TWG ร้านชาที่สร้างวัฒนธรรมการดื่มชาให้มีรสนิยม ไม่ต่างกับแฟชั่นหรู

TWG ร้านชาที่สร้างวัฒนธรรมการดื่มชาให้มีรสนิยม ไม่ต่างกับแฟชั่นหรู

สมัยก่อน ถ้าเราพูดถึง ‘อาฟเตอร์นูนที’ การจิบชายามบ่ายอย่างเพลิดเพลินและมีคลาส เรามักนึกถึงห้องน้ำชาตามร้านบูติกหรือสถานที่ตามโรงแรมหรู 5 ดาวเท่านั้นแต่การมาถึงของ TWG ได้เปลี่ยนสมรภูมิตลาดนี้ไปตลอดกาล

โดยเราต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของสองคู่หูผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง Manoj Murjani และ Taha Bou Qdib (สำหรับกรณีพิเศษนี้ เพื่อความง่ายในการออกเสียง จะขอทับศัพท์ด้วยภาษาอังกฤษว่า Manoj และ Taha)

ผสมผสานจุดแข็งของทั้งคู่เข้าด้วยกัน

Manoj เป็นชาวฮ่องกงเชื้อสายอินเดีย มีประวัติการศึกษาดีเลิศ โดยจบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ ก่อนไปศึกษาต่อปริญญาตรีด้านการตลาดและการเงินที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเขาเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ โดยครอบครัวของเขาทำธุรกิจด้าน ‘แฟชั่นหรู’ Manoj จึงคุ้นเคยกับความหรูหราและเข้าใจจริตพฤติกรรมความต้องการของกลุ่มคนมีเงินเป็นอย่างดี

ขณะที่ฝั่ง Taha เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชา (Tea Sommeliers) เชื้อสายฝรั่งเศส - โมร็อกโก ครอบครัวของเขาทำงานให้กับ ‘ราชวงศ์โมร็อกโก’ ทำให้คุ้นเคยกับการวางตัวแบบนักการทูต มารยาทการเข้าสังคมแบบชนชั้นสูง มีทักษะการพยายามเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น (Empathy) สมัยเด็ก บ้านพักครอบครัวเขายังอยู่ข้าง ๆ สถานทูตจีนด้วย ซึ่งก็ได้รับของขวัญตามเทศกาลสำคัญ ๆ เป็นชาชั้นเลิศ เรียกได้ว่าชาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขามาโดยตลอด

ใครจะไปรู้ว่า แบ็คกราวนด์จุดแข็งของทั้งคู่จะมาบรรจบกันในอนาคตและให้กำเนิดร้านน้ำชาที่ชื่อว่า TWG

การตั้งชื่อแบรนด์ที่สร้างการจดจำ 

TWG ก่อตั้งในปี 2008 เดิมทีย่อมาจาก The Wellness Group (ปัจจุบันคือ The Wellbeing Group) โดยที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองตั้งใจใช้ตัวเลข ‘1837’ เพื่อเป็นการสรรเสริญแก่ปีก่อตั้ง ‘หอการค้าสิงคโปร์’ ซึ่งมี ‘ชา’ เป็นสินค้าแรก ๆ ที่ทำการค้าขายในยุคนั้น สาเหตุที่เลือกจดทะเบียนในสิงคโปร์เพราะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และมีความสะดวกในการทำธุรกิจแบบมาตรฐานสากล

แต่ในมุมมองผู้บริโภค มักเข้าใจไปว่านี่คือ ‘ปีที่แบรนด์ก่อตั้ง’ กลับกลายเป็นว่าช่วยส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์เก่าแก่ที่มีความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ เหมาะกับแบรนด์หรูที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย เพราะสินค้าบางประเภท (เช่น ชา) ยิ่งมีความเก่าแก่ ยิ่งมีมูลค่า

ไม่ใช่แค่ร้านชาแต่คือจักรวาลชา 

รู้หรือไม่ว่า Manoj และ Taha บังเอิญพบเจอกันครั้งแรกที่ร้าน Mariage Frères ซึ่งเป็นร้านชาเก่าแก่สุดคลาสสิกใจกลางกรุงปารีสที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1854

ทั้งคู่น่าจะได้แรงบันดาลใจการตกแต่งร้านจากที่แห่งนี้ ดังที่เราเดินเข้าร้าน (หรือแค่เดินผ่าน) ก็สัมผัสได้แล้วว่า พื้นที่ภายในตัวร้าน TWG เต็มไปด้วย ‘มนตร์เสน่ห์’ ที่พาเราหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง…โลกของชา

ภายในอบอวลไปด้วยกลิ่นชานานาชนิด มีชาให้เลือกจากทั่วโลก พร้อมการตกแต่งแสงไฟ วัสดุ คุณภาพอาหาร และงานบริการอันเป็นเลิศ นี่คือ ‘ประสบการณ์’ อันแตกต่างที่ลูกค้าทุกคนจะได้รับเมื่อเข้ามานั่งรับประทาน

เราจะเห็นการนำ ‘จุดแข็ง’ ของผู้ก่อตั้งทั้งสองมาผสมผสานรวมกันอยู่ภายในร้าน อาทิเช่น บริกรใส่สูทผูกไทอย่างสุภาพ ซึ่งจะนำทางเดินไปนั่งถึงโต๊ะ การใช้วัสดุหินอ่อนที่นำเข้าจากอิตาลี โต๊ะปูด้วยผ้าขาวแบบร้านอาหารหรู แชนเดอเลียร์ระยิบระยับทั่วร้าน การใช้วัสดุสีทองแวววาวทั่วร้าน และคอลเลกชันชาที่วางเรียงกันอย่างงดงาม

ตำแหน่งการตลาดที่ลงตัว

สมัยก่อนจะมีโรงน้ำชาสุดหรูสำหรับเหล่าขุนนางชนชั้นสูงที่มาสมาคมกัน แนวคิดนี้ถูกต่อยอดมาสู่ TWG เช่นกัน 

ความหรูหราในแบบ TWG ที่นิยามร้านน้ำชายุคใหม่ได้กลายเป็น ‘สถานที่นัดพบ’ ที่ลูกค้าใช้ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น นั่งจิบชายามบ่ายกับครอบครัว นัดเจรจาพูดคุยทางธุรกิจ หรือแม้แต่นัดเจอกับแก๊งเพื่อนฝูง เรียกได้ว่า TWG กลายเป็นอีกตัวเลือกหลัก (ที่ราคาย่อมเยากว่า) นอกเหนือจากห้องน้ำชาตามโรงแรมหรูต่างๆ

นอกจากนี้ โลเคชั่นทุกสาขาของแบรนด์จะไปตั้งอยู่ในสถานที่หรูหราพรีเมียมที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน และเพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์แบรนด์ เช่น ห้าง The Emporium ที่กรุงเทพฯ ห้าง IFC Mall ที่ฮ่องกง หรือห้าง Takashimaya ที่สิงคโปร์

โมเดลค้าปลีกแบบนี้ยังมีอัตรากำไร (Margin) ที่สูงกว่าการขายผ่านโมเดิร์นเทรด TWG ยังได้ผลกระทบเชิงบวกจากผลวิจัยที่เผยว่า ภายในปี 2025 ผู้คนจะนิยมบริโภคชาที่นอกบ้านเป็นหลัก (แซงหน้าการบริโภคภายในบ้าน)

สินค้าครอบคลุมให้เลือกสรร

TWG มีชาให้เลือกกว่า 1,000 ชนิดจากแหล่งปลูกสำคัญทั่วโลก มีการสร้างกิมมิคด้วยการออกรสชาติใหม่ทุกปี และเปลี่ยนไปตามเทศกาลสำคัญในแต่ละประเทศ จนไปถึงการออกรสชาติ ‘ซิกเนเจอร์’ ที่จะมีแค่ประเทศนั้น ๆ เรื่องนี้ทำให้แบรนด์ดูโมเดิร์นและสดใหม่อยู่เสมอ และกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อเป็นประจำ 

เรื่องนี้มาจากแนวทางการทำงานของ Taha เช่นกัน เขาไม่ได้เป็นผู้บริหารที่แค่นั่งชี้นิ้วสั่ง แต่ชีวิตประจำวันการทำงานของเขาคือการตระเวนทดลองเมนูใหม่ตามร้านชาต่าง ๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจมาพัฒนาแบรนด์ตัวเอง การนำเสนอสินค้าที่หลากหลายของ TWG จึงเป็นผลลัพธ์โดยตรงจากสไตล์การทำงานแบบนี้

พนักงานคือหัวใจสำคัญ

ธุรกิจลักษณะนี้มีอีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือ ‘งานบริการ’ และไม่มีใครจะนำเสนอได้ตรงจุดและยอดเยี่ยมไปกว่าพนักงานหน้าร้านที่ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง

TWG เข้าใจเรื่องนี้อย่างดี จึงได้ออกแบบ ‘ศูนย์ฝึกอบรมพนักงาน’ มีการวางมาตรฐานแบบโรงแรม 5 ดาว เพื่อปั้นพนักงานทุกคนให้มีมาตรฐานที่สูงลิบเหมือนกัน เช่น ชุดแต่งกาย บุคลิกการเดิน การเสิร์ฟ ภาษาที่ใช้ ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องของชา เทคนิคแนะนำและอัปยอดขาย

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญชาชั้นสูง (Tea Sommeliers) ที่จะประจำอยู่ทุกสาขาทั่วโลกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด

ปัจจุบัน TWG มีมากกว่า 50 สาขาใน 23 ประเทศทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพียงเวลาแค่ทศวรรษเดียว TWG ได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมการดื่มชาของผู้คนยุคใหม่เป็นที่เรียบร้อย และดูเหมือนว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

.

ภาพ: Getty Images

.

อ้างอิง:

·       https://twgtea.com/our-company/about-twg-tea

·       https://martinroll.com/resources/articles/brandizg/twg-tea-the-asian-brand-that-made-tea-drinking-a-luxury/

·       https://www.lifestyleasia.com/hk/living/people/taha-bouqdib-tea-wg-twg-how-to-succeed/

·       https://www.tatlerasia.com/people/taha-bouqdib

·       https://www.statista.com/statistics/326384/global-tea-beverage-market-size/

.

#ThePeople #Business #TWG #Tea #Manoj_Murjani #Taha_Bou_Qdib