‘เดชา เม็งไธสง’ ชีวิตเปลี่ยนทิศจากกุ๊ก สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Heritage สานต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากแม่

‘เดชา เม็งไธสง’ ชีวิตเปลี่ยนทิศจากกุ๊ก สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Heritage สานต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากแม่

สำหรับแบรนด์เสื้อผ้า Heritage คงมีหลายคนที่รู้จักและเคยเห็นมาบ้าง โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ (เพราะร้านตั้งอยู่ที่ถนนลอยเคราะห์) แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่อาจจะไม่รู้จัก สำหรับ Heritage แบรนด์นี้เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งขวัญใจของชาวคราฟต์และชาวต่างชาติเลยก็ว่าได้

Heritage เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีที่มาและประวัติคนก่อตั้ง ‘เดชา เม็งไธสง’ น่าสนใจ เพราะชีวิตค่อนข้างพลิกผัน กว่าจะมีวันนี้เรียกว่าสะบักสะบอมพอสมควร จนวันนี้กลายมาเป็น 1 ใน 14 แบรนด์ที่ขึ้นไปเฉิดฉายบนเวที ‘VersaThai: Think Fashion Think Thailand’ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียที่ผ่านมา

 

ความฝันวัยเด็กกับอาชีพสจ๊วร์ต

หากย้อนไปในวัยเด็กก่อนที่ เดชา เม็งไธสง จะเข้าใจความต้องการของตัวเองจริง ๆ เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ลองผิดลองถูกมาเยอะ เดชาเล่าให้ The People ฟังเกี่ยวกับความฝันในวัยเด็กของเขาแรก ๆ เลยว่าที่จริงเคยอยากเป็น ‘สจ๊วร์ต'

“สมัยเป็นเด็กตอนที่กำลังถอนต้นกล้าอยู่ที่นาที่บ้านนอก เรามองเห็นเครื่องบินเลยรู้สึกว่าอยากเป็นสจ๊วร์ต แต่ด้วยความที่เป็นเด็กบ้านนอก ภาษาอังกฤษเลยไม่แข็งแรง แต่ทุกครั้งที่เราเห็นโฆษณาการบินไทย รู้สึกแบบอื้อหือ อยากลองขึ้นเครื่องบิน เราเห็นสจ๊วร์ต เห็นแอร์โฮสเตส เลยรู้สึกว่าเราอยากเป็นบ้าง

“แต่เราดันไปเจออาจารย์ที่เป็นอาจารย์แนะแนวด้านกุ๊ก พอไปถามแกว่าเรียนวิชาอะไรที่รายได้จะดีที่สุด แกก็เลยบอกว่า เป็นกุ๊กสิ”

 

 

จากงานกุ๊กสู่อาชีพไกด์

อย่างที่บอกไปว่า ชีวิตของเดชา เม็งไธสง ค่อนข้างผกผัน เพราะหลังจากที่เริ่มลงเรียนวิชากุ๊กอยู่ 2 ปี (อยู่ในสังกัดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) เขาได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศเยอรมนี 3 เดือน แต่ระหว่างนั้นก็ยังรู้สึกไม่ชอบ จึงตัดสินใจกลับประเทศไทย เลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอจากเจ้าของโรงแรมและกลับมาศึกษาต่อที่ไทย

“พอดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เปิดสาขาใหม่ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เลยกลายมาเรียนสาขา Eco tourism ก็คือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หลังจากนั้นก็ทำงานเป็นไกด์อยู่ประมาณครึ่งปี และได้มารู้จักกับผู้ประกอบการที่เขาทำร้านผ้าไหม ซึ่งเขาก็เอ่ยปากชวนมาทำงาน มาเป็นพนักงานขาย ก็เลยมาช่วยเขา พอเราเห็นรายได้เท่านั้นแหละ ก็รู้สึกว่ารายได้มันดีเหมือนกันนะ ขายสิ่งทอ ขายพวกเส้นใยให้กับนักท่องเที่ยว เราก็เริ่มคิดอยากเปิดร้านทำบ้าง”

 

 

จุดเริ่มต้นกับธุรกิจขายผ้า

“ด้วยพื้นเพของเราสมัยที่ยังเป็นเด็ก ทางคุณพ่อคุณแม่ คือว่าที่บ้านทำทอผ้าไหมอยู่แล้ว และสิ่งที่เราทำงานมาทั้งกุ๊กและไกด์ เรารู้สึกไม่ชอบ ไม่ใช่สิ่งที่รัก

“พอมาวันหนึ่งขับรถผ่านหน้าวิทยาลัยสารพัดช่าง เขารับสมัครนักศึกษาภาคออกแบบ ก็เลยลองสมัครเรียน ซึ่งเรารู้สึกมีความสุขเวลาที่อาจารย์สอน หรือเวลาอาจารย์ให้ทำกิจกรรม เช่น สเก็ตช์รูป ลองออกแบบชุดต่าง ๆ

“สมัยที่เรียนจะมีการประกวดบ้าง ตอนนั้นจะเป็นของอาจารย์แดงส์ ชาคริต ตักส์ศิลา ที่ร่วมกับหน่วยงานของทางสารพัดช่าง ซึ่งเราก็ลงประกวดและได้เป็นแชมป์ภาคเหนือครั้งแรกด้วย”

‘เดชา เม็งไธสง’ ชีวิตเปลี่ยนทิศจากกุ๊ก สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Heritage สานต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากแม่

ในปี 2544 เดชา เม็งไธสง ตัดสินใจเปิดร้านเกี่ยวกับผ้าครั้งแรก แต่ยังไม่ใช่เสื้อผ้า เป็นสิ่งทออย่างเดียว ซึ่งเป็นร้านที่นำผ้าทอแบบเป็นผ้าคลุมไหล่จากอีสาน แล้วก็ทางฝั่งลาวมาขายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งเชียงใหม่สมัยก่อนนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ

“วันหนึ่งลูกค้าเริ่มถามว่ามีแต่ผ้าคลุมไหล่เหรอ ไม่มีเสื้อผ้าเหรอ เราก็เลยตัดสินใจไปเรียนเพิ่มสำหรับการออกแบบเสื้อผ้า แล้วก็ทำแพตเทิร์น หลังจากนั้นก็ลองทำเสื้อผ้าดู แม้ว่าจะพอมีความรู้อยู่บ้าง แต่ก็เหมือนเดาสุ่มเอา ตัดออกมาดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็เอาประสบการณ์ที่ลูกค้าเขาใส่ไม่ได้มาปรับปรุงเรียนรู้ว่าทำไมเขาใส่ไม่ได้ ทำไมยังไม่พอดีกับลูกค้า พยายามขวนขวายหาเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามา”

ซึ่งทาร์เก็ตแรกก็คือ ‘ชาวต่างชาติ’ ยังไม่ใช่คนไทย แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกเสื้อผ้าไปต่างประเทศลดลง ทำให้ เดชา เม็งไธสง ปรับกลุ่มเป้าหมายมาเป็น ‘คนไทย’ และปรับเปลี่ยนสไตล์การออกแบบเสื้อผ้าให้ดูเข้ากับคนไทยมากขึ้น ให้ดูเป็นความคราฟต์มากขึ้น

“เรามานั่งคิดว่าเราจะทำยังไง ประจวบเหมาะกับตรงที่ว่าเรามีความรู้เรื่องการแต่งตัวในแต่ละประเทศ เราก็เลยกลับมาดูคนไทยว่า ถ้าจะออกแบบให้กับคนไทยจะทำยังไง ประจวบเหมาะกับเราเป็นคนที่ชอบงานศิลปะ ก็เลยมาคิดว่าเราอยากออกแบบให้กับคนที่รักงานคราฟต์ คือเสื้อผ้าทุกชิ้นจะมีงานศิลปะบนนั้นด้วย

“เวลาที่เราออกงานแฟร์ ไม่ว่าจะเป็นออกแฟร์กับ DITP หรือของศูนย์ศิลปาชีพ ถือว่าได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดีเลย ลูกค้าเราจะเป็นกลุ่มที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นคนที่ชอบงานศิลปะ แล้วไม่ชอบแต่งตัวเหมือนใคร ดังนั้น เสื้อผ้าของเราจะพยายามออกแบบให้เป็นแบบ mix & match กับชุดอื่นได้

“เขาจะมีความรู้สึกว่าเขามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น เวลาซื้อไปเขาจะมีความคิดอยู่แล้วว่า ถ้าซื้อเสื้อผ้าของเราไปจะไปแต่งกับกางเกงตัวไหน ก็ถือว่าโชคดีที่ว่าเราดูกลุ่มตลาดถูก”

‘เดชา เม็งไธสง’ ชีวิตเปลี่ยนทิศจากกุ๊ก สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Heritage สานต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากแม่

 

ที่มาของชื่อ 'Heritage' ชวนคิดถึงวันเก่าๆ

คำว่า Heritage หรือ มรดก เดชา เม็งไธสง บอกว่า “ที่บ้านที่อีสานทอผ้าอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะทอเพื่อใช้ในงานพิธีที่มันเป็นวันสำคัญ ไม่ได้ทอเพื่อทำเป็นธุรกิจ เพราะอาชีพเราคือทำนาทำไร่

“ตอนเด็ก ๆ แม่ชอบชวนให้ไปหัดเหยียบกี่ พอแม่ทอเสร็จก็จะขอให้ช่วยเล็มขี้ด้าย ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พอมาวันนี้เรานึกถึงวันที่แม่บอกว่าช่วยแม่ตัดขี้ด้ายหน่อย ก็เลยรู้สึกเอาตรงนี้มาเป็นชื่อร้าน เพราะมันคือสิ่งที่แม่พยายามจะให้เรา แต่เราไม่ได้สนใจตั้งแต่ทีแรก”

เดชา เม็งไธสง พูดต่อว่า ตอนนี้ก็มีกระจายงานไปตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่, ลำพูน, ในอีสาน โดยเขาจะเป็นคนออกแบบเสื้อผ้า และส่งต่อให้ทำแพตเทิร์นและตัดเย็บ ทั้งนี้ DNA ของ Heritage ที่ลูกค้าจำได้จะเป็นการเย็บแบบ ‘double stitching’ คือเย็บแบบเข้าถ้ำ

“งานของ Heritage คือการนำวัฒนธรรมสองท้องถิ่น (อีสานกับเหนือ) มาผสมผสานกัน ซึ่งทางเหนือก็จะเป็นใยกัญชง ส่วนอีสานก็จะเป็นพวกผ้ามัดหมี่

“สำหรับเรา เรามองว่าผ้าไทยมีเสน่ห์อยู่แล้ว แต่ก็จะออกแบบมาไม่ใช่แบบไทยจ๋าทั้งหมด ต้องสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องรอถึงงานบุญงานประเพณีที่มันต้องใส่ชุดไทย”

นอกจากนี้ เดชา เม็งไธสง ยังได้พูดถึงความร่วมมือกับ DITP ว่า “ร้านเราไม่ใช่บริษัทใหญ่โตอะไร แต่เราก็พัฒนาให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ยังรับผลิตให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ด้วย และก็มีทำธุรกิจกับโรงแรมบันยันทรี ซึ่งเราได้ส่งแกลเลอรีให้เขามา 4 - 5 ปีแล้ว ได้ร่วมมือกันก็มาจากงานแฟร์ของ DITP นี่แหละครับ”

 

‘เดชา เม็งไธสง’ ชีวิตเปลี่ยนทิศจากกุ๊ก สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Heritage สานต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากแม่

 

ทำธุรกิจให้สำเร็จต้องอย่าใจร้อน

เจ้าของแบรนด์ Heritage ยังได้พูดถึงคนที่อยากทำธุรกิจ ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมไหน อย่างงานคราฟต์ก็ถือว่ามีการแข่งขันที่สูงมากในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งแรกสุดสำหรับ เดชา เม็งไธสง ที่อยากแนะนำก็คือ ต้องหาตัวตนให้เจอก่อนว่าเรารักที่จะทำอะไร

“พี่มองเด็กทุกวันนี้คือเขาใจร้อน บางคนเขาก็ไม่ค่อยอยากยอมรับเวลาที่เกิดการตักเตือน และมองว่าทุก ๆ อย่างที่เราทำไม่ว่าจะการทำธุรกิจหรือทำอะไรต้องมีความอดทน ถ้าให้พูดมาเป็นข้อ ๆ ก็คงยาก แต่โดยรวมแล้ว 3 สิ่งที่ต้องมีแน่ ๆ ก็คือ สติ ความอดทน และความรัก ถึงจะทำให้ธุรกิจนั้นอยู่รอด”

 

 

ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน