงเจนจิตรยง และ สง่า มะยุระ ช่วยกันเขียนจนงานแล้วเสร็จ จากนั้นทั้งสองถูกว่าจ้างให้ไปช่วยเขียนภาพที่วัดสุวรรณคีรี คลองบางกอกน้อย โดยได้รับมอบหมายให้เขียนลายรดน้ำที่บานประตูหน้าต่างโบสถ์ทั้งหมด

ต่อมา ‘สง่า’ ได้อุปสมบทที่วัดสุวรรณาราม ธนบุรี เป็นระยะเวลา 2 พรรษา ระหว่างบวชเป็นพระ ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมทีมเขียนภาพ ‘รามเกียรติ์’ ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี ‘พระเทวาภินิมิต’ หรือ ‘ฉาย เทียมศิลป์ไชย’ เป็นหัวหน้าโครงการ

หลังเสร็จภารกิจระดับชาติ ทางราชการชื่นชมฝีมือของ สง่า อย่างมาก เมื่อภาพเขียนที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเกิดชำรุดเสียหาย เขาจะถูกเรียกตัวให้เข้าไปเขียนซ่อมเป็นคนแรก ๆ หากบางห้องมีภาพชำรุดมาก สง่า ต้องลงมือเขียนใหม่ทั้งหมด

ถือเป็นช่วงเวลาที่ สง่า เดินหน้าสั่งสมประสบการณ์ และฝีไม้ลายมือทางศิลปะอย่างไม่หยุดยั้งในวิชาชีพช่างเขียน

หลังจากลาสิกขาบท ‘สง่า’ ได้เริ่มอาชีพร้านขายเครื่องดื่มเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังโรงพยาบาลศิริราช โดยให้บิดาเป็นผู้ขาย ส่วนตนเองไปทำงานประจำที่ร้านคณะช่าง เขียนรูป และทำบล็อกสกรีนผ้า ทำอยู่ที่นี่ได้ 2 ปี ก็ย้ายไปอยู่โรงพิมพ์บุญครอง

จนวันหนึ่ง ประสบการณ์ และความใฝ่ฝันครั้งอดีต ได้ผลักดันให้เขาคิดริเริ่มทำ ‘พู่กัน’ ออกขายนับแต่นั้นมา

 

จาก ‘ช่างเขียน’ สู่ ‘เจ้าของธุรกิจ’

ตำราหนึ่งซึ่งคนทำธุรกิจทราบกันอยู่ลึก ๆ ก็คือ เจ้าของธุรกิจต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือมีความรู้ในสินค้าและบริการ

พูดง่าย ๆ ก็คือต้องเป็นมืออาชีพในสินค้าและบริการนั้น ๆ ในฐานะเคยผ่านงานและหยิบจับสิ่งต่าง ๆ มาด้วยตนเอง

จึงจะทำให้เกิดความเชื่อถือในหมู่ผู้บริโภค จนสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจขึ้นมาได้ในที่สุด

สำหรับ ‘สง่า มะยุระ’ เขาคือนักธุรกิจที่เดินตามตำราข้างต้นทุกประการ

ตราบจนปัจจุบัน ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าธุรกิจ Start-Up ในยุค พ.ศ. 2480 ของ ‘สง่า มะยุระ’ ที่ก่อตั้งโรงงานผลิตพู่กันแบรนด์แรกที่เป็นสัญชาติไทย ซึ่งถือกำเนิดจากวิสัยทัศน์ของช่างเขียนมือวางอันดับต้น ๆ ของไทย

ที่มองเห็นช่องทางการทำตลาดในยุคที่พู่กันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษาสายศิลปะในยุคนั้น ต่างก็ใช้งานกันอยู่ และต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

เมื่อวิชาชีพช่างเขียนมาบวกกับจินตนาการล้ำยุคที่ต้องการเริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ ก็กำเนิดสิ่งที่ผู้คนในยุคปัจจุบันเรียกกันว่า Start-Up

หลังจากแต่งงานลงหลักปักฐานในปี พ.ศ. 2479 ‘สง่า มะยุระ’ เริ่มศึกษาวิธีทำพู่กันใช้เองจากครูบาอาจารย์ จนกระทั่งลองผิดลองถูก และสร้างพู่กันของตนเองขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ

จากคุณภาพระดับพื้น  ๆ ไปจนถึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และกลับมาแก้ไขจนใช้งานที่ดีในระดับเทียบเท่ากับของเมืองนอก แต่มีราคาย่อมเยากว่า

ทำให้ ‘พู่กันของสง่า มะยุระ’ ได้รับความนิยมข้ามยุคข้ามสมัยในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษาสายศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่างเขียนระดับครูบาอาจารย์ จากทศวรรษ 2480 จนถึงเกือบจะถึงทศวรรษ 2570 ในปัจจุบัน

 

พู่กันอมตะ ของ Start-Up ไทยรุ่นแรก

ราวปี พ.ศ. 2480 ด้วยความที่ สง่า คลุกคลีอยู่กับเครื่องไม้เครื่องมือของช่างศิลป์มาอย่างยาวนาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้หยิบจับ และใช้งานพู่กันมาอย่างต่อเนื่อง เขาจึงอยากทำพู่กันของตนเอง โดยได้ศึกษาพู่กันที่มีอยู่ และดัดแปลง-แก้ไขจนได้มาตรฐานในระดับหนึ่ง

สง่า จึงเปิดไลน์การผลิตพู่กันของตัวเองขึ้น และกิจการของเขานี้ก็ถือว่าเป็นโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของเมืองไทย และพัฒนาได้ในเชิงธุรกิจ

โดยเขามีปรัชญาธุรกิจว่า “ขายพู่กันราคาไม่แพง” สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาฐานะยากจน ที่มีจำนวนมาก และทุกวันนี้พู่กันของเขาก็ยังคงมีวางขายอยู่

เรียกได้ว่า เด็กไทยแทบทุกคนนับจากยุคนั้น ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ต้องเคยผ่านมือ ‘ภู่กัน(พู่กัน)ของสง่า มะยุระ’ มาแล้วไม่มากก็น้อย

และเชื่อว่า มีหลายคนที่พัฒนามาเป็นศิลปินใหญ่ในวันนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้ใช้พู่กันราคาย่อมเยาของเขาด้วย ‘สง่า มะยุระ’ จึงเป็นเหมือนความภาคภูมิใจของสังคมไทยอย่างยิ่ง

เพราะแม้ทุกยุคทุกสมัย ในร้านเครื่องเขียน ทั้งบนห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าห้องแถว จะมีพู่กันยี่ห้อต่าง ๆ วางจำหน่ายเคียงข้างกัน ทั้งแบรนด์ของไทย และยี่ห้อดังจากต่างประเทศ

แต่คงต้องยอมรับว่า ‘พู่กันของสง่า มะยุระ’ เป็นสินค้ามวลชนที่ทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่องมานานนับชั่วอายุคนแล้ว และหากเอ่ยถึงคุณภาพ ก็ถือได้ว่าสมราคาอยู่พอสมควร

เมื่อกิจการของสง่า มะยุระ ดำเนินมาด้วยดีโดยตลอด เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ที่ติดตลาด และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืนในระดับหนึ่ง

จึงอาจกล่าวได้ว่าโรงงานของเขาเป็น SME รุ่นแรก และสามารถใช้เป็นต้นแบบให้กับ Start-Up ไทยรุ่นหลังได้อย่างเต็มภาคภูมิ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บั้นปลายของชีวิต ‘สง่า มะยุระ’ ที่ถือเป็นแบบอย่างบุคคลผู้อุทิศตนให้กับสาธารณะคนหนึ่ง จากการลงแรงไปช่วยซ่อมภาพวาดในวัดวาอารามต่างๆ หลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่สำคัญก็คือ เขาปฏิเสธที่จะรับเงินค่าจ้างในการบูรณปฏิสังขรณ์

‘สง่า มะยุระ’ ถึงแก่กรรมในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2521 สิริรวมอายุ 69 ปี นับเป็นจิตรกรมือฉมังผู้ยึดมั่นในวิชาชีพ ตั้งตัวได้ด้วยความพากเพียรพยายาม เป็นแรงบันดาลใจ และจุดประกายความใฝ่ฝัน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป

 

ภาพ: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพฯ