‘โทมัส คัสซันส์’ จากพ่อค้าไวน์สู่ผู้ก่อตั้งสบู่ในตำนาน ‘Imperial Leather’ เพราะลูก

‘โทมัส คัสซันส์’ จากพ่อค้าไวน์สู่ผู้ก่อตั้งสบู่ในตำนาน ‘Imperial Leather’ เพราะลูก

เปิดประวัติก่อนมาเป็น ‘สบู่ Imperial Leather’ ในตำนานกว่า 93 ปี ผู้ก่อตั้งเริ่มแรกคือ ‘โทมัส คัสซันต์’ (Thomas Cussons) พ่อค้าขายไวน์ ก่อนที่เขาจะย้ายบ้านและขยายธุรกิจไปเป็นโรงงานผลิตสินค้าหลายอย่าง และสบู่คือหนึ่งในนั้น จนมาสู่เจ้าของโรงงานรุ่น 2 ที่โฟกัสแค่การผลิตสบู่อย่างเดียว กับแรงบันดาลใจสบู่หอมมาจากลูกสาว

  • ก่อนเป็นสบู่ Imperial Leather จุดเริ่มต้นมาจากพ่อค้าขายไวน์ในเมืองคิงส์ตันอะพอนฮัลล์ ประเทศอังกฤษ ที่อยากเปลี่ยนธุรกิจเพราะมีครอบครัว
  • โรงงาน Cussons & Son ถือกำเนิดโดย โทมัส คัสซันส์ ตอนนั้นเขาเริ่มผลิตยาแก้ไอ ขวดแก้ว ยาจากสมุนไพร Rhubarb และสบู่
  • ลูกชายที่ชื่อ ‘อเล็กซานเดอร์’ รับช่วงต่อที่โรงงานผลิตสบู่  จนถึงวันที่สบู่มีกลิ่นหอมเฉพาะจากไอเดียลูกสาว

 

กระแสของสบู่ก้อนที่หอมฟุ้งไปทั้งห้องน้ำอย่าง ‘Imperial Leather’ (อิมพีเรียล เลเธอร์) ถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีควันหลงอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่ที่ชาวเน็ตในประเทศไทยพากันตามหาสบู่ก้อนคลาสสิกกลิ่นหรูจากแดนผู้ดี ไปจนถึงการไขข้อสงสัยของใครหลายคนเกี่ยวกับสติกเกอร์กลางสบู่ว่าจริง ๆ แล้วช่วยให้สบู่ละลายช้าลง

โดยผู้ที่ก่อตั้งแบรนด์สบู่ Imperial Leather ก็คือ ‘โทมัส ทอมลินสัน คัสซันส์’ (Thomas Tomlinson Cussons) หรือ โทมัส คัสซันต์ ได้หันมาสนใจธุรกิจอื่นนอกจากไวน์เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น และจุดประกายบางอย่างจากตัวลูกสาว ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเริ่มอาชีพด้วยการเป็น ‘พ่อค้าไวน์’ ในบ้านเกิดตัวเอง เมืองคิงส์ตันอะพอนฮัลล์ ประเทศอังกฤษ และค่อนข้างประสบความสำเร็จในยุคแรกที่เริ่มต้นธุรกิจ

แต่หลังจากที่ โทมัส คัสซันส์ มีครอบครัวและมีลูก 2 คน ก็คือ จอห์น และ อเล็กซานเดอร์ โทมัส คัสซันส์ ตัดสินใจย้ายบ้านไปที่ลีดส์ เมืองใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรในปี 1870 และนับเป็นจุดเปลี่ยนในเส้นทางธุรกิจของเขาตั้งแต่นั้นมา

จากพ่อค้าไวน์สู่ผู้ผลิตสบู่

ด้วยความที่ธุรกิจไวน์ของ โทมัส คัสซันส์ ค่อนข้างทรงตัวในเมืองลีดส์ และนับวันยิ่งสู้คู่แข่งท้องถิ่นที่แข็งกว่าไม่ได้ เขาจึงตัดสินใจเบนเข็มไปสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไวน์ หรือประเภทเครื่องดื่มอีกต่อไป

เป็นจังหวะดีที่ โทมัส คัสซันส์ ได้รู้จักกับนักเคมีคนหนึ่งและได้เข้าซื้อกิจการต่อจากเขา ซึ่งตอนนั้นเขามีโรงงานที่ผลิตพวกเคมีภัณฑ์อยู่แล้ว ถือเป็นโอกาสที่ดีของ โทมัส คัสซันส์ ที่เขาไม่ต้องนับหนึ่งใหม่เหมือนผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในยุคนั้น เพราะฐานะครอบครัวตอนนั้นถือว่าค่อนข้างดี และมีเงินพอที่จะซื้อกิจการต่อจากคนอื่น

โทมัส คัสซันส์ เปลี่ยนชื่อโรงงานเป็น ‘Cussons & Son’ ที่มาจากนามสกุลและลูก ๆ ของเขา ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจด้วยการผลิตยาแก้ไอ ขวดแก้ว และยาจาก Rhubarb หนึ่งในพืชสมุนไพรที่เก่าแก่ที่สุดที่ใช้ในยาจีน

หลังจากนั้น Cussons & Son ได้ทดลองผลิตสบู่ขึ้น แต่ในตอนนั้นยังไม่มีกลิ่นหอมใด ๆ จากสบู่ก้อนล็อตแรก ๆ ที่ผลิตขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์สบู่เริ่มเป็นที่รู้จักในยุคนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โทมัส คัสซันส์ ตัดสินใจเปิดโรงงานผลิตสบู่แยกออกจากโปรดักส์อื่นและตั้งโรงงานในเมืองซัลฟอร์ด (ด้วยการซื้อกิจการต่อจากคนอื่น) ในปี 1905 ทั้งนี้ ลูกชายของเขา ‘อเล็กซานเดอร์’ ได้เข้าบริหารโรงงานสบู่แทนพ่อหลังจากที่ โทมัส คัสซันส์ เสียชีวิตลงในปี 1927

 

 

สบู่มีกลิ่นหอมเพราะ Bayley

อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกว่า สบู่ที่ผลิตออกมาล็อตแรก ๆ ยังไม่มีกลิ่น หรือการแต่งเติมกลิ่นอะไรขึ้นมา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของ Imperial Leather อยู่ที่กิจการของ Bayley’s of Bond Street หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Bayley ที่ โทมัส คัสซันส์ ได้เข้าซื้อกิจการต่อในปี 1921 ซึ่งบริษัทนี้ทำเกี่ยวกับเครื่องหอมอยู่แล้วในลอนดอน

ความโดดเด่นของแบรนด์ Bayley ก็คือเป็นผู้ผลิตเครื่องหอมและน้ำหอม ทั้งยังเชี่ยวชาญมากแบรนด์หนึ่งในกรุงลอนดอน อีกทั้งยังเคยมี Count Olaf ขุนนางชาวรัสเซีย มาเยือนถึงร้านเพื่อขอให้ผลิตน้ำหอมที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ของราชสำนักรัสเซียในปี 1798

โดยกลิ่นที่ Bayley ได้สร้างขึ้นมาให้กับขุนนางรายนั้นก็คือ ‘Eau de Cologne Imperiale Russe’ เป็นหัวน้ำหอมกลิ่นแรกที่ผลิตขึ้น และสร้างความประทับใจอย่างมากให้กับราชสำนักรัสเซีย

ซึ่งบุคคลที่ทำให้สบู่ Imperial Leather มีกลิ่นหอมจนถึงทุกวันนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ ‘มาร์จอรี่ คัสซันส์ (Marjorie Cussons) ลูกสาวของ อเล็กซานเดอร์ ซึ่งเธอชื่นชอบกลิ่นน้ำหอม Eau de Cologne Imperiale Russe โดยส่วนตัว จึงขอให้โรงงานใช้กลิ่นหอมนี้รวมเข้ากับสบู่ โดยความตั้งใจแรกของเธอที่เสนอไอเดียนี้ก็คือ อยากให้ Imperial Leather มีเซตของขวัญที่เป็นสบู่กลิ่นหอมในตลาดอังกฤษ

นับจากนั้นสบู่ก้อน Imperial Leather ก็กลายที่เป็นรู้จักและโด่งดังมากในอังกฤษ จนหลายคนยกให้ มาร์จอรี่ เป็นแม่แห่ง Imperial Leather มาจนถึงทุกวันนี้ และเธอยังเป็นคนที่ทำให้ อเล็กซานเดอร์ พ่อของเธอเปลี่ยนวิธีการผลิตสบู่ให้มีกลิ่นหอมทุกตัวหลังจากนั้น

ทั้งนี้ อีกหนึ่งชื่อเสียงของสบู่ Imperial Leather นอกจากเป็นเรื่องกลิ่นหอมแล้ว ยังเป็นสบู่ที่มีสติกเกอร์แปะบนก้อนสบู่ด้วย ซึ่งตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีแบรนด์คู่แข่งไหนที่ทำแบบนี้ โดย อเล็กซานเดอร์ เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่แบรนด์ทำโฆษณาเป็นครั้งแรกหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า สติกเกอร์นี้จะช่วยให้สบู่ก้อนของเขาละลายช้าลง

Imperial Leather ใช้จุดขายตรงนี้มาอยู่บนโฆษณาเพื่อครองใจผู้ซื้อว่าเป็นสบู่ที่มีกลิ่นหอม ราคาประหยัด เพราะสบู่ละลายช้ากว่ายี่ห้ออื่น

ในปี 1950 อเล็กซานเดอร์ ตัดสินใจลงโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ซึ่ง Imperial Leather ถือว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์แรก ๆ ที่มีการลงโฆษณาผ่านโทรทัศน์ในยุคนั้น โดยเนื้อหาที่เขาเลือกใช้ก็คือ การปล่อยตัวละครสั้นเป็นตอน ๆ เล่นในเชิงกระแสดราม่าที่เชื่อมโยงกับคนอังกฤษ เชื่อมโยงกับกลิ่นหอมของคนอังกฤษ (มีคนวิเคราะห์ว่าเพราะคนอังกฤษบ้าคลั่งกับทุกอย่างที่มีกลิ่นหอม)

ในช่วงทศวรรษ 1980 Imperial Leather สร้างตำนานอีกครั้งกับการโฆษณา โดยเปิดตัวโฆษณาใหม่ที่เชิญชวนให้ผู้คน ‘อาบน้ำ 3 รอบ’ ซึ่งในโฆษณาจะมีพ่อแม่ลูกสาวที่มีฐานะรวยกำลังสนุกกับการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำของใครของมัน จนทำให้เกิดเป็นกระแสลบอยู่ช่วงหนึ่งเกี่ยวกับแบรนด์ Imperial Leather ว่าเป็น ‘สบู่ของคนรวย’

จนหลัง ๆ Imperial Leather ได้ออกมาโต้กระแสที่เกิดขึ้นด้วยการเปิดตัวชุดโฆษณาใหม่เป็นธีมคล้ายกันก็คือ คนในครอบครัวต่างก็เพลิดเพลินกับการอาบน้ำพร้อมกัน โดยจะเป็นหลาย ๆ ครอบครัว ตั้งแต่ อาบน้ำบนเครื่องบิน, อาบน้ำบนรถไฟ และในบ้านสุดหรู นอกจากนี้ในยุค 80s ยังเป็นช่วงที่เริ่มมีโฆษณาเกี่ยวกับสบู่ Imperial Leather ในต่างประเทศมากขึ้นด้วย โดยประเทศเคนยา เป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่เปิดตัวโฆษณา ซึ่งก็เป็นการเล่าเรื่องธีมเดียวกันคือ พ่อแม่ลูกกำลังอาบน้ำด้วยกันคนละอ่าง

ปัจจุบัน Imperial Leather มีการขยายตลาดและจำหน่ายโปรดักส์กว่า 100 ประเทศทั่วโลก เช่น นิวซีแลนด์, มาเลเซีย, เคนยา, แอฟริกาใต้, ไทย, อินโดนีเซีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ สบู่แบรนด์ Imperial Leather กับวิวัฒนาการมาตลอด 93 ปีตั้งแต่ที่เปิดตัว ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลย ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสบู่ในตำนานที่คนไทยหลายคนนึกถึงและประกาศตามหาอยู่ช่วงหนึ่ง

 

ภาพ : imperial leather

อ้างอิง :

Imperialleather

Manufacturingmanagement

Dailymail

Peoplepill

Superbrands