คริส การ์ดเนอร์: พ่อหัวใจนักสู้ สู่การสร้างหนัง ‘The Pursuit of Happyness’

คริส การ์ดเนอร์: พ่อหัวใจนักสู้ สู่การสร้างหนัง ‘The Pursuit of Happyness’

***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางตอนในภาพยนตร์ ‘The Pursuit of Happyness’ “มันไม่ใช่ไทม์แมชชีน” เด็กน้อยวัย 5 ขวบ พูดถึงกล่องรูปทรงสี่เหลี่ยมหน้าตาประหลาดที่พ่อของเขาหอบหิ้วติดตัวไปไหนมาไหนตลอดเวลา จนบางคนทักว่ามันคือเครื่องไทม์แมชชีน

“ใช่, นี่แหละไทม์แมชชีน สิ่งที่เราต้องทำก็แค่กดปุ่มสีดำตรงนี้ ลูกอยากลองกดดูไหม?” พ่อพูดตอบ พร้อมชักชวนลูกชายจินตนาการย้อนเวลากลับไปสู่ยุคไดโนเสาร์ ก่อนพากันไปหา ‘ถ้ำ’ เพื่อหลบภัยและนอนหลับพักผ่อน โดย ‘ถ้ำ’ ที่ว่าคือห้องน้ำสาธารณะของสถานีรถไฟกลางเมืองใหญ่อย่าง ‘ซานฟรานซิสโก’

นั่นคือวิธีรับมือกับชีวิตที่ตกต่ำของ ‘คริส การ์ดเนอร์’ (รับบทโดย ‘วิลล์ สมิธ’) เซลส์แมนขายเครื่องสแกนมวลกระดูก ซึ่งถูกภรรยาทิ้งให้เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวเพราะประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง จนถูกไล่ออกจากห้องเช่า กลายเป็นคนไร้บ้านอยู่นานนับปี

แม้จะเผชิญมรสุมชีวิตที่ซัดกระหน่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาไม่เคยปล่อยมือจากลูกชาย และยังคงมุ่งมั่นเรียนรู้พัฒนาตนเองต่อไปจนได้ทำงานประจำเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น (โบรกเกอร์) ตามที่ใฝ่ฝัน

หลังจากนั้นชีวิตก็เข้าสู่ช่วงสดใส ก่อนก้าวไปเป็นเศรษฐีเจ้าของกิจการบริษัทลงทุน และกลายเป็นต้นแบบคนสู้ชีวิตที่เรื่องราวถูกนำไปเขียนเป็นหนังสือขายดี และสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเนื้อหากินใจในชื่อ ‘The Pursuit of Happyness’

หนังของคนไม่ยอมแพ้

‘The Pursuit of Happyness’ ทั้งในรูปแบบหนังสืออัตชีวประวัติ และภาพยนตร์ซึ่งกำกับโดย ‘กาเบรียล มุซซิโน’ (Gabriele Muccino) นำแสดงโดย วิลล์ สมิธ และ เจเดน สมิธ (พ่อ - ลูกกันทั้งในหนังและชีวิตจริง) ถูกปล่อยออกสู่ท้องตลาดในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อปี ค.ศ. 2006

เนื้อหาในเวอร์ชันภาพเคลื่อนไหวเน้นบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ‘คริส การ์ดเนอร์’ (Chris Gardner) ในช่วงต้นทศวรรษ 1980s ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ดำดิ่ง ต้องพยายามดิ้นรนขายเครื่องสแกนมวลกระดูก ซึ่งโรงพยาบาลและคลินิกส่วนใหญ่มองว่าเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่ ‘หรูหราฟุ่มเฟือย’

การตัดสินใจลงทุนผิดพลาด เลือกขายเครื่องมือการแพทย์ที่แทบไม่มีใครต้องการ ทำให้การ์ดเนอร์ประสบปัญหาการเงินและลุกลามกลายเป็นปัญหาครอบครัว จนต่อมาภรรยาตัดสินใจทิ้งเขาและลูกชายไปหางานทำต่างเมืองเพื่อเอาชีวิตรอด

การ์ดเนอร์ในวัย 27 ปี นอกจากจะต้องรับบทพ่อเลี้ยงเดี่ยวจำเป็นเพื่อประคองครอบครัวให้มีชีวิตต่อไป เขายังพยายามเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตใหม่ หันไปเรียนรู้ทักษะการเป็นโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีกว่า แต่ก็ต้องเริ่มจากการเป็นเด็กฝึกงานที่ไม่มีค่าตอบแทน และเป็นจุดเริ่มต้นของวิบากกรรมที่ต้องฟันฝ่าไปให้สำเร็จ

“อย่าให้ใครมาบอกกับลูกว่า ลูกทำสิ่งนั้นไม่ได้ แม้คนนั้นจะเป็นพ่อเองก็ตาม ถ้าลูกมีความฝัน ลูกต้องปกป้องมัน

“ถ้าลูกต้องการอะไร จงออกไปไขว่คว้ามันมา แค่นั้นจบ”

คริส การ์ดเนอร์ สอนลูกชาย และอาจเป็นการเตือนตัวเองด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะช่วงนั้นเขาต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งการเลี้ยงดูลูกชายเพียงลำพัง คอยหาเงินมาประทังชีวิต ลุ้นให้มีที่ซุกหัวนอนแต่ละวัน และแข่งขันกับเพื่อนร่วมงานเพื่อให้ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ

ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะจบแบบ ‘แฮปปี้ เอนดิ้ง’ ตามสไตล์หนัง ‘ฟีลกู๊ด’ ทั่วไป แต่ลีลาการแสดงแนวดราม่าของ ‘วิลล์ สมิธ’ ก็สร้างความประทับใจให้ใครหลายคนจนถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในปี 2007 ทั้งบนเวทีออสการ์ และลูกโลกทองคำ

ชีวิตจริงที่หนังไม่ได้เล่า

คริส การ์ดเนอร์ มีชื่อเต็มว่า คริสโตเฟอร์ พอล การ์ดเนอร์ (Christopher Paul Gardner) เกิดที่เมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1954

เขาเกิดมาโดยไม่เคยเห็นหน้าพ่อที่แท้จริงของตัวเองจนกระทั่งอายุ 28 ปี จึงได้พบหน้าพ่อเป็นครั้งแรก นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เขาตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะไม่มีวันปล่อยให้ลูกต้องโตมาโดยไม่รู้ว่าพ่อตัวเองเป็นใคร

ชีวิตในวัยเด็กของการ์ดเนอร์ต้องเจอกับความยากลำบาก แม่ของเขาแต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยงใจร้ายที่ติดเหล้าและมักใช้ความรุนแรงกับเขา พี่สาว และแม่ จนสุดท้ายแม่ทนไม่ไหว พยายามสู้กลับและถูกจับติดคุก ทำให้การ์ดเนอร์และพี่ต้องมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสถานสงเคราะห์เด็ก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาคือหนทางที่ช่วยให้เขาหลุดพ้นจากสภาพอันยากไร้ หลังเรียนจบชั้นมัธยมฯ ปลาย การ์ดเนอร์ไปสมัครเป็นทหารเรือ และถูกส่งไปประจำการที่โรงพยาบาลในค่าย ทำให้ได้รู้จักกับศัลยแพทย์จากศูนย์วิจัยของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

หลังปลดประจำการในปี 1974 นายแพทย์ผู้นั้นจึงชักชวนให้การ์ดเนอร์ย้ายไปทำงานที่ซานฟรานซิสโก ในตำแหน่งผู้ช่วยหมอ ก่อนที่เขาจะเบนเข็มมาเป็นเซลส์แมนขายอุปกรณ์การแพทย์ในที่สุด

หลังจากนั้นชีวิตของการ์ดเนอร์ก็เจอปัญหาต่าง ๆ ตามที่บรรยายในหนัง ทั้งของขายไม่ดี ไม่มีเงินเก็บ เมียทิ้ง ถูกตำรวจจับเพราะไม่ยอมจ่ายค่าปรับที่จอดรถ ไม่มีตังค์จ่ายค่าเช่าบ้าน ต้องไปนอนในห้องน้ำสาธารณะและที่พักคนไร้บ้าน จนกระทั่งได้งานประจำเป็นโบรกเกอร์เพราะความมุมานะ จากนั้นกราฟชีวิตก็เข้าสู่ขาขึ้นแบบยาว ๆ ไม่มีตก

นักธุรกิจสู่นักสร้างแรงบันดาลใจ

โบรกเกอร์หนุ่มไฟแรงผู้นี้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเปิดบริษัทการเงินการลงทุนของตัวเองในปี 1987 โดยใช้ชื่อ ‘Gardner Rich & Co.’ จากนั้นเมื่อเรื่องราวชีวิตของเขากลายเป็นหนังสือขายดีและภาพยนตร์ฮอลลีวูด ชื่อของ ‘คริส การ์ดเนอร์’ ก็โด่งดังและกลายเป็นเศรษฐีที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ การ์ดเนอร์ยังได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีใจบุญ เขาแบ่งรายได้จำนวนมากนำไปบริจาคเข้ากองทุนและมูลนิธิต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ช่วยเหลือคนไร้บ้าน ช่วยสร้างงานในชุมชน และรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับสตรี ซึ่งเป็นฝันร้ายที่เขาและแม่เคยเผชิญมาในอดีต

“ผมมีแม่เป็นคนรุ่นเก่าที่เฝ้าบอกกับผมทุกวันว่า ‘ลูกรัก เจ้าสามารถทำหรือเป็นอะไรก็ตามที่เจ้าอยากทำหรือเป็นได้ทั้งนั้น’ และผมก็เชื่ออย่างนั้น ผมซื้อประโยคนั้นของแม่ 100 เปอร์เซ็นต์”

การ์ดเนอร์กล่าวถึงผู้สร้างแรงบันดาลใจตัวจริงที่ทำให้ชีวิตของเขาผ่านมรสุมต่าง ๆ มาได้จนกระทั่งมีวันนี้

ปี 2012 หลังจากโรคมะเร็งคร่าชีวิตภรรยาของเขาไปในวัยเพียง 55 ปี การ์ดเนอร์ตัดสินใจหันหลังให้วงการธุรกิจและมาทำงานเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจอย่างจริงจัง

เขาตระเวนเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพูดให้แรงบันดาลใจผู้คน และเขียนหนังสือแนะแนวการคิดเพื่อพลิกชีวิตให้ดีขึ้นออกมาอีก 2 เล่ม ได้แก่ ‘Start Where You Are: Life Lessons in Getting from Where You Are to Where You Want to Be’ (2009) และ ‘Permission to Dream’ (2021)

ออกแบบความสุขของตัวเอง

คำแนะนำของเขาส่วนใหญ่สอนให้คนมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง เขาไม่เชื่อทฤษฎีที่บอกว่า เราทุกคนล้วนเป็นผลผลิตจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก

“ถ้ามันเป็นจริงตามสำนักคิดที่ว่านั้น ผมควรโตมาเป็นไอ้ขี้แพ้ - ขี้เหล้าที่ไม่รู้หนังสือ ชอบทำร้ายเด็กและตีเมีย (เหมือนพ่อเลี้ยง) อีกคน แต่ผมเลือกทางสว่างจากแม่และผู้อื่นที่ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน”

คริส การ์ดเนอร์ พา ‘นั่งไทม์แมชชีน’ ย้อนเวลากลับไปดูความเป็นมาของเขาในวัยเด็กอีกครั้งเพื่อยืนยันและตอกย้ำว่า มนุษย์ทุกคนมีทางเลือก เหมือนกับชื่อหนังสือและภาพยนตร์ ‘The Pursuit of Happyness’ ที่เขาจงใจสะกดคำสุดท้ายให้ผิด ด้วยการใช้ ‘y’ แทน ‘i’ เพื่อจะบอกว่า ‘you’ (คุณ) เท่านั้น คือ ผู้กำหนดชะตาชีวิตและความสุขของตัวเอง

“ที่ตัว ‘y’ อยู่ตรงนั้นก็เพื่อทำให้เราทุกคนระลึกไว้เสมอว่า มันคือ ‘You’ และ ‘Your responsibility’ (ความรับผิดชอบของคุณ) ที่จะทำให้ชีวิตของตัวเองและครอบครัวเป็นไปในแบบที่ต้องการ มันไม่มีตัวช่วยอื่นใด นอกจากตัวคุณเอง”

ยอดคุณพ่อนักสู้กล่าวถึงเหตุผลในการสะกดคำว่า ‘Happiness’ (ความสุข) ด้วยตัว ‘y’ คล้ายตอนที่บอกให้ลูกชายจินตนาการว่า เครื่องสแกนมวลกระดูกที่อยู่ตรงหน้าคือ ‘ไทม์แมชชีน’

หากมองเผิน ๆ บางคนอาจคิดว่ามันคือการพยายามหลอกตัวเอง แต่สิ่งที่ คริส การ์ดเนอร์ ต้องการจะสื่อก็คือ ไม่ว่า ‘ความสุข’ หรือ ‘ความทุกข์’ (อุปกรณ์การแพทย์ที่ขายไม่ออก) ที่เข้ามาในชีวิต ตัวคุณเองสามารถเลือกได้ว่าจะจัดการและทำให้มันออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:
https://www.entrepreneur.com/article/344974
https://www.bbc.com/news/business-38144980
https://www.forbes.com/.../own-your-happyness-a-qa.../...
https://thecinemaholic.com/where-are-chris-gardner-and.../