‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

เรื่องราวของ ‘วีรา แวง’ ที่กว่าจะสร้างธุรกิจของตัวเอง อายุก็ล่วงเลยเข้าสู่หลักสี่ เหตุเพราะหาชุดเจ้าสาวที่เหมาะกับตัวเองไม่ได้ เลยหวังแก้ pain point ให้ผู้หญิงคนอื่น

  • ความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่ Vogue นานถึง 16 ปี แต่ก็ไม่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งบรรณาธิการอำนวยการสักที ทำให้ในปี 1987 วีรา แวง ตัดสินใจโบกมือลาจาก Vogue 
  • ช่วงปลายทศวรรษ 1980 วีราหมั้นกับคนรัก และต้องวิ่งวุ่นหาชุดแต่งงานที่สมบูรณ์แบบ เธอออกตามล่าหาชุดเจ้าสาวอย่างบ้าคลั่ง ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าไปจนถึง Chanel couture ก่อนจะพบว่า ชุดแต่งงานล้วนเหมือนกันไปหมด

จะมี ‘ผู้หญิง’ สักกี่คนบนโลก ที่เมื่อหาชุดแต่งงานที่ถูกใจไม่ได้ เลยลงมือร่างแบบสั่งตัดชุดด้วยตัวเอง เท่านั้นยังไม่พอ ยังเปิดบูติกขายชุดเจ้าสาวให้รู้แล้วรู้รอด หวังแก้ pain point ให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาเหมือนกับตัวเอง 

ผู้หญิงคนที่ว่าคือ ‘วีรา แวง’ ผู้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในธุรกิจชุดเจ้าสาว ด้วยสไตล์การออกแบบที่ทันสมัยแต่ยังคงความสง่างามแบบดั้งเดิม จนกลายเป็นชุดที่เจ้าสาวทั่วโลก ‘ใฝ่ฝัน’ 

‘วีรา แวง’ คุณหนูที่พบแต่ความผิดหวัง

วีรา แวง เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1949 ที่นิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา ชีวิตวัยเด็กของเธอค่อนข้างสุขสบาย รายล้อมไปด้วยความหรูหราในย่านอัปเปอร์อีสต์ไซด์ของเมืองแมนฮัตตัน

เธอเป็นลูกสาวของ ‘เจิ้ง ชิง แวง’ ลูกชายของนายพลชาวจีน และ ‘ฟลอเรนซ์ แวง’ ลูกสาวของนักการเมืองจีน 

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

เจิ้ง ชิง และฟลอเรนซ์ อพยพออกจากจีนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งคู่แต่งงานกันและตั้งรกรากอยู่ที่นิวยอร์กซิตี้ โดยมีลูกชายอีก 1 คน ชื่อ ‘เคนเนธ’ เกิดหลังวีรา 18 เดือน 

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

พ่อของวีรา เป็นผู้บริหารบริษัทยามูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ ทำให้เขามีเงินมากพอที่จะปรนเปรอภรรยาและลูก แต่เขาก็ไม่สปอยล์ลูกจนเกินไป ตรงกันข้าม เขาพยายามปลูกฝังให้ลูก ๆ รักการเรียนและหัดเล่นกีฬา ทั้งยังสอนให้เป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ทำ

ส่วนฟลอเรนซ์ที่ทำงานเป็นล่ามของสหประชาชาติ ขึ้นชื่อเรื่องหน้าตาที่งดงามและรสนิยมการแต่งกายที่เป็นเลิศ เธอเป็นผู้สอนลูกสาวเรื่องสไตล์การแต่งตัว และมักพากันไปชมแฟชั่นโชว์ที่ปารีส จึงไม่น่าแปลกใจที่วีรา แวง จะเป็นคนที่มีเซนส์ด้านแฟชั่นตั้งแต่เด็ก

นอกจากเสื้อผ้าและการเรียนบัลเลต์แล้ว วีรายังชอบเล่นสเกตน้ำแข็ง หลังจากได้รองเท้าสเกตเป็นของขวัญวันคริสต์มาส เธอเริ่มเรียนสเกตลีลาเมื่ออายุ 7 - 8 ขวบ และคว้าแชมป์ระดับภูมิภาคครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ปี โดยปกติแล้วเธอมักจะฝึกสเกตตอน 6 โมงเช้า ก่อนไปโรงเรียน และเมื่อกลับจากโรงเรียนก็กลับมาฝึกต่อ ในวิดีโอชีวประวัติ ‘Vera Wang: Attention to Detail’ วีรากล่าวถึงกีฬาที่เธอโปรดปรานนี้ว่า “การเล่นสเกตเป็นรักแรกในชีวิตของฉัน”

วีรามุ่งมั่นกับกีฬาสเกตมาก ถึงขั้นตั้งเป้าจะเข้าร่วมทีมสเกตลีลาโอลิมปิก แต่สุดท้ายเธอและคู่หูคือ ‘เจมส์ สจ๊วต’ ก็ไม่ถูกเลือกให้เข้าร่วมทีม นักสเกตลีลาที่มีพรสวรรค์อย่างวีราจึงล้มเลิกความฝันที่จะแข่งโอลิมปิก 

หลังจากนั้นสจ๊วตก็โฟกัสไปที่การเล่นเดี่ยว ส่วนวีราก็ไปเป็นนักศึกษาเตรียมแพทย์ที่ Sarah Lawrence College ก่อนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Sorbonne ในกรุงปารีส 1 เทอม ระหว่างนี้เองที่เธอได้ค้นพบความหลงใหลในแฟชั่นและอยากเป็นดีไซเนอร์ เธอจึงกลับมาเรียนด้านการละครและประวัติศาสตร์ศิลปะที่ Sarah Lawrence และใช้เวลาในช่วงซัมเมอร์ไปทำงานที่ร้าน Yves Saint Laurent ในเมืองบ้านเกิดของเธอ

เมื่อจบการศึกษาในปี 1971 วีราเริ่มทำงานที่นิตยสาร ‘Vogue’ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายแฟชั่น เธอใช้โอกาสนี้ศึกษาและเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่น การทำงานอย่างหนักของเธอได้ผลตอบแทนอย่างรวดเร็ว เพราะผ่านไปเพียง 1 ปี วีราก็ได้รับเลือกให้เป็นบรรณาธิการแฟชั่น ขณะมีอายุเพียง 23 ปี 

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

บรรณาธิการแฟชั่นเป็นงานที่หนักเอาการ เพราะแฟชั่นเป็นหัวใจหลักของนิตยสาร Vogue ทำให้เธอไม่มีเวลาทำตามความฝันที่อยากจะเป็น ‘ดีไซเนอร์’ 

วีรามักทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ และหากพอจะมีเวลาว่าง เธอก็มักจะไปปาร์ตี้สังสรรค์ หมายความว่าเธอมีเวลาให้เรื่อง ‘ความรัก’ น้อยมาก 

ความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่ Vogue นานถึง 16 ปี แต่ก็ไม่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งบรรณาธิการอำนวยการสักที ทำให้ในปี 1987 วีราตัดสินใจโบกมือลาจาก Vogue 

“เมื่อคุณรู้ว่าตัวเองล้มเหลวในบางอย่าง คุณแค่ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง และการปล่อยวาง อาจยากกว่าการจมจ่อมอยู่กับที่

“สำหรับฉัน แฟชั่นเป็นความหลงใหลต่อจากการเล่นสเกต ฉันเคยพูดกับพ่อว่า ฉันต้องมีเหตุผลที่จะตื่นนอนตอนเช้า ฉันต้องการเหตุผลที่จะรู้สึกกดดัน ตื่นเต้น มีความหวัง หรือแม้แต่หวาดกลัว ฉันจึงตรงไป Vogue 

“แต่ฉันไม่ได้รับสิ่งที่ฉันหวังว่าจะได้ ฉันรู้ว่าฉันพลาดอีกแล้ว ฉันไปไม่ถึงโอลิมปิก ฉันไม่ได้เป็นบรรณาธิการอำนวยการของ Vogue 

“ฉันโทษตัวเองที่ไม่ได้ถูกเลือก แต่ก็ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเหล่านี้”

เมื่อหันหลังให้ Vogue วีราตรงไปหา ‘ราล์ฟ ลอเรน’

วันที่ราล์ฟสัมภาษณ์เธอ เขาถามคำถามแรกว่า “คุณไม่ชอบเสื้อผ้าของผมตรงไหนบ้าง” แทนที่จะตอบคำถามแบบคนช่างประจบเอาใจ วีรากลับถามกลับว่า “คุณต้องการให้ฉันตอบสิ่งที่คุณอยากฟัง หรืออยากให้ฉันบอกความจริงคะ” แล้วราล์ฟก็ขอให้เธอ ‘บอกความจริง’ วีราจึงแสดงความเห็นของเธอที่มีต่อเสื้อผ้าของเขาอย่างตรงไปตรงมา ตอนแรกเธอคิดว่าตัวเองคงจะชวดงานนี้แล้ว แต่เธอกลับได้งานผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบเครื่องประดับแบรนด์ ‘Ralph Lauren’ และได้ทำงานกับราล์ฟผู้ซึ่งเธอยกย่องว่าเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นใคร และรู้ว่าหลักการของแบรนด์ตัวเองคืออะไร

วีราเคยเล่าถึงการทำงานในบริษัทดังทั้ง Vogue และ Ralph Lauren ว่า เธอไม่ค่อยจะมีเวลาว่างนัก และมักยอมสละเวลาวันหยุดที่ควรอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัวเพื่อทำงาน เธอจะรู้สึกขอบคุณมากที่มีคนขอความเห็นเรื่องงาน และยังชอบที่ได้เรียนรู้จากคนที่ฉลาดและประสบความสำเร็จ 

“ฉันเป็นพนักงานประเภทนั้น ฉันใส่ใจงานของตัวเอง ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้อยู่ที่นั่น เป้าหมายของฉันคือการพิสูจน์ให้นายจ้างเห็นว่าฉันเก่งที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ความรักที่นำไปสู่ ‘ธุรกิจ’ 

แม้จะเป็นงานด้านแฟชั่นที่หนักหน่วงเหมือนกัน แต่การทำงานที่ Ralph Lauren วีราพบว่าตัวเองมีเวลาหายใจหายคอมากขึ้น จังหวะนี้เองที่ทำให้เธอได้พบกับนักธุรกิจหนุ่ม ‘อาร์เธอร์ เบคเกอร์’ ในระหว่างชมการแข่งขันเทนนิสในปี 1980 ซึ่งหลังจากเจอกันไม่นาน ฝ่ายชายก็เริ่มพูดถึงการแต่งงานเลย แต่ตอนนั้นเธอยังอยากโฟกัสเรื่องงาน ทั้งคู่จึงทำความรู้จักกันไปก่อนจนกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน 

กระทั่งช่วงปลายทศวรรษ 1980 ความรักจึงค่อย ๆ ผลิบาน พวกเขาตัดสินใจหมั้นกัน หลังจากนั้นเองที่วีราต้องเริ่มวิ่งวุ่นกับการหาชุดแต่งงานที่สมบูรณ์แบบสำหรับเธอ

เธอออกตามล่าหาชุดเจ้าสาวอย่างบ้าคลั่ง ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าไปจนถึง Chanel couture ก่อนจะพบว่า ชุดแต่งงานล้วนเหมือนกันไปหมด 

วีราใช้เวลาถึง 3 เดือนก็ยังไม่เจอชุดแต่งงานสำหรับคนวัย 40 อย่างเธอ และสัมผัสได้ว่าชุดแต่งงานที่มีอยู่กลาดเกลื่อนนั้นเหมาะสำหรับเจ้าสาวที่อายุน้อย ๆ

“ฉันต้องการชุดแต่งงานที่สง่างามและสงบเสงี่ยมกว่านี้ แต่ก็ไม่เจอเลย”

ในที่สุดเธอจึงยอมแพ้ และลงมือร่างแบบชุดแต่งงานของตัวเองในปี 1989 แล้วว่าจ้างช่างตัดเสื้อให้ตัดเย็บชุดแต่งงานสุดประณีตและทันสมัยของเธอในราคา 10,000 ดอลลาร์ 

แต่การเริ่มต้นธุรกิจชุดแต่งงานของวีรา ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น วีราและอาร์เธอร์แต่งงานกันในเดือนมิถุนายน 1989 หลังจากนั้นเจ้าสาววัย 40 ปีก็เข้าสู่กระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยาก เพราะทั้งคู่ต้องการมีลูกทันที แต่สุดท้ายการมีลูกก็ไม่ประสบความสำเร็จ สองสามีภรรยาจึงรับเลี้ยงลูกบุญธรรมหญิง 2 คน คือ ‘เซซิเลีย’ และ ‘โจเซฟิน’

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

ในปี 1990 พ่อของวีราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ลูกสาวจะต้องเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองสักที พ่อของวีราไม่ได้ทำงานในแวดวงแฟชั่นก็จริง แต่เขาเป็นนักธุรกิจ ซึ่งมองว่าการทำธุรกิจเกี่ยวกับเจ้าสาวนั้นมีความเสี่ยงต่ำกว่าธุรกิจอื่น ๆ สาเหตุเพราะสินค้าคงคลังน้อยกว่า (ในเวลานั้น) ประกอบกับดีมานด์ในตลาดก็สูง หนุ่มสาวต้องแต่งงานกัน ลูกค้าจึงหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย แม้พวกเขาจะไม่ค่อยแต่งงานซ้ำอีกครั้งก็ตาม

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

“พ่อของฉันเห็นฉันวิ่งวุ่นไปทั่วเพื่อหาชุดแต่งงาน พ่อพูดว่า พ่อคิดว่ามันน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจนะ หลังจากนั้นพ่อก็เชียร์ให้ฉันออกจาก Ralph Lauren และเริ่มตั้งบริษัทของตัวเอง 

“เรียกได้ว่าตอนอายุ 40 ปี ฉันทั้งแต่งงาน ทั้งตั้งบริษัทของตัวเอง แถมยังต้องพยายามเป็นแม่ด้วย มันบ้ามาก”

วีราเคยให้สัมภาษณ์ว่า ความจริงเธอก็อยากจะเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่อายุ 20 หรือไม่ก็ 30 ปี แต่เธอคิดว่าช่วงอายุเท่านี้ยังไม่มีอาวุธมากพอสำหรับการสู้รบในโลกธุรกิจ แต่เมื่อตัวเองได้เริ่มธุรกิจตอนอายุ 40 ปี เธอก็ “ไม่แน่ใจว่าควรจะทำดีไหม แต่ถ้าฉันไม่ลองทำตอนนี้ ฉันจะไม่มีวันทำมันได้สำเร็จ

“ฉันไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการออกแบบชุดเลย ฉันรู้สึกไม่พร้อม แล้วพอฉันออกจาก Ralph Lauren ประตูหลายบานที่เคยเปิดต้อนรับฉันก็ปิดลง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานทอผ้าหรืองานปาร์ตี้ที่ฉันอยากจะไป ตอนนั้นฉันตัวลีบเล็กมาก มันโหดร้ายมาก แต่ดีเอ็นเอของฉันคือการออกค้นหาสิ่งที่หลงใหล เพื่อสร้างความแตกต่างและทำงาน นั่นคือสิ่งที่ฉันทำมาตลอด” 

ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากพ่อ วีราได้เปิดบูติกสำหรับเจ้าสาวชื่อว่า ‘Vera Wang Bridal Houses’ ในโรงแรมคาร์ไลล์อันหรูหราบนถนนเมดิสัน อะเวนิว ในนิวยอร์กซิตี้ โดยนำเสนอชุดตัดเย็บจากดีไซเนอร์ดังอย่าง กี ลาโรช, อาร์โนลด์ สกาซี, คาโรลินา เอร์เรรา และคริสเตียน ดิออร์

ไม่กี่ปีต่อมา วีราได้ฝึกฝนทักษะของเธอในฐานะดีไซเนอร์ และในที่สุดก็เปิดตัวคอลเลกชันชุดเจ้าสาวของตัวเองภายใต้แบรนด์ ‘Vera Wang’ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และได้รับการยกย่องจากคนแถวหน้าของวงการแฟชั่นในเรื่องการใช้เนื้อผ้าที่หรูหรา รายละเอียดที่ประณีต และการตีความลวดลายที่ทันสมัยแต่ยังคงความคลาสสิก บวกกับจุดเด่นคือการใช้ ‘ผ้าโปร่ง’ (sheer fabric) ในการออกแบบ จนหลัง ๆ ภายในร้านก็มีแต่ชุดที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นมาเท่านั้น 

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

แรงบันดาลใจของวีราบางครั้งก็มาจากภาพยนตร์ หรือไม่ก็ผลงานศิลปะ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill ที่เธอนำเข็มขัดเชือกเส้นใหญ่ที่นักมวยปล้ำซูโม่ใส่เพื่อรัดกางเกง หรือกิโมโนที่มีการพับผ้าซ้อนทับกันหลายชั้น มาพัฒนาในงานของตัวเอง หรือแม้แต่ความหลงใหลในพระราชวังแวร์ซายส์ เธอก็นำมาใช้พัฒนาเป็นแฟชั่นในสไตล์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ดูอ่อนเยาว์ ทันสมัย และเข้ายุคเข้าสมัย

ลบคำครหา

วีรามองว่าความสำเร็จของเธอมาจากการทำชุดแต่งงานที่ดึงดูดความสนใจทว่ายังคงสง่างามในเวลาเดียวกัน แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าธุรกิจของเธอจะเติบโตอย่างราบรื่นในทันที 

เพราะถึงแม้เจ้าสาวจะชื่นชอบชุดแต่งงานของวีรามาก แต่สื่อแฟชั่นไม่ค่อยจะใจดีกับวีรานัก สื่อเหล่านี้มองว่าเธอเป็น ‘คนวงใน’ ของอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่เพียบพร้อมไปด้วยเส้นสายจนทำให้อะไรมันง่ายไปหมด พร้อมกับตั้งคำถามถึงการสนับสนุนทางการเงินจากครอบครัว ซึ่งวีราโต้กลับว่าทุกอย่างที่เธอได้มานั้นเป็นผลจากการ ‘ทำงานหนัก’ ต่างหาก

ในช่วงเริ่มต้น วีรากวาดลูกค้ากลุ่มเจ้าสาวมาได้สำเร็จ แต่มันก็ไม่จบเพียงแค่ชุดเจ้าสาว เธอต้องการช่วยผู้หญิงที่กำลังปวดหัวกับวันสำคัญในชีวิต ด้วยการเสนอบริการครบวงจรตั้งแต่เครื่องประดับ รองเท้า ทรงผม และชุดเพื่อนเจ้าสาว 

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

วีราสรุปการสร้างธุรกิจของเธอในเวลานี้ว่า ฉันกำลังสร้างภาพลักษณ์ แบรนด์ และชื่อเสียง

กลยุทธ์ทางธุรกิจของวีราคือการประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมชุดเจ้าสาวก่อน แล้วค่อยขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น ในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1992 และ 1994 ที่ ‘แนนซี เคอร์ริแกน’ นักสเกตลีลาชาวอเมริกัน สวมชุดของ Vera Wang ลงแข่งขัน 

“ฉันไม่ได้ไปถึงการแข่งขันระดับนั้น แต่เสื้อผ้าของฉันทำได้” วีรากล่าวด้วยความภูมิใจ

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

หลังจากนั้นนักสเกตลีลาคนอื่น ๆ ก็เลือกที่จะสวมชุดของวีรา แวง ไม่ว่าจะเป็นมิเชล ควาน, นาธาน เฉิน ในไม่ช้าเหล่าคนดังก็แห่สวมชุดของวีราออกงานต่าง ๆ กระทั่งช่วงปลายทศวรรษ 1990s และต้นทศวรรษ 2000s ผลงานของวีราก็ได้ปรากฏโฉมในรายการโทรทัศน์ เช่น Ugly Betty, Sex and the City, Gossip Girl, The West Wing และ Buffy the Vampire Slayer 

ชุดของวีรายังมีโอกาสปรากฏบนเรือนร่างของนักแสดงหญิงชั้นนำในฮอลลีวูด ไม่ว่าจะเป็นฮอลลี ฮันเตอร์, โกลดีย์ ฮอวน์, เม็ก ไรอัน, วูปี โกลด์เบิร์ก, เฮเลน ฮันต์, เคท แคปชอว์ และชาลิซ เธอรอน ซึ่งกล่าวชื่นชมว่า “การออกแบบของวีรานั้นเรียบง่ายมากแต่ไม่น่าเบื่อ เสื้อผ้าของเธอช่วยเสริมบารมีให้คนใส่ แบบที่ไม่เยอะจนเกินงาม”

นอกจากนี้ เจ้าสาวที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน รวมถึง ‘มารายห์ แครี’ ยังเลือกสวมชุดแต่งงานยาว 27 ฟุตของวีรา เช่นเดียวกับ ‘คาเรนนา กอร์’ ลูกสาวของอดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ หรือแม้แต่ตุ๊กตาบาร์บี้ที่โด่งดังไปทั่วโลกก็สวมชุดของวีรา แวง 

ธุรกิจของวีราขยายไปอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างหนังสือที่วางจำหน่ายในเดือนตุลาคม 2001 ตลอดจนน้ำหอมอันเป็นเอกลักษณ์ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2002 ภายใต้ข้อตกลงกับ Unilever Cosmetics International ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาเธอจะเปิดตัวน้ำหอมชายตามมา 

วีราเปิดร้านแห่งที่ 2 ใกล้ร้านแรก แต่ร้านใหม่นี้เน้นคอลเลกชันชุดเพื่อนเจ้าสาว และในปี 2002 เธอยังเปิดตัวคอลเลกชันเครื่องปั้นดินเผาและแก้วก้าน โดยจับมือกับ Wedgwood

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

ถึงกระนั้น วีรายังไม่หยุดที่จะเดินหน้าทำสิ่งใหม่ ๆ ในปี  2003 เธอออกแบบชุดยูนิฟอร์มสำหรับกองเชียร์ทีมฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์ ซึ่งเปิดตัวลุคใหม่ในรายการ Monday Night Football ในเดือนกันยายน และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ‘ซาราห์ เจสสิกา พาร์กเกอร์’ นักแสดงคนดังชาวอเมริกัน ได้สวมเครื่องประดับใหม่ของวีราออกงาน Emmy Awards Women's Wear Daily พร้อมกับแสดงความเห็นว่า “เครื่องประดับนี้เน้นย้ำถึงการออกแบบที่สวยงามของวีรา ซึ่งผสมผสานความเป็นผู้หญิง ความเย้ายวน และความละเอียดอ่อน” 

นอกจากนี้ วีรายังเปิดตัวคอลเลกชันเครื่องเงินและของขวัญในปี 2004 โดยร่วมมือกับ Towle Silversmiths 

ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาวที่โดดเด่นที่สุดในอเมริกา

ในขณะที่วีราพยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดี ตัวเธอเองก็เผชิญแรงกดดันมากขึ้น เธอยอมรับว่าต้องทำงานหนักเพื่อสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและเวลาของครอบครัว แต่เธอก็ยังตื่นเต้นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

“มีนับล้านวันที่ฉันพูดกับตัวเองว่า นี่ฉันกำลังคิดอะไรอยู่ ทำไมฉันถึงทำสิ่งนี้ แต่ก็มีหลายวันที่ฉันรู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำในสิ่งที่ฉันรักมาก และได้เรียนรู้บทเรียนใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่ในฐานะดีไซเนอร์ แต่ในฐานะผู้ประกอบการ”

วีรา แวง ได้กลายเป็นดีไซเนอร์ออกแบบชุดเจ้าสาวที่โดดเด่นที่สุดในอเมริกา เธอกวาดรางวัลมากมายจากความสำเร็จของเธอ ทั้งยังรั้งอันดับที่ 34 ในรายชื่อสตรีสร้างตนเองที่ร่ำรวยที่สุดของอเมริกาในปี 2018 ที่จัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes เนื่องจากรายรับของเธอสูงถึง 630 ล้านดอลลาร์ในปีนั้น

ตลอดระยะเวลาการทำงานในธุรกิจ วีราได้ขยายจากร้านบูติกสำหรับเจ้าสาวเพียงแห่งเดียว จนกลายเป็นอาณาจักรแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่ครอบคลุมหลายประเทศและมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ตั้งแต่แหวนหมั้นและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไปจนถึงจานอาหารค่ำและเครื่องสำอาง ตั้งแต่ราคาแพงลิ่วไปจนถึงราคาที่คนทั่วไปเอื้อมถึง

‘วีรา แวง’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว ผู้เริ่มทำธุรกิจในวัย 40 ปี เพราะหาชุดแต่งงานให้ตัวเองไม่ได้

ทั้งหมดนี้คือเส้นทางความสำเร็จของ ‘วีรา แวง’ ที่เผชิญความล้มเหลวตลอดการเดินทาง แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ และเดินหน้าสร้างชื่อเสียงจนโด่งดังระดับ ‘ตำนาน’ จากธุรกิจที่เริ่มต้นในวัย 40 ปี

 

ภาพ: Getty Images, อินสตาแกรม verawanggang

อ้างอิง: 

cnbc

figureskating

failurebeforesuccess

britannica

hbr

businessoffashion

fashionelite