เจสซี ไอเซนเบิร์ก หน้าเนิร์ดก็ยอมรับว่าเนิร์ด กับการรับมือโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

เจสซี ไอเซนเบิร์ก หน้าเนิร์ดก็ยอมรับว่าเนิร์ด กับการรับมือโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)
“เนิร์ด” เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่มีภาพลักษณ์หน้าตาฉลาด หมกมุ่นกับการเรียน ใส่แว่นตาหนา แต่งตัวเชย โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า drunk กลับด้านเป็น knurd ก่อนจะตัดตัว k ทิ้ง และเปลี่ยนมาเป็น "nerd" ในปัจจุบัน ซึ่งในวงการฮอลลีวูดก็มีนักแสดงที่หน้าตาเนิร์ดจำนวนมาก แต่มีเพียงไม่กี่คนที่กระโดดเข้าขั้นนักแสดงระดับ a-list ได้สำเร็จ หนึ่งในนั้นคือ เจสซี ไอเซนเบิร์ก (Jesse Eisenberg) ตลอดระยะเวลาในวงการภาพยนตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไอเซนเบิร์กมักได้รับบทที่ตัวละครเป็นคนเนิร์ดเป็นประจำ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเพราะ “หน้าตา” ที่เข้าแก็ปพอดีเป๊ะกับความเนิร์ด แต่ก็ยังมีแรงดึดดูดทางเพศนิด ๆ ทำให้เขามีเสน่ห์กว่านักแสดงหน้าเนิร์ดคนอื่น เหตุผลที่เขาหลงใหลในการแสดง ก็เพราะคุณแม่ที่เคยทำอาชีพตัวตลกและนักเต้นในโรงเรียนมัธยมคาทอลิกนานกว่า 20 ปี การได้เห็นคุณแม่ปรับจูนกีตาร์และวอร์มเสียงในทุกเช้า เปรียบเสมือนการฝังรากนักแสดงที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก “มันสอนผมให้มีระเบียบวินัยในการแสดง ว่าคุณต้องจริงจังกับมัน ผมคิดว่านักแสดงหลายคนมีปัญหากับความจริงจังนะ ฉะนั้นมันสอนให้ผมตั้งใจซ้อมก่อนการจริงจัง และไม่ทำให้ตัวเองเด๋อด๋าเวลาอินกับบทบาท” ไอเซนเบิร์กชิมลางการแสดงบนละครเวทีตั้งแต่อายุ 7 ปีจนถึง 16 ปี ก่อนจะเข้าเรียนการแสดงที่ Professional Performing Arts School ในนิวยอร์ก และเปิดเส้นทางการแสดงในวงการฮอลลีวูดกับภาพยนตร์ตลก-ดรามานอกกระแส Roger Dodger (2002) ด้วยความหน้าเหมือนเด็กเรียนของเขา ทำให้ไอเซนเบิร์กมักได้รับบทบาทเป็นเด็กเนิร์ดอยู่บ่อย ๆ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นที่วัฒนธรรม “คนหน้าเนิร์ด” กำลังได้รับความนิยม สังเกตได้จากซีรีส์ The Big Bang Theory หรือหนังอย่าง Scott Pilgrim vs The World (2010) ที่เปลี่ยนคนหน้าเนิร์ดที่เคยเป็นหมารองบ่อน (underdog) กลายเป็นจ่าฝูงตัวท็อป (top dog) ในวงการแทน [caption id="attachment_9036" align="aligncenter" width="1503"] เจสซี ไอเซนเบิร์ก หน้าเนิร์ดก็ยอมรับว่าเนิร์ด กับการรับมือโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) เจสซี ไอเซนเบิร์ก ใน The Social Network (2010)[/caption]   เจสซี ไอเซนเบิร์ก เริ่มสร้างชื่อเสียงจากแสดงใน The Education of Charlie Banks (2007), Adventureland (2009), Zombieland (2009) รวมไปถึงบท มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ใน The Social Network (2010) ที่ทำให้เขาเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม น่าเสียดาย ที่เขาโดนกระแสตีกลับจากเหล่าคนดูว่า หน้าตาเนิร์ด ๆ จะไปดึงดูดอะไร ทำไมไม่เอาคนหล่อมาแสดงนำ ถึงขนาดมีผู้หญิงเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันไม่คิดว่าไอเซนเบิร์กกับฉันจะเป็นเพื่อนกันใน Facebookหรือ “ตอนนี้เขาน่ารำคาญกว่า ไมเคิล ซีรา (Michael Cera) อีก” อย่างไรก็ดี เพียง The Social Network ออกฉาย คําสบประมาทเหล่านั้นก็มลายหายไป ด้วยการแสดงอันยอดเยี่ยม การพูดแรปไฟลุก และบทภาพยนตร์แสนเฉียบคม ทำให้ เจสซี ไอเซนเบิร์ก โด่งดังแบบพลุแตกทันที ส่งให้เขามีผลงานต่อเนื่องทั้ง Rio (2011), To Rome with Love (2012), Night Moves (2013), Now You See Me (2013), The End of the Tour (2015) หรือ American Ultra (2015) เคยมีนักข่าวสัมภาษณ์ไอเซนเบิร์กว่า ทำไมเขาถึงมักแสดงแต่บทหนุ่มเนิร์ดนิสัยดีแบบเดิม ๆ ไอเซนเบิร์กตอบเพียงว่า “ไม่รู้” และไม่ทราบว่าคนดูจะมองเขายังไง ทว่าไม่นานเขาก็ก้าวเท้าเข้าร่วมจักรวาลฮีโร DC ในบทตัวร้าย "เล็กซ์ ลูเธอร์" ใน Batman v Superman: Dawn of Justice (2016) เรียกเสียงฮือฮาพร้อมคำสมประมาทอีกครั้งว่า เขาไม่เหมาะกับบทนี้ [caption id="attachment_9035" align="aligncenter" width="612"] เจสซี ไอเซนเบิร์ก หน้าเนิร์ดก็ยอมรับว่าเนิร์ด กับการรับมือโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) เจสซี ไอเซนเบิร์ก ใน Batman v Superman: Dawn of Justice (2016)[/caption]   ผู้กำกับ แซ็ค สไนเดอร์ (Zack Snyder) ไม่สนใจคำปรามาส แถมยังแทงสวนคอมเมนต์ต่าง ๆ ว่า “เล็กซ์ ลูเธอร์ เป็นศัตรูตัวฉกาจของซูเปอร์แมน มีความซับซ้อน สติปัญญาเป็นเลิศ ร่ำรวย และมีฐานะทางสังคม การได้เจสซีมารับบทนี้สามารถสำรวจประเด็นที่น่าสนใจ สร้างความแปลกใหม่ และเป็นทิศทางที่ไม่มีใครคาดคิดของตัวละครตัวนี้ได้" เช่นเดียวกับเจ้าตัวที่มองว่าบทดังกล่าวเหมาะกับตัวเอง เพราะ เล็กซ์ ลูเธอร์ ก็เป็นคนเก็บตัว ขี้อาย และไม่เข้าสังคมเหมือนกัน “ตอนเด็กผมขี้อาย ไม่ค่อยมีเพื่อน ผมเลยเป็นคนเงียบ เหนียม และบ่อยครั้งที่รู้สึกซึมเศร้า” ใช่ ชีวิตวัยเด็กของเขาต้องเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลตลอดเวลา กระทั่งพบว่าตัวเองเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ obsessive-compulsive disorder (OCD) เขาชอบเคาะนิ้วกับพื้นผิวต่าง ๆ อยู่เสมอ ไล่ตั้งแต่พื้น พรม คอนกรีต ไม้ และเปลี่ยนใหม่ไปเรื่อย ๆ “เวลาเดินผมต้องมั่นใจว่าเท้าของผมสัมผัสพื้นทุกส่วนก่อนจะก้าวต่อไป ผมจึงมักพะว้าพะวงเวลาเปลี่ยนห้อง” หลายครั้งที่ไอเซนเบิร์กยอมรับกับสื่อว่า ตัวเองต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อลดความวิตกกังวล ทั้งจากโรค OCD จากสังคม และจากความซึมเศร้า กระทั่งรวมทีม Child Mind Institute องค์กรที่ดูแลสภาวะจิตของเด็ก สร้างโปรเจกต์ #MyYoungerSelf พูดถึงการเติบโตของตัวเอง เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกคน แต่ไม่ว่าจะแสดงบทดีหรือตัวร้าย การแสดงก็เป็นการบำบัดและตัวบังคับให้เขาต้องเข้าสังคมมากขึ้น โดยเขารู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละครอมทุกข์มากกว่าตัวละครที่มั่นใจในตัวเอง และสนุกกับการเล่นเป็นคนเลว หรือตัวละครยาก ๆ มากกว่า “นั่นเป็นเหตุผลที่ผมแสดงใน Now You See Me ผมได้เล่นเป็นคนก๋ากั่น ดื้อด้าน และเป็นนักมายากล ขณะที่ตัวจริงเป็นคนขี้อาย เงียบ และเติบโตมาแบบไม่มีสังคม การแสดงจึงเป็นการปลดปล่อยที่ดีสำหรับผม” ชื่อเสียงที่ได้มาพร้อมอาชีพนักแสดงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนักแสดงคนนี้ก็ยอมรับบทบาทเนิร์ด ๆ ทั้งหมด ที่ทำให้เขามีวันนี้ “มันไม่ใช่ความสงบเสงี่ยม ผมสงสัยเหลือเกินว่าคนขี้อายอย่างผม ภายหลังมาประสบความสำเร็จได้อย่างไร?” [caption id="attachment_9038" align="aligncenter" width="1200"] เจสซี ไอเซนเบิร์ก หน้าเนิร์ดก็ยอมรับว่าเนิร์ด กับการรับมือโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) เจสซี ไอเซนเบิร์ก ใน The Hummingbird Project (2018)[/caption]   ล่าสุดเขากลับมารับบทคนเนิร์ด (อีกแล้ว) ใน The Hummingbird Project (2018) เป็น “วินเซนต์” หนึ่งในชายที่วางสายไฟเบอร์ออพติคจากรัฐแคนซัสมายังนิวเจอร์ซีย์เพื่อเทรดข้อมูลด้วยความเร็วสูง หากทำได้สำเร็จเขาก็จะมีโอกาสโกยรายได้ 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี “วินเซนต์เป็นนักธุรกิจ จอมปลิ้นปล้อนและเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่นักแสดงอยากเล่น เขากำลังรับมือกับวิกฤตที่ร้ายแรงแบบนี้ ตัวละครนี้เป็นคนโลภมากและไร้ศีลธรรม แต่เขากำลังไขว่คว้าความสำเร็จ ตัวละครเหล่านี้ได้เจาะผ่านภูเขา ขุดดินผ่านบ้านคนอื่นและทำเพื่อรับใช้สิ่งที่ไม่ได้ให้อะไรแก่สังคมเลย มันก็แค่ทำให้คนไม่กี่คนร่ำรวยขึ้นมา” เขากล่าว “ผมชอบที่ว่าสุดท้ายแล้วตัวละครเหล่านี้ก็เริ่มตระหนักถึงผลกระทบยิ่งใหญ่ของความละโมบ” ต่อจากนี้เขายังคงมีผลงานการแสดงต่อเนื่อง ทั้งภาพยนตร์เกี่ยวกับกองกำลังต่อต้านของฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Resistance, ภาพยนตร์ซอมบี้ภาคต่อ Zombieland: Double Tap หรือการกลับรับบท เล็กซ์ ลูเธอร์ ใน Justice League Part Two แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีทางเปลี่ยนไป คือการรับมือกับชื่อเสียงที่ตามมา ในฐานะคนเก็บตัวคนหนึ่ง “ผมยังคงไม่ชินกับการถูกจ้องมองในที่สาธารณะ มันยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับผม”   ข้อมูลจาก mthai www.theguardian scotsman dpeakupforkids mgronline grantland deccanchronicle