แดน กิลล์ : เบื้องหลังไอเดียวาง ‘เก้าอี้ว่าง’ ในห้องเรียน หวังลดอคติทางเชื้อชาติ สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา

แดน กิลล์ : เบื้องหลังไอเดียวาง ‘เก้าอี้ว่าง’ ในห้องเรียน หวังลดอคติทางเชื้อชาติ สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา

จะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีสถานะทางบ้านยากดีมีจน หรือมีเชื้อชาติ สัญชาติ และสีผิวใดก็ตามให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมชั้นเรียนได้โดยไม่ต้องถูกสายตาจากคุณครูหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนมองด้วยความแปลกแยก

เป็นหนึ่งคำถามสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกยังคงมองหาวิธีการแก้ปัญหามาอย่างยาวนาน แม้ว่าในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้จะลดทอนลงไปมากแล้วก็ตาม แต่ในบางประเทศ ‘การเหยียด’ คนที่มีสีผิวแตกต่างจากตัวเองยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ

เพื่อที่จะลดทอนช่องว่างทางการศึกษาและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ‘แดน กิลล์’ (Dan Gill) ครูวิชาสังคมวัย 75 ปี จากโรงเรียนมัธยมต้น Glenfield ในมอนต์แคลร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ จึงเริ่มทดลองนำ ‘เก้าอี้ว่าง’ มาวางไว้ในชั้นเรียน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า “ทุกคนเป็นที่ยอมรับไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใดก็ตาม”

เพราะหลังจากกิลล์สอนหนังสือมา 52 ปี เขาตระหนักว่าการทำหน้าที่สอนหนังสือ หรือถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ไปให้เด็กในชั้นเรียนอาจไม่เพียงพออีกต่อไป 

“อีกหนึ่งหน้าที่ของผมคือการนำแนวคิดที่สลับซับซ้อนมาทำให้เด็ก ๆ เห็นภาพง่ายขึ้นว่าภายในความซับซ้อนนั้นอาจมีบางอย่างซ่อนอยู่ และสิ่งที่ผมซ่อนไว้ในชั้นเรียนคือ ‘เก้าอี้ว่าง’ ที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจถึงสารที่ผมต้องการจะสื่อออกไป นั่นคือการให้โอกาสและเคารพในทุกความแตกต่าง

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เขายังคงเก็บเก้าอี้ว่างตัวนี้ไว้ในชั้นเรียนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจวางสัญลักษณ์ดังกล่าวไว้ในห้องเรียน เป็นเพราะวัยเด็กอันขมขื่นที่เขาและ ‘อาร์ชี ชอว์’ (Archie Shaw) เพื่อนสนิทที่เป็นคนผิวดำเคยเผชิญเมื่อตอนอายุ 9 ขวบ หลังจากทั้งคู่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงวันเกิดของเพื่อนที่จัดอยู่ในนิวยอร์กซิตี้ 

เมื่อพวกเขามาถึงงาน แม่ของเพื่อนเจ้าของวันเกิดกลับมองมาที่ชอว์อย่างไม่เป็นมิตร เธอแสดงท่าทางรังเกียจชอว์ซึ่งเป็นเด็กชายผิวดำอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับเชิญกิลล์เข้าไปในงาน

“เธอบอกกับเพื่อนของผมว่า ‘ไม่มีเก้าอี้ว่างแล้ว’ ตอนที่เธอพูดผมยังจำหน้าเธอได้อยู่เลย

“ตอนนั้นผมเสนอว่าจะยกที่นั่งของตัวเองให้ชอว์ แล้วลงไปนั่งที่พื้นแทนเขา แต่เธอบอกกับผมว่า ‘ไม่ เธอน่ะไม่เข้าใจอะไรเลย เก้าอี้มันไม่พอจริง ๆ’

“นั่นคือตอนที่ผมรู้ได้โดยทันทีว่าเธอกำลังเลือกปฏิบัติ เพราะสีผิวของชอว์”

เรื่องราวดังกล่าวถูกเก็บไว้ในความทรงจำของกิลล์มาโดยตลอด เขาสัมผัสได้ถึงความอับอายและความน้อยเนื้อต่ำใจของเพื่อนสนิทที่ถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเกิดมามีสีผิวที่แตกต่าง แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิพลเมืองที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกำลังก่อตัวขึ้นมาในสังคมอเมริกัน แต่เขาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะเจอเหตุการณ์แบบนี้กับตัว

“ผมรู้สึกแย่มากจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ แล้วหลังจากนั้นพวกเราก็ร้องไห้กันไม่หยุด จนแม่ผมต้องพาไปกินไอศกรีมปลอบใจ”

หลังจากที่กิลล์ตัดสินใจเดินทางในสายอาชีพครูเมื่อ 52 ปีก่อน เขาก็มักจะเล่าเรื่องวัยเด็กที่เคยเผชิญให้นักเรียนฟังในทุก ๆ วันเกิดของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและความเท่าเทียม เพื่อให้นักเรียนของเขาเข้าใจถึงความหลากหลายและสอนวิธีการรับมือกับการเหยียดสีผิว

กิลล์มองว่า ‘เก้าอี้ว่าง’ ที่ถูกนำมาวางไว้ในชั้นเรียนของเขา เป็นตัวช่วยสะท้อนแนวคิดเรื่องการให้โอกาส และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม และตอนนี้เขากำลังตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ‘No more Chairs’ ก่อนที่เขาจะเกษียณอายุลงในปี 2022 โดยหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยส่งต่อแนวคิดที่เขาพยายามปฏิรูปห้องเรียนเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้ยังคงอยู่ต่อไป แม้จะไม่ได้ทำหน้าที่ครูแล้วก็ตาม

“ผมได้แต่หวังว่าแนวคิดดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้นักเรียนของผมเติบโตออกไปอย่างมีคุณภาพ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยเคารพทุกความแตกต่าง”

 

ภาพ: Dan Gill