‘ฮาร์ทบีท’ ลูกอมรูปหัวใจสื่อรัก วิธีบอกรักแบบคลาสสิกของวัยรุ่นยุค 90s

‘ฮาร์ทบีท’ ลูกอมรูปหัวใจสื่อรัก วิธีบอกรักแบบคลาสสิกของวัยรุ่นยุค 90s

ย้อนจุดเริ่มต้นของ ‘ฮาร์ทบีท’ ลูกอมสื่อรักของวัยรุ่นในยุค 90s ที่เปิดตัวในประเทศไทยมาเกือบ 40 ปี ก่อตั้งโดย ‘ไพศาล อังคเศกวิไล’ พนักงานบริษัทยาที่ได้ไอเดียมาจากประเทศญี่ปุ่นช่วงไปดูงาน จนกลายเป็นลูกอมรูปหัวใจที่เทศกาลแห่งความรักนิยมใช้กัน

  • เกือบ 40 ปีของลูกอมฮาร์ทบีทที่อยู่ในประเทศไทย และเป็นแบรนด์แรกที่ทำลูกอมทรงหัวใจ
  • ‘ไพศาล​ อังคเศกวิไล’ ผู้ก่อตั้งที่ได้แรงบันดาลและต่อยอดไอเดีย ในระหว่างทริปที่ดูงานในญี่ปุ่น
  • ฮาร์ทบีท เป็นลูกอมที่เด็กยุค 90s นิยมใช้เพื่อสื่อความรู้สึกจนถึงปัจจุบัน

 

ช่วงเวลาแห่งความรักต้อนรับ 14 กุมภาพันธ์ปีนี้ ด้วยเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับ ‘ลูกอมฮาร์ทบีท’ ที่คนไทยโดยเฉพาะในยุค 90s ต่างก็ยกให้เป็น ‘ลูกอมสื่อรัก’ สำหรับช่วง poppy love ของวัยรุ่นยุคนั้น ซึ่งที่มาของไอเดียลูกอมรูปหัวใจเป็นเอกลักษณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

 

จุดเปลี่ยนลูกอมรูปหัวใจมาจากญี่ปุ่น

ย้อนไปเกือบ 40 ปีก่อน หรือ ในปี 2527 กลับไปสู่จุดเริ่มต้นของ ‘ลูกอมฮาร์ทบีท’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ขายดีของ บริษัท เยเนอรัลแคนดี้ (ในเยเนอรัล กรุ๊ป) ก่อตั้งโดย ‘ไพศาล​ อังคเศกวิไล’ ซึ่งอาชีพในตอนนั้นของ ไพศาล ไม่ใช่การขายลูกอม หรือเปิดบริษัททำลูกอมตั้งแต่แรก แต่เขาทำงานในโรงงานยามาก่อน

บทสัมภาษณ์ของ ‘จิตราภา อังคเศกวิไล’ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท เยเนอรัลแคนดี้ ได้พูดถึงความชอบของคุณพ่อไพศาล ตั้งแต่ที่ยังเป็นพนักงานในบริษัทยาว่า เป็นคนที่สนใจเรื่องนวัตกรรมด้านขนม ลูกอม และอาหารอยู่เสมอ และมักจะอ่านหนังสือของต่างประเทศเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านอาหารและขนม

จุดเปลี่ยนของ ไพศาล เกิดขึ้นในระหว่างที่เขาเดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และเกิดเห็นลูกอมรูปทรงหัวใจน่ารักน่าสะดุดตา และในขณะนั้นประเทศไทยก็ยังไม่มีลูกอมรูปทรงแบบนี้เลย (มีแต่วงกลมและวงรีเท่านั้น) และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนของไพศาลครั้งใหญ่ก็ว่าได้

จิตราภา ได้พูดอีกว่า “คุณพ่อเป็นคนที่ค่อนข้างเชี่ยวชาญอย่างมากในเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมขนม ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ไอเดียมาจากญี่ปุ่น และเขาก็นำมาต่อยอดกับบริษัท”

ทั้งนี้ ในช่วงแรก ๆ ที่เปิดตัวลูกอมฮาร์ทบีท บริษัทได้ห่อลูกอมด้วยพลาสติกและห่อลูกอมธรรมดาเหมือนลูกอมทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้คนรู้จักเร็ว และพูดกันปากต่อปากก็คือ ‘รูปทรงหัวใจ’ ซึ่งฮาร์ทบีทเป็นลูกอมรายแรกในประเทศที่เป็นรูปทรงนี้ ซึ่งตั้งแต่ในยุคแรก ๆ ฮาร์ทบีท ก็กลายเป็นลูกอมที่ใช้แสดงความรัก ความชอบของเหล่าวัยรุ่น

และความนิยมนี้เองลูกอมฮาร์ทบีทจึงได้ต่อยอดการตลาดจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านกลยุทธ์ Love Marketing เช่น การใส่ข้อความน่ารัก ๆ หรือ คำคมในซองลูกอม ต้องแกะเท่านั้นถึงจะเห็น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในมาร์เก็ตติ้งนี้

 

ลูกอมสื่อรักแทนใจ

อย่างที่พูดตั้งแต่ต้นบทความว่า ฮาร์ทบีท เป็นลูกอมที่ได้รับความนิยมอย่างมากของวัยรุ่นในยุค 90s ซึ่งการที่ฮาร์ทบีทยังคงความเป็นรูปทรงเดิมเห็นได้ชัดว่าเพื่อต้องการตอกย้ำภาพจำและความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับแบรนด์ แต่ที่ผ่านมาฮาร์ทบีทมีการเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดกว่า 20 รสชาติ นั่นถือว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ผลิตลูกอมสัญชาติไทยที่พัฒนาและคิดค้นรสชาติค่อนข้างบ่อย

ในปี 2547 น่าจะเป็นอีกหนึ่งครั้งของฮาร์ทบีทที่ทำการตลาดในคอนเซ็ปต์ ‘ฮาร์ทบีทพูดได้’ โดยมีการพูดถึงอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนข้อความจากที่อยู่ข้างในซองมาเป็นด้านนอกของซองลูกอมเพื่อเป้นเครื่องมือให้ช่วยบอกรัก/บอกชอบอีกคนนั้นเอง

จากนั้นในปี 2550 ฮาร์ทบีททำการตลาดอีกครั้งที่ชื่อว่า ‘ฮาร์ทบีทเขียนได้’ ก็คือ มีการเว้นที่ว่างบนกระดาษห่อลูกอมเพื่อให้เขียนความในใจได้ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีบอกรักสุดคลาสสิกที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ส่งออกสินค้าไปกว่า 40 ประเทศ ซึ่งกลุ่มตลาดหลักก็คือ ‘ตะวันออกกลาง’ และ ‘อินเดีย’ ที่ถือว่าลูกอมฮาร์ทบีทกับกลุ่มกัมมี่ค่อนข้างติดตลาด ทั้งนี้ ช่วงหลัง ๆ ประเทศแอฟริกาใต้ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่นำเข้าลูกอมฮาร์ทบีทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เทศกาลวาเลนไทน์ในปีนี้ลูกอมฮาร์ทบีทพยายามตีตลาดด้วยการปล่อย ‘ฮาร์ทบีทเขียนได้’ โดยยกตัวอย่างข้อความน่ารัก ๆ ที่ใช้จีบกันหรือแสดงความรักบน Facebook page อีกทั้งยังจัดโปรโมชั่นสินค้ารัว ๆ ในหลายประเภทด้วย ถือว่าฮาร์ทบีทก็ยังเป็นหนึ่งในลูกอมแห่งเทศกาลความรัก ไม่ว่าตอนนี้จะผ่านไปกี่ยุคสมัยแล้วก็ตาม

 

ภาพ: GeneralGroup

อ้างอิง:

Generalgroup [1]

Generalgroup [2]

Generalgroup [3]

Data.creden

Marketthink

Press